เรื่องน่ารู้พระนารายณ์ราชนิเวศน์ สัมผัสอดีตอันรุ่งเรืองแห่งเมืองละโว้

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          เรื่องน่ารู้พระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือวังนารายณ์ สถานที่ท่องเที่ยวประวัติศาสตร์สำคัญของลพบุรี หนึ่งในสถานที่ถ่ายทำละครบุพเพสันนิวาส

          พระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือวังนารายณ์ อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวแลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดลพบุรี เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์สุดคลาสสิก และบอกเล่าเรื่องราวสมัยอยุธยาที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง และเราเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้กำลังจะกลับมาอยู่ในความสนใจของทุกคนอีกครั้ง เพราะที่นี่เป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำละครบุพเพสันนิวาส เช่นเดียวกับกระแสท่องเที่ยวที่วัดไชยวัฒนาราม วันนี้เราเลยจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ให้มากขึ้นกัน แล้วจะรู้เลยว่าที่นี่ยังมีความสนใจอีกหลากหลายแง่มุมที่รอให้คุณไปค้นหา
1. ที่ตั้งพระนารายณ์ราชนิเวศน์

          ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี โดยปกติแล้วชาวเมืองลพบุรีจะเรียกกันติดปากว่า "วังนารายณ์" ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ทั้งยังเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวแลนด์มาร์กสำคัญของลพบุรี

2. ประวัติความเป็นมาของพระนารายณ์ราชนิเวศน์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          พระนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นพระราชวังโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปี พ.ศ. 2209 โปรดให้วิศวกรชาวฝรั่งเศสและอิตาลี ร่วมกันออกแบบสร้างพระราชวังเมืองลพบุรี กำแพงเมือง และป้อมปราการต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นที่ประทับว่าราชการและต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

          หลังจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต เมืองลพบุรีก็ถูกทิ้งร้าง จนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้บูรณะพระราชวัง สร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ และหมู่ตึกพระประเทียบขึ้นในปี พ.ศ. 2399 พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์" ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นศาลากลางจังหวัดลพบุรี ภายหลังได้จัดตั้งเป็นลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน และประกาศเป็น "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์" ในปี พ.ศ. 2504

3. สิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์

          สิ่งก่อสร้างภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

          1. สิ่งก่อสร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          - พระที่นั่งจันทรพิศาล มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ คล้ายโบสถ์หรือวิหาร ด้านหน้ามีมุขเด็จ เพื่อเสด็จออกให้ข้าราชการเข้าเฝ้าตรงชาลาหน้าพระลาน เมื่อพระราชวังถูกทิ้งร้าง เครื่องบนพระที่นั่งปรักหักพัง เหลือแต่ผนัง ได้รับการซ่อมแซมให้สมบูรณ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

          - พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ลักษณะเป็นท้องพระโรงทรงสูง มียอดแหลมทรงมณฑป ฝาผนังประดับด้วยกระจกเงา ประตูและหน้าต่างท้องพระโรงซึ่งอยู่ทางด้านหน้าทำเป็นโค้งแหลม ส่วนตัวมณฑปที่อยู่ด้านหลังทำประตู-หน้าต่างเป็นซุ้มแบบไทย คือซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ผนังด้านนอกพระที่นั่งตรงมณฑปชั้นล่าง เจาะเป็นช่องโค้งแหลมไว้สำหรับตามประทีปในเวลากลางคืน

          - พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่มีสระน้ำขนาดใหญ่ 4 สระ ใช้เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์สวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อ พ.ศ. 2231 ปัจจุบันเหลือเพียงแต่ฐานรากเท่านั้น

          - ตึกเลี้ยงรับแขกเมือง บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยานเป็นตึกชั้นเดียวขนาดกะทัดรัด สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากฝรั่งเศส ณ สถานที่แห่งนี้ ใน พ.ศ. 2228 และ พ.ศ. 2230

          - ตึกพระเจ้าเหา ตึกหลังนี้แสดงให้เห็นลักษณะสถาปัตยกรรมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ชัดเจนมาก ภายในตึกมีฐานชุกชีปรากฏให้เห็นอยู่ในบันทึกของชาวฝรั่งเศสระบุว่าเป็นวัด ตึกหลังนี้อาจเป็นหอพระประจำพระราชวังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปชื่อว่า "พระเจ้าเหา" ประตูหน้าต่างทำเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ผนังด้านสกัดสูงยันอกไก่ ตรงจั่วเจาะเป็นช่องโค้งแหลม มีกำแพงแก้วเจาะเป็นช่องสำหรับวางตะเกียงล้อมรอบตึก

          - สิบสองท้องพระคลัง เป็นอาคารชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ระหว่างถังเก็บน้ำประปาและตึกเลี้ยงรับแขกเมือง สร้างขึ้นเป็นเรือนยาวสองแถวเรียงชิดติดกันอย่างมีระเบียบ เครื่องบนเป็นไม้มุงกระเบื้องกาบ ประตูและหน้าต่างเป็นแบบโค้งแหลม อาคารค่อนข้างทึบ มีถนนผ่ากลางจำนวน 12 ห้องเข้าใจว่าเป็นคลังเก็บสินค้าสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ

          - ถังเก็บน้ำ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชาวฝรั่งเศสและชาวอิตาลีได้ช่วยกันสร้างระบบระบายน้ำ ด้วยท่อดินเผาเพื่อลำเลียงน้ำจากห้วยซับเหล็ก ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองลพบุรี มาใช้ในพระราชวังและในเมืองลพบุรี ถังเก็บน้ำในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ คงทำไว้เพื่อกักน้ำไว้จ่ายในพระที่นั่งและตึกต่าง ๆ ในพระราชวัง

          - โรงช้างหลวง ตั้งเรียงรายเป็นแถวชิดริมกำแพง เขตพระราชฐานชั้นนอกด้านในสุด โรงช้างส่วนใหญ่ปรักหักพังเหลือแต่ฐาน ปรากฏให้เห็นประมาณ 10 โรง ช้างซึ่งยืนโรงในพระราชวัง คงเป็นช้างหลวงหรือช้างสำคัญ สำหรับใช้เป็นพาหนะของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้านายหรือขุนนางสำคัญ

          2. สิ่งก่อสร้างสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้บูรณะและสร้างพระที่นั่งบางองค์ขึ้นใหม่

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          - หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระที่นั่งองค์นี้ใน พ.ศ. 2405 ประกอบด้วยพระที่นั่งต่าง ๆ คือมุขด้านซ้ายมือ พระที่นั่งอักษรศาสตราคม เป็นที่ทรงพระอักษร มุขด้านขวาคือพระที่นั่งไชยศาสตรากร เป็นที่เก็บอาวุธ พระที่นั่งองค์ขวางตรงกลางคือพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย ใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการ ด้านหลังสุดเป็นอาคารสูง 3 ชั้น คือพระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์

          - หมู่ตึกพระประเทียบ ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎ อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น เรียงรายอยู่ 8 หลัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายในผู้ตามเสด็จ

          - ทิมดาบหรือที่พักของทหารรักษาการณ์ เมื่อเดินผ่านประตูทางเข้าเขตพระราชฐานชั้นกลาง ข้างประตูทั้งสองด้านตรงบริเวณสนามหญ้าจะแลเห็นศาลาโถงข้างละหลัง นั่นคือตึกซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักของทหารรักษาการณ์ในเขตพระราชวัง

4. เปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          ในพื้นที่บางส่วนของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ยังเปิดเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุล้ำค่าต่าง ๆ เอาไว้อย่างมากมาย ประกอบด้วย  3 อาคาร ได้แก่

          1. พระที่นั่งจันทรพิศาล จัดแสดงเรื่องเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภาพประวัติศาสตร์สำคัญต่าง ๆ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น ภาพราชทูตฝรั่งเศส เชอร์วาเลีย เดอ โชมองต์ เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพื่อถวายราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส, ภาพราชทูตไทย, ภาพทอดพระเนตรดาราศาสตร์จันทรุปราคาที่พระที่นั่งเย็นและสุริยุปราคาที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ และภาพขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค เป็นต้น

          2. หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่

          - ชั้นที่ 1 จัดแสดงวัตถุโบราณต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงอายุ 3,000-4,000 ปี เช่น โครงกระดูกมนุษย์ ขวานสำริด จารึกโบราณ และรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นต้น

          - ชั้นที่ 2 จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในลพบุรี เช่น พระพุทธรูป เครื่องถ้วยกระเบื้อง และทับหลังแกะสลัก เป็นต้น

          - ชั้นที่ 3 ห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงฉลองพระองค์ เครื่องแก้ว และภาชนะที่มีตราประจำพระองค์

          3. หมู่ตึกพระประเทียบ จัดแสดงเรื่องชีวิตไทยภาคกลาง ชาวนาไทยภาคกลางจังหวัดลพบุรีในอดีต การปลูกเรือนอยู่อาศัย เครื่องมือทอผ้า เครื่องมือปั้นหม้อดินเผา การทำดินสอพอง เครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร และเครื่องมือจับปลา

          ภายในพิพิธภัณฑ์นอกจากจะจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุล้ำค่าที่หาดูได้ยากแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่เก็บแบบเรียนเล่มแรกของไทยในสมัยอยุธยา ที่ชื่อว่า "จินดามณี" อยู่ด้วย ซึ่งถ้าใครเป็นแฟนละครตัวจริงของละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" จะรู้สึกคุ้นชื่อนี้อยู่ไม่น้อย โดยตามประวัติศาสตร์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระโหราธิบดี โดยในเรื่องรับบทเป็นพ่อพระเอก เป็นผู้นิพนธ์ "หนังสือจินดามณี" หนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทยในปี พ.ศ. 2215

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          ดังปรากฏในฉากที่การะเกดได้เข้ามาพูดคุยกับพระโหราธิบดีที่เรือน และพบว่าตำราที่พระโหราธิบดีกำลังเขียนอยู่คือ "หนังสือจินดามณี" นั่นเอง

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

5. บุพเพสันนิวาสฟีเว่อร์ เที่ยวตามรอยละครที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          ด้วยกระแสละครบุพเพสันนิวาสที่มาแรงแบบฉุดไม่อยู่ ส่งผลให้สถานที่ที่ถูกใช้เป็นที่ถ่ายทำละครกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวฮิตเพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งในพระนารายณ์ราชนิเวศน์เองก็มีสถานที่หลายแห่งที่สอดคล้องกับละครดังกล่าว กลายเป็นจุดขายของการท่องเที่ยว ประกอบกับลพบุรีมีเอกลักษณ์เรื่องของการแต่งกายชุดไทยอยู่แล้ว และในช่วงกระแสของละครเช่นนี้ ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จึงชวนให้นักท่องเที่ยวแต่งชุดไทย มาเที่ยวที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์กันค่ะ

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          โดยทางจังหวัดลพบุรีและสำนักงานสรรพากรจังหวัดลพบุรี ให้การสนับสนุนชุดไทย เพื่อให้บริการกับนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีห้างร้านมาให้ความอนุเคราะห์แต่งหน้าและทำผมอีกด้วย

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

6. กิจกรรม "งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช"

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          ถือเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่จัดขึ้นที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ทั้งยังเป็นงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับชาวลพบุรีเป็นอย่างมาก โดยการจัดงานครั้งแรก ตั้งชื่องานว่า "นารายณ์รำลึก" ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ "งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช" เกิดขึ้นจากแนวคิดของชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี เพื่อเป็นการรำลึกถึงองค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้ทรงสร้างความเจริญให้กับเมืองลพบุรี

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          ไฮไลท์สำคัญของงานคือการแต่งกายชุดไทย ท่ามกลางการจำลองบรรยากาศย้อนกลับไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการแสดงมหรสพทางด้านศิลปวัฒนธรรม การแสดงแสง สียง มีการถอดรูปแบบ และจำลองเหตุการณ์ในครั้งประวัติศาสตร์ การประดับตกแต่งโบราณสถานอย่างสวยงาม

          งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี วันที่ไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือโทรศัพท์ 0891177912

7. วัน-เวลาทำการ และค่าเข้าชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์

          - โบราณสถานพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เปิดบริการวันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.30 น.

          - พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เปิดวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.

          ค่าเข้าชม สำหรับชาวไทยราคา 30 บาท และชาวต่างประเทศราคา 150 บาท (***นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ, ผู้สูงอายุ, ภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาต่าง ๆ ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม)

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ 036 411 458 หรือ เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์

8. สถานที่เที่ยวอื่น ๆ บริเวณใกล้เคียงพระนารายณ์ราชนิเวศน์

          สำหรับนักท่องเที่ยวคนไหนที่รู้สึกว่ายังไม่เต็มอิ่มกับเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา บริเวณใกล้เคียงกับพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ยังมีโบราณสถานสำคัญ ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าเที่ยวชมอีกหลายแห่ง เช่น

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

- บ้านหลวงรับราชทูต หรือบ้านหลวงวิชาเยนทร์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          ตั้งอยู่ที่ถนนวิชาเยนทร์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นสถานที่พักที่สุดท้ายของคอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนางชาวกรีกที่มีความสำคัญมากในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลักษณะเป็นอาคารทรงสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ล้อมรอบด้วยกำแพง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ตึกสองชั้นหลังใหญ่ทางด้านตะวันตก มีซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม, ตึกตรงกลาง คาดว่าเป็นหอระฆัง และโบสถ์คริสต์ศาสนา มีซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม และอาคารใหญ่ 2 ชั้นทางตะวันออก มีบันไดทางด้านหน้าเป็นรูปครึ่งวงกลม ซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมด้วยเช่นกัน

- พระปรางค์สามยอด

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          ตั้งอยู่ใจกลางเมืองใกล้กับศาลพระกาฬ มีลักษณะเป็นปรางค์เรียงต่อกัน 3 องค์ มีระเบียงทางเดินเชื่อมต่อกัน งดงามด้วยศิลปะเขมรแบบบายน สร้างด้วยศิลาแลง และตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม เดิมเป็นเทวสถานของขอมในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นเทวสถานโดยมีฐานศิวลึงค์ปรากฏในองค์ปรางค์ทั้งสาม จนกระทั่งในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บูรณะปรางค์สามยอดเป็นวัดในพุทธศาสนา แล้วสร้างพระวิหารก่อด้วยอิฐ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนต้น

- เทวสถานปรางค์แขก

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          มีลักษณะเป็นพระปรางค์สามองค์เรียงกัน แต่ไม่มีระเบียงเชื่อมต่อเหมือนปรางค์สามยอด และเก่าแก่กว่าพระปรางค์สามยอด ใช้เป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู ต่อมาได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยอิฐถือปูน พร้อม ๆ กับสร้างวิหารเล็กหน้าปรางค์ ซึ่งมีประตูทางเข้าแบบโค้งแหลม  และถังเก็บน้ำซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของปรางค์ นับเป็นเทวสถานปรางค์แขกที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดลพบุรีที่ยังเหลือสภาพให้เห็นปรากฏอยู่

          ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่าการมาเที่ยวพระนารายณ์ราชนิเวศน์ นอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแล้ว ยังจะได้เที่ยวตามรอยละครสุดฮิตเรื่องบุพเพสันนิวาสอีกด้วย สนุกเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ แถมยังได้แต่งชุดไทยสวย ๆ เห็นทีว่าต้องลองสวมบทเป็นแม่หญิงการะเกดกับหมื่นสุนทรเทวาดูสักวันแล้วล่ะค่ะ ^ ^

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
, เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์, เฟซบุ๊ก งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, เฟซบุ๊ก TAT Lopburi

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องน่ารู้พระนารายณ์ราชนิเวศน์ สัมผัสอดีตอันรุ่งเรืองแห่งเมืองละโว้ อัปเดตล่าสุด 1 เมษายน 2567 เวลา 15:16:45 45,061 อ่าน
TOP
x close