ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่วังนารายณ์ ลพบุรี

 พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          สุดสัปดาห์นี้ใครที่กำลังมองหาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอย่างแหล่งโบราณสถานอันเก่าแก่ และไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เข้ามาเลยค่ะ เพราะวันนี้กระปุกท่องเที่ยวขอแนะนำทริปท่องเที่ยวแบบสั้น ๆ เชิงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ ที่สามารถไปในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ นั่นคือ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ส่วนภายในสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้จะมีอะไรน่าสนใจบ้างนั้น ตามเราไปเที่ยวกันเลยจ้า

          พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่ในจังหวัดลพบุรี โดยชาวเมืองลพบุรี ได้เรียกชื่อสถานที่แห่งนี้จนติดปากว่า "วังนารายณ์" ปัจจุบันได้จัดพื้นที่บางส่วนภายในวังให้เป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ สถานที่สำหรับจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุตามอาคารและพระที่นั่งต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นจำนวนกว่าพันรายการ ซึ่งนับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งที่ลำดับที่ 3 ของประเทศไทยอีกด้วย


ประวัติความเป็นมา

          พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ เกิดขึ้นในสมัย สมเด็จพระนารายณ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2209 สำหรับใช้เป็นที่ประทับ ณ เมืองลพบุรี เพื่อใช้เป็นที่ประทับในการล่าสัตว์ ออกว่าราชการ รวมทั้งต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง แต่หลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงสวรรคต ในปี พ.ศ. 2231 พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ที่ตั้งอยู่ภายในก็ได้หมดความสำคัญลง สมเด็จพระเพทราชา กษัตริย์องค์ใหม่ ก็ได้ย้ายหน่วยราชการทั้งหมดกลับกรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นก็ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดไปประทับอีกเลย ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการซ่อมแซมกำแพงเมือง, ป้อม และประตู รวมทั้งมีการสร้างพระที่นั่งวิมารมงกุฎในพระราชวัง พร้อมทรงพระราชทานนามพระราชวังว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์" ในปัจจุบัน

          สำหรับพื้นที่ภายในทั้งหมดแบ่งออกเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน ดังนี้

          เขตพระราชฐานชั้นนอก

          อ่างเก็บน้ำซับเหล็กหรือถังเก็บน้ำประปา
: เป็นระบบการจ่ายทดน้ำผลงานของชาวฝรั่งเศส โดยการสร้างที่เก็บน้ำในถัง ด้วยการก่อด้วยอิฐยกขอบเป็นกำแพงสูงหนาเป็นพิเศษ สร้างพื้นให้มีท่อดินเผาฝังอยู่เพื่อจ่ายน้ำไปใช้ตามตึกและพระที่นั่งต่าง ๆ โดยท่อดินเผา ซึ่งระบบการจัดการน้ำ ระบบการจ่ายน้ำ และทดน้ำ เป็นผลงานของชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียน

          ตึกสิบสองท้องพระคลังหรือพระคลังศุภรัตน์ : สันนิษฐานว่าเป็นคลังสำหรับเก็บสินค้าและสิ่งของ เป็นตึกที่ตั้งเรียงรายอยู่ระหว่างอ่างเก็บน้ำและตึกเลี้ยงรับรองแขกเมือง สร้างด้วยอิฐเป็น 2 แถวยาว มีคูน้ำล้อมรอบตึก ภายในคูน้ำมีน้ำพุขึ้นมาอีกด้วย ใช้เป็นคลังสำหรับเก็บสินค้าหรือเก็บสิ่งของที่ใช้ในราชการ

ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่วังนารายณ์ ลพบุรี

          ตึกพระเจ้าเหา : มีลักษณะเป็นหอประจำพระราชวัง และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีชื่อว่า พระเจ้าเหา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อตึกนั่นเอง

          ตึกรับรองคณะทูตต่างประเทศ : อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก โดยตึกหลังนี้ตั้งอยู่ตรงกลางอุทยาน ซึ่งแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส บริเวณรอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบ ภายในคูน้ำมีน้ำพุเรียงยาว 20 จุด ซึ่งสถานที่แห่งนี้ใช้เป็นสถานที่สำหรับต้อนรับคณะทูตจากต่างประเทศ

ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่วังนารายณ์ ลพบุรี

          โรงช้างหลวง : ตั้งเรียงรายเป็นแถวชิดริมกำแพงเขตพระราชฐานชั้นนอกด้านในสุด โรงช้างส่วนใหญ่ปรักหักพังเหลือแต่ฐานปรากฏให้เห็นประมาณ 10 โรง ช้างซึ่งยืนโรงพระราชวังเป็นช้างหลวงหรือช้างสำคัญ สำหรับใช้เป็นพาหนะของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่

          เขตพระราชฐานชั้นกลาง

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          พระที่นั่งจันทรพิศาล : หอประชุมองคมนตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ พระที่นั่งจันทรพิศาลใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่สร้างทับลงไปบนรากฐานเดิมของพระที่นั่งของพระราเมศวร โอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอู่ทอง ได้ทรงสร้างเมื่อครั้งครองเมืองลพบุรี พระที่นั่งองค์นี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ ภายหลังเมื่อได้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ขึ้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งองค์ใหญ่ และโปรดให้ใช้พระที่นั่งจันทรพิศาลเป็นที่ออกขุนนาง


ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่วังนารายณ์ ลพบุรี

          พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท : เป็นพระที่นั่งท้องพระโรง สำหรับเสด็จออกคณะราชทูตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มียอดแหลมทรงมณฑปศิลปกรรมแบบไทยผสมผสานกับฝรั่งเศส ตรงกลางท้องพระโรงมีสีหบัญชรที่เสด็จออกเพื่อมีปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้าฯ ท้องพระโรงบริเวณประตูและหน้าต่างสร้างรูปโค้งแหลมแบบฝรั่งเศส ตัวมณฑปซึ่งอยู่ด้านหลังทั้งประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มแบบไทย คือ ซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ จุดเด่นอยู่ที่ตรงกลางท้องพระโรง โดยมีสีหบัญชรเป็นสถานที่เสด็จ ออกเพื่อมาปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้าในท้องพระโรงตอนหน้า ด้านในท้องพระโรงประดับด้วยกระจกเงา ซึ่งนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส เพดานเป็นช่องสี่เหลี่ยม ประดับลายดอกไม้ทองคำและผลึกแก้ว ผนังด้านนอกเจาะเป็นช่องเล็กสำหรับใส่ตะเกียงในตอนกลางคืน

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          พระที่นั่งพิมานมงกุฎ : สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งเสด็จบูรณะเมืองลพบุรี ประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ คือ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นที่ประทับ, พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย เป็นท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน, พระที่นั่งไชยศาสตรากร เป็นที่เก็บอาวุธ และพระที่นั่งอักษรศาสตราคม เป็นที่ทรงพระอักษร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานให้เป็นศาลากลางจังหวัด และเมื่อศาลากลางจังหวัดย้ายไปอยู่ที่เมืองใหม่ พระที่นั่งหมู่นี้จึงรวมกับพระที่นั่งจันทรพิศาลเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ในปัจจุบัน

          โดยภายในหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎมีสถานที่สำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

          ชั้นที่ 1 จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,500-4,000 ปี เช่น โครงกระดูก, เปลือกหอย, ขวานหิน, ขวานสำริดและเครื่องประดับ เป็นต้น

          ชั้นที่ 2 จัดแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดลพบุรี  เช่น ทับหลังแกะสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ, พระพุทธรูปสมัยลพบุรีปางต่าง ๆ เครื่องถ้วยกระเบื้องของไทยและจีน เป็นต้น

          ชั้นที่ 3 เป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 4 จัดแสดงฉลองพระองค์ เครื่องแก้ว และภาชนะที่มีตราประจำพระองค์

          ทิมดาบ : ที่พักของทหารรักษาการณ์ สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักของทหารรักษาการณ์ในเขตพระราชวังในสมัยรัชกาลที่ 4


          เขตพระราชฐานชั้นใน

ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่วังนารายณ์ ลพบุรี

ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่วังนารายณ์ ลพบุรี

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

          พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ : เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวไว้ว่า "พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานที่ร่มรื่น ทรงปลูกพรรณไม้ต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่มีสระน้ำขนาดใหญ่ 4 สระ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน" สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231

          หมู่ตึกพระประเทียบ : ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎ ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานฝ่ายใน เป็นตึกชั้นเดียว 2 หลัง ก่อด้วยอิฐปูน 2 ชั้น มี 8 หลัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายในที่ตามเสด็จรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งเสด็จประพาสที่เมืองลพบุรี

          นี่เป็นเพียงหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดลพบุรีเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีที่เที่ยวอื่น ๆ อีกมาก ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าวางแผนไปเที่ยวนะคะ เพราะเดินทางสะดวกและไม่ไกลจากกรุงเทพฯ อีกทั้งยังได้รู้เรื่องราวในอดีตของพระราชวังอีกด้วยล่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
    และ lopburi.mots.go.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่วังนารายณ์ ลพบุรี อัปเดตล่าสุด 13 มีนาคม 2561 เวลา 14:08:19 21,448 อ่าน
TOP
x close