เที่ยวแพร่ สัมผัสมนตร์เสน่ห์แห่งล้านนา เต็มไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์น่าเรียนรู้ ผู้คนใช้ชีวิตเรียบง่าย อีกทั้งยังเป็นเมืองที่เงียบสงบ
จังหวัดแพร่ เป็นจังหวัดที่ใครหลายคนมองข้าม เพราะเป็นทางผ่านไปยังจังหวัดสุดฮิตอื่น ๆ ในภาคเหนือ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเมืองแพร่นี้มีความน่ารักไม่แพ้เมืองอื่น ๆ ของภาคเหนือเลยทีเดียว เพราะแพร่เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีตำนานเล่าขานถึงความรุ่งเรืองมายาวนาน รวมถึงเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังมีแหล่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ให้ไปเยือนได้ตลอดทั้งปี แต่สิ่งที่ดึงดูดนักเดินทางให้ไปเยือนสักครั้งก็คือความเรียบง่ายที่แฝงไปด้วยเสน่ห์หลากหลาย รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย เอาเป็นว่าลองไปดู 10 ที่เที่ยวแพร่ที่เราหยิบมาฝากกันดีกว่า เผื่อจะทำให้ตัดสินใจไปเที่ยวแพร่ได้ง่ายขึ้น
1. วัดพระธาตุช่อแฮ
วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตั้งอยู่บนถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ ถือเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาลอีกด้วย ว่ากันว่าหากมาจังหวัดแพร่แล้วไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮก็เหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่ ทั้งนี้ในทุกปีจะมีการงานนมัสการพระธาตุในระหว่างวันขึ้น 9 ค่ำ-ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ประมาณเดือนมีนาคม) โดยใช้ชื่องานว่า "งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวง"
2. วัดพระธาตุจอมแจ้ง
ตั้งอยู่บ้านไคร้ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ เลยพระธาตุช่อแฮไป 1 กิโลเมตร เป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองแพร่ที่ผู้คนนิยมเดินทางเข้ามาสักการะพระธาตุจอมแจ้ง อันเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสาริกธาตุพระหัตถ์เบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า องค์พระธาตุจอมแจ้งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1331 ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง พระธาตุสีทององค์นี้สูง 29 เมตร ฐานกว้าง 10 เมตร มีรูปทรงคล้ายพระธาตุช่อแฮ โดยเป็นเจดีย์ทรงพุ่มศิลปะผสมระหว่างสุโขทัยกับศิลปะเวียงโกศัยที่ยังอยู่ในลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์ ทั้งนี้เดิมเรียกกันว่าพระธาตุจวนแจ้ง เนื่องจากสมัยที่พระพุทธองค์เสด็จมาถึงสถานที่นี้จวนสว่างพอดี และต่อมาเพี้ยนเป็นจอมแจ้งจนถึงปัจจุบัน
หลังจากสักการะองค์พระธาตุจอมแจ้งแล้ว ภายในบริเวณวัดนั้นยังมีพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ปางนาคปรกประดิษฐานอยู่คู่กับองค์พระธาตุ มีพระนอนปางไสยาสน์องค์ใหญ่ ในลานปฏิบัติธรรมที่อยู่บริเวณซ้ายมือของทางเข้าประตูวัด ขณะที่ภายในวิหารมีหลวงพ่อจอมแจ้งซึ่งมีอายุประมาณ 600 กว่าปี เป็นพระประธาน ด้านหลังมีองค์พระธาตุเก่าแก่อีกองค์หนึ่งซึ่งไม่ได้บูรณปฏิสังขรณ์ ยังคงไว้ในรูปแบบของการก่อสร้างด้วยอิฐ โดยทุกปีในวันขึ้น 11 ค่ำ-15 ค่ำ เดือน 5 เหนือ (เดือน 3 ใต้) จะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุจอมแจ้ง ให้ประชาชนเดินทางมาสักการะพระธาตุและหลวงพ่อจอมแจ้งเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ภาพจาก ททท.
3. พระธาตุดอยเล็ง
พระธาตุดอยเล็ง ตั้งอยู่บนภูเขาสูง ในตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระธาตุช่อแฮ ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นปูชนียสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่ ที่อยู่คู่กับพระธาตุช่อแฮและพระธาตุจอมแจ้งมายาวนาน แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในอดีตที่โยงเรื่องราวของทั้งสามพระธาตุได้อย่างต่อเนื่องกัน
พระธาตุดอยเล็งแห่งนี้ได้รับการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อถึงเดือน 4 ใต้ (เดือน 6 เหนือ) ขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งตรงกับช่วงงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง พระธาตุดอยเล็งแห่งนี้ก็จะมีการจัดงานประเพณีขึ้นดอยเล็งในช่วงเดียวกัน เปิดให้ประชาชนเดินทางขึ้นมาสักการะเพื่อระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อม ๆ กับชมวิวอันงดงามของจังหวัดแพร่จากบนนั้น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทรศัพท์ 0 5567 1466
4. วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร ตั้งอยู่ถนนเจริญเมือง อำเภอเมืองแพร่ แต่เดิมนั้นเป็นวัดราษฎร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 ได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ประเภทวรวิหาร โดยวัดพระบาทมิ่งเมืองมาจากสองวัดรวมกัน ได้แก่ วัดพระบาทและวัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ห่างกันเพียงมีถนนกั้นเท่านั้น วัดพระบาทเป็นวัดของอุปราชหรือเจ้าหน้าหอ ส่วนวัดมิ่งเมืองเป็นวัดของเจ้าผู้ครองนครแพร่ เมื่อเมืองแพร่ล้มเลิกระบบเจ้าผู้ครองนคร วัดทั้งสองก็ถูกทิ้งอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก กระทั่งคณะกรรมการจังหวัดเห็นสมควรรวมสองวัดเข้าด้วยกัน ให้ชื่อว่า "วัดพระบาทมิ่งเมือง" มาจนทุกวัน
ปัจจุบันวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่ และยังมีพระเจดีย์มิ่งเมืองซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่มีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่ภายใน นอกจากนี้วัดนี้ยังเป็นที่ตั้งของมูลนิธิยาขอบอนุสรณ์เพื่อระลึกถึง "ยาขอบ" หรือ นายโชติ แพร่พันธุ์ นักเขียนผู้ล่วงลับไปแล้วซึ่งเป็นทายาทเจ้าเมืองแพร่คนสุดท้าย
5. พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่คุ้มเจ้าหลวง
ตั้งอยู่บนถนนคุ้มเดิม ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น ซึ่งมีรูปทรงเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรปหรือทรงขนมปังขิง ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น หลังคามุงด้วยไม้เรียกว่า "ไม้แป้นเกล็ด" ไม่มีหน้าจั่วเป็นแบบหลังคาเรือนปั้นหยามีมุขสี่เหลี่ยมยื่นออกมา ด้านหน้าของตัวอาคารหลังคามุขมีรูปทรงสามเหลี่ยมทั้งปั้นลม และชายคาน้ำรอบตัวอาคารประดับด้วยไม้แกะฉลุสลักลวดลายอย่างสวยงาม ซึ่งเป็นฝีมือช่างชาวจีนที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังมีใต้ถุนอาคารซึ่งเคยใช้เป็นคุกกักขังนักโทษ แต่ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา
ส่วนภายในอาคารด้านบนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ และแม่เจ้าบัวไหล อาทิ เครื่องเรือน โต๊ะเสวย ถ้วยชาม เตียงนอน เครื่องแต่งกาย เป็นต้น ใครที่สนใจประวัติศาสตร์และของเก่าต้องหลงรักที่นี่แน่นอน ทั้งนี้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคุ้มเจ้าหลวง โทรศัพท์ 0 5452 4158
6. วนอุทยานแพะเมืองผี
"วนอุทยานแพะเมืองผี" เพียงแค่ได้ยินชื่อหลายคนอาจจะรู้สึกกลัว แต่ที่นี่ไม่ได้น่ากลัวอย่างชื่อ แพะเมืองผี ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เกิดจากการทับถมกันของดินตะกอนแม่น้ำนานนับล้าน ๆ ปี แต่เมื่อน้ำฝนชะล้าง กัดเซาะ ทำให้พื้นดินบริเวณนี้เกิดเป็นรูปร่างแปลกสวยงาม และสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ เพราะน้ำฝนและลมจะกัดเซาะตลอด ที่นี่ไม่ใช่เพียงแค่ที่ท่องเที่ยวที่ชวนตื่นตาเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาที่สำคัญอีกด้วย ซึ่งสามารถท่องเที่ยววนอุทยานแพะเมืองผีได้ตลอดทั้งปี
7. ถ้ำผานางคอย
ถ้ำกลางป่าอันเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาหินปูนอำเภอร้องกวาง เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยสวยวิจิตรอลังการราวกับประติมากรรมจากธรรมชาติที่ได้สรรค์สร้างไว้ให้มนุษย์ได้ชื่นชม เมื่อร้อยเรียงเข้ากับตำนานพื้นบ้านบอกเล่าถึงที่มาของเสาหิน รูปทรงผู้หญิงกำลังอุ้มลูกน้อยเพื่อรอคอยการกลับมาของชายอันเป็นที่รักนั้น ซึ่งได้กลายเป็นที่มาของชื่อ "ถ้ำผานางคอย" ยิ่งทำให้ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความน่าสนใจ
ปัจจุบันถ้ำผานางคอยได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ มีการปรับภูมิทัศน์ พัฒนาเส้นทาง ติดไฟ และป้ายบอกถึงความเป็นมาประวัติศาสตร์บอกเล่าตำนาน "ผานางคอย" ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูป ซึ่งถ้ำแห่งนี้มีความสูงจากด้านล่างจนถึงปากถ้ำ 50 เมตร และภายในถ้ำระยะทางจากปากถ้ำจนถึงทางออกอีกด้านยาวถึง 150 เมตร ทางเดินนั้นมีทั้งกว้างและแคบสลับกันไป โดยแบ่งออกเป็น 13 จุด ให้นักท่องเที่ยวได้ชม แต่ที่เป็นไฮไลท์ของถ้ำคือ "หินนางคอย" โดยจะได้พบกับหินปูนที่หยดย้อยลงมาก่อเกิดรูปทรงเหมือนหญิงสาวกำลังก้มหน้าโอบอุ้มลูกน้อยนั่งอยู่บนแท่นหิน และต้องยืนอยู่ห่างออกมาประมาณ 10 เมตร จึงจะมองเห็นได้ชัดว่าเป็นรูปร่างเหมือนผู้หญิงอุ้มลูก ถัดจากหินนางคอยไปเล็กน้อยจะพบปากถ้ำอีกด้านหนึ่งที่สูงขึ้นไป ซึ่งปากถ้ำด้านหลังนั้นมีความกว้างกว่า 15 เมตร เปิดให้แสงสว่างส่องลอดเข้ามาภายในถ้ำได้เป็นอย่างดี อีกทั้งก่อนถึงปากถ้ำด้านหลังชาวบ้านได้นำพระพุทธรูปตั้งไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้บูชาและขอพรก่อนเดินทางกลับ
ภาพจาก Anirut Thailand / shutterstock.com
8. โอ้โฮ ! สองบ้านนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่จะพาคุณหวนกลับสู่ธรรมชาติในธีมน่ารักว่า "โอ้โฮ ! สองบ้านนา" โดยสองบ้านนาที่เอ่ยถึงนั้นประกอบด้วยบ้านนาตอง ตำบลช่อแฮ และบ้านนาคูหา ตำบลสวนเขื่อน ทั้งสองบ้านนี้อยู่ห่างกันเพียง 30 กิโลเมตร และสามารถเดินทางท่องเที่ยวทั้งสองบ้านภายในวันเดียว
บ้านนาคูหา โดดเด่นด้วยสภาพอากาศเย็นตลอดปี มีทัศนียภาพสวยงาม มีลำห้วยแม่แคมไหลผ่าน ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำสวนและเลี้ยงสาหร่ายน้ำจืดหรือเตาเป็นอาชีพเสริม โดยได้แปรรูปเป็นข้าวเกรียบเตา สาหร่ายแผ่นทอดกรอบ สบู่เตา และเป็นที่ตั้งของพุทธอุทยานดอยผาสวรรค์เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซึ่งมีสถานที่สำคัญภายในหลายแห่ง อาทิ ศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาโพธิวงศาจริยาราม พระพุทธชยันตีมหัศจรรย์ พระเจ้าหยกทิพย์ พระเจ้าทันใจ
บ้านนาตอง เป็นหมู่บ้านที่มีลำห้วยแม่ก๋อนไหลผ่านกลางหมู่บ้านจึงทำให้มีอากาศเย็นสบายตลอดปี ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย นอกจากความงามความเงียบสงบตามธรรมชาติแล้ว บ้านนาตองยังเป็นที่อยู่ของเต่าปูลู ซึ่งเป็นเต่าหางยาวและอาศัยอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำสะอาดเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ ของบ้านนาตอง ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ศรีนาตอง ณ วัดธรรมานุภาพซึ่งเป็นจุดชมวิวบ้านนาตองในมุมสูง และพิพิธภัณฑ์บ้านนาตอง ซึ่งมีโครงกระดูกมนุษย์โบราณอายุกว่า 4,500 ปีที่ค้นพบในถ้ำบ้านนาตอง จัดวางให้ชมอยู่ และใครที่ต้องการสัมผัสวิถีบ้านนาตองอย่างเต็มอิ่ม ที่นี่มีโฮมสเตย์ให้บริการอีกด้วย
9. หมู่บ้านทุ่งโฮ้ง
ซึ่ง "หม้อห้อม" เป็นคำพื้นเมืองจากคำสองคำคือ "หม้อ" และ "ห้อม" หม้อ เป็นภาชนะอย่างหนึ่งที่ใช้ในการบรรจุน้ำ หรือของเหลวมีทั้งเล็กและใหญ่ ส่วนห้อมเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่ใช้ลำต้นและใบมาหมักในน้ำตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ จะให้เป็นสีกรมท่าโดยนำผ้าขาวไปย้อมให้เป็นสีกรมท่าที่เรียกว่า "ผ้าหม้อห้อม" ซึ่งผ้าหม้อห้อมเป็นชุดแต่งกายประจำถิ่นของชาวแพร่และชาวบ้านทุ่งโฮ้งที่สวมใส่ในชีวิตประจำวัน และงานประเพณีต่าง ๆ จึงถือเป็นเอกลักษณ์เลยทีเดียว ใครที่สนใจพักค้างคืนที่หมู่บ้านแห่งนี้เพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างลึกซึ้งก็สามารถติดต่อทางหมู่บ้านเพื่อพักแรมที่โฮมสเตย์ได้
10. แก่งหลวง
ผจญภัยไปตามลำน้ำยมที่แก่งหลวง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำยม และเหตุที่ใช้ชื่อว่าแก่งหลวง เพราะที่แห่งนี้เป็นบริเวณที่แม่น้ำยมไหลมารวมตัวกันจนเป็นแอ่งขนาดใหญ่และลึกมาก มีน้ำตลอดปี และด้วยทั่วบริเวณเต็มไปด้วยโขดหินใหญ่น้อยเรียงรายอยู่กลางแม่น้ำ เมื่อน้ำไหลมาปะทะจะเกิดฟองฝอยสาดกระเซ็นสวยงาม เหมาะกับการนั่งแพและล่องแก่งเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ฝั่งตรงข้ามแก่งหลวงยังมี ถ้ำเอราวัณ ซึ่งเป็นถ้ำที่สวยงามที่สุดของจังหวัดแพร่ มีความลึกประมาณ 200 เมตร ภายในถ้ำมีห้องโถงกว้าง ตระการตาด้วยหินงอกหินย้อยอยู่ทั่วไปรูปร่างคล้ายช้างเอราวัณ สำหรับการชมถ้ำนั้นต้องนำไฟฉายมาเอง หรือสามารถเช่าไฟฉายได้
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ปาน ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 11 ประมาณ 63 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 8 กิโลเมตร โดยตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง ผู้ที่สนใจล่องแก่งและชมถ้ำเอราวัณ หรือต้องการสอบถามข้อมูลการพักแรม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแพร่ โทรศัพท์ 0 5464 6205 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ (รับผิดชอบแพร่ น่าน และอุตรดิตถ์) โทรศัพท์ 0 5452 1127 และ 0 5452 1118-9
จริง ๆ แล้วที่เที่ยวแพร่ยังมีอีกมากมาย เอาเป็นว่าหากใครมีโอกาสก็อย่าลืมแวะมาเที่ยวแพร่ หรือมาลองใช้ชีวิตให้นิ่ง เสพความเรียบง่าย เรื่อย ๆ ไม่เร่งรีบ ณ เมืองแพร่กันดูนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, phrae.go.th, phrae.go.th/tem, phrae.go.th