x close

ตะลอนทัวร์ 9 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ แหล่งเรียนรู้ชั้นดี


ตะลอนทัวร์ 9 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ แหล่งเรียนรู้ชั้นดี

          9 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ อีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่น่าไปเยือน มีทั้งพิพิธภัณฑ์น่าเที่ยว พิพิธภัณฑ์เก่าแก่ที่หลายคนมองข้าม มีที่ไหนห้ามพลาดตามไปดูกันเลย

          เพราะ "พิพิธภัณฑ์" ถือเป็นสถานที่สำคัญในการเก็บเรื่องราวความรู้ที่น่าสนใจเมื่อครั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปชมพิพิธภัณฑ์ กรุงเทพที่น่าสนใจ จะมีที่ไหนน่าสนใจบ้างนั้นตามไปชมพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
 

 
 1. สิรินธรทันตพิพิธ พิพิธภัณฑ์ฟันแห่งแรกของไทย
 
ตะลอนทัวร์ 9 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ แหล่งเรียนรู้ชั้นดี

          มาเริ่มต้นกันที่พิพิธภัณฑ์ "สิรินธรทันตพิพิธ" ตั้งอยู่ภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ฟันแห่งแรกของไทยที่มีความทันสมัยและใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นอีกหนึ่งแหล่งความรู้ที่ให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ผ่านพิพิธภัณฑ์ที่จัดการด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้เกิดการสื่อสาร ที่เข้าใจง่าย และการสร้างทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เข้าชม ส่วนภายในถูกแบ่งโซนการจัดแสดงในรู้แบบนิทรรศการ ทั้งในส่วนของเอกสาร งานวิชาการและประวัติศาสตร์ของคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ชมแบบฟรี ๆ ได้ในวันจันทร์-เสาร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00-16.30 น. หากเข้าชมเป็นหมู่คณะจะต้องแจ้งล่วงหน้า 1 สัปดาห์ก่อนการเข้าชม และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ โทรศัพท์ 0 2200 7653, Email : museum 2558@gmail.com หรือ เว็บไซต์ www.dt.mahidol.ac.th, เฟซบุ๊ก Faculty of Dentistry, Mahidol University.

 2. พิพิธภัณฑ์สัมผัส เพื่อเรียนรู้การแพทย์ ณ โรงพยาบาลศิริราช



          มาถึง "พิพิธภัณฑ์สัมผัส เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ" ตั้งอยู่ภายในส่วนพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์สงกรานต์ นิยมเสน ตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ โดยภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการชุดที่ 2 เรื่องการเผยแพร่ความรู้ด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ รวมทั้งการขยายโอกาสการเข้าถึงความรู้ให้กับผู้บกพร่องทางการมองเห็น ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจ

          จุดเด่นที่สุดของนิทรรศการแห่งนี้ก็คือการเรียนรู้ด้วยการฟังและสัมผัสสิ่ง แสดงในความมืด ซึ่งภายในประกอบด้วยโถงจัดแสดงภาพพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้านการอนามัยในขณะเดียวกันผู้เข้าชมสามารถรับฟังพระราชกรณียกิจ จากนั้นจะเข้าสู่ฐานการเรียนรู้ด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ

          สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน หยุดทุกวันอังคารและวันนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00-17.00 น. อัตราราคาเข้าชม สำหรับชาวต่างชาติราคา 300 บาท, ชาวไทยราคา 150 บาท และเด็กราคา 30 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 0 2419 6918-9, 0 2419 2601 หรือเว็บไซต์ www.si.mahidol.ac.th

 3. พิพิธภัณฑ์เด็ก กรุงเทพมหานคร
 
ตะลอนทัวร์ 9 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ แหล่งเรียนรู้ชั้นดี
          พิพิธภัณฑ์เด็ก กรุงเทพมหานคร หรือ Children\'s Discovery Museum แห่งแรกในประเทศไทย เป็นหนึ่งในโครงการที่สืบเนื่องจากพระราชปรารภในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทางตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ของเด็กไทย ภายในอาคารมีการจัดแสดงนิทรรศการ 3 หลัง ทั้งเรื่องราวของชีวิตมนุษย์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงวัฒนธรรมและสังคม พร้อมด้วยลานกิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กได้เพลิดเพลินกับเครื่องเล่น และสดชื่นไปกับลานน้ำพุหลากสี รวมทั้งยังมีกิจกรรมอื่น ๆ สลับสับเปลี่ยนในแต่ละวันอีกด้วย

          สำหรับพิพิธภัณฑ์เด็กเปิดบริการทุกวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์) โดยเสียค่าเข้าชมสำหรับเด็กราคา 50 บาท และผู้ใหญ่ราคา 70 บาท แต่หากต้องการติดต่อเพื่อทัศนศึกษา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวัฒนธรรม กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2246 6144 หรือเฟซบุ๊ก KidsMuseum

 4. พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตะลอนทัวร์ 9 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ แหล่งเรียนรู้ชั้นดี
ภาพจาก ททท.
 
          ตั้งอยู่ที่อาคารอนุรักษ์กรมโยธาธิการ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตพระนคร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 ด้วยสถาปัตยกรรมการสร้างแบบยุโรปในสมัยรัชกาลที่ 6-7 เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมสิ่งของและเครื่องใช้ส่วนตัวของพระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการทั้งภาพถ่าย, เอกสาร และพระราชประวัติ

          ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งหมด 3 ชั้น แต่ละชั้นจะนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในส่วนของห้องจัดแสดงบริเวณชั้น 2 จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระองค์ และในสุดท้ายมีการจัดแสดงบริเวณชั้น 3 จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ อีกทั้งยังเพิ่มความทันสมัยด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการอธิบายและแนะนำการชม


          สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดบริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เปิดตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ และพิเศษช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2558 เปิดเวลา 09.00-18.00 น. โดยต้องเสียค่าเข้าชมสำหรับชาวไทยราคา 20 บาท และชาวต่างชาติราคา 40 บาท วันหยุดราชการเปิดให้เข้าชมฟรี ทั้งนี้สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ kpi.ac.th และ เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 5. พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ตะลอนทัวร์ 9 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ แหล่งเรียนรู้ชั้นดี
          ตั้งอยู่ที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง จัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดแสดงเกี่ยวกับผ้า รวมทั้งประวัติศาสตร์ของเครื่องแต่งงานของชนชาติไทย ตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นสถานที่เก็บรักษาผ้าไทย เอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าของราชสำนัก ผ้าพื้นเมืองท้องถิ่นในประเทศไทยรวมทั้งฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อีกด้วย

          สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 15.30 น.) ส่วนอัตราค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ ราคา 150 บาท, ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ราคา 80 บาท, นักเรียน-นักศึกษา ราคา 50 บาท และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเข้าชมฟรี ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2225 9420, 0 2225 9430, เว็บไซต์ www.qsmtthailand.org หรือ เฟซบุ๊ก Queen Sirikit Museum of Textiles

 6. พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

          พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก หรือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ภายในเขตบางรัก ริเริ่มการก่อตั้งโดย อาจารย์วราพร สุรวดี ที่ต้องการให้ความรู้ผ่านการเล่าเรื่องเกี่ยวกับคนชนชั้นกลางในอดีต ผ่านความเป็นอยู่ในอดีตของครอบครัวเล็ก ๆ ในยุคนั้น ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้เริ่มดำเนินการเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ อิน-สารท-สอาง

          ภายในพิพิธภัณฑ์มีเนื้อทั้งหมด 300 ตารางวา ประกอบไปด้วยอาคาร 3 หลัง ได้แก่ เรือนไม้ 2 ชั้นทรงปั้นหยาอายุมากกว่า 60 สร้างด้วยช่างฝีมือชาวจีน ซึ่งข้าวของภายในห้องยังถูกจัดวางข้าวของเหมือนครั้งที่คุณสอางค์ แม่ของอาจารย์วราพรยังมีชีวิตอยู่, อาคารไม้หลังที่ 2 สร้างจำลองขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับหลังเดิม มีความน่าสนใจอยู่ที่เครื่องมือเครื่องใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เดิมตั้งอยู่ที่บริเวณทุ่งมหาเมฆ โดยวางแผนที่จะตั้งเป็นคลินิกรักษาคนไข้ของคุณหมอฟรานซิส คริสเตียน สามีชาวอินเดียของคุณสอางค์ แต่คุณหมอก็มาป่วยเสียชีวิตก่อนเข้าอยู่ ที่นี่จึงกลายเป็นสถานที่จัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ และอาคารที่ 3 เป็นอาคารจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน มีทั้งเครื่องครัว, เครื่องเขียน, เครื่องมือช่าง, เครื่องมือเครื่องใช้ในงานหัตถกรรม ฯลฯ
 
          สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ เจริญกรุง 43 ตรงข้ามไปรษณีย์กลาง เขตบางรัก กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2233 7027 เปิดบริการวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

 7. พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ หรือ มิวเซียมสยาม

ตะลอนทัวร์ 9 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ แหล่งเรียนรู้ชั้นดี

          ตั้งอยู่ภายใต้สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) เลขที่ 4 ถนนสนามไชย แขวงบรมมหาราชวัง เขตพระนคร ถือเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ต้นแบบ ที่ใช้เป็นแหล่งศึกษางานวิชาการและเผยแพร่องค์ความรู้ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม ด้วยการบริหารจัดการที่เน้นการสร้างประสบการณ์สดใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด "ให้ทุกการเรียนรู้ สนุกกว่าที่คิด" พร้อมมุ่งเน้นการพัฒนาความคิด ความรู้ และความสร้างสรรค์เป็นหลัก

          ภายในแบ่งนิทรรศการที่น่าสนใจออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ นิทรรศการถาวร (เรียงความประเทศไทย) เป็นการบอกเล่าพัฒนาการ ด้านต่าง ๆ ของภูมิภาคอุษาคเนย์ ตั้งแต่ดินแดน "สุวรรณภูมิ" เมื่อ 3,000 ปีก่อน ซึ่งประกอบไปด้วยอารยธรรมต่าง ๆ อาทิ อินเดีย จีน เรื่อยมาจนถึงกำเนิดสยามประเทศและก้าวสู่ประเทศไทยในปัจจุบัน, นิทรรศการหมุนเวียน รูปแบบนิทรรศการที่มีกำหนดระยะเวลาการจัดแสดงที่แน่นอน และกิจกรรมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์อื่น ๆ อาทิ นิทรรศการเคลื่อนที่ คือการจัดเปลี่ยนสถานที่จัดนิทรรศการอาจจะเป็นในพื้นที่อื่น ๆ ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด และนิทรรศการที่พิเศษอื่น ๆ

9 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ
          ทั้งนี้สำหรับนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ในวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) โดยต้องเสียค่าเข้าชม สำหรับนักเรียน-นักศึกษา (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ราคา 50 บาท, ผู้ใหญ่คนไทย ราคา 100 บาท และชาวต่างชาติ ราคา 200 บาท หากชมเป็นหมู่คณะ 20 คนขึ้นไปแต่ไม่เกิน 80 คน สามารถโทรสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 0 2225 2777-413 หรือเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ndmi.or.th และ เฟซบุ๊ก Museum Siam

 8. พิพิธภัณฑ์สื่อสาธารณะไทยพีบีเอส

ตะลอนทัวร์ 9 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ แหล่งเรียนรู้ชั้นดี
      
ตะลอนทัวร์ 9 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ แหล่งเรียนรู้ชั้นดี
ภาพจาก museum.thaipbs.or.th
 
          เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและอิทธิพลของสื่อ เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าใจ รู้เท่าทัน ตลอดจนการเลือกรับสื่อได้อย่างมีวิจารณญาณ พร้อมนำเสนอเรื่องราวสื่อรอบด้านเพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิด และเกิดการปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการในรูปแบบมัลติมีเดียอันทันสมัย และสัมผัสประสบการณ์การรับสื่อแบบ "ย้อนยุค"

          ภายในศูนย์การเรียนรู้สื่อสาธารณะ (Media Learning Park) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) มีพื้นที่จัดแสดงทั้งสิ้น 400 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่นิทรรศการเรื่องพลังสะท้อนแห่งสื่อ ชั้น 1 ประกอบด้วยวิวัตนาการด้านการสื่อสาร, หนังสือสะท้อนโลก, เสียงสะท้อนสาร, มองโลกผ่านเลนส์, ภาพประกาศกล่อมความคิด และสื่อสะท้อนตน และอีกหนึ่งส่วนนิทรรศการชั้นที่ 2 คือ วิถีเสพข่าวของชาวบ้าน, กำเนิดหนังสือพิมพ์ไทย และภาพยนตร์ไทยในอดีต

          ทั้งนี้สำหรับผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ museum.thaipbs.or.th และโทรศัพท์ 0 2790 2424, 0 2790 2000 ต่อ 4497
 
 9. พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน

ตะลอนทัวร์ 9 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ แหล่งเรียนรู้ชั้นดี
       
          ตั้งอยู่ด้านถนนศรีอยุธยาตัดกับถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต ประกอบด้วยตำหนักจิตรลดา ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร และอาคารพิพิธภัณฑ์ตำรวจ รวมระยะเวลาตั้งแต่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ตำรวจ เมื่อปี พ.ศ. 2473 ถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2558 เป็นระยะเวลารวม 85 ปี แบ่งส่วนการจัดแสดงออกเป็น 2 อาคาร คือ "ตำหนักจิตรลดา" จัดการแสดงเรื่องพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์มีต่อข้าราชการตำรวจ และ "อาคารกระจก" จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตำรวจไทยจนถึงปัจจุบัน

          ภายในพิพิธภัณฑ์ออกเป็น 2 ประเภท คือ พิพิธภัณฑ์ตำรวจเกี่ยวกับคดี ได้แก่ วัตถุพิพิธภัณฑ์ซึ่งเกี่ยวกับคดีอาญาทุกชนิด เมื่อศาลตัดสินคดีถึงที่สุดแล้วจึงเก็บภาพหรือวัตถุไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ หากภาพหรือวัตถุนั้นพิจารณาแล้วไม่เป็นผลดีและเป็นตัวอย่างในทางไม่สมควร หรือไม่เหมาะสม ก็จะไม่เปิดให้ประชาชนเข้าชม แต่จะให้ข้าราชการตำรวจหรือผู้มีหน้าที่ฝ่ายปราบปรามของหน่วยงานต่าง ๆ หรือพนักงานสอบสวนโดยตรงเท่านั้นเข้าชมและศึกษาหาความรู้ได้

          และพิพิธภัณฑ์ไม่เกี่ยวกับคดี ได้แก่ วัตถุพิพิธภัณฑ์ซึ่งไม่เกี่ยวกับคดีอาญาทุกชนิด เช่น ประวัติความเป็นมาในการจัดตั้งกรมตำรวจ ประวัติอธิบดีกรมตำรวจวิวัฒนาการ การแต่งเครื่องแบบตำรวจสมัยต่าง ๆ เครื่องหมายยศ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ จะจัดแสดงเปิดให้ ข้าราชการทุกฝ่ายและประชาชนเข้าชมศึกษาค้นคว้า ไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกปิดแต่อย่างใด

          สำหรับผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมทางพิพิธภัณฑ์เปิดทำการวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 (หยุดทุกวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) หากต้องการมาเป็นหมู่คณะกรุณาแจ้งล่วงหน้า โทรศัพท์ และสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.policemuseum.police.go.th และ เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
, www.dt.mahidol.ac.th, เฟซบุ๊ก Faculty of Dentistry, Mahidol University., www.si.mahidol.ac.th, เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก, เฟซบุ๊ก KidsMuseum, kpi.ac.th, เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, เฟซบุ๊ก Thai Film Archive, museum.thaipbs.or.th, www.ndmi.or.th, เฟซบุ๊ก Museum Siam, www.policemuseum.police.go.th, เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตะลอนทัวร์ 9 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ แหล่งเรียนรู้ชั้นดี อัปเดตล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16:33:06 14,793 อ่าน
TOP