x close

อมพาย-ป่าแป๋ แด่ความงดงามกลางหุบดอยแม่สะเรียง





อมพาย-ป่าแป๋ แด่ความงดงามกลางหุบดอยแม่สะเรียง (อ.ส.ท.)

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ...ภาพ

           ฤดูหนาวส่งสายลมบาง ๆ มาให้ใครสักคนรู้ว่า ณ กลางหุบเขา สายแดด แรงลม และฤดูกาลเป็นมากกว่าความโรแมนติก

           หากจะเรียกหมู่บ้านเล็ก ๆ สี่ห้าหมู่บนรอยต่อของแม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่เหล่านั้นว่าความงดงาม นิยามของมันอาจไร้ความหมาย บางเบา และดูเหมือนจะจำกัดความอยู่แค่ดวงตาของคนข้างล่างที่เอ่ยอ้างอธิบาย สำหรับพวกเขา ชีวิตผ่านการปักหลักมานับร้อยปี หลังการแรมรอบข้ามเขตเขาเข้ามาหาแผ่นดินสักผืน เพื่อหยัดยืนเผ่าพันธุ์และการส่งต่อสู่วันพรุ่งนี้ของลูกหลาน

           เราอยู่กันตามหนทางดินแดงที่ขีดเวียนตัวเองอยู่ตามสันเขาระหว่างอำเภอฮอดของจังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่สะเรียงในแดนดอยแม่ฮ่องสอน ไม่กี่วันที่นี่ เหนือความสูงจากผืนทะเลนับพันเมตร หมอกขาวลอยอ้อยอิ่งห่มคลุมหมู่บ้านทุกยามเช้า ก่อนแดดสายจะฉายภาพพืชผัก “ชั้นดี” ที่พวกเขาเลือกบ่มเพาะมันลงบนผืนดิน ขณะชีวิตของผู้คนแห่งขุนเขาก็หลอมเลือนเป็นสีสันหนึ่งเดียวกัน



           หากชีวิตมีหนทางจะเดินต่ออันคงทนไร้ภาพสวยหรู ทว่าจริงแท้อย่างถึงที่สุด ใครสักคนอาจค้นพบต้นแบบในหยาดเหงื่อและรอยยิ้มของผู้คนบนแผ่นดินเหนือดอยสูงแห่งนี้

           ทางไกลสายนั้นแยกย่อยออกจากบ้านกองลอยบนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 108 ภาพทะเลภูเขาที่เราเพลิดเพลินระหว่างทางเรียบกริบหายลับไปจากดวงตา เมื่อเราเลือกเข้ามาใช้ทางหลวงหมายเลข 1270 จากหลุมบ่อค่อย ๆ เปลี่ยนตัวเองสู่หนทางลูกรังหลายพื้นผิวสลับสูงชัน รอบด้าน คือ คลื่นภูเขาสีเขียวแห่งปลายฝน ไร่ข้าวโพดและกะหล่ำปลีคลี่คลุม ไม้ใหญ่ยืนแห้งตายรอห้วงเวลาเผาถาง ราวโลกอวกาศยามเราผ่านเข้าใกล้เขตอุทยานแห่งชาติแม่โถ ภาพทางตาเดินสวนทางกับความเป็นจริงเสมอ



           ผ่านพ้น 34 กิโลเมตรที่หน่วงหนัก หยอดรถตัวเองไปตามหลุมบ่อที่เพิ่งหมาดโคลน เราเข้ามาถึงเขตบ้านอมพาย เพียงเพื่อที่จะพบว่าบางอย่างได้หยัดยืนและแตกต่างจากภาพด้านนอกราวโลกคนละใบ ที่ราบผืนใหญ่น้อยที่สลับแทรกแชมอยู่ตามแอ่งดอย คือ ภาพชัดของการเกษตรอันดำรงตนตามหนทางแห่งบรรพบุรุษ นาขั้นบันไดกำลังเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว หากข้าวคือภาพเชื่อมโยงระหว่างคนตัวเล็ก ๆ กับผืนแผ่นดินสำหรับพวกเขาห้วงนาทีนี้คือภาพชัดอันอ่อนโยนระหว่างผู้คนและพื้นที่ที่พวกเขาหยัดยืนตัวเองอยู่



           “นอกจากข้าวแล้ว เราส่งเสริมให้พวกเขารู้ครับว่า พืชผักและผลไม้อีกหลายประเภทนั้นเหมาะสมกับการดำเนินชีวิต” หัวหน้าบรรจง กาวีวน แห่งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียงบอกกับเรากลางอากาศเย็นเริ่มกดหนักในหุบแห่งบ้านอมพาย รอบด้านกำลังเปลี่ยนผ่านตัวเองสู่ความโพล้เพล้

           โรงเรือนปลูกผักเรียงรายอยู่ตามเชิงเขา ใครสักคนชวนเข้าไปดูกล้าพันธุ์เบบีฮ่องเต้และเบบีคอส มันยืนต้นกล้าราวงานกราฟิกสีเขียว บนพื้นผิวสีน้ำตาลเข้มของเนื้อดินในกระถาง หญิงสาวปกาเกอะญอประคบประหงมดูแลมันหาใช่แค่เพียงอาชีพลูกจ้างรายวัน แต่ราวกับผักเมืองหนาวเหล่านี้ ไม่แตกต่างไปจากพืชผลอื่น ๆ ที่พวกเขาใช้ยังชีพกลางผืนป่ามาแต่ดั้งเดิม

           “ที่นี่เป็นเหมือนศูนย์ศึกษาและพัฒนาส่งเสริมครับ ผักของเรากระจายกันอยู่ในอีกสถานีที่อีกฟากเขา และที่สำคัญที่สุด คือ อยู่ตามโรงเรือนของชาวบ้าน นั่นคือจุดหมาย” หัวหน้าบรรจงว่าการส่งเสริมที่แท้จริงไม่ได้อยู่แค่ให้พวกเขาได้เข้ามาเป็นลูกจ้างโครงการ แต่หมายถึงอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้เขามีอาชีพ และหันห่างจากการทำลายผืนป่าอันเป็นบ้านอันจริงแท้ ไม่ว่าจะด้วยการถากถางทำกิน หรือปลูกผักที่ต้องการยาฆ่าแมลงอันเป็นสารพิษร้ายอย่างกะหล่ำปลี



           ฤดูกาลของเบบีฮ่องเต้และเบบีคอสเวียนมาถึงพร้อม ๆ กับข้าวดอยในผืนนาทีกำลังสุกได้ที่ มันคือผลิตผลจากขุนเขาที่พร้อมจะเคียงข้างคนของที่นี่ไม่แตกต่าง

           “นอกจากส่งเสริม เรารับซื้อและหาที่ขายผลผลิตให้เขาทั้งหมดทุกขั้นตอนครับ” หัวหน้าบรรจงหมายถึงระบบสหกรณ์ ที่สำคัญยิ่งสำหรับคนห่างไกลในขุนเขา ซึ่งต้องต่อสู้กับระบบทุนที่กำลังรุกคืบขึ้นมาตามแรงเหวี่ยงของคืนวัน



           ผักเมืองหนาวของชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้าน และหย่อมบ้านแยกย่อยนั้นเปลี่ยนเวียนกันไปตามฤดูกาล เช่น คะน้าเห็ดหอม โอ๊กลีฟแดง โอ๊กลีฟเขียว มะเขือเทศเชอร์รีเหลือง รวมไปถึงผลไม้อย่างเสาวรสและอะโวคาโดล้วนเปลี่ยนเวียนกันออกผลิตผล

           “ทั้งหมดเรารับซื้อและส่งตรงลงศูนย์ใหญ่ที่เชียงใหม่ครับ และที่นี่อาจได้เปรียบที่อื่นหน่อย คือ ส่งลงที่ตลาดไทยได้เลยในบางชนิด” เราคุยกันเรื่องระยะทางและการขนส่ง ซึ่งอุปสรรคคือทางหล่มโคลนอันยากยิ่งในยามฝน



           ค่ำคืนแรกกลางหุบดอยแห่งแม่สะเรียง เราได้รู้ว่าความหอมหวานของพืชผลอันไร้สารพิษในทุกขั้นตอนนั้นน่าจดจำเพียงไร ผักเมืองหนาวกินเคล้ากับน้ำพริกปลากระป๋องรสจัดจ้าน ข้าวดอยนั้นนุ่มหวานเสียจนหลายคนไม่อาจละจากวงข้าวไปง่าย ๆ

           เช้าแสนสดชื่นเหนือความสูงราว 800 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง หัวหน้าบรรจงเล่าถึงวันที่ศูนย์พัฒนาฯ แม่สะเรียงแยกออกมาจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 นั้น หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงไร เขายังคงเชื่อเรื่อง “ทางยาก” ที่เลือกผู้คนและหนทางชีวิตอันเหมาะสมกับมัน

           “ผมว่าหนทางลำบากก็มีข้อดีของมันครับ คือ การที่วิถีดั้งเดิมยังคงดำเนินต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน”

           บางนาทีเราเดินเข้าไปในป่าลึกอันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่รับผิดชอบราว 90 ตารางกิโลเมตร รอบด้านหยัดยืนชื่นเย็นด้วยไม้ใหญ่ นานาสัตว์ระวังไพรส่งเสียงระงม โครงการ “ป่าชาวบ้าน” นั้น ปลูกแทรกแซมไม้ต่างถิ่นที่ได้รับการอนุญาตให้ตัดใช้ อย่างเมเปิล การบูร หรือไม้เนื้อแข็งต่าง ๆ

           “หากจะสร้างบ้าน เราให้ปลูกและตัดไม้จำพวกนี้ครับ ป่าเดิมจะได้รับการดูแลและไม่หายสูญ”

           จากหุบดอยที่รายล้อมด้วยผืนป่าและผู้คนของขุนเขา เราค่อย ๆ จัดเตรียมสัมภาระ ของสด และมุ่งตรงไปตามแผนที่ง่าย ๆ ที่เขียนโดยป้าทูน เจ้าหน้าที่หญิงของศูนย์พัฒนาฯ แม่สะเรียง กระดาษแผ่นเล็ก ๆ ที่ขีดร่างเป็นเส้นทางและหมุดหลายโยงใยกำลังพาเราไปยังอีกหลายหมู่บ้าน ในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาฯ แม่สะเรียง



           เครื่องยนต์ของรถคันเก่า ๆ ครางกระหึ่ม ลมหนาวไล้เนื้อตัวยามลดกระจกลง หนทางลับหายไปในแมกไม้ และหลายสิ่งดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอเมื่อเราผ่านพ้นเนินชันโค้งแล้วโค้งเล่า ผ่านบ้านสันติธรรมและหน่วยจัดการต้นน้ำยางอมพาย หากแยกขวา ใครสักคนตรงนั้นบอกว่ามันจะพาไปลงแม่ลาน้อยด้วยทางทรหด

           ทางคอนกรีตลำลองช่วยให้เราผ่านเนินชันตรงบ้านสันติธรรมได้ไม่ยาก เมื่อขึ้นไปถึงสันดอย ไร่กะหล่ำของพี่น้องชาวไทยภูเขาเผ่าม้งคลี่ขยายพร้อม ๆ กับขบวนรถกระบะที่มุ่งลงเขาสวนกันบนความกว้างชนิดที่กระจกรถแนบชิด เห็นได้ทุกอณูของรอยยิ้ม บางผืนหากจอดรถแวะดูชีวิตที่ดำเนินพวกเขาปลูกมะเขือเทศและถั่วแดงสลับเวียน ทว่ามันไม่ได้โยงใยอยู่ด้วยเหตุผลทางเกษตรกรรม กลับผูกยืดอยู่ด้วยระบบทุนที่ส่งผ่านคำว่าราคามาจากพื้นล่าง

           ทางป่าเย็นรื่นกลบกลืนเรื่องราวของการเกษตรและปัญหาทบซ้อนที่รอวันแก้ไข พื้นผิวฉ่ำขึ้นและเป็นหล่มโคลนอยู่หลายช่วง เพราะเพิ่งหมาดฝนไปไม่นาน เราแวะบ้านไก่ดำของพี่น้องปกาเกอะญอ หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ตั้งอยู่บนสันเนิน ไล่ระดับความเติบโตลึกลงไปข้างล่าง

           ภาพที่เห็นสวนทางกับหนทางไม่เกิน 10 กิโลเมตร กลางขุนเขาที่พ้นผ่าน ความเรียบง่ายจากพืชพรรณและชีวิตตามแดนดอยตกทอดอยู่ในนาข้าวที่แตกรวง พืชผักตามโรงเรือน และรอยยิ้มจากแม่เฒ่าที่อุ้มโอบหลานสาวไว้ในอ้อมแขน ถ้อยคำสื่อสารด้วยภาษาไทยพื้นล่างดูจะไม่จำเป็น



           ครึ่งทางตามแผนที่ในกระดาษใบเล็กที่เรายืดถือมันมากกว่าเครื่องนำทางดิจิทัล พาดิ่งตรงลงสู่หมู่บ้านปกาเกอะญอขนาดใหญ่อย่างบ้านห้วยฮากไม้ใต้ ฟ้ายามบ่ายใสสดเท่าที่มันควรจะเป็น ที่นี่สุขสงบและเต็มไปด้วยภาพจริงแท้ของความงดงาม ลำห้วยฮากไม้ใต้อันเป็นต้นน้ำหนึ่งในนับร้อยสายของแม่สะเรียง ไหลเย็นอย่างไม่มีวันแห้งขอด บัวตองติดดอกเหลืองพราง เหนือขึ้นไปคือขั้นบันไดของข้าวดอยที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวในวันเก็บเกี่ยว

           โรงเรียนบ้านห้วยฮากไม้ใต้เต็มไปด้วยครูจากแดนไกล อากาศหนาวเย็นและความยากเข็ญไม่ได้เป็นกำแพงสำหรับการศึกษาและอุดมการณ์ที่พวกเขาเลือกเสียสละ เพื่อวันพรุ่งนี้ของเด็ก ๆ ในหลืบเขา เรานั่งมองดูหมู่บ้านปกาเกอะญอแห่งหนึ่งที่งดงามราวภาพเขียน หย่อมบ้านเรือนและแปลงผักเมืองหนาวถูกโอบล้อมด้วยผืนนาและป่าเขาทึบแน่น นาทีที่อยู่ห่างไกลจากสิ่งที่คนข้างล่างเรียกเอาเองว่าความเจริญ โลกตรงนี้ก็ดูจะมีหนทางและการมีชีวิตอีกรูปแบบที่ไม่ต้องการการตัดสินตีความ

           ปลายบ่ายเมื่อแสงอ่อน หนทางจริงแท้จึงบอกเราว่าความอ้อยอิ่งรื่นรมย์อาจต้องแลกด้วยทางยากในค่ำคืน เราตัดใจจากหมู่บ้านแห่งนั้นออกมาเพื่อที่จะพบว่า ณ อีกหย่อมบ้านหนึ่ง ทั้งพืชพรรณและผู้คนของขุนเขาล้วนหล่อหลอมและเปี่ยมค่าน่าทำความเคารพ เมื่อก้าวเข้าไปถึง

           ลัดเลาะผ่านบ้านโก๊ะไม้หลู่ เราดิ่งตรงลงสู่ บ้านป่าแป๋ หมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าละเวือะ (ลัวะ) แสนเก่าแก่อันเป็นที่ตั้งของศูนย์ย่อยของศูนย์พัฒนาฯ แม่สะเรียง ตัดลงจากความสูงกว่า 1,000 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ความใหญ่โตของพื้นที่หมู่บ้านที่ไล่เรียงตามหลืบดอย สะท้อนคืนวันนับร้อยปีของการมีอยู่แห่งชีวิต

           “ที่ป่าแป๋เรามีระบบสหกรณ์ที่เข้มแข็งมานาน รู้จักมันตั้งแต่สมัยในหลวงท่านพระราชทานธนาคารข้าว” ทัศนีย์ แก้วเตี๊ยะ หรือพี่แป๋ว หญิงชาวละเวือะที่เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของศูนย์ย่อย ฉายภาพการเติบโตของชุมชนชาวละเวือะที่นี่ผ่านความคิดความเข้าใจ ในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านและก้าวเดินร่วมกับโลกข้างล่าง หลังเข้าไปเยี่ยมชมโรงเรือนผักเมืองหนาวชั้นดีที่มีขนาดใหญ่กว่าที่บ้านอมพายที่เราจากมา คนงานชาวละเวือะเพาะหน่อกล้าพันธุ์ลงหลุมพลาสติกทรงจัตุรัส ฉีดน้ำยาอินทรีย์สำหรับบ่มเพาะกล้า ไม่นานนักเราก็เข้าสู่ความเป็นหมู่บ้านอันเติบโลกลางขุนเขา



           ถนนเล็ก ๆ ลัดลงหุบเข้าไปสู่หย่อมบ้านป่าแป๋ บ้านไม้แข็งแรงคงทนเต็มไปด้วยแม่เฒ่าในชุดแสนสวย สร้อยประดับนับสิบเส้นที่คล้องคอเปี่ยมสีสันอันเป็นสัญลักษณ์ของหญิงละเวือะ

           ห้วยอุมลานไหลเย็นผ่านกลางหมู่บ้าน มันหาใช่เพียงความเย็นชื่น เพลินตา หากแต่คือความสมบูรณ์ของหมู่บ้านแห่งหนึ่งกลางป่าเขา ที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการเติบโตของพืชพรรณ ฉางข้าวเล็ก ๆ แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวและทิศทางในการดำรงชีพแห่งหนึ่ง คือ ธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้พี่น้องชาวละเวือะบ้านป่าแป๋ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2513 ห้วงยามนั้นเงินพระราชทานอีก 20,000 บาท สำหรับซื้อข้าวจากข้างนอกมาให้ชาวบ้านอันแร้นแค้นได้กู้ยืม และลงหลักปักแรงในที่นาของตน ยามเมื่อข้าวดอยแตกรวงเต็มทุ่ง ก็เก็บเกี่ยวมาใช้คืน ระบบเช่นนี้มุ่งหวังให้การพึ่งตนเอง ก่อเกิดขึ้นทดแทนการหันไปหาพืชทำเงินและทำลายป่าอย่างฝิ่นเช่นในอดีต

           “ตอนนั้นพี่ยังเด็ก ๆ จำได้ว่าในหลวงท่านเสด็จเยือน และทรงถามว่าคนที่นี่อยากได้อะไร ผู้นำหมู่บ้านต้องการไฟฟ้า ไม่นานนักทางการก็ส่งคนมาสร้างเสาไฟ สร้างกันเป็นปี ทางมันยาก”

           การมาถึงของธนาคารข้าวส่งผลให้คนบ้านป่าแป๋รู้จักคำว่า “สหกรณ์” จากแรกเริ่มที่การกู้ยืมข้าวทำให้การยังชีพในแต่ละปีนั้นเพียงพอ ทุกวันนี้สำหรับคำว่าข้าวของคนที่นี่ นอกจากจะพอกินในแต่ละปี หลายบ้านยังก้าวล้ำไปสู่การขาย

           “ก็ข้าวกล้องในโครงการหลวงที่คนข้าวล่างซื้อผ่านผลิตภัณฑ์ดอยคำนั่นแหละค่ะ หนึ่งในนั้นก็ข้าวของละเวือะป่าแป๋” พี่แป๋วเล่าผ่านรอยยิ้มขณะพาเราจากฉางข้าวหลังเล็กเก่าคร่ำ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของการเปลี่ยนผ่านสำหรับคนที่นี่มาเกือบ 40 ปี



           บ้านป่าแป๋ฉายชัดชีวิตชีวาอยู่ตามนาขั้นบันไดที่หลังหมู่บ้าน เราเดินเลาะทางดินไหล่เขาไปเพื่อจะพบว่า โมงยามแห่งการลงแขกเกี่ยวข้าวนั้นแสนรื่นเริง ผู้คนแทบทุกรุ่นอายุตั้งแต่ชายหนุ่มกำยำ แม่เฒ่าในชุดแสนสวยที่สาว ๆ สมัยใหม่ไม่ค่อยนิยมใส่ หรือแม้แต่เด็กน้อย ทุกคนรวมกันอยู่ตามลานข้าวที่แตกรวงสุกส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ พวกเขาตีข้าวกันกลางหุบเขาโดยมีข้อตกลงกันง่าย ๆ เหมือนเช่นอดีตว่า หากไม่เสร็จสิ้นภายใน 1 วัน ต้องเพิ่มเหล้าอีก 1 ขวด เป็นค่าปรับให้เจ้าของนา วงข้าวกลางวันหอมไปด้วย “สะเปื๊อก” อาหารพื้นถิ่นของคนละเวือะ หมูสามชั้นต้มสุกและคุลกด้วยพริก มะนาว ผักกลิ่นหอม รสจัดจ้าน มันง่ายดายเมื่อกินกับข้าวดอยและเหล้าข้าวหมัก แม้จะไม่ถนัดนัก แต่สำหรับการหยิบยื่นราวญาติมิตร เราเองก็ยิ้มรับไมตรีท่ามกลางขุนเขาไปอย่างชื่นมื่น

           ข้าวเปลือกนับสิบนับร้อยกิโลกรัมถูกแบกออกมาจากผืนนาที่ไล่ระดับสูงชัน ห้วงยามเช่นนี้ในหมู่บ้านเงียบสงบ เหลือเพียงเด็กและพ่อเฒ่าแม่เฒ่า จนเมื่อยามเย็นมาถึง ความมีชีวิตชีวาจึงกลับมา ตามลานหน้าบ้านเต็มไปด้วยคนที่ “หวีข้าว” ด้วยอุปกรณ์ไม้โบราณราวร่ายรำ

           ที่หน้าสำนักสงฆ์ป่าแป๋ “เญือะละเวือะ” หรือบ้านของคนละเวือะโบราณ ตั้งหลังคาสอบ ใต้ถุนสูง แสดงให้เห็นชีวิตในอดีตของพวกเขา เตาไฟ ฟืนตั้งอยู่หน้าชานเรือน ด้านบนเต็มไปด้วยความคิดความเชื่อในเรื่องไหว้ผีเรือนที่ตกทอดอยู่ตามผนังบ้าน คนบ้านป่าแป๋ผูกโยงการมีที่หยัดยืนในผืนภูเขาไว้กับตำนานมานับพันปี ทั้งตำนานของขุนหลวงวิลังคะ ที่เชื่อกันว่าเคยปกครองเชียงใหม่ และร่วมรบต่อสู้กับพระนางจามเทวีจนพ่ายแพ้เสื่อมอาคม ด้วยโดนสวมหมวกลั่นทมแดงอันเปรียบเสมือนเลือดประจำเดือน จนต้องหนีมาอยู่กลางป่าเขา



           “ทุกวันนี้คนบ้านเราเวลาเลี้ยงผีฮอ หรือผีเจ้านาย ต้องใช้ลั่นทมขาวเท่านั้น” พี่แป๋วพูดถึงความเชื่อในการไหว้ผีอันหลากหลายของคนละเวือะบ้านป่าแป๋ ที่เกี่ยวโยงอยู่แทบทุกอณูของชีวิตคนที่นี่ และไม่เคยตกหล่นจางคลาย

           “เงินโบราณก็เช่นกันค่ะ คนที่นี่ผูกพันกับมันมานาน ใช้แทนสิ่งมีค่าใช้ในประเพณี” เมื่อถามถึงสิ่งมีค่า พี่แป๋วเล่าว่าคนละเวือะที่นี่มีการใช้เงินรุ่นโบราณเป็นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ในพิธีแต่งงาน พวกเขาจะใช้เงินพดด้วง เงินกิ่ง และเงินครั่ง ซึ่งเป็นเงินโบราณที่ใช้กันในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นถึงล้านนายุคหลัง หากเป็นค่าปรับต่าง ๆ จะใช้เงินรูปีของอังกฤษที่ปกครองอินเดียและพม่ามาใช้จ่าย เงินเก่าแก่ที่ตกทอดในพิธีกรรมเหล่านี้สะท้อนการมีชุมชนและการติดต่อกับทางแม่สะเรียงต่อไปถึงพม่ามานับร้อยปี

           ชีวิตผ่านพ้นทั้งความทุกข์ยากและเติบโตจนมีนาทีปัจจุบัน ว่ากันว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บนแดนดอยบ้านป่าแป๋เต็มไปด้วยโรคระบาดอย่างฝีดาษจนเกือบสิ้นหมู่บ้าน เมื่อราวปี พ.ศ. 2489 ยังไม่รวมไฟป่าที่มอดไหม้ในปีถัดมา ซึ่งล้วนอยู่ในความทรงจำของเฒ่าละเวือะแทบทั้งหมู่บ้าน



           “ที่นี่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นจริง ๆ ก็ด้วยในหลวงท่านละค่ะ หลังจากธนาคารข้าว ถนนลูกรังก็เริ่มเข้ามาในปี พ.ศ. 2522” เรามายืนมองหมู่บ้านเล็ก ๆ อันงดงามในยามเย็นที่โบสถ์โปรเตสแตนต์เหนือยอดดอยของหมู่บ้าน บ้านเรือนอันมั่นคงถาวรเติบโตยั่งยืน สำนักสงฆ์เล็ก ๆ ที่ปลายตาล้วนบ่งบอกว่าสำหรับที่นี่ ความสงบและความคิดความเชื่อต่าง ๆ ล้วนผสมกลมกลืนทั้งศาสนา การเพาะปลูก หรือแม้แต่การดำรงชีวิตในขุนเขาอันเป็นหนึ่งเดียว

           ค่ำคืนผ่านพ้นกลางเดือนดาวและอากาศหนาวเย็น เมื่อตะวันแตะตีนฟ้าของวันพรุ่ง ห้วงยามของบ้านป่าแป๋และพืชพรรณก็ดำเนินไปเหมือนที่มันควรจะเป็น หลังพระสงฆ์ 2 รูป เดินลงจากยอดเขาผ่านห้วยอุมลานเข้าสู่หมู่บ้านแม่เฒ่า ในผ้าซิ่นผืนสวยจบพนมเหนือหว่างคิ้วอย่างนิ่งสงบ ไม่นานที่โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 10 ก็ละลานตาด้วยเด็ก ๆ ในชุดละเวือะพื้นถิ่นรับวันเปิดเทอม ครูหนุ่มเล่าว่า สำหรับการศึกษา ข้างบนนี้เรื่องของความรู้อาจไม่สำคัญเท่ากับคุณธรรม เพราะชีวิตตามไร่นาและครอบครัวของพวกเขาบางทีอาจสำคัญกว่า

           “ความรู้มีไว้สำหรับให้พวกเขาเติบโตร่วมกับคนข้างล่างละครับ ข้างบนนี้เชื่อกันได้ว่าป่าเขาและทิศทางของบรรพบุรุษน่าจะสำคัญกว่า” เขากล่าวหลังเราเดินไปชมงานผ้าทอ ทั้งย่ามและเสื้อผ้าสตรีของหญิงชาวละเวือะด้านหน้าโรงเรียน

           วันทั้งวันของเราดูเหมือนจะเคลื่อนไปตามทิศทางและการดำรงตน เช่นเดียวกับคนบ้านป่าแป๋ พวกเขาเป็นเช่นเดียวกันกับขุนเขาและการดำรงอยู่จากรุ่นสู่รุ่น หากเป็นช่วงเลี้ยงผี ทั้งหมู่บ้านราวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ความคิดความเชื่อจากภายนอก อาจจะยากสำหรับการก้าวข้ามกำแพงเข้ามา ทว่ายามที่ต้องก้าวเดินไปกับคืนวัน ความเข้าใจในระบบสมัยใหม่ทั้งเรื่องการตลาด การเกษตรยั่งยืน หรือการดูแลบ้านกลางขุนเขาให้เติบโตคงทน พวกเขาล้วนเข้าใจได้ไม่แตกต่าง

           “ที่นี่ยังงดงามอยู่ได้เพราะคนรุ่นเก่านะ อย่างช่วงปีใหม่ไหว้ศาลไหว้ผี คนนอกเข้าไม่ได้เลยล่ะ คนในก็ออกไม่ได้ หากจำเป็นจริง ๆ ต้องเสียเหล้าเป็นค่าปรับค่าเซ่น” ไม่นับคนอย่างพี่แป๋วที่เติบโตผ่านโลกสองใบทั้งจารีตและการพัฒนา คนที่เชื่อเช่นนี้ยังคงทะนุถนอมหนทางอันเหมาะสมของพวกเขาไว้อย่างที่ไม่ต้องการการเป็นห่วงและตีความจากคนนอก





           ไม่กี่วันที่บ้านอมพายและบ้านป่าแป๋ ท่ามกลางทางลูกรังแสนยาวไกลและอาจยากเย็นในโมงยามฤดูฝน ที่นี่ราวโลกหลบเร้นอันไกลแสนไกล ทั้งที่จริงมันตั้งอยู่ห่างจากทางหลวงแอสฟัลต์เรียบกริบไม่ถึง 40 กิโลเมตร เรื่องราวของผืนป่าและสายน้ำแห่งหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งทอดยาวไหลเวียน มากไปด้วยรอยทางทอดยาวสะท้อนก้าวย่างอันเรียงรายอยู่ด้วยสิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าความสุข ความสุขของใครสักคนที่ได้เห็นชีวิตเติบโตไปกับขุนเขา นาข้าว พืชผักผลไม้ที่แตกใบออกผลเป็นชีวิตที่ดีและเท่าเทียม และสำคัญที่สุด ความสุขเหล่านั้นอาจคงทนอยู่ในบ้านหลังเล็กกลางป่าเขากว้างใหญ่ ที่ผู้คนพร้อมจะลืมตาอยู่กับมันทุกวันคืน



ขอขอบคุณ

           คุณบรรจง กาวีวน, คุณทัศนีย์ แก้วเตี๊ยะ และทุกคนที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง สำหรับข้อมูลการดูแลต้อนรับอันแสนมีค่าตลอดการจัดทำสารคดี

คู่มือนักเดินทาง

           ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียงเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ท่ามกลางแดนดอยกว้างใหญ่ในเขตอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดต่อกับอำเภอฮอดของจังหวัดเชียงใหม่ เหมาะสำหรับคนชอบความเรียบง่ายสัมผัสอากาศเย็น และเที่ยวชมความงดงามของวิถีชีวิต

การเดินทาง

           ง่ายที่สุด คือ จากจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 (เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน) ถึงแยกกองลอยในเขตอำเภอแม่สะเรียง ราว 180 กิโลเมตร จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1270 อีก 34 กิโลเมตร ถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียงที่บ้านอมพาย (10 กิโลเมตรสุดท้าย เป็นทางลูกรัง หากเป็นฤดูฝน ยากต่อการเข้าถึง ควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ)

           หากอยากเที่ยวเป็นวงรอบ ใช้เส้นทางภูเขาจากศูนย์พัฒนาฯ แม่สะเรียงที่บ้านอมพาย ผ่านบ้านสันติธรรม บ้านไก่ดำ บ้านโก๊ะไม้หลู่ไปเที่ยวบ้านป่าแป๋ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว จากนั้นย้อนกลับสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 108 ด้วยทางหลวงชนบท มส. 3010 รวมระยะทางราว 40 กิโลเมตร (ควรท่องเที่ยวนอกฤดูฝน เส้นทางเป็นหลุมบ่อและทางลูกรังเกือบตลอดเส้น และควรใช้รถขับเคลื่อนสีล้อมสมรรถภาพดี)

           พิกัดจีพีเอส N20.22895 E41.1794

ที่หลับที่กิน

           ภายในศูนย์พัฒนาฯ แม่สะเรียง ทั้งบ้านอมพายและบ้านป่าแป๋มีบ้านพักและโรงครัวให้บริการ ควรเตรียมของสดขึ้นไปเอง ส่วนพืชผักเมืองหนาว ที่ศูนย์ฯ มีให้เลือกชิมหลากหลาย

           หมู่บ้านป่าแป๋และหมู่บ้านอมพายมีร้านค้าเล็ก ๆ ขายขนม น้ำดื่ม และอาหารสำเร็จรูปอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ให้เลือกซื้อเพิ่มเติม

ติดต่อสอบถาม

           ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง บ้านอมพาย ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 0 5307 1304, 08 5716 3518 เว็บไซต์ royalprojectthailand.com




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 54 ฉบับที่ 5 ธันวาคม 2556




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อมพาย-ป่าแป๋ แด่ความงดงามกลางหุบดอยแม่สะเรียง อัปเดตล่าสุด 21 มกราคม 2557 เวลา 10:53:21 7,045 อ่าน
TOP