x close

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา (อสท.)

ธเนศ งามสม...เรื่อง
ธเนศ งามสม และโสภณ บูรณประพฤกษ์...ภาพ

1. ปลายเดือนตุลาคม ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มมาเยือนนราธิวาส

           เกลียวคลื่นสาดซัดลงบนผืนทรายที่ หาดนราทัศน์ สถานที่หย่อนใจของคนอำเภอเมืองฯ ชายชรากำลังเพียรถ่ายภาพหลานตัวน้อยวัยกำลังซน ชายชรานุ่งโสร่ง สวมเสื้อเชิ้ตขาวกับหมวกกะปิเยาะห์ อันเป็นเครื่องแต่งกายของชายมุสลิมผู้ศรัทธา ขณะเสียงหัวเราะรื่นรมย์แว่วมาจากชายชรา ผมหันไปยิ้มกับมิตรร่วมทาง คล้ายบอกเขาว่า สิ่งที่ฟังมาอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมดที่เป็นไป

           ผมมาเยือนนราธิวาส 7 ครั้งแล้ว มากพอที่จะเข้าใจในบางแง่มุม ทว่าก็ยอมรับว่าตนเอง "รู้" น้อยเหลือเกินเกี่ยวกับจังหวัดปลายสุดด้ามขวานนี้ ระหว่างสายลมหนาวค่อย ๆ เดินทางจากทิศเหนือลงใต้ ผมมาเยือนศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพราะอยากเห็นบางอย่างที่ผลิดอกออกผลในฤดูกาลนี้

           ที่มุมหนึ่งในแปลงไม้ผล ท่ามกลางพรรณไม้ร่มรื่นน้อยใหญ่ ใครบางคนปลิดลองกองอันดกดื่นบนกิ่งก้าน ชิมรสหอมหวานแล้วก็ยิ้มอิ่มเอมใจ ในยามนั้นเองที่ผมนึกถึงการงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นความจริงที่สิ่งต่าง ๆ เติบโตงอกงามภายในศูนย์ฯ แห่งนี้ เกิดจากพระราชดำริคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนที่นี่เมื่อ พ.ศ. 2524 พร้อมแผนที่และกล้องถ่ายภาพคู่พระองค์

           จากผืนดินซึ่งเปรี้ยว ปลูกพืชใด ๆ ไม่ได้เลย วันนี้พื้นที่ 1,740 ไร่ อุดมด้วยพืชพรรณและผลไม้ อีกทั้งการงานหลากหลายที่หนุนช่วยให้พี่น้องมุสลิมมีชีวิตที่ดีขึ้น

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา

           ย้อนเวลากลับไปในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2524 "ศูนย์พิกุลทอง" ได้เริ่มก่อตั้งขึ้น งานแรกที่พระองค์ทรงลงมือทำคือการ "แกล้งดิน" จากดินซึ่งเปรี้ยวจัด ทรงเร่งให้เป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน แล้วใช้น้ำล้างดินกับโรยหินปูนฝุ่น ผลที่ได้น่าชื่นใจ ไม่เพียงพื้นรกร้างกว่าพันไร่จะค่อย ๆ พลิกผันกลายเป็นดินอันอุดม ปลูกพืชอะไรก็งอกงาม ความสำเร็จนี้ยังเผื่อแผ่ไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ครอบคลุมผืนดินที่เคยว่างเปล่านับแสนไร่

           ลองกองดกดื่นในวันนี้ เป็นเพียงหนึ่งในหลายหลาก "ผล" แห่งพระวิริยะที่ดำเนินมากว่า 30 ปี ดอกผลอันหอมหวานในวันนี้

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา


2. "อัสสลามุอลัยกุม"

           ถ้อยทักทายนั้นกังวานใส ใบหน้าใต้ผ้าคลุมฮิญาบแต้มด้วยรอยยิ้ม ร่าเริง 33 กิโลเมตร จากอำเภอเมืองฯ เราเดินทางมาเยือนตากใบ อำเภอเล็ก ๆ ชายแดนติดประเทศมาเลเซีย เด็กหญิงที่กล่าวทักทาย คือ ลูกหลานซึ่งกำลังเติบโตบนผืนแผ่นดินใหม่แห่งนี้

           "พิกุลทองมีโครงการทดลองกว่า 200 เรื่อง ทั้งเรื่องดิน น้ำ และปศุสัตว์" คุณสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กล่าวกับผู้มาเยือน เช่นเดียวกับโรงสีข้าวพิกุลทอง "บ้านปูยู" ที่เรามาเยือนนี้ จากศาสตร์ในการแกล้งดิน ทำให้ผืนดินซึ่งเคยเป็นพรุดินเปรี้ยวค่อย ๆ ปลูกข้าวได้ ขนาดของโรงสีบ่งบอกได้ว่าพวกเขามีชีวิตดีขึ้นเพียงใด

           ขณะเดินชมโรงสีข้าว ใครบางคนเล่าเรื่องแต่หนหลังให้เราฟัง เมื่อ พ.ศ. 2517 คราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนอำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ เมื่อทรงทราบจากชาวนาว่าที่นี่ขาดแคลนน้ำ พระองค์ทรงกางแผนที่แล้วมีพระราชดำริสร้างระบบชลประทาน จากนั้นจึงฟื้นฟูดินเปรี้ยวอันรกร้าง ทุกวันนี้ทั้งสองอำเภอปลูกข้าวได้ผลดีแล้ว โรงสีข้าวที่พระองค์พระราชทานตั้งแต่ พ.ศ. 2528 นั้น ช่วยให้พวกเขาได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา

           "เดี๋ยวนี้เราปลูกข้าวได้หลายพันธุ์ ซีบูกันตัง สังข์หยด หอมกระดังงา ชัยนาท เล็บนก" ป้าแดง ทองสืบ ชาวบ้านบ้านปูยูเล่าพลางยิ้มภูมิใจ เด็กหญิงซึ่งเติบโตบนผืนแผ่นดินใหม่ก็ยิ้มภูมิใจ

           ขณะตะวันคล้อยต่ำ แดดอบอุ่นระบายท้องฟ้า เด็กหญิงสวมฮิญาบพาเราเดินชมทุ่งข้าวแห่งบ้านปูยู ลมเย็นชื่นโบกโบย รวงข้าวซึ่งกำลังสุกเหลืองเอนไหว เด็กหญิงบอกว่ามันคือข้าวสังข์หยด ข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดีแห่งแดนใต้ ขณะบอกเล่าเธอค่อย ๆ ยื่นมือไปสัมผัสรวงข้าวแผ่วเบาราวประคองช่อดอกไม้ ในยามนั้นมันทำให้ผมรับรู้ว่า ผืนแผ่นดินนี้มีความหมายต่อใคร ๆ มากเพียงใด

3. เสียงละหมาดก้องกังวานในเช้าตรู่ ถ้อยสำเนียงนั้นทั้งขรึมขลัง ไพเราะ ชวนศรัทธา

           ที่ตัวเมืองนราธิวาส เหมือนว่าความมีชีวิตชีวาจะเริ่มต้นยามเช้า ที่ตลาดสดหน้าโรงแรมที่พัก ผู้คนมาซื้อหาข้าวของกันตั้งแต่ตะวันยังไม่พ้นขอบฟ้า สะตอฝักอวบใหญ่ ปลาอินทรีตัวโต เห็ดแปลกตา รวมถึงผลไม้เมืองหนาวที่มาไกลจากภาคเหนือ ใต้หมวกกะปิเยาะห์และผ้าคลุมฮิญาบหลากสี ล้วนระบายด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และถ้อยทักทายโอภาปราศรัย

           เราตื่นเช้าทันพระออกบิณฑบาต แม้บรรยากาศจะดูขรึมขลัง เนื่องจากมีทหารคอยรักษาความปลอดภัย ทว่าข้าวสวยและดอกไม้ก็เปี่ยมล้นฝาบาตร

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา

           ย้อนกลับมาที่ตลาด ทุก ๆ วันเราไม่พลาดที่จะแวะมาสภากาแฟ มุมนั้นอยู่ท้ายแผงขายปลา เช้า ๆ หลังละหมาดผู้คนจะหนาตามากที่สุด ชายชราชอบพูดคุยเรื่องบ้านการเมือง ขณะหนุ่ม ๆ มักไม่พ้นเรื่องหญิงสาว ส่วนนายทหารพร้อมผู้ติดตามนั้นเดาว่ามาซื้อหาผักปลากลับไปยังค่าย

           พอล่วงลายตลาดจะเริ่มวาย รถมอเตอร์ไซค์ที่จอด "เปิดเบาะ" เรียงรายจะค่อย ๆ เบาบางลง ในช่วงแรก ๆ ที่มาเยือน ภาพรถมอเตอร์ไซค์ “เปิดเบาะ” เพื่อป้องกันการวางระเบิด คือ ภาพไม่คุ้นตา ทั้งยังเต็มไปด้วยคำถามมากมาย จนเมื่อใช้เวลาอยู่ที่นี่มากขึ้น คำถามหลายข้อก็ค่อย ๆ คลี่คลาย

           "ที่นี่คือบ้าน จะไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ใช่บ้านเกิดของเรา"
บังหมาด ชายชราที่สภากาแฟบอกกับผมเช่นนั้น ท่ามกลางข่าวร้ายรายวัน คำถามของคนต่างถิ่นคงเลี่ยงไม่พ้นประเด็นเหล่านี้

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา

           นับเป็นโอกาสที่ดีที่ผมได้อยู่ร่วมงานประเพณีชักพระ ซึ่งจัดขึ้นประจำปี บริเวณงานอยู่ตรงสวนกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ริมแม่น้ำบางนรา งานเริ่มตั้งแต่บ่าย สีสันของเรือพระแต่งแต้มไปทั่วบางนรา ผู้คนบ้างเดินบ้างปูเสื่อนั่งหย่อนใจตรงริมแม่น้ำ ขณะเด็ก ๆ เพลิดเพลินในสวนสนุกที่นาน ๆ จะมาเยี่ยมเยือนกันสักครั้ง พอตกค่ำ ผู้คนก็คลาคล่ำเต็มพื้นที่บริเวณงาน ทั้งชาวพุทธและมุสลิมหลากวัย ตำรวจและทหารต่างทำหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด ทว่าตลอดคืนนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไร

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา

           ในจังหวัดที่ผู้คนนับถือศาสนาอิสลามกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ประเพณีพุทธอย่างชักพระจึงคล้ายเป็นช่วงเวลาค่อนข้างพิเศษสำหรับผู้มาเยือน มันอาจดูแตกต่างแปลกตา ทว่าช่วงเวลานี้เองที่พวกเขาจะได้แบ่งปัน "ศรัทธา" ร่วมกัน

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา

           ปลายเดือนตุลาคม ขณะสายลมหนาวมาเยือนภาคเหนือ ที่นราธิวาสลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มก่อตัวตามแนวชายฝั่งทะเล ที่อ่าวมะนาว แม้เมฆสีเทาจะปรากฏตรงขอบฟ้า ทว่าชายหาดโค้งขาวเบื้องหน้านั้นยังดูน่าชม แรกมาเยือนเมื่อ 13 ปีก่อน ผมรู้สึกแปลกใจว่าสถานที่นี้มีอยู่ใกล้ ๆ ตัวเมืองนราธิวาส ชายหาดโค้งเว้าราวภาพเขียน บางช่วงประดับด้วยโขดหินกลมมนน้อยใหญ่ ขณะด้านหนึ่งเป็นทิวเขาอุดมด้วยป่าดิบถิ่นใต้

           แรกเริ่มการอนุรักษ์เกิดจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านบางมะนาว โดยทรงห่วงใยในเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม และทรงแนะนำให้พัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อจะช่วยเสริมสร้างด้านต่าง ๆ ดังกล่าวให้ก้าวหน้าขึ้น และด้วยน้ำพระราชหฤทัย ชายหาดบริเวณนี้จึงได้รับการประกาศเป็น อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง ครอบคลุมเนื้อที่ 23,278 ไร่ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2536

           ที่ชาดหาดโค้งขาว ใต้เงาทิวสนร่มรื่น เราเดินทอดเท้าไปบนผืนทรายเนียนละเอียด ผู้คนพื้นถิ่นบ้างกำลังลากอวนริมชายหาด บ้างตรวจตราเรือกอและที่เพิ่งกลับมาจากทะเล ตรงเวิ้งอ่าวด้านทิศใต้ ชายหาดทอดเลียบแนวภูเขา เบื้องบนอุดมด้วยไม้ใหญ่ ราวกับห่มคลุมด้วยผืนพรมนุ่มหนา ดูน่าชมเมื่อสีเขียวสดตัดกับสีครามของน้ำทะเล

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา

           จากจุดนั้นเอง พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ปรากฏท่ามกลางหมู่ไม้ แว่วเสียงนกร้อง ผีเสื้อหลากสีบินร่อนตามเรือนยอดไม้ นึกถึงวันได้ไปเยือนพระตำหนักฯ การงานมากมายที่เห็นทำให้ชุ่มชื่นใจ แม้จะแสนไกลเช่นนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังเสด็จพระราชดำเนินเยือนตั้งแต่ พ.ศ. 2522 อีก 2 ปีต่อมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ก็ถือกำเนิดขึ้น

           เย็นวันนั้น เราอยู่ชมแสงสุดท้ายที่ชายหาดโค้งขาว ตรงต้นไม้เอนลู่ดั่งเส้นสายในภาพเขียน ขณะตะวันคล้อยลับเขาตันหยง ชายชราชาวเลก็ค่อย ๆ บ่ายเรือคืนสู่ฝั่ง บนเรือมีปูปลาสิบกว่าตัว แกบอกว่ากำลังพอกิน ไม่ต้องซื้อขาย

           "เห็นตำหนักรายอกีตอไหม" ชายชราเอ่ยถาม น้ำเสียงเจือเอ็นดูนั้นช่างต่างกับเครายาว ๆ ใบหน้ากร้านแดดลมทะเล แล้วชายชราก็เล่าถึงวันที่ได้พบรายอกีตอ โต๊ะอิหม่ามหลายท่านล้วนได้รับเชิญให้เข้าเฝ้าฯ และร่วมโต๊ะเสวย คราวพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานมาทรงงานที่นี่

           ในความหมายของพี่น้องชาวมุสลิม "รายอ" หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน ส่วน "กีตอ" นั้นแปลได้ว่า เรา หรือของเรา

           "ในหลวงของเรา" ชายชราเอ่ยใบหน้ากร้านแดดระบายยิ้มอ่อนโยน

           สำหรับเมืองไกลที่ผู้คนมีศาสนาเป็นสิ่งยืดเหนียว คำว่า "ของเรา" คือ นิยามอันลึกซึ้งเปี่ยมความหมาย เช่นเดียวกับชายชราแห่งนราธิวาส ผมเคยได้ยินนิยามเช่นนี้บนแดนดอยกันดาร นิยามที่เกิดจากความรู้สึกภายใน คือ ความหมายอันเรียงง่ายที่เกิดจาก "ศรัทธา"

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา

ขอขอบคุณ

           ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสำนักงาน กปร. ที่ช่วยประสานงานในการจัดทำสารคดีเรื่องนี้

คู่มือนักเดินทาง

           ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านพิกุลทอง ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส เปิดกว้างให้นักเรียนและผู้สนใจได้เรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ ของเกษตรทฤษฎีใหม่

การเดินทาง

           จากตัวเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 4084 (นราธิวาส-ตากใบ) ราว 8 กิโลเมตร ถึงที่ทำการศูนย์ฯ สอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 7363 1033-38

นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา

แหล่งท่องเที่ยว

           หาดนราทัศน์ น่าแวะไปนั่งพักผ่อนหย่อนใจ อยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 1 กิโลเมตร ระหว่างทางจะข้ามแม่น้ำบางนรา ตามริมฝั่งจะเห็นเรือกอและประดับลวดลายสวยงาม

           อ่าวมะนาว ชายหาดโค้งเว้าราวภาพเขียน จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 4084 ไปทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ถึงทางแยก รพช. เลี้ยวขวาไปยังอ่าวราว 3 กิโลเมตร

ติดต่อสอบถาม

           อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง หมู่ที่ 12 ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนราธิวาส โทรศัพท์ 08 1898 2298

           การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส เลขที่ 102/3 หมู่ 2 ถนนนราธิวาส-ตากใบ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนราธิวาส โทรศัพท์ 0 7352 2411





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 54 ฉบับที่ 5 ธันวาคม 2556


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นราธิวาส ชีวิตก้าวเดินด้วยศรัทธา อัปเดตล่าสุด 9 มกราคม 2557 เวลา 17:10:42 2,154 อ่าน
TOP