x close

ประเพณีบุญเดือนสิบเมืองนคร ปี 2556

ประเพณีบุญเดือนสิบเมืองนคร ประจำปี 2556

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก TAT Nakhon Si Thammarat

          จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักนครศรีธรรมราช เชิญชวนเที่ยว "ประเพณีบุญเดือนสิบเมืองนคร ประจำปี 2556" ระหว่างวันที่ 28 กันยายน-7 ตุลาคม 2556 ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

          "ประเพณีบุญเดือนสิบเมืองนคร" ถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่สืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า "นครศรีดี๊ดี-พระบรมธาตุฯ สู่มรดกโลก" โดยนับเป็นการทำบุญตามความเชื่อของชาวนครศรีธรรมราชและปักษ์ใต้ ส่วนสำคัญของงานประเพณีเทศกาลเดือนสิบ คือ การทำบุญเพื่ออุทิศให้กับบรรพชน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ, ผู้มีพระคุณ, ญาติ และเพื่อนฝูงที่ล่วงลับไปแล้ว และในปีนี้ถือเป็นร่วมเฉลิมฉลองที่คณะกรรมการมรดกโลกรับรองพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เข้าสู่บัญชีเบื้องต้น ตามที่ประเทศไทยนำเสนออย่างเป็นทางการอีกด้วย

          นอกจากนี้ ยังมีการชมขบวน "แห่หฺมฺรับ" (หรือ สำรับ) ซึ่งแห่จากสนามหน้าเมืองไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โดย พิธียก "แห่หฺมฺรับ" ไปวัด เพื่ออุทิศส่วนบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และการประกวด "แห่หฺมฺรับ" (หรือ สำรับ) นิทรรศการ หรือเป็นการ "ส่งตายาย" ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายที่นายนิรบาลหรือยมบาลผู้ดูแลเหล่าวิญญาณและ "เปตชน" หรือเปรต ที่ได้อนุญาตให้เปรตและวิญญาณที่ประกอบอกุศลกรรมเมื่อครั้งยังมีชีวิต และเมื่อตายไปจึงได้ไปชดใช้ผลกรรมยังนรกภูมิหรือยมโลก ซึ่งในสมัยก่อนทุกครอบครัวจะต้องเตรียมสิ่งของสำคัญที่จะต้องใช้ในการทำบุญ อย่างสำรับอาหารที่จัดไปทำบุญมักจะเป็นชุดทองเหลืองหรือถาด โดยจะจัดของที่ใส่ไว้เป็นชั้นหรือเป็นชุด ซึ่งชั้นล่างสุดจะใส่ข้าวสาร อาหารแห้ง หอม กระเทียม ชั้นถัดไปเป็นผลไม้และของใช้ประจำวัน ส่วนชั้นบนสุดใส่ขนมที่เป็นเอกลักษณ์ของงานบุญเดือน 10 ซึ่งขาดไม่ได้ ได้แก่

          1. ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนเรือ แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ เหตุเพราะขนมพองนั้นแผ่ดังแพมีน้ำหนักเบาย่อมลอยน้ำ และขี่ข้ามได้

          2. ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม เหตุเพราะขนมลามีรูปทรงดังผ้าถักทอ พับ แผ่ออกเป็นผืนได้

          3. ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า สำหรับใช้เล่นต้อนรับสงกรานต์ เหตุเพราะขนมบ้ามีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า การละเล่นที่นิยมในสมัยก่อน

          4. ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงิน เบี้ย สำหรับใช้สอย เหตุเพราะรูปทรงของขนมคล้ายเบี้ยหอย

          5. ขนมกง (ไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ เหตุเพราะรูปทรงมีลักษณะคล้ายกำไล แหวน

          6. ขนมลาลอยมัน เป็นสัญลักษณ์แทนฟูกและหมอน

          นอกจากอาหารที่ใส่ภายในถาดแล้ว ยังมีข้าวของเครื่องใช้ เงิน ธนบัตร ซึ่งอาหารที่จัดไว้ต้องมี 2 ชุด โดยชุดแรกจะเป็นการเตรียมเพื่อใช้บำเพ็ญกุศลแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และอีกหนึ่งชุดเตรียมไว้สำหรับผู้เสียชีวิตที่ไม่ญาติพี่น้อง โดยจะตั้งให้ทีบริเวณหน้าวัด เรียกว่า "ตั้งเปรต" หลังจากการบำเพ็ญกุศลเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่เข้าร่วมพิธีก็จะเข้าแย่งอาหารที่เหลือจากการบำเพ็ญกุศล เรียกว่า "ชิงเปรต" โดยมีความเชื่อว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้เปรตนี้เป็นอาหารศักดิ์สิทธิ์ กินแล้วจะได้กุศลแรง และจะเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว

          สำหรับกิจกรรมภายในงาน ได้แก่ ชมขบวนแห่หฺมฺรับ (สำรับ) อันยิ่งใหญ่ ในวันพฤหัสบดี ที่ 3 ตุลาคม 2556 จากสนามหน้าเมืองไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร, การตั้งเปรตและชิงเปรต ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ "ตายาย" ผู้ล่วงลับ, การประกวดหฺมฺรับ (สำรับ), การประกวดเปรต, การประกวดนางสาวนครศรีธรรมราช, การแสดงแสงเสียงสื่อผสมและการแสดงศิลปวัฒนธรรม การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP และสินค้าราชทัณฑ์ เป็นต้น

          ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 0 7531 0096, 0 7535 6133 และ ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 0 7534 6515-6




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, thainews และ เฟซบุ๊ก TAT Nakhon Si Thammarat


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประเพณีบุญเดือนสิบเมืองนคร ปี 2556 อัปเดตล่าสุด 18 กันยายน 2556 เวลา 10:45:51 2,512 อ่าน
TOP