x close

นกเงือก สัญลักษณ์ของป่าดงดิบ

 

 

นกเงือก สัญลักษณ์ของป่าดงดิบ (อสท)

 

โดย สมาน คุณความดี

 

          วันเวลาที่ผ่านมา ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ที่มีต้นไม้น้อยใหญ่เบียดเสียดอย่างแน่นหน้าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือก ได้รับผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์ ทำให้ปริมาณของนกเงือกลดจำนวนลงไปอย่างมาก นกเงือกจึงเป็นตัวบ่งชี้ว่าป่านั้น ๆ มีความสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน เป็นสัญลักษณ์ของป่าดงดิบอย่างแท้จริง นกเงือกมีการแพร่พันธุ์เฉพาะในเขตร้อนของทวีปเอเชียและแอฟริกาเท่านั้น ทั่วโลกมีนกเงือก 54 ชนิด ในทวีปเอเชียมี 30 ชนิด

 

          สำหรับประเทศไทยมีนกเงือก 12 ชนิด ในจำนวนนี้ทางภาคใต้มีถึง 9 ชนิด นกเงือกในบ้านเรามีขนาดใหญ่ อาจมีความยาวเมื่อวัดจากปลายปากถึงปลายหางมากกว่า 1.5 เมตร ส่วนมากมักจะมีขนสีดำ-ขาว ปากใหญ่ยาวโค้ง และมีโหนกอยู่บนส่วนปาก โหนกของนกเงือกมีขนาดแตกต่างกัน ภายในของโหนกที่ว่านี้เป็นโพรง ยกเว้นโหนกของนกชนหิน

 

 

          การติดตามดูนกเงือกเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากกว่านกชนิดอื่น ๆ  การจะพบเห็นนกเงือกได้ดีนั้นต้องอาศัยต้นไทรที่กำลังออกลูก ไทรต้นหนึ่ง ๆ จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกลูกเกือบตลอดทั้งปี จึงเป็นแหล่งรวมของนกนานาชนิดที่ได้อาศัยเป็นแหล่งอาหาร รวมถึงนกเงือกด้วย


          บนเส้นทางศึกษาธรรมชาตินั้น ต้องเดินทางเข้าไปในผืนป่าตะวันตก ผืนป่าตะวันออก และสุดชายแดนด้ามขวานทองผืนป่าทางภาคใต้ ผืนป่าเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ  รวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซึ่งยากต่อการเข้าไปใช้พื้นที่


          นกเงือกไม่สามารถสร้างรังเหมือน กับนกชนิดอื่น ๆ  ที่อาศัยอยู่ในโพรงไม้ เช่น นกหัวขวานที่สามารถเจาะรังเองได้ นกเงือกจึงเสาะหาโพรงในธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการกระทำของสัตว์อื่น วัสดุ ในการสร้างโพรงประกอบด้วยมูลของมันเอง เศษไม้ และดิน ผสมกันพอกปากโพรงให้เล็กลงจนเหลือเพียงช่องแคบ ๆ ไว้สำหรับพ่อนกส่งอาหารผ่านด้วยจะงอยปากเมื่อตัวเมียออกไข่ ฟักไข่ และเลี้ยงลูกอยู่ข้างในจนกว่าลูกนกโตพอจะบินได้จึงกะเทาะปากโพรงออกมา  ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 3-4 เดือน


          นกเงือกจับคู่ราวเดือนมกราคม ส่วนทางภาคใต้การจับคู่จะล่าช้ากว่าที่อื่น ๆ โดยตัวผู้ทำหน้าที่เสาะหารัง ส่วนตัวเมียจะคอยติดตามไปดูด้วยและตัดสินใจว่าพอใจโพรงนี้หรือเปล่า  ในขณะเดียวกันก็จะเกี้ยวพาราสีแสดงความรักซึ่งกันและกัน เมื่อนกเงือกตัวเมียพอใจโพรงที่ตัวผู้พามาดูตัวเมียจะเริ่มเจาะปากโพรง กะเทาะวัสดุที่ปิดรังเก่าออก แล้วมุดเข้าไปข้างในจัดการทำความสะอาด คาบเศษวัสดุที่เป็นเมล็ดผลไม้ เศษขนของปีกทิ้งแล้วปิดปากโพรงเสียใหม่


          หลังจากตัวเมียกกไข่และไข่ฟักออกเป็นตัว ตัวผู้จะทำหน้าที่หาอาหารมาป้อนตัวเมียวันละไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง อาหารของนกเงือกมีความหลากหลายนอกจากผลไม้ในป่าแล้ว ยังมีสัตว์เลื้อยคลาน แมลงนานาชนิด เพื่อเป็นอาหารโปรตีนเสริมให้ลูกน้อย  ในช่วงนี้เราจะเห็นนกเงือกตัวผู้โทรมเนื่องจากทำหน้าที่หาอาหารอย่างหนัก


          เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงเดือนที่ 4 พ่อนกจะเริ่มลดอาหารลง แสดงว่าใกล้เวลาอันสมควรที่แม่นกและลูกนกจะออกจากโพรงมาสู่โลกภายนอก เมื่อออกจากโพรงลูกนกจะบินได้ทันที  เนื่องจากได้ฝึกกระพือปีกอยู่ในโพรงบ้างแล้ว


          แหล่งดูนกเงือกในบ้านเรามีอยู่ ไม่กี่แห่ง ภาคใต้นับว่าเป็นแหล่งที่น่าติดตามที่สุด เพราะมีนกเงือกมากกว่าภาคอื่น ๆ ผืนป่าฮาลานั้นหลงเหลือพื้นที่ไม่มากนักถ้าไม่รวมเอาผืนป่าบาลาเข้ามาผนวก ทว่าก็ยังเหลือความอุดมสมบูรณ์  ผืนป่ายังมีแนวรอยต่อกับผืนป่ามาเลเซีย ซึ่งเป็นป่าฝนชุ่มชื้นตลอดทั้งปี ที่นี่จึงพบเห็นนกหายากหลายชนิด บางชนิดมีรายงานว่าสูญพันธุ์ไปจากประเทศเราแล้ว อาทิ นกเงือกปากย่น


          ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขต ร้อนติดชายแดนมาเลเซียจึงทำให้ผืนป่าฮาลา-บาลาเป็นแหล่งอาศัยและหากินของนก เงือกหลายชนิด บนถนนสายยุทธศาสตร์ 4062 ผ่าใจกลางผืนป่าแห่งนี้หนาแน่นด้วยพรรณไม้นานาชนิด เช่น ตะเคียนชันตาแมว ก่อหลุมพอ กระบก และสยา ไม้ที่นกเงือกชอบทำรังมากที่สุด นอกจากนกเงือกที่หายากยังมีพรรณไม้หายาก ได้แก่ ปาล์มบังสูรย์ ใบไม้สีทอง เฟิร์นยักษ์ ถนนสายนี้จึงเป็นแหล่งพบเห็นนกเงือกได้ง่ายและบ่อยที่สุด โดยเฉพาะจุดชมวิว


          นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill) เพราะเป็นนกขนาดใหญ่ เวลาบินจึงมีเสียงดังเหมือนพายุ ตัวผู้และตัวเมียต่างกันเล็กน้อย ตัวผู้จะใหญ่กว่า มีแถบดำพาดกลาง จะงอยปากมีสีเหลืองจนถึงสีงาช้าง ด้านหน้าของโหนกโค้งขึ้น ตัวผู้มีม่านตาสีแดง ตัวเมียมีม่านตาสีขาว ตัววัยรุ่นโหนกด้านหน้าจะตรง ไม่โค้งขึ้นอย่างตัวเต็มวัย อาหารของนกเงือกหัวแรดมีทั้งพืชและสัตว์



          นกชนหิน (Helmeted Hornbill) เป็นนกชนิดเดียวที่มีโหนกแข็งทึบคล้ายช้างและมีขนตรงกลางหางยาวออกมาถึง50 เซนติเมตร 2 เส้น มีแถบดำใกล้ ๆ ปลายหางขนสีน้ำตาล-ดำ ท้องขาว หางขาวมีแถบดำพาดขวาง และแถบขาวที่ขอบปีก ปากสั้นแข็งสีแดงคล้ำปลายสีเหลือง ตัวผู้บริเวณคอที่ไม่มีขนจะมีสีน้ำเงิน ตัววัยรุ่นตัวผู้บริเวณคอที่ไม่มีขนจะมีสีแดงเรื่อ  ตัวเมียส่วนนี้สีม่วง  นอกจากนี้บนจะงอยปากจะมีขนาดเล็กกว่าและขนหางไม่เจริญเต็มที่ หากินระดับยอดไม้ กินผลไม้เป็นส่วนใหญ่ อาทิ ลูกไทร บางครั้งยังพบว่ากินสัตว์อื่น เช่น กิ้งก่า กระรอก และนกด้วย

 

 

          นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill) ตัวเต็มวัยมีขนสีขาวที่หัวพู่คล้ายหงอน เวลาบินจะเห็นหางสีขาวชัดเจน ขนปีกสีดำ มีปลายปีกสีขาว ปากและโหนกซึ่งมีขนาดเล็กมีสีดำ ตัวผู้มีขนที่คอสีขาว ท้องขาว ตัวเมียส่วนนี้จะมีสีดำ ตัววัยรุ่นขนที่ตัวสีน้ำตาล หางดำ ปลายขาว ขนคลุมปีกปลายขาว อยู่รวมกันเป็นฝูง 4-6 ตัว บางครั้งมากถึง 20 ตัว หากินบริเวณใต้เรือนยอดของต้นไม้ หรือระดับเหนือผิวดินเล็กน้อย ชอบกินทั้งผลไม้และสัตว์อื่น ๆ เช่น กิ้งก่า ชอบกินเนื้อมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับนกเงือกชนิดอื่น ๆ เป็นนกที่เงียบมาก เมื่อทำรังตัวผู้จะมีผู้ช่วยทั้งตัวผู้และตัวเมียเช่นเดียวกับนกเงือกปากดำ ที่ทางภาคใต้เรียกว่ากาเขา


 

          หลายปีที่ผ่านมามีข่าวเรื่องนกเงือกปากย่นสูญพันธุ์ไปจากผืนป่าของประเทศไทย โอกาสจะพบเห็นนั้นแทบไม่มี หลายฝ่ายได้แต่เฝ้ารอคอยและติดตามข่าวกันเป็นระยะโดยเฉพาะนักดูนก


          นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill) นกชนิดนี้เป็นอีกชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างพบยาก แม้แต่รังในผืนป่าฮาลา-บาลาก็ยังไม่เคยเจอ นอกจากมันจะบินมาหากินใกล้ ๆ สถานีวิจัยเป็นครั้งคราวเท่านั้น  นกเงือกปากย่นถือว่าเป็นนกเงือกที่สวยงามอีกชนิดหนึ่งในบรรดานกเงือกทั้ง หมด  เมื่อมีการบันทึกภาพได้ที่นี่จึงเป็นหลักฐานว่านกเงือกปากย่นยังมีอยู่ใน ประเทศไทย นกเงือกปากย่นมีขนาดใกล้เคียงนกแก๊ก ขนหางส่วนปลายสองในสามมีสีขาว ตัวผู้ตัวสีดำ บริเวณหน้า หัว และคอสีขาว ต่างจากนกกู๋กี๋และนกเงือกกรามช้างปากเรียบตรงที่มีขนาดเล็กกว่า มีกระหม่อมสีดำ ถุงใต้คอขาวหรือฟ้าซีด ๆ มีโหนกใหญ่สีแดง จะงอยปากล่างมีรอยย่นสีเหลือง ส่วนโคนสีแดงเรื่อ ตัวเมียตัวสีดำ ถุงใต้คอสีน้ำเงินแกมเขียวหรือสีน้ำเงิน หนังขอบตาสีน้ำเงิน ซึ่งแยกได้ง่ายจากตัวเมียของนกกู๋กี๋ซึ่งมีหนังส่วนนี้สีแดง-ชมพู ชอบหากินระดับเรือนยอดไม้ พบอยู่โดดเดี่ยวหรือฝูงเล็ก ๆ เป็นนกเงือกที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากป่าต่ำถูกบุกรุกทำลายด้วยน้ำมือของมนุษย์

 

 

          แม้ผืนป่าฮาลา-บาลาจะเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีพของนกเงือก แต่พื้นที่บางแห่งที่เป็นป่าที่ราบต่ำก็ยังถูกทำลายโดยชาวบ้านที่อยู่รอบแนว เขต การแผ้วถางป่าเพื่อปลูกสวนยางพารา สวนเงาะ สวนทุเรียน ส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของนกเงือกบางชนิด ในผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ก็หาโพรงธรรมชาติได้น้อยมาก  จึงทำให้นกเงือกแย่งชิงโพรงกันเอง นกเงือกที่มีขนาดใหญ่จึงอาศัยอยู่ในป่าลึก เช่น นกเงือกกรามช้าง  ซึ่งในผืนป่าฮาลา-บาลามีโอกาสพบน้อยมากเมื่อเทียบกับนกเงือกตัวอื่น ๆ

 

          นกเงือกกรามช้าง หรือนกกู๋กี๋ (Wreathed Hornbill) เมื่อโตเต็มวัยมีขนาดเล็กกว่านกกกเล็กน้อย โหนกแบนหยักเป็นลอน จำนวนลอนบ่งบอกถึงอายุของนก คือ 1 ปี มี 1 ลอน มากที่สุดถึง 10 ลอน ตัวและปีกสีดำ หางขาวปลอด ปากด้านข้างมีรอยหยัก ตัวผู้ที่ส่วนท้ายทอยมีสีน้ำตาลเข้ม หน้า ขมับ และคอขาว ถุงใต้คอสีเหลืองมีขีดดำ ตัวเมียมีสีดำตลอดตัว ยกเว้นหางขาวปลอด ถุงใต้คอสีฟ้า ตัววัยรุ่นเหมือนตัวเมียเต็มวัย  แต่ปากด้านข้างมีรอยหยักน้อยหรือเกือบไม่มีเลย  ลูกนกตอนแรกมีขนเหมือนตัวผู้ จำนวนของลอนที่โหนกไม่เกิน 3 ลอน ถุงใต้คอสีเหลืองมีรอยสีดำเป็นขีดจาง ๆ นกเงือกกรามช้างชอบกินผลไม้เป็นส่วนใหญ่ เป็นนกที่บินได้ไกลมาก หากินได้ทั่วป่าจนได้ชื่อว่าเป็นยิปซีแห่งพงไพร ชอบอาศัยอยู่ในป่าดงดิบและป่าผสมผลัดใบ

 

 

          การพบเห็นนกเงือกในผืนป่าฮาลา-บาลาเมื่อเปรียบเทียบกับในเขตมาเลเซียอาจจะ ไม่มากนัก ถึงอย่างไรสภาพป่าที่ใกล้เคียงกันอาจจะมีนกเงือกบินไปบินมาระหว่างแนวรอยต่อ ของผืนป่าทั้งสองประเทศย่อมเป็นไปได้ อยู่ที่ใครจะสามารถควบคุมการบุกรุกทำลายป่าของชาวบ้านได้มากกว่ากัน แหล่งดูนกเงือกในส่วนของภาคใต้คงไม่มีเฉพาะผืนป่าฮาลา-บาลาเท่านั้น  ยังมีอีกหลายแห่งทั้งในส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่า และอุทยานแห่งชาติ  ทว่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะเข้มงวดในการเข้าไปใช้พื้นที่มากกว่า ทำให้การรบกวนจากบุคคลภายนอกมีน้อย ต่างกับอุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีบุคคลภายนอกเข้าไปใช้ พื้นที่มาก  โดยเฉพาะป่าที่ราบต่ำที่เป็นแหล่งอาศัยของนกเงือกปากดำมักจะถูกทำลาย และยังถูกชาวบ้านขึ้นไปจับลูกนกในโพรงออกไปขายอีกด้วย นกเงือกปากดำถึงไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โอกาสพบเห็นก็มีไม่บ่อยครั้งนัก ถ้าพบมักพบออกหากินรวมกันเป็นฝูง

 

          นกเงือกปากดำ หรือกาเขา (Bushy-crested Hornbill) ใกล้เคียงกับนกแก๊ก ปากสีดำ ตัวเมียมีปากสีเหลืองแซม โหนกเล็ก แต่หนา หนังรอบตาสีฟ้าอ่อน ขนส่วนใหญ่สีดำเหลือบสะท้อนแสง รวมถึงปีกและด้านบนของลำตัว หน้าอกและท้องมีสีน้ำตาล-ดำ หางส่วนล่างสองในสามมีสีน้ำตาล-เทา นกเงือกปากดำหากินกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ในป่าทึบ บริเวณเรือนยอดระดับต่ำของป่า เป็นนกขี้อาย ชอบกินผลไม้และกินสัตว์เล็ก ๆ ชอบส่งเสียงเอะอะคล้ายนกเงือกสีน้ำตาล  ทำรังเลี้ยงลูกเช่นเดียวกับนกเงือกสีน้ำตาล คือนอกจากพ่อนกจะเลี้ยงลูกแล้ว ยังมีผู้ช่วยซึ่งประกอบด้วยนกเงือกปากดำทั้งสองเพศและทุกวัย

 

 

          นกเงือกดำ (Black Hornbill) เป็น นกที่ชอบที่ราบต่ำมีโอกาสพบเห็นน้อยมากในป่าที่ราบต่ำ  เป็นนกเงือกทางใต้อีกตัวหนึ่งที่หาดูได้ยากไม่แพ้นกเงือกตัวอื่น ๆ  แหล่งที่จะพบเห็นนกเงือกดำได้มีที่เดียวที่ป่าพรุโต๊ะแดงเท่านั้น ซึ่งถูกบุกรุกแผ้วถางง่าย จึงลดจำนวนลงไปอย่างรวดเร็วจนอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ตัวเต็มวัยขนาดใหญ่กว่านกแก๊กเล็กน้อย ขนดำหมดยกเว้นปลายหางด้านนอกขาว  โหนกมีขนาดใหญ่ ตัวผู้จะงอยปากสีออกขาว ม่านตาสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลแดง หนังรอบตาสีดำ อาจมีสีเหลืองแต้มที่หนังใต้ตา ตัวเมียมีจะงอยปากสีค่อนข้างดำ ม่านตาสีส้ม แผ่นหนังรอบตามีสีขาวและสีชมพูคล้ำ ชอบอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ชอบกินทั้งพืชและสัตว์ อาศัยบริเวณป่าที่ราบต่ำใกล้แหล่งน้ำ บางครั้งพบในที่โล่ง

 

          นกแก๊ก หรือนกแกง (Oriental Pied Hornbill) สำ หรับนกแก๊กเป็นนกเงือกขนาดเล็กที่สามารถพบเห็นได้ง่ายกว่านกเงือกชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะป่าที่ราบต่ำ ป่าดิบชื้น หรือป่าเบญจพรรณ มักออกหากินรวมกันเป็นฝูง ส่งเสียงร้องดัง มีขนาด 70 เซนติเมตร มีโหนกขนาดใหญ่รูปทรงกระบอกทอดตามความยาวของปาก คอและลำตัวสีดำปลอด มีขอบตาสีฟ้าซีด ๆ ท้องสีขาว ปลายขนปีกสีขาว ขนหางคู่กลางส่วนที่เหลือจะมีส่วนปลายหนึ่งในสี่เป็นสีขาว ชนิดพันธุ์ย่อย (พันธุ์มลายู) ขนหางสีดำขนาบด้วยสีขาวด้านข้างบางตัวมากบางตัวน้อยไม่แน่นอน ตัวผู้มีจะงอยปากและโหนกสีขาวงาช้าง และมีสีดำแต้มเปรอะทั้งโหนกและปากจนดูมอม ตัววัยรุ่นคล้ายตัวเต็มวัย แต่มีโหนกเล็กกว่า สีบริเวณปากจะค่อย ๆ ปรากฏชัดเจนขึ้น นกแก๊กชอบกินผลไม้ หากินตามพื้นจับสัตว์เล็ก ๆ เช่น งู กิ้งก่า ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก 8-10 ตัว ชอบคลุกฝุ่น  เวลาบินจะมีผู้นำฝูงแล้วบินตามกันเป็นแถว ชอบส่งเสียงคุยลั่นป่า อาศัยอยู่ตามป่าเต็งรัง ชายป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น หรือป่าเบญจพรรณ เมื่อพบนกแก๊กเรามักจะพบนกกกหรือนกกาฮังที่มีนิสัยชอบส่งเสียงร้องลั่นป่า เวลาออกหากินตามป่าดงดิบหรือป่าที่ราบต่ำ จึงทำให้พบเห็นตัวได้ง่าย

 

          นกกก  นกกาฮัง  หรือนกกาวะ (Great Hornbill) เป็น นกเงือกขนาดใหญ่มาก หน้า คาง คอ และส่วนใต้โหนกมีสีดำ คอขาว ปีกสีดำแถบขาว และปลายขนปีกมีสีขาว หางสีขาวมีแถบสีดำพาดค่อนมาทางปลายหาง ส่วนคอและจะงอยปาก รวมทั้งบริเวณหัวและปีก มาจากสีของน้ำมันจากต่อมโคนหางที่นกทาเอง  ตัวผู้มีสีดำแต้มเป็นแถบระหว่างโหนกด้านหน้ากับจะงอยปาก ม่านตาสีแดง ตัวเมียโหนกและปากไม่มีสีดำแต้ม ม่านตาสีขาว ตัววัยรุ่นมีโหนกขนาดเล็ก ส่วนหน้าแบน นกกกหากินตามเรือนยอดของต้นไม้ บางทีก็ลงมาพื้นดิน ชอบผลไม้ป่าต่าง ๆ โดยเฉพาะลูกไทร นอกจากนั้นยังกินงู หนู นก และแมลง ตัวเมียกกไข่ในโพรงจนลูกฟักออกจากไข่ ซึ่งปกติจะมีเพียงตัวเดียวเท่านั้น แล้วตัวเมียจะกะเทาะปากโพรงออกมาช่วยเลี้ยงลูกเมื่อลูกนกอายุราว 1-1.6 เดือน ลูกนกจะปิดปากโพรงเสียใหม่ นกกกจะจับคู่คู่เดิมตลอดชีวิต พบอยู่ในป่าดิบชื้นหรือป่าดิบแล้งส่วนใหญ่ชอบอยู่ป่าที่ราบต่ำกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรืออาจจะพบตามภูเขาสูงถึง 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

 

 

          นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill) เป็น นกเงือกขนาดใกล้เคียงกับนกแก๊ก จะงอยปากสีขาวงาช้าง มีโหนกเป็นสันเล็ก ๆ ตัวผู้มีสีด้านบนของลำตัว หัว และท้ายทอยเป็นสีน้ำตาล ด้านใต้ลำตัวสีน้ำตาลแดง ปลายปีกมีสีขาว คาง คอ และด้านข้างของคอมีสีขาว ปลายขนหางสีขาว ยกเว้นขนหาง 2 เส้นตรงกลางซึ่งมีสีน้ำตาลตลอด ตัวเมียมีด้านบนลำตัวสีน้ำตาลเข้มเช่นเดียวกับหัว ส่วนด้านใต้ลำตัวมีสีน้ำตาล-เทาออกคล้ำกว่าตัวผู้ นกเงือกสีน้ำตาลชอบกินผลไม้ ได้แก่ ผลไทร ตาเสือ ยางโvน พีพวน หว้า ส้มโมง แต่เวลาเลี้ยงลูกจะป้อนอาหารพวกสัตว์เล็ก ๆ เช่น จิ้งเหลน กิ้งก่า กิ้งกือ ตะขาบ มากกว่านกเงือกชนิดอื่น ๆ คือประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณอาหารทั้งหมด แมลงที่ชอบมากที่สุด ได้แก่ จักจั่น นกเงือกสีน้ำตาลจะแปลกอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ในช่วงทำรังจะมีตัวผู้ที่ไม่ได้จับคู่ในฤดูผสมพันธุ์นั้นมาช่วยเป็นพ่อ เลี้ยง (Co-operative Breeding) เมื่อเวลาเข้าป้อน บรรดาพ่อเลี้ยงทั้งหลายจะเรียงแถวกันคอยเข้าป้อนเป็นลำดับ พ่อเลี้ยงเหล่านี้เชื่อว่าเป็นลูกของนกคู่ผัว-เมีย นอกฤดูผสมพันธุ์นกเงือกสีน้ำตาลจะอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ 8-10 ตัว หรือมากกว่านั้น เป็นนกชอบร้องเอะอะโวยวายเหมือนนกแก๊ก แต่เสียงกรี๊ดมากกว่า นกเงือกสีน้ำตาลพบได้ทั้งป่าดิบ ป่าดิบชื้น หรือแม้แต่ป่าเต็งรังทางภาคเหนือ เรื่อยลงมาถึงบริเวณป่าจังหวัดชุมพร นกเงือกสีน้ำตาลที่พบบริเวณเขาใหญ่และทางตะวันตกมีลักษณะต่างกันเล็กน้อย โดยนกเงือกสีน้ำตาลที่พบทางตะวันตกนั้นตัวเมียปากสีดำ ส่วนที่เขาใหญ่ตัวเมียปากสีเดียวกับตัวผู้

 

 

          นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill) นก เงือกชนิดนี้แยกจากนกกู๋กี๋ได้ยาก นอกจากจะต้องคอยสังเกตว่ามีขนาดเล็กกว่าและไม่มีขีดที่ด้านข้างของปากและถุง ใต้คอเท่านั้น ทั้งสองเพศมีหางสีขาว ตัวผู้หน้าและคอมีสีขาว กระหม่อมสีน้ำตาล-แดง ถุงใต้คอสีเหลือง ตัวเมียสีดำทั้งหัว คอ และตัว ถุงใต้คอสีฟ้า ปกติอยู่รวมกันเป็นฝูง ฝูงละ 6-20 ตัว หรือมีจำนวนมากกว่านี้ ชอบกินผลไม้ แต่บางครั้งก็ชอบกินสัตว์ เช่น หอยทาก บินเก่ง สามารถบินหากินได้เป็นระยะทางไกล ๆ ร้องเสียงเห่า แหบ ๆ สั้น ๆ อาศัยอยู่ในป่าดิบสูงประมาณ 900 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

 

 


          ที่สุดของนกเงือกที่หาดูยากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ มีแหล่งที่จะพบเห็นเพียงสองแห่งเท่านั้น แห่งแรกอยู่ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ บริเวณช่องเย็น ขึ้นอยู่ที่โชคและจังหวะของแต่ละคน แห่งที่สองอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์เข้ม ยากต่อการเข้าไปใช้พื้นที่ ทว่านกเงือกชนิดนี้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ซึ่งวิจัยนกเงือกโดยเฉพาะ


          นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill) ตัวเต็มวัยมีขนาดเล็กกว่านกกู๋กี๋เล็กน้อย ทั้งสองเพศมีลักษณะต่างกัน ตัวผู้ หัว คอ และหน้าอกส่วนบนมีสีสนิมเหล็ก หลังและปีกสีดำเหลือบเขียว ปลายขนปีกสีขาว หางยาวดำ มีสีขาวครึ่งปลาย ม่านตาแดง หนังตาสีฟ้าอมเขียวสดใส ถุงใต้คอสีแดงสดอมส้ม ถุงใต้คอบริเวณจะงอยล่างสีน้ำเงิน-ม่วง ปากสีเหลืองงาช้าง ไม่มีโหนก จะงอยปากด้านข้างบนมีขีดเป็นร่องสีดำ อาจมีมาก 8 ร่อง ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ ขนข้างตัวและคอสีดำล้วน ถุงใต้คอสีเดียวกับตัวผู้ ตัววัยรุ่นคล้ายตัวเต็มวัยทั้งสองเพศ ยกเว้นตอนตัวเมียวัยรุ่นจะมีสีดำแต่ตอนเด็กจะมีขนสีสนิมเหล็กคล้ายตัวเต็ม วัยตัวผู้  ในปีแรกจะงอยปากเล็กกว่า อุปนิสัยชอบกินผลไม้ หากินระดับเรือนยอดไม้ บางทีก็ลงมาเก็บผลไม้ที่ร่วงบนดิน เวลาอยู่บนพื้นดินจะกระโดดไปมา นอกฤดูผสมพันธุ์ชอบอยู่เป็นคู่หรือฝูงเล็ก ๆ 4-5 ตัว หรืออาจพบถึง 15 ตัว เสียงร้องคล้ายเสียงเห่าของสุนัข อาศัยอยู่ในป่าดงดิบที่ระดับความสูง 800-2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง



          มาถึงวันนี้นกเงือกได้บ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของป่าดงดิบอย่างแท้จริง การดำรงชีวิตของนกเงือกต้องใช้พื้นที่ที่เป็นป่าดงดิบและป่าที่ราบต่ำที่มี ความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น ถ้าหากผืนป่าถูกบุกรุกทำลายด้วยน้ำมือของมนุษย์ ย่อมส่งผลกระทบต่อนกเงือกให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในที่สุด


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นกเงือก สัญลักษณ์ของป่าดงดิบ อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2559 เวลา 12:17:14 13,218 อ่าน
TOP