x close

กันตัง ปลายทางและการตั้งต้น

กันตัง

กันตัง

กันตัง

กันตัง


กันตัง ปลายทางและการตั้งต้น (อสท)

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ...ภาพ

          ระหว่างนั่งอยู่ภายใต้แสงทึมเทาของสถานีรถไฟกันตัง ใครสักคนที่นี่ทำให้ผมนึกทบทวนความหมายของคำว่า "ระยะทาง"

          ท่ามกลางความว่างไร้ในแดดร้อนของทุกวัน บนรางเหล็กว่างเปล่า เต็มไปด้วยการรอคอย ระยะทางของทุกคนนั้นไม่เท่ากัน แม้จะมีปลายทางอยู่ที่เดียวกัน นายสถานีคนเดิมนั่งอยู่ที่โต๊ะไม้แสนคลาสสิก ภายใต้สถานไม้สักเก่าแก่สีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาล ลวดลายฉลุตามส่วนประดับนั้นละเอียดอ่อน แม้คร่ำคร่า ทว่าไม่ตกหล่นความดงงาม ภาพที่เห็นตรงหน้าเหมือนฉากในภาพยนตร์พีเรียดสักเรื่อง ต่างเพียงแต่ว่าหน้าปฏิทินบ่งบอกวันคืนปัจจุบัน

          "แต่ก่อนกันตังเฟื่องฟู พ่อค้า สินค้า ผู้คน ทั้งรถ เรือ รถไฟขวักไขว่ ผมยังนึกภาพวันนี้ไม่ออกเลยว่ามันร้างลงไปเมื่อไหร่" ใครสักคนในเรือนปั้นหยาเก่าแก่ทรุดโทรม อันเป็นบ้านพักของพนักงานการรถไฟฯ บอกผมในบ่ายวันหนึ่งที่รถไฟไม่เข้ากันตัง เนื่องจากล่าช้าไปแล้ว 2 ชั่วโมงระหว่างทาง เมื่อรถไม่เข้า พ่อค้าแม่ค้าเก็บของกลับไปสู่หนทางเดิม ๆ รวมไปถึงผู้โดยสารที่ต้องมุ่งเข้าตัวเมืองตรัง เพื่อจับรถขบวนที่ปลายทางคือชื่ออำเภอริมทะเลอันดามันแห่งนี้...กันตัง

          ความรุ่งเรืองไม่อยู่กับใครนาน หากแต่เมื่อได้ก่อเกิด ย่อมทิ้งส่วนเสี้ยวเรื่องราวไว้คงทน และมันยิ่งตอกย้ำให้รู้ว่า เราต่างก้าวเดินกันมาไกลเท่าไหร่แล้ว

          แวดล้อมด้วยภูเขา เรียกสวน และทะเลอันดามันอันกว้างไกล เมืองท่าเก่าแก่แห่งนี้เติบโตขึ้นมาได้ด้วยสิ่งใดกัน ผมพบคำตอบง่าย ๆ ภายในเวลาไม่กี่วันที่มาอยู่กันตัง พบจากการ "ทำความรู้จัก" พวกเขา ทั้งในตลาด ริมแม่น้ำ และอีกที่หนึ่งซึ่งชัดเจน นั่นคือ สถานีรถไฟ

          รางเหล็กที่ทอดยาวจากตัวกันตังออกไปลิบตานั้น สร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อไปเชื่อมต่อที่ชุมทางทุ่งลงนครศรีธรรมราช อันเป็นจุดกึ่งกลางของฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รางและไม้หมอนที่เรียงรายเกิดขึ้น ด้วยปัจจัยการรับเครื่องมือเครื่องใช้จาก "ตะวันตก" โดยเฉพาะหัวรถจักร โบกี้รถไฟ และเหล่าเครื่องมือในอุตสาหกรรมหนัก ที่ล้วนมาจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอินเดีย

          "แต่ก่อนบ้านเรานำเข้าเทคโนโลยีคมนาคมการรถไฟจากตะวันตกครับ ที่นี่เลยเป็นทางหลักอีกทาง ที่เติบโตควบคู่กับอีกแห่งทางตะวันออกคือสงขลา มีโรงงานชั่วคราวประกอบรถจักรและล้อเลื่อนส่งไปที่อื่น" พันธ์ทิพย์ นุ่นแก้ว เพิ่งว่างจากรับโทรศัพท์สอบถามเที่ยวรถจากผู้โดยสาร เขาดูผ่อนคลายลงบ้าง เรานั่งคุยกันตรงเก้าอี้ไม้หน้าสถานี ลมบ่ายพัดเย็นสบาย

กันตัง

          จากรุ่นพ่อของพี่พันธ์ทิพย์ ที่รถไฟเป็นเหมือนสิ่งนำพา "โลกภายนอก" มาสู่คนกันตัง ว่ากันว่าแต่ก่อนเที่ยวรถไฟมีมาก ผู้คนคึกคักมีรางรถเชื่อมไปจนถึงท่าเรือริมแม่น้ำตรัง ขนย้ายสินค้าขนาดใหญ่มากมายไปปีนัง มาเลเชีย อินโดนีเชีย หรือแม้แต่ที่ไกลกว่านั้น

          "500 เมตร ที่เหลือเดี๋ยวนี้เป็นชุมชนแล้วครับ ผมเองก็ไม่ทันเห็น ต้องเป็นรุ่นปู่รุ่นพ่อ" เขาว่ากันตังเติบโตด้วยการค้ายางพารา น้ำยาง ใบยาสูบ กับต่างชาติเป็นหลัก ต่อมาเส้นทางขนส่งสินค้าเปลี่ยนแหล่งผลิต หัวรถจักรจากญี่ปุ่นเข้ามาแทน ซึ่งมักมาขึ้นท่าที่ฝั่งอ่าวไทย รวมถึงถนนหนทางสะดวกขึ้น เส้นทางรถไฟขึ้นล่องกันตังกับที่อื่น ๆ จึงลดบทบาทลง เที่ยวรถจากที่เคยมีมากลดเหลือเพียงวันละ 1 เที่ยว นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้กันตังลดบทบาทการเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ ของหัวเมืองฝั่งอันดามันลง

          "แต่ก่อนมีเที่ยวรถเยอะมาก กันตัง-สุราษฎร์ฯ กันตัง-พัทลุง ไปยะลาก็มี เดี๋ยวนี้ก็อย่างที่เห็น วันละเที่ยว" พี่พันธ์ทิพย์ เล่าเพลินทอดตามองสถานีเก่าแก่แสนสวย ที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2539

          ลายฉลุตกแต่งตามส่วนมุข ที่ยื่นออกมายังละเอียดลออช่องลมไม้ระแนง ที่ตีทแยงยังคงสง่างาม "ผมว่าความสำคัญของคนเราไม่เหมือนกัน สถานีสวย ๆ กับสถานีคึกคัก มีผู้คนหากิน มันต่างกัน" เขาจบบทท้าย ๆ ลงอย่างคนที่ผ่านการเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงวันที่สถานีไม้เก่าสีเหลืองมัสตาร์ดหลังนี้ มากไปด้วยนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม แต่ผู้โดยสารกลับน้อยลงทุกวัน

          "ดีแล้วที่มันยังอยู่ มีเรื่องราวในนี้เยอะ ผมเองปักหลักไม่ย้ายไปไหนก็เพราะรักที่นี่" ผมพยักหน้า ไม่ได้ตอบอะไรต่อ บางอย่างหนักแน่น และเพียงพอแล้วกับสถานีรถไฟโบราณแห่งหนึ่ง

กันตัง

          ริมแม่น้ำตรังสงบเงียบ ยิ่งใหญ่ และแสนอาทร เมื่อนั่งมองอยู่ที่ สวนสาธารณะริมถนนรัษฎา เบื้องหลังอีกฝั่งคือทิวเขาหินปูนหยึกหยัก และห่มหมอกทุกครั้งหลังผ่านฝน ห้องแถวเก่าเรียงรายทั้งไม้และปูน ถนนสายเล็กนี้เก่าแก่มาเป็นร้อยปี พวกเขาเติบโตขึ้น ด้วยแม่น้ำตรงหน้าบ้านที่หลากไหลไปสู่ทะเล และไปสู่มหาสมุทรอินเดีย

          ทุกเช้าที่มาอยู่กันตัง หลังจากนั่งมองแพขนานยนต์ ที่พาผู้คนแถบบ้านท่าส้มข้ามฝั่งมาถึงกันตัง หรือทักทายชายชราในเรือประมง ผมมักเดินเล่นไปตามถนนรัษฎา ห้องแถวไม้โบราณนั้นเก็บงำความสัมพันธ์ของผู้คนที่นี่ ทั้งคนไทยเชื้อสายจีน ไทย มุสลิม และคนไทยพุทธ ไว้ในรอยยิ้มและอิริยาบถผ่อนคลายของพวกเขา บานเฟี้ยมเหยียดยาวได้อย่างเหลือเชื่อ และก็มีเสน่ห์พอ ๆ กับตึกปูนที่ประดับลายสวยงาม

          บางหลังสะท้อนการค้าขายกับปีนัง ไว้ในความโอ่อ่าของกระเบื้องปูพื้น และแนวทางเดินอาเขตติดต่อกันเป็นแถวยาวตามช่วงตึก "คนรุ่นก๋งรุ่นเตี่ยเรานับถือ "ท่านเจ้าเมือง" กันมาก" ป้าวราภร ช่วยแจ้ง พูดถึง พระยารัษฏานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี ดวงตาแบบคนจีนของป้าเป็นประกาย

          ท่านเจ้าเมือง หรือพระยารัษฎาฯ ของคนกันตังและคนใต้ คือคนที่สร้างความเจริญให้กับกันตังเป็นอย่างมาก ในฐานะอำเภอเมืองเก่าของตรัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2433 เรื่อยมา เมืองเล็ก ๆ ที่เป็นทางออกสู่ทะเลแห่งนี้ กลายเป็นเมืองท่าค้าขายใหญ่โตแห่งหนึ่งของคาบสมุทรอินเดีย ก็ด้วยการพัฒนาทั้งเชิงเกษตรและการค้า อันฝังรากอยู่ในชีวิตคนกันตังมาเป็นร้อยปี

          "แต่ก่อนกันตังต้องซื้อข้าวจากปีนังนะ ก๋งฉันเล่าว่าท่านยกเลิกการเก็บภาษีอากร และเกณฑ์แรงงานคนไปทำนา พอเราปลูกข้าวได้มากก็ส่งขายปีนัง พอมายุคเตี่ยนี่มีไปขายหมด ไก่ หมู วัว พริกไทย ไม้เคี่ยม ไม้ยาง เด็ก ๆ ฉันยังงงเลย ทางโน้นเขาซื้ออย่างเดียวเลยหรือไง" ป้าติดตลก ยิ้มร่าตามแบบฉบับคนแก่ใจดี พูดไปก็ทอดปาท่องโก๋ไป เคียงคู่น้องสาวที่ชงกาแฟโบราณอยู่ด้านในร้าน ลูกค้าเริ่มแน่น

          ภาพเช่นนี้คนรุ่นปู่ย่าของคนกันตังเห็นมาตลอด บางขบวนนั้นแสนคึกคัก บรรทุกวัวมาลงเรือล่องไปออกทะเล เพื่อขายในมาเลเซีย "มากันเป็นแถว ๆ เลย สัตว์ลงก่อน ตามด้วยสินค้าจิปาถะ แต่ก่อนรถไฟมาจ่อถึงท่าเรือเลย"

กันตัง

          ใน ร้านกาแฟฮั่วฮอง ที่สวยด้วยเครื่องใช้ในแสงอึมครึม ไร้จริตตกแต่ง กลุ่มเฒ่าชราขาประจำเริ่มรื้อฟื้นอดีตต่อหน้าถ้วยน้ำชา ผมเองเป็นเพียงผู้ฟังที่นั่ง และยิ้มไปกับความรุ่งเรืองที่ไม่อาจมองเห็น “อย่างว่า แต่ก่อนเรือ รถไฟ มันเหมือนเดินมาคู่กัน” ที่ร้านหมี่สั่วไก่ตุ๋นเจ้าดังอย่างร้านก้าวทอง ใครสักคนที่นั่นบอกผมเช่นนั้น

          ตึกเก่าแถบกันตังที่เติบโตคบคู่ย่าน ตลาดบนถนนรัษฎา มักซ่อนเรื่องราวของผู้คนกันตังไว้ในร้านโบราณ ยิ่งเฉพาะคนจีนเชื้อสายฮกเกี้ยน ซึ่งมาถึงกันตังพร้อมเรือสำเภาค้าขายสินค้า หลายตระกูลเก่าแก่ของที่นี่ ล้วนผูกพันกับเส้นทางการค้าอันเชื่อมโยงทั้งทะเลและแผ่นดิน

          วันทั้งวันที่ย่านการค้าเก่าแก่ของกันตัง ผมพาตัวเองไปรู้จักกับผู้คนของที่นี่ หลายอย่างผันแปรตกทอดเป็นอาคารไม้หลังสวย หรือตึกปูนโอ่อ่า วันที่เข้าไปใน ศาลเจ้าฮกเกี้ยนกงก้วน ภายในอาคารไม้สีเหลืองสลับแดง ที่สร้างมานานกว่า 100 ปี "ความร่มเย็น" อันเป็นที่พึ่งทั้งทางกายและทางใจของที่นี่ ยังสัมผัสได้ไม่สร่างซา รูปภาพและประวัติของสายตระกูล ที่ทะนุบำรุงศาลเจ้าเรียงรายอยู่ตามผนัง แสงสาดเป็นเงาสวย พร้อมภาพผู้คนที่ผลัดเวียนกันเข้าออก ทั้งคนกันตังและคนนอก นั่งอยู่ในศาลเจ้า ผมรู้สึกได้ถึงคำว่า "พี่น้อง" และ "พักพิง"

กันตัง

          อาคารไม้ใหญ่โตหลังนี้ คือที่พักแรมของพ่อค้าเรือสำเภาจากแผ่นดินใหญ่มาแต่โบราณ พวกเขาไม่เพียงนำความคึกคักทางการค้ามาสู่กันตัง แต่ความคิดความเชื่อ รวมไปถึงวัฒนธรรมการเคารพศรัทธาที่ติดตัวมาฝังรากยังก่อให้ที่นี่ มากไปด้วยภาพอันชัดเจน

          อาคารไม้ใหญ่โตฉลุลวดลายแสนสวยไว้ด้านหน้าหลังนี้นั้น คือศูนย์รวมของผู้คนที่ไปมาระหว่างกันตังและที่อื่น ๆ ในอดีต "แต่ก่อนใครมาค้าขายหรือเดินทางก็มาพักที่นี่ มันปลอดภัย สะดวกสบาย" วิบูลย์ ปฏิเวช ชายชราที่เป็นผู้จัดการศาลเจ้าแสนคลาสสิกเล่า แม้นาทีนี้ภายในจะเหลือเพียงความว่างเปล่า "แต่ก่อนกันตังมีท่าเรือไปภูเก็ต เรียกกันว่าสะพานเหล็ก พวกคหบดี นายเหมือง ก็มาพัก ยางพาราก็อีก ก่อนจะส่งลงเรือไปสิงคโปร์ก็พักของกันในศาลเจ้า" เขาเล่าพลางจุดธูปไหว้องค์ม้าจ้อโป้ว-เจ้าแม่ทับทิม เจ้าแม่ของท้องทะเล

กันตัง

          ออกจากศาลเจ้า เลาะกลับไปสู่ถนนรัษฎา เมื่อถึงเวลาเย็น ผมก็เห็นภาพการอยู่ร่วมของหลากหลายผู้คนในกันตัง หนึ่งในนั้นคือที่ มัสยิดปากีสถาน พี่น้องมุสลิมในกันตังจอดรถริมแม่น้ำ เดินตามเสียงอาซานเข้าสู่ภายในมัสยิด ก่อนที่เสียงละหมาดจะล่องลอย ทุ้มต่ำแผ่วกังวาน นาทีสงบเงียบริมแม่น้ำตรังดำเนินไปอย่างเป็นตัวของตัวเอง...อบอุ่น

          หลังละหมาดเสร็จสิ้น ร้านชากาแฟใกล้ ๆ มัสยิดคือแหล่งพบปะอันอบอุ่น มุสลิมในกันตังมีที่มาจากปากีสถาน เครายาว ๆ นั้นบ่งบอกถิ่นที่มาของพวกเขาไว้ชัดเจน ห้างขายผ้า ตัดเสื้อ ทั้งในกันตังและตัวเมืองตรังมีไม่น้อยที่เป็นคนเชื้อสายปากีฯ

          "ไม่เฉพาะพวกเราหรอก มุสลิมที่มาจากทางกลันตันก็เยอะ ในนามของพระเจ้า เราไม่มีแบ่งแยก" ในวงน้ำชาหน้ามัสยิด เฒ่าชราภายใต้กะปิเยาะห์ขาวเล่า พ่นควันใบจากเบาสบาย ก่อนยกชาถ้วยจ้อยขึ้นจิบ

          ห้วงยามนั้น กลางความหลากหลายในเมืองท่าเล็ก ๆ ความอบอุ่นหน้าตาเป็นเช่นไร ผมสัมผัสได้แม้จะจากบ้านของตัวเองมาไกลแสนไกล อาจเป็นความรู้สึกเช่นนี้ ที่ทำให้ใครหลายคนที่นี่เลือกแผ่นดินริมแม่น้ำตรังเป็นที่ปักหลัก ต่อยอดลมหายใจอยู่ทุกคืนวัน

          เลาะผ่านย่านตึกเก่าริมถนนรัษฎา แม่น้ำตรังทอดขนาน เมื่อหลุดพ้นกลุ่มเมือง ริมแม่น้ำล้วนคือภาพชัดเจนอีกด้านของคนกันตัง ภาพที่ผ่านค่ำคืนแรมรอนกลางทะเล เรามาถึงแถบคลองภาษีกันไม่นาน เรือประมงลำใหญ่เรียงรายอยู่ตามสะพานปลา ว่ากันว่างานประมงล้วนคืออีกสิ่งหนึ่งที่ขับเคลื่อน ให้กันตังเติบโตเช่นเดียวกับทุก ๆ เมืองริมทะเล

กันตัง

          สะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงขนาดใหญ่ หลาเจ้าของคลองภาษี เต็มไปด้วยเสียงจอแจและชุลมุนอยู่ด้านใน พวกคนเรือที่รอนแรมจากทะเลกำลังพักผ่อน ดูทีวีหรือตั้งวงน้ำชา แรงงานคัดแยกปลาทั้งตัวเขื่อง ๆ และตัวเล็กลำเลียงเพื่อส่งขาย ท่ามกลางกลิ่นคาวเค็มและเสียงโหวกเหวก เสมือนว่านอกจากทะเล และปลาอันเป็นผลผลิตของพวกเขา สิ่งอื่นใดก็ไม่จำเป็นในการรับรู้ ณ นาทีนี้

          ผมเพลินอยู่กับเหล่าคนงานที่คัดแยกปลาอยู่นาน ปลาใหญ่ถูกรับไปตั้งแต่หัวเช้าแล้ว ขณะนี้พวกเขากำลังแยกปลาเล็กเป็นประเภท ส่งไปทำปลาอัดแท่ง หรือที่เรียกกันว่าปูอัด นอกเหนือจากนั้นก็ไปผสมเป็นปลาเหยื่อหรืออาหารสัตว์ คนงานเหล่านี้แรมรอนมาตั้งต้นชีวิตกันที่ริมแม่น้ำตรัง เวลางานยุ่งเหยิง พวกเขาดูคล้ายคนไม่ใส่ใจกับชะตากรรมที่รออยู่ เนื้อปลาและถาดคัดแยกดูจะสำคัญที่สุด แต่เมื่องานการผ่อนคลาย ภาพที่เห็นยามหนุ่มสาวหยอกล้อหัวเราะเริงร่า และรอยยิ้มหลังความเหน็ดเหนื่อยก็งดงามน่ามองเหนืออื่นใด


กันตัง

กันตัง

          ทุกวันที่มาอยู่กันตัง ยามเย็นแถบ สวนสาธารณะริมแม่น้ำตรัง เป็นจุดที่ผมและเพื่อน มักพาตัวเองมาอยู่ในภาพอันเป็นตัวของตัวเองของพวกเขา ทุกอย่างดูสงบ ผ่อนคลาย และผสมผสาน คนรุ่นเก่าของกันดังที่ยามนี้ พัดพาตัวเองผ่านความรุ่งเรืองของชีวิต มักออกมาเดินเล่น มองดูแม่น้ำสายใหญ่ที่เคยเป็นเหมือนสิ่งขับเคลื่อนให้ที่นี่เติบโต เฒ่าชรานั่งมองลูกหลานวิ่งเล่นในสวน ถัดไปที่ริมแม่น้ำ เรือประมงเล็กใหญ่จอดนิ่งสงบ ฉากหลังคือคอนเทนเนอร์ที่บรรทุกสินค้าเตรียมส่งออก ฉายภาพชัดเจนของเมืองท่าเก่าแก่ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามคืนวัน ไม่มีสิ่งใดฟูมฟายกับการเปลี่ยนแปลง หลายอย่างเริ่มต้นและมี "ทิศทาง" ของมันมาเนิ่นนาน มันอาจนานพอ ๆ กับที่ชีวิตของคนที่นี่ได้ลงหลักปักฐาน ก่อร่าง และเติบโต

          ริมแม่น้ำชราสายเดิม ผมทบทวนถึงหลายสิ่งในแววตาของคนที่นี่ ที่ทำให้เห็นชัดเจนถึงความหมายของคำว่า "ระยะทาง" บางอย่างตื่นตัวเริงร่าอยู่บนทิศทางของการเปลี่ยนแปลง ขณะที่อีกหลายแววตาก็ฉายชัดการเติบโต และคงทนอยู่ในภาพของความกร้าวแกร่ง นิ่งสงบ คล้ายผู้เจนจัดผ่านการแรมรอนที่มากมายด้วยริ้วรอยของวันเวลา ทั้งหมดทั้งมวลล้วนบ่งบอกเพียงว่า การ "มาถึง" ต่างหาก ที่สลักสำคัญมากไปกว่าหนทางที่ย่างก้าว เพราะเราต่างมีเส้นทางและการบากบั่นอันเป็นเฉพาะสำหรับตัวเอง

กันตัง

          สายของอีกวันที่ สถานีรถไฟกันตัง ในหลังคาคลุมแดดฝนและเก้าอี้ไม้สักตัวสวย วันนี้ราวกับสถานีแสนคลาสสิกอายุร่วมร้อยปีมีงานรื่นเริง ผู้โดยสารนั่งรอและไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ แม่ค้าขายขนม น้ำอัดลม เปิดแผงอยู่หน้าสถานีที่พันธ์ทิพย์ไม่ว่างพอจะมานั่งพูดคุย อาจด้วยวันนี้รถเข้าตามเวลา หลังจากที่เลื่อนมาสองวัน ภาพคึกคักตรงหน้าหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกันเมื่อขบวนรถกรุงเทพ-กันตังเข้าเทียบชานชาลา ไม่เกิน 20 นาที หลังสับเปลี่ยนหัวรถจักร ผู้คนต่างจับจองที่ทางของตัวเอง พวกเขาพร้อมจะออกเดินทางไกลอีกครั้ง ก่อนจะทิ้งจุดตั้งต้นริมทะเลอันดามันแห่งนี้ไว้ ตามระยะทางที่ทอดยาวห่างออกไป...ไปสู่ปลายทางเฉพาะด้านเฉพาะตนที่ต่างคนต่างเลือก

          เสียงเคาะระฆังดังเตือน พร้อมธงสีเขียวโบกสะบัด ขบวนรถค่อย ๆ เคลื่อนออกไปจากสถานีปลายทาง ที่นาทีนี้กลายเป็นต้นทางของใครหลายคน ทุกอย่างสับเปลี่ยนเวียนผัน ไร้การสิ้นสุด ตราบเท่าที่ใครสักคนยังต้องคว้าไขว่ตามหาความหมายอันชัดเจนของคำว่า "หนทาง"

กันตัง

คู่มือนักเดินทาง

          รักการเดินทางด้วยรถไฟ มีขบวนรถเร็วกรุงเทพ-กันตัง ออกจากสถานีหัวลำโพงทุกวัน วันละ 1 เที่ยว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2220 4444 เว็บไซต์ www.railway.co.th

          หากขับรถส่วนตัว ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 กรุงเทพฯ-ชุมพร จากนั้นเข้าทางหลวงหลายเลข 41 ผ่านสุราษฎร์ธานี-ทุ่งสง-ห้วยยอด-ตรัง จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 403 (ตรัง-กันตัง) รวมระยะทาง 853 กิโลเมตร

          ย่านเก่าเมืองกันตังทอดยาวอยู่ริมแม่น้ำตรัง หาเวลาเดินเล่นในช่วงเช้าและเย็น อาคารห้างบั้นเส้งหิ้น น่าถ่ายรูปลวดลายปูนปั้น ศาลเจ้าฮกเกี้ยนกงก้วน สวยด้วยไม้และลายฉลุ ตรงข้ามสวนสาธารณะก็มีอาคาร 2 ห้อง หลังสวย ให้ยืนมองรวมถึงมัสยิดปากีสถาน ที่เต็มไปด้วยพี่น้องชาวไทยมุสลิมก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาด

          ว่าง ๆ ออกไปเดินเล่นแถบคลองภาษี เที่ยวสะพานปลา ดูความคึกคักของอาชีพหลักอีกอย่างหนึ่งของคนกันตัง ยามเช้าแสนมีชีวิตชีวา เพราะเรือใหญ่เข้า

          ในตึกเก่าริมแม่น้ำตรังหลายห้อง ยังมีอาหารอร่อยอย่างบะหมี่และหมี่สั่วไก่ตุ๋นร้านก้าวทอง เสิร์ฟพร้อมติ่มซำตามแบบฉบับคนตรัง หรือชอบกาแฟโบราณ ให้ไปนั่งเพลินที่ร้านฮั่วฮอง บรรยากาศยามเช้าคึกคักผู้คน มื้อเย็นไม่ควรพลาดร้านโกเกี้ย ใกล้เซเว่น อีเลฟเว่น เมนูปลาทะเลสด ๆ และอาหารตามสั่งรสชาติดีมีให้เลือกหลากหลาย



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 51 ฉบับที่ 11 มิถุนายน 2554


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กันตัง ปลายทางและการตั้งต้น อัปเดตล่าสุด 18 เมษายน 2555 เวลา 17:39:11 4,163 อ่าน
TOP