x close

ดร.ธรณ์ ชี้แผลที่เท้านักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ฝีมือลูกปลาฉลามหูดำกัด


ฉลามหูดำกัดคน

          ดร.ธรณ์ ชี้ชาวญี่ปุ่นถูกลูกปลาฉลามหูดำกัด เพราะแผลใกล้เคียงกับนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก ที่ถูกกัดเมื่อปีก่อน วอนอย่าเกลียดฉลามเพราะทุกวันนี้แทบจะสูญพันธุ์หมดแล้ว

          จากกรณีที่มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ถูกปลาไม่ทราบชนิดกัด ที่หาดกมลา  จ.ภูเก็ต จนเป็นบาดแผลฉกรรจ์บริเวณส้นและด้านข้างเท้าซ้าย โดยเบื้องต้นได้มีการสันนิษฐานว่านักท่องเที่ยวคนดังกล่าวน่าจะถูกปลาฉลามกัด ก่อนที่ต่อมา ผู้ว่าฯ ภูเก็ต จะออกมายืนยันว่า ทะเลไม่มีฉลาม และไม่ได้ถูกฉลามกัดแต่เป็นปลาบาราคูด้า (ปลาน้ำดอกไม้) หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ปลาสาก" (อ่านข่าว : ผู้ว่าฯ ยืนยัน ทะเลภูเก็ตไม่มีฉลาม หลังมีข่าวนักท่องเที่ยวถูกฉลามกัด)

          ล่าสุด (17 สิงหาคม 2560) ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า น่าจะเป็นลูกฉลามหูดำมากกว่าที่จะเป็นปลาสาก เพราะปลาสากหากินตามกองหินใต้ทะเล และหากินตอนเย็นใกล้โพล้เพล้ แต่นักท่องเที่ยวถูกกัดตอนกลางวันและอยู่นอกแนวกองหิน ซึ่งฉลามหูดำมีถิ่นอาศัยอยู่ที่ภูเก็ตอยู่แล้ว ตัวใหญ่สุดก็แค่ 1 เมตร ดูจากลักษณะบาดแผลก็ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตก ถูกกัดเมื่อปีที่แล้วที่หาดกมลาเหมือนกัน

          โดยฉลามหูดำจะกินทุกอย่าง และลักษณะของแผลก็เป็นการกัดแบบเฉี่ยว ๆ ของลูกฉลามหูดำตัวเล็ก ๆ ไม่ได้พุ่งเข้าโจมตีโดยตรง คิดว่าฉลามน่าจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารจึงเข้าไปกัด แล้วนักท่องเที่ยวตกใจกระชากขาออกแผลเลยฉีก
ฉลามหูดำกัดคน
ฉลามหูดำ

          นอกจากนี้ ผศ. ดร.ธรณ์ ยังยืนยันว่า ในทะเลไทยไม่ว่าจะเป็นฝั่งอ่าวไทยหรืออันดามัน ไม่มีสิ่งมีชีวิตดุร้ายที่โจมตีมนุษย์ เพราะตามธรรมชาติแม้แต่ปลาฉลามก็จะกลัวมนุษย์อยู่แล้ว แต่ที่เห็นฉลามโจมตีนักท่องเที่ยวในต่างประเทศก็เพราะมันเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร สังเกตได้ว่าคนที่ถูกฉลามกัดจะถูกกัดแค่ครั้งเดียว พอรู้ว่าไม่ใช่ก็จะปล่อยไม่ได้กินคนเข้าไปทั้งตัว

          ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ไปเที่ยวภูเก็ตปีละกว่า 50,000,000 คน แต่ถูกกัดแค่ปีละ 1 คน และไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก และไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตด้วย ทุกวันนี้จำนวนฉลามในประเทศไทยก็น้อยลงทุกปี จนแทบจะสูญพันธุ์แล้ว จึงไม่อยากให้ตื่นตระหนก กลัว หรือเกลียดฉลาม ควรจะต้องอนุรักษ์มันด้วยซ้ำ เพื่อรักษาระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารใต้ทะเล

          แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าฉลามก็คือ แมงกะพรุนกล่อง เพราะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังอยู่ใกล้ฝั่ง แค่ปีเดียวมีคนโดนพิษถึงขั้นเสียชีวิตไปแล้ว 7-8 ราย ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากกว่า และรุนแรงกว่ากรณีฉลามมาก ผศ. ดร.ธรณ์ กล่าว

ปลาสาก
ปลาสาก

ฉลามหูดำกัดคน

ฉลามหูดำกัดคน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ศูนย์วิทยุกู้ชีพกมลา EMS, วิกิพีเดีย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก เที่ยงวันทันเหตุการณ์
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดร.ธรณ์ ชี้แผลที่เท้านักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ฝีมือลูกปลาฉลามหูดำกัด อัปเดตล่าสุด 18 สิงหาคม 2560 เวลา 16:57:01 7,403 อ่าน
TOP