x close

โนราโรงครูท่าแค พัทลุง งานสืบสานวัฒนธรรมใต้ รวมเชื้อสายแห่งโนรา

งานโนราโรงครูท่าแค พัทลุง

          โนราโรงครูท่าแค 2559 ประเพณีวัฒนธรรมแห่งความเชื่อ ความศรัทธาของลูกหลานโนรา ที่สืบทอดต่อกันมายาวนานหลายสิบปี งานพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของคนใต้ที่ต้องอนุรักษ์ไปชั่วลูกชั่วหลาน

          เสียงเครื่องดนตรีที่ดังก้องกังวานไปทั่ววัดท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง พร้อมกับเสียงร้องเพลงตามบทร้องโนราภาษาใต้ที่สอดแทรกขึ้นมาเป็นจังหวะ บ้างก็มีเสียงหัวเราะครื้นเครงของชาวบ้านที่นั่งล้อมอยู่ด้านนอกดังขึ้นสลับกัน ดึงดูดให้คนต่างถิ่นอย่างเรารีบก้าวขายาว ๆ เข้าไปยังโรงพิธี ด้านในมีนักแสดงโนราสี่ถึงห้าคนกำลังร้องเพลงด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ร่ายรำด้วยท่าทางที่แข็งแรง แต่แฝงไปด้วยความอ่อนช้อย แสดงถึงการแสดงโนราของแท้แบบดั้งเดิมของปักษ์ใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "งานโนราโรงครูท่าแค"




          สองเท้าพาเราก้าวเข้าไปใกล้อีกนิด...อีกนิด จนชิดขอบเวที แล้วนั่งลงกับพื้นทรายชื้น ๆ อย่างไม่รีรอ สายตามองนักแสดงโนราและหัวเราะร่าไปพร้อม ๆ กับคุณป้า คุณย่า คุณยาย ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ฟังภาษาใต้ไม่ออกสักนิด แต่กลับรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับการร่ายรำในทุกท่วงท่าของนักแสดงโนรา สำหรับคนที่ไม่เคยดูการแสดงโนรามาก่อน เพียงแค่ไม่กี่นาที สิ่งเหล่านี้ก็พาเราตกหลุมรักการแสดงโนราไปเสียแล้ว...


      
          ก่อนจะมาเป็นโนราโรงครู วัดท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

          การแสดงโนรา หรือมโนห์รา (มโนรา, มโนราห์) เป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ที่มีสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน จากหลักฐานหลายอย่างก็บ่งชี้ได้ว่า ในอดีตการแสดงนี้เป็นศิลปะชั้นสูง เป็นนาฏกรรมของราชสำนักและท้าวพระยามหากษัตริย์ทางภาคใต้ โดยมีจุดกำเนิดสำคัญอยู่ที่เมืองพัทลุง ซึ่งครูเปลื่อง ประชาชาติ ปราชญ์ด้านโนราแห่งเมืองพัทลุง ได้ทำการศึกษาค้นคว้าจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ของเมืองพัทลุง ก็ยิ่งทำให้เชื่อได้ว่าตำบลท่าแค อำเภอท่าแค จังหวัดพัทลุง เป็นสถานที่แรกที่มีการกำเนิดโนรา



          การจัดงานโนราโรงครูท่าแค

          โนราโรงครูท่าแค พิธีกรรมสำคัญของลูกหลานโนราทางภาคใต้ มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 3 ประการ คือ

          1. เพื่อไหว้ครู หรือไหว้ตายายโนรา ซึ่งเป็นบรรพบุรุษ แสดงถึงความกตัญญู

          2. เพื่อทำพิธีแก้เหมย (แก้บน)

          3. เพื่อประกอบพิธีครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่ หรือแต่งพอก ให้กับโนรารุ่นใหม่

          โดยโนราโรงครูท่าแคจะพิเศษกว่าที่อื่น ๆ ตรงที่ครูหมอโนรา หรือตายายโนรา ทั้งหมดมาร่วมชุมนุมกัน เพราะตามความเชื่อของคนโบราณเล่าขานต่อกันมาว่า บ้านท่าแคเป็นแหล่งกำเนิดโนรา แหล่งสถิตหรือพำนักของครูโนรา




หลักพ่อขุนศรีศรัทธา

          การจัดงานโนราโรงครูท่าแคถือกำเนิดมาหลายปีแล้ว ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจัดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ที่มีหลักฐานชัดเจนถึงการจัดโนราโรงครูใหญ่อย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้ ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ด้วยเหตุที่วัดแห่งนี้มีหลักพ่อขุนศรีศรัทธา หรือ เขื่อนขุนทา ปรมาจารย์โนรา ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัด พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร จึงทรงสร้างรูปปั้นขุนศรีศรัทธาและพรานบุญ ศาลาบริเวณเขื่อนขุนทา เพื่อประดิษฐานรูปปั้นเป็นอนุสรณ์ของขุนศรีศรัทธา

          และจากความเชื่อว่าขุนศรีศรัทธาเป็นครูคนแรก จึงจัดให้มีโนราโรงครูขึ้นที่วัดท่าแค โดยมี โนราแปลก ท่าแค (แปลก ชนะบาล) เป็นผู้นำสำคัญ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงได้กำหนดให้วันพุธ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน 6 มีการจัดพิธีไหว้ครูโนราและรำโนราโรงครูถวาย ชาวบ้านที่เชื่อว่าตนเองมี "ตายายโนรา" ก็จะมาเข้าร่วมชุมนุมกันอย่างคับคั่ง โนราใหม่จากทั่วสารทิศที่ต้องการครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่ หรือแต่งพอก ก็จะเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนั้นยังมีการแก้เหมย (แก้บน) ในงานนี้อีกด้วย





          ...ความเป็นมาที่น่าศรัทธาของพิธีกรรมโนราโรงครูท่าแคสุดขลังนี่เอง เราจึงได้เห็นผู้คนมากมายเดินทางเข้ามาในวัดอย่างไม่ขาดสาย และที่สำคัญยังมีผู้คนจำนวนหนึ่ง บ้างก็ร่ายรำอย่างสวยงาม บ้างก็นั่งตัวสั่น บ้างก็เดินและปีนป่ายไปมา โดยที่พวกเขาไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ ซึ่งชาวบ้านบอกว่ามีครูหมอโนรา หรือตายายโนรามาเข้าทรงนั่นเอง

          ช่วงระยะเวลาการจัดงานโนราโรงครูท่าแค

          โนราโรงครูวัดท่าแค โดยปกติแล้วจะจัดขึ้นในวันพุธของสัปดาห์ที่ 2 เดือน 6 ของทุกปี โดยใช้วัดท่าแคเป็นสถานที่จัดงาน ใช้เวลาทั้งหมด 3 วัน มีกำหนด ดังนี้

          ● วันที่ 1 วันพุธ : โนราเข้าโรง ทำพิธีไหว้ภูมิ พิธีตั้งบ้านตั้งเมือง

          ● วันที่ 2 วันพฤหัสบดี : พิธีเชิญครู (กาดครู) พิธีบวงสรวงครู พิธีแห่ผ้าผูกต้นโพธิ์ รำถวายศาล พิธีรำแก้บน การเหยียบเสน ออกพราน รำ 12 คำพลัด

          ● วันที่ 3 วันศุกร์ : เชิญตายายเข้าทรงในร่างทรง พิธีรำแก้บน พิธีตัดเหมย การเหยียบเสน แก้บนออกพราน รำคล้องหงส์ จับบทสิบสอง รำแทงเข้ พิธีบูชาตายาย


          โดยในปีนี้ได้จัดงานตั้งแต่วันที่ 19-22 พฤษภาคม 2559 (หากวันศุกร์ตรงกับวันพระ ไม่มีการทำพิธีกรรมใด ๆ ต้องเลื่อนมาจัดวันเสาร์)


โนราเจ้าพิธี เริ่มพิธีกรรมพิธีแห่ผ้าผูกต้นโพธิ์




ชาวบ้านร่วมพิธีกรรมแห่ผ้าผูกต้นโพธิ์อย่างเนืองแน่น ด้วยเชื่อว่ากระดูกของขุนศรีศรัทธาได้ฝังอยู่ใต้ต้นโพธิ์แห่งนี้



          เอกลักษณ์ของโนราโรงครูท่าแค

          พิธีกรรมโนราโรงครู สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในภาคใต้ แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ "งานโนราโรงครูท่าแค" ด้วยมีความเชื่อว่าที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดของโนรา และยังเป็นที่พำนักของครูหมอโนราหรือตายายโนรา นอกจากนั้นยังมีการจัดพิธีกรรมตามแบบดั้งเดิมสมบูรณ์ครบถ้วน ที่สำคัญยังเป็นการรวมตัวกันของโนราที่มีความเชี่ยวชาญจากแต่ละสายมาทำการแสดงและร่วมพิธีกรรม

    



นักดนตรีก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้การแสดงโนราสนุกสนานครื้นเครง

          ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนหรือนักท่องเที่ยวก็จะได้ชมการแสดงโนราที่งดงามมากที่สุดของภาคใต้ และยังบันเทิงเริงรมย์ สามารถเข้าถึงได้ทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่คนต่างถิ่น ต่างเมือง ต่างภาษา ที่สามารถสนุกสนานเฮฮาไปพร้อม ๆ กับนักแสดงโนราได้ ซึ่งบางครั้งก็เล่นนอกบท หลุดขำกันเองไปมา แต่ต่อบทกันได้อย่างลื่นไหล ไม่เพียงแค่รอยยิ้มเท่านั้นที่เผยขึ้นมาบนใบหน้า แต่ยังมีน้ำตาไหลปริ่ม ๆ อยู่ที่ดวงตา แบบนี้นี่เองที่เขาเรียก ฮาจนน้ำตาเล็ดน้ำตาร่วง

          โรงโนรา ในงานโนราโรงครูท่าแค

          พิธีกรรมโนราโรงครูท่าแค (พ.ศ. 2559) ดำเนินไปตามกำหนดการ บรรยากาศในงานสนุกสนานทุกวัน บางช่วงเวลาท้องฟ้ามืดครึ้ม มีลมกรรโชกแรง พัดพาฝุ่นละอองลอยขึ้นฟ้า หมุนไป-มา ราวกับว่าฝนห่าใหญ่จะกระหน่ำลงมาระหว่างการทำพิธี ชาวบ้านที่นั่งอยู่ด้านนอกเต็นท์และโรงโนราเริ่มขยับเข้ามาในร่ม





          ภายในโรงโนราแบบดั้งเดิม เป็นเรือนเครื่องผูกขนาด 9 x 11 ศอก มีเสา 6 เสา ไม่ยกพื้น ไม่ตอกตะปูในการก่อสร้าง หันหน้าไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ หลังคาเป็นรูปหน้าจั่ว มุงจาก ครอบกระแซงหรือใบเตยไว้ตรงกลางจั่ว ด้านซ้ายหรือด้านขวาทำเป็นชั้นสูงระดับสายตา เพื่อวางเครื่องบูชา เรียกว่า "ศาล" หรือ "พาไล" ด้านหลังของโรงพิธีทำเป็นเพิงพักของคณะโนรา ตอนนี้เริ่มมีแม่ยกเข้ามานั่งใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น


โนราเกรียงเดชน้อย นวลระหงส์

          แต่เหมือนฟ้าเล่นตลก เพราะเมื่อใดที่โนราใหญ่ (โนราเกรียงเดช นวลระหงส์ โนราเจ้าพิธีปี 2559) เริ่มร่ายรำเพื่อทำพิธีสำคัญ มีเพียงลมแรงวูบเดียวพัดผ่านมาเท่านั้น เหมือนปัดเมฆฝนให้จากไปก่อน จนกว่างานพิธีจะจบลง

          ● โนราใหญ่ หรือโนราเจ้าพิธี

          การจัดงานโนราโรงครูวัดท่าแค ชาวบ้านจะมาช่วยกันจัดงานอย่างคึกคัก ซึ่งในส่วนของพิธีกรรมจะมีโนราใหญ่ (ต้องผ่านพิธีครอบเทริด และรอบรู้ในพิธีกรรมอย่างดี) หรือโนราเจ้าพิธีเป็นผู้นำ โดยมีโนราแปลก ท่าแค (แปลก ชนะบาล) เป็นผู้ประกอบพิธีในยุคแรก โนราสมพงศ์น้อย (สมพงศ์ ชนะบาล) เป็นผู้ประกอบพิธีในยุคที่สอง และในปัจจุบันมีโนราเกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ (นายเกรียงเดช  ขำณรงค์) โนราจากสายเลือดโนราแปลก เป็นโนราเจ้าพิธี

          ● โนราเกรียงเดชน้อย นวลระหงส์



          ในทุก ๆ พิธีกรรมสำคัญจะมีโนราเกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ เป็นผู้นำ นอกจากความรอบรู้ในเรื่องพิธีกรรมโนราโรงครูท่าแคแล้ว ในบทบาทของนักแสดงโนรา เขาผู้นี้ก็ทำได้ดีไม่มีผิดเพี้ยน การร่ายรำด้วยท่าทางที่อ่อนช้อยส่งผ่านออกมาทางปลายนิ้วมือและการเคลื่อนไหว แต่กลับเฉียบคม แข็งแกร่ง ดูมีพลังและน่าเกรงขาม สร้างความศรัทธาและความเชื่อให้เกิดขึ้นแก่ทุกคนที่มาร่วมงาน ซึ่งความสามารถเฉพาะตัวนี้เองที่ทำให้เขาคว้าแชมป์ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ จังหวัดพัทลุง ปี 2556



          โนราเกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ หรือคุณเกรียงเดช  ขำณรงค์ หลานชายในสายเลือดของโนราแปลก ท่าแค (แปลก ชนะบาล) ผู้ที่จะสืบทอดโนราโรงครูท่าแคให้ดำรงอยู่สืบไปจนชั่วลูกชั่วหลาน ด้วยมีความชำนาญในเรื่องการร้องการรำโนรา และพิธีกรรมโนราโรงครูแบบดั้งเดิมที่ครบถ้วน รวมทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มชักชวนโนราที่เก่งกาจจากสายต่าง ๆ ให้มารวมตัวกันจนเกิดคณะเทพศรัทธา อันเป็นคณะโนราที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของภาคใต้ในยุคนี้

          ความสามารถที่มากล้นของโนราเกรียงเดชน้อย นวลระหงส์ ทำให้เราลืมไปเลยว่าเขามีอายุเพียงแค่ 29 ปี (พ.ศ. 2559) ชีวิตเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ต้องพลิกแล้วพลิกอีก ฝ่าฟันกับศัตรูที่เรียกว่าอุปสรรคมานับไม่ถ้วน แต่ด้วยความมุ่งมั่น เพียรพยายาม ก็ทำให้เขาขึ้นมายืนอยู่ในจุดนี้ได้อย่างสง่างาม

          การมาเที่ยวชมงานโนราโรงครูท่าแค

          ตลอดระยะเวลาการจัดงาน จะมีพิธีกรรมและความสนุกสนานแตกต่างกันไป แต่ไฮไลท์ของงานนี้จะอยู่ที่วันสุดท้าย เพราะจะมี "พิธีรำคล้องหงส์" และ "การรำแทงเข้"


โนราเจ้าพิธี รับบทเป็นพญาหงส์ เริ่มนำเหล่าหงส์ตัวอื่น ๆ สู่ลานกลางแจ้ง เพื่อทำพิธีคล้องหงส์

          ในช่วงบ่ายแก่ ๆ ของวันสุดท้ายในการจัดงาน (พ.ศ. 2559) แสงแดดเริ่มอ่อนลง ผู้คนเริ่มหลั่งไหลเข้ามายังปะรำพิธีเพื่อชมพิธีรำคล้องหงส์มากยิ่งขึ้น ก่อนการคล้องหงส์ โนราจะแสดงเรื่องพระสุธน มโนราห์ ภายในโรงพิธี โดยพรานจะเดินด้อม ๆ มอง ๆ อยู่ด้านนอกปะปนกับผู้ชม ซึ่งก็จะได้รับสินน้ำใจจากผู้ชมเป็นผลไม้บ้าง น้ำบ้าง เพื่อรอหงส์บินออกมาบริเวณลาน 







          เมื่อได้เวลา พญาหงส์ หรือโนราใหญ่ เดินนำหงส์อีก 6 ตัว สู่ลานกลางแจ้ง โดยมีพรานยืนถือเชือกรอคอยคล้องหงส์ทั้ง 7 ตัวอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งหงส์จะโดนนายพรานคล้องไปทีละตัว จนกระทั่งมาถึงพญาหงส์  ผู้ที่แสดงเป็นพรานจะต้องมีศักดิ์สูงกว่าโนราใหญ่ ในปีนี้ผู้ที่เป็นนายพรานที่จะคล้องโนราเกรียงเดชได้ จึงเป็นคุณพ่อของโนราเกรียงเดช คือ นายอำพล ขำณรงค์ (โนราผิน สายศิลป์สอง)


โนราผิน สายศิลป์สอง ผู้เป็นพ่อของโนราเกรียงเดช เข้ามารับบทบาทเป็นพรานเพื่อคล้องพญาหงส์









          การรำคล้องหงส์ผ่านไปด้วยดี ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมอย่างล้นหลาม ผ่านไปไม่นานอีกหนึ่งพิธีกรรมก็กำลังจะเริ่มต้นขึ้น "การรำแทงเข้" นั่นเอง นักแสดงโนราแสดงเรื่องไกรทองไปเรื่อย ๆ จนมาถึงฉากสำคัญอย่างการจับชาละวัน ซึ่งผู้ที่จะแสดงเป็นไกรทองได้นั้นต้องเป็นโนราเจ้าพิธี



          พิธีแทงเข้เป็นพิธีปิดที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากมีความเชื่อถึงการทิ้งเคราะห์ลอยโศกไปกับจระเข้ และจะนำมาซึ่งความราบรื่นในการดำเนินชีวิต ช่วงนี้จึงมีความเข้มข้นของพิธีกรรม โดยโนราเจ้าพิธีจะแสดงเป็นไกรทอง พาเหล่าเพื่อน ๆ ออกมาจากโรงพิธีไปยังสถานที่ตั้งของจระเข้ เสมือนกับการไปไล่ล่าชาละวัน 



          ตัวจระเข้นั้นทำขึ้นมาจากต้นกล้วยตานี ขุดขึ้นมาให้ติดรากเหง้า เพราะตรงส่วนเหง้าจะต้องนำมาแกะสลักให้เป็นหัวจระเข้ ซึ่งผู้ที่จะทำจระเข้นี้ได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่รู้ทางเวทมนตร์คาถา ด้วยจะมีการเรียกวิญญาณ และทำพิธีกรรมต่าง ๆ ให้ถูกต้อง หากมีสิ่งใดผิดพลาด สิ่งไม่ดีอาจกลับเข้าสู่ตัวผู้ทำได้ 





          หลังการแทงเข้ทุกคนร่วมใจกันแผ่เมตตาสู่จระเข้ อันคล้ายจะเป็นตัวแทนของเจ้ากรรมนายเวรและเป็นพาหนะ นำพาเคราะห์โศกให้ลอยหายมลายไป

          นักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเที่ยวชม สามารถเข้าชมได้ทุกวัน แต่ถ้าต้องเดินทางไกลหรือมีเวลาน้อย แนะนำให้มาเที่ยวชมและร่วมพิธีวันสุดท้าย

          การรำแทงเข้ได้จบลงแล้ว ดวงไฟที่ส่องสว่างไสวมายังตัวจระเข้เมื่อกี้ได้ถูกปิดลง เหมือนเวทีการแสดงที่เริ่มปิดไฟบนเวที คนดูเริ่มทยอยเดินกลับบ้าน และก็ถึงเวลาที่เราต้องกลับบ้านเช่นกัน...ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เดินหันหลังให้กับโรงโนรา ยังคงมีเสียงร้องเล่นของโนราเพื่อบูชาตายาย แม้จะฟังไม่ออกสักนิด แต่ก็สัมผัสได้ถึงความขลัง ความศรัทธาของพิธีโนราโรงครูท่าแค การล่องใต้ครั้งนี้ได้หอบความประทับใจกลับบ้านเต็มกระเป๋าเลยทีเดียว

          สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ เฟซบุ๊ก มโนราโรงครูท่าแค และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่ (สงขลา-พัทลุง) โทรศัพท์ 0 7424 3747


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กองประชาสัมพันธ์ภายในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง, สถาบันทักษิณคดีศึกษา, คุณเกรียงเดช ขำณรงค์, clib.psu.ac.th, krunora, เฟซบุ๊กมโนราโรงครูท่าแค, ich.culture.go.th, ฐานข้อมูลทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โนราโรงครูท่าแค พัทลุง งานสืบสานวัฒนธรรมใต้ รวมเชื้อสายแห่งโนรา อัปเดตล่าสุด 7 มิถุนายน 2559 เวลา 10:33:51 28,525 อ่าน
TOP