x close

จาริกมหาอันดามัน

จาริกมหาอันดามัน




จาริกมหาอันดามัน (อสท.)

           สารภาพตามตรงว่าเที่ยวเดินทางนี้ เกิดขึ้นมาเพราะแรงกระเพื่อมจากเรื่องราวในหนังสือ "ดวงใจแห่งไพรพฤกษ์" ของ คุณดวงดาว สุวรรณรังสี อันเป็นการรวมเล่มงานเขียนเรื่องราวการแรมทางสำรวจธรรมชาติในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๓๗ ที่เคยตีพิมพ์ในอนุสาร อ.ส.ท. 

           โดยเฉพาะเรื่อง "แรมทางตามผู้เฒ่า จากเกาะตะรุเตาสู่เกาะนกตำนาน" ที่กล่าวถึงการเดินทางเพื่อตามหานกบู๊บบีบเกาะลี้ลับแห่งหนึ่งนอกน่านน้ำตะรุเตา โดยมีเพียงแค่คำบอกเล่าของชาวเรือที่เกาะหลีแป๊ะและอีกรเองคือ "ปริศนาของโจรสลัดที่เกาะปิดะ" อันมีฉากการรอบแรมสู่หมู่เกาะพีพี เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องถิ่นที่อยู่และสถานภาพของฝูงนกโจรสลัด ที่ครั้งหนึ่งนักปักษีวิทยาเคยสันนิษฐานว่า เป็นนกอพยพมาประเทศไทยในช่วงเวลาสั้น ๆ หากแต่ชาวเลละแวกนั้น ยืนยันว่าพวกเขาเห็นนกเหล่านี้ตลอดทั้งปี

จาริกมหาอันดามัน



           ผมจำไม่ได้แล้วว่าตนเองอ่านเรื่องราวทั้งสองนี้ที่รอบ และจินตนาการถึงการเดินทางทำนองนี้กี่ครั้ง

           พูดถึงพูดเถอะ ก่อนหน้านี้ผมเองก็ไม่รู้เลยว่า จะมีโอกาสได้ย่ำตามรอยของนักแรมทางรุ่นบุกเบิกหรือไม่ เพราะผมตะหนักดีว่า การเดินทางสำรวจทางทะเลนั้นมีค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูงเกินกว่าคนที่มีรายได้แค่เพียงเดือนชนเดือนอย่างผมจะควักจ่ายไหว

           แต่ก็อีกนั่นแหละ อะไร ๆ มันก็เกิดขึ้นได้ ในการใช้ชีวิตที่ขาดวินัยของผม

          
ชัยวัฒน์ ชินอุปราวัฒน์...เรื่องและภาพ

 

จาริกมหาอันดามัน




           ริม ๆ มีนาคม

           ผมมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตนเองฝันถึงมาหลายปี

           แปดวันเต็มคือกำหนดการของเที่ยวเดนิทางในครั้งนี้โดยเนื้องานแท้ ๆ แล้ว ทีมสำรวจที่ผมโบกเรือพวกเขาติดมาด้วยนั้น มีภารกิจที่ต้องสะสางอยู่สามประการด้วยกัน ประการแรก คือการสำรวจจำนวนและชนิดของสัตว์น้ำในท้องทะเล ประการต่อมาเป็นการสำรวจคุณภาพน้ำในอันดามัน และสุดท้ายเป็นการทำแผนที่ใต้น้ำ โดยการสำรวจนกทะเล (Seabirds) เป็นภารกิจที่ผมขอความร่วมมือให้กำหนดเพิ่มเติมลงไปในเที่ยวเดินทางครั้งนี้ ซึ่งส่วนตัวแล้ว ผมแอบเรียกรวม ๆ ว่า "จาริกมหาอันดามัน"

           เส้นทางที่ทีมของเราต้องล่องโล้ไปบนลอนคลื่น มีจุดออกตัวที่ท่าเรือน้ำลึกแหลมพันวาแล้วล่องไปจนถึงหัวเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา พอวันที่สอง เรือจะวิ่งตัดออกสู่ทะเลลึกเพื่อทำการสำรวจบริเวณหัวเกาะราชาน้อย จังหวัดภูเก็ต แล้วหักหัวกลับเข้าสู่บริเวณหมู่เกาะพีพี ในวันที่สาม พอเข้าวันที่สี่ เราจะมุ่งหน้าสู่เกาะรอกและหมู่เกาะเภตรา ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดกระบี่และตรัง รุ่งสางของวันที่ห้า ทีมสำรวจจะเบนหัวเรืออกทะเลลึกมุ่งลงได้เข้าสู่หมู่เกาะอาดัง-ราวี ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดสตูล ณ จุดนี้ถือว่าเป็นจุดสุดท้ายของเที่ยวเดินทางนี้ เพราะหากล้ำเส้นเลยธงไปอีกไม่กี่ยอดคลื่น นั่นหมายถึงว่าเรากำลังรุกล้ำน่านน้ำของประเทศมาเลเซีย

           ทีมของเราจะวกกลับคืนฝั่งที่ภูเก็ตในช่วงรุ่งสางของการเดินทางวันที่หก โดยใช้เส้นทางเดียวกับช่วงที่ล่องลงมา แต่จะวิ่งลัดเลาะไปตามเกาะแก่งมากขึ้น ต่างจากขามาที่เราวิ่งสำรวจอยู่กลางทะเลลึกเสียเป็นส่วนใหญ่ และหากฟ้าดินไม่เล่นตลกอะไร ทีมของเราจะได้เหยียบแผ่นดินอีกครั้งในช่วงแดดผีตากผ้าอ้อมของวันที่แปด

           ทั้งหมดนี้เป็นการสรุปแบบกระชับของคุณสิชล หอยมุข หัวหน้าทีมสำรวจ ในขณะที่ลูกเรือกำลังเช็คความพร้อมของเรือก่อนที่จะเคลื่อนลำออกจากท่า และนับจากสิบโมงเช้าของวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป ทีมสำรวจซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยทางทะเลลูกเรือ ช่างเครื่อง ฝาโพล่ (พ่อครัว) คนอวน ผม และวัชระ สงวนสมบัติ นักวิชาการจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ รวม ๑๕ คน ต้องฝากผีฝากใช้ไว้กับฝีมือการเดินเรือของกัปตันวิโรจน์ และคุณบัง (ผู้ช่วยกัปตัน) สำหรับเรื่องการสำรวจทางทะเลนั้น คุณสิชลจะเป็นผู้กำกับการแสดงทั้งหมด


จาริกมหาอันดามัน



           จาริกมหาอันดามัน

           เมฆสีขาวก้อนโตขึ้นรูปจัดทรงในรูปแบบที่แปลกต่างกันออกไป สุดแล้วแต่ใครจะจินตนาการ ขณะที่อันดามันยังคงสงบนิ่งราวกับผู้บรรลุทางธรรม เรือของเราวิ่งตัดระลอกน้ำสีครามเข้มไปยังหัวเกาะยาวน้อย ตามเส้นทางที่ถูกกำหนดจากพิกัดดาวเทียม เพื่อทำแผนที่ได้ทะเล ผมกับวัชระเริ่มเข้าประจำตำแหน่งที่หัวเรือเพื่อเช็คจำนวนและชนิดของนกทุกตัวที่บินกระทั่งลอยน้ำผ่านเรือของเรา ห้าชั่วโมงจากการเดินทางในวันแรกเราพบนกนางนวลแกลบคิ้วขาว (Bridled Tern) นับร้อยตัว รวมทั้งนกนางนวลแกลบหงอนใหญ่ (Great Crested Tern) อีกพอสมควร ทว่าเราก็ยังไม่พบนกทะเลขนาดกลางและใหญ่อย่างกลุ่มนกโจรสลัด-นกบูบบี และพวกนกสกัวเลยแม้แต่ตัวเดียว จนแสงของวันจะลาจากฟากฟ้าไปแล้ว

           "นี่คงเป็นเพราะเรายังอยู่ใกล้ชายฝั่งเกินไป" วัชระสันนิษฐาน

           "พรุ่งนี้ทีมพี่คงมีโอกาสเจอนกมากกว่านี้ ช่วงที่เรือวิ่งตัดออกสู่เกาะราชาน้อย เพราะบริเวณนั้นเป็นไหล่ทวีปที่มีฝูงปลามาก" สิชล นักวิจัยฯ หนุ่มบอกกับทีมสำรวจนกกลางโต๊ะประชุมในช่วงมื้อค่ำ

           "ผมเคยเห็นนกกาน้ำสีดำทั้งตัวตรงบริเวณนี้" กัปตันวีโรจน์พูดขึ้นมากกลางโต๊ะประชุมพร้อมกับกางแผนที่เดินเรือแผ่นกว้างขึ้นมาจรดนิ้วลงยืนยันตำแหน่ง

           สิ้นเสยง สิชลก็เปิดคอมพิวเตอร์ที่มีฐานข้อมูลการเดินเรือและตำแหน่งต่างๆ จากดาวเทียมเพื่อสรุปเส้นทางในการทำสำรวจในเช้าวันรุ่งขึ้น ผมและวัชระมองหน้ากันเพราะสงสัยนกชนิดหนึ่งที่กัปตันวิโรจน์เรียกมันว่า "นกกาน้ำ"

           "รูปร่างหน้าตาเป็นแบบนี้ใช่หรือเปล่าครับพี่" วัชระถามพร้อมกับหยิบคู่มือดูนกมาให้กัปตันวิโรจน์ดู

           "ใช่ครับ นี่แหละนกกาน้ำ" เสียงกัปตันยืนยันหนักแน่น

           "จริง ๆ เราเรียกกันว่านกโจรสลัดครับ" วัชระเริ่มชี้แจง

           จะว่าไปแล้ว การที่กัปตันวิโรจน์เรียกแบบนั้นก็คงไม่แปลกอะไร เพราะเขามิใช่นักดูนก และที่สำคัญเรารู้กันมานานแล้วว่า นกหลายชนิดมีชื่อพื้นบ้านที่เรียกแตกต่างกันออกไป อย่างเช่น นกขมิ้นท้ายทอยดำนั้น คุณแดง หนุ่มใหญ่จากเมืองตรังผู้รับหน้าที่ดูแลเรื่องปากท้องคนในเรือก็เรียกว่านกขมิ้นข้าง และแกก็ยืนยันว่าแถวตรังเรียกชื่อนี้กันทั้งหมด

           ครับ เรื่องราวและที่มาที่ไปของนกโจรสลัดที่วัชระจัดให้เป็นของว่างในการประชุมแผนงานในวันรุ่งขึ้นเรียกความสนใจจากเหล่านักวิจัยทางทะเลที่ตื่นรู้ได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งจันทร์สีมุกลอยดวงพ้นหัวเกาะยาวน้อยนั่นแหละ พวกเราทุกคนจึงแยกย้ายกันเข้านอนทิ้งค่ำคืนที่เหลือไว้กับลูกเรือบางคนที่ถูกจัดให้ทำหน้าที่เวรยาม

           สาย ๆ ของวันถัดมา ขณะที่เรือวิ่งออกจากเกาะยาวน้อยมาได้ไม่นาน เราก็เห็นจุดเล็กๆ สีดำเปื้อนอยู่บนฟ้า วัชระใช้สโคป (กล้องส่องทางไกลชนิดหนึ่ง) ส่องไปที่จุดดำเหล่านั้น ภาพที่เห็นคือนกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส (Christmas Island Frigatebird) ๒ ตัวกำลังบินหาเหยื่อจากท้ายเรืออวนลากอยู่กลางทะเลลึก ส่วนเรื่องถ่ายภาพนั้น เท่าที่ดูคงหมดหวัง เพราะเงื่อนไขในการสำรวจครั้งนี้มีอยู่ว่า

จาริกมหาอันดามัน



           "ระหว่างที่เรือวิ่งทำแผนที่ใต้น้ำนั้น เรือจะสามารถจอดเพื่อลอยลำหรือวิ่งออกนอกเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น เรือจะต้องรักษาความเร็วไว้ที่ ๘ น็อตมากกว่านี้ก็ไม่ได้ ต่ำไปก็ไม่ดี เพราะหัวอ่านที่สแกนพื้นผิวใต้ทะเลไม่สามารถอ่านค่าได้"

           ฉะนั้นแล้วเราจึงทำได้เพียงแค่มองและจดบันทึกนั้น ยกเว้นเสียแต่เราจะโชคดี พบนกบินผ่านหรือเกาะทุ่นที่ลอยน้ำในเส้นทางเดินเรือของเราเท่านั้น

           บ่ายแก่ของวันนี้ เราพบนกบูบบีสีน้ำตาล (Brown Booby) ตัวแรกในระยะไกล แม้ว่าเราไม่สามารถถ่ายภาพได้ แต่ก็รู้สึกดีใจมากที่ได้เจอ เพราะนี่คือสิ่งที่เราเดินทางมานับพันไมล์เพื่อตามหา นกยืนเกาะทุ่นโฟมขนาดใหญ่ที่ลอยน้ำอยู่กลางทะเลลึกเลยจากหัวเกาะราชาน้อยมากว่า ๒๐ ไมล์ ผมดูเขาผ่านสโคป จนภาพของเขากลืนหายไปในไอแดด

           "นี่เป็นรายงานที่สำคัญตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะเราไม่มีข้อมูลของนกชนิดนี้ มานานแล้ว

           "ที่สำคัญ ตอนที่คุณดวงดาวและทีมสำรวจเดินทางออกจากเกาะอาดังไปเก็บข้อมูลนกชนิดนี้ที่เกาะนกหรือเกาะหินขาว (เป็นชื่อที่ชาวเลเรียก) นั้น ถือว่าเกาะนี้อยู่นอกน่านน้ำประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันก็ยังหาข้อยุติกันไม่ได้ว่าระหว่างประเทศมาเลเซียกับประเทศอินโดนีเซีย ประเทศใดจะเป็นเจ้าของการหินขาวนี้อย่างเป็นทางการ" วัชระให้ข้อมูลเพิ่ม

          
สรุปแล้ววันที่สองเราก็ทำได้แค่บันทึกจำนวนตัวเลขและชนิดของนกเพียงเท่านั้น

           ค่ำคืนนี้เรือของเราวิ่งเข้ามาทอดสมอพักนอนอยู่ที่ข้างเกาะราชาน้อยซีกตะวันตก กัปตันวิโรจน์เพ่งมองผิวทะเลที่ยามนั้นเริ่มเกิดเป็นติ่งลูกโตบ้างแล้ว ผิดกับวันแรกที่เรือเราออกมา

           "อีกสองสามวันสงสัยเราเจอลมแน่" กัปตันวิโรจน์หันมาบอกกับผมด้วยสีหน้ากังวล

           ส่วนตัวแล้วผมเห็นด้วยกับเรื่องที่ปับตันพูด เนื่องจากผมคุ้นชินกับทะเลมาตั้งแต่เด็ก ยิ่งพอช่วงแตกเนื้อหนุ่มผมก็มีได้ท่องทะเลแค่การนั่งเรือกินลมชมฟ้าชมน้ำ หากแต่ผมเพิ่มเติมรสชาติของวัยหนุ่มด้วยการสอบเข้าสังกัดนักดำน้ำอย่างเต็มรูปแบบ จำได้ว่าช่วงที่ท่องทะเล เที่ยวที่ผมเจอคลื่นบ้าฟ้าคลั่งหนักสุดก็ตอนที่พายุเกย์เคลื่อนตัวเข้าถล่มชายฝั่งประเทศไทย ครั้งนั้นแม้รอดจากเงื้อมมือมัจจุราชมาได้ แต่ผมก็ไม่มีวันลืมภาพเหตุการณ์นั้น

           ส่วนวันนี้ ผมเริ่มกังวลในโมงยามข้างหน้าไม่แพ้กัปตันเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงกลางวันที่เรือของเราต้องล่องสำรวจอยู่กลางทะเลลึกที่รอบตัวมีแต่ผืนน้ำกับแผ่นฟ้า

           ผมหลับไปตอนสี่ทุ่มและสะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนตีสองกว่า จากนั้นอีกไม่เกินสิบนาที ก็พบว่าตนเองออกมายืนแทรกตัวอยู่ในเงามืดของกาลเวลาเพื่อชมม่านฟ้าที่มีริ้วเมฆบังดวงจันทร์ เปิดโอกาสให้ดาวริบหรี่กะพริกแฉกอยู่ในบางซอกมุม ยิ่งหรี่ตามองแสงสว่างของดวงดาว ยิ่งกระจ่างสว่างใสราวกับใครบางคนโรยเกล็ดเพชรไว้บนผืนกำมะหยี่สีดำ ผมเฝ้ามองจันทร์ มองดาว และความยิ่งใหญ่ของท้องทะเล


จาริกมหาอันดามัน



           จากนั้นจินตนาการของผมก็เตลิดเปิดเปิงไปจนทะลุผ่านฟ้า

           รุ่งเช้าอีกวันเวียนมาถึง ในขณะที่ความมืดและกะพริบดาวยังเป็นเจ้าของโค้งฟ้าเบื้องบน แต่คนในเรือลุกขึ้นจากที่นอนหมดแล้ว ผมเองเพิ่งเคยเห็นการทำงานของทีมวิจัยทางทะเลเป็นครั้งแรก บอกตามตรงว่าผมศรัทธาในการทำงานของพวกเขามีใช่น้อย คนกลุ่มนี้ต้องทำงานที่หลายคนหันหลังให้ กินอยู่ก็ไม่สะดวกสบาย และวันๆ ก็เหมือนกับถูกจองจำอยู่บนเรือ เขาเหล่านี้นับว่าเป็นผู้ที่เสียสละอย่างแท้จริง สำหรับผมแล้ว เปรียบพวกเขาเสมือนหมอพื้นบ้านแห่งมหาอันดามันที่เฝ้าดูทุกข์สุขของสัตว์น้ำและผืนทะเลอันเป็นระบบนิเวศที่ซับซ้อนและกว้างใหญ่

           วันที่สามเกิดความตึงเครียดขึ้นในเรือ เมื่อทีมสำรวจพบว่าน้ำในบริเวณเกาะลิบง เกาะลันดา และเกาะเหลาเหลียงมีค่าออกซิเจนน้อยกว่ามาตรฐานไปเล็กน้อย หลังจากทีมฯ เก็บตัวอย่างทั้งสัตว์น้ำและดินจากก้นทะเลขึ้นมาวิเคราะห์

           "แปลกจังครับ อันดามันเป็นทะเลเปิด ไม่น่าเกิดเรื่องทำนองนี้ได้" ผมสงสัยเสียงดัง

           "ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ตัวอย่างที่เราได้ขึ้นมานั้นให้การว่า ในน้ำขาดออกซิเจนจริง ๆ แถมตัวอย่างผิวดินใต้ทะเลก็ยังเป็นอีกหนึ่งหลักฐาน" สิชลชี้แจงให้เราฟัง
           
           "ถึงว่า วันนี้แทบทั้งวันเราถึงจอนกบินหากินในละแวกนี้น้อยมาก ซึ่งถือว่าแปลก”วัชระสรุปตบท้าย

           ครับ...เป็นการผูกโยงเรื่องราวอย่างมีหลักการ เพราะสองวันที่ผ่านมาเราจะเห็นนกนางนวลแกลบหงอนใหญ่ นกนางนวลแกลบคิ้วขาว และนกนางนวลแกลบธรรมดาจำนวนนับร้อยตัวบินหากินอยู่ตลอดเส้นทาง บางฝูงลอยอยู่ในน้ำเฉย ๆ ขณะที่บางกลุ่มกำลังล้อมวงพุ่งหลาวลงโจมตีฝูงปลาขนาดเล็กที่ขึ้นมาบนผิวทะเล จนเห็นเป็นวงน้ำเต้นกระตุกตามแรงดีดสะบัดของฝูงปลาที่สะท้อนกับแสงตะวันวูบวาบ

           จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า นี่คือความจริงที่โหดร้ายของระบบนิเวศแห่งอันดามัน เมื่อน้ำเสียไม่มีปลาซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารของนกทะเล มันก็เลยไม่มีนก สรุปรวมแล้เราพบแค่นกสกัวหางยาว (Long-tailed Jaeger) ๔ ตัวเท่านั้นในวันที่สาม

           แสงจันทร์อาบผิวทะเลจนสุกสว่างเป็นวงกว้าง เรือแกว่งวูบวาบไปตามแรงกระเพื่อมของลอนคลื่น คืนนี้เราทอดสมอจอดนอนที่หลังเกาะไหง พอผมอาบน้ำเสร็จก็เดินออกจากเคบินเรือ ตั้งใจว่าจะมาจิบแสงจันทร์ที่หัวเรือสักหน่อย ทว่าหัวเรือถูกจับจองโดยคุณชลิต นักวิจัยหนุ่มที่กำลังส่งความคิดถึงให้กับใครบางคนที่ปลายสาย ในขณะที่ผมขยับไปทางด้านท้ายเรือก็เจอกับคุณนก นักวิจัยฯ อีกท่านที่กำลังโทรคุยกับลูกสาวของเขายิ่งพอเพ่งมองผ่านแสงสลัวของไฟเรือไปรอบ ๆ ลำแล้ว ปรากฏว่าทุกมุมถกจับจองเป็นพื้นที่ส่วนตัวโดยทีมงานเพื่อโทรศัพท์

           ผมมาทราบทีหลังว่าบริเวณที่เราทอดสมอนอนที่เกาะไหงนั้น เป็นที่แห่งเดียว ที่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือหลังจากที่ทีมสำรวจรอนแรมกลางทะเลลึกมาสามวัน

           ส่วนผม...ยังคงเลือกที่จะบรรยายเรื่องราวเป็นตัวอักษรแทน

           บำเหน็จความเพียรแรกจากอันดามัน

           วันที่สี่ ขณะที่เรือของเราวิ่งตัดผ่านเกาะลิบงอกกสู่ทะเลลึกได้สองชั่วโมงกว่า นกโจรสลัดเล็ก (Lesser Frigatebird) ๔ ตัวก็หาญกล้าลดเพดานบินลงเข้ามาใกล้ นกเหยียดปีกตรงร่อนหาเหยื่ออยู่เหนือเรือของเรา วัชระจรดเบ้าตาเข้าที่ปลายสโคปก่อนที่จะฟันธงลงกลางลำว่า สองตัวแรกเป็นนกโจรสลัดเล็กเพศเมีย ส่วนสองตัวที่เหลือเป็นเพศผู้และนกวัยรุ่น

           "สอยให้ได้นะพี่...ระยะนี้หายาก" วัชระคนเดิมกำชับ

           ผมประคองกล้องให้นิ่งที่สุดก่อนจะกลั้นหายใจเหนี่ยวชัตเตอร์ออกไปเป็นชุด พูดก็พูดเถอะ ผมไม่เคยทำงานที่ยากอย่างนี้มาก่อน เพราะการถ่ายภาพขณะที่เรือวิ่งและพื้นสั่น เพราะแรงเหวี่ยงจากเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ อีกทั้งนกก็บินอีกด้วยนั้น ทำให้บางภาพคมชัดแต่ตกเฟรม เนื่องจากผมลั่นชัตเตอร์ขณะที่เรือวูบเอียงไปตามลอรคลื่น บางภาพไม่ชัดเพราะหลุดช่วงโฟกัส และมีอีกไม่น้อยที่ไม่คม เพราะแรงสั่นสะเทือนจากพื้นเรือที่ส่งต่อผ่านขาตั้งกล้องสู่กล้อง และเลนส์เทเลโฟโตขนาด ๕๐๐ มิลลิเมตร

           เบ็ดเสร็จแล้ว ผมก็ได้ภาพถ่ายของนกโจรสลัดเล็กเป็นชุดแรกในเที่ยวเดินทางนี้ และจากแดดสายจรดแสงสุดท้ายของวันผมก็ไม่ได้ภาพถ่ายเพิ่มเติมอีก นอกจากการจดบันทึกว่าเจอนกสกัวหางยาวเพิ่มอีกหนึ่งตัว

           ย้อนกลับไปปี พ.ศ.๒๕๑๗ นกโจรสลัดเล็กปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือคู่มือดูนกเล่ม ๒ ที่นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ร่วมกับเอ็ดเวิร์ด ดับบลิว โครนิน จูเนียร์ (Edward W. Cronin, Jr.) ในการเขียนข้อมูลเพิ่มเติม โดยนกโจรสลัดเล็กถูกจัดให้เป็นนกที่เพิ่งพบใหม่ในประเทศไทย

           นกโจรสลัดเล็กมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Fregata ariel ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละติน สมัยกลาง คือ ariel แปลว่ากลางอากาศ ความหมายคือ "นกโจรสลัดที่ชอบบินหรือร่อนกลางอากาศ" พบครั้งแรกที่เกาะคริสต์มาสและมีถิ่นกระจายพันธุ์ในทะเลเขตร้อน

           "วันที่ห้าแล้ว" เสียงลูกเรือบางคนตะโกนใส่ทะเลด้วยอารมณ์ที่ผมสุดจะคาดเดา

           ยอมรับเลยครับว่าผมและทีมสำรวจมีความกดดันกับภารกิจที่กำลังทำกันอยู่มีใช่น้อย เช้านี้กัปตันวิโรจน์กุมบังเหียนพาเรือมุ่งหน้าออกไปทางหัวเกาะรอก ก่อนที่จะมุ่งตรงลงทิศใต้ผ่านบริเวณที่เรียกว่าหินม่วง อันที่จริงแล้วหินม่วงเป็นกองหินกลางทะเลที่เหล่านักดำน้ำรู้จักกันดี ส่วนตัวผมแล้วเคยมาทักทายหินม่วงในฐานะนักดำน้ำอยู่ห้าครั้ง แต่ครั้งนี้ผมมองหินม่วงในท่าทีที่เปลี่ยนไป แทนที่จะดูปลาดูกุ้งในน้ำ ก็กลับเป็นว่าต้องนั่งส่องนกบนฟ้าแทน

           ผ่านหินม่วงลงทางทิศใต้ได้ชั่วโมงเศษ นกบูบบีสีน้ำตาลวัยรุ่นตัวแรกของวัน ก็ปรากฏตัวอยู่บนทุ่นโฟมกลางน้ำไกล ทีสำคัญตำแหน่งที่เจ้าบูบบียืนนั้นอยู่ในเส้นทางที่เรือของเราต้องเฉียดผ่าน สิชลคว้าวิทยุสื่อสารมากรอกเสียงผ่านขึ้นไปบนสะพานเดินเรือ

           "กัปตัน ว. สอง"

           "ทราบ" เสียงกัปตันตอบ

           "มีนกยืนอยู่บนก้อนโฟมเยื้องหัวเรือไปที่สิบหนึ่งนาฬิกา" สิชลแจ้งตำแหน่ง

           "ลดความเร็วลงครึ่งหนึ่งแล้วหันหัวเรือเข้า ย้ำ...อย่าขวางคลื่น" สิชลกำชับ

           สิ้นเสียงเรือของเราก็ราวกับคนหมดแรง กัปตันเบี่ยงหัวเรือเข้าฟัดคลื่นเพื่อให้เราทำงานสะดวก ทว่าในตำแหน่งนั้นย้อนแสง มันเป็นสมการที่เราต้องรีบแก้ไข เพราะการที่จะสั่งให้เรือขนาดใหญ่เปลี่ยนทิศทางได้ง่ายอย่างใจนึกเหมือนเดินเลือกซื้อน้ำอัดลมในร้านเซเว่นฯ ตามข้างถนนนั้นคงทำไม่ได้แน่ สิ่งเดียวที่ทำได้คือต้องแก้ไขปัญหาเรื่อง "ย้อนแสง" เอง ที่สำคัญต้องรีบตัดสินใจแล้ว เพราะเรือเข้าใกล้ระยะปลอดภัยของนกและเจ้าบูบบีก็ทำท่าเหมือนกำลังจะบิน

           มือไวเท่าความคิด...ผมเบี่ยงตัวเล็กน้อยเท่าที่มีพื้นที่อยู่ แล้วรีบลั่นชัตเตอร์ขณะที่เจ้าบูบบีกำลังสับปีกบินออกจากก้อนโฟม ตอนนั้นทีมของเราทุกคนมีสีหน้าผิดหวังอย่างเห็นได้ชัด เพราะพวกเขาทราบดีว่าผมเพิ่งลั่นชัตเตอร์ไปแค่ภาพเดียว แต่อีกไม่กี่อึดใจ

           "พี่...พี่..นกบินย้อนกลับตรงมาที่หัวเรือเรา" สิชลตะโกนเสียงหลงลงมาจากสะพานเดินเรือ



จาริกมหาอันดามัน



           ผมรีบคว้ากล้องเข้ามากำกระชับไว้ในมือและเปลี่ยนระบบวัดแสงเพื่อรับกับสถานการณ์ "เยื้องแสง" เจ้าบูบบีสีน้ำตาลบินตรงเฉียดเรือของเราอย่างรวดเร็ว ผมมีโอกาสประมือไปสี่ภาพก่อนที่นกจะเลยไปทางท้าย และในระยะถี่ ถ่าง ห่าง สั้นแบบนั้น ผมค่อนข้างมั่นใจว่าภาพถ่ายคงใช้ได้ระดับหนึ่งแน่ ๆ จึงไม่ได้เปิดภาพเพื่อเช็ค แต่รีบเงยหน้าขึ้นไปบนสะพานเดินเรือยกมือไหว้กัปตันยันทีมงานทุกคนที่ช่วยเหลือกันอย่างถึงที่สุด

           นกบูบบีสีน้ำตาลมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sula Leucogaster ชื่อชนิดนี้มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ Leuc, -O หรือ Leukos แปลว่าสีขาว และ gast, =er, -ero, -r, -ro แปลว่าท้อง ความหมายคือ "นกบูบบีที่ท้องมีสีขาว" พบครั้งแรกที่ทะเลแคริบเบียน มีการกระจายพันธุ์ในมหาสมุทรเขตร้อนและกึ่งร้อน

           ครับ...สำหรับผมแล้วถือได้ว่าบรรลุเป้าหมายของการรอนแรมในเที่ยวเดินทางนี้เกินกว่าครึ่งแล้ว ที่เหลือก็แล้วแต่โชคชะตา คืนนั้นผมรู้สึกผ่อนคลายอย่างบอกไม่ถูก ทว่าในขณะที่ทีมสำรวจทุกคนกำลังลองกันด้วยน้ำหวาน (น้ำหวานจริง ๆ ที่ท้ายเรือกัปตันวิโรจน์กลับมีสีหน้าเครียดอย่างเห็นได้ชัด สักครู่เขาก็เดินลงมาบอกี่นพ (ช่างเครื่อง) และเจ้าปาด (กะลาสีเรือ) ให้รีบถอนสมอเรือ เขาจูงเรือฝ่าความมีดราวสี่ทุ่มเศษเพื่อหาเหลี่ยมหลบลมพายุที่คาดว่าจะเข้าประชิดเรือของเราในช่วงก่อนรุ่งสาง

           สำหรับกัปตันที่อ่านน้ำ จำฟ้าได้แบบพี่วิโรจน์นั้น หากเขาตัดสินใจย้ายเรียกกลางดึกย่อมต้องมีเหตุผลที่สำคัญจริงๆ และผมก็เชื่อมั่นในสิ่งที่เขาทำ

           เช้ามีดของวันที่หก พายุหลงฤดูก็เข้ากระหน่ำอันดามันในซีกที่เราเดินทางมาจาริกจริงๆ คลื่นลูกโดยกเรือเราสูงขึ้น และทุ่มลงเหวน้ำสีคล้ำจนกัปตันหน้าเสียอยู่หลายครั้ง เส้นแสงของสายฟ้าที่กรีดผ่าโค้งฟ้าที่ทึบทึมลงมาเป็นเส้นตรงนั้น ทำให้เหมือนกลางวันกับกลางคืนนั้นห่างกันแค่พริบตา เราทุกคนถูกสะกดให้ต้องจำศีลอยู่ในเคบินเรือ แต่การทำแผนที่ใต้น้ำก็ยังต้องดำเนินต่อไป เรือของเรายังรักษาเส้นทางวิ่งตัดสันคลื่นลูกแล้ว ลูกเล่าสู่หมู่เกาะอาดัง-ราวี

           บ่ายแก่ ทั้งคนทั้งเรือต่างก็สะบักสะบอมไปตาม ๆ กัน หลังจากถูกคลื่นลมตบดีมากกว่าสิบชั่วโมง มันทำให้ทีมงานตัดสินใจยุติภารกิจเร็วกว่าทุกวันเพื่อเข้าไปจอดหลบลมนอนที่ท้ายเกาะปุโหลน

           เข้าสู่วันที่เจ็ด สภาพอากาศในช่วงเช้ายังเหมือนเมื่อวานนี้ วัชระพยายามที่จะออกมาส่องหานกให้ในบางจังหวะที่ฝนบางเม็ด แต่ก็ไม่ประสบผลเท่าใดนัก นอกจากหอบสภาพของคนเมาคลื่นกลับเข้าไปในเคบิน ช่วงบ่ายสภาพอากาศเริ่มดีขึ้น คลื่นลูกโตมากลดระดับมาเป็นคลื่นลูกเตี้ย ขณะที่สายลมก็เบาลงจนคนที่ออกมานอกเคบินไม่กลัวจะปลิวตกน้ำ ทว่าท้องฟ้าก็ยังครึ้มขึ้นราวกับคนอมทุกข์ วันนี้เรือของเราจะสำรวจเลาะริมตะเข็บน่านน้ำไทยแถว ๆ หมู่เกาะอาดัง-ราวี ก่อนที่จะวกกลับคืนฝั่งโดยจะค้างแรมกลางทะเลที่บริเวณเกาะรอกเหมือนขาล่องลงมา

           "วันที่เจ็ดเราพบนกบูบบีสีน้ำตาลในระยะไกลหกตัวแถวริมน่านน้ำไทย และมีโอกาสเห็นนกสกัวหางช้อน (Pomarine Jaeger) ๔ ตัวใกล้ ๆ กับจุดแรก"

           วันสุดท้ายของเที่ยวเดินทาง อากาศเปิดตอนที่เรือของเราวิ่งอยู่บริเวณหมู่เกาะพีพี ช่วงแดดสายเราพบนกสกัวหางยาวลอยตัวอยู่ในน้ำสิบตัว อีกทั้งนกโจรสลัดเกาะคริสต์มาสอีกสองตัว และนกโจรสลัดใหญ่อีกหนึ่งตัว เที่ยวเดินทางนี้กำลังจะจบลงรอยยิ้มจากหลาย ๆ คนในเรือเริ่มปรากฏให้เห็น ส่วนหนึ่งสาละวนกับการเก็บเสื้อผ้าใส่เป้ ที่เหลือก็เตรียมเก็บเครื่องมือทุกชิ้นที่ใช้ในการออกสำรวจ แต่สำหรับผมและวัชระยังคงยืนรับสายลมเย็น แช่แดดอ่อน เพื่อค้นหานกที่เราคาดว่าน่าจะเจออย่างพวก

จาริกมหาอันดามัน



           นกจมูกหลอดและนกร่อนทะเล

           แต่ก็อีกนั่นแหละ มันก็แค่พยายาม

           ทันทีที่เรือแตะขอบสะพานแหลมพันวา ผมก็หันไปบอกกับวัชระว่า

           "นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของเราเท่านั้น หมดหน้ามรสุมแล้วเราจะออกมาเติมเต็มข้อมูลกันอีกอย่างแน่นอน แม้ว่าจะมีอุปสรรคสักเพียงใด เราก็จะทำให้เกิดเที่ยวเดินทางในการสำรวจครั้งต่อไป"

           วูบหนึ่งของความคิด

           คุณดวงดาว สุวรรณรังสี เริ่มต้นการเดินทางสำรวจจากจุดเริ่มเพียงแค่คำบอกเล่าของชาวเล ในขณะที่ผมเองนั้น โดนแรงเหวี่ยงจากภาพถ่ายและตัวอักษรที่คุณดวงดาว เธอถ่ายทอดออกมาอย่างเต็มแรง จนเวลาค้างแรมบนโลกส่วนหนึ่งของผมหมดไปกับการเดินทาง แล้วถ้าหากจะมีใครสักคนหรือสิบคนออกเดินทางเพราะเรื่องราวเล็ก ๆ ที่ผมต่อยอดมาจากการแรมทางของนักสำรวจรุ่นบุกเบิก

           ผมคงหัวใจฟู

           ขอขอบคุณ กรมประมง
           กัปตัน ลูกเรือ และนักวิจัยทางทะเลทุกท่าน


           คู่มือนักเดินทาง

           กลุ่มนกโจรสลัด

           สามารถหาดูได้ที่หมู่เกาะพีพี ซึ่งประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ ๖ เกาะ และมีจำนวนนกมากกว่าเกาะอื่น ๆ ในทะเลอันดามัน

           สถานที่ตั้ง หมู่เกาะพีพีถูกจัดให้รมอยู่ในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อำเภอเมืองฯ จังหวัดกระบี่ เกาะพีพีมีชื่อเดิมว่า "ปูเลาปิอาปิ" คำว่า "ปูเลา" แปลว่าเกาะ คำว่า "ปิอาปิ" แปลว่าต้นไม้ทะเลชนิดหนึ่งจำพวกแสมและโกงกาง ต่อมาเรียกว่า "ต้นปีปี" ภายหลังเลยกลายมาเป็น "พีพี" ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งบุปผาได้สมุทร

           หมู่เกาะพีพีอยู่ห่างจากชายฝั่งกระบี่ประมาณ ๔๒ กิโลเมตร ลักษณะทั่วไปเป็นเวิ้งอ่าวรูปครึ่งวงกลม อยู่ในวงล้อมของภูเขาหินปูนอันสูงชันจนเกือบเป็นทะเลใน หรือที่ชาวเลเรียกว่า "ปิเละ" หมู่เกาะพีพีประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ ๖ เกาะ คือ พีพีดอน พีพีเล เกาะปิดนอก เกาะปิตะใน เกาะยูง และเกาะไม้ไผ่

           การเดินทาง เส้นทางแรก ขึ้นเรือโดยสารที่ท่าเรือเจ้าฟ้าหรืออ่าวนาง ระยะทาง ๔๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมง เส้นทางที่สอง ขึ้นเรือที่ท่าเรือฉลอง อ่าวมะขาม จังหวัดภูเก็ต ใช้เวลาเดินทางใกล้เคียงกับเส้นทางแรก พอถึงเกาะสามารถเช่าเรือหางยาวดูนกรอบ ๆ เกาะต่าง ๆ ได้

           ช่วงเวลาที่เหมาะสม เดือนตุลาคม-เมษายน

           ที่พักและร้านอาหาร บนเกาะพีพีตอนมีให้เลือกหลายแห่ง ที่พักราคาตั้งแต่ ๘๐๐ บาทขึ้นไป


           กลุ่มนกบูบบีและนกสกัว

           สามารถหาดูได้ที่บริเวณหมู่เกาะอาดัง-ราวีและเกาะหลีเป๊ะ แต่ต้องออกเรือไปในทะเลที่ไกลจากเกาะมาก เพราะนกชนิดนี้ค่อนข้างจะรักสันโดษ

           สถานที่ตั้ง เกาะอาดัง-ราวีอยู่ในเขตจังหวัดสตูล ถูกจัดรวมอยู่ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ประกอบไปด้วยเกาะ เกาะอาดัง-ราวีนั้นอยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๔๐ กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองสตูล ๖๐ กิโลเมตร มีเกาะบริวารน้อยใหญ่ เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะหินงาม เกาะยาว เกาะหินซ้อน และเกาะจาบัง

           เกาะอาดังมาจากคำว่า "อุดัง" มีความหมายว่าอ "กุ้ง" เพราะสมัยก่อนบริเวณเกาะเคยอุดมไปด้วยกุ้งทะเล เกาะอาดังเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ที่ ตต. ๕ (แหลมสน-เกาะอาดัง) มีเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ตารางกิโลเมตร บนเกาะมีธรรมชาติและหาดทรายอันสวยงาม ส่วนเกาะหลีเป๊ะ อยู่ห่างจากเกาะอาดังประมาณ ๒ กิโลเมตร

           การเดินทาง นั่งเรือโดยสารจากท่าเรือปากบารา-อาดัง-หลีเป๊ะ เรือออกจากท่าทุกวันเวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา และแวะที่เกาะตะรุเตาก่อนจึงค่อยเดินทางต่อไปยังเกาะอาดังพอถึงเกาะอาดังสามารถหาเช่าเรือเพื่อออกไปดูนกได้

           ช่วงเวลาที่เหมาะสม เดือนตุลาคม-เมษายน

           ที่พักและร้านอาหาร บนเกาะอาดังมีที่พักให้บริการ สามารถติดต่อบ้านพักหรือกางเต็นท์ได้ที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ส่วนบนเกาะหลีเป๊ะก็มีที่พักและร้านอาหารของเอกชนหลายแห่ง

           สิ่งที่ควรนำติดตัวไป กล้องส่องทางไกล หนังสือคู่มือดูนก เช่น Seabirds An Identification Guide, A Field Guide to the Birds of Thailand and South-East Asia


แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


หนังสืออสท.ปีที่ 50 ฉบับที่ 9 เมษายน 2553




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จาริกมหาอันดามัน อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:36:53 1,477 อ่าน
TOP