x close

เที่ยวสนุก ปลอดภัย ไร้กังวล

ท่องเที่ยว

 

เที่ยวสนุก ปลอดภัย ไร้กังวล (คู่หูเดินทาง)

           ฉบับนี้ มร.โจแชป กะว่าจะเข้าครัวชวนคุณๆ มานวดลิ้นกันด้วย เมนูโคขุนจิ้มแจ่วสูตรใหม่จากเมืองสกลฯ ซะหน่อย พอดีงานเข้า...แม่หลานสาวคนโปรดของคุณนายติ่ง เธออยากไปนอนตากลมทะเลที่หัวหินสักสองสามคืน เมนูโคขุนของคุณตาปากตะไกรคนนี้เลยมีอันต้องเป็นหมันเอากลางอากาศ

           เดาว่าห้วงเดือนนี้เด็กๆ ส่วนใหญ่คงพากันปิดเทอมหมดแล้ว และหลายๆ บ้านก็คงถูกเหล่านลิงทะโมนทั้งหลายรบเร้าให้พาไปเที่ยวเช่นเดียวกับครอบครัว มร.โจแซป อ่ะนะครับ..เด็กกับทะเลมันของคู่กันเหมือนเศษเนื้อติดฟันกะไม้จิ่มแค่วนั่นล่ะ (ฮ่า..) 

           งั้นฉบับนี้เรามาว่ากันถึงประเด็นเรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับการยกโขยงพาสมาชิกในครอบครัวไปเที่ยวไกลๆ กันดีกว่า หลายคนอาจตั้งท่าสงสัย.. จะเตรียมไปทำไม? ก็แค่ยัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋า-สตาร์ทเครื่องเท่านี้ก็พากันห้อไปไหนได้ไกลแล้ว เอ้า..ก็เพื่อประกันความเซ็งและความผิดหวังไง ขอรับพ่อคุณ ไปเที่ยวในช่วงเทศกาลงานรื่นเริงอย่างเดือนนี้มันสนุกเสียที่ไหน ถ้าต้องไปแย่งกันกินแย่งกันนอนกับครอบครัวอื่นๆ เผลอไผลไม่มีที่หลับที่นอนให้เด็กๆ และแม่ของเด็ก มันล่ะก็คุณเอ๋ย.. แล้วจะรู้ว่านรกมีจริง!?! 

           เอางี้.. ผมจะสรุปเป็นชั้นเป็นข้อให้คุณเอาไปต่อ ยอดตามความถนัดได้ง่ายๆ อย่างนี้ดีกว่า

           อันดับแรกเราต้องประเมิน-ประมาณค่าใช้จ่ายทริปนั้นไว้คร่าวๆ ให้ได้เสียก่อน

           แบ่งเป็นค่าที่พักและค่าเดินทางสัก 50% (หากเช็คราคาไปก่อนล่วงหน้าจะดีที่สุด บางครั้งการจองโรงแรมที่พักผ่านทางเว็บไซต์ของเขา อาจได้ราคาที่ประหยัดกว่ามากทีเดียวรวมถึงต้องประเมินค่าตั๋วโดยสารสำหรับการเดินทาง หรือค่าน้ำมันเอาไว้ด้วยกรณีที่ขับรถไปกันเอง)

           ตั้งงบค่าอาหารไว้สัก 25% (ส่วนงบลับค่าไวน์ กระแช่ หรือสาโทก็ว่ากันไป)

           อย่าลืมเจียดค่าใช้จ่ายสำรองฉุกเฉินไว้ในกรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางไว้ด้วยสัก 15%

           ที่เหลือตั้งไว้เป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะ (ค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการท่องเที่ยว, ค่าเข้าสถานที่สำคัญ, ค่าของฝากของที่ระลึก) อีกสัก 10%

           Trick & Tip

           ให้ดีแนะนำว่าควรแยกเงินออกไว้เป็นสองหรือสามส่วนโดยเก็บเอาไว้คนละที่ (แต่อย่าให้มั่วกับค่าใช้จ่ายส่วนตัว) อาจแยกเป็นกระเป๋าสตางค์ใหญ่และเล็กเอาไว้ เผื่อเกิดการสูญหายจะได้มีเงินสำรองติดตัว (ไม่งั้นได้กินข้าวลิงแน่) หากเดินทางเพียงลำพังต้องหมั่นคอยสังเกตผู้คนรอบข้างระหว่างการเดินทางไว้บ้าง จะได้ไม่หลงกลโจรโจราที่
ประสงค์ต่อทรัพย์สินในตัวคุณ

           สิ่งสำคัญที่ควรนำติดกระเป๋าเดินทางไปด้วย

           นอกจากเงิน เสื้อผ้า และของใช้ส่วนตัวแล้ว หยูกยาต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ ยาแก้ท้องเสีย ยาดม โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวอย่าลืมยาประจำตัวเด็ดขาด เพราะอาจหาซื้อไม่ได้ในต่างถิ่นยามฉุกเฉิน รวมทั้งควรพกบัตรโรงพยาบาลหรือบัตรรับรองสิทธิในการรักษาพยาบาลเอาไว้ด้วย

           เขียนหรือพริ้นต์เบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานสำคัญต่างๆ ใส่กระดาษแล้วพับเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์เผื่อกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน

           บัตรประชาชน พาสปอร์ต หรือเอกสารสำคัญ รวมทั้งบัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม และโทรศัพท์มือถือ ควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัยใกล้ๆ ตัวเสมอ และควรถ่ายสำเนาบัตรประชาชน และเอกสารสำคัญเก็บไว้อีกที่ด้วย เผื่อกรณีฉุกเฉิน (ข้อนี้อาจดูวุ่นวาย.. แต่นึกถึงตอนที่มันหายไว้แล้วกัน!?!)

           กรณีขับรถยนต์ไปเที่ยวกันเอง ไม่ควรลืมตรวจเช็คสิ่งเหล่านี้

           ลมยาง ล้ออะไหล่ อุปกรณ์ถอด-เปลี่ยนล้อ เชือก/สายลากรถไฟฉาย และสายพ่วงแบตเตอรี่

           เช็คระดับน้ำมันเครื่อง ระดับน้ำในหม้อน้ำ ระดับน้ำมันเบรก ระดับน้ำมันคลัตช์ ระดับน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ และระดับน้ำยาล้างกระจก

           ควรเติมน้ำมันให้เต็มถังก่อนออกเดินทางทุกครั้งเสมอ หากต้องเดินทางไกลหรือไปในถิ่นทุรกันดารควรเตรียมถังน้ำมันสำรองไปด้วย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือคู่หูเดินทาง ปีที่ 2 ฉบับที่ 20 เมษายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวสนุก ปลอดภัย ไร้กังวล อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:27:02
TOP