x close

ขุนเขาและผู้คนบนเส้นทาง เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว


ขุนเขาและผู้คนบนเส้นทาง เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน (อสท.)

ธเนศ งามสม...เรื่อง โสกณ บูรณประพฤกษ์...ภาพ

          หรือโดยแท้แล้วการเดินทางทั้งเป็นผู้มอบและดูดซับบางอย่างไปจากเรา ผมทบทวนคำถามนี้ขณะหยุดพักรถที่ "กิ่วลม" ระหว่างทางแม่ฮ่องสอน-ปาย 6 วันที่แล้วผมเริ่มต้นเดินทางจากเชียงใหม่ จากบางสิ่งที่นั่นมาด้วยอารมณ์มากหลายหนทางจากตัวเมืองไป ดอยอินทนนท์ ช่างยาวไกล ถนนคดโค้งทอดยาวและคำว่า "การเดินทาง" คล้ายพรากบางสิ่งให้ออกห่างราวไม่มีวันหวานคืบ...


่ดอยอินทนนท์


ขุนเขา

          ณ จุดซึ่งสูงสุดของบ้านเรา ดอยอินทนนท์ ให้ความรู้สึกว่าตนเองช่างเล็กจ้อย ทั้งให้อารมณ์รับรู้ว่าอยู่ไกลห่างเหลือเกินจากเบื้องล่าง

          อุณหภูมิลดต่ำเหลือ  4 องศาเซลเซียส ดอกบอบบางของกุหลาบป่าจับด้วยน้ำค้างเย็นเยือก ผมกระชับเสื้อเชิ้ตเข้ากับตัว ออกเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา เดินไปเพียงไม่กี่ก้าว คล้ายเวลาหมุนกลับไปในยุคโลกเก่า ต้นไม้เกาะคลุมด้วยมอส เฟิร์น ไลเคน ฝอยลมระโยงรยางค์ราวกับหนวดเคราของต้นไม้ชรา เสียงนกเล็ก ๆ ร้องกังวานใส ฝูงนกกะรางหัวแดงหาอาหารอยู่ริมลำธาร นกกินปลีหางยาวเขียนแวะมาดูดน้ำหวานในดอกไม้ มันเข้ามาใกล้เสียจนมองเห็นเส้นขนเหลือบงามหลากสี

          ผมหยุดนิ่งเฝ้ามอง นี่คือความพิเศษที่ภูเขาแห่งนี้เสกสรร ด้วยความสูงที่พอดี สภาพป่าและอากาศอันพอเหมาะ ทำให้ชีวิตซึ่งพบได้เพียงที่นี่ถือกำเนิดขึ้น โมงยามนั้นผมรับรู้ได้ว่าภูเขาช่างยิ่งใหญ่เกินจับต้อง ภูเขาช่างยิ่งใหญ่ ทว่า เอื้อพื้นที่เล็ก ๆ ให้ชีวิตบางชีวิตได้เติบโต และเช่นกัน ราวกับว่าภูเขาฝากฝังอีกชีวิตให้อยู่ร่วม พึ่งพา และดูแล


ดอยอินทนนท์


          แดดอุ่นเริ่มฉายส่อง ความชื้นปรากฏเป็นม่านหมอกสุดสายตาทิวเขาเลือนราง สายหมอกลอยเคลียเรือนยอดไม้ ราวกับพวกมันโอบกอดทักทายกัน จากป่าโบราณบนยอดดอย ที่ซึ่งหยดน้ำค่อย ๆ ผุดซึมจากผืนดิน รากต้นไม้ ผมออกเดินตามลำธารสายน้อย ค่อย ๆ ลดระดับความสูงมายังปากทางเข้า "กิ่วแม่ปาน"

          ในหุบดอย ลำธารสายน้อยไหลรวมเป็นสายธารชัดเจน บรรดาต้นไม้ได้พึ่งพาอาศัย พวกมันที่เติบโตอยู่ริมสายธารล้วนมีขนาดใหญ่ห่มคลุมความสมบูรณ์ด้วยมอสและเฟิร์นสีเขียนสด รอยทางเล็ก ๆ ทอดเข้าไปในหมู่ไม้ ตัวเราเป็นจุดเล็ก ๆ ในอุโมงค์สีเขียวอันกว้างใหญ่ เมื่อลมพัดผ่าน อากาศเย็นชื่นก็ล่องลอยคล้ายต้นไม้ระบายลมหายใจ ราวกับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ รอยทางทอดออกมาพบทุ่งกว้างทุ่งโล่งกว้างซึ่งประดับด้วยพรรณไม้เล็ก ๆ อย่างหญ้าหนวดฤๅษี มะแหล็บ กูด หนาดคำน้อย

ดอยอินทนนท์


          ที่จุดชมทิวทัศน์ กิ่วแม่ปาน ลมหนาวพัดหวีดหวิว ท้องฟ้ากระจ่างใส หน้าผาทั้งด้านเหนือและใต้ชันดิ่งลึกลิ่ว มีเพียงหญ้าและไม้พุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามซอกผา ผมรับรู้ว่านี่คือบ้านอันปลอดภัยของ กวางผา 1 ในสัตว์สงวน 15 ชนิดของบ้านเรา ชีวิตซึ่งเหลือประชากรอยู่เพียงน้อยนิด

          จากจุดชมทิวทัศน์ ผมค่อย ๆ ไต่เลาะหน้าผาลงไป ถึงพุ่มกุหลาบพันปีซึ่งมีพื้นที่ราบ ๆ ผมหย่อนตัวลงนั่ง ยกกล้องส่องทางไกลกวาดไปตามแนวหน้าผา ในความเงียบที่มีเพียงเสียงลมพัดหวีดหวิว ต่ำลงไปราว 100 เมตร ตรงหน้าผาเรียบโล่ง พวกเขาอยู่ที่นั่น บ้างยืนนิ่งมองไปข้างหน้าบ้างนอน บ้างเดินหาอาหาร พวกเขามีจำนวน 6 ตัว ตัวใหญ่สุดคล้ายเป็นจ่าฝูง เดินหาอาหารพลางมองสำรวจไปรอบ ๆ ขณะตัวเล็กสุดนอนพักผ่อนได้ร่มไม้ มองผ่านกล้องส่องทางไกล พวกเขาดูเหมือนกวางตัวเล็กโครงหน้าเรียวกับเขาเล็กแหลมคู่นั้นทำให้ดูแตกต่างขึ้นบ้าง

          กล่าวได้ว่า พวกเขาคือชีวิต "พิเศษ" เติบโตและอาศัยอยู่บนหน้าผา อาหารหลัก ๆ คือพืชบางชนิดที่เติบโตได้บนภูมิประเทศเช่นนี้ จะมีสถานที่สักกี่แห่งบนโลกซึ่งเหมาะสมสำหรับพวกเขา หน้าผา ชันดิ่งสูงลิ่ว ที่ซึ่งอุดมด้วยอาหาร ปลอดภัยจากอันตรายคุกคาม

          ยืนอยู่ริมหน้าผา ผมรับรู้ได้ว่าภูเขาช่างยิ่งใหญ่เกินจับต้อง ภูเขาช่างยิ่งใหญ่ ทว่าเอื้อพื้นที่เล็กๆ ให้ชีวิตบางชีวิตได้เติบโต และเช่นกัน ราวกับว่าภูเขาฝากฝังอีกชีวิตให้อยู่ร่วม พึ่งพา และดูแล ภาพของภูเขาในโมงยามนั้น ทำให้ผมค่อย ๆ เข้าใจนิยามคำว่า "ผูกพัน"


ิ่กิ่วแม่ปาน

หุบเขา

          ทางหลวงหมายเลข  1192 นำเราลงจากจุดซึ่งสูงสุด บ่ายโมงแล้ว ทว่า ถนนยังมีหมอกคลุม ลดกระจกรถลง ลมเย็นชื่นพัดมาลูบไล้ใบหน้า ราวกับคำทักทายและเอ่ยลา ถนนคดโค้งทำให้เราเลือกที่จะไปช้า ๆ ความคดโค้งไม่เพียงหมายถึง "อันตราย" หากยังบอกนัยความหมายหลายอย่างไปพร้อม ๆ กัน เป็นสิ่งจริงแท้ ทุกคดโค้งใน "เส้นทางชีวิต" ล้วนมีความหมายและจริงแท้เช่นกันที่เราไม่อาจะเลี่ยงโค้งเหล่านั้นได้เลย มีเพียงสติที่ช่วยประคองให้เดินทางไปถึงจุดหมาย ระหว่างทาง หากพลาดพลั้ง สิ่งที่เกิดมีทั้งบาดเจ็บเล็กน้อยไปจนถึง "สูญเสีย" ทำชีวิตที่วาดหวังหล่นหาย...

          ตะวันค่อย ๆ คล้อยลับ ทิวดอยมองเห็นเป็นเส้นซับซ้อนเลือนราง เย็นแล้วที่เราลงมาถึงอำเภอแม่แจ่ม ผ่านย่านชุมชนเงียบสงบข้ามแม่น้ำแจ่มสายย่อม ราวอึดใจจึงถึง บ้านแม่หลวงโฮมสเตย์ บ้านของมิตรรุ่นน้องที่ผมติดต่อไว้

          "ท็อป" ยืนรออยู่หน้าบ้าน ขณะแม่และ "น้อง" แฟนของท็อปกำลังเตรียมมื้อเย็นให้พวกเรา หลังอาหารพื้นเมืองรสดี เรานั่งพูดคุยตรงมุมรับแขกชั้นล่างเก้าอี้ไม้สี่ห้าตัวกับฉากหลังซึ่งประกอบด้วยภาพถ่ายนับร้อย-ภาพถ่าย มีความหมาย ทั้งหมดเป็นฝีมือของท็อปและแรงใจจากหญิงสาวคู่ชีวิต

          บรรยากาศอบอุ่น เราไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ พูดคุยเรื่องทั่วไป ดูภาพถ่ายแล้วแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกัน คนเดินทางมาพบกัน เรื่องราวจึงไม่พ้น "การเดินทาง"

          "พี่เดินทางมาระยะหนึ่ง เคยรู้สึกชัดเจนไหมว่าชอบสถานที่ใดมากเป็นพิเศษ" ชายหนุ่ม ถาม

          ยอมรับว่าเป็นคำถามที่ตอบยากเหลือเกิน ทว่า ที่ชัดเจนคือ ไม่เพียงสถานที่ "ผู้คน" ที่เราพบเจอและสัมผัสสัมพันธ์ดูจะช่วยส่งให้สถานที่นั้น ๆ อยู่ในความทรงจำเนิ่นนาน

          ค่ำคืนแม่แจ่มห่มหมอกหนาวเย็น อุณหภูมิค่อย ๆ ลดต่ำ ล่วงเช้าอากาศยิ่งหนาวยะเยือก ม่านหมอกโรยตัวห่มคลุมเมือง พระและเณรก้าวเดินบิณฑบาต แม่เฒ่าสวมเสื้อขาว ห่มผ้าสไบขาว มุ่มมวยผมประดับดอกไม้ บรรจงตักข้าวสวยถวาย พระและเณรค่อย ๆ ค้อมตัวลงรับ ภาพเบื้องหน้าทำให้ผมนึกถึงคำว่า "สะอาด"

          ความเป็นเมืองในหุบเขา การเดินทางไม่สะดวกสบาย ผู้คนและหลายสิ่งจากในเมืองมาเยือนเบาบาง เหล่านี้กระมังที่ช่วยให้แม่แจ่มรักษาบางอย่างได้ ขาดพร่องบางอย่าง ทว่า ยังคงบางอย่างไว้...

          ม่านหมอกห่มเมืองแลเลือนราง ท็อป พาเราขึ้นไปชม หุบแม่แจ่ม บน ดอยม่อนหมาก ลมหนาวพัดกรูเกรียวผ่านทุ่งหญ้าและต้นไม้ เวลา 06.22 น. หุบแม่แจ่ม ห่มคลุมด้วยทะเลหมอกสีน้ำนมดวงไฟในเมืองวามวาวราวกับดวงดาวใต้เมฆ ดอยอินทนนท์ ตระหง่านเงื้อมอยู่เบื้องหลัง คล้ายดั่งอาณาจักรศักดิ์สิทธิ์ ราวกับภาพลวงตา ม่านหมอกค่อย ๆ ละลาย แดดอุ่นฉายส่อง

          เรากลับลงมาในหุบเขา ผ่านไร่หอมซึ่งกำลังมีกิจกรรม พวกผู้ชายหอบฟางข้าว ผู้หญิงช่วยกันเรียงฟางข้าวกลบหัวหอมที่เพิ่มลงดิน

แม่แจ่ม

          ในแม่แจ่ม เกษตรกรรมคืออาชีพหลักเลี้ยงชีวิต นอกจากข้าวโพด หอม คือรายได้อย่างหนึ่ง หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ นาข้าวจะถูกปรับเป็นไร่หอม บ้างก็ลงมันอะลู-มันฝรั่ง เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

          ผ่านไร่หอมและที่ราบในหุบเขา ชายหนุ่มพาเราข้ามแม่น้ำแจ่มไปทางฝั่งอำเภอ หญิงชาวปกากะญอสวมชุดประจำเผ่าเดินมาซื้อของในตลาด เณรสี่ห้ารูปเดินตัดทุ่งนาไปโรงเรียนปริยัติธรรม ที่วัดป่าแดด เราเข้าไปดูภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ในพระอุโบสถ ภาพเล่าเรื่องราวพุทธประวัติและวิถีชีวิตชาวแม่แจ่ม หญิงนุ่งซิ่นตีนจกงดงาม ชายสวมกางเกงขาสั้น เปลือยอกเผยลวดลายรอยสัก

          จากวัดป่าแดด ชายหนุ่มพาไปเยือน วัดยางหลวง เราเข้าไปในวิหาร นมัสการองค์พระประธานแล้วทอดตามอง "ภาพสะท้อน" พระอุโบสถซึ่งเกิดจากแสงลอดผ่านบานหน้าต่าง ภาพปรากฏชัดเจน ทั้งรูปทรงและสีสัน การจะเกิดภาพเช่นนี้ได้แน่นอนว่าทุกอย่างต้องสัมพันธ์กัน ทั้งระยะห่าง ตำแหน่ง แสง และคงมีเหตุผลเช่นกัน ที่บานหน้าต่างจะเผย "ช่องว่าง" ให้ใครสักคนมาพบความลับนี้

          ช่วงบ่าย ท็อป พาเราไปเยือน เรือนสล่าอาวุโส เรือนของ พ่อเฒ่ากอนแก้ว อินต๊ะก๋อน อยู่ไม่ไกลจากวัดยางหลวง ที่ใต้ถุนบ้าน พวกผู้หญิงง่วนอยู่กับงานทอผ้า-ผ้าชิ่นตีนจกลายงดงาม พ่อเฒ่าเชื้อเชิญเราขึ้นเรือน ชวนไปนั่งพูดคุยตรง "ห้องทำงาน" มุมหนึ่งของเรือน ริมหน้าต่างซึ่งเปิดรับแดดอุ่น บนพื้นไม้มันเลื่อม พ่อเฒ่าหยิบไปป์ไม้เก่าแก่ขึ้นจุดสูบ พลางหยิบ "เครื่องมือทำปิ่น" รอบตัวขึ้นมาเริ่มงานอย่างเคยมือ

          ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ  83 แล้ว ทว่า ยังทำงานที่ตนรักทุก ๆ วันเหมือนเมื่อครั้งยังหนุ่ม

          "บ่มีครู เอาของเก่าเปิ้นมาดู เมื่อน้อย ๆ เริ่มจากซ่อมปิ่นก่อน" พ่อเฒ่า เล่า

          นอกจากปิ่นแล้ว เมื่อยังหนุ่ม พ่อเฒ่ายังรับซ่อมตุ้มหู ซ่อมปืนยามวัดมีงาน พ่อเฒ่าไม่ลังเลที่จะไปร่วมแรง ฝีมืองานไม้ของพ่อเฒ่าช่วยให้วัดหลายแห่งดูงดงาม ใครบางคนเล่าว่า นอกจากฝีมือทางเชิงช่าง พ่อเฒ่ายังเล่นดนตรีได้หลายชิ้น โดยเฉพาะซอและปี่ บทเพลงพื้นบ้านอันไพเราะเกิดขึ้นบนเรือนนี้

          ระหว่างพ่อเฒ่าลงมือทำงาน บางคราวผมมีคำถาม และบางคราวนั่งมองเงียบ ๆ ด้วยความเพลิดเพลิน แม้ตาจะฝ้าฟางตามวัย ทว่า มือนั้นยังเที่ยง คล่องแคล่ว รอบ ๆ ตัวพ่อเฒ่ามีเครื่องมือมากมายวางเรียง ด้านหลังเป็นตู้ไม้ ในนั้นบรรจุหนังสือธรรมะ เครื่องดนตรี กับรูปถ่ายเก่า ถัดกันเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่าคร่ำ ซึ่งครั้งหนึ่งคงเคยขับลำนำให้เจ้าของขณะทำงาน ถัดจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง เคียงข้างพ่อเฒ่าคือ แม่สุข ภรรยาคู่ชีวิต แม่กำลังปั่นฝ้าย

          โมงยามนั้น แม้เครื่องเล่นแผ่นเสียงจะชำรุดมานานแล้ว ทว่า คล้ายผมได้ยินบทเพลงล่องลอย บทเพลงอันงดงาม บทเพลงชีวิต

เมืองไกล

          เราจาก แม่แจ่ม มาในยามบ่าย ลมหนาวโบกโบยทักทายแดดอุ่น ล่ำลา ท็อป และครอบครัว เราใช้ทางหลวงหมายเลข 1263 บ่ายหน้าไปทางอำเภอขุนยวม โดยมีปลายทางที่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ถนนคดโค้งทอดยาว ทิวเขาซับซ้อน ดอยอินทนนท์ ค่อย ๆ คล้อยลับจากสายตา

          "ใครบางคนบอกผมว่า การเดินทางช่วยให้จิตใจกระจ่างขึ้นภาพถ่ายดี ๆ ทำให้เราจดจำเรื่องราวระหว่างเดินทางได้" คุณหมอเรวัต นิพัทธโกศลสุข มิตรร่วมทางอาวุโส เอ่ยขึ้นขณะเราหยุดพักรถช่วงหนึ่ง นั่นเองที่ทำให้ผมเริ่มทบทวนความหมายเนื้อแท้ของ "การเดินทาง"

          ถนนคดโค้งทอดยาว ทิวเขาซับซ้อน ตะวันคล้อยต่ำขณะเรามาถึงบ้านแม่นาจร ที่จุดพักรถ "กิ่วลิโพ" ทั้งถนนและทิวเขาดูน่าชม ที่ศาลาริมทางจุดซึ่งถนนตัดผ่านช่องเขา ชายหนุ่มสองคนขี่มอเตอร์ไซค์มาทำธุระสำคัญพวกเขาผลัดกันใช้โทรศัพท์มือถือ ปลายสายอาจเป็นญาติมิตรหรือหญิงสาวสักคน สถานที่ห่างไกลและเหน็บหนาวเช่นนี้ เสียงบางเสียง ถ้อยคำบางคำอาจมีความหมาย อาจทำให้หัว ใจของใครเข้มแข็งและอบอุ่นขึ้นบ้าง...

          ถนนคดโค้งทอดยาว ทิวเขาซับซ้อน เด็ก ๆ เล่นน้ำกันสนุกสนานในลำห้วยสายน้อย ทิวทัศน์งดงาม หมู่บ้านเล็ก ๆ ในหุบดอยลึกลิ่ว แว่วเสียงกระดิ่งวัวดังกรุ๋งกริ๋งไพเราะเย็นใจ ผ่านโรงเรียนชื่อเพราะ "โรงเรียนบ้านห้วยผักกูด" แดดยามเย็นอาบไล้เส้นทาง อาบดอกแมงวาย-สัญลักษณ์ฤดูหนาว ดูขาวพราวสองข้างทาง ตะวันค่อย ๆ คล้อยลับ ทิวดอยสลับซับซ้อนราวไม่มีจุดสิ้นสุด คล้ายเรากำลังพลัดหลงอยู่ที่ไหนสักแห่ง ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีปลายทางชัดเจน...


พระธาตุดอยกองมู


ขุนเขาและผู้คน

          ค่ำแล้วขณะเรามาถึงตัวเมือง แม่ฮ่องสอน อากาศเย็นเยือกห่มเมือง เบื้องบนห่มคลุมด้วยดวงดาว ล่วงสิบปีแล้วที่ผมไม่ได้มาเยือนเมืองไกลแห่งนี้ ภาพความทรงจำเก่า ๆ ดูพร่าเลือน เพื่อน ๆ ร่วมทางต่างเติบโต เปลี่ยนเส้นทางชีวิตของตนตามเหตุผลที่เป็นไป

          เราพักกันที่บ้านเพื่อนของมิตรที่ผมเคารพรัก บ้านเรือนไทยของ พี่ติ่ง-ประสบสุข สุขกิจ ตั้งอยู่บนเนิน อิงแอบแม่น้ำปาย ซึ่งในยามเช้าดูนุ่มนวลด้วยม่านหมอกขาว พักอยู่ที่นี่ เราตื่นกันแต่เช้าตรู่ เข้าไปใส่บาตรในตัวเมือง ขึ้นไปชมทิวทัศน์เมืองบน ดอยกองมู ขณะเดินรอบ พระธาตุดอยกองมู ความทรงจำเก่า ๆ เริ่มปรากฏผุดพราย ครั้งแรกกับการเดินทางเพื่อถ่ายภาพ ทั้งเสียงหัวเราะและความคิดช่างเยาว์วัย โลกงดงามเสียจนมองไม่พบด้านโศกเศร้า

          ลงจาก ดอยกองมู เราแวะไป บ้านปางหมู ชุมชนแรกของชาวไทยใหญ่ที่เข้ามาตั้งรกรากจนกลายเป็นเมืองแม่ฮ่องสอน หลายปีมานี้ บ้านปางหมู ช่วยกันฟื้นฟูวิถีดี ๆ ซึ่งเคยมีอยู่ หนึ่งในนั้นคือการ "อีดน้ำมันงา" ... อีด คือการใช้แรงจากวัวควายหมุนครบดเมล็ดงา น้ำมันที่ได้นั้นใส สะอาด ปลอดสารพิษร้าย

          แม้เราจะไม่ได้ดูการอีด ด้วยวันนี้เป็นวันพระ ชาวไทยใหญ่ถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ งดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ทว่า ผมพบบางอย่างที่สำคัญกว่า บนครกอีด ผมพบ "ก๊อกต่าง" กระทงใส่ข้าวใบน้อยวางอยู่สำหรับชาวไทยใหญ่ ก๊อกต่าง คือการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวาผู้มีคุณทั้งหลาย ทว่า โดยแท้จริงแล้ว ก๊อกต่าง กินความหมายมากกว่านั้น ข้าวสุก ของคาว และของหวานในกระทงใบน้อย หมายถึงน้ำใจ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มันอาจไม่พอครบอิ่ม ทว่า สำหรับคนจรแล้ว ก๊อกต่าง ช่างมีความหมาย

          ระหว่างทางออกจากหมู่บ้าน ผมพบ "น้ำใจ" วางเรียงรายอยู่ตามรั้วบ้าน ในศาลพระภูมิ มุมใดมุมหนึ่งริมทาง ใต้ร่มไม้

          จากบ้านปางหมู เราออกจากตัวเมืองมาถึง ถ้ำปลา และ น้ำตกผาเสื่อ ที่ น้ำตกผาเสื่อ เด็ก ๆ กลุ่มใหญ่เดินทางมาทัศนศึกษา ทุกคนดูร่าเริง หัวเราะพูดคุย  ตื่นใจต่อสถานที่แปลกใหม่ นี่จะเป็นก้าวแรก ๆ ที่พวกเขาได้รู้ว่าโลกนั้นกว้างใหญ่ ในกลุ่มเด็ก ๆ ซึ่งทยอยลงไปดูน้ำตก ผมพบเด็กหญิงกู่ตู่หลู่และเด็กหญิงชนาพร ทั้งสองเรียนอยู่ชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านห้วยเสือเฒ่า หูสองข้างของพวกเธอเจาะเป็นรูกว้างดูสะดุดตา ประดับต่างหูและหินสีตามแบบชนเผ่าปกากะญอ

          ผมขอพวกเธอถ่ายภาพ ทั้งสองยิ้มเขินอาย ขณะแนบตากับช่องมองภาพ จู่ ๆ ในใจเกิดคำถามมากหลาย บนโลกที่ก้าวรุดไปอย่างรวดเร็ว วันข้างหน้าจะมีทางเหลือให้ผู้คน "พิเศษ" เช่นนี้สักกี่มากน้อย...

          เหมือนเช่นทุกวัน ม่านหมอกห่มคลุม อากาศหนาวยะเยือก ที่แม่ฮ่องสอน ชีวิตเริ่มต้นแต่เข้าตรู่ กิจกรรมเริ่มต้นตั้งแต่หมอกยังไม่ละลาย เราเข้าไปใส่บาตรในตัวเมือง ดาวบางดวงยังแขวนค้างบนท้องฟ้า คุณอมรรัตน์ และ น้องฟ้ามุ่ย ลูกสาว ออกมารอใส่บาตรพร้อมกับพวกเรา

          หน้าเรือนไม้เก่าแก่อายุ 112 ปีของครอบครัว คุณอมรรัตน์ เล่าเรื่องราวเก่า ๆ ให้ผู้มาเยือนฟัง

          "สมัยพ่อแม่ท่านเดินทางลำบาก ต้องนั่งช้าง นั่งม้า มาสมัยพี่เริ่มสะดวกแล้ว มีทางรถยนต์ มีเครื่องบินโดยสาร" เรื่องราวเหล่านั้นย้อนกลับไปร่วมสามสิบปีแล้ว ความที่แวดล้อมด้วยทิวดอยซับซ้อนและป่าไม้ อยู่ไกลห่างจากเมืองอื่นจนเรียกได้ว่าโดดเดี่ยว เครื่องบินจึงเป็นพาหนะจำเป็นในการเดินทาง

          แม่ฮ่องสอน เริ่มมีสนามบินตั้งแต่ พ.ศ.2482 โดยบริษัทเดินอากาศ จำกัด ใช้เครื่องบินแบบแฟร์ไซลด์ 4 ที่นั่งบินระหว่างเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน-แม่สะเรียง หยุดให้บริการระยะสั้น ๆ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรับปรุงลานบินและเครื่องบินหลายครั้ง จนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของกรมการบินพาณิชย์ และบริษัทการบินไทย จำกัด เข้ามาให้บริการเมื่อ พ.ศ.2525

          เครื่องบินเป็นช่องทางในการติดต่อกับโลกภายนอกที่รวดเร็วก็จริง ทว่า พาหนะที่นำโลกภายนอกเข้ามารวดเร็วแท้จริงคือทางหลวงหมายเลข 1095 เชียงใหม่-ปาย-แม่ฮ่องสอน

          "พอโทรทัศน์มาถึง หลายอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป" พี่ติ่งให้ความเห็น ด้วยวัยล่วง 50 ผ่านการเดินทางมามากมาย คำพูดของแกทำให้ผมรับฟังและคิดตาม พูดได้ว่า พี่ติ่ง เป็น "คนนอก" คนแรก ๆ ที่เข้ามาใช้ชีวิตในแม่ฮ่องสอนสมัยยังเป็นหนุ่มน้อยวัย 18 แกเคยแบกเป้รอนแรมไปไกลถึง เลห์ ลาดัก สิกขิม ประเทศอินเดีย เนปาลกับปากีสถานก็ล้วนเคยไปเยือน จนวันหนึ่ง เมื่อครั้งขับรถเข้ามาซื้อน้ำมันยางที่นี่เมื่อ 25 ปีก่อน...

          ผมไม่รู้หรอกว่า สถานที่หรือผู้คนที่ทำให้ชายคนหนึ่งค่อย ๆ เดินทางน้อยลง ใช้เวลาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเมืองเล็กห่างไกลเช่นนี้ หรือความเป็นจริง เราไม่อาจรู้เลยว่าการเดินทางจะพัดพาชีวิตไป ยังทิศทางใด คงคล้ายกับชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่ง ทั้งสองเป็นเจ้าของร้านขายเสื้อยืดเล็ก ๆ บนถนนสิงหนาทบำรุง ทั้งสองเรียนจบมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตตามระบบของสังคมเมืองระยะหนึ่ง แล้วเริ่มค้นพบบางอย่าง วันหนึ่งจึงตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตในสถานที่ซึ่งตนปรารถนา

          "เราถอยหลังเพื่อก้าวหน้า" เป็นถ้อยคำอธิบายในหนังสือเล่มเล็ก ๆ ของพวกเขา หนังสือซึ่งบอกเล่าแง่มุมต่าง ๆ ของแม่ฮ่องสอน

          วันสุดท้ายที่เราอยู่แม่ฮ่องสอน ก็ได้ทั้งสองเดินนำทำความรู้จักตัวเมือง จากร้าน "ปาด็อง" ของทั้งสอง เขาและเพื่อน ๆ นำเราไปรู้จักร้านเล็ก ๆ ซึ่งเล่าเรื่องราว แม่ฮ่องสอน-ปาย และการเดินทาง "ภายใน" พาไปชมเรือนโบราณในแบบไทยใหญ่อายุ 123 ปี คุณอวัสดา ไชยศร ทายาทรุ่นที่ 5 และคุณแม่ พาชมตัวเรือนอย่างคนใจดี ความเก่าแก่ของเรือนปรากฏบนพื้นไม้มันเลื่อม ลวดลายไม้ฉลุโบราณแบบไทยใหญ่ ที่เรียกว่า "ฝาลาย"

          เรือนหลังนี้มีโอกาสต้อนรับคนเดินทางมากหลาย ทั้งญาติมิตร ข้าราชการ  พ่อค้าวาณิช ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านหลังนี้เป็นที่พักของทหารญี่ปุ่น ผู้มาเยือนจากไปเนิ่นนานแล้ว ทว่า อักษรญี่ปุ่นที่สลักไว้บนพื้นไม้ยังไม่เลือนหาย

หนทาง

          เราล่ำลามิตรใหม่ในบ่ายซึ่งยังห่มม่านหมอก พี่ติ่ง ร่วมทางมากับเราด้วย ทว่า ปลายทางยังไม่แน่ชัด อาจเป็นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือแค่เพียง ปาย ตะวันคล้อยลับขณะเราเพิ่งผ่านโค้งมาเพียงไม่กี่กิโลเมตร ถึงจุดพักรถกิ่วลม บางสิ่งก็แวบเข้ามารบกวนจิตใจอีกครั้ง

          ลมหนาวเหน็บกระโชกผ่านช่องเขา ผู้คนลงจากรถมานั่งพักพูดคุย วัยรุ่นหลายคู่บ้างขี่มอเตอร์ไซค์ บ้างขับรถสปอร์ตเปิดประทุนขึ้นมาชมวิว เดาได้ไม่ยากว่าพวกเขามาจากปาย

          จากจุดนี้ เราอยู่กลางทางระหว่างเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ด้วยสภาพถนน ถือว่าเราทำเวลาค่อนข้างดีและมาไกลพอสมควรแล้ว ทว่า ใจผมไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น โมงยามนั้น ผมเริ่มนึกถึงบางสิ่งที่ตนจากมา นึกทบทวนและชั่งน้ำหนักว่า "การเดินทาง" กำลังเป็นฝ่ายมอบหรือดูดซับบางอย่างจากผมไป

คู่มือนักเดินทาง

          เส้นทางขับรถเที่ยวเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน สามารถเดินทางเป็นวงกลมได้ ในสารคดีเรื่องนี้ เริ่มต้นจากอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยทางหลวงหมายเลข 1009 พักค้างคืนที่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 2 คืน ช่วงเช้าเราขึ้นไปชมทะเลหมอกบนยอดดอย เดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกากิ่วแม่ปาน บ่าย ๆ ลงไปชิมกาแฟอะราบิกาที่บ้านแม่กลางหลวง ตกค่ำชมการแสดงของน้อง ๆ ชาวม้ง "กลุ่มศิลปวัฒนธรรมเยาวชน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์"

          บนดอยอินทนนท์ นอกจากบ้านพักอุทยานฯ มีที่พักซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างอุทยานฯ กับชาวบ้านรอบ ๆ อินทนนท์อีโคฮัท มีบ้านพัก 20 หลัง คืนละ 300 – 2,500 บาท มีน้ำอุ่นและแคมป์ไฟสื่อความหมาย โทรศัพท์ 08 1881 7346, 08 9952 3327บ้านปกากะญอแม่กลางหลวงมีที่พักแบบโฮมสเตย์ 7 หลัง คืนละ 1,200 – 2,000 บาท ชิมกาแฟอะราบิกาฟรี

          ในอุทยานแห่งชาติแม่วาง ซึ่งเชื่อมต่อกับอินทนนท์ มีจุดน่าเที่ยวแห่งใหม่ คือ กิ่วเสือกระโจน ผาแดง และผาช่อ ลักษณะคล้ายแพะเมืองผี เกิดจากการเปลี่ยนทางของสายน้ำปิงโบราณ สอบถามได้ที่อุทยานฯ อินทนนท์ หรือที่อุทยานฯ แม่วาง โทรศัพท์ 08 1881 4729

          จากอินทนนท์ เราใช้ทางหาลวงหมายเลข 1192 ลงไปอำเภอแม่แจ่มพักที่บ้านแม่หลวงโฮมสเตย์ ท็อปซึ่งเป็นมิตรรุ่นน้องและช่างภาพ เปิดบ้านโดยหวังที่จะพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดี ๆ แก่ผู้มาเยือน มีบริการที่พัก นำชมวัดและจุดน่าเที่ยวต่าง ๆ ในแม่แจ่ม ค่าที่พักคืนละ 200 บาท ต่อคน อาหารพื้นเมือง 50 บาท ต่อคน โทรศัพท์ 08 9954 5959, 08 2141 2170

แผนที่


การเดินทาง

          จากเชียงใหม่ไปดอยอินทนนท์โดยทางหลวงหมายเลข 108 ถึงอำเภอจอมทองเลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 1009 ขึ้นยอดดอยมีรถสองแถวประจำทางเชียงใหม่-จอมทอง ที่จอมทองมีคิวรถเหมาขึ้นยอดดอย ตามเกสต์เฮาส์ในอำเภอมีมอเตอร์ไซค์ให้เช่า

          จากอินทนนท์ลงไปแม่แจ่มโดยทางหลวงหมายเลข 1192 ถนนคดโค้ง ควรใช้ความระมัดระวัง ที่ข้างวัดศรีจอมทองมีรถสองแถวประจำทางไปแม่แจ่ม เที่ยวเวลา 07.00 – 17.00 น. ใช้เวลาราวชั่วโมงครึ่ง

          จากแม่แจ่ม เราใช้ทางหลวงหมายเลข 1088 ถึงบ้านแม่นาจร แยกขวาไปทางอำเภอขุนยวม ตามทางหลวงหมายเลขหมายเลข 1263 ถนนคดโค้งขึ้นลงดอย ผ่านปากทางเข้า ปางอุ๋ง อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์

          จากอำเภอขุนยวม เราใช้ทางหลวงหมายเลข 108 เข้าตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนซึ่งยังสงบงาม ยามเช้าน่าแวะไปใส่บาตรที่ถนนสิงหนาทบำรุง ซึ่งเป็นถนนสายเก่าแก่ของเมือง ในตลาดสายหยุดมีของกินพื้นเมืองขายใกล้ ๆ มีร้านแฟร์บุ๊ค ขายกวยจั๊บ ขนมจีบ ไข่ กระทะ กาแฟ ฝั่งตรงข้ามมีร้านข้าวแกงราชบุรี-ข้าวแกงหลากหลาย ข้าง ๆ วัดจองคำมีร้านแม่ร่องสอน ขายอาหารมุสลิมรสดี โรตี-แกงกะหรี่ข้าหมกไก่ ซุปหางวัว

          หลังพระบิณฑบาตน่าขึ้นไปชม พระธาตุดอยกองมู มีจุดชมทิวทัศน์เมืองแม่ฮ่องสอนสาย ๆ เดินชมตัวเมือง วัดจองคำ-จองกลางเรือนไทยใหญ่โบราณอายุ 123 ปี แวะซื้อเสื้อที่ระลึกที่ร้านปาด็อง

          ตกค่ำข้างหนองจองคำจัดถนนคนเดินมีทั้งของที่ระลึกและผ้าทอจากชนเผ่าต่าง ๆ จำหน่าย ติดตลาดทุกวันตลอดฤดูหนาว ตั้งแต่ 17.00 – 22.00 น.

          แนะนำที่พัก แม่น้ำคอตเทจ บ้านทุ่งกองมู มีบ้านพัก 6 ห้อง ห้องละ 600 บาท บ้านทรงไทยพักได้ 10 คน คนละ 300 บาท บ้านแฝดพักได้ 8 คน คืนละ 3,000 บาท บ้านริมน้ำมี 2 ห้อง ห้องละ 600 บาท โทรศัพท์ 0 5361 1945, 08 9952 2782

          ในตัวเมือง รอบหนองจองคำมีเกสต์เฮาส์ให้เลือกหลากหลาย หน้าวัดจองคำมีคิวรถนำเที่ยวพระธาตุดอยกองมู ปางอุ๋ง บ้านรักไทยภูโคลน น้ำตกตาดผาเสื่อ ครึ่งวัน 1,500 บาท เต็มวัน 1,800 บาท คณะละไม่เกิน 10 คน

ข้อมูลการเดินทาง

          บริษัทสมบัติทัวร์มีรถประจำทางปรับอากาศวีไอพี ชั้น 1 และชั้น 2 กรุงเทพฯ-แม่ฮ่องสอน ทุกวัน เที่ยวเวลา 15.00, 17.00, 18.00, 20.45 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 ชั่วโมง โทรศัพท์ 0 2936 3587 – 8, 0 5368 4222

          ที่สถานีขนส่งอาเขตมีรถตู้เอกชนให้บริการเส้นทางเชียงใหม่-ปาย-แม่ฮ่องสอน ใช้เวลา ประมาณ 5 ชั่วโมง

          บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเที่ยวบินเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 0 2356 1111 เว็บไซต์ www.thaiairways.com

          จากแม่ฮ่องสอน เราใช้ทางหลวงหมายเลข 1095 โดยแวะเข้าไปชมถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ

          ชมศูนย์เรียนรู้อีดที่บ้านปางหมู ซึ่งนอกจากน้ำมันงา ยังมีขนมงา งาคั่ว ข้าวตังหน้างา น้ำนมงา จำหน่ายในแบบบรรจุภัณฑ์ โทรศัพท์ 0 5306 1108

          ระหว่างทางเราแวะชมถ้ำผีแมนที่อำเภอปางมะผ้า ผ่านเมืองท่องเที่ยวอย่างปาย แล้วแยกที่อำเภอแม่แตงกลับเชียงใหม่

          สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติม สายด่วนท่องเที่ยว โทรศัพท์ 1672 (Call center 24 ชั่วโมง)





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 50 ฉบับที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขุนเขาและผู้คนบนเส้นทาง เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13:50:45 3,600 อ่าน
TOP