ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก วัดวาอาราม
เมื่อถึงช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี หลายคนจะมีความชื่อเรื่องการแก้ปีชง (ในปี 2558 มีผู้ที่เกิดในปีชง 2558 ปีชงปีมะแม) ซึ่งวัดอัปสรสวรรค์ หรือ วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร (วัดหมู) เขตภาษีเจริญ กทม. อีกหนึ่งสถานที่แนะนำสำหรับไว้พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ เสริมสิริมงคลให้กับชีวิตด้วยการ สวดสืบชะตา, เสริมดวง, สะเดาะเคราะห์ (แก้ปีชง) โดยในปี 2558 นี้จะเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ซึ่งรอบแรกเริ่ม เวลา 09.00 น. ถึง 10.00 น. โดยวันนี้เราขอแนะนำผู้ที่เกิดปีชวด ที่ควรหาเวลาไปกราบพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ที่วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ กันค่ะ
วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร ตั้งอยู่ที่แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร แต่เดิมชื่อ วัดหมู เล่ากันว่าจีนอู๋เป็นผู้สร้างในที่ดินที่เคยใช้เลี้ยงหมู เมื่อสร้างเสร็จแล้วมีหมูมาเดินเพ่นพ่านเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดหมู แต่จะสร้างเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด ในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) ธิดาของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ได้สถาปนาใหม่ ต่อมารัชกาลที่ 3 ทรงบูรณะและปฏิสังขรณ์อีกครั้ง และพระราชทานนามว่า วัดอัปสรสวรรค์ เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย ซึ่งมีความสามารถในการแสดงละครเรื่องอิเหนา เป็นตัวสุหรานากงได้ดี จนได้รับฉายาว่า เจ้าจอมน้อยสุหรานากง พร้อมกับพระราชทาน "พระพุทธรูปปางฉันสมอ" มาประดิษฐานไว้ในวัด
สำหรับพระอุโบสถและพระวิหารสร้างขึ้นแบบศิลปะจีน โดยเลียนแบบวัดราชโอรสฯ ภายในพระอุโบสถมี พระประธานจำนวน 28 พระองค์ เพื่อแทนพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดขึ้นมาในชาติภาพต่าง ๆ รวมแล้ว 28 พระองค์ และมีหอพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา
ทั้งนี้ พระประธานจำนวน 28 พระองค์ ในพระอุโบสถเป็นพระหล่อปางมารวิชัย มีขนาดเท่ากัน หน้าตักกว้าง 1 ศอก สูงตลอดยอดพระรัศมี 1 ศอก 4 นิ้ว พระพุทธรูปเหล่านี้ประดิษฐานอยู่บนชุกชี (แท่นพระ) เดียวกัน ชุกชีนั้นสูงเป็นจอมขึ้นไป มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี ระหว่างด้านเหนือกับด้านใต้ ทางด้านตะวันตกซึ่งเป็นด้านหลังพระอุโบสถ เป็นด้านตัดไม่มีพระพุทธรูปประดิษฐาน ส่วนด้านตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 18 พระองค์ และลดหลั่นลงมาตามลำดับ รวมทั้งที่ล้ำออกมาเป็นรูปสามเหลี่ยมในชั้นต่ำที่สุด 3 พระองค์ ส่วนด้านเหนือและด้านใต้ก็ลดหลั่นลงมาตามลำดับเช่นเดียวกัน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 5 พระองค์
โดยพระพุทธรูปเหล่านี้ได้มีพระนามจารึกไว้ที่หน้าฐานทั้งหมด แต่องค์ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดจอมมีพระนามจารึกว่า พระตัณหังกร องค์นอกนั้นมีพระนามว่า พระเมธังกร พระสรณังกร พระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระมังคละ พระสุมนะ พระเรวตะ พระโสภิตะ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระนารทะ พระปทุมุตตระ พระสุเมธะ พระสุชาตะ พระปิยทัสสี พระอัตถทัสสี พระธรรมทัสสี พระสิทธัตถะ พระติสสะ พระปุสสะ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคดม และพระโคดม
นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีก เช่น มณฑปซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปางฉันสมอ ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร โดย พระพุทธรูปปางฉันสมอ องค์นี้ เล่ากันว่า รัชกาลที่ 3 ทรงได้มาจากเวียงจันทร์ เป็นพระพุทธรูปมีลักษณะแบบจีน เป็นพระพุทธรูปที่งดงามเป็นสง่า หน้าตักกว้างประมาณศอกเศษ ทรงนั่ง พระหัตถ์ซ้ายถือผลสมอ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่มาแต่เมืองเวียงจันทร์ ตามหมายรับสั่ง ร.3 จ.ศ. 1189 ตรงกับ พ.ศ. 2370 ปรากฏว่า เมื่อปราบกบฏเจ้าอนุแล้วได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ มาจากเวียงจันทร์หลายองค์ ซึ่งมีพระพุทธรูปปางฉันสมอรวมอยู่ในจำนวนนั้นด้วย เมื่อถึงกรุงเทพฯ แล้วได้ทำการฉลองสมโภชเป็นมหกรรมใหญ่ และได้อัญเชิญสถิตประดิษฐานไว้ในพระวิหารพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากบูรณปฏิสังขรณ์วัดอัปสรสวรรค์แล้ว จึงพระราชทานหลวงพ่อฉันสมอมาประดิษฐานที่วัดนี้ ตั้งแต่บัดนั้นกระทั่งถึงปัจจุบัน
เวลาเปิด-ปิด : บริเวณวัดเปิดทุกวันเวลา 05.00-22.00 น. ส่วนพระอุโบสถและพระวิหารเปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เปิด เวลา 08.00-16.00 น. และ วันเสาร์-อาทิตย์ 08.00-17.00 น. (เปิดให้แก้ปีชงในวัน วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป รอบแรกเริ่มเวลา 09.00 น. ถึง 10.00 น.)
ที่ตั้ง : 174 ถนนเทอดไท แขวงปากคลองภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
การเดินทาง...วัดอัปสรสวรรค์
ที่ตั้ง : 174 ถนนเทอดไท แขวงปากคลองภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
การเดินทาง...วัดอัปสรสวรรค์
ทางเรือ
สามารถเดินทางโดยเรือล่องมาตามคลองบางกอกใหญ่
รถประจำทาง
สามารถนั่งรถประจำทางสาย 4, 9, 10, 103, ปอ.4 มาจนสุดสาย จากนั้นเดินต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร มีป้ายบอกทางไปจนถึงวัดอัปสรสวรรค์
แผนที่ วัดอัปสรสวรรค์ โดย longdo.com
แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, m-culture.in.th, intaram.org และ เฟซบุ๊ก วัดวาอาราม