ทางฝนในเงาหมอก โหล่นแต้ (อ.ส.ท.)
Jungle Man...เรื่อง
หัสชัย บุญเรือง, วิศรุต เชิดบารมี และยศวัฒน์ เกษมถิรกุล...ภาพ
กุหลาบพันปีหลงฤดูผลิบานท่ามกลางสายหมอกที่ห่มคลุมพื้นที่อยู่ตลอดเวลา น้ำค้างเกาะพราวและหยดจากกลีบบางเมื่อลมไกว ความงดงามของโลกที่เป็นเช่นนี้เอง ขึ้นอยู่กับเรามองเห็นสิ่งเหล่านี้ว่างามในมุมใด มองไกลออกไปเมฆดำหนาลอยผ่านต้นไม้แห้งไปอย่างรวดเร็ว จนผมแอบภาวนาว่าให้พายุฝนชุดนี้ผ่านไปเสียที เพราะหลายวันที่ผ่านมาและช่วงหกชั่วโมงที่เราเดินเท้าข้ามสันภูขวางมายังโหล่นแต้ แทบไม่มีนาทีไหนเลยที่หยาดน้ำจากผืนฟ้าจะปราณี...
สิงโตปากนกแก้วสะพรั่งบานเต็มต้นไม้ ระหว่างทางเดินสู่โหล่นแต้
ทางชุ่มน้ำบนเทือกภูขวาง
เก้าโมงเช้าในวันที่หมอกคุลมหนาแน่นและความชื้นยังอัดแน่นในอากาศ เราออกเดินเท้าจากบริเวณโคกนกกระบาไปตามเส้นทางชุ่มฉ่ำบนลานหินทรายของภูหลวง เพื่อมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทาง...หน่วยพิทักษ์ป่าโหล่นแต้ เพื่อทำภารกิจสำรวจและนำเรื่องราวจากป่าสนบนภูสูงที่เป็นเสมือนตำนานของนักเดินทางที่ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงปิดพื้นที่ เพื่อให้ป่าฟื้นตัวมาเป็นเวลาสิบกว่าปี วันนี้มีหลายสิ่งให้เราได้สัมผัส และยืนยันถึงความงดงาม ความสมบูรณ์ รวมถึงดินแดนมรกตแห่งอีสานที่ใครหลายคนบอกว่าที่นี่เป็นเสมือนปลายทางฝันของคนรักธรรมชาติ
เปราะภูสีม่วงอมชมพูบานสะพรั่งบนผืนหญ้าเสียวสดใส มองไปทางไหนก็สวยงามคล้ายจะเป็นดาวประดับภูหลวงในยามนี้ บนเปลือกไม้ก็แซมด้วยกล้วยไม้นานาชนิดที่กำลังผลิดอกโอบอุ้มหยาดน้ำค้าง ผมยืนมอง เอื้องแซะภูกระดึง (Dendrobium christyanum Rchb. f.) กลีบดอกสีขาวอมเหลืองบาง ๆ กับกลีบปากสีส้มสด ดูสดใสท่ามกลางสายหมอก ผมละลายตาเข้าสู่ทางเดินอีกครั้งพร้อมเอาฮู้ดขึ้นคลุกหัวเพื่อป้องกันฝนที่เพิ่งโปรยลงมา และก้าวไปตามเส้นทางที่ฉ่ำไปด้วยน้ำ
ผ่านไปอีก 1 ชั่วโมง เราหยุดพักการเดินเท้าอีกครั้ง หลังจากชั่วโมงก่อนเราหยุดถ่ายภาพสายน้ำวนที่ฉ่ำเย็นของภูหลวงเอาไว้ ฟองน้ำเล็ก ๆ วนเป็นวงกลมสวยงาม เมื่อใช้เพียงเทคนิคการถ่ายภาพสปีดต่ำร่วมกับใช้ฟิลเตอร์ตัดแสงสะท้อน ก็ได้ภาพป่าเขียวเต็มอิ่ม สายน้ำวนสวยแปลกตา และความชุ่มฉ่ำเหมือนตาเห็น สิ่งเหล่านี้เราสะท้อนผ่านมุมมองของการบันทึกภาพอย่างง่าย ๆ มิแต่งภาพจนเกินความเป็นจริงจากธรรมชาติ ด้วยหวังจะถ่ายทอดสิ่งที่เราได้เห็นสู่สายตาของท่านผู้อ่านอย่างไม่บิดเบือน
สิงโตปากนกแก้ว (Bulbophyllum psittacoglossum Rchb. f.) กอใหญ่บานสะพรั่งอย่างงดงามบนต้นไม้ริมทางเดิน ผมหยุดและเตรียมอุปกรณ์บันทึกภาพอีกครั้ง กล้วยไม้ชนิดนี้นับได้ว่าเป็นหนึ่งในกล้วยไม้ที่พบได้ยากในแหล่งอื่น ๆ ของประเทศไทย ทว่าบนภูหลวงในเวลานี้สะพรั่งไปด้วยสิงโตลิ้นนกแก้ว หรือสิงโตปากนกแก้ว บ้างก็มีเพียงแค่ 2 ดอก บ้างก็เป็นกลุ่มเล็ก ๆ และบางบริเวณก็เป็นกลุ่มใหญ่ บานพร้อมกันจำนวนนับร้อยดอก นับเป็นความตระการตายิ่งนัก จึงต้องนำภาพอลังการแห่งธรรมชาติมาฝากกันอย่างเต็มที่ เพื่อว่าเรามีโอกาสได้เดินไปสำรวจแล้วท่านผู้อ่านจะได้มีความสุขร่วมกันว่า ผืนป่าและสรรพชีวิตในภูหลวงยังคงเติบโตและดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ใต้อย่างงดงาม
ป่าดิบเขาแห่งภูหลวง
บุญมี ศรีบุรินทร์ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิทักษ์ป่าโหล่นแต้ รับหน้าที่นำทางในครั้งนี้ ระหว่างทางเราแวะกินอาหารกลางวันบริเวณสระอโนดาต เพราะที่นี่น้ำไหลตลอดปี จึงเป็นจุดพักของเจ้าหน้าที่อยู่เสมอ มื้อนี้มีข้าวเหนียวแข็ง ๆ กับน้ำพริกตาแดง หมูทอด และเนื้อเค็ม ที่เราพยายามจัดให้ร่างกายอิ่มไว้ก่อน เพื่อก้าวต่อไปบนหนทางข้างหน้า นัยว่าหนทางอีกาวไกลไม่น้อยสำหรับวันนี้
หญ้าข้าวก่ำเบ่งบานริมทางเดินที่ฉ่ำน้ำ
ผ่านมื้อกลางวันไปได้ เอาตะไคร้หอมมาฉีกป้องกันแมลงและทากเรียบร้อยก็ออกเดินกันอีกครั้ง จากทุ่งหญ้าโล่ง ๆ ไม้พุ่มเล็ก ๆ ซึ่งผมเห็นเมื่อหลายปีก่อน ตอนนี้กลายเป็นไม้พุ่มใหญ่เข้าปกคลุมพื้นที่ไปทั่วบริเวณริมทางเดินโล่ง ๆ มีหญ้าข้าวก่ำ (Burmannia disticha L.) ผลิดอกสีม่วงสวยงามยิ่งนัก เรียกว่าใครเห็นแล้วไม่หลงรักดอกไม้ชนิดนี้ก็คงจะใจแข็งเกินไปสักหน่อย เพียงไม่นานทางราบบนภูขวางก็หมดไป ทางชันดิ่งลงไปยังผืนป่าเบื้องล่าง ก้อนหินเขียว ๆ โอบไว้ด้วยตะไคร่ดูงดงามแปลกตา ความลื่นของทางเดินทำให้เราต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง สภาพป่าเปลี่ยนไป จากป่าสนกลายเป็นป่าดิบเขาที่แสนชุ่มฉ่ำ ซึ่งในฤดูนี้หากสังเกตดี ๆ ตลอดทางจะพบลูกไม้เกิดขึ้นจำนวนมาก และนี่จะเป็นเสมือนรอยต่อของกาลเวลา ที่ความงดงามของธรรมชาติได้ถูกส่งผ่านไปยังอนาคต 3. เอื้องพร้าวดอกเหลือง, 4. เอื้องแซะ, 5. เอื้องสุริยัน กล้วยไม้หายากซึ่งพบเห็นได้ที่ภูหลวง
เส้นทางยังคงทอดลงมาเรื่อย ๆ ระหว่างทางมีกล้วยไม้นานาชนิดเกาะทอดเลื้อยอยู่บนก้อนหิน บนต้นไม้ และบนผืนดิน ทว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาผลิดอกของพวกเขา จนในที่สุดผมก็ได้มีโอกาสหยุดเพื่อบันทึกภาพกล้วยไม้ดินดอกสีเขียว ที่ดูกลมกลืนกับพื้นดินอย่างมาก แน่นอนว่านี่เป็นอีกครั้งที่ได้เจอกับกล้วยไม้ชนิดนี้ ทีมงานกางขาตั้งกล้องแบนราบกับพื้นพร้อมส่งกล้องพร้อมเลนส์มาโครมาให้อย่างไม่ต้องรีรอ ผมบรรจงโฟกัสและวัดแสง ทว่าในยามนี้แสงน้อยเหลือเกิน และมีเม็ดฝนบาง ๆ ลงมาด้วย ทำให้ผมต้องแก้ปัญหาด้วยการขยับค่าความไวแสงให้สูงขึ้น เพื่อจะได้เก็บแสงหลังมาด้วย จากนั้นจึงใช้ไฟฉายคาดหัวอีก 2 ตัว ส่องเป็นแสงเสริมให้กล้วยไม้มีมิติ ซึ่งก็ได้ภาพที่ดีพอสมควร
1. ซ่อนแอบ, 2. เอื้องแมงมุม, 3. ซ่อนแอบภู
"กล้วยไม้ชนิดนี้ชื่อ ซ่อนแอบภู (Nephelaphyllum tenuiflorum BL.) ในประเทศไทยพบ 2 ชนิด และเจอที่ภูหลวงได้ทั้งคู่ ที่ชื่อไทยว่าซ่อนแอบก็อย่างที่เห็นนี่แหละ ใบเขียว ๆ ซีด ๆ ดอกเขียว ๆ ทำให้ดูยากว่าเป็นดอกกล้วยไม้หรือเปล่า เหมือนเล่นซ่อนหานะ แต่บางทีก็หาไม่เจอ" ผมเล่าย่อ ๆ ให้สองช่างภาพฟังถึงกล้วยไม้ในสกุลนี้ และเราก็โชคดีเมื่อวันถัดไปได้เจอกับอีกชนิดของสกุลนี้ คือ ซ่อนแอบ (Nephelaphyllumpulchrum BL.) ลักษณะดอกสีขาวอมเหลือง ใบลายสีน้ำตาล อยู่ติดพื้นดิน มองเห็นลำบากเช่นกัน ลักษณะของลำต้นเป็นไหลเลื้อยสั้น ๆ อยู่บนดิน หรือซากอินทรียวัตถุ
เปราะภูหลวง พืชชนิดใหม่ของโลกที่มีรายงานเพียงที่เดียวในโลก
นอกจากกล้วยไม้ดิน 2 ชนิดนี้แล้ว ระหว่างทางเรายังมีโอกาสเจอกับกล้วยไม้หายากอีกหลายชนิด ซึ่งแน่นอนว่าไม่ง่ายนักที่จะได้เห็น เพราะทั้งหมดล้วนเป็นชนิดหายาก และพบในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น ก่อนจะเดินกันต่อ ผมก้มลงปลดทากตอง ที่บนหลังสีเขียวสดออกจากแขนและขา เพราะนอนถ่ายภาพนิ่ง ๆ เมื่อสักครู่ พวกนี้จึงฉวยโอกาสขึ้นมาหาอาหาร
รอยอดีตแห่งขุนเขายะเยียบ
ในที่สุดก็ถึง โหล่นน้อย จุดแรกเมื่อลงมาจากโคกนกกระบาที่เราจะได้เจอกับต้นสน หลังจากนั้นก็จะเดินตัดเข้าสู่ป่าดิบ ใช้เวลาอีกไม่นานก็เข้าสู่เส้นทางลำลองที่เริ่มเลือนรางไปจากการใช้ ทางเดินจึงเหมือนอุโมงค์ต้นไม้เล็ก ๆ มีปลายทางเป็นภาพทุ่งโล่งฉ่ำน้ำ เสาวิทยุที่สูงตระหง่านเหนือต้นสน หลังคาของโรงอาหารที่ทับลงมาแนบพื้น ไม่มีทีท่าว่าจะมีการปรับปรุงอีกต่อไป ร่องรอยของเรื่องราวในครั้งอดีตเผยให้เราได้เห็นอีกครั้งผมขออนุญาตนำทุกท่านย้อนกลับไปในช่วงที่ภูหลวงทางด้านนี้ยังคงรุ่งเรือง จนถึงวันที่ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ
"สมัยนั้นราว พ.ศ. 2518 หลังจากประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงได้เพียงปีเดียว ทางสภาจังหวัดเลยก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลบริหารจัดการพื้นที่ทางด้านโหล่นแต้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยบริการรถ ลูกหาบ ที่พัก อาหาร เป็นแพ็กเกจ จวบจนเปลี่ยนสถานะจากสภาจังหวัดมาเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็ยังเป็นผู้บริหารพื้นที่แห่งนี้อยู่จนในปี พ.ศ. 2544 จึงได้คืนให้กับกรมป่าไม้ เพื่อให้พื้นที่ป่าได้ฟื้นฟูตัวเองอีกครั้ง แม้ว่าในช่วงที่เปิดทำการอยู่จะมีการทำลายหรือรบกวนธรรมชาติอย่างน้อยที่สุด แต่เมื่อการที่มนุษย์ขึ้นมาก็เลี่ยงความเสียหายได้ยากยิ่ง" สิทธิชัย สิทธ์รัตน์ กล่าวกับผมในคืนที่สายหมอกห่มคลุมภูหลวงด้านโคกนกกระบา และไฟจากเครื่องปั่นดับไปแล้ว
ผมยืนมองผืนป่า พื้นดิน และร่องรอยเก่าของเรื่องราวในอดีต ที่ผู้คนมากมายเดินทางมายังดินแดนงดงามแห่งนี้ เรื่องราวและการถ่ายทอดสิ่งดีงามได้รับการบอกเล่าและตีพิมพ์ลงในหน้าหนังสือของทุกสำนัก มนต์เสน่ห์แห่งป่าสนของโหล่นแต้ช่างยั่วยวนหัวใจของคนรักธรรมชาติยิ่งนัก...
500 เมตร จากจุดพักแรมเดิมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย เราเดินผ่านป่าดิบเขาที่เส้นทางยังคงมองเห็นได้ชัดเจน และถึงที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าโหล่นแต้ที่เคยรุ่งเรืองเมื่อครั้งสมัยการท่องเที่ยวทางด้านนี้ยังคงเปิดอยู่ วันนี้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเพียงไม่กี่นายมารักษาดินแดนแห่งนี้ไว้ ไม่ให้พรานเข้ามาล่าสัตว์และคอยตรวจตราระมัดระวังสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว ในที่สุดเราก็มาถึงบ้านพักของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตอนนี้หลายหลังสภาพทรุดโทรมไปพอสมควร แถมห้องครัวยังโดนข้างป่าเข้ามารื้อเล่นจนพังสนิท มีเพียงสังกะสีที่เอามาใช้เป็นห้องครัวลำลองเท่านั้นเอง ซึ่งในอนาคตก็คงได้รับการซ่อมแซมให้ใช้ได้เป็นปกติต่อไป
สะพานไม้ที่ทอดข้ามลำห้วยก่อนจะถึงที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าโหล่นแต้
มรดกแห่งอีสานกำลังฟื้นตัว
จากบ่ายของเมื่อวานเช้านี้ฝนเพิ่งขาดเม็ด เราเก็บของออกจากบ้านพักเพื่อไปสัมผัสกับเรื่องราวของผืนป่าสนสามใบที่เลื่องชื่อ เส้นทางจากหน่วยฯ โหล่นแต้ไปยังป่าสนวันนี้ถูกผืนป่าและหญ้าคาดคลุมไปเสียหมด รวมไปถึงเหล่ากอไผ่ที่มาปกคลุมพื้นที่อย่างรวดเร็ว ระหว่างทางเราหยุดถ่ายภาพกล้วยไม้ดินด้วยความลำบากและทุลักทุเลกับฝนและน้ำที่ท่วมบนพื้นดินหลายครั้ง
ผืนป่าสนที่แสนอุดมสมบูรณ์ของโหล่นแต้ ด้านหลังที่หมอกคลุมคือภูขวาง อันเป็นจุดสูงสุดของถูหลวง
1. ป่าสนและดอกเปราะภู, 2. เอื้องม้าวิ่งกับป่าสน
ผารุ่งอรุณในเวลานี้มองลงไปเบื้องล่างเห็นอำเภอภูหลวง และทะเลหมอกหนาปกคลุมผาบ่าว ผาสาว พร้อมกับคลุมภูหอที่เผยให้เห็นเพียงส่วนล่างเท่านั้น ที่ไกลออกไปอย่างภูกระดึงก็รางเลือนด้วยไอหมอก หลายครั้งที่เราได้เห็นภาพสวยงามจากมุมมองตรงนี้ ทว่าวันนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ มีเพียงความชุ่มฉ่ำของสายฝนโปรยไพรที่ทำให้หญ้าระบัด ผืนดินหมาดน้ำ เพื่อให้เหล่าสรรพสัตว์ได้หากินอย่างอิสรเสรี และทุกชีวิตได้เติบโตตลอดเวลาที่ภูหลวงไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้นมาเยือนที่นี่ เราได้เห็นกันอย่างชัดเจนว่าผืนป่าและธรรมชาติฟื้นตัวขึ้นมาได้เองอย่างช้า ๆ ขอเพียงไม่มีอะไรเข้าไปยุ่งหรือขัดขวางเท่านั้นเอง
มองไกลออกไปอีก ผมเห็นทิวสนทอดยาวต่อเนื่องไปแสนไกลโหล่นแต้ยังคงงดงามในทิวหมอก ดอกไม้ยังคงผลิบานชูดอกสีสวยสดบนลานหินนั้น แม้ว่าในตอนนี้จะเหลือไม่มากนัก เพราะมีฝูงหมูป่าลงมาหากินอยู่เสมอก็ตาม แต่เราจะหวังอะไรได้มากเท่ากับหวังว่าผืนป่าจะฟื้นตัวและกลับไปงดงามดังเดิม...เหมือนครั้งที่เราไม่เคยก้าวย่างขึ้นมาบนนี้
ขอขอบคุณ
คุณชัยณรงค์ ดูดดื่ม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
คุณสิทธิชัย สิทธิรัตน์
คุณบุญมี ศรีบุรินทร์
คู่มือนักเดินทาง
การเดินทาง
รถยนต์ : จากกรุงเทพฯ แนะนำให้ใช้เส้นทางวิภาวดีรังสิต มุ่งหน้าสู่สระบุรี จากนั้นแยกไปทางลพบุรี เข้าสู่จังหวัดเพชรบูรณ์ สู่อำเภอหล่มสัก ก่อนจะไปตามทางคดโค้งระยะทางราว 30 กิโลเมตร เพื่อมุ่งหน้าไปยังเขตอำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย ตรงไปจนถึงสามแยกโคกงาม เลี้ยวขวามุ่งหน้าสู่อำเภอภูเรือ และต่อไปอีก 14 กิโลเมตร บริเวณบ้านสานตมเลี้ยวซ้ายไปตามถนนผ่านหมู่บ้านไปราว 16 กิโลเมตร จะถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จากนั้นจึงขับรถไปตามทางถนนคอนกรีตและลาดยางบริเวณโคกนกกระบา
รถโดยสาร : จากกรุงเทพฯ รถทัวร์ออกจากหมอชิต 2 ไปลงยังอำเภอภูเรือ จากนั้นสามารถเหมารถต่อไปยังภูหลวงได้อย่างสบาย
การขอใช้สถานที่และบ้านพัก
- ขออนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วันทำการ สามารถยื่นเรื่องได้ที่ฝ่ายบ้านพัก สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถนนพลโยธิน กรุงเทพฯ หรือส่งจดหมายไปที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ตู้ปณ. 52 ปทจ.เลย อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย 42000
- สอบถามที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง โทรศัพท์ 0 4280 1955 หรือส่งอีเมลไปที่ pl_011@hotmail.com หากไป-กลับสามารถซื้อตั๋วได้ที่ศูนย์บริหารนักศึกษาธรรมชาติด่านตรวจที่ 1 สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่เว็บไซต์ www.phuluang.org
การติดต่อ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โทรศัพท์ 0 4280 1955 สำหรับท่านที่ต้องการไปภูหลวง ควรติดต่อจองบ้านพักและอาหารล่วงหน้า
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 54 ฉบับที่ 1 สิงหาคม 2556