เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ทุกวันเพ็ญเดือนยี่ (เดือนสอง) ของล้านนา ภาพโคมนับร้อย ๆ ดวงค่อย ๆ ลอยละลิ่วส่องแสงสว่างเจิดจ้าอยู่บนท้องฟ้าเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนั่นเป็นสัญลักษณ์ของ "ประเพณียี่เป็ง" หรือประเพณีเดือนยี่ หรือประเพณีลอยกระทงแบบล้านนา ซึ่งประเพณีนี้งดงามจนใครที่อยากไปสัมผัสกับความตระการตาเหล่านี้สักครั้ง
ดังนั้น จังหวัดเชียงใหม่ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จังหวัดเชียงใหม่ จึงขอเชิญนักท่องเที่ยวสัมผัสเทศกาลงาน "ประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่ 2556" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2556 ณ ถนนช้างคลาน ย่านไนท์บาซาร์ อำเภอเมือง ซึ่งภายในงานจะมีการแสดงแสง สี เสียง การปล่อยโคมลอย การแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา และขบวนแห่กระทงขบวนโคมยี่เป็ง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ chiangmai.go.th)
นอกจากนี้ ยังมี "งานบุญกฐินล้านนา" ซึ่งจัดขึ้นที่ ธุดงคสถานล้านนา อำเภอสันทราย ในวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2556 เวลา 13.00–20.30 น. โดยจะมีกิจกรรมประกอบด้วย การปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ และปล่อยโคมถวายเป็นพุทธบูชา ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย และ "Yee Peng International" ซึ่งเป็นกิจกรรมปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ และปล่อยโคมถวายเป็นพุทธบูชา ณ ธุดงคสถานล้านนา ในวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2556 (ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงาน 100 USD สามารถจองตั๋วได้ที่ www.yeepenglanna.com) ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ธุดงคสถานล้านนา โทรศัพท์ 0 5335 3174
ภาพจาก Shutterstock.com/Tappasan Phurisamrit
ประวัติประเพณียี่เป็งในภาษาคำเมืองของทางเหนือ "ยี่" แปลว่า สอง และคำว่า "เป็ง" หมายถึง เพ็ญ หรือพระจันทร์เต็มดวง ดังนั้น จึงหมายถึง ประเพณีพระจันทร์เต็มดวงในเดือนสอง โดยในพงศาวดารโยนกและจามเทวี มีบันทึกว่าครั้งหนึ่งได้เกิดอหิวาตกโรคขึ้นในแคว้นหริภุญไชย (หรือหริภุญชัย) ทำให้ชาวเมืองต้องอพยพไปอยู่เมืองหงสาวดี นานถึง 6 ปี จึงจะเดินทางกลับมายังบ้านเมืองเดิมได้ เมื่อเวลาเวียนมาถึงวันที่จากบ้านจากเมืองไป จึงได้มีการทำกระถางใส่เครื่องสักการบูชา ธูปเทียนลอย ลอยตามน้ำเพื่อให้ไปถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไป เรียกว่า การลอยโขมด หรือลอยไฟ
ประเพณียี่เป็ง จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็น "วันดา" หรือวันจ่ายของเตรียมไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ครั้นถึงวันขึ้น 14 ค่ำ พ่ออุ้ยแม่อุ้ยและผู้มีศรัทธาก็จะพากันไปถือศีลฟังธรรม และทำบุญเลี้ยงพระที่วัด มีการทำกระทงขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่ลานวัด ในกระทงนั้นจะใส่ของกินของใช้ ใครจะเอาของมาร่วมสมทบด้วยก็ได้ เพื่อเป็นทานแก่คนยากจน และในวันขึ้น 15 ค่ำ จึงนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็ก ๆ ของส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ
ในงานบุญยี่เป็งนอกจากจะมีการปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์มหาชาติตามวัดวาอารามต่าง ๆ แล้ว ยังมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน และถนนหนทางด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา พอตกกลางคืนก็จะมีมหรสพและการละเล่นมากมาย มีการแห่โคมทองพร้อมกับมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะติ๊ด) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งการจุดโคมไฟประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม และการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามความเชื่อการปล่อยว่าวไฟหรือโคมลอยนี้ เพื่อให้นำเอาเคราะห์ร้าย ภัยพิบัติต่าง ๆ ออกไปจากหมู่บ้าน ดังนั้น ว่าวหรือโคมลอยที่ปล่อยขึ้นไปถ้าไปตกในบ้านใคร บ้านนั้นต้องจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อล้างเสนียดจัญไรทั้งปวงออกไป นอกจากนี้ ยังถือกันว่าเป็นการทำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเพื่อความสนุกสนาน สร้างความสามัคคีกันในหมู่บ้านอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5325 9365, 0 5325 2557 หรือ 1672 และ เฟซบุ๊ก TAT Chiang Mai
แก้ไขข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 14.36 น. วันที่ 16 ตุลาคม 2556
หมายเหตุ : กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งก่อนการเดินทาง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, chiangmai.go.th, bcom-cmru.com, loikrathong.net และ province.m-culture.go.th,