


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ zmeowx สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
เชื่อว่าถ้าเอ่ยถึง "ลาซา" (Lhasa) เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองทิเบตแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หลาย ๆ คนคงมีรอยยิ้มที่มุมปาก พร้อมใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะไปยืนสูดความงามของเมืองนี้สักครั้งในชีวิต...จริงไหม ซึ่งลาซาตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 3,650 เมตร จึงทำให้กลายเป็นหนึ่งในเมืองที่อยู่สูงที่สุดของโลก อีกทั้งยังงดงามไปด้วยทิวทัศน์ วัดวาอาราม และวิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และศาสนาของทิเบต ^^ เอาเป็นว่าหากใครอยากไปเที่ยวลาซา ก็ตามไปเก็บข้อมูลจาก คุณ zmeowx สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่มีโอกาสไปเยือนดินแดนหลังคาโลกแห่งนี้กันก่อนดีกว่าค่ะ






มันเป็นความฝันมาหลายปีแล้วว่าชีวิตนี้จะต้องไปเหยียบดินแดนหลังคาโลกให้ได้ แต่พออ้าปากชวนใคร "จะไปทิเบต ไปไหม?" ก็มีแต่คนส่ายหัว...Noooo... เอ๊ะ ! มันน่ากลัวขนาดนั้นเลยเหรอ สักวันหนึ่งฉันจะต้องไปให้ได้ และแล้ววันนี้ก็มาถึงค่ะ ทริปนี้พวกเรารวบรวมสมาชิกเสร็จสรรพได้ 4 คนค่ะ
เหตุผลหลัก ๆ ที่เราโดนปฏิเสธมา ก็คือ
1. ค่าใช้จ่าย...โห ! ทำไมแพงจัง ราคานี้ไปเกาหลีได้ 3 รอบเลยนะ (จริงค่ะ ไปทิเบตค่าใช้จ่ายเยอะแยะมากมาย ทำเอาพวกเรากระเป๋าเบาไปเลยค่ะ)
2. วันลา...ไม่ไหวหรอกไปนานขนาดนั้นโดนไล่ออกกันพอดี (งานนี้ 12 วันเต็มค่ะ ปีนขึ้นหลังคาโลกทั้งที เราก็ขออยู่นาน ๆ หน่อย ไปให้ทั่ว เพราะไม่รู้ว่าอนาคต พวกเราจะได้กลับมาที่นี่อีกไหม)
3. สุขภาพ...ไปแล้วจะเกิดอาการ High Altitude Sickness รึเปล่า? ได้ยินอะไรมานักต่อนัก น่ากลัวนะทิเบตเนี่ย !!!
4. ห้องน้ำ... แค่ห้องน้ำเมืองจีนชื่อเสียงก็กระฉ่อนไปทั่วโลกแล้ว นี่ "ทิเบต" อีก มันจะย่ำแย่แค่ไหนล่ะเนี่ย ?!? โดยเฉพาะผู้หญิงนี่ไม่ง่ายเลยนะ
5. อาหารการกิน...มีแต่เนื้อจามารี เนื้อแกะ เนื้อแพะ และฉันจะกินอะไรได้บ้างล่ะ ??
แต่ละคนก็มีเหตุผลส่วนตัว อันนี้ไม่ว่ากันค่ะ...ลึก ๆ แล้วเราก็กลัว กลัวที่สุดคือ Altitude Sickness เพราะได้ยินมาว่าโรคนี้ไม่เข้าใครออกใคร เราจะไม่รู้เลยว่าเราจะแพ้รึเปล่าจนกว่าจะไปเจอด้วยตัวเอง ยิ่งคิดก็ยิ่งกลัว แพ็กกระเป๋าเลยแล้วกัน
กำหนดการเดินทางของพวกเราคือ
Day 1 >> Bangkok - Xi\'an (Airasia เน้นประหยัดค่ะ)
Day 2 >> Xi\'an-TIBET, Lhasa (Fly)
Day 3 >> Lhasa (Norbulingka, Sera Monastery)
Day 4 >> Lhasa (Potala Palace, Jokhang Monastery)
Day 5 >> Lhasa-Yamdrok Lake-Gyantse- -Shigatse
Day 6 >> Shigatse-Tingri0EBC
Day 7 >> EBC-Shigatse
Day 8 >> Shigatse-Yangpachen Hotspring
Day 9 >> Hotspring-Namtso Lake
Day 10 >> Namtso Lake-Lhasa
Day 11 >> Lhasa-Xining (Train)
Day 12 >> Xining-BKK
Tibet Permit
และแล้วพวกเราก็ได้ Permit มาครอบครอง LET\'S GO~!!! ในใบนี้จะต้องระบุชื่อเมืองทุกเมืองที่อยู่ในโปรแกรมเรา ถ้าไม่ระบุก็ผ่านด่านเข้าเมืองไม่ได้ค่ะ ตอนแรกพวกเรามีแผนจะไป Sakya แต่ใบ Permit ไม่ได้ระบุไว้ก็เลยอดไป แต่ก็ไม่ซีเรียส เพราะทัวร์ของเรา คือ จ่ายหน้างาน อยากไปไหนค่อยจ่าย ไม่อยากไปก็ไม่ต้องจ่าย อย่างนี้สบายใจดีค่ะ

Potala Palace พระราชวังที่สูงที่สุดในโลก (ภาพถ่ายจากดาดฟ้าโรงแรม)

เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม...ฉันเก็บเอาไว้ให้เธอ

การขอ Permit เข้าทิเบตไม่ใช่เรื่องยากค่ะ !!!
ตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 ทิเบตได้เปิดให้ชาวต่างชาติเข้าไปได้อีกครั้งหนึ่ง (ยกเว้นสัญชาติเกาหลีและนอร์เวย์) กฎเกณฑ์การเข้าทิเบตเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ ถ้าใครจะไปคงต้องเช็กข้อมูลอีกครั้งเพื่อความแน่ใจนะคะ เมื่อก่อนจะต้องขอ Permit เป็นกรุ๊ปอย่างน้อย 5 คนขึ้นไป และจะต้องเป็นสัญชาติเดียวกันเท่านั้น แต่ตอนนี้เขาอนุญาตให้ลุยเดี่ยวได้แล้วค่ะ
ก่อนที่จะขอ Permit ทิเบตได้เราต้องขอวีซ่าจีนก่อน (เวลาขอวีซ่าจีนห้ามระบุว่าเราจะไปทิเบตเด็ดขาดนะคะ ให้ระบุเมืองอื่น ๆ ที่เราจะต้องเปลี่ยนเครื่อง ขึ้นรถไฟอะไรก็แล้วแต่ค่ะ) พอได้วีซ่าจีนแล้วก็ส่งเอกสารต่าง ๆ ไปให้กับบริษัททัวร์ เพื่อดำเนินการขอ Permit ซึ่งเจ้าหน้าที่จะออกให้ 10-15 วันก่อนวันเดินทางเท่านั้น หลังจากที่บริษัททัวร์ได้ Permit มาแล้ว เขาก็จะต้องส่งเอกสารมาให้เราไปยังโรงแรมที่เราจะไปพักก่อนเดินทางเข้าทิเบต ถ้าเราเดินทางโดยเครื่องบิน เขาจะต้องส่ง Permit ตัวจริงมาให้เรา มิฉะนั้น เราจะขึ้นเครื่องไม่ได้ แต่ถ้าขึ้นรถไฟก็ใช้แค่สำเนา Permit ได้ค่ะ
การไปทิเบตมันแพงตรงที่ว่าเราจะแบกเป้ลุยไปเองไม่ได้ ชาวต่างชาติทุกคนจะต้องซื้อทัวร์ บริษัททัวร์จะจัดการเรื่อง Tibet permit, โรงแรม, สถานที่เที่ยว, ไกด์ท้องถิ่น พร้อมรถและคนขับให้เสร็จสรรพ แต่เราสามารถเลือกได้ว่าต้องการโรงแรมประมาณไหน ต้องการไปเที่ยวที่ไหนบ้าง (ทุกที่มีค่าเข้าชมหมด) ไกด์ท้องถิ่นจะต้องจ้างเป็นรายวัน และตามจำนวนวันที่เราอยู่ในทิเบต ส่วนรถยนต์ถ้าเราไม่ได้ออกจากลาซาก็ไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้พอสมควรเลยค่ะ
เราจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าต้องการจะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง เพราะ Tibet Permit จะอยู่ได้เฉพาะในลาซาและรอบ ๆ เท่านั้น ถ้าจะออกนอกลาซาและไปจนถึง Everest Base Camp จะต้องมี Permit ต่างหากอีก ถ้าไม่มีเราก็ไปไม่ได้ค่ะ
อ่านข้อมูลอย่างละเอียดได้ที่ www.cafespinn.com (ขอขอบคุณ spinn cafe มา ณ โอกาสนี้ ที่ทำให้ทริปของเราสำเร็จอย่างราบรื่นค่ะ)
ไปเที่ยวกันต่อเลยนะคะ...มุ่งหน้าสู่หลังคาโลก
ตั๋วรถไฟในเมืองจีนจะเปิดให้ซื้อ 20 วันล่วงหน้าเท่านั้น ซึ่งตั๋วรถไฟขาไปลาซาจองยากมาก ๆ ค่ะ เพราะบริษัททัวร์จะใช้เส้นจองไว้แต่แรกแล้ว แค่เปิดให้จองไม่ถึง 5 นาที ก็แทบจะไม่มีตั๋วเหลือแล้วค่ะ ตอนแรกพวกเราอยากจะนั่งรถไฟจากซีอานไปลาซา แต่บริษัททัวร์จะบวกค่าบริการเพิ่ม พวกเราไม่ยอมจ่าย ฮ่า ๆๆๆ ก็เลยต้องนั่งเครื่องบินไป และกลับรถไฟ โดยให้เพื่อนคนจีนช่วยจองตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ตให้ (เพราะจะต้องใช้บัตรเครดิตจีนซื้อเท่านั้น) ตั๋วรถไฟมีอยู่ 3 ประเภทค่ะ แบบ soft seat, hard sleeper (6 เตียง) และ soft sleeper (4 เตียง)
พวกเรากลัวเจี๊ยวจ๊าวแล้วจะรบกวนชาวบ้านก็เลยเลือกแบบ soft sleeper ค่ะ 4 คน ปิดประตูตีแมว เอ้ย...ตีไพ่ 555
กิจกรรมบนรถไฟ ก็คือ แทะเม็ดกวยจี๊, จับหมู, จับเข่าคุย และนอนค่ะ 24 ชั่วโมง ผ่านไปไวเหมือนโกหก
สถานีรถไฟเมืองลาซา

วิวจากห้องนอนของเรา


อาหารที่ได้รับความนิยมสูงสุดเห็นจะหนีไม่พ้นมาม่าล่ะค่ะ บนรถไฟมีน้ำร้อนให้บริการตนเองตลอด 24 ชั่วโมง

ตู้เสบียงจะขายอาหารเฉพาะในช่วงเวลาอาหารเท่านั้น นอกเวลามีเงินก็ซื้อไม่ได้นะคร๊าาาา

(เกือบ) หยุดหายใจ...ในลาซา
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว ทิเบต คือ ดินแดนหลังคาโลก ลาซา...อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง 3,650 เมตร (กทม. 1.50 เมตร) กฎการไปถึงวันแรก
1. อย่าหักโหม ควรทำอะไรช้า ๆ หายใจลึก ๆ
2. พักผ่อนให้เพียงพอ
3. จิบน้ำบ่อย ๆ
4. อย่าอาบน้ำ (การอาบน้ำอุ่น ไอน้ำในห้องน้ำจะทำให้ออกซิเจนที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งน้อยลงไปอีก)
5. ไม่ควรนอนหลับ แต่หากิจกรรมเบา ๆ ทำ นั่งดูทีวี อ่านหนังสือ จิบชากาแฟก็แล้วแต่ (เพราะนอนหลับจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง)
เรื่องนี้ประมาทไม่ได้เลยจริง ๆ ค่ะ บางคนคิดว่าตัวเองร่างกายแข็งแรงดี แต่พอไปถึงทิเบตก็น็อกมาหลายรายแล้ว เพื่อนร่วมแก๊งคนหนึ่งเป็นชายฉกรรจ์วัย 30 ต้น ๆ แค่ปีนบันได 3 ชั้นก็รู้ผล เริ่มปวดหัว ปวดเบ้าตา อยากอาเจียน หน้าซีด แขนขาไม่มีแรง อาการที่ไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเองก็เกิด โชคดีที่พวกเราเตรียม Diamox ไปด้วย ประเดิมเม็ดแรกไป แล้วนอนพัก 1 คืน รุ่งเช้าตื่นมาลั้ลลาได้เหมือนเดิม โชคดีที่ไม่เป็นอะไรมาก
ฟ้าใส...ในลาซา


ตังถั่งเช่า สินค้าส่งออกดีเด่นของชาวทิเบต เป็นสมุนไพรที่ราคาแพงที่สุดในบรรดาสมุนไพรจีน แพงกว่าทองคำ ที่นี่ขายกันเป็นชั่ง (ครึ่งกิโลฯ) ราคาไม่ต่ำกว่า 10,000 หยวน (นี่แค่ราคาจากต้นทาง ปลายทางจะขายกันเท่าไหร่ล่ะนี่ ?!?)


ทุก ๆ เช้าจะมีพ่อค้ามาประมูลซื้อขายกัน ยิ่งกว่างานเปิดท้ายขายของ

วันนี้เราจะไปเที่ยวพระราชวังโปตาลากัน พวกเรามีเวลาแค่ 1 ชั่วโมง ในการเที่ยวชมภายในพระราชวังค่ะ ถ้าผิดเวลา ไกด์ก็จะต้องจ่ายค่าปรับ พวกเราทำเวลากันมาก ๆ ทำเวลาช้าาาา ทาชิ คุณไกด์ของเราก็เลยปล่อยพวกเราถ่ายรูปกันให้เต็มอิ่ม เขาจะต้องออกไปแสตมป์บัตรออกก่อนที่จะโดนปรับ เนื่องจากภายในไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปได้ เลยมีแต่ภาพภายนอกมาให้ดูกันนะคะ ดูแล้วอลังการยิ่งใหญ่เหลือเกิน






Sera Monastery พวกเรานั่งรถเมล์จากในเมืองไปสุดสาย ประมาณ 30 นาที สนนราคา 1 หยวนค่ะ

ทาชิบอกว่าบ่าย 2 จะมี Monk\'s debate ประมาณ "สนทนาธรรม" จะมีทั้งพุทธศาสนิกชนชาวทิเบตและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไปรอชมกัน

ตอนแรกก็งง ๆ ยังไงล่ะนี่ ทาชิอธิบายว่าพระท่านจะจับกลุ่มกันประมาณ 3-4 รูป รูปที่ยืนอยู่จะถามปัญหาธรรม พอถามเสร็จจะปรบมือ เชิญให้รูปอื่น ๆ ที่นั่งตอบ

สิ่งที่ทำให้พวกเรามีความสุขทุกวันในทิเบต ก็คือ สีของท้องฟ้าหลังคาโลกนี่แหละค่ะ


นี่เป็นภาพที่เราจะเห็นได้ทั่วไปในทิเบต ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก ฝุ่นจะเยอะสักเพียงใด ก็ไม่ได้ทำให้ผู้คนย่อท้อต่อความศรัทธาในหัวใจเลย...

ออกมาจากวัดเจออาเฮีย 2 ท่านนี้ ขี่รถมาจากเสฉวน ระยะทางร่วม 2,000 กิโลเมตร ขอคารวะให้แก่ความพยายามและความแข็งแรงค่ะ


ผู้คนจะต้องมาจับจองพื้นที่กันตั้งแต่เช้า เพราะสายหน่อยคนเยอะมาก

เนื่องจากไม่ได้เข้าไป รูปเลยน้อยมาก เอารูปเมืองลาซามาฝากแทนละกัน พวกเราค่อนข้างโชคร้าย ไปตอนที่กำลังปรับปรุงเมือง ถนนหนทางทุกเส้นไม่ว่าจะสายหลักหรือซอยเล็กซอยน้อยถูกขุดทุกกระเบียดนิ้ว เพื่อฝังท่อร้อยสายไฟ (ถ้าไปปีหน้าน่าจะทำเสร็จแล้วค่ะ คงจะสวยมาก ๆ ด้วย)

ร้านขายวัตถุมงคล @ Barkhor Circuit

ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน เราก็จะเห็นชาวทิเบตเดินโดยมือหนึ่งถือ Prayer Wheel อีกมือหนึ่งถือลูกประคำ คอยหมุนและนับไปเรื่อย ๆ

อันเล็ก อันใหญ่ ก็แล้วแต่กำลังแขนของแต่ละคน ถ้าอันใหญ่ส่วนมากจะมีสายคาดเอวที่มีปลอกสวมเพื่อช่วยผ่อนแรงด้วย

ณ ซอยแห่งหนึ่งที่ค้นพบโดยบังเอิญขณะหลงทางคืนแรกในลาซา

กินอะไร...กินอะไร...กินอะไรเมื่อไปทิเบต ?!?! นี่เป็นปัญหาใหญ่ของคณะเราเลย คนหนึ่งทานมังฯ อีก 2 ไม่ทานเนื้อวัว เนื้อแพะ และเนื้อแกะ ดู ๆ แล้วน่าจะรอดแค่คนเดียว พวกเราจึงเตรียมเสบียงจากเมืองไทยไปนิดหน่อย เอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ก็เป็นจำพวกน้ำพริกต่าง ๆ และมาม่าถ้วย
อยากจะบอกว่าอาหารที่นี่มีครบทุกอย่าง ที่พวกเรากลัวกันว่าจะไม่มีผัก ไม่มีหมู-ไก่ ก็มีให้กินจนอิ่มทุกมื้อ สรุปคือน้ำพริก กับมาม่าแทบจะไม่ได้ใช้เลย คิดว่าจะเป็นทริปลดน้ำหนัก เห็นทีคงจะยากแล้วค่ะ นี่มื้อแรกของพวกเรา เป็นอาหารทิเบตบนดาดฟ้าร้าน Mandala มองไปจะเห็นวัดโจคัง และ Barkhor Square อยู่ด้านล่าง บรรยากาศดีมว้ากกกก...แต่ลมแรงเหลือเกิน
บะหมี่, ข้าวผัด, Yak Steak (สเต็กเนื้อจามารี), Momo (อาหารทิเบตคล้าย ๆ เกี๊ยวซ่า มีไส้จามารีและไส้ผัก), และสีแดง ๆ นั่นคือน้ำพริกนรกค่ะ ซ้ายล่างคงไม่ต้องอธิบายกันนะคะ ส่วนรูปขวาบนคือ Butter Tea เป็นชาเนยค่ะ ชาวทิเบตบอกว่าช่วยเรื่อง Altitude Sickness ได้ ก็เลยขอลองจิบดู รสชาติของมันคือเนยละลายแล้วผสมน้ำ...ไม่ไหวจะเคลียร์ค่ะ~!!!

มื้อนี้ตามมีตามเกิดค่ะ มีร้านเดียวในละแวกนั้น มันคือ...ข้าวราดผัดผักหลากสี เยี่ยมเลย~!! ถือว่าประทังชีวิตไปได้ 1 มื้อ

ส่วนอันนี้อาหารเสฉวนค่ะ ร้านอาหารจีนส่วนใหญ่ในทิเบตจะเป็นอาหารเสฉวน รสชาติน่าจะถูกปากคนไทยอย่างเรา ๆ มากที่สุดแล้ว รูปอาจดูไม่น่ากินแต่รสชาติเยี่ยมเลย

นี่คือบะหมี่ 3 แบบของเรา 1.ไข่ 2.หมู 3.เนื้อ

มื้อสุดท้ายในทิเบต พวกเราบอกทาชิขอ Local Food ทาชิเลยจัดหนักให้ หน้าตาไม่ค่อยดีนะคะ รสชาติ...แย่กว่าหน้าตาอีก 55555

จานไหนราคาเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แต่ค่าเสียหายมื้อนี้ 196 หยวน (6 คน)

บ้านทาชิอยู่นอกเมืองลาซา พวกเราต้องนั่งรถกันไปหลายต่อเลยกว่าจะถึง ทาชิบอกว่าหมู่บ้านนี้เป็นชาวทิเบต 100% เพราะว่าค่อนข้างจะชนบท มีแต่ชาวไร่ ชาวสวน จึงไม่มีชาวจีนมาปะปน ทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านแถวนี้ยังคงรักษาความเป็นทิเบตบริสุทธิ์ไว้ได้ ประตูบ้านสไตล์ทิเบตแท้และดั้งเดิม

มีเจ้าหลานตัวน้อยมาคอยต้อนรับ

นี่น่ะหรือบ้านชาวไร่ ชาวสวน... บ้านสวยงาม ใหญ่โต แข็งแรง บริเวณบ้านกว้างขวางมาก ๆ

ห้องรับแขกชาวทิเบตตกแต่งหรูหราซะเหลือเกิน

อาหารว่างที่คุณแม่ทาชิเอามาให้พวกเราชิม Sweet Tea (ชานม), มันฝรั่งต้มจิ้มซอสพริก, ลูกอม, ลูกพลับตากแห้ง และที่พลาดไม่ได้คือชีสแห้ง

ห้องพระใหญ่โตมาก...ทำให้เข้าใจเลยว่าชาวทิเบตให้ความสำคัญกับศาสนาถึงเพียงใด ภายในห้องพระจะมีเตียงไว้เพื่อพระสงฆ์เท่านั้น สำหรับเวลานิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีต่าง ๆ และจะต้องค้างคืนที่บ้าน (ห้องพระนี้แม้แต่เจ้าของบ้านก็นอนไม่ได้)


จิตรกรรมฝ้าเพดานที่ทาชิวาดเอง

หลังคาโลกยังสูงไม่พอ...ขอปีนหลังคาบ้านด้วยเลย ชาวทิเบตจะใช้ทรายโรยไว้บนดาดฟ้าเพื่อกันความร้อน เพราะที่ทิเบต แดดแรงมาก ๆ (เมฆฝนกำลังจะมาแล้ว)

เจ้าหลานน้อยแสนซนอยากเล่นด้วย แต่คุยกันไม่รู้เรื่องสักกะคำ -_-"

ส้วมแบบทิเบ้ตตตต...ทิเบต สะดวก สบาย เปิดฝาแล้วใช้ได้ทันที แถมไม่ต้องกดชัดโครกให้เปลืองแรงด้วย (บ้านเรายังไม่มีระบบนี้นะ)

It\'s all about the JOURNEY, not the DESTINATION~!! และแล้วก็ถึงเวลาออกเดินทางสู่เทือกเขา Everest กว่าจะไปถึงต้องใช้เวลาถึง 2 วันเต็ม ๆ โชคดีจริง ๆ ยังมีหิมะให้เห็นอยู่ ท้องฟ้าก็เป็นใจ

จุดหมายแรกของเรา Yamdroke Lake เป็น 1 ใน 4 ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของชาวทิเบต สวย...ใส...ไร้ที่ติจริง ๆ ค่ะ


การเดินทาง...ไม่มีที่สิ้นสุด...





เมือง Gyantse น้ำพักน้ำแรงของมนุษย์ ช่างน่าอัศจรรย์เหลือเกิน


Tashilunpo Monastery, Shigatse (เมืองใหญ่อันดับ 2 ของทิเบต)

Tsola Pass จะไป EBC ได้ผ่านแน่ ๆ พวกเราแขวนธงมนตราเอาไว้ที่นี่ด้วย


เส้นทางของพวกเรา ไปอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า

Middle of Nowhere

ความเหนื่อยล้าก็หายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อได้เห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้า Mt.Everest ในที่สุด...ฉันก็ได้มาพบเธอ~!! (ภาพนี้ถ่ายตอน 2 ทุ่มกว่า ๆ)

ต้องขอบคุณเพื่อนร่วมทริปที่ทำให้พวกเรามีภาพสวย ๆ แบบนี้ค่ะ...
Everest Base Camp อยู่ที่ความสูง 5,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทำให้อากาศหนาวเหน็บ ลมแรงมาก ๆ แถมออกซิเจนก็เบาบางเหลือเกิน อย่าว่าแต่ห้ามออกแรงเยอะเลย แค่พูดเยอะ ๆ ก็หายใจแทบไม่ทันแล้วค่ะ เหนื่อยมาก ๆ จริง ๆ

ค่ำคืนที่เหน็บหนาว...กับเขา EVEREST~!! เมื่อปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเอาธงชาติทิเบตมาปักไว้ ทำให้จีนปิด Base Camp ไปเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ทำให้พวกเราเกือบไม่ได้ไปเหยียบ Everest ซะแล้ว

คืนนี้เราจะต้องค้างแรมกันที่ Tent Guesthouse No.11

ภายในเต็นท์มี 6 เตียง (จะเรียกว่าเตียงได้ไหมนี่ ?!?) ต้องนอนเรียงแถวกัน ตรงกลางเป็นเตาต้มน้ำ โดยใช้ขี้เจ้าจามารีเป็นเชื้อเพลิง ช่วยให้ความอบอุ่นได้มากทีเดียว แต่เที่ยงคืนไฟจะดับ ข้างนอกอุณหภูมิติดลบแล้ว เป็นคืนอันหนาวเหน็บมาก เสื้อผ้าในกระเป๋ามีเท่าไหร่ก็ควักออกมาใส่จนหมด ผ้าห่มและหมอนที่มีให้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะผ่านการซักมานับแรมปี ผ้าห่มก็หนักมาก ๆ หนักพอ ๆ กับเบาะรองนอนได้ แต่เราก็จำเป็นต้องใช้มัน แถมออกซิเจนก็เบาบางมาก ๆ พอพลิกตัวทีหายใจแทบไม่ออก (ไม่ได้เว่อร์เลยค่ะ) พวกเราต้องตื่นมาปั๊มออกซิเจนกันกลางดึกหลายทีเลย

เรื่องห้องน้ำก็ตัวใครตัวมัน เอ้ย !! ต้องบอกว่ามุมใครมุมมันถึงจะถูก พวกเราพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ที่สุดในชีวิตจริง ๆ" มันเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่าย ๆ เลยค่ะ ใครจะปฏิเสธลงว่านี่คือ...วิวห้องน้ำที่สวยที่สุดในโลก

เริงร่า...ออนเซนบนหิมาลัย
หลังจากที่ไม่ได้อาบน้ำมา 1 คืน พวกเราก็เริ่มคันเนื้อคันตัว ก็เลยขอให้ทาชิพาไปแช่น้ำพุร้อนออนเซนบนเทือกเขาหิมาลัยซะหน่อย ที่นี่อยู่ระหว่างทางจาก Lhasa ไป Namtso Lake ค่ะ ชื่อว่า Yangpachen Hotspring สนนราคาห้องละ 480 หยวน สระน้ำทั้ง indoor & outdoor pool เปิด 24 ชั่วโมง ห้องนอน...ดูดีเลยทีเดียว ในห้องน้ำมีอ่างจากุซซี่ให้ ถ้าเราไม่อยากลงไปแช่ในสระรวม จะแช่อ่างจากุซซี่ในห้องเราเองก็ได้ แต่ !!!!! น้ำในห้องจะเป็นน้ำร้อนหมด ไม่ว่าจะอ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า หรือแม้แต่ชักโครก (ไม่รู้ใครเป็นคนคิด !!!) ไม่ทำก๊อกน้ำเย็นมาให้ผสมเลยรึไง ร้อนจนอาบน้ำไม่ได้ เราต้องลงไปอาบกันที่ห้องน้ำของสระว่ายน้ำ เวลาแปรงฟันก็ต้องรีบแปรงตอนเปิดก๊อกใหม่ ๆ ก่อนที่น้ำมันจะร้อนลวกปาก

Outdoor Pool ว่ายไปดูวิวหิมาลัยไป มีความสุขที่ซู๊ดดดด.....



ที่พลาดอีกไม่ได้ก็คือ Namtso Lake เป็นอีก 1 ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของชาวทิเบต อาณาเขตกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา



หินตา หินยาย รึเปล่าหว่า ???

พวกเราจะไปปีนเขาลูกนั้นกันค่ะ Tashi Island สูงไม่ใช่เล่นเลย

หนทางช่างยาวไกลเหลือเกิน เหนื่อยแทบขาดใจ แถมลืมเอาออกซิเจนมาอีก (เพื่อน 2 คนนั่นเป็นซุนหงอคงรึไง เดินไวเกิ๊น)

กว่าจะถึง~!!! คนตัวเท่ามดเลย


มีการบูชาเขาควายริมทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์

ศรัทธา...มีอยู่ทุกหนทุกแห่งในลาซา



น้องหนูแก้มแดง 高原红

น้องหนูจมูกดำ เด็ก ๆ ที่ไม่สบาย นอนหลับไม่สนิท พ่อแม่จะพามาที่วัด และให้หลวงพ่อเจิมสีดำที่จมูกแล้วอาการก็จะดีขึ้น

ผู้คนในลาซา





ลาซา...ยามค่ำคืน (ถ่ายไว้ตอนหลงทาง)

ชาวทิเบตบริโภคเนื้อแพะและเนื้อจามารีเป็นหลัก ทาชิบอกว่าคนทิเบตไม่ทานสัตว์น้ำ เพราะนั่นหมายถึงจะต้องฆ่าสัตว์จำนวนมาก แต่ถ้าล้มจามารี 1 ตัว สามารถทานกันได้ทั้งหมู่บ้าน
