บ้านดวงไฟ ที่เกาะตะเภาน้อย (อ.ส.ท.)
ธเนศ งามสม...เรื่อง
ธเนศ งามสม, โสภณ บูรณประเพฤกษ์ และ ธีระพงศ์ พลรักษ์...ภาพ
เมื่อตะวันคล้อยลับขอบฟ้า ตะเกียงประภาคารเกาะตะเภาน้อยก็เริ่มส่องแสง โดยมีนายประภาคาร หรือ "คนเฝ้าไฟ" คอยตรวจตราดูแล กว่า 100 ปีล่วงเลยผ่าน ประภาคารนี้ยังคงทำหน้าที่ "ดวงประทีปแห่งท้องทะเล" นำทางเรื่อลำน้อยกลับคนแผ่นดินแม่
1. เหมือนโลกอีกใบ
คือความรู้สึกแรกที่ก้าวขึ้นเกาะเล็ก ๆ ขนาด 58 ไร่ ในทะเลอันดามัน เกาะภูเก็ตมองเห็นตรงขอบฟ้าทิศใต้ ถัดจากชายหาดรูปจันทร์เสี้ยวไปไม่ไกล คือ เกาะตะเภาใหญ่ ถึงกระนั้นก็เถอะ ก้าวแรกที่เหยียบยืนบนเกาะตะเภาน้อย อารมณ์รับรู้หนึ่งก็จู่จับโดยไม่ได้คาดหมายล่วงหน้า เหมือนโลกอีกใบ...
เราอยู่ที่นี่ 4 วัน 4 คืน โดยขอปันพื้นที่จากนายประภาคาร 2 นาย ซึ่งต่อมาเราเรียกพวกเขาว่า "คนเฝ้าไฟ" กับหมา 3 ตัว นกแก๊กฝูงหนึ่ง และสรรพชีวิตที่เติบโตผลิดอกใบอยู่บนเกาะนี้มานับหมื่นวงรอบปี เราผู้มาเยือน 4 คน บนเกาะซึ่งแทบไม่มีใครมาพักค้างแรมคืน
ขณะอยู่บนเกาะตะเภาน้อย พูดได้ว่าเวลาที่นี่หมุนไปอย่างเนิบช้า เรามองเห็นทุก ๆ องคาพยพคล้อยเคลื่อนเลื่อนไหล ตะวันส่องฉาย ปุยเมฆล่องลอย น้ำลงในยามสาย และขึ้นอีกครั้งในยามตะวันคล้อยเส้นขอบน้ำขอบฟ้า ในโมงยามเหล่านั้นเอง ที่ผมได้เรียนรู้สิ่งสำคัญลำดับแรก ๆ คือไม่ควรเรียกร้องสิ่งใดมากเกินสามัญ ไม่ควรเรียกร้องแดดสด ฟ้าคราม หรือห้ามพายุฝนฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ควรเรียกหาความคิดคำนึงจากใคร ๆ ในเมืองใหญ่แสนไกล...
อยู่บนเกาะ ชีวิตเรามีจังหวะก้าวอยู่สองแบบด้วยกัน คือ ไม่ขึ้นภูเขาก็เลาะเลียบชายหาดลงทะเล ในยามเช้าฝูงนกแก๊กมักมาเยี่ยมเราตรงชานบ้านไม้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม พันจ่าเอก สนิท แสงสุริยา นายประภาคารประจำเกาะ มักวางข้าวสุกไว้ให้พวกมันบนแป้นไม้ พอลวงบ่าย ผมจะตามพวกมันขึ้นไปบนภูเขา บางวันพวกมันพาฝูงไปหากินตามแนวหน้าผา ผมทำได้เพียงยืนมองแดดทอวับวาม นิ่งมองผีเสื้อและนกเล็ก ๆ บินร่อนใต้เรือนยอดไม้ บางเย็นผมพึงใจที่จะวางกล้องไว้ชั่วคราว ออกก้าวเดินไปบนชายหาดรูปจันทร์เสี้ยว ขณะเพื่อนบางคนใช้เวลาบนชิงช้าที่แขวนร้อยใต้ต้นมะขามใหญ่ บ้างก็อยู่กับตนเองเงียบ ๆ บนสะพานเทียบเรือซึ่งทอดยื่นออกไป บางเย็นเราดุ่มเดินขึ้นภูเขาไปกับคนเฝ้าไฟ ปีนขึ้นไปบนประภาคารเก่าแก่สีขาว เพี่อจะมองออกไปยังโลกภายนอก ซึ่งกว้างใหญ่เหลือเกินเมื่อเทียบกับเกาะที่เราอยู่เยือน
ตกค่ำพวกเรา 4-5 คน นั่งล้อมวงกันที่ชานบ้านไม้ กินอาหารที่ทำกันขึ้นเองง่าย ๆ แลกเปลี่ยนเรื่องเล่า นั่งฟังเรื่องราวอันโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา และแง่มุมชีวิตมากหลากสีสันจากคนเฝ้าไฟ 4 วัน 4 คืน บนเกาะตะเภาน้อยไม่ถือว่ายากลำบากนัก เพื่อนบางคนเอ่ยทำนองว่า นับเป็นการรอนแรมที่น่าจดจำยิ่ง ที่ได้พบโลกอันเงียบสงบเย็นใจใน พ.ศ. นี้
ผมเห็นด้วยกับเขา ระหว่างทำงานอยู่บนเกาะ ที่ถือว่ายากลำบากก็คงมีแค่เพียง หากปราศจากเสียงเครื่องปั่นไฟซึ่งดังกังวานในทุกค่ำคืนแล้ว เราก็ต้องจำทนฟังเสียงเต้นของหัวใจตนเอง
คือโมงยามแรกที่ประภาคารเกาะตะเภาน้อยปรากฏ ณ หัวเรือเบื้องหน้า ลักษณะทรงสอบสูงขึ้นไป สีขาว ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขา ชวนให้นึกถึงหนังสักเรื่อง บรรยากาศห่อห่มไว้ด้วยป่าดิบชื้น อีกทั้งมรสุมซึ่งพร้อมจะจมเรือทุกลำที่แล่นเฉียดเข้ามา ในวันแรกมาเยือน คลื่นหัวแตกม้วนเกลียวทั่วทะเลอันดามัน แดดจัดจ้า ทว่าบนภูเขาใจกลางเกาะกลับคลุมอยู่ด้วยเมฆทึมเทา
ก้าวขึ้นบนเกาะ แหงนมองขึ้นไป ประภาคารสีขาวดูราวภาพลวงตาห้อมล้อมด้วยป่าดิบดั่งผืนพรมนุ่มหนา ในวันนั้นผมเลือกที่จะแหงนมอง "เขา" อยู่ไกล ๆ ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับเขาผ่านคนเฝ้าไฟที่อยู่ร่วมมานานนับสิบปี
"ผมมาประจำเกาะนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2535" เรือโท สุชิน รักชาติ นายประภาคารเกาะตะเภาน้อยเอ่ยพลางมองแสงวับวาบบนยอดเขา หากเปรียบเขาเป็นคน ถึงวันนี้ประภาคารเกาะตะเภาน้อยก็ล่วงเลยปลายวัยชราแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2442 เขาถูกสร้างขึ้น ณ จุดสูงสุดบนเกาะนี้ หลังจากสร้างประภาคารแห่งแรกของไทยที่หินสัมปะยื้อ อำเภอสีชัง จังหวัดชลบุรี เมื่อ พ.ศ. 2434 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยภูมิประเทศดังกล่าว ใช้เวลาหลายปีด้วยความเหนื่อยยาก เขาจึงยืนตระหง่านด้วยความสูง 11 เมตร พร้อมติดตั้งตะเกียงดวงใหญ่ ซึ่งส่องนำทางแก่คนเดินเรือได้ไกลถึง 20 ไมล์ทะเล หรือ 23.70 กิโลเมตร ในทุกทิศทาง
เคียงข้างประภาคาร มีการสร้างเรือนอาศัยของคนฟ้าไฟ อาคารชั้น เดียวทรงชิโน-โปรตุกีส ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาคารแรกของจังหวัดภูเก็ต
"ยุคแรก ๆ นายประภาคารก็อยู่บ้านหลังนั้นละครับ ผมก็เคยอยู่ แต่พอเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าก็ไม่ต้องอยู่ใกล้ ๆ ตลอดเวลาได้" พี่สุชินเล่า ขณะนั้นตะวันลับเส้นขอบน้ำไปแล้ว ดวงไฟประภาคารเริ่มทำหน้าที่ตามแสงสว่างที่ลดน้อยลง ฉายแสงวับวาบซึ่งเรียกว่า "วับหมู่สีขาว" เสมือนข้อความส่งไปยังคนเดินเรือทั้งหลาย
ประภาคารแต่ละแห่งจะใช้ไฟ "วับ" ไม่เหมือนกันนะครับ มีทั้งวับหมู่และวับเดี่ยว และจะวับแตกต่างกันออกไป 256 ไฟ คนเดินเรือจึงต้องมีแผนที่เดินเรือ ซึ่งนอกจากทิศทาง ระดับน้ำ เกาะน้อยใหญ่ และโขดหินแล้ว ยังมี "ลักษณะ" ของไฟอธิบายไว้โดยละเอียด เช่น เมื่อแล่นเรือมาพบแสงวับหมู่สีขาว 6 วับทุก ๆ 15 วินาที นั่นหมายถึงเรือเข้าใกล้เกาะตะเภาน้อย อีกเพียง 30 ไมล์ทะเล ก็จะถึงผืนแผ่นดินใหญ่แล้ว
3. ดวงดาวเสมือนดวงไฟ ประดับประดาราตรีแห่งท้องทะเล
โมงยามบนเกาะทุก ๆ วันดำเนินไปเช่นนี้ เมื่อตะวันลับลา สรรพสิ่งบนเกาะก็คล้ายหยุดเคลื่อนไหว มีเพียงเสียงเกลียวคลื่นกลืนกลบผืนทราย แมลงบางสายพันธุ์กรีดปีก และถ้อยสนทนาของพวกเราจากบ้านไม้หลังน้อย เรื่องเล่าจึงเป็นความรื่นรมย์เดียวที่เรามี ขณะขอบฟ้าทิศใต้ปรากฏเกาะภูเก็ตประดับดวงไฟหลากสี
"ในหมู่นายประภาคารอย่างเรา ๆ ถ้าใครผ่านเกาะจวงมาแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวว่าที่ไหนจะลำบากอีก" พี่สุชินเริ่มเรื่องเล่า เป็นเหมือนปูมของคนเฝ้าไฟ ประภาคารเกาะจวงนับว่าเก่าแก่อันดับ 2 สร้างเมื่อ พ.ศ. 2440 ทว่าในความ "ยาก" แล้ว คนเฝ้าไฟยกให้ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยระดับปริญญาเอก ด้วยเกาะจวงตั้งอยู่ค่อนอ่าวไทย เขตอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จุดบรรจบของ "น้ำสามเส้า" กระแสน้ำไหลวนมาบรรจบกันสามสาย ที่ซึ่งท้องทะเลปั่นป่วนแทบทั้งปี
"ที่นั่นคลื่นลมแรงตลอดละครับ จะขึ้นฝั่งทีก็ยากเหลือใจ ต้องไปกันสองคน ผลัดกันถือท้ายเรือ ดูลมดูคลื่น"
จากเกาะตะเภาน้อย พี่สุชินไปประจำการที่เกาะจวงอยู่ 5 ปี ใช้ชีวิตเหมือนคนติดเกาะ มีเพียงทะเลกับกระโจมไฟเสมือนเพื่อนยาก วันเดือนผ่านไปด้วยการเดินขึ้นลงเขา ปีนขึ้นไปเติมน้ำมันตะเกียง เพี่อให้ดวงไฟวับวาบออกไปในรัศมี 29 ไมล์ทะเล ตลอด 24 ชั่วโมง ทุก ๆ วัน ตลอดทั้งปีมิให้ขาดหาย
"เกาะจวงโดดเดี่ยว แต่ธรรมชาติยังบริสุทธิ์อยู่มาก ป่าสมบูรณ์ มีผึ้งหลวงรังใหญ่ มีฝูงฮังเล (ตะทวด) ตัวยาวเป็นเมตร รอบ ๆ เกาะก็มีหมึก มีฉลามชุกชุม" ทุกวันนี้เกาะจวงไม่มีคนเฝ้าไฟทำหน้าที่แล้ว เพราะถูกลดฐานะเป็น "กระโจมไฟ" ทำงานอัตโนมัติโดยพลังงานแสงอาทิตย์ และการควบคุมผ่านระบบออนไลน์
แรกเริ่มเดิมทีในกาลก่อนคนเดินเรือมีเพียงกระโจมไฟธรรมชาติอย่างเปลวไฟบนภูเขาไฟเป็นหมุดหมาย ต่อมาจึงคิดสร้าง "ดวงไฟ" โดยก่อกองไฟบนที่สูงที่เป็นจุดหมาย ต่อมาประภาคารแห่งแรกก็ถือกำเนิดขึ้น เมื่อ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ณ แหลม incihisari ตำบล Troad หรือประเทศตุรกีในปัจจุบัน มีผู้คอยดูแลและเติมเชื้อฟืนตลอดเวลา ล่วงผ่านมากว่าสองพันปี ทุกวันนี้ประภาคารและกระโจมไฟยังถูกสร้างขึ้นเรื่อย ๆ ตามหมู่เกาะห่างไกล โขดหิน ปลายแหลม และปากแม่น้ำบนผืนแผ่นดินใหญ่ บางแห่งถูกยกระดับความสำคัญด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ การเมือง เชื้อชาติ ขณะบางแห่งจำต้องลดฐานะลงเพื่อความเหมาะสมในการดูแล
ดังเช่นประภาคารเกาะจวง ที่เปลี่ยนหน้าที่เป็นกระโจมไฟเมื่อ พ.ศ. 2540 ด้วยเหตุผลมากหลาย หนึ่งในนั้นคงมีเรื่องราวของสองพ่อลูก-นายประภาคารกับลูกสาวตัวน้อย ที่ผู้พ่อหายสูญไปกับพายุร้าย...
ที่เกาะตะเภาน้อย ตารางชีวิตเราแสนเรียบง่าย เช้า...ไม่รอคอยนกแก๊กก็ออกไปถ่ายภาพที่ชายหาด บ่าย ๆ เดินขึ้นภูเขา ไปเยือนประภาคารเก่าแก่ของคนเฝ้าไฟ ในวันที่สองผมขึ้นไปเยือนป้อมปืนด้านตะวันตกของเกาะ ป้อมนี้สร้างโดยทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างใช้เกาะนี้เป็นจุดตรวจตราทะเลอันดามัน
กาลเวลาล่วงผ่านป้อมปืนซึ่งเคยแข็งแกร่งเหลือเพียงซากฐาน รายล้อมด้วยหมู่ไม้และเรือนยอดสอดสาน ที่มั่นคงกว่าคงเป็นต้นตะแบกใหญ่ ซึ่งแผ่กิ่งสาขาประหนึ่งป้อมปืนโบราณ เช่นเดียวกับที่ชายหาด เนิ่นนานมาแล้วที่ชาวเลลงหลักสร้างเรือนอาศัย กระทั่งเกิดอหิวาตกโรคระบาด ผู้คนล้มตายดั่งใบไม้ปลิดปลิว พวกเขาจึงย้ายไปอาศัยบนฝั่งภูเก็ต สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือต้นมะขามใหญ่หลายคนโอบรอบ กับต้นมะพร้าวสูงชะลูดเคียงเรือนยอดไม้
ระหว่างทางขึ้นภูเขา เรายังพบต้นยางพาราเก่าแก่ แซมแทรกอยู่กับไม้ป่าอย่างกลมกลืนน่าชม ยอดอ่อนของมันคืออาหารโปรดของฝูงนกแก๊ก ขณะต้นที่กำลังผลัดใบสีส้มแสดนั้นราวแต้มสีประดับประดาโลกใบน้อย ในวันสุดท้าย ผมขึ้นไปเยือนป้อมปืนอีกครั้ง และใช้ทางแยกขวาก้าว ขึ้นไปเยือนประภาคารสีขาว
"เรามาช้าเกินไป" ผมบอกเพื่อน ๆ ขณะท้องฟ้าปกคลุมด้วยหมู่เมฆหนา
เย็นวันนั้น ขณะตะวันจวนลับ เรา 3-4 คน ขึ้นไปเยือนยอดประภาคาร ทอดตาชมโลกกว้างเคียงข้างตะเกียงซึ่งกำลังจุดไฟฉายแสงวับวาบ ไกลออกไปทางทิศใต้ ปรากฏเกาะภูเก็ตประดับดวงไฟลานตา ถัดมาทางทิศตะวันออก-ด้านซ้ายปรากฏเกาะราชาใหญ่ เกาะไม้ท่อน เกาะยาวน้อยมองเห็นราง ๆ ตรงเส้นขอบฟ้า ขณะใกล้ ๆ เรายามนี้ บนยอดมะขามใหญ่ นกแก๊กคู่หนึ่งกำลังป้อนแมลงให้แก่กัน ดั่งสัญญาณว่าฤดูรักของพวกมันกำลังเริ่มต้นแล้ว
"สวยงามใช่ไหมครับ ต้องขึ้นมาบนนี้ ถึงจะเห็นภาพแบบนี้" พี่สุชินเอ่ยพลางยิ้มสบายใจ พร้อม ๆ กับตะวันลาลับ ฝนก็พรมละอองโปรยปราย เรา 3-4 คน ยืนพิงขอบตะเกียงอย่างไม่อนาทรใด ๆ ภาพเบื้องหน้านั้นสวยงามเหลือเกิน โลกสีครามรายรอบนั้นก็งดงามยิ่ง
"ตอนเป็นทหารเกณฑ์ผมได้ประจำทางเรือสุริยะ เป็นเรือแจกจ่ายเชื้อเพลิงและซ่อมบำรุงประภาคารทั่วทะเลไทย เราออกเดินทางคราวละ 7 เดือน จากตะวันออกไปตะวันตก จากอันดามันถึงอ่าวไทย" พี่สุชินเล่าขณะตรวจตราดวงไฟ
"จนใกล้ปลดประจำการ ไม่รู้อย่างไร จะว่าผูกพันก็ใช่ ผมขอสมัครลงกองเครื่องหมายทางเรือ" แล้วนับจากนั้น เขาก็เหมือนคนเฝ้าไฟทั้งหลาย ผู้ใช้ชีวิตตามประภาคารต่าง ๆ กลางบรรยากาศโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาบนเกาะน้อยใหญ่
"ประภาคารคือดวงประทีปแห่งท้องทะเล" พี่สุชินเอ่ยท่ามกลางความสงัดเงียบ ดวงไฟวับวาบทั้ง 6 ด้าน หมุนวนราวดวงดาวส่องฉาย ถึงตรงนี้ ผมไม่รู้แน่ชัดหรอกว่าดวงไฟข้าง ๆ ตัวมีความหมายมากเพียงใด ทว่าเมื่อนึกถึงนายประภาคารและลูกสาวตัวน้อยที่เกาะจวง นึกถึงยามที่ตนโดยสารเรือออกไปในท้องทะเล มันจะอ้างว้างสักเพียงใด หากเราล่องลอยอยู่ในทะเลโดยปราศจากแสงไฟสักดวง ปราศจากจุดหมาย...
ขอขอบคุณ
กองเครื่องหมายทางเรือ
กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
เรือโท สุชิน รักชาติ, พันจ่าเอก สนิท แสงสุริยา นายประภาคารเกาะตะเภาน้อย
คุณฐาพล สมสกุล และต้น, พี่ชาย สำหรับมิตรภาพ
ทั้งนี้ ชมภาพเคลื่อนไหวเพิ่มเติมได้ เฟซบุ๊ก Tanes Ngamsom
คู่มือนักเดินทาง
เกาะตะเภาน้อย อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ เป็นเกาะเล็ก ๆ เนื้อที่ 58 ไร่ ห่างจากเกาะภูเก็ต 15 นาที โดยทางเรือ บนเกาะเปิดให้ผู้คนทั่วไปเที่ยวชม ทั้งประภาคารอาคารเก่าแก่สถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส ป้อมปืนทหารญี่ปุ่น และฝูงนกแก๊ก-นกเงือก ซึ่งอาศัยทำรังเลี้ยงลูกอยู่บนเกาะ
เนื่องจากบนเกาะยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ หากต้องการพักค้างคืนจะต้องเตรียมอาหารและเต็นท์ไปให้พร้อม ไฟจะเปิดเป็นเวลาโดยใช้เครื่องปั่นไฟ
การเดินทาง
จากเกาะภูเก็ต ข้ามเรือสะดวกสุดที่ท่าเรือศุลกากร หรือที่ท่าเรืออ่าวขามโดยเช่าเหมาเรือ หรือสอบถามได้ที่ เรือโท สุชิน รักชาติ โทรศัพท์ 08 4625 9067
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 53 ฉบับที่ 8 มีนาคม 2556