MOCA หออาร์ทมีดี มากกว่าสถานที่พบรักของสาวตั๊ก (e-magazine)
ผู้นิยมเรื่องของชาวบ้านโดยเฉพาะเรื่องรัก ๆ ของดารา คงไม่มีใครไม่ติดตามนิยายรักระหว่างสาวทรงสะบึม ตั๊ก บงกช คงมาลัย กับเจ้าสัวหนุ่มใหญ่อดีตเจ้าพ่อดีแทค บุญชัย เบญจรงคกุล ที่ออกมาประกาศว่าจะพิธีหมั้นหมายในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 หลายคนอาจอุทานอยู่ในใจว่า OMG! เพราะชะตาฟ้าลิขิตหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลใจให้เกิดรักต่างขั้วต่างวัยในครั้งนี้ หรือเป็นเพราะ "ของดี" ที่ต่างฝ่ายต่างมี ไม่ว่าจะเป็นความมั่งคั่งของเจ้าสัวบุญชัย หรือความเซ็กซี่บาดใจของนางเอกสาว แค่นี้ก็ทำให้นักข่าวและคนช่างเม้าท์ได้เอาไปพูดกันเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ แห่งปีเรื่องหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว
แต่ในส่วนที่ลึกซึ้งกว่าเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ โดยเฉพาะหากใครได้ติดตามถึงการเปิดใจของคนทั้งคู่ ก็จะรู้ว่า นอกจากเรื่องธรรมะที่ทั้งคู่เขาบอกว่าทำให้ "คลิก" กันแล้ว ทั้งคู่ยังอ้างอิงสถานที่หนึ่งซึ่งถือเป็น "จุดพบรัก" ระหว่างกันด้วย จุดพบรักที่ว่าคือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ MOCA (Museum of Contemporary Art) ที่ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ติดกับอาคารเบญจจินดา เลียบถนนโลคัลโร้ด อันเป็นฐานที่มั่นของตึกยูคอมเก่า อาณาจักรทางธุรกิจโทรคมนาคมของเจ้าสัวบุญชัยนั่นเอง
อย่างที่หลายคนทราบกันว่า เจ้าสัวบุญชัยนั้น เป็นนักสะสมศิลปะตัวยง โดยเฉพาะภาพเขียนและงานจิตรกรรมที่เก็บสะสมเรื่อยมากว่า 35 ปี และไม่ได้เก็บแบบเศรษฐีเก็บของสะสมเล่น ๆ แต่เก็บกันถึงขั้นจริงจัง ลงทุนศึกษาทั้งผลงานของศิลปิน ทั้งออกเดินทางหาแรงบันดาลใจที่จะนำมาสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ด้วยเพราะอยากให้เมืองไทยมีห้องแสดงผลงานที่ทัดเทียมกับนานาชาติและเป็นตัวแทนแห่งความภาคภูมิใจในศิลปะของไทยด้วยเช่นกัน จึงกำเนิดเป็นหอศิลป์ "ร่วมสมัย" บนเนื้อที่ 20,000 ตารางเมตรพร้อมความสูงขนาดเท่าตึก 10 ชั้น แต่ให้ขนาดความสูงของแต่ละชั้นแตกต่างกันไป
ซึ่งเหตุที่ต้องนำเสนอในแบบของหอศิลป์ร่วมสมัย เจ้าสัวบุญชัยก็เผยว่า เป็นแนวทางที่เจ้าตัวคุ้นเคยกว่า เพราะตัวเองไม่ใช่คนที่เน้นไปที่ผลงานเก่าเก็บเชิงวัฒนธรรมหรือล้ำสมัยจนโมเดิร์น ทางแห่งศิลป์ที่เลือกเดินจึงบรรจบกันที่จุดนั้น อาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย โดดเด่นสะดุดตาตรงตึกสูงรูปทรงสามเหลี่ยมมีมิติ ประดับตัวอาคารด้วยหินสลักลายก้านมะลิและหินฉลุที่เปิดรับแสงและสร้างบรรยากาศที่ต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา ด้านหน้าอาคารมีพุ่มดอกบัวกลางบ่อสวย ผลงานประติมากรรมของอาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผลิน ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ปี 2549 ช่วยเรียกเร้าและกระตุ้นต่อมศิลปะเป็นน้ำย่อยก่อนเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์ได้ดีทีเดียว
เราอยากรู้ว่าบรรดางานจิตรกรรมที่เขาว่ากันว่าเป็นของสะสมมูลค่ากว่าพันล้านบาทของเจ้าสัวบุญชัย ซ้ำยังมีมูลค่าสูงกว่าการสร้างอาคารแห่งนี้ทั้งหลังนั้น จะมีผลงานใดที่เด็ดดวงถึงขั้นที่ว่าคนรักงานศิลป์ต้องกำซาบและทำให้ผู้ชมหน้าใหม่ ๆ ได้ตาลุกวาว เราก็ต้องเริ่มจากชั้นแรกก่อน ชั้นนี้ทาง MOCA ใช้เป็นห้องนิทรรศการหมุนเวียน จึงมีการเปลี่ยนผลงานแสดงเพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสกับผลงานที่หลากหลาย ผสานไปกับห้องจัดแสดงนิทรรศการเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่คุณบุญชัยให้ความเคารพยิ่งในฐานะปูชนียบุคคลจุดประกายศิลปะสมัยใหม่ในเมืองไทย ที่ให้ยืมผลงานของท่านมาจัดแสดงเป็นเวลาหกเดือน และยังมีห้องนิทรรศการถาวรของศิลปินแห่งชาติสองท่าน คือ ห้องนิทรรศการถาวรงานประติมากรรมของศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ไพฑรูย์ เมืองสมบรูณ์ และห้องนิทรรศการถาวรแสดงงานจิตรกรรมของศิลปินแห่งชาติ และศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ
และชั้นล่างนี่เอง ที่คุณบุญชัย ได้จัดพื้นที่ไว้ส่วนหนึ่งเป็นส่วนแสดงภาพวาดฝีมือตัวเอง ที่พิศไปมาแล้วจะต้องร้องอ๋อ ก็เพราะว่าเป็นภาพเดียวกับที่กำลังเป็นข่าวหน้าหนึ่งในตอนนี้ กับภาพเหมือน ตั๊ก บงกช ที่เจ้าสัวจรดปลายพู่กันด้วยแรงบันดาลใจจากหน้านิตยสาร จนได้มาพานพบรักกันที่หอศิลป์แห่งนี้นี่เอง
ส่วนชั้นสอง สาม สี่ และห้า ก็ยังคงเป็นห้องนิทรรศการถาวรเช่นกัน โดยเป็นการนำผลงานในคอลเลคชั่นส่วนตัวของคุณบุญชัยมาจัดแสดงทั้งสิ้น บางภาพศิลปินก็ตั้งใจเขียนขึ้นใหม่ให้อยู่คู่ผนังห้องจัดแสดงตลอดไป อย่างเช่นภาพ ไตรภูมิ ของสามศิลปินอย่าง สมภพ บุตราช, ปัญญา วิจินธนสาร และ ประทีป คชบัว ซึ่งถ่ายทอดภาพวาดเชิงปรัชญามาประทับไว้บนผนังสูงถึง 7 เมตรนี้
ทางคุณบุญชัยยังบอกด้วยว่า หากจะชื่นชมภาพทั้งหมดเพื่อเปิดโลกทัศน์ก็คงกินเวลาเป็นชั่วโมง แต่หากจะชื่นชมเพื่อพิจารณาในปรัชญาของภาพเพื่อสื่อสารกับแนวคิดของศิลปิน ก็เชื่อว่าอาจกินเวลากันเป็นครึ่งค่อนวันได้
มีอยู่ห้องหนึ่งที่คุณบุญชัยถึงกับออกปากเชื้อเชิญด้วยตัวเองว่า หากมาถึงแล้ว จะไม่หยุดดื่มด่ำชื่นชมที่ห้องนี้ไม่ได้เป็นอันขาด คือห้องแสดงผลงานของ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินผู้เอกอุและมีสัมพันธ์ฉันท์ปิยมิตรร่วมกับคุณบุญชัยมาช้านานทั้งในฐานะกัลยาณมิตรสืบสานศิลปะ และในฐานะเพื่อนพึ่งพาในยุคที่ธุรกิจของคุณบุญชัยเข้าสู่ยุคฟองสบู่แตก ซึ่งในครั้งนั้น อาจารย์ถวัลย์ ได้กรุณามอบภาพเขียนจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นกำลังใจ และหมายจะให้เป็นการช่วยเหลือหากภาพเขียนที่มีมูลค่านับร้อยล้านบาทจะช่วยกอบกู้ธุรกิจของคุณบุญชัยในขณะนั้นได้ ฉะนั้น แม้เพียงได้แวะเข้ามาชมภาพวาดสีน้ำมันลงทองคำเปลวบนผืนผ้าใบ กับภาพหาชมยากที่มีเพียงคุณบุญชัยเท่านั้นที่ได้ครอบครอง ก็ต้องถือว่าคุ้มค่ายิ่งเมื่อเทียบกับบัตรเข้าชมราคา 180 บาทสำหรับราคาผู้ใหญ่
ส่วนที่แซมเสริมเข้ามาพอให้บรรยากาศไม่จำเจ ยังมีทั้งภาพเขียนของศิลปินต่างประเทศ บางภาพเก่าเก็บและมีอายุ 270 ปี ตลอดจนประติมากรรมบางส่วนที่คุณบุญชัยบอกว่า หากหอศิลป์แห่งนี้ยังคงยืนหยัดอยู่รอดจนถึง 10 ปีข้างหน้า ก็จะพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะประจำชาติที่ครบถ้วนและขึ้นหน้าขึ้นตาในระดับสากลต่อไป
ผู้เขียนยอมรับว่า ก่อนที่จะเข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยนั้น ส่วนหนึ่งได้ตั้งธงเองแต่แรกว่านี่ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ คงไม่อาจศึกษาภาพเขียนต่าง ๆ ด้วยความชื่นชมอย่างสนิทใจนัก ประกอบกับเสียงวิจารณ์ต่าง ๆ นานาในการสร้างพิพิธภัณฑ์นี้ก็ชวนให้ฉุกคิดอยู่เหมือนกัน ทั้งเสียงบางส่วนที่บอกว่า ที่นี่ก็เป็นแค่ "ตู้โชว์" ของสะสมของเศรษฐี จึงตีกรอบเสร็จสรรพไม่เปิดรับการเสพผลงานและไม่เปิดใจใด ๆ ทั้งสิ้น บางส่วนก็บอกว่าเป็นคอนเนคชั่นแคบ ๆ ของกลุ่มศิลปินใหญ่กับตัวของเจ้าสัวบุญชัยที่จะได้ชื่นชมกันเองในกลุ่มก้อน หากใครตีตั๋วเข้าไปชมก็เหมือนคนวงนอก ยากที่จะดื่มด่ำกับผลงานโดยไร้ความรู้ห่างเหินนี้ออกไปได้
แต่เมื่อได้เข้ามาชมแม้เพียงเท่าที่เวลาจะอำนวย ก็อดไม่ได้ที่จะขอชื่นชมในความตั้งใจของคุณบุญชัยที่ก่อร่างสร้างสิ่งที่รักออกมาเผื่อแผ่ให้ทุกคนได้ชื่นชม และหวังจะทลายอุปสรรคสำคัญคือ "ทัศนคติ" ที่อยู่ในใจของทุกคนที่ยังไม่เคยได้มาชม ส่วนหนึ่งก็คือพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2555 จึงถือว่ายังใหม่และยังมีโอกาสให้ปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในส่วนของการให้ข้อมูลแก่ผู้เข้าชมคนไทย ซึ่งมักไม่ค่อยเปิดใจรับกับงานจัดแสดงที่ต้องใช้ความคิดและจินตนาการคู่ขนานไปกับความเพลิดเพลิน
พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย เปิดให้บริการวันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. - 18.00 น. ส่วนค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 180 บาท, นักเรียน 80 บาท, พระภิกษุ สามเณรผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ไม่เสียค่าเข้าชมหากแสดงบัตรประจำตัว และหากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ก็สามารถโทรมาสอบถามได้ที่ 0-2953-1005-7
คนที่มีใจรักในงานศิลปะโดยเฉพาะจิตรกรรมที่ร่วมสมัย และอยากรู้จักผลงานของศิลปินไทยในคอลเลคชั่นของเจ้าสัวบุญชัยว่ามีคุณค่าเพียงใด ก็ลองแวะมาพิสูจน์ให้เห็นด้วยตาตัวเองดู แล้วจะรู้ว่า "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" ดังปรัชญาของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี นั้นจริงแท้ขนาดไหน เพราะแม้แต่เจ้าสัวบุญชัยเอง ก็ได้ศิลปะนี่แหละ ที่แตกหน่อหล่อเลี้ยงหัวใจให้ชุ่มชื่นจนใครต่อใครยังต้องพากันอิจฉา