




ลมหายใจแห่งท้องทะเลสู่เสียงกระซิบของขุนเขาและต้นไม้โบราณ...พังงา (อสท)
หัสชัย บุญเมือง และ จันทร์เพ็ญ บุญวิภารัตน์...เรื่อง
หัสชัย บุญเนือง, พงษ์ระวี แสงแข, สุทธา สถาปิตานนท์ และสมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์...ภาพ
พระจันทร์เหลืองนวลตาลอยเด่นอยู่ท่ามกลางสีน้ำเงินเข้มของท้องฟ้า ตีนฟ้าทางเบื้องตะวันออกกำลังยกขึ้น เวลาของอรุณรุ่งกำลังเปลี่ยนสลับในทุกนาที จากเรื่อเรืองเหนือทิวเขาหินปูนในผืนทะเล สีชมพูหวานกำลังสะท้อนขึ้นจับเมฆพร้อม ๆ กับเสียงอะซานจากมัสยิดดังกังวาน เนิบช้า ทว่าสะท้อนเข้าไปในหัวใจ
ช่วงเวลายามแสงแรกของวันมีความงดงามในความคิดต่างกันออกไป ขณะนี้แสงที่จับอยู่เหนือขอบฟ้านั้นช่างอิ่มเอมใจนัก เพราะสีส้มจัดและเงาสร้างพลังให้สิ่งที่เราเห็นได้มากมายเหลือเกิน แม้จะเป็นระยะเพียงไม่นานนัก ทว่ามีความหมายสำหรับการเฝ้ารอเวลาของการบันทึกภาพ ที่สำคัญ...เรื่องราวของหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ แห่งนี้กำลังจะเริ่มต้นขึ้น...สามช่องใต้

กลิ่นอายอุ่นในคาวทะเล
จากสีหวานของผืนฟ้ายามเช้าแปรเปลี่ยนเป็นสีทองมลังเมลือง เรือหลายลำกำลังเร่งเครื่องยนต์เพื่อออกไปเก็บสินในน้ำที่ลงแรงดักไว้ เขาคงหวังให้อวนเต็มไปด้วยปู ปลา หรืออย่างน้อยก็ขอให้คุ้มค่าน้ำมัน และมีรายได้กลับมาไว้ซื้อของใช้บ้างก็พอ ผมยืนมองแสงของวันค่อย ๆ แผดกล้า ลมทะเลพัดเอากลิ่นคาวคุ้นเคยมาจากผืนน้ำ มันเป็นกลิ่นเค็ม ๆ คาว ๆ ของน้ำเค็มผสมกับโคลนชายฝั่ง หากไม่ชินจมูกก็คงบอกว่าไม่น่าสูดเข้าไปสักเท่าไหร่ ทว่าคนที่นี่รู้ดีว่ากลิ่นแบบนี้คือสิ่งที่ให้ชีวิตมาหลายชั่วอายุคน
ผมเดินไปตามถนนคอนกรีตเล็ก ๆ เลาะเลียบผ่านบ้านหลายหลัง เรือหลายลำยังคงนิ่งอยู่กับไม้หลักและมีน้ำปริ่ม เช้านี้เจ้าของเรือลำนั้นคงยังไม่ออกทะเล อาจจะพักผ่อน ซ่อมอวน หรือไม่ก็ยังไม่ถึงเวลาของเขาผืนน้ำเรียบกริบในเวลาที่สายลมหยุดโบกในช่วงที่น้ำขึ้นเต็ม และบางเวลาเรามองเห็นริ้วคลื่นเล็ก ๆ โดนฉาบด้วยแสงสีของวัน มันเป็นภาพแห่งความอบอุ่นจริง ๆ

นกยางยืนนิ่งเกาะบนหลักไม้เพื่อรอเหยื่อ คล้ายกับลอบหรืออวนของชาวประมงที่ลงไปอยู่ในท้องทะเลด้วยความนิ่ง รอเวลาให้สัตว์น้ำมาติด บางวันอาจจะอิ่มหรือเต็มลำเรือ แต่บางวันก็ได้เพียงแค่พอค่าน้ำมัน นกล่าเหยื่อริมน้ำอีกชนิดบินฉวัดเฉวียนมาเกาะเสาปูนห่างไปไม่ไกลนัก ผมวางกระเป๋าเปลี่ยนเลนส์เป็นเทเลโฟโต้ ระยะ 400 มิลลิเมตร ประกอบกับขาตั้งกล้องอย่างไม่เร่งรีบ โฟกัสช้า ๆ เย็นใจ และกดชัตเตอร์ด้วยความประณีต นกปีกสีฟ้า หน้าอกขาว ปากยาวใคร ๆ ต่างรู้จักกันในชื่อ นกกินเปี้ยว แม้ว่าส่วนใหญ่จะกินปลาเล็ก ๆ ก็ตาม ผมขยับเข้าใกล้จนเต็มระยะเลนส์ พร้อมแสงที่ฉาบลงที่ตัวนกดูงดงามสบายตายิ่ง
จากสะพานท่าเทียบเรือที่ยื่นลงไปสู่ผืนน้ำ ผมกลับเข้ามาและเดินไปยังทางคอนกรีต ได้รับการทักทายจากเจ้าบ้านใจดีหลายคน เราคุยกันถึงความเป็นไป ความเป็นอยู่ น้ำขึ้น น้ำลง พระอาทิตย์งาม และช่างภาพที่แวะเวียนกันมาเยือนอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งหลายคนบอกว่า ก็ดีนะ ทำให้หมู่บ้านดูคึกคักตั้งแต่เช้าตรู่
"บางทีก็มากันหลายสิบคน ยืนเรียงกันเต็มสะพานปลาเลยละ" ใครบางคนให้คำตอบเราไว้ก่อนจะลงไปดันเรือออกจากท่า อีกมุมเสียงใครบางคนตะโกนยืมน้ำมันเรือสักสิบลิตร "ชีวิตของสังคมเล็ก ๆ ก็เป็นอย่างนี้แหละ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อะไรช่วยกันได้ แบ่งปันกันได้ก็ช่วยกัน จะให้ใจไม้ไส้ระกำกันไม่มีประโยชน์ ปู ปลา หมึก กุ้ง ก็ฝากขาย ไม่มีโกง ทะเลเป็นของทุกคน แต่ก็ต้องรู้ว่าใครหากินอยู่ตรงไหน ไม่ไปทับกัน มันน่าเกลียด" คนที่ส่งน้ำมันในแกลลอนสีทึบลงไปในเรือบอกกับผม
ร้านกาแฟแห่งเดียวของหมู่บ้านเปิดแล้ว น้ำร้อนในเตาพุ่งขึ้นเป็นไอ ผมสั่งกาแฟมาดื่มหนึ่งแก้ว และมีข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวเหลือง ปาท่องโก๋ ให้เลือกมาเป็นของแกล้ม อาจจะต้องบอกไว้สักนิดว่า คนในหมู่บ้านสามช่องใต้นิยมดื่มกาแฟเข้ม ๆ ค่อนไปทางหวานจัด หากจะให้ดีก็คงต้องบอกว่าให้ลดปริมาณนมข้นหวานลงสักหน่อย ส่วนใครชอบหวาน ๆ รับรองว่าถูกปากครับ
คงเป็นเหมือนปกติละครับ หากต้องการทราบอะไรเกี่ยวกับหมู่บ้านใด ก็ต้องไปนั่งหาข่าวในร้านกาแฟ วันนี้ผมนั่งเพียงไม่นานนัก ก็ได้ข่าวถึงราคาปูม้า ปลากระบอก ราคาน้ำมัน ดิน ฟ้า อากาศ ทั้งยังได้รู้ว่าคนทะเลไม่พูดถึงวันที่ แต่พูดข้างขึ้น ข้างแรม และกี่ค่ำ น้ำขึ้น น้ำลง น้ำทรง น้ำตาย เพราะสิ่งเหล่านี้คือชีวิตและลมหายใจ...ทุกสิ่งหลอมรวมกันจนเป็นกลิ่นคาวทะเลที่อาบทุกชีวิตไว้อย่างอบอุ่น...

วิถีผู้คนบนเกลียวคลื่น
หลังจากชาจีนร้อนหอมดอกมะลิหมดแก้ว เราจ่ายเงินและเดินออกจากร้านเพื่อไปยังจุดนัดหมายลงเรือ สำหรับการเข้าไปสัมผัสวิถีประมงพื้นบ้านแบบใกล้ชิด ตอนแรกก็ว่าจะขอติดเรือไปด้วย แต่เจ้าของบอกว่าเป็นเรือลำเล็ก แค่เอาอวนขึ้นมากองก็เพียบ (ขอบเรือปริ่มน้ำ) แล้ว เลยได้เรืออีกลำซึ่งเป็นบ้านติดกันให้พาไปดูไปรู้ และทำความเข้าใจ ผมเลยได้โอกาสสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ ไปในตัว ที่สำคัญ สองครอบครัวนี้ทำประมงคนละประเภทเสียด้วย
เรือลำเล็กออกไปเก็บอวนปูที่วางไว้ตั้งแต่เมื่อวานเย็น ส่วนลุงคนที่พาเราไปถ่ายภาพทำอวนปลากระบอก ออกไปวางห่างฝั่งทั้งคืน เพิ่งกลับมาได้ไม่นาน แต่ก็ยังมีแรงเหลืออีกเยอะ แค่นี้สบายมาก...ราว ๆ เจ็ดโมงเช้าผมและช่างภาพอีก 2 คนลงเรือลำเขื่อง ที่ บังหมัด หรืออย่างพวกเราน่าจะเรียกว่า ลุงหมัด มากกว่า แจวออกจากหน้าบ้าน ช่วงนี้น้ำยังขึ้นเต็ม จะเริ่มลงตอนสาย ๆ เป็นต้นไป

"เรือแจวนี่มีไม่กี่ลำแล้วนะ ส่วนใหญ่หากวางอวนปู อวนปลาทั่วไป วางลอบ ก็มักจะเอาออกหมด เพราะมันไม่สะดวก มีแต่เรือปลากระบอกนี่แหละ ที่ยังมีแจว" บังหมัด บอกกับพวกเราเมื่อเรือพ้นออกจากโป๊ะสุดท้าย
ผืนป่าชายเลนขยับเข้าใกล้เรามากขึ้น หมู่บ้านสามช่องใต้ห่างออกไปพร้อมกับจังหวะแจวกินน้ำ มองย้อนกลับไปยังหมู่บ้านเห็นได้ถึงความสงบของที่นี่ เรือหลายลำชะลอเครื่องลงเมื่อกำลังจะผ่านเรา พร้อมตะโกนถามสารทุกข์สุกดิบกันอย่างไม่เร่งรีบ
"เรือปลากระบอกเหลือไม่เยอะหรอก ก็ยังพอหากินได้ไม่ลำบาก ขยัน ๆ หน่อยอยู่ได้สบาย ไม่เดือดร้อน กลางคืนหาปลา กลับมาตอนเข้าก็นอนสักตื่น รอบ่าย ๆ พอน้ำลงไปหาหอยนางรมในป่าชายเลน ช่วงน้ำตายออกเรือไม่คุ้มก็วางลอบปู มันวน ๆ เวียน ๆ อย่างนี้มาทั้งชีวิต" บังหมัด ตอบคำถามถึงเรื่องราวในแต่ละวันว่าออกไปทำอะไรบ้าง นอกจากออกหาปลากระบอกในเวลากลางคืน

เพียงไม่กี่อึดใจเราก็เจอเรือของ ก๊ะฟาร์ พี่สาวใจดีที่ชวนผมคุยตั้งแต่ยังไม่สว่างให้มาดูการทำงาน และเมื่อไปถึงก็เห็นเธอกำลังสาวอวนขึ้นมาจากท้องน้ำอย่างไม่เร่งรีบ ทว่าเป็นจังหวะที่ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยมีสามีคอยคุมหางเรือเอาไว้ ไม่นานนักสินในน้ำก็ทำให้เราเผลอยิ้ม แต่หาใช่ปูอย่างที่หวังไว้ เป็นแมงดาทะเลสีดำตัวไม่ใหญ่
"ตัวเล็ก ๆ แบบนี้ไม่เอาหรอก ถ้าตัวใหญ่มีไข่ก็ขายได้นะ ตัวละร้อยบาท" ก๊ะฟาร์ บอกกับเราพร้อมปลดออกอย่างทะมัดทะแมง แล้วเหวี่ยงลงน้ำเหมือนเดิม สาวมาได้อีกสักครู่ก็ติดปูตัวเขื่องขึ้นมา ตัวใหญ่ ๆ แบบนี้น่าจะเกือบ 2 ขีด ขนาดนี้ขายได้ราคาดี ไม่นานก็ติดหอยขึ้นมาบ้าง เม่นทะเลตัวเล็ก ๆ ขึ้นมาบ้างสลับกันไป
"วางไว้ 3 หัว ไม่ได้ไปไหนไกล ๆ อยู่แถวนี้แหละ พอได้กิน ไม่ลำบากหรอก วันละ 3 – 5 กิโลกรัม ได้แน่ ๆ เฉลี่ยก็ตกวันละสามสี่ร้อยบาท" แกบอกกับเราพร้อมทิ้งอวนลงไปในทะเลอีกครั้งหลังจากสาวจนสุด แล้วพรุ่งนี้เช้าค่อยมาเก็บ เป็นอย่างนี้ไปตลอด ยกเว้นช่วงน้ำขึ้นเยอะ ๆ ลงเยอะ ๆ ก็จะไม่วางอวน เพราะในทะเลมักเต็มไปด้วยขยะ และน้ำเชี่ยวเกินไป
เราตามคุย ตามเก็บอวนปูได้ความรู้มากมาย ทั้งจาก บังหมัด ก๊ะฟาร์ เรื่องราวของวิถีชีวิตผู้คนริมชายฝั่งแห่งนี้ยังคงนิ่งสงบ ดุจดังผืนน้ำในวันพระจันทร์เต็มดวง สงบงามและอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นชีวิตที่น่าอิจฉาเหลือเกิน เรามองเห็นสิ่งงดงามเหล่านี้ได้ไม่ยาก แต่จะไปทำเอง หรืออยู่แบบนี้ได้หรือ...ผมลองถามตัวเอง ไม่มีคำตอบจากคนเมืองอย่างผม หากตอบให้หล่อคงบอกได้ว่า ต้องอยู่ได้หากเราตั้งใจจะอยู่กับวิถีงามเยี่ยงนี้ แต่หากตอบจากความเป็นจริงในหัวใจ คงต้องบอกว่าไม่สามารถ เพราะทุกสิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้มีชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ต้องอยู่หรือสู้ได้ ทว่ามันเป็นจังหวะของชีวิตที่สืบทอดมาตามสายเลือด ภูมิปัญญาต่าง ๆ ส่งผ่านคล้ายเกลียวคลื่นที่โถมเข้าฝั่ง...ใช่เราคงได้แค่มาเยือน กลับไปอย่างอิ่ม และมีชีวิตให้เต็มคุณค่า
"เรามีชีวิตต่างกัน คุณถ่ายภาพได้ เขียนหนังสือเป็น แต่ผมหาปลาได้ จับปูเป็น" บังหมัด พูดยิ้ม ๆ ก่อนที่จะส่งเราขึ้นฝั่ง

รอยเท้าบนผืนทรายหัวใจในฟองคลื่น
สายลมพัดทิวมะพร้าวให้โยกไกวไปตามจังหวะของทะเล เกลียวคลื่นกรูเข้าหาฝั่งอย่างไม่ลดละ ชายหาดยาวทอดไกลสุดสายตา วันนี้เรียบเนียนไร้รอยเท้า จะมีก็เพียงรอยเท้าของเราเท่านั้นที่ย่ำลงไป สะพานเก่าแก่ที่เป็นเสมือนตัวแทนของอดีตยังคงทอดยาวลงสู่ท้องทะเล เสาเหล็กที่โดนเค็มทะเลกัดร่อนยังคงยืนหยัดมาถึงวันนี้ แม้จะมีสภาพไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็ยังทำให้เราได้เห็นอดีตไปกว่าครึ่งศตวรรษ บริเวณนี้นับเป็นจุดชมพระอาทิตย์ลับฟ้ายอดนิยมในเวลานี้จริง ๆ เพราะช่างภาพมากมาย หากวนเวียนมาภูเก็ต พังงา ต้องมาที่ "ชายหาดเขาปิหลาย" แต่จะสวยงามหรือชวนประทับใจอย่างไรนั้น ไปสัมผัสด้วยกันนะครับ
"สมัยเมื่อห้าสิบปีก่อน หน้าหาดแถวนี้เต็มไปด้วยเรือขุดแร่ สะพานที่เห็นก็ทำไว้เพื่อเอาแร่ขึ้นมา บนสะพานก็มีราง เอาไว้ลากแร่ขึ้นมาบนฝั่ง" สมภู เสาวคนธ์ ชายวัยปลายห้าสิบ ทว่ายังดูแข็งแรง เล่าให้ผมฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม
"มาเที่ยว มาถ่ายภาพกันได้ตามสบาย นายหัวเค้าไม่หวงหรอก แต่ถ้าไปเดินบนสะพานก็ต้องระวัง ๆ หน่อยนะ เพราะไม้ผุแล้ว ปีสองปีนี้มีคนมาเที่ยวเยอะ ส่วนใหญ่ก็พวกมาถ่ายภาพ บ่าย ๆ เย็น ๆ ถึงมากัน" เป็นคำตอบเมื่อผมถามถึงการเข้ามาเที่ยวยังสถานที่แห่งนี้ และจุดที่มีสะพานเป็นของเอกชน
หากเราออกไปยืนบนสะพานและมองไปทางซ้ายมือ ที่สุดสายตาซึ่งปกคุลมไปด้วยต้นสน มีภูเขาเล็ก ๆ อยู่ตรงนั้น มีชื่อเรียกว่า เขาปิหลาย ทำให้ชายทะเลละแวกนี้ได้รับการขนานนามในชื่อเดียวกัน และต่อออกไปทางด้านขวามือ ที่เต็มไปด้วยทิวสนและต้นมะพร้าวก็เป็น หาดนาใต้ ซึ่งมีลักษณะของชายหาดสีน้ำตาลอ่อนละเอียด คล้ายน้ำตาลทรายไม่ฟอกสีบนชายหาดก็เป็นริ้วของระลอกคลื่นที่ทิ้งไว้ยามน้ำลง
เราเดินสัมผัสชายหาดกันนานพอสมควร ก่อนจะกลับมายังละพานเก่าแก่ที่ยังคงทอดตัวเหนือคลื่นลูกใหญ่ ที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ขาดห้วง บริเวณนี้มีมุมมองที่น่าสนใจอยู่หลายจุด ซึ่งนักถ่ายภาพหลายท่านก็ไม่พลาด แสงของวันเริ่มผ่อนลง ทว่าคลื่นยังคงซัดเข้าฝั่ง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เรายังคงยืนมองฟองคลื่นนุ่ม ๆ ที่ขึ้นมาถึงปลายทาง ก่อนจะกลับลงไปอย่างไม่อาจรั้ง
ฟองขาวฟูและดูเบาบางไหลมาตาปลายคลื่น ปูลมตัวเล็ก ๆ ยืนรออาหารที่พัดมากับเหล่าคลื่น เมื่อฟองเหล่านี้ใกล้ถึงตัวก็วิ่งหนี คล้ายจะเป็นการหยอกล้อกันในธรรมชาติ แต่หากคราใดที่คลื่นใหญ่เข้าจู่โจม มันก็รีบมุดตัวฝังลงในผืนทราย ก่อนจะลุกออกมาวิ่งล้อไปกับฟองคลื่นเหล่านั้น การได้นั่งนิ่ง ๆ มองรอยเท้าของตัวเองที่ทิ้งไว้บนผืนทราย กับมองเห็นธรรมชาติอย่างที่เป็น ไม่รู้สิครับ ใครบางคนบอกว่าการได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยนลง ส่วนตัวผมเองไม่แน่ใจว่าจะทำให้แค่ไหน ต้องบอกว่าเวลานี้ผมหลงรักริ้วทรายและฟองคลื่นอย่างถอนตัวไม่ขึ้นเลยทีเดียว
พระอาทิตย์หลังก้อนเมฆกำลังจะลับหายไปจากท้องฟ้า แสงสีหวาน ๆ ของรอยต่อแห่งวันกำลังส่องสะท้อนริ้วเมฆบาง ๆ เป็นสีชมพูหวาน ผมยืนเก็บภาพด้วยความนิ่งสงบ ขยับจุดที่ต้องการถ่ายภาพอย่างช้า ๆ คล้ายกับเวลาจะไม่เร่งรีบหรือสามารถรอเราได้ วันนี้ผมคิดว่าบางคราวเราอาจจะถ่ายภาพได้ไม่มากนัก แต่ทุกเฟรมที่บันทึกนั้น เน้น ๆ และตั้งใจ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ต่อความงามในธรรมชาติที่มอบให้เรา...

ภูตาจอ บนหนทางแห่งปุยหมอก
จากสามช่องใต้ โคกกลอย เราดีขึ้นเหนือมุ่งสู่ "กะปง" อำเภอเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความเขียวขจีของผืนป่า และอดีตเงาเหมืองแร่ดีบุกที่พ้นยุครุ่งเรืองไปแล้ว วันนี้ผู้คนยังคงดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย นิ่ง ๆ อยู่กับสวนยาง สวนปาล์ม ซึ่งสร้างรายได้ให้กับพวกเขาอย่างงดงาม ที่สำคัญวันนี้บนยอดเขาชันอันเป็นพื้นที่เหมืองเก่า กำลังเปิดต้อนรับคนเดินทางให้มาเยือน นั่นเพราะเมื่อขึ้นไปยืนบนจุดสูงสุดสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบตัว แต่แท้จริงแล้วจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ต้องไปเยือนให้เห็นภาพชัด ๆ กันสักหน่อย
สำหรับผืนป่าแห่งอำเภอกะปง ส่วนใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็นผืนป่าอนุรักษ์ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต มีอาณาเขตเชื่อมต่อกับผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี นั่นทำให้กลายเป็นผืนป่าใหญ่ที่เหล่าสรรพสัตว์ยังคงได้ใช้เป็นแหล่งอาศัยหากิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ใหญ่อย่างช้างป่า ก็ยังพบกันได้ไม่ยากนัก และจากผืนป่าที่สมบูรณ์ ความชื้นหนาแน่น ก่อเกิดเป็นทะเลหมอกปกคลุมผืนป่าอยู่เสมอ จึงทำให้มีการริเริ่มขึ้นไปชมทะเลหมอกกันบนจุดชมวิวที่เรียกกันว่า "ภูตาจอ" อันเป็นเหมืองแร่เก่าชื่อ เหมืองตาจอ
การขึ้นไปท่องเที่ยวบนภูตาจอได้รับการนำออกสู่สายตาผู้คนทั่วไป โดยองค์การบริหารส่วนตำบลเหลที่ได้ขึ้นไปสำรวจและปรับเส้นทางเพื่อให้ขึ้นไปยังจุดสูงสุด สร้างห้องน้ำ ปรับลานกางเต็นท์ และจัดชาวบ้านที่มีความชำนาญพื้นที่คอยดูแลเรื่องความปลอดภัย หลังจากผ่านหน่วยพิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรตมาได้ไม่ไกล ก็จะมีน้ำตกเล็ก ๆ ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความเขียวขจีโดยเดินลงไปเพียง 400 เมตรเท่านั้นเอง ตลอดทางมีพรรณไม้เล็ก ๆ และเฟิร์นต้นขนาดยักษ์ให้เราได้สัมผัส และจากจุดนี้เป็นต้นไปเราก็ค่อย ๆ ใช้พลังขับเคลื่อนของเครื่องยนต์ไปอย่างช้า ๆ

ลุงจรูญ เมฆหมอก เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟังตลอดทาง จากลานมาเลย์ จุดตั้งแคมป์ของชาวมาเลย์ที่เข้ามาเพื่อทำเหมืองดินขาว แต่ถูกชาวบ้านต่อต้านจนต้องถอยออกไปจากพื้นที่ เพียงไม่นานกับเรื่องเล่าสนุก ๆ ของเหมืองแร่ เราก็มาถึงบริเวณลานกางเต็นท์ ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลเหลได้ขึ้นมาพัฒนาไว้แล้ว บรรยากาศต่าง ๆ บนภูตาจอทำให้เราเห็นภาพแผ่นดินที่ถูกขุดขึ้นมาเพื่อหาแร่ดีบุก จนหลาย ๆ แห่งราบเรียบและไม่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมอยู่เลย ทว่าบนภูตาจอยังมองเห็นผืนป่าต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย ส่วนหนึ่งเพราะพื้นที่แห่งนี้กำลังฟื้นตัว ป่าโดยรอบยังคงสมบูรณ์
ภาพของทะเลหมอกที่แทรกอยู่ในผืนป่าใกล้ตาในยามเช้าเป็นสิ่งที่เราใฝ่หา แต่เราจะเห็นสิ่งดังกล่าวไม่ได้เลยหากผืนป่าขาดความชื้น ขาดความอุดมสมบูรณ์แ น่นอนว่าภาพของทะเลหมอกที่ปรากฏแก่สายตาทั้งเช้าเย็น บนภูเขาเล็ก ๆ แห่งเมืองกะปง จะสร้างความอิ่มเอมให้กับเราได้ไม่น้อย และเรื่องราวที่เล่าขานผ่านกาลเวลาของทุกสรรพสิ่ง ก็ช่วยส่งเสริมให้การท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงประวัติศาสตร์พื้นถิ่น เป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

เช้าวันใหม่เราอำลาภูตาจอ ขณะที่ทะเลหมอกยังคงแน่หุบเขาแม้ว่าเวลาจะสายแล้ว มองไปไกลสุดสายตาทางทิศตะวันออก เห็นภูเขาหินปูนในเขื่อนรัชชประภา เขตอุทยานแห่งชาติเขาสก และผืนป่าสีเขียวแน่นขนัด มีทะเลหมอกเป็นสายไหลคลอเคลีย ผมรู้สึกเต็มอิ่มกับการขึ้นมานอนสบาย ๆ บนเหมืองโบราณแห่งนี้ พร้อมกับชมทะเลหมอกงามและฟังเรื่องเล่าที่น่าประทับใจจากคนพื้นถิ่นที่รู้สึก รู้จริง ความหมายของการเดินทางในแต่ละครั้งเปลี่ยนแปลงไปจนดูสวยงามเสมอ เพียงแค่เราเปิดใจและไม่คาดหวังว่าเรื่องราวเบื้องหน้าจะสมบูรณ์อย่างใจคิดหรือไม่ เพราะบางทีความไม่สมบูรณ์ของสรรพสิ่ง คือความสมดุลของธรรมชาติก็เป็นได้

ลมหายใจของต้นไม้โบราณ
จากอำเภอกะปง เราย้ายแหล่งพำนักมายังอำเภอตะกั่วป่า เพื่อรอเวลาเข้าไปเยือนผืนป่าเล็ก ๆ ที่น่าสนใจยิ่งนัก ที่นี่เป็นเมืองชายทะเล ทว่าโอบล้อมด้วยขุนเขา ตลอดบ่ายวันนี้สายฝนกระหน่ำลงมาอย่างไม่มีทีท่าจะหยุด มีเพียงแค่ซาลงบ้างให้เราได้เดินไปกินข้าว
"มันก็ตกอย่างนี้แหละ ไม่เคยได้ยินเหรอ ฝนแปด แดดสี่น่ะ" ใครบางคนในร้านกาแฟพูดแบบยิ้ม ๆ กับพวกเรา พร้อมย้ำว่าอย่าไปคิดมาก มันตกได้ มันก็หยุดได้ อย่าไปกังวล อย่าไปทุกข์ร้อน...ผมกับช่างภาพก็อยากจะทำแบบที่ลุงว่าเหมือนกันครับ แต่ก็อดร้อนใจไม่ได้ ว่าแล้วก็สั่งโอเลี้ยงยกล้อมาดื่มสักแก้ว เช้าวันใหม่เราตื่นกันสบาย ๆ พร้อมด้วยสายฝนไม่เคยขาดเม็ดเหมือนเดิม ข้าวหมกไก่และกาแฟจากร้านข้างปั๊มน้ำมัน ปตท. ตะกั่วป่า เป็นที่พึ่งของเราอีกหนึ่งมื้อ พร้อมกับตัดสินใจว่าจะลุยเข้าไปทำงานท่ามกลางฝนโปรยปรายหรือจะรอ...
"ถ้าพวกน้องเข้ามาได้ ถ่ายรูปได้ เรือก็พายได้ พาเข้าไปชมได้แน่" ใครบางคนจากปลายสายตอบกลับเรามาอย่างนั้น เพียง 5 นาที จากร้านข้าวหมกไก่ เราก็มาจอดรถอยู่ตรงหัวสะพานอันเป็นที่ตั้งของชมรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศกลุ่มรักษ์สังเนห์ ซึ่งมี บัญชร หลักฐาน และ ภิญโญ บัวพันธ์ มายืนยิ้มให้รอพวกเราอยู่แล้ว แน่นอนว่าเราไม่ถอยแน่นอนกับการท่องคลองเล็ก ๆ ทว่ามีเรื่องราวมากมายแห่งนี้...คลองสังเนห์ (ออกเสียง "สังเหน่")

สำหรับ คลองสังเนห์ เป็นคลองสายสั้น ๆ ไหลมาจากเขาบางเต่าผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลบางนายสี และผ่านเรือนจำตะกั่วป่า ก่อนจะไหลผ่านมายังจุดที่เราอยู่ตอนนี้ และสุดท้ายไหลไปรวมกับแม่น้ำตะกั่วป่า เรือพลีส (เรือหางยาวเพรียว ๆ) นั่งลำละ 2 คน ไหลตามน้ำไปด้วยการพายอย่างช้า ๆ ภาพของสะพานคอนกรีตและบ้านคนหายไปอย่างรวดเร็ว เพียงแค่เรือเลี้ยวขวาผ่านคุ้งแรกมา ต้นไทรและไม้ชายน้ำมากมายเกาะกระหวัดเกี่ยวกันอย่างแน่นหนา ความใหญ่ของต้นไทรค่อยแผ่ให้เราเห็นมากขึ้นเมื่อเรือเข้ามาลึกขึ้น รากขนาดใหญ่ห้อยเรี่ยน้ำดูแปลกตา ต้นไทรยักษ์เหล่านี้ผ่านกาลเวลามานานขนาดไหนเราไม่อาจคาดเดาจริง ๆ
กว่าจะจัดทำให้คลองแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ไม่ง่าย ที่สำคัญการรักษาผืนป่าพิเศษเหล่านี้ไว้ก็ไม่ง่ายเลยเช่นกัน เพราะรอบข้างเต็มไปด้วยนายทุน ซึ่งต้องการพื้นที่ทุกตารางนิ้วมาใช้ประโยชน์ ทว่าความมหัศจรรย์ของผืนป่าดิบที่ดูลึกลับแห่งนี้ก็ยังรอดพ้นมาได้ถึงปัจจุบัน เพราะชาวบ้านรวมตัวกันดูแลและขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงข้าราชการดี ๆ อีกหลายท่านที่คอยช่วยเหลือ ทำให้เรายังเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่
"ตอนนั้นปี พ.ศ. 2551 อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ท่านวิชัยพระสงบ มาปลูกป่าที่นี่ และเกิดชอบขึ้นมาอย่างมาก เลยเสนอให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมกับตั้งสมญาให้กับที่นี่ว่าเป็น Little Amazon" บัญชร เล่าความเป็นมาถึงชื่อเท่ ๆ ของผืนป่าแห่งนี้
ภิญโญ กล่าวกับเราว่า ก็ทำกันมาเป็นสิบปีแล้ว ไม่ค่อยดังหรอก มีคนมาเที่ยวบ้าง จนเมื่อสองปีที่ผ่านมานี่แหละ มีลูกค้าชาวต่างชาติมาใช้บริการกันเยอะ เพราะที่นี่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น น่าสนใจ

ผืนป่าแห่งนี้จะไม่น่าสนใจได้อย่างไรเล่าครับ ก็ตลอดทางเต็มไปด้วยไทรขนาดยักษ์ที่ขึ้นเรียงรายตลอดสองฝั่งคลอง ปกติเราเจอต้นใหญ่สักสิบต้นก็รู้สึกว่าอิ่มใจแล้ว แต่นี่มีมากมายเกือบ ๆ 2 กิโลเมตร ผมไม่แน่ใจนักถึงอายุของไทรเหล่านี้ว่ายาวนานขนาดไหน แม้ใครหลายคนบอกว่าน่าจะเกิน 200 ปี ทว่าเมื่อคิดไปไกลกว่าเพียงเรื่องราวของอายุ ความงดงามความมหัศจรรย์ ความยิ่งใหญ่ ผมมองเห็นความเป็นไปแห่งธรรมชาติ เห็นอาหารอันโอซะของนก กระรอก แมลง แตน ผลไทรสุกตกลงในน้ำเป็นอาหารปลา ความเกี่ยวพันกันในระบบนิเวศเป็นสิ่งที่เราไม่อาจคิดได้ครบรอบด้าน เพียงปล่อยให้ธรรมชาติได้เคลื่อนไหวไปเท่านั้นก็เพียงพอ

เราใช้เวลากับคลองสายเล็ก ๆ แห่งนี้เกือบครึ่งวัน ทั้ง ๆ ที่ปกติหากเป็นทัวร์จะใช้เวลาราว ๆ 1 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้นก็แล้วแต่จะตกลงกัน ระหว่างทางกลับผมพยายามรับฟังสำเนียงของป่าโบราณเหล่านี้ว่าเขาได้ผ่านอะไรมาบ้าง หรือทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้เราได้เห็นบ้าง ความมหัศจรรย์ของสรรพสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในมุมเล็กของโลกใบนี้ ยังมีอีกมากมายนัก รอเพียงใครจะมองเห็นและเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริง วันนี้ผมมีความสุขยิ่งนักที่ได้มาลอยลำอยู่ภายใต้ต้นไม้ยักษ์เหล่านี้ ความยิ่งใหญ่และอายุที่ยืนยาวบอกเราว่า ลมหายใจของพรุ่งนี้คือความงดงามของโลกในวันนี้ ร่วมรักษาแผ่นดิน ผืนป่า และสายน้ำให้งดงามตราบนิรันดร์ครับ
ชีพจรของพังงา
การได้กลับมาเยือนแผ่นดินพังงาในรูปแบบของแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ทำให้ผมพบว่านอกจากหาดทรายขาว ทะเลใส ปะการังงามระดับโลกที่หมู่เกาะสิมิลัน สุรินทร์ รวมทั้งวัฒนธรรมงดงามของผู้คนแห่งตะกั่วป่า เมืองเก่าที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมแห่งบาบำ ย่าหยา เอาไว้เหนียวแน่นแล้ว สถานที่เล็ก ๆ ที่กำลังได้รับความนิยมของผู้รักการถ่ายภาพก็กำลังก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นบ้านสามช่องใต้ หรือหาดเขาปิหลายที่มีสะพานเก่า ๆ เป็นจุดสนใจใครมาเยือนแล้วไม่แวะไปถ่ายพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก อาจจะนับว่าเป็นบาป ส่วนภูตาจอนั้นรอเพียงเวลาเท่านั้น รับรองได้ว่ามีนักท่องเที่ยวมาเยือนกันปีละไม่น้อยแน่ ๆ ที่สำคัญคลองสังเนห์ หรือ Little Amazon ก็กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แล้วนั่นเราจะพลาดได้อย่างไร
ทั้งหลายเหล่านี้ที่เราได้เห็นในเมืองพังงา มันเป็นเสมือนชีวิต เป็นลมหายใจ เป็นดั่งชีพจรให้เราได้ก้าวย่างไปบนหนทางแห่งหัวใจ พังงาเมืองเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ที่ผมเชื่อว่าหากได้สบตาสักครั้ง คุณจะหลงรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น...

คู่มือนักเดินทาง






ติดต่อสอบถาม



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 53 ฉบับที่ 1 สิงหาคม 2555