คีรีวง ภูเขาแรกเริ่ม ผู้คนเติมเต็ม

คีรีวง

คีรีวง


คีรีวง ภูเขาแรกเริ่ม ผู้คนเติมเต็ม (อสท)

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ...ภาพ

          ฝนฉ่ำฟ้าพลิกเปลี่ยนหมู่บ้านกลางหุบเขาให้รื่นเย็น ไอหมอกอ้อยอิ่งอยู่เหนือขุนเขาราวมหาวิหารห่อคลุมม่านสีน้ำนม เบื้องล่างธารน้ำหลากล้นไม่มีวันเหือดแห้ง ผู้คนก็เช่นกัน ในดวงตาไม่เคยหมดสิ้นความหวังตราบที่พวกเขายังหายใจ และใช้ชีวิตอยู่ที่เชิงเขาอันตระหง่านง้ำเทือกนั้น

          ลึกเข้ามาในความเขียวครึ้ม ที่ บ้านคีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช กลางวงล้อมแห่งเทือกเขาหลวง อันเป็นเสมือนหลังคาของแดนดินถิ่นใต้ หลายคนที่นั้นทำให้เราเชื่อเหลือเกินว่า ภายใต้โยงใยของคำว่าวิถีชีวิตและการดิ้นรนต่อสู้ หากใครสักคนมุ่งมั่นกับมันด้วยหัวใจโลกยังคงมากมายที่ทางแห่งความสุข

คีรีวง

          บนภูเขาล้วนคือการงานอันเปลี่ยนผ่านไปตามฤดูกาล มากมายไปด้วยคนตัวเล็ก ๆ ที่เดินขึ้นลงทุกวี่วัน ใช่เพียงแสวงหาหลักยืนประกาศตัวตนบนดอยสูง หากแต่เพื่อเพาะบ่มและดูแลพืชพรรณอันเป็นยิ่งกว่าผลิตผล ไร้การเสแสร้ง มากล้นด้วยสิ่งเล็ก ๆ รายรอบชีวิต อันประกอบขึ้นเป็นโลกอีกใบ โลกที่ปรับเปลี่ยนไปบนแผ่นดินและวันเวลาอย่างมากด้วยการทำความเข้าใจ

          สายคลองท่าดีเรียงรายด้วยหินใหญ่น้อยราวงานประติมากรรม หลากไหลตัวเองมาจากเขาสูง หลอมรวมทั้งสายคลองท่าชาย คลองใหญ่ ลำงา ปลายปง จากยอดเขารายรอบเทือกเขาหลวง ก่อเกิดเป็นสายน้ำอันสมบูรณ์ชุ่ม ที่ไม่ว่าใครก็ตามที่มาถึงคีรีวง เป็นต้องยืนมองคลองสายกว้างที่ไหลแทรกผ่านกลางหมู่บ้าน เด็ก ๆ เริงร่าแหวกว่าย เจ้าของพาวัวลงเล่นอาบน้ำ ไล่หลังไปท้ายสายตาคือทิวเทือกอันเขียวเข้มของผืนป่าและขุนเขาอันเป็นบ้านที่แท้จริงของคนคีรีวง

คีรีวง

          เช้า ๆ ความมีชีวิตชีวาเคลื่อนไหวอยู่พอประมาณอย่างที่มันเคยเป็นมา หลังพระสงฆ์จากวัดคีรีวงอันมีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี เดินข้ามพ้นสายคลองเข้าไปตามหย่อมบ้านเรือน ที่ศาลาหลังเล็กริมคลองท่าดี คือที่พบปะของผู้เฒ่าและเรื่องราวผ่านวงกาแฟ ความเปลี่ยนแปลงแทบทุกอณูแทรกผ่านอยู่ในบทสนทนา ตั้งแต่เรื่องราวสารทุกข์สุกดิบใกล้ตัว ความเป็นไปของคนในหมู่บ้าน ไล่เลยไปถึงเหตุการณ์บ้านเมืองที่อยู่ภายนอกหุบเขา

          หากเป็นหน้าผลไม้ ที่นี่คือ "กลางทาง" แห่งการงานที่สุกงอมและออกผล คนคีรีวงผ่านพ้นตัวเองมาในบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ ด้วยการยังชีพทำสวนอยู่เชิงเขาที่หลายคนเรียกว่า "สวนสมรม" ผสมผสานผลไม้และพืชพรรณนานาอยู่ในหุบเขา ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง จำปาดะ สะตอ ลางสาด หมาก พลู และไม้พื้นล่างจำพวกสมุนไพรอีกหลายหลาก หากจะลงลึกไปสัมผัสตามเนื้อดิน

คีรีวง

คีรีวง

          ย้อนไปร่วม 300 ปี ความสมบูรณ์ของสายน้ำและผืนป่าเบื้องบนดึงดูดให้ผูคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่กลับจากสงครามเมืองไทรบุรี รัฐกลันตัน ของมาเลเซีย ล่องเรือผ่านคลองท่าดีขึ้นมาพบที่ทางอันเหมาะสมจะปลูกเรือนฝังรากและทำกิน พวกเขาเรียกแผ่นดินตรงนี้ว่า "บ้านขุนน้ำ" มีที่มาจากคลองสามสายอย่างท่าหา ท่าชาย และปลายปง ซึ่งล้วนหลากไหลไปออกทะเลที่ปากนคร เป็นต้น น้ำของเมืองนครศรีธรรมราช

          การปักหลักและอยู่ร่วมกับขุนเขาได้ก่อเกิดขึ้นที่ริมเขาหลวงฝั่งตะวันออก สวนผลไม้และชีวิตอันเป็นสุข สมถะ เริ่มขึ้นตรงนั้น พร้อม ๆ กับการเติบโตเป็นหมู่บ้านอันใหม่โตมั่นคงกลางขุนเขา มากมายด้วยเรื่องราวอันน่าทึ่งถึงสัมพันธภาพของคนในป่ากับคนที่ราบลุ่มของนครศรีธรรมราช

          "แต่ก่อนมีอะไรก็เอาลงไปแลกกันข้างล่าง เบี้ยไม่ต้องใช้ รุ่นปู่ย่าตาทวดเขาเริ่มกันมาแบบนี้" เฒ่าชราสักคนพ่นใบจากควันหอม จิบกาแฟที่พร่องไปครึ่งแก้ว ค่อย ๆ เล่าให้ผมฟังอย่างสบายอารมณ์

คีรีวง

คีรีวง

          ยามที่ผลไม้สุกงอม เพียงพอต่อการอยู่กิน คนคีรีวงในอดีตรู้ดีว่าคลองท่าดีคือเส้นทางที่นำพาพวกเขาลงไปข้างล่าง เพื่อพบเจอกับเพื่อนพ้องและผู้คนอีกหลากหลาย ชีวิตที่ดีขึ้นบรรจุเต็มลำเรือกลับมาด้วยข้าวของยังชีพอยู่กิน

          "แต่ก่อนรุ่นปู่ย่าเราล่อง "เรือเหนือ" ลงไปถึงเมืองนคร" เฒ่าคนเดิมพูดถึงสิ่งที่เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของคนคีรีวงในอดีต คำว่า "เรือเหนือ" มาจากการที่คนแถบปากพนัง เชียรใหญ่ และหัวไทร อันเป็นที่ราบใกล้ทะเลเรียกคนจากคีรีวงว่า "พวกเหนือ" พวกเขาใช้เรือชุดลำล่องผ่านสายคลองจากต้นน้ำ พาของป่าและผลไม้ลงไปแลกกับข้าวสารของคนข้างล่าง

          "เราก็เรียกเขาว่า "พวกนอก" อยู่ร่วมกันมาเป็นร้อย ๆ ปีล่ะ ลงไปก็พาข้าวสาร กะปิ น้ำมันก๊าด ของทะเลล่องทวนขึ้นมา" พ่อเฒ่าว่าภาพเหล่านี้ชัดเจนอยู่เมื่อท่านยังเล็ก ๆ ลูกหลานเดี๋ยวนี้ได้แต่ฟังเรื่องเล่าของคนยุคก่อนราวนิทานประจำหมู่บ้าน สายสัมพันธ์ระหว่างพวกเหนือและพวกนอกกลายเป็นระบบอุ้มชูที่เรียกกันว่า "เกลอเล" กับ "เกลอเขา" เสมือนภาพชัดของผู้คนแห่งป่าเขาและที่ราบของเมืองนคร ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเรื่องเล่าของวันเวลาอันผ่านพ้น มีอยู่จริงและงดงามในนามของผืนแผ่นดิน

คีรีวง

          เราเดินไปรอบ ๆ หมู่บ้านที่มั่นคงแข็งแรงขึ้นตามกาลเปลี่ยนผ่านของโลกปัจจุบัน คลองสายสวยยังคงไหลนิ่งชื่นเย็น กองหินระเกะระกะ ทว่าในบางตำแหน่งก็ดูมีระเบียบ ก่ายกองขึ้นเพื่อชะลอการไหลของสายน้ำยามมากล้น

          "คีรีวงมีน้ำป่าหลากบ่อยครับ ฝนหนัก ๆ ทีไรเราต้องระวัง" ไพโรจน์ เนาว์สุวรรษ หวนย้อนนึกถึงเมื่อเขายังเด็กกับวันที่คนที่นี่ไม่เคยลืม

          ก่อเกิดจนมั่นคงแข็งแรง พืชผล และอาหารไม่เคยขาดหายไปจากชีวิต ทว่ายามที่เวลาอันโหดร้ายมาเยือน พวกเขาก็ล้วนต้องเผชิญกับห้วงเวลาอันหน่วงหนัก คีรีวงเคยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้ง จากผลพวงของวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก ในปี พ.ศ. 2505 ครั้งต่อมาใน พ.ศ. 2518 และมหาอุทกภัยที่คนคีรีวงต้องพบเผชิญเมื่อ พ.ศ. 2531

          ชีวิตผจญภัยตามสายคลองของเรือเหนือและระบบเกลอเล-เกลอเขา สิ้นสลายไปจากสายน้ำที่พัดพาโคลนดินพังทลายจนระดับน้ำตื้นเขิน ถนนเข้ามาแทนที่ ทั้งด้วยเรื่องลดความรุนแรงของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เคลื่อนไหวในเขตภูเขา หรือเพื่อเปิดหนทางเชื่อมโยงใหม่ ๆ ใหม่คนคีรีวงได้เลือกทางเดิน

          การมาถึงของมวลฝนและสายน้ำในทุกครั้ง เปลี่ยนคลองท่าดีให้กราดเกรี้ยว กวาดรื้อบ้านเรือน วัด โรงเรียน รวมไปถึงชีวิตของคนที่นี่ให้เลือนทลาย

          "ตรงท่าน้ำนี่แต่ก่อนผมเคยเล่นฟุตบอล" ครั้งปลายปี พ.ศ. 2531 ไพโรจน์ ยังเป็นเด็ก ความทรงจำคือโรงเรียนริมน้ำอันแสนสุข วัดคีรีวงอันเป็นศูนย์รวมของพวกผู้ใหญ่ บ้านเรือนตรงริมคลองที่วันนี้เป็นสะพานมั่นคงแข็งแรง ทั้งหมดลับหายไปในมวลน้ำมหาศาล ใครบางคนเปรียบห้วงยามนั้นว่าคีรีวงเป็นดั่งทะเลทรายในหุบเขา ม่านโคลนกวาดล้างและฉาบทับบ้านเรือนหลายร้อนหลัง สิ้นสูญทั้งชีวิตและหยดน้ำตา

คีรีวง

          ความสูญเสียอาจคล้ายเหรียญสองด้าน คนที่นี่ก็เช่นกัน ผันผ่านห้วงยามเลวร้ายมากเท่าไหร่ บางอย่างก็ถูกชดเชยให้ชีวิตได้ตั้งหลัก งอกงาม เหตุการณ์อุทกภัยในอดีตนำพาชีวิตอีกรูปแบบขึ้นมาหลังน้ำท่วมหนักแทบทุกครั้ง ภาระหนี้สินจากการติดต่อผ่านระบบทุนหลายทางจาก "ในเมือง" ส่งผลให้พวกเขาเลือกกลับมาดูแลตนเอง "กลุ่มสัจจะออมทรัพย์" เริ่มเกิดขึ้นด้วยความคิดที่ให้คนเชิงเขาไม่ต้องหันไปหวังพึ่งการช่วยเหลือจากภายนอก ระบบแบบสหกรณ์ที่รวบรวมเงินฝากจากชาวบ้านแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำได้เป็นรูปธรรม เงินทั้งหมดไหลเวียนดูแลสมาชิกเขาเรียกกันว่า "เงินสัจจะ"

          พวกเขาออมเงินเพื่อส่วนรวม จากแรกเริ่มในปี พ.ศ. 2523 ด้วยเงินทุน 35,000 บาท และสมาชิกเพียง 41 คน กลับกลายเป็นเงินหมุนเวียนกว่า 40 ล้านบาท และสมาชิกราว 2,000 คน เมื่อปี พ.ศ. 2548 ท่ามกลางป่าชื้นรื่นเย็น "ธนาคารแห่งขุนเขา" ที่พวกเขาดูแลกลับกลายเป็นที่พึ่งหลัก น้ำท่วมหนัก สูญเสียมากเพียงไร การเยียวยาล้วนมาจากเรี่ยวแรงและทิศทางที่พวกเขาร่วมสร้าง ร่วมใส่ใจฝากความหวัง

          บ่ายจัดแดดเย็นส่องไล้บ้านไม้โบราณหลังหนึ่งที่จมโคลนดินอยู่ครึ่งหลัง หลงเหลือเป็นสิ่งตกทอดให้คนคีรีวงและคนภายนอกได้เห็นห้วงยามอันโหดร้ายแห่งวันเวลา เรายืนอยู่หน้าบ้านประวัติศาสตร์ ชายวัยกลางคนกลับลงมาจากสวนบนภูเขา ปาดเหงื่อและยิ้มจริงใจ

          "ตอนนั้นผมอยู่กรุงเทพฯ รู้ข่าวก็อีกหลายวันกว่าจะเข้ามาหาพ่อแม่ได้" เขาว่าทุกคนในหมู่บ้านอยากให้เก็บบ้านหลังนี้ไว้เตือนใจคนรุ่นหลัง การอยู่ร่วมกับขุนเขาดูเหมือนจะยากเย็น หากใครคนนั้นไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับมันทุกอณูมิติ

          หนทางการกลับมาใส่ใจภูเขาด้านบน คือ ทางออกที่พวกเขาเลือก การถางร้างพื้นที่สวนลดลง เปลี่ยนเป็นหันมาปรับปรุงไม้ผลในสวนให้มีคุณภาพ "ของเราดีจริง ราคาเราก็กำหนดได้มาก" ไพโรจน์ ว่าคนที่นี่ทุกคนคือคนสวนด้วยสายเลือด งานการอื่นล้วนเป็นแค่ "ทางเลือก"

          "หากเป็นฤดูรอเก็บเกี่ยวผลผลิต มาเที่ยวคีรีวงจะเห็นครับว่าคนที่นี่แทบไม่เป็นอันทำอะไร" เขาว่าติดตลก แต่ชัดเจนในหนทางที่ก้าวเดิน

คีรีวง

          ยามเย็นริมคลองท่าดี ความเงียบเหงาละลายหาย มอเตอร์ไซค์วิบากที่มีตะกร้าพ่วงอยู่ด้านท้ายหวนลงมาจากภูเขาคันแล้วคันเล่า นาทีนี้หมากกำลังสุก ตามชานบ้านคือที่ปอกเปลือก ฝานผล ตากแห้ง หญ้าที่รกตามสวนข้างบนถูกหอบหิ้วลงมาเลี้ยงวัว หากเป็นแต่ก่อนพวกเขามักหาบคอนมันลงมา เดินข้ามแนวหินตามคลองเป็นภาพงามตา

          "มีมอเตอร์ไซค์แล้วยิ่งดี วันหนึ่งได้หลายรอบ" คล้าย ๆ ชาวสวนสักคนจะหมายความว่าภายนอกอาจเปลี่ยนได้ แต่ภายในไม่เคยเปลี่ยนแปลง

          ศาลาริมท่าน้ำคึกคักทั้งคนพื้นถิ่นที่จิบกาแฟพักผ่อน และผู้มาเยือนกจากข้างนอก นั่งมองภูเขาห่มฝนที่กำลังจะเลือนหายไปในความมืด สายน้ำคลองท่าดีเอื่อยไหลผ่านโขดหินละมุนเบาเขาหน้าร้อนทางด้านหลัง และยอดเขาหลวงอีกฟากด้านที่จมหายอยู่ในม่านหมอก ทึบทะมึนราวฉากม่านมหึมาของโรงละครแห่งคืนวัน การงานตามสวนผลไม้และป่าเขาซุกซ่อนอยู่ข้างบนนั้น การงานแห่งภูเขา...ผลผลิตแห่งชีวิต

คีรีวง

          กลางวันที่บ้านคีรีวงเหมือนจะเป็นที่อยู่ของผู้หญิงและเด็ก ๆ ผู้ชายกำยำหายขึ้นไปในสวนและหุบเขา แทนที่จะเงียบเชียบ ตามบ้านกลับคึกคักด้วยอีกหลายใบหน้าของคีรีวงที่มีผลพวงมาจากป่าและสวนผลไม้ บ้านไม้หลายหลังไม่เพียงร่มรื่นน่าอยู่ หากแต่บรรจุเต็มด้วยแรงงานและสิ่งที่เรียกว่าแรงบันดาลใจ

คีรีวง

          ที่หลังบ้านส่งกลิ่นควันเปรี้ยว ๆ บนเตาต้ม อารี ขุนทน และสมาชิก "กลุ่มมัดย้อม" ของบ้านคีรีวง ตวงใบเพกาลงในหม้อใบกว้าง น้ำค่อย ๆ เข้มสีเขียวขึ้นตามอุณหภูมิ หลังจากที่คนคีรีวงเลือกที่จะดูแลป่าเขา ไม่เพิ่มปริมาณสวนในผืนป่า และยอมรับกับผลผลิตที่ไม่ได้มากขึ้นอย่างทบทวี การหันมารวมกันในลักษณะกลุ่มอาชีพและในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คืออีกหนึ่งหนทางที่เปลี่ยนให้ผู้คนรู้จักการอยู่ร่วมกับขุนเขาในอีกรูปแบบ

          ปัญหาที่รุมเร้าทั้งจากอุทกภัยและการเปลี่ยนแปลงแบบทุนนิยมที่โหมเข้าใส่คีรีวงในอดีต ถูกเลือกและแก้ไขผ่านแนวคิดที่ว่าทำอย่างไรให้พวกเขาไม่ต้องบ่ายหน้าออกไปจากขุนเขา การหารือรวมถึงการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมูลนิธิโกมลคีมทอง เข้ามาสอนอาชีพปรับเปลี่ยนแนวคิด รวมไปถึงดึงธรรมชาติกลับมาอยู่ในรูปแบบชีวิต ล้วนคือแสงสว่างที่ฉายฉานขึ้นตรงเชิงเขา

          "แรก ๆ สู้กันค่ะ ลองผิดลองถูก ไม่ได้คิดหรอกว่าจะขายได้ แต่เราต้องมีอะไรทำตอนรอฤดูผลไม้" เธอเล่าว่าในป่าราวกับโรงเรียนอีกหลังนอกเหนือจากเป็นแหล่งอาหาร "ต้องลองดูว่าอะไรนำมาย้อมติด ได้สีอะไร ใบไม้เปลือกไม้ชนิดไหนนำมาสกัดทำสีได้ อย่างไหนย้อมร้อน อย่างไหนย้อมเย็น"

          ผ้ามัดย้อมที่มีตัวหนีบแขวนเรียงราย รอเวลาแห้งเพื่อเปลี่ยนเป็นผ้าทอผืนสวยด้วยสีสันจากป่าเขา อุไร ด้วงเงิน ก็เช่นกัน เธอจากการงานในเมือง มุ่งหน้ากลับสู่บ้านเชิงเขาด้วยความรู้สึกประเภทที่ว่า ความวุ่นวายนั้นเร่าร้อน เร่งรีบ ทว่าภูเขามีจังหวะแห่งความเนิบช้าและอบอุ่น

คีรีวง

          "เริ่มเขียนลายผืนแรกก็จากใบชมพู่" เธอเล่าผ่านรอยยิ้มและดวงตาดำขลับตามแบบฉบับหญิงปักษ์ใต้ "กลุ่มใบไม้" ของเธอและสมาชิกค่อยคิดค่อยสร้างผลิตภัณฑ์แตกยอดออกจากผ้าผืน เป็นทั้งกระเป๋า ซองใส่โทรศัพท์ เสื้อผ้าหลากหลาย "ใบหูกวางให้สีเหลืองอมเขียว ใบมังคุดให้สีส้มกับชมพู เปลือกลูกเนียงให้สีน้ำตาลเข้ม ฝักสะตอให้สีเทา...เรามีใบไม้เป็นครู" เธอว่าอย่างนั้น นาทีเช่นนี้ไม่แตกต่างจากบรรพบุรุษ ที่การงานของเขาเรียงรายอยู่ในขุนเขาที่รายล้อมหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งมาเนิ่นนาน

          ไพโรจน์ เองก็มีอีกหนึ่งใบหน้า นอกจากคนสวนแห่งขุนเขาที่ฝากความหวังไว้กับพืชผลและผืนดิน "กลุ่มลูกไม้" ที่เราริเริ่มก่อตั้งก็ชัดเจนในรูปแบบชิ้นงานที่ลงมือทำ "ของเหลือจากป่าคือทรัพย์สินของผม" เขาว่าวัน ๆ ที่เดินขึ้นป่า เก็บลูกไม้ เศษหิน กรวด นั้นมันน่าสนุก จากเด็กที่ช่วงชีวิตหนึ่งไปโตในเมืองกรุง เมื่อเลือกกลับบ้านและผสานความเชี่ยวชาญในการถักเชือกเข้ากับวัตถุดิบจากป่าเขา สิ่งที่ได้มันมากกว่าอาชีพและชิ้นงาน

คีรีวง

          เรานั่งดูเขาถักเชือกเทียนล้อมลูกสวาด ลูกหมามุ่ย ลูกพระเจ้าห้าพระองค์ มันกลายเป็นกำไล สร้อยคอ หรือเครื่องประดับนานาได้อย่างน่าทึ่ง "เดินอยู่ในนั้นคุณจะเห็นคุณค่าของมัน" เขาหมายถึงเทือกเขาหลวงที่โอบล้อมและมอบชีวิตให้กับคนที่นี่ "ตั้งแต่แผ่นดิน ต้นไม้ใหญ่ หรือกระทั่ง ลูกไม้ เศษหิน ไม่มีภูเขา เราเองก็อยู่ไม่ได้"

          วันทั้งวันเราเพลินอยู่ตามกลุ่มอาชีพอีกหลากหลาย บางคราวย้อนไปดู "กลุ่มสมุนไพร" ที่โด่งดังด้วยสบู่เปลือกมังคุดของ สนธยา ชำนะ ที่มากมายด้วยขั้นตอนการผลิต ศึกษา นอกจากการทำผลิตภัณฑ์ให้ดี ยังมีเรื่องของการตลาด การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ "เราช่วย ๆ กันในชุมชน สู้ร่วมกันทุกกลุ่ม ไปออกงานทีก็ไปกันหมด" เขาบอกในยามเย็นที่เฝ้ารอการผลิตขนานใหญ่ ยามที่มังคุดจะออกมากราวเดือนสิงหาคม ห้วงยามนั้นที่คีรีวงจะมากมายด้วยการงาน ไม่เพียงขายผลสด แต่ "กลุ่มทุเรียนกวน" จะคัดทุเรียนพันธุ์ดี กวนและห่อในกาบหมาก กลายเป็นการถนอมอาหารที่เพิ่มมูลค่าอันมากล้น

คีรีวง

          นาทีเช่นนั้นกำลังเคลื่อนมา นาทีที่หุบเขาเต็มไปด้วยความหอมหวานผู้คนทั้งภายนอกและในหุบเขา เต็มไปด้วยการพบปะ แลกเปลี่ยน และทำความรู้จัก ผ่านผลิตผล พืชพรรณ และนานาผลงานอันมีที่มาจากเรี่ยวแรงและหัวใจ บางวันเราติดตามคนสวนของคีรีวงเข้าไปในหุบเขา ผ่าน "น้ำตกวังไม้ปัก" อันเย็นชื่นที่เชิงชั้นม่านน้ำโรยตัวมาตามชั้นหิน ลาดหินที่เรียกว่า "หนาน" ไม่เคยห่างหายนักท่องเที่ยว

          ไล่ลึกขึ้นไปริมชายน้ำคือสวนผลไม้อันสานกลืนอยู่ในป่า มังคุดและทุเรียนเสียดต้นขึ้นหยัดยืนแทรกไปกับหมากและนานาพืชสมุนไพร ที่จดจำไม่หวาดไหวสำหรับคนนอกภูเขาอย่างเรา เมื่อทวนความสูงของควนเขาขึ้นไปสู่วิวเปิดโล่ง อากาศชื่นเย็นสัมผัสได้ทุกลมหายใจ มองข้ามยอดไม้กลับลงสู่เบื้องล่าง บ้านคีรีวงวางตัวเองอยู่อย่างสมถะ สองฟากฝั่งคลองท่าดีล้วนคือชีวิตอันสั่งสมและบ่มเพาะอยู่ด้วยฤดูกาล ใครสักคนบอกไว้ว่าที่นี่อากาศดีที่สุดในประเทศไทยหากวัดกันที่ปริมาณของโอโซน

          ว่ากันตามตรง ลมหายใจและชีวิตของคนคีรีวงอาจไม่ได้ต้องการการชี้วัด ตัดสิน เป็นหรือไม่เป็นมากไปกว่าใคร ขุนเขาที่รายล้อมและบ่มเพาะผู้คนตัวเล็ก ๆ ของที่นี่มาเนิ่นนานต่างหาก ที่เป็นเหมือนสิ่งที่จะบอกได้ว่ายามใดที่ความมั่นคงเช่นนี้สั่งคลอน ทางเดินของพวกเขาก็อาจมืดบอดหายสูญ

          ยามเย็นผมนั่งอยู่กับ ไพโรจน์ ที่ริมสะพานข้ามคลองท่าดี ทุกวันเราจะมาอยู่ที่นี่ เฝ้ามองยอดเขาหลวงและผืนฟ้าที่เปลี่ยนไปไม่ซ้ำกันสักวัน เราคุยกันเรื่องสะพาน ไพโรจน์ ว่าแต่เดิมคีรีวงมีสะพานไม้ที่สร้างขึ้น แข็งแรงไม่เท่านี้ แต่สนุกมากตอนสร้าง

          "ตอนนั้นผมเด็ก ๆ พวกผู้ใหญ่ร้องเพลงบอกไปตามบ้าน เรี่ยไรทั้งเงินทองและเรี่ยวแรง แต่ก่อนใครอยากทำอะไรก็ร้องเพลงบอกกัน เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว" น้ำเสียงเขาไม่ได้อาลัยอาวรณ์ดั่งคำพูด คล้ายคนที่ผ่านการทำความเข้าใจในชีวิต

          ตัวตนของสะพานคือการก้าวข้าม พ้นผ่าน และเชื่อมโยงสองฟากฝั่งเข้าหากัน บางนาทีสะพานของคนที่นี่นั้นมีมาแล้วเนิ่นนาน สะพานที่เชื่อมชีวิตเข้ากับธรรมชาติอย่างกลมกลืน นำพาความสุขและความมั่นคงให้หลากไหลถ่ายเท เชื่อมโลกใบเล็กหลายใบเข้าด้วยกัน รวมถึงบอกกับโลกภายนอกด้วยว่าความสุขจริงแท้นั้นคือหนึ่งเดียว

          อาจต่างกันสักหน่อยตรงที่สะพานแห่งนี้มีทิศทางเป็นแนวตั้ง หยัดยืนขึ้นอย่างมั่นคง ยิ่งใหญ่ และอบอุ่น สะพานที่ซ่อนอยู่ในภาพร่างของขุนเขา

คีรีวง

คู่มือนักเดินทาง

          คีรีวง คือ หมู่บ้านเล็ก ๆ เชิงเขาหลวงอันแสนยิ่งใหญ่ มากมายเรื่องราวความผูกพันของคนกับภูเขา เปี่ยมไปด้วยความงดงามของวิถีชีวิต สายน้ำตก เส้นทางเที่ยวป่า หรือบรรยากาศอันร่มรื่นยามอยู่ในตัวหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านแห่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง

          นักท่องเที่ยวที่มาขึ้นท่องธรรมชาติยอดเขาหลวงมักมาตั้งต้นการเดินทางที่หมู่บ้านคีรีวง ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพเสริมด้วยการดำเนินกิจกรรมในด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งเป็นมัคคุเทศก์นำทางเดินป่าและจัดที่พักอาศัยแบบ "โฮมสเตย์" ทำอาหารพื้นบ้าน และผลิตสินค้าพื้นเมือง เช่น ทุเรียนกวน ผ้ามัดย้อมจำหน่าย โดยได้จัดตั้งชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลกำโลน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539

          คีรีวงเป็นหมู่บ้านที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Thailand Tourism Awards) ประจำปี พ.ศ.2541 ประเภทเมืองและชุมชน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชุมชนคีรีวงได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูกาลผลไม้ออกชุกช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน

การเดินทาง

          จากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ใช้ทางหลวงหมายเลข 4016 จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4015 บริเวณกิโลเมตรที่ 9 เลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านคีรีวงไปอีก 9 กิโลเมตร หรือโดยรถสองแถวจากตลาดยาว ในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีรถออกตั้งแต่เวลา 07.00 – 16.00 น. ค่าโดยสารคนละ 20 บาท

คีรีวง

กินอิ่ม

          ภายในหมู่บ้านคีรีวงแถบริมคลองท่าดี มีร้านอาหารตามสั่งให้บริการหลายเจ้า รสชาติดี แนะนำร้านชายคลอง

          หากอยากลองอาหารผักสด สะอาดปลอดสารพิษ ถึงเครื่องตามแบบฉบับปักษ์ใต้ แนะนำให้ออกมาที่ร้านเรือนผักกูด ทางซ้ายมือริมทางหลวงหมายเลข 4015 แถบใกล้อำเภอลานสกา

นอนอุ่น

          มีที่พักให้บริการมากมายภายในหมู่บ้านคีรีวง ที่หนานหินท่าหา มีรีสอร์ตให้บริการหลายเจ้า แนะนำท่าหารีสอร์ท ราคา 400 – 1,500 บาท โทรศัพท์ 0 7553 3155 หรือสนใจพักกลุ่มโฮมสเตย์บ้านคีรีวง ราคา 120 บาท ต่อคน ต่อคืน ค่าอาหาร 100 บาท ต่อคน ต่อมื้อ และค่านำเที่ยวชมสวนสมรม ราคา 500 บาท โทรศัพท์ 0 7553 3113

ไถ่ถาม

          คุณวารุณี ดำศรี โทรศัพท์ 08 6788 8718 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.kiriwonggroup.com หรือ www.kiriwongtour.com




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 52 ฉบับที่ 11 มิถุนายน 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คีรีวง ภูเขาแรกเริ่ม ผู้คนเติมเต็ม อัปเดตล่าสุด 1 สิงหาคม 2555 เวลา 18:28:38 31,534 อ่าน
TOP
x close