ล่องเรือไหว้พระ 9 วัด (Momypedia)
วันหยุดนี้หากใครที่ยังไม่มีโปรแกรมไปเที่ยวที่ไหน เรามีโปรแกรมดี ๆ มาแนะนำ นั้นคือ ลองเรือชมแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมทำบุญ 9 วัดภายในวันเดียว นอกจากจะได้เดินทางท่องเที่ยวแล้ว ยังได้สักการะสถานที่อันเป็นมงคล เพื่อการเริ่มต้นปีใหม่ไทย อย่างมีความสุขสงบทางใจ ตามคติความเชื่อของไทย เส้นทางก็ไม่ไกลมากนัก เริ่มต้นกันที่วัดบุคคโลและจบทริปกันที่วัดคฤหบดี การเดินทางด้วยเรือก็ทั้งสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และยังมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานเหมือนกันทุกที่ทุกท่าเรืออีกด้วย
ว่าแล้วเราก็มาเริ่มแนะนำทริปนี้กันเลยดีกว่า เริ่มต้นกันที่วัดแรก คือ วัดบุคคโล วัดเก่าแก่อายุกว่า 237 ปี สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณปี พ.ศ.2310 และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเจ้าฟ้าหญิงอุบลวรรณา แล้วเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า "วัดอุบลวัน" แต่ชาวบ้านยังเรียกติดปากว่าวัดบุคคโล
วัดบุคคโลเป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่อแพ" ซึ่งเล่ากันว่าเป็นพระพุทธรูปที่ลอยมากับแพ วนมาอยู่หน้าวัดหลายวัน ชาวบ้านจึงได้ทำพิธีอันเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัด และเป็นที่นิยมกราบไหว้ขอพรเพื่อให้การทำมาค้าขายมีความเจริญรุ่งเรืองสมปรารถนา นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พระพุทธประทานพร พระพุทธชินราช หลวงพ่อพุทธโสธร หลวงพ่อวัดไร่ขิง พระสีวลีมหาลาภ พระสังกัจจายนะ พระพาคุระ พระพุทธมงคลทศพลมุนี (พระนาคปรก) ฯลฯ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ศาลาจตุรมุขของวัด
ไม่รอช้า...ไปต่อกันที่ วัดยานนาวา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัดโบราณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดคอกควาย ในสมัยกรุงธนบุรีได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง และเรียกชื่อใหม่ว่า วัดคอกกระบือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และสร้างสำเภาพระเจดีย์แทนพระสถูปเจดีย์ทั่วไป เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภาซึ่งกำลังจะหมดไปจากเมืองไทย วัดคอกกระบือ จึงกลายเป็นวัดยานนาวาจนถึงทุกวันนี้
ภายในสำเภามีพระเจดีย์องค์ใหญ่ 1 องค์ องค์เล็ก 1 องค์ ที่ห้องบาหลีที่มีรูปหล่อของพระเวสสันดรกับพระกัญหาชาลีประดิษฐานอยู่ ซึ่งสืบเนื่องมาจากเนื้อความในมหาชาติคำหลวง ที่พระเวสสันดรโน้มน้าวใจโอรสธิดา ให้อุทิศตนเพื่อร่วมกับพระบิดาสร้างมหากุศล อันจักเป็นเสมือนเรือสำเภาใหญ่พามนุษยชาติข้ามโอฆสงสารไปสู่พระนิพพาน
จากนั้นแวะกราบนมัสการ หลวงพ่อแดง ณ วัดราชสิงขร ซึ่งป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงระหว่างปลายรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.2275 - 2310) ซึ่งเป็นช่วงปลายแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ที่นับว่าบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุด
"หลวงพ่อแดง" เป็นพระพุทธรูปเนื้อสำริดแกมทองคำ ปางมารวิชัย มีความงดงามมาก โดยเฉพาะพระพักตร จนทำให้เกิดการขนานนามท่านว่า หลวงพ่อพระพุทธสุโขทัย กิตติศัพท์ด้านความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อแดงเป็นที่เลื่องลือและนับถือเลื่อมใสของชาวบ้าน ผู้ใดได้บนบานสานกล่าว มักได้สมปรารถนาเสมอ
ไปต่อกันที่วัดที่ 4 สักการะหลวงพ่อซำปอกง ณ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร (วัดกัลยา) ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อสมัยราชกาลที่ 3 เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน จึงมีชื่อเรียกแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติที่แทรกเรื่องราวชีวิตชาวบ้านชาวเมืองสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากนั้นยังมี หอมณเฑียรธรรมเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บประไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 4 หน้าพระวิหารหลวงยังมีหอระฆังฝีมือคนรุ่นใหม่ สำหรับเก็บระฆังยักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทางเข้าวัดมีเจดีย์หิน ทำมาจากเมืองจีน เรียกว่า "ถะ" เป็นศิลปะจีนที่งดงามมาก
จากนั้นนั่งเรือต่อไปที่ วัดอรุณราชวราราม สักการะพระประธาน และเดินทักษิณาวัตรรอบพระปรางค์ 3 รอบ เพื่อชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน วัดอรุณราชวรารามเป็นอีกหนึ่งวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" ตามชื่อตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นที่ตั้งวัด ภายหลังเปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่แต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ ชื่อ "วัดมะกอกใน" ต่อมาใน พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราช ประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรี จึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารค และถึงหน้าวัดเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น "วัดแจ้ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตนั่นเอง
จากนั้นแวะนมัสการ พระประธานยิ้มรับฟ้า สวดภาวนาด้วยคาถาชินบัญชรสักการะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พร้อมให้อาหารปลาหน้า วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือ วัดระฆัง เป็นพระอารามหลวงชั้นโท สร้างตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางหว้าใหญ่ แต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ได้มีการขุดพบระฆังลูกหนึ่งซึ่งมีเสียงไพเราะมาก ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 1 ได้นำระฆังดังกล่าวไปไว้ที่วัดพระแก้ว และโปรดให้สร้างหอระฆัง พร้อมทั้งระฆังอีก 5 ลูกไว้ให้แทน จึงเป็นที่มาของชื่อ "วัดระฆัง"
ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน "พระประธานยิ้มรับฟ้า" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก 3 องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระราชาคณะในสมัยรัชกาลที่ 4
จากนั้นนั่งเรือเข้าสู่คลองบางกอกน้อย ผ่านอู่เรือพระราชพิธี แวะนมัสการหลวงพ่อวัดโบสถ์น้อย ณ วัดอมรินทราราม ซึ่งวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ "วัดบางหว้าน้อย" ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดให้บูรณะปฎิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมด และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอมรินทราราม"
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานศักดิ์สิทธิ์ คือ "หลวงพ่อโบสถ์น้อย" ซึ่งมีเรื่องเล่าถึงปาฏิหาริย์และความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโบสถ์น้อยว่า ตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายสถานีรถไฟบางกอกน้อยจนพังพินาศ เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงกำลังของฝ่ายญี่ปุ่น วัดอมรินทรารามก็พลอยถูกลูกหลงจนเสียหายย่อยยับไปด้วย เหลือเพียงวิหารหลังหนึ่งซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะอยุธยานามว่า "หลวงพ่อโบสถ์น้อย" ที่รอดพ้นภัยมาได้ ชาวบ้านจึงพากันเลื่อมใสศรัทธาในปาฏิหาริย์ครั้งนี้เป็นอย่างมาก
ออกจาก วัดอมรินทราราม ก็ล่องเรือออกแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้ง เลี้ยวซ้ายไปทางเทเวศน์ สักพักก็จะถึงวัดลำดับที่ 8 วัดคฤหบดี สร้างโดยพระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) ต้นสกุล "ภมรมนตรี" ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้โปรดพระราชทานนามวัด และพระราชทาน "พระแซกคำ" ไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้ทำการปฏิสังขรณ์วัดคฤหบดีครั้งใหญ่ และได้ทรงพระราชทานตราประจำรัชกาลประดิษฐานไว้จนกระทั่งทุกวันนี้
สำหรับ "หลวงพ่อแซกคำ" เป็นพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน ภายในองค์หลวงพ่อได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ 9 องค์ นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีอภินิหารศักดิ์สิทธิ์คู่กับพระแก้วมรกต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้อัญเชิญมากจากเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2369
และวัดสุดท้ายสำหรับทริปอิ่มบุญทริปนี้ ก็คือ วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 1850 เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวบ้านเรียกว่า วัดสมอแครง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงรับวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามว่า วัดเทวราชกุญชร โดยนำมาจากพระนามเดิมของกรมพระพิทักษ์เทเวศร ผู้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน "พระพุทธเทวราชปฏิมากร" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อลงรักปิดทอง ปางมารวิชัยฝีมือช่างสมัยทวารวดีผสมอู่ทอง ที่มีความงดงามมาก
จบทริปนี้รับรองได้ว่าทั้งอิ่มบุญ และอิ่มตา เพราะได้สักการะสิ่งสักสิทธิ์ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานคู่บ้านคู่เมืองไทยถึง 9 สถานที่ และยังได้สัมผัสกับบรรยากาศ และวิถีชีวิตที่สวยงามของชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนเพลิดเพลินกับการสัญจรทางน้ำที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ได้ภายในหนึ่งวัน
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเลือกใช้บริการจากผู้ประกอบการที่มีให้เลือกมากมาย เพราะงานนี้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (ขน.) ออกมารับรองว่าเรือทุกลำที่ให้คอยบริการจะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่มีมาตรฐานเดียวกันทุกลำ ทั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ และการประกันภัยทางเรือสำหรับผู้โดยสาร
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก