x close

คิดจะเที่ยว... เที่ยวเพชรบุรี



เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบโดย กระปุกดอทคอม

         ในวันที่ฝนตกลงเม็ดพร่ำ ๆ หลายคนนั่งขำ ๆ อยู่กับบ้านหลายคนหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน ก็อยากจะหาสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจและคลายเครียดวันนี้เราขอแนะนำจังหวัดน่าเที่ยวอีกจังหวัดหนึ่ง นั่นคือ... เพชรบุรีจังหวัดในภาคกลางที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอ่าวไทย 

          "เพชรบุรี"อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 123 กิโลเมตรเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติความเป็นมายาวนานโดยมีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งสมัยสุโขทัยและมีหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงสมัยขอมและสมัยทวารวดีทั้งยังเคยเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญชั้นเมืองลูกหลวงในสมัยอยุธยาอีกด้วย 

          ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ 6,255.138ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศทางด้านทิศตะวันตกเป็นป่าเขาสลับซับซ้อนส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบไปจนจดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรีมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำบางกลอย และแม่น้ำบางตะบูน

          ประชากรจังหวัดเพชรบุรีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการทำนาสวนผลไม้ ทำน้ำตาลโตนด เลี้ยงสัตว์ และทำการประมง และจังหวัดเพชรบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเขาย้อยอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านแหลม อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายางอำเภอแก่งกระจาน และอำเภอชะอำ  

          สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในจังหวัดเพชรบุรีนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น...

         อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นอุทยานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ถึง 2,915ตารางกิโลเมตร หรือ 1.8 ล้านไร่ ในเขตอำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้องจังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยังคงสภาพเป็นป่าดงดิบตามธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากแห่งหนึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524โดยกำหนดพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำและป่าเหนือเขื่อนแก่งกระจานเป็นเขตอุทยานฯ เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสาย พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯเป็นภูเขาสลับซับซ้อนอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรี สภาพภูมิประเทศเป็นป่าดิบชื้นยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานฯ คือยอดเขางะงันนิกยวงตองอยู่ในเขตรอยต่อประเทศพม่าและไทย มีความสูง 1,513 เมตรรองลงมาคือยอดเขาพะเนินทุ่ง ซึ่งมีความสูง 1,207 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากสันเขื่อนแก่งกระจานมีถนนเลียบออกมาทางซ้ายมือเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตรถึงที่ทำการ 

          เขื่อนแก่งกระจาน เป็นเขื่อนดินกั้นแม่น้ำเพชรบุรี สันเขื่อนยาว 760 เมตร กว้าง 8 เมตร สูง58 เมตร ฐานตอนที่กว้างที่สุด 250 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2509เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจการเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 53 กิโลเมตรและห่างจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 3 กิโลเมตรเดินทางตามเส้นทางเดียวกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 

          ถ้ำเขาย้อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาย้อย ใกล้ที่ว่าการอำเภอเขาย้อยไปตามทางหลวงหมายเลข 4 อยู่ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 22 กิโลเมตรภายในถ้ำนี้มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยหลายปางประดิษฐานอยู่คล้ายกับถ้ำเขาหลวงและวัดถ้ำเขาบันไดอิฐที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรีตามประวัติเล่าว่า พระพุทธรูปเหล่านี้มีมานานแล้วต่อมาพระครูอ่อนวัดท้ายตลาดมาบูรณะใหม่ และมีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่ากันว่าสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชอยู่นั้นพระองค์ได้เสด็จธุดงค์มาปักกลดวิปัสสนาที่หน้าเขาย้อยแล้วทรงย้ายขึ้นมาประทับนั่งกรรมฐานอยู่ในถ้ำเขาย้อยหลายคืน  

          พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก ตำบลห้วยทรายเหนือ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 216เลยหาดชะอำมา 8 กิโลเมตร เป็นพระตำหนักที่ประทับริมทะเลซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2466ได้รับขนานนามว่า "พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง" ลักษณะเป็นพระตำหนักแบบไทยผสมยุโรป เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูงสร้างด้วยไม้สักทอง พระตำหนักฝ่ายในอยู่ปีกขวาทางปีกซ้ายเป็นส่วนของฝ่ายหน้าประกอบด้วยพระที่นั่งสามองค์เชื่อมต่อถึงกันโดยตลอด พระที่นั่งสมุทรพิมานเป็นที่ประทับของพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรชายาพระที่นั่งพิศาลสาครเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีอาคารข้าราชบริพารฝ่ายหน้าเป็นบริวารหลายหลังและมีแนวระเบียงยื่นลงสู่ทะเลเป็นที่ลงสรงน้ำและพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์เป็นอาคารโถงสองชั้นเปิดโล่งใช้เป็นที่ประชุมในโอกาสต่างๆและเป็นโรงละครซึ่งเคยจัดแสดงละครครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือ เรื่องพระร่วงและวิวาห์พระสมุทร

          พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดให้เข้าชมทุกวันยกเว้นวันพุธ ค่าเข้าชม ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 15บาท นอกจากนี้ บริเวณใกล้เคียงยังมีจุดที่น่าสนใจอื่นๆ อีกได้แก่ ได้แก่บ้านพักข้าราชบริพาร อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้านเจ้าพระยารามราฆพ  

          หาดปึกเตียน อยู่ในท้องที่ตำบลปึกเตียน ห่างจากหาดเจ้าสำราญไปทางใต้ประมาณ 7 กิโลเมตรหรือสามารถเดินทางไปทางถนนเพชรเกษมถึงอำเภอท่ายางแล้วเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกคลองชลประทานสาย 2 ประมาณ 15 กิโลเมตรบริเวณหาดปึกเตียน มีหินเรียงกันคลื่นซัดชายหาดเป็นแนวยาวในทะเลและบนฝั่งมีรูปปั้นพระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทรสุดสาครและม้านิลมังกร ศาลเจ้าแม่กวนอิมและเกาะเต่า นอกจากนั้นยังมีที่พัก ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึกอยู่เรียงราย 

          หาดเจ้าสำราญ เป็นชายหาดที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากตั้งแต่สมัยโบราณตามประวัติเล่ากันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเคยเสด็จมาที่นี่พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวันจนกระทั่งชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า "หาดเจ้าสำราญ" มาจนปัจจุบัน ทั้งนี้หาดเจ้าสำราญเจริญถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ 6หาดเจ้าสำราญมีชื่อเสียงกว่าชายทะเลแห่งใดๆ ในเมืองไทยสมัยนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้น ณ ริมหาดแห่งนี้เรียกว่าพระตำหนักหาดเจ้าสำราญ สำเร็จในปี พ.ศ. 2461ต่อมารื้อไปสร้างใหม่ที่บริเวณอำเภอชะอำ เรียกชื่อว่า "พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน"บริเวณหาดเจ้าสำราญบางส่วนทำเป็นกันน้ำทะเลเซาะชายฝั่งบางส่วนเป็นหาดทรายเล่นน้ำได้ มีที่พักและร้านอาหารบริการ 

          อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ 3ยอด ยอดที่สูงที่สุดสูง 95 เมตร แต่เดิมชาวบ้านเรียกภูเขานี้ว่า "เขาสมน"พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระสมุหกลาโหมเป็นแม่กองก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2403 ทรงพระราชทานนามว่าพระนครคีรีแต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่า "เขาวัง" สืบมาจนบัดนี้ 

          หาดชะอำ อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 41 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าชายหาด ระยะทาง2 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่สวยงามและมีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรีเดิมชะอำเป็นเพียงตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอหนองจอกแต่ภายหลังที่หัวหินมีชื่อเสียง ที่ดินแถบชายทะเลถูกจับจองหมดเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สมัยนั้นจึงพยายามหาสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่โดยการนำของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์และได้พบว่าหาดชะอำเป็นชายหาดที่สวยงามไม่แพ้หัวหินชะอำจึงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นมาชะอำได้รับการพัฒนาเจริญเติบโตขึ้น และยกฐานะเป็นอำเภอจนปัจจุบัน

          ฮั่นแน่... เรียกได้ว่าท่องเที่ยวกันจนเพลินเลยจริง ๆ แล้วที่ จังหวัดเพชรบุรี ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกเพียบรอให้เพื่อนๆ ไปสัมผัสด้วยตัวเองอยู่... เที่ยวเมืองไทย ไม่ไปไม่รู้แล้วเจอกันที่จังหวัดเพชรบุรีนะคะ

การเดินทาง


รถยนต์

         ทางที่สะดวกและใกล้ที่สุด คือ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35(สายธนบุรี - ปากท่อ) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และอำเภอปากท่อแล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปจังหวัดเพชรบุรี รวมระยะทางประมาณ 123กิโลเมตร หรือจากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านนครปฐมราชบุรี ไปยังเพชรบุรี เป็นระยะทาง 166 กิโลเมตรหรือใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์1543 

รถไฟ 
 
         จากกรุงเทพฯ มีบริการรถไฟไปเพชรบุรีและอำเภอชะอำทุกวันรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน่วยบริการเดินทาง โทรศัพท์1690 หรือ 0-2220-4334และยังมีรถไฟออกจากสถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย) ทุกวันสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-2411-3102 

รถโดยสารประจำทาง 

         มีทั้งรถประจำทางปรับอากาศ และรถธรรมดาออกจากสถานีขนส่งสายใต้ถนนบรมราชชนนี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2435-1199,0-2434-7192, 0-2435-5605 นอกจากนี้ยังสามารถโดยสารรถประจำทางสายใต้หลายสายที่วิ่งผ่านเพชรบุรี เช่นสายกรุงเทพฯ - ชุมพร สายกรุงเทพฯ – หัวหิน - ปราณบุรี เป็นต้น จากกรุงเทพฯยังสามารถเดินทางไปยังอำเภอต่างๆ ของจังหวัดเพชรบุรีได้ คือ กรุงเทพฯ -ชะอำ, กรุงเทพฯ - ท่ายาง, กรุงเทพฯ - บ้านแหลม อีกด้วย

          นอกจากนี้ จากตัวเมืองเพชรบุรียังมีรถโดยสารไปหัวหิน ปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และราชบุรี

หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ  

          สำนักงานจังหวัดเพชรบุรี โทรศัพท์ 0-3242-5573 
          ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทรศัพท์ 0-3242-8047 
          ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเทศบาลเมืองเพชรบุรี โทรศัพท์ 0-3240-2220, 0-3242-7579  



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  และ เว็บไซต์จังหวัดเพชรบุรี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คิดจะเที่ยว... เที่ยวเพชรบุรี อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:50:23 13,244 อ่าน
TOP