10 ดอยสูง ที่ควรไปเยือนสักครั้ง

ท่องเที่ยวไทย

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คู่หูเดินทาง, คุณ Memories pink, คุณ Pat, อุทยานแห่งชาติ, คุณ OaddybeinG, ททท. และ คุณอรัฐพล พูลสวัสดิ์                        

          ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ที่มี จึงไม่ต้องแปลกใจที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ต่างเดินทางมาสัมผัสกับความงดงาม สดชื่น เขียวขจีในประเทศไทย โดยเฉพาะภาพวิวทิวเขาสลับซับซ้อนสุดลูกหูลูกตา ทะเลหมอกขาวโพรนลอยอ้อยอิ่ง รวมถึงผลผลิตจากพืชสวนไร่นาของชาวบ้านบนดอยสูง ดังนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวมเอา 10 ดอย อันเลื่องลือเรื่องความงดงามมาบอกกัน แต่จะเป็นที่ไหนบ้างนั้น ตามเราไปดูกันเลย...

ดอยอ่างขาง

ดอยอ่างขาง

ดอยอ่างขาง

          ดอยอ่างขาง ตั้งอยู่ที่ตำบลอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากเขตแดนไทยพม่าเพียง 5 กิโลเมตร การเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณกิโลเมตรที่ 137 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าบ้านยางที่ตลาดแม่ข่า เข้าไปอีกประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นทางลาดยาง สูงและคดเคี้ยว ต้องใช้รถสภาพดีและมีกำลังสูง คนขับชำนาญ หรือจะหาเช่ารถสองแถวได้ที่ตลาดแม่ข่า

          อ่างขาง เป็นภาษาเหนือ หมายถึง อ่างสี่เหลี่ยม ซึ่งได้ชื่อมาจากลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร ทำให้อากาศบนดอยหนาวเย็นตลอดปีโดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อากาศเย็นจนน้ำค้างกลายเป็นน้ำค้างแข็ง นักท่องเที่ยวจึงควรเตรียมเครื่องกันหนาวมาให้พร้อม เช่น หมวก ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อกันหนาว

ดอยอ่างขาง

          สถานที่น่าสนใจบนดอยมีหลายแห่ง ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง เรื่องกำเนิดของสถานีฯ แห่งนี้เป็นเกร็ดประวัติเล่ากันต่อมาว่าครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทางเฮลิคอปเตอร์ผ่านยอดดอยแห่งนี้ และทอดพระเนตรลงมาเห็นหลังคาบ้านคนอยู่กันเป็นหมู่บ้าน จึงมีพระดำรัสสั่งให้เครื่องลงจอด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาทอดพระเนตรเห็นทุ่งดอกฝิ่น และหมู่บ้านตรงนั้นก็คือหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอ ซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ พระองค์มีพระราชดำรัสที่จะแปลงทุ่งฝิ่นให้เป็นแปลงเกษตร 

ดอยอ่างขาง

          สถานีฯ จึงเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2512 มีโครงการวิจัยผลไม้ ไม้ดอกเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ พืชน้ำมัน โดยมุ่งที่จะหาผลิตผลที่มีคุณค่าพอที่จะทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา และทำการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่ชาวเขาในบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งที่สถานีฯ ยังเป็นแหล่งเที่ยวชมวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านชาวไทยภูเขาต่าง ๆ ได้แก่ เผ่ามูเซอดำ ปะหล่อง และจีนฮ่อ รวมทั้งชมความงามตามธรรมชาติของผืนป่า กิจกรรมดูนกซึ่งมีนกทังนกประจำถิ่นและนกหายากต่างถิ่น พร้อมผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย งานส่งเสริมเกษตรกรจำหน่ายใต้ตราสินค้า "ดอยคำ" และที่พักทั้งในรูปแบบรีสอร์ท บ้านพักแบบกระท่อมและลานกางเต็นท์พร้อมอาหารและเครื่องดื่มบริการ

ดอยอ่างขาง

          สวนบอนไซ อยู่ในบริเวณสถานีฯ เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้เขตอบอุ่นและเขตหนาวทั้งในและต่างประเทศ ปลูก ดัด แต่ง โดยใช้เทคนิคบอนไซ สวยงามน่าชม และในบริเวณเดียวกันยังมีสวนสมุนไพร ฤดูท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม, หมู่บ้านคุ้ม ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีฯ เป็นชุมชนเล็ก ๆ ประกอบด้วยผู้อยู่อาศัยหลายเชื้อชาติอยู่รวมกัน อาทิ ชาวไทยใหญ่ ชาวพม่าและชาวจีนฮ่อ ซึ่งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้และเปิดร้านค้าบริการแก่นักท่องเที่ยว, จุดชมวิวกิ่วลม อยู่ทางด้านซ้ายมือก่อนถึงทางแยกซึ่งจะไปหมู่บ้านปะหล่องนอแลทางหนึ่ง และบ้านมูเซอขอบด้งทางหนึ่ง สามารถชมทะเลหมอกและวิวพระอาทิตย์ทั้งขึ้นและตก มองเห็นทิวเขารอบด้านและหากฟ้าเปิดจะมองเห็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขางด้วย

          หมู่บ้านนอแล ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า คนที่นี่เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่องเชื้อสายพม่า แต่เดิมคนกลุ่มนี้อยู่ในพม่าและพึ่งอพยพมา มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นับถือศาสนาพุทธ ทุกวันพระผู้คนที่นี่หยุดอยู่บ้านถือศีล จากหมู่บ้านนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามของธรรมชาติบริเวณพรมแดนไทย-พม่า, หมู่บ้านขอบด้ง เป็นที่ที่ชาวเขาเผ่ามูเซอดำและเผ่ามูเซอแดงอาศัยอยู่ร่วมกัน คนที่นี่นับถือผี มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงในด้านการเกษตรและด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (เช่น อาบูแค เป็นกำไลถักด้วยหญ้าไข่เหามีสีสันและลวดลายในแบบของมูเซอ) บริเวณหน้าหมู่บ้านจะมีการจำลองบ้านและวิถีชีวิตของชาวมูเซอ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มีโอกาสเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมของหมู่บ้าน
 
          หมู่บ้านหลวง ชาวหมู่บ้านหลวงเป็นชาวจีนยูนานที่อพยพมาจากประเทศจีน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก อาทิ ปลูกผักผลไม้ เช่น พลัม ลูกท้อ และสาลี่ ทั้งนี้ กิจกรรมท่องเที่ยวบนดอยอ่างขาง มีหลายอย่างที่สามารถทำได้เช่น เดินเท้าศึกษาธรรมชาติ ขี่ล่อล่องไพร เป็นต้น สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โทรศัพท์ 05345 0107 - 9 หรือ www.angkhangstation.com

ดอยอินทนนท์

ดอยอินทนนท์

ดอยอินทนนท์


          ดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แต่เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า "ดอยหลวง" หรือ "ดอยอ่างกา" ดอยหลวง หมายถึงภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า ดอยอ่างกา

          ดอยอินทนนท์ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยซึ่งพาดผ่านจากประเทศเนปาล ภูฐาน พม่า และมาสิ้นสุดที่นี่ สิ่งที่น่าสนใจของดอยนี้ไม่เพียงแต่เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศด้วยความสูง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางเท่านั้น แต่สภาพภูมิประเทศและสภาพป่าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ และอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมเกือบทั้งวันและบางครั้งน้ำค้างยังกลายเป็นน้ำค้างแข็ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้มีผู้มาเยือนที่นี่อย่างไม่ขาดสาย

          สถานที่น่าสนใจ ได้แก่ น้ำตกแม่ยะ น้ำตกขนาดใหญ่และสวยงามมากแห่งหนึ่ง เพราะน้ำซึ่งไหลลงมาจากหน้าผาที่สูงชัน 280 เมตร ลงมากระทบโขดหินเป็นชั้น ๆ เหมือนม่าน แล้วลงไปรวมกันที่แอ่งน้ำเบื้องล่าง น้ำใสเย็นเหมาะ, น้ำตกแม่กลาง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ชั้นเดียว สูงประมาณ 100 เมตร ต้นน้ำอยู่บนดอยอินทนนท์ มีน้ำไหลตลอดปี มีความสวยงามตามธรรมชาติ, ถ้ำบริจินดา ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 8-9 ของทางหลวงหมายเลข 1009 ใกล้กับน้ำตกแม่กลาง จะเห็นทางแยกขวามือมีป้ายบอกทางไปถ้ำบริจินดา ภายในถ้ำลึกหลายกิโลเมตร เพดานถ้ำมีหินงอกหินย้อย หรือชาวเหนือเรียกว่า "นมผา" สวยงามมาก มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในถ้ำด้วย นอกจากนั้น ยังมีธารหิน เมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรงามยิ่งนัก



          น้ำตกวชิรธาร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เดิมชื่อ "ตาดฆ้องโยง" น้ำจะดิ่งจากผาด้านบนตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ในช่วงที่มีน้ำมากละอองน้ำจะสาดกระเซ็นไปทั่วบริเวณรู้สึกได้ถึงความเย็นและชุ่มชื้น, น้ำตกสิริภูมิ ไหลมาจากหน้าผาสูงชัน เป็นทางยาวสวยงามมาก สามารถมองเห็นได้จากบริเวณที่ทำการอุทยานฯ เป็นสายน้ำตกแฝดไหลลงมาคู่กันแต่เดิมเรียกว่า "เลาลึ" ตามชื่อของหัวหน้าหมู่บ้านม้งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ น้ำตกสิริภูมิ, โครงการหลวงดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่ในบริเวณดอยอินทนนท์ เป็นสถานีวิจัยดอกไม้เมืองหนาวเป็นหลัก พรรณไม้ที่ปลูกมากที่สุดคือเบญจมาศ เพราะมีสีสันสดใส นอกจากนั้น ยังมีโครงการวิจัยสตรอว์เบอรรี่ โครงการศึกษาและรวบรวมพันธุ์เฟินชนิดต่าง ๆ โครงการวิจัยกาแฟ โครงการวิจัยฝรั่งคั้นน้ำ ไม้ผล เช่น สาลี่ พลับ กีวี ทิบทิมเมล็ดนิ่ม ฯลฯ ไม้ดอก เช่น แกลดิโอลัส กุหลาบ เยอบีรา ฯลฯ ผัก เช่น พริกหวาน มะเขือเทศ เซเลอรี ฯลฯ ซึ่งจัดจำหน่ายภายใต้ตรา "ดอยคำ"

ดอยอินทนนท์

          พระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทย โดยพระมหาธาตุนภเมทนีดล สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2530 และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ สร้างถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2535 พระมหาธาตุทั้ง 2 องค์นี้ ยอดปลีขององค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปบูชา รอบบริเวณสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์ได้อย่างสวยงาม

          ยอดดอยอินทนนท์ จุดสิ้นสุดของทางหลวงหมายเลข 1009 เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย (2,565 เมตร) มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี เป็นที่ตั้งสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศไทยและเป็นที่ประดิษฐานสถูปเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้ายซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้และหวงแหนดอยหลวงเป็นอย่างมากต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน ท่านผูกพันกับที่นี่มากจึงสั่งว่าหากสิ้นพระชนม์ไปแล้วให้แบ่งเอาอัฐิส่วนหนึ่งมาไว้ที่นี่

          น้ำตกห้วยทรายเหลือง เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลแรงตลอดปี และไหลจากหน้าผาลงมาเป็นชั้น ๆ, น้ำตกแม่ปาน นับว่าเป็นน้ำตกที่ยาวที่สุดของเชียงใหม่ก็ว่าได้ น้ำจะตกลงมาจากหน้าผาซึ่งสูงกว่า 100 เมตร เป็นทางยาว ถ้ามองดูแต่ไกลจะเห็นสายน้ำยาวสีขาวตัดกับสีเขียวของต้นไม้ทำให้ดูเด่น น้ำที่ตกลงมายังเบื้องล่างกระทบโขดหินแตกเป็นฟองกระจายไปทั่วบริเวณทำให้มีความชุ่มชื้น เบื้องล่างมีแอ่งน้ำรองรับอยู่ สามารถพักผ่อนลงอาบเล่นได้, เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนดอยอินทนนท์ กิ่วแม่ปาน ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 3 ชั่วโมง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติแท้จริง ระหว่างทางเดินจะพบป่าดิบเขา (Hill Evergreen) ดอกกุหลาบพันปี หรือ Rhododendron และเมื่อมองลงไปยังเบื้องล่างจะพบทัศนียภาพที่งดงามของอำเภอแม่แจ่ม

          อ่างกาหลวง จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ ป่าดิบเขาระดับสูง ลักษณะของพรรณไม้เขตอบอุ่นผสมกับเขตร้อนที่พบเฉพาะในระดับสูง การสะสมของอินทรียวัตถุในป่าดิบเขา ลักษณะอากาศเฉพาะถิ่น  พืชที่อาศัยเกาะติดต้นไม้ ลักษณะของต้นน้ำลำธาร และลักษณะของต้นไม้บนดอยอ่างกา เช่น ต้นข้าวตอกฤาษี ที่ขึ้นตามพื้นดิน กุหลาบพันปี เป็นต้น, กิจกรรมดูนกบนดอยอินทนนท์ จากการสำรวจพบว่ามีนกอยู่ 380 ชนิด ช่วงที่นักดูนกนิยมมาดูนกกันเป็นฤดูหนาว นอกจากจะได้พบนกประจำถิ่นแล้ว ยังสามารถพบนกอพยพ

ดอยอินทนนท์

          ทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 9 ของเส้นทางหมายเลข 1009 มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ และมีนิทรรศการเกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ป่า และอื่น ๆ บริเวณที่ทำการมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม สำรองที่พักล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทรศัพท์ +66 2562 0760 หรือ เว็บไซต์ www.dnp.go.th  อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โทรศัพท์ +66 5335 5728, +66 5331 1608, เว็บไซต์ www.doiinthanon.com ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

          การเดินทาง ระยะทางจากตัวเมืองขึ้นไปจนถึงยอดดอยอินทนนท์ประมาณ 106 กิโลเมตร ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่-จอมทอง ถึงหลักกิโลเมตรที่ 57 ก่อนถึงอำเภอจอมทอง 1 กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์ ระยะทาง 48 กิโลเมตรถึงยอดดอยอินทนนท์ เป็นถนนลาดยางอย่างดีแต่ทางค่อนข้างสูงชัน รถที่นำขึ้นไปจะต้องมีสภาพดี ผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวสามารถนั่งรถสองแถวสายเชียงใหม่-จอมทองบริเวณประตูเชียงใหม่ จากนั้นขึ้นรถสองแถวที่หน้าวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารหรือที่น้ำตกแม่กลาง ซึ่งจะเป็นรถโดยสารประจำทางไปจนถึงที่ทำการอุทยานฯตรงหลักกิโลเมตรที่ 31 และหมู่บ้านใกล้เคียง แต่หากต้องการจะไปยังจุดต่าง ๆ  ต้องเหมาไปคันละประมาณ 800 บาท

ดอยตุง

ดอยตุง

          ดอยตุง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ลักษณะเป็นเทือกเขาสูงทอดตัวยาวอยู่ทางด้านซ้ายของเส้นทางที่มุ่งไปอำเภอแม่สาย จากอดีตที่เคยเป็นขุนเขาแห้งแล้ง แต่เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จมา และทรงมีพระราชดำรัสว่า "ฉันจะปลูกป่าดอยตุง" จากนั้นโครงการพัฒนาดอยตุงก็เริ่มขึ้น โดยปลูกป่าคืนความสมบูรณ์กลับคืนสู่ธรรมชาติ พร้อมกับได้ดึงชาวเขาเข้ามาทำงานในโครงการ

          จนปัจจุบันดอยตุงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวขึ้นไปเยี่ยมชม ได้แก่ พระธาตุดอยตุง ปูชนียสถานที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งแต่ละปีจะมีผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางไปนมัสการพระธาตุดอยตุงมากมาย ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 17.5 บนทางหลวงหมายเลข 1149 เป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า นำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ ได้ทำธงตะขาบ (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ตุง) ใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็จะกำหนดเป็นฐานพระสถูป เหตุนี้ดอยซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย จึงปรากฏนามว่า ดอยตุง

          พระตำหนักดอยตุง ประทับแปรพระราชฐานเพื่อทรงงานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีรูปทรงผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนากับชาเลย์ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีการแกะสลักไม้ตามกาแล เชิงชายและขอบหน้าต่างเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยฝีมือช่างชาวเหนือ รอบ ๆ พระตำหนักมีสวนดอกไม้หลากพันธุ์ หลายสี ให้ความสวยงามสดชื่น โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะเห็นหมอกจาง ๆ บริเวณยอดเขารอบพระตำหนัก มีเจ้าหน้าที่นำชมเป็นรอบ ๆ ละ 20 นาที เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-17.00 น. ค่าเข้าชม 70 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 5376 7015-7 หรือ www.doitung.org



          สวนแม่ฟ้าหลวง อยู่ด้านหน้าพระตำหนักดอยตุง มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาว อาทิ ดอกซัลเวีย พิทูเนีย บีโกเนีย กุหลาบ ดอกลำโพง ไม้มงคลต่าง ๆ ไม้ยืนต้นและซุ้มไม้เลี้อยอีกมากกว่า 70 ชนิด รูปปั้นต่อเนื่อง ฝีมือของคุณมีเซียม ยิบอินซอย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.30-18.00 น. ค่าเข้าชม 80 บาท, สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง (สวนกุหลาบพันปี ดอยช้างมูบ) สถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งบนดอยตุง บนยอดสูงสุดของเทือกเขานางนอน ที่มีความสูงถึง 1,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล สามารถมองเห็นทั่วทั้งโครงการพัฒนาดอยตุง ตลอดจนภาพมุมกว้างของสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งที่สวนรุกขชาติ ขนาด 250 ไร่แห่งนี้ ป่านางพญาเสือโคร่ง กล้วยไม้ป่านานาพันธุ์ และกุหลาบพันปีหลากสีหลายสายพันธุ์ ที่นำมาจากนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ซึ่งสามารถสัมผัสบรรยากาศความฉ่ำชื่นใจจาก "ธารน้ำพระทัย" ที่เป็นธารน้ำผุดจากใต้ดิน และยังสามารถดื่มด่ำบรรยากาศอันงดงามยามพระอาทิตย์ตกดิจที่ "ลานอาทิตย์อัสดง"

สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง

          หอแห่งแรงบันดาลใจ เป็นอาคารแสดงพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและพระราชวงศ์ มีห้องจัดแสดงนิทรรศการ 8 ห้อง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชม 50 บาท นอกจากนั้นยังมีร้านขายของที่ระลึก เสื้อผ้าไหม ผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงทั้งผักผลไม้ ดอกไม้ พันธุ์ไม้ต่าง ๆ ให้ซื้อกลับไปเป็นของฝาก ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมทั้ง พระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง และหอแห่งแรงบันดาลใจ จำหน่ายบัตรรวม ราคา 160 บาท ซุ้มจำหน่ายบัตรเปิดเวลา 06.30-18.00 น. หลังเวลา 17.00 น. จำหน่ายเฉพาะบัตรชมพระตำหนักและสวนแม่ฟ้าหลวง

ดอยแม่สลอง


ดอยแม่สลอง

 ดอยแม่สลอง

          ดอยแม่สลอง เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านสันติคิรี เดิมชื่อบ้านแม่สลองนอก เป็นชุมชนผู้อพยพจากกองพล 93 จากสหภาพพม่าเข้ามาในเขตไทย จำนวนสองกองพันคือ กองพันที่ 3 เข้ามาอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และกองพันที่ 5 อยู่ที่บ้านแม่สลองนอก ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ในเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ดอกนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นซากุระพันธุ์ที่เล็กที่สุด สีชมพูอมขาวจะบานสะพรั่งตลอดแนวทางขึ้นดอยแม่สลอง เป็นพันธุ์ไม้ที่หาชมได้ยากในเมืองไทย เพราะเจริญเติบโตอยู่แต่เฉพาะในภูมิอากาศหนาวจัดเท่านั้น

          จุดน่าสนใจบนดอยแม่สลองได้แก่ ชมไร่ชาและศึกษาวิธีการผลิตชา ขี่ม้าชมทิวทัศน์รอบหมู่บ้านเจียงจาใส เยี่ยมชม สุสานนายพลต้วน ซี เหวิน ไปไหว้ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรี และอนุสรณ์สถานอดีตทหารจีนคณะชาติภาคเหนือ ประเทศไทย ศึกษาเรื่องราว ประวัติของชาวดอยแม่สลอง มีไกด์นำชม เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชม 30 บาท โทรศัพท์ 0 5376 5170, 0 5376 5180 ศูนย์ประสานงานนำเที่ยวชุมชุน HOMESTAY และกางเต็นท์ โทรศัพท์ 0 5371 0024, 08 5038 6362 อบต. แม่สลองนอก โทรศัพท์ 0 5376 5129

ดอยแม่สลอง

          การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงราย-แม่จัน 28 กิโลเมตร เลยจากอำเภอแม่จันไป 1 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไป 23 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านผาเดื่อ ซึ่งเป็นจุดแวะชมและซื้อหัตถกรรมชาวเขา จากนั้นเดินทางจากบ้านอีก้อสามแยก (ทางขวาไปหมู่บ้านเทิดไทย) ตรงไปดอยแม่สลอง ระยะทาง 10 กิโลเมตร รวมระยะทางจากเชียงราย 64 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอดสาย และจากดอยแม่สลองมีถนนเชื่อมต่อไปถึงบ้านท่าตอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 45 กิโลเมตร ในกรณีไม่ได้ขับรถมาเองให้ขึ้นรถประจำทางจากตัวเมืองเชียงรายไปต่อรถสองแถวที่ปากทางขึ้นดอยแม่สลอง โทรศัพท์ 08 1024 0813

ดอยเสมอดาว

ดอยเสมอดาว

ดอยเสมอดาว

          ดอยเสมอดาว ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณของ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จังหวัดน่าน อยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 16 สายนาน้อย-ปางไฮ เป็นจุดชมทิวทัศน์บนยอดหน้าผาสูง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ 360 องศา มีพื้นที่เป็นลานกว้างตามสันเขา สำหรับพักผ่อนและดูดาว ดูพระอาทิตย์ตกและยังเป็นจุดชมทะเลหมอกอีกด้วย

          หากจะเดินขึ้นไปบนผาสิงห์ (เป็นหน้าผาที่มีรูปร่างคล้ายหัวสิงห์) ระยะทาง 2 กิโลเมตร ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางจากอุทยานฯ ระหว่างทางจะพบต้นจันทน์ผาซึ่งเป็นไม้เด่น และเมื่อท้องฟ้าแจ่มใส จากผาสิงห์สามารถมองเห็น อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา และแม่น้ำน่านได้ ทิวทัศน์ทั้งสองฝั่งแม่น้ำน่าน แม่น้ำทอดตัวผ่านกลางพื้นที่อุทยานฯ ตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดยาวกว่า 60 กิโลเมตร สามารถล่องเรือ ล่องแพ ชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำน่าน จะเห็นทิวทัศน์ เกาะแก่ง โขดหิน หาดทราย หน้าผา สภาพป่าที่เขียวขจีและสัตว์ป่านานาชนิดต่าง ๆ มากมาย

ดอยเสมอดาว

          มีจุดเด่นที่น่าสนใจ ผาง่าม เป็นหน้าผาขนาดใหญ่ ตั้งโดดเด่นอยู่กลางป่าเขาที่เขียวขจี ผาขวาง เป็นหน้าผาขนาดใหญ่ ตั้งขวางอยู่กลางแม่น้ำน่าน สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สองฝั่งแม่น้ำน่าน ที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับระบบธรรมชาติวิทยา

          การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดแพร่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 101 ไปจนถึงอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามถนนแก้วฟ้า ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1026 จากอำเภอเวียงสา ไปอำเภอนาน้อย ระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนสาย นาน้อย-ปางไฮ ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1083 ไปอีกประมาณ 22 กิโลเมตร จนถึงผาชู้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติศรีน่าน

ดอยภูคา

 ดอยภูคา

        ดอยภูคา ตั้งอยู่ใน อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน มีความสูงถึง 1,980 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยมียอดภูคาเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดน่าน ประกอบด้วยแนวภูเขาสูงสลับซับซ้อน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของปลายเทือกเขาหิมาลัย และเป็นแหล่งของพันธุ์ไม้หายากใกล้สูญพันธุ์และพรรณไม้เฉพาะถิ่น ได้แก่ ต้นชมพูภูคา (Bretschneidera sinensis Hemsl.) ซึ่งเป็นพืชหายากในประเทศไทยจะพบเพียงแห่งเดียวที่ป่าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา

          ต้นชมพูภูคา เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงถึง 25 เมตร ออกดอกเดือนมกราคม-ต้นมีนาคม ในเขตป่าดิบเป็นแหล่งกำเนิดต้นเต่าร้างยักษ์ เป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่นของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นปาล์มลำต้นเดียวปาล์มดึกดำบรรพ์ มีความสูงประมาณ 40 เมตร ก่วมภูคาเป็นพืชหายาก ลักษณะไม้ต้นผลัดใบ มีความสูง 15-25 เมตร ใบอ่อนสีแดงเว้าเป็น 5 แฉก ใบแก่สีเขียว 3 แฉก เป็นพืชวงศ์เดียวกับเมเปิ้ลใบห้าแฉก และกระโถนพระฤาษี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งนกเฉพาะถิ่นที่หายาก คือ นกมุ่นรกตาแดง นกพญาไฟใหญ่ และนกพงใหญ่พันธุ์อินเดีย

ต้นชมพูภูคา

          ดอยภูคา เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำน่าน ลำน้ำปัว และลำน้ำว้า บริเวณนี้เดิมเคยเป็นทะเลมาก่อน ก่อนจะเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินสองผืนใต้ทะเลเข้าหากัน ทำให้แผ่นดินโก่งตัวขึ้น น้ำทะเลใต้ดินระเหยไปเหลือเพียงสินแร่เกลือ ดังที่พบในอำเภอบ่อเกลือ และการค้นพบสุสานหอยทะเลอายุประมาณ 200 ล้านปี บนดอยภูแวที่บ้านค้างฮ่อ ตำบลสะกาด อำเภอปัว มีลักษณะเป็นหอยแครงสองฝา ดร.จงพันธ์ จงลักษณ์มณี นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี สรุปว่า เป็นซากหอยที่มี ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า พาลีโอคาร์ดิต้า สปีชี่ (Paleocardita Species) อายุ 195-205 ล้านปี จัดอยู่ในยุคไทรแอสซิก (Triassic) ตอนปลาย

          สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ ได้แก่ ชมพูภูคา ดอยภูคานับเป็นบ้านแห่งสุดท้ายของต้นชมพูภูคาพันธุ์ไม้หิมาลัย ทุกปีในเดือนกุมภาพันธ์ดอกชมพูภูคาจะผลิดอกตามปลายกิ่ง เป็นช่อสีชมพูยาว 30-35 เซนติเมตร เมื่อบานจะทำให้ช่อดอกเป็นพุ่มสวยงาม พื้นที่ป่าดิบเขาดอยภูคาจึงอาจเป็นแหล่งกำเนิดสุดท้ายของชมพูภูคา ซึ่งเป็นไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก จุดชมต้นชมพูภูคาที่เข้าถึงง่ายที่สุดอยู่ริมถนนห่างจากที่ทำการไป 5 กิโลเมตร

ดอยผ้าห่มปก

ดอยผ้าห่มปก

 ดอยผ้าห่มปก หรือ ดอยฟ้าห่มปก

          ดอยผ้าห่มปก หรือ ดอยฟ้าห่มปก ตั้งอยู่ภายใน อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก (เดิมชื่ออุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก) มีความสูง 2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล จึงมีเมฆหมอกปกคลุมยอดดอยและมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ดอยฟ้าห่มปก คือหนึ่งในเทือกเขาแดนลาวที่ทอดตัวยาวตั้งแต่ทางตอนใต้ของยูนนานลงมาแบ่งชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่เชียงรายไปจนถึงแม่ฮ่องสอนจนไปจรดกับเทือกเขาถนนธงชัย

          บนดอยฟ้าห่มปกมีนก และผีเสื้อที่น่าสนใจ เช่น นกปีกแพรสีม่วง นกปรอดหัวโขนก้นเหลือง ผีเสื้อมรกตผ้าห่มปกซึ่งพบที่นี่แห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ เป็นต้น ในฤดูหนาวมีนกอพยพมาอาศัย เช่น นกเดินดงคอแดง นกเดินดงดำปีกเทา นกเดินดงสีน้ำตาลแดง เป็นต้น

          นักท่องเที่ยวตั้งแค้มป์พักแรมได้ตรงบริเวณกิ่วลม เนื่องจากทางอุทยานแห่งชาติไม่อนุญาตให้พักแรมบนยอดดอยฟ้าห่มปกซึ่งเป็นหน้าผาชันและอาจเกิดอันตรายได้ การเดินทางขึ้นยอดดอยฟ้าห่มปกต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน 1 คืน ก่อนเดินทางควรติดต่อขออนุญาต ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ค่าเช่ารถขึ้นจากอุทยานไปส่งที่ทางขึ้นดอยไปส่ง-รับประมาณ 1,500 บาท สอบถามรายละเอียดที่อุทยานฯ โทร. 0 5345 1441 ต่อ 302, 0 5345 3517-8

ดอยผ้าห่มปก

          การเดินทาง ไปอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จากเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ถึงตัวเมืองฝางตรงไปจนพบสามแยกไฟแดงให้เลี้ยวซ้ายไป 9 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางชัดเจนตลอดทาง เป็นถนนลาดยาง จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งมีรถประจำทางปรับอากาศของ บริษัทขนส่งจำกัด และบริษัทรถร่วมเอกชน ระหว่างกรุงเทพ-ฝาง, เชียงใหม่-ฝาง เมื่อถึง อ.ฝาง จะมีรถรับจ้างคอยบริการรับส่งสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก อีกประมาณ 10 กม.

          ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติจะทำการปิดบริเวณยอดดอยผ้าห่มปก ระหว่างวัน 1 กรกฎาคม - 30 กันยายนของทุกปี ก่อนการเข้าไปท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวควรมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ โดยดูได้จากเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช www.dnp.go.th และแนะนำนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติที่มีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ ให้ติดต่อสอบถามหรือสำรองการเข้าไปใช้บริการล่วงหน้าก่อนการเดินทางที่อุทยานแห่งชาติโดยตรงได้ที่ อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0 5345 3517-8 ตลอด 24 ชั่วโมง

ดอยหลวงเชียงดาว

ดอยหลวงเชียงดาว

          ดอยหลวงเชียงดาว อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว ซึ่งยอดสูงสุดของดอยเชียงดาว เรียกว่า ดอยหลวงเชียงดาว (เพี้ยนมาจากคำที่ชาวบ้านในละแวกเปรียบเทียบดอยนี้ว่าสูง เพียงดาว) มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนรูปกรวยคว่ำสูง 2,195 เมตร จากระดับน้ำทะเล นับเป็นยอดดอยที่สูงอันดับ 3 ของประเทศรองจากดอยอินทนนท์และผ้าห่มปก

          จากบนยอดดอยซึ่งเป็นที่ราบแคบ ๆ สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามรอบด้าน คือ ทะเลหมอกด้านอำเภอเชียงดาว ดอยสามพี่น้อง เทือกดอยเชียงดาว ตลอดจนถึงยอดดอยอินทนนท์อันไกลลิบอากาศเย็น ลมแรง และสมบูรณ์ด้วยดอกไม้ป่าภูเขาที่หาชมได้ยากมากมายรวมทั้งนกและผีเสื้อด้วย (ไม่เหมาะที่จะขึ้นไปยืนบนยอดดอยทีละกลุ่มใหญ่ ๆ เพราะจะไปเหยีบย่ำทำลายพรรณไม้บนนั้นได้ แม้จะโดยไม่ตั้งใจก็ตาม)

          ทั้งนี้ การเข้าไปใช้พื้นที่ต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ อย่างน้อย 2 อาทิตย์ก่อนการเดินทาง สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 0 2561 2947

          การเดินทางสู่ยอดดอยเชียงดาวเริ่มที่ถ้ำเชียงดาว ซึ่งนักท่องเที่ยวจะสามารถติดต่อคนนำทาง ลูกหาบ รวมทั้งรถไปส่งที่จุดเริ่มเดินได้ โดยค่าเช่ารถประมาณ 900 บาท ค่าจ้างลูกหาบประมาณวันละ 300 บาทต่อลูกหาบหนึ่งคน บนดอยเชียงดาวไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมตัวไปด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน อาหาร และน้ำ ส่วนเส้นทางลงนิยมใช้ทางสายบ้านถ้ำซึ่งอยู่ใกล้กับถ้ำเชียงดาว เพราะมีทางสูงชันสามารถลงได้รวดเร็วกว่าแต่ไม่เหมาะกับการขึ้น

ดอยผาตั้ง

          ดอยผาตั้ง ตั้งอยู่ใกล้ทางหลวงหมายเลข 1093 กิโลเมตรที่ 89 เป็นจุดชมวิวไทย-ลาว มีความสูง 1,635 เมตร และเที่ยวชมทะเลหมอกได้ตลอดปี ในเดือนธันวาคมถึงมกราคม มีดอกซากุระบานและเดือนกุมภาพันธ์ มีดอกเสี้ยวบานสะพรั่งงดงาม เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวจีนฮ่อ ม้ง และเย้า โดยเฉพาะจีนฮ่อนั้น อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของกองพล 93 ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ดอยผาตั้งนี้ ปัจจุบันประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกพืชเมืองหนาว เช่น บ๊วย ท้อ สาลี่ แอปเปิ้ล และชา

          การเดินทาง จากจังหวัดเชียงราย ใช้เส้นทางเชียงราย-เวียงชัย-พญาเม็งราย-บ้านต้า ทางหลวงหมายเลข 1233, 1173 และ 1152 ระยะทาง 50 กิโลเมตร บ้านต้า-บ้านท่าเจริญ ทางหลวงหมายเลข 1020 ระยะทาง 45 กิโลเมตร บ้านท่าเจริญ-เวียงแก่น-ปางหัด ทางหลวงหมายเลข 1155 ระยะทาง 17 กิโลเมตร และปางหัด-ดอยผาตั้ง อีก 15 กิโลเมตร จุดชมวิวช่องผาบ่อง สามารถมองเห็นแม่น้ำโขงทอดตัวคดเคี้ยวในฝั่งลาว  ชหากเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จึงจะถึงจุดชมวิว 103

          สภาพเส้นทางบางช่วงสูงชัน บนดอยผาตั้งมีบริการมัคคุเทศก์น้อย โรงเรียนบรรพตวิทยา โทรศัพท์ 08 1287 5325, 08 4363 4170 ที่พัก สถานที่กางเต็นท์และร้านอาหาร จุดบริการนักท่องเที่ยวดอยผาตั้ง โทรศัพท์ 0 5391 8301 หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลปอ โทรศัพท์ 0 5371 0300, 0 5391 8265

ดอยม่อนจอง

ดอยม่อนจอง

ดอยม่อนจอง

          ดอยม่อนจอง ขึ้นอยู่กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก สิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องไพรมายังดอยม่อนจองก็คือ กวางผา หรือ ม้าเทวดา ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ที่นี่ และทิวทัศน์ที่สวยงามของทิวเขา และถ้ามาในช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม จะได้พบ ดอกกุหลาบพันปี ที่กำลังบาน ว่ากันว่าต้นนี้เป็นต้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นกหายากที่พบที่นี่ ได้แก่ เหยี่ยวนกเขาท้องขาว นกอินทรีแถบปีกดำ นกอินทรีเล็ก นกเปล้าท้องขาว นกมุ่นรกคอแดง นกเดินดงคอดำ เป็นต้น

          การเดินขึ้นดอยม่อนจองสามารถไปเช้าเย็นกลับได้ แต่จะเหนื่อยมาก ต้องเริ่มออกเดินตั้งแต่ 06.30 น. เป็นอย่างน้อย หากเดินแบบไม่เหนื่อยเกินไปนักควรใช้เวลา 2 วัน 1 คืน ก่อนเดินขึ้นดอยต้องติดต่อขออนุญาตจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย หน่วยมูเซอซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการเขตรักษาพันธุ์ฯ

ดอยม่อนจอง

          การเดินทาง ไปยังเขตรักษาพันธุ์ฯอมก๋อย (หน่วยมูเซอ) จากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 แล้วแยกซ้ายจากอำเภอฮอดเข้าทางหลวงหมายเลข 1099 ไปจนถึงตัวอำเภออมก๋อย และตรงต่อไปตามทางหลวง 1099 ประมาณ 40 กิโลเมตร จะพบหน่วยมูเซออยู่ทางด้านซ้ายมือ จากหน่วยฯไปยังจุดเริ่มเดินอีกประมาณ 16 กิโลเมตร ทางในช่วงนี้จำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อและคนขับที่มีความชำนาญเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพทางเป็นลูกรัง และแคบคดเคี้ยวริมผา

          ผู้ที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง จากอำเภอเมืองเชียงใหม่มีคิวรถจากประตูช้างเผือก มายังอมก๋อย รถออกประมาณ 08.00 น. สามารถติดต่อเช่ารถไปส่งที่จุดเริ่มเดินที่ คุณเดช เสริมมติวงศ์ โทรศัพท์ 0 5346 7109 รับ-ส่ง ส่วนเสบียงข้าวของต่าง ๆ หาซื้อได้ที่ตัวอำเภออมก๋อย และค่าบริการลูกหาบ 150 บาท/วัน/คน

          และนี่เป็นเพียง 10 ดอย ที่เราหยิบมาแนะนำกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วในประเทศไทย ยังมีดอยสวยอีกหลายแห่ง รอให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสด้วยตาและด้วยใจของคุณเองค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 ดอยสูง ที่ควรไปเยือนสักครั้ง อัปเดตล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2554 เวลา 18:43:59 12,285 อ่าน
TOP
x close