


นางเลิ้ง เริงใจ (Lisa)
ทอดน่องท่องย่านเก่าแบบกินไปเที่ยวไปในตลาดบกแห่งแรกของไทยที่วันนี้มีอายุมากกว่า 100 ปี
ในเมื่อดินฟ้าอากาศอาจไม่เป็นใจให้ไปเที่ยวไกล ๆ Lisa เลยจัดทริปชวนคุณไปเดินเล่นชิลล์ ๆ ในย่านวัฒนธรรมเก่าแก่ของกรุงเทพฯ นี่เอง ย่านเก่าที่ว่าก็คือ "ตลาดนางเลิ้ง" ที่คนรุ่นปู่ย่าตายายมาถึงพ่อแม่ย่อมรู้จักกันดี แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อาจคุ้นชื่อแต่ยังไม่เคยไปละก็ ตามเราไปทัวร์นางเลิ้งกันเลยค่ะ

ทอดน่องท่องย่านเก่า
ตลาดนางเลิ้ง หรือตลาดบกแห่งแรกของไทย เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีชื่อเดิมว่า "ย่านสนามกระบือ" ต่อมาเรียกย่าน "อีเลิ้ง" ด้วยบริเวณริมคลองผดุลกรุงเกษมบรรจบคลอดเปรมประชากร มีชาวมอญล่องเรือนำตุ่มอีเลิ้งมาวางขาย จนถึงยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงเปลี่ยนชื่อให้สุภาพขึ้นว่า "นางเลิ้ง"
เสน่ห์แรกเมื่อเดินเล่นในย่านเก่านางเลิ้ง คืองานสถาปัตยกรรมคลาสสิกของตึกตลาดหรือตึกฝรั่ง ปัจจุบันทาสีชมพูหวานแหวว ด้านในแบ่งเป็นตรอกต่าง ๆ เดินถึงกันได้ และในย่านนี้ยังมีวังเจ้านายและบ้านขุนนางหลายแห่ง โดยเฉพาะบนถนนหลานหลวง อย่างเช่น วังวรดิศในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ วังจักรพันธ์ของเจ้านายในราชสกุลจักรพันธ์ หรือแถว ๆ คลองผดุงกรุงเกษมก็มีรอยอดีตวังนางเลิ้ง ในสมเด็จพระเจ้าพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ซึ่งภายในตลาดนางเลิ้งเองก็มีศาลของท่าน ที่ชาวบ้านให้ความเคารพสักการะอยู่ด้วย

ย้อนรอยบันเทิงกับมิตร ชัยบัญชา
นอกจากเป็นตลาดบกแห่งแรกแล้ว นางเลิ้งยังถือเป็นย่านบันเทิงเริงใจของคนยุคก่อน ไม่ว่าจะเป็นสนามม้านางเลิ้งหรือราชตฤณมัยสมาคม แต่ที่เหลือเพียงโครงสร้างให้เราจินตนาการถึงวันวาน คือ อาคารไม้อายุ 90 กว่าปี ในตรอกโรงไข่ เรียกว่า "ศาลาเฉลิมธานี" หรือ "โรงหนังนางเลิ้ง" คุณตาคุณยายใจดีในตลาดเล่าว่า สมัยนั้นจะฉายหนังวันละ 2 รอบ ค่าตั๋ว 3 บาท 5 บาท ในที่สุดก็เลิกฉายเมื่อความนิยมน้อยลง แถมยังคุยต่ออย่างภูมิใจว่าแถวนี้เป็นที่พักอาศัยของพระเอกหนังไทย มิตร ชัยบัญชา ไม่เชื่อก็เดินเลาะเรื่อยไปยังวัดแคนางเลิ้ง หรือ วัดสุนทรธรรมทาน จะเห็นที่เก็บอัฐิของพระเอกตลอดกาลท่านนี้ด้วย

และไม่เพียงแค่ภาพยนตร์ นางเลิ้งยังเป็นแหล่งรวมของละครชาตรีเชื้อสายใต้ที่อพยพมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ปัจจุบันอยู่รวมกันในตรอกละคร ซึ่งรวมถึงบ้านละคร "เรืองนนท์" ของครูทองใบ เรืองนนท์ ศิลปินแห่งชาติใกล้กันมี "บ้านเครื่อง" หรือบ้านรับทำเครื่องโขนละคร เช่น บ้านนราศิลป์ที่มีพี่จิ๊บเป็นผู้สืบทอดศิลปะการทำชุดโขนละครเอาไว้ด้วยใจรัก
แฟชั่นฮิตอย่างหนึ่งของหนุ่มสาวยุคนางเลิ้งเฟื่องฟู คือไปถ่ายรูปและสั่งทำล็อกเกตหินที่ร้านนางเลิ้งอาร์ต เจ้าแรกของไทย ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังเปิดบริการอยู่ สามารถไปชมล็อกเกตหินที่เจ้าของไม่มารับ โดยอาม่าเจ้าของร้านบอกว่า บางทีก็มีคนรุ่นใหม่มาขอซื้อเพราะเป็นรูปคุณปู่ของเขาเอง

พุงระเริงในตลาดนางเลิ้ง
ความสุขใจที่ขาดไม่ได้เมื่อมาเนตลาดนางเลิ้งคือการได้กินของอร่อย ๆ ค่าที่คนเก่าย่านนี้อยู่ใกล้ชิดเจ้านายใน วังจึงมีการสืบทอดอาหารตำรับชาววังเอาไว้ มีทั้งอาหารคาว-หวานพร้อมพรั่งกระจายอยู่ตามตรอกต่าง ๆ การันตีความอร่อยที่ต่อเนื่องยาวนาน 20-30 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นขนมหม้อแกงหวานมันของยายหงส์ ไส้กรอก-ปลาแนม สาคูพอดีคำที่อร่อยเพลินทั้งไส้ปลา กุ้ง และหมูของร้านแม่สะอิ้ง กล้วยหักมุกเชื่อม น้องเดียร์ ขนมเบื้องโบราณของลุงน้อยเจ้าเก่า
ตามด้วยบะหมี่รุ่งเรืองซึ่งมีทีเด็ดอยู่ที่เส้นบะหมี่ทำเองกับน้ำซุปกลมกล่อม เป็ดพะโล้ของส.รุ่งโรจน์ และร้านตี๋เป็ดที่อยู่ใกล้ ๆ กับร้านข้าวแกงเจ้าอร่อยร้านรัตนา เฮ้อ...แค่หน้ากระดาษนี้ก็คงสาธยายไม่หมด เอาเป็นว่าหลังจากเดินเล่นกินโน่นนี่นั่นไปแล้ว เรามานั่งเหยียดขาพักพุงด้วยขนมหวานกับโอเลี้ยงเย็น ๆ ที่ร้านกาแฟโบราณ 50 ปีแม่วารี นั่งดูคุณตา 3-4 คน โขกหมากรุกโป๊ก ๆ ฟังเรื่องเล่านางเลิ้งในอดีต ก็ให้รู้สึกถึงความสุขเมื่อวันวานซะจริง ๆ
เอ๊ะ...รึเราเป็นเหมือนแม่มณีจันทร์ในละคร "ทวิภพ" ล่ะกระมัง?!

Fast Facts


แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

No.36 21 กันยายน 2554