





ยี่สาร-บ้านแหลม แผ่นดิน ชีวิต และทิศทาง (อสท)
ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ...ภาพ
ต่อหน้าอ่าวไทยฝั่งตะวันตก วันที่ผมมาถึงแผ่นดินริมทะเลแห่งนั้น ระหว่างถ้อยคำในยามสาย ใครหลายคนที่นั่นบอกถึง "ที่มา" ของพวกเขาว่ามันคงอยู่ไม่เคยจางหาย แม้ว่าบางอย่างจะเปลี่ยนแปลงหน้าตาและรูปแบบไปสักเท่าไร
ถนนสายโบราณพาเราเวียนแวะไปตามหมู่บ้านทั้งริมฝั่งแม่น้ำและผืนทะเล บางแห่งตกทอดเรื่องราวลึกซึ้งแม้แต่ในจานข้าว ขณะที่มีไม่น้อย ที่ในแววตาอันเข้มชัด แน่วแน่ ล้วนมากอยู่ด้วยวันคืนที่เต็มไปด้วยริ้วรอยของคลื่นลมและรอยยิ้มผสานกลิ่นคาวเค็มของทะเล
จาก บ้านเขายี่สาร ตำบลเล็ก ๆ ปลายติ่งของอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เลาะไปจนถึง บ้านแหลม หมู่บ้านชาวประมงแสนเก่าแก่ของจังหวัดเพชรบุรี หลายวันบนทางหลวงหมายเลข 2020 ผมใช้มันไปกับผู้คนที่รู้จักแผ่นดินของตนเองมากกว่าโลกรายรอบ แผ่นดินที่โอบล้อมอยู่ด้วยแม่น้ำ ทะเล และชีวิตที่มากไปด้วยการขัดเกลา
อากาศร้อนทบทวีเปลวแดดเมื่อเรามาถึง บ้านเขายี่สาร ภูเขาลูกเดียวของสมุทรสงครามขวางบังชุมชนโบราณเอาไว้ตรงหน้า ข้างบนคือวัดเขายี่สารอันเป็นศูนย์รวมใจของผู้คนที่นี่ ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นดินที่ยากจะเพาะปลูก และน้ำจืดมีค่ามากสำหรับพวกเขา แม้จะขึ้นอยู่กับเขตอำเภออัมพวาอันมากด้วยเรือกสวนและสายคลอง แต่ยี่สารไม่ได้เป็นเช่นนั้น หมู่บ้านอันเก่าแก่มาแต่สมัยอยุธยาแห่งนี้ปักหลักตัวเองอยู่บนดินแดนน้ำกร่อย ปกคลุมด้วยป่าชายเลนรายล้อม

และพื้นดินที่งอกงามได้เฉพาะพรรณไม้ที่ทนสภาพความเค็มของดินกระนั้นก็ตาม หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่หลบจากฝั่งทะเลเข้ามาภายในแห่งนี้ก็มากด้วยเรื่องราว แม้ไม่ได้จำกัดตัวเองด้วยการเกษตร หรือชุมชนประมงชายฝั่งก็ไม่ใช่ แต่ "สายสัมพันธ์" ระหว่างลำคลอง ทะเล หรือเรือกสวน และเมืองต่าง ๆ คนยี่สารก็รู้จักมันมาหลายชั่วอายุคน
"คนยี่สารเติบโตมาด้วยถ่านโกงกางค่ะ ว่าอย่างนั้นก็ได้" อาจารย์สิริอาภา รัชตะหิรัญ เล่าให้ผมฟังในบ่ายวันหนึ่ง หน้าวัดเขายี่สารคือที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร ที่เธอและคนยี่สารหลายรุ่น รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ร่วมกันสร้างขึ้นมา ศาลาการเปรียญหลังเดิมสวยด้วยเครื่องไม้ จัดแสดงเรื่องราวผ่านข้าวของ ทั้งโบราณวัตถุภาพจิตกรรมไม้คอสอง หรือคัมภีร์ใบลานต่าง ๆ ที่เล่าเรื่องราวความเป็นอยู่ในยุค "แรกเริ่ม" ได้เป็นอย่างดี
"แต่ก่อนตามเนินดินนี่เต็มไปด้วยเครื่องถ้วยแตกหัก กระเบื้องโบราณทั้งนั้น เป็นของเล่นของเด็ก ๆ เชียว" แท้จริงมันคือหลักฐานเก่าถึงการเป็นจุดพักหนึ่งของเส้นทางค้าขาย ข้ามคาบสมุทรมาแต่โบราณของยี่สาร จากพิพิธภัณฑ์ฯ เราเดินเลาะเข้ามาในชุมชน บ้านเรือนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่เรือนทรงไทยไม้ฝาประกนก็ยังมีให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ บางหลังสลักเสลาลวดลายสวยงามไว้ตามขอบหน้าต่าง ที่เหมือนกันคือคนที่อยู่ข้างในนั้น ส่วนใหญ่คือคนรุ่นปู่ย่าที่ผ่านพาวันคืนปัจจุบันไปกับการนั่งมองความเติบโตของลูกหลาน ที่เข้าไปทำงานในเมือง รอยยิ้มและเสียงหัวเราะถามไถ่มีให้ได้สัมผัสเป็นระยะ
"แต่ก่อนไปไหนมาไหนใช้เรือกันอย่างเดียว พายเรือไม่เป็นไม่ใช่คนยี่สาร" อาจารย์สิริอาภาเล่าเพลิน ยิ้มระบายใบหน้าใสเย็น คนยี่สารผูกพันกับคนจากสองฝั่งอย่างเห็นได้ชัด จนกลายเป็นเมือง "สองน้ำ" อย่างที่หลายคนว่าไว้ การจะขึ้นล่องไปอัมพวาหรือแม่กลอง เข้าไปสู่เขต "น้ำจืด" นั้นต้องผ่านเข้าคลองดอนจั่น แล้วเข้าคลองบางลี่หรือคลองประชาชมชื่น หรือหากจะติดต่อกับทาง "ฝั่งทะเล" ต้องล่องคลองยี่สารไปเข้าคลองบางตะบูน เข้าแม่น้ำเพชรบุรี จะไปออกบ้านแหลมหรือเข้าเมืองเพชรบุรีก็ได้
"ไปไหนมาไหนมันยาก ไม่เหมือนสมัยนี้ แต่ก็ทำให้ที่นี่มีเอกลักษณ์" อาจารย์สิริอาภา ชวนเรานั่งลงตรงชานบันไดบ้านหลังหนึ่ง ตุ่มน้ำหรือที่คนยี่สารเรียกว่า "โพล่" เรียงรายตามชายคาบ้านหลายสิบใบ "กุ้ง ปู ปลา เรามีกินสบาย ของทะเลมาถึง แต่น้ำจืดนี่น่ะ ต้องไปหากันไกลเทียว หาได้ก็เอามาใส่ตุ่มโพล่ ตุนไว้ใช้เป็นเดือน ๆ" ป้าเจ้าของบ้านริมคลองยี่สารเล่า มองออกไปไกลลิบตา แนวเขาอีโก้ที่แถบเขาย้อยของเพชรบุรีจมอยู่ในเมฆฝนสีเทา
รุ่นต่อรุ่นของคนยี่สารมักพูดเป็นเสียงเดียวกัน หากใครอยากให้เล่าถึงการอยู่กินโดยเฉพาะเรื่องน้ำจืด ด้วยลักษณะพื้นที่ชายน้ำกร่อย สายคลองรายรอบล้วนคือน้ำเค็ม ที่ผลัดเวียนกันหนุนเข้ามาตามข้างขึ้นข้างแรม ครั้นเจาะผืนดินลงหาน้ำบาดาล น้ำที่ได้ก็กร่อยเสียอีก ต้มแล้วมีแต่ตะกรัน พวกเขามักพูดถึงเรื่องราวการออกไป "หาน้ำ" กันเป็นเรื่องราว

ผมมาพบกับเรือลำใหญ่ลำสุดท้ายของยี่สารที่เป็น "เรือล่มน้ำ" ก็ในวันที่ลุงชวนและป้าเฉลียว เวชกิจ อยู่ในวัยชรา เรื่องราวของเรือลำใหญ่ลำสุดท้ายที่ยังออกไปล่มน้ำ-บรรทุกน้ำจืดจากเพชรบุรี ยังคงลอยล่องอยู่ที่บ้านริมฝั่งคลองยี่สาร "เมื่อก่อนยี่สารมีเรือล่มน้ำห้าหกลำโน่น วิ่งขึ้นล่องกันไม่เว้นว่าง อย่างว่าประปามันยังไม่มี" ป้าเฉลียวบอกว่าแต่ก่อนยังไม่มีเครื่องสูบน้ำจืดลงเรือ คนยี่สารที่ไปล่มน้ำมักใช้ทักษะโบราณ กดแคมเรือให้เอียงจนจม น้ำเข้าเต็มลำ จากนั้นพายล่องลงมา
"ไปกลับสองวันโน่น หลัง ๆ มาดีหน่อย มีเครื่อง ไปเช้าเย็นกลับได้" เรือล่มน้ำต้องล่องไปถึงเขตบางตะบูน บ้านแหลม แถบแพรกวัดปากคลองบางครก ที่ตรงนั้นเป็นรอยต่อกับแม่น้ำเพชร น้ำจืดสนิท "เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยไปถี่ ๆ แล้ว รอมีงานใหญ่ งานบุญ หากน้ำประปาไม่พอ ชาวบ้านที่ใช้น้ำเยอะเขาจะเหมาเป็นลำ เราก็ทำหน้าที่ของเราไป" ลุงนั่งมองเรือล่มน้ำลำเก่าที่ท่าน้ำ ลมบ่ายโยนยอดโกงกางที่ฝั่งตรงข้ามพัดพลิ้ว
คล้ายเฒ่าชราที่รู้จักคืนวันและการคลี่คลาย แม้จะขาดแคลนน้ำจืด แต่ความสมบูรณ์ของพื้นดินเค็มของยี่สาร ก็ส่งผลให้ป่าโกงกางที่ครึ้มแน่นแทบทุกอณู ที่หมู่บ้านแทรกตัวอยู่นั้นเขียวชุ่ม ว่ากันว่าไม่เพียงแต่ความชุกชุมของหอย ปู หรือกุ้ง แต่อาชีพเก่าแก่อย่างการทำถ่านไม้โกงกาง ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บอกความเป็นคนยี่สารอย่างชัดเจน

สภาพความเป็น "บ้านป่า" ตามการรับรู้ของคนนอกสำหรับยี่สารนั้น คือความหมายของพื้นที่ป่าชายเลนที่ซ้อนทับ ทั้งจากธรรมชาติและที่ปลูกด้วยมือคน ความสมบูรณ์ของนานาสัตว์น้ำอันเอื้อต่อการยังชีพรุ่นต่อรุ่นนั้น พวกเขารู้คุณค่าและเข้าใจมันมากกว่านิยามของคำว่าแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ หากแต่พืชพรรณนานาล้วนคือสิ่งผลักดันขับเคลื่อนให้ชีวิตเดินต่อมั่นคง พืชน้ำกร่อยหลากชนิดล้วนเป็นอาหารโอชะ สมุนไพรรักษาโรค และโกงกางใบเล็กคือไม้ที่พวกเขา "เข้าใจ" มันดีว่าจะทำอะไรให้ต่อยอด ดูแลชีวิต
กลิ่นควันไม้อบอวดเมื่อผมอยู่ที่โรงเผาถ่านเก่าแก่หนึ่งในห้าโรงของบ้านยี่สาร กอง "ไม้หลา" หรือ "โกงกางดิบ" ที่ได้ขนาด ลอกเอาเปลือกออกแล้ว กองเป็นแนวท่วมหัว คนงานห้าหกคนสาละวนกับการแยกถ่านไม้ชั้นดีออกจากเตา มันดำสนิท แยกเป็นท่อน ๆ ดูได้ขนาด ราวเดือนกว่า ที่โกงกางใบเล็กที่ถือเป็นไม้ที่เผาทำถ่านให้ความร้อนสูงและดีที่สุดต้องอยู่ในเตาเผา ผ่านความร้อนกว่า 400 – 600 องศาเซลเซียส จากเตาเผาโบราณที่อายุเก่าแก่เกือบ 50 ปี บ้านของอาจารย์สิริอาภาคือโรงถ่านโรงแรกของยี่สาร มันตั้งอยู่ริมคลองสายกว้างตรงโค้งคุ้งอย่างสงบเงียบ มีเรือขนถ่านลำเก่าจอดแอบเทียบตลิ่ง ในวัยชราที่การเดินทางโดยรถสะดวกขึ้น เรื่องราวการขนถ่ายทางน้ำเก็บงำเงียบ ๆ อยู่ริมตลิ่ง
จากช่างจีนโพ้นทะเลชาวกันตัง เมืองไกลปลายฝั่งอันดามัน ที่เป็นผู้สร้างโรงถ่านแห่งแรกในยี่สารราวปี พ.ศ. 2480 เรื่องราวของชุมชนคนเผาถ่านจึงก่อร่างสร้างรูปขึ้นที่นี่ ความรู้เรื่องการทำถ่านไม้โกงกางได้ฝังรากลง ณ ป่าชายเลน ชีวิตบนพื้นที่น้ำกร่อยของพวกเขาเริ่มมีทิศทาง

"ช่าง "ซิวไพ่" เป็นคนกวางตุ้งค่ะ ตอนนั้นรุ่นคุณพ่อ เริ่มรับและเรียนรู้การทำถ่านจากทางใต้" อาจารย์สิริอาภาเล่าเพลินอยู่ด้านหน้าเตาเผา มันก่อด้วยอิฐก้อนโต โค้งเป็นโดมห้าหกเตาทึบทึมอยู่ภายใต้โรงเรียนหลังคาจาก ได้บรรยากาศเก่าแก่ ควันที่พวยพุ่งกลิ่นอมเปรี้ยวมีกระบอกดักรอการควบแน่นให้เป็น "น้ำส้มควันไม้" เอาไว้ทำปุ๋ยชีวภาพชั้นดี
"แต่ก่อนต้องลำเลียงส่งทางเรือ จากคลองยี่สารออกไปแม่กลอง ต่อเรือโยงมุ่งไปกรุงเทพฯ แถบทรงวาด สัมพันธ์วงศ์ ที่นั่นรวมกันหมด ทั้งถ่านยี่สาร ถ่านใต้ ถ่านตะวันออก เป็นปลายทางอันคึกคักของคนเผาถ่าน เดี๋ยวนี้ตลาดเปลี่ยน ส่งไปนอกมากขึ้น ตะวันออกกลางนี่ตลาดหลัก" อาจารย์เล่าภูมิใจในอาชีพเก่าแก่ และถ่านยี่สารก็ได้การยอมรับว่าคุณภาพดีที่สุด "ของเราดีตรงขนาดที่พอเหมาะในการใช้ เรื่องให้ความร้อนนั้นแน่นอนอยู่แล้ว ติดไฟเร็ว เผาได้นาน ร้อนสม่ำเสมอ"
"ป่าชายเลนที่นี่ไม่มีหมดหรอก คนยี่สารปลูกทดแทนอยู่ตลอด ไม่มีไม้ก็ไม่มีกิน" หากใครมาถามเรื่องการอนุรักษ์ป่าโกงกาง พวกเขามักให้นิยามคำว่า "บ้าน" อันเรียบง่าย จริงใจ ทุกวันที่ยี่สาร ผมมักมานั่งเล่นกับคนงานที่ลำเลียงถ่านออกจากเตา เมื่อโรงเผาไหนได้เวลาเปิด ท่ามกลางกองไม้โกงกางและคนงานตัวดำเมื่อม ผงถ่านอาบคลุมใบหน้าและเนื้อตัวของพวกเขาตำสนิท มีแต่เพียงรอยยิ้มและดวงตาที่แทรกสีขาว มันฉายชัดภาพความสุขท่ามกลางอาชีพเก่าแก่อันตกทอดและไม่มีวันสิ้นสูญ

บางวันหากอ้อนคุณป้าคุณยายได้ ผมมักได้ลองอาหารพื้นบ้านของคนยี่สาร "ชะคราม" อันดกดื่นอยู่ตามเนินดินรายรอบคือเมนูชั้นดี และบ่งบอกความเป็นคนที่นี่ได้ชัด พวกเขาเอามันมาสกัดความเค็มออกด้วยการต้มหลาย ๆ รอบ รูดเอาแต่ใบ ลวกกินกับน้ำพริกมะขาม ราดกะทิ ยำ หรือทำแกงส้ม สัมผัสของชะครามยามกินนั้นนุ่ม ๆ ดูดซับสิ่งที่ผสมกับมันอย่างน้ำแกง หรือน้ำพริกไว้เต็มรส
และหากใครได้รู้จักความเป็นยี่สารผ่านอาหารการกิน อาจต้องทึ่งว่าพวกเขาสามารถนำพืชพรรณน้ำกร่อยอย่างลูกแสม ฝักครุ่ย หรือกลอย มาทำอาหารได้หลากหลายอย่างเหลือเชื่อทุกวันนี้ แม้รสมือแบบดั้งเดิมจะหากินได้ยาก แต่ตามหมู่บ้านที่กระจัดกระจายอยู่ริมคลองยี่สาร เรื่องราวเหล่านั้นยังคงอยู่ และชัดเจนอยู่ในครัวเมื่อควันไฟได้พวยพุ่ง กลางความแล้งไร้กันดาร ขาดแคลนเรื่องน้ำจืด พวกเขาทดแทนมันด้วยคุณค่าจากสิ่งรายรอบอันโอบล้อม เป็นเส้นทางชีวิตอันเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด
พูดถึงยี่สาร อาจไม่ใช่เมืองไกลจากการรับรู้เหมือนเช่นแต่เดิม ระยะห่างจากเมืองใหญ่ราวชั่วโมงกว่าก็มาถึงได้ ผู้คนที่นี่ก็เช่นกัน พวกเขารับรู้เรื่องราวภายนอกได้เท่า ๆ กับที่พร้อมจะให้ใครสักคนเข้ามารู้จักเรื่องราวภายในของพวกเขา อันผูกพันอยู่กับแผ่นดินที่ลืมตาหรือหลับนอน เรื่องราวที่ระยะทางและวันเวลาไม่ใช่สิ่งชี้วัดตัดสิน

ออกจากยี่สาร ริมทางโอบล้อมด้วยผืนป่าโกงกางและดงชะครามเขียวครึ้ม ถนนสายโบราณเปลี่ยนหน้าตาไปตามการปรับปรุง หลุมบ่ออย่างที่คนหลายสิบปีก่อนรู้จักไม่ปรากฏให้เห็นอีกต่อไป ลมทะเลพัดมาเป็นช่วง ๆ ยามลงมาสูดอากาศโล่งริมทาง เมื่อถึง บางตะบูน เขตจังหวัดเพชรบุรี แม่น้ำบางตะบูนแยกออกมาจากแม่น้ำเพชร ทอดยาวเอื้อยไหลมาเปิดกว้างออกสู่ปากอ่าว ภาพบนสะพานนั้นกว้างไกล น่าจดจำ กระเตงเฝ้าแนวหอยแครงตรงปากอ่าวบางตะบูนเรียงรายลิบตา มันย้อมเป็นสีเดียวกับท้องฟ้าเมื่อทุกยามเย็นมาเยือน
ชุมชนปากแม่น้ำเรียงรายด้วยเรือประมงเล็กใหญ่ บ้านริมน้ำสวยงามราวโปสการ์ดเมื่อมองลงไปจากมุมสูง เราเข้าสู่หมู่บ้านชาวประมงที่ บ้านแหลม ภาพสองฟากฝั่งถนนปะปนไปอย่างน่าใส่ใจ ปลายทางจากการรอนแรมออกทะเลอยู่ที่นี่ แทบทุกบ้านนั้นเต็มไปด้วยเสียงพูดคุย และเรื่องราวเกี่ยวกับทะเล ปลาใหญ่ หมึก หอย รวมถึงเหล่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลตากแห่ง ล้วนมีที่มาอยู่ในหมู่บ้านประมงขนาดใหญ่ริมทะเลตมอันแสนสมบูรณ์

เราข้ามสะพานเล็กแต่สูงขึ้นมามอง วัดต้นสน วัดเก่าแก่เคียงคู่คนบ้านแหลม ศาลเจ้าฮุดโจ้ว บ่งบอกการตั้งรกรากอยู่ร่วมของพี่น้องคนจีนไหหลำ ผู้แรมรอนจากโพ้นทะเล เรือประมงขนาดใหญ่จอดอิงแอบไล่ตีโค้งไปตามแม่น้ำเพชร ชีวิตประมงของพวกเขาล้วนผ่านการเติบโตต่อสู้ และปรับเปลี่ยนดีงาม กลิ่นคาวเค็มอวลอยู่เมื่อผมลงไปเยือนตามแต่ละบ้าน
แม่น้ำเพชรที่ไหลไปออกปากอ่าวบ้านแหลม เต็มไปด้วยเรื่องราวและความคิดความเชื่อเกี่ยวกับวิถีประมง ท้องทะเล มรสุม และความอุดมสมบูรณ์ "ผู้ชายอยู่ในทะเล ผู้หญิงอยู่กับบ้าน ทำของทะเล" ป้าบุญเจิด เกิดเจริญ บอกความเป็น "คนประมง" ของบ้านแหลมสั้น ๆ แต่ชัด ในยามสายที่แดดจัด หมึกกล้วย และหมึกหอมเรียงรายบนตะแกรงรอแดดจับให้แห้ง
ลานซีเมนต์ที่ตำบลบางแก้วของป้าคึกคักด้วยแรงงานนับสิบ อาชีพประมงผลักดันให้ดินแดนปากแม่น้ำเพชรบุรีแห่งนี้มากไปด้วยภาพแห่งการงาน ยามสายเมื่อเรือเล็กกลับจากฝั่ง เราจะเห็นแผงคัดปลากันตามริมแม่น้ำหรือสายคลองที่แยกย่อยออกไปตามหมู่บ้านเล็ก ๆ ถึงแม้การสื่อสารปัจจุบันจะทันสมัย แต่เรือประมงก็พร้อมติดธงแดงมาแต่ปากอ่าวเฉกเช่นโบราณ เพื่อบอกถึงการกลับมาจากทะเล คนบนฝั่งต้องเตรียมพร้อมที่จะขึ้นปลา
ปลาใหญ่ถูกคัดขึ้นไปก่อนโดยแรงงานผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปลาเล็ก กั้ง และปลาที่รอวันขึ้นไปชำแหละและตากแห้ง กลุ่มแม่บ้านหลายช่วงวัยนั่งล้อมวงกันอยู่ริมเพิง พวกเธอคัดแยกมันอย่างชำนิชำนาญ สองมือระวิงราวเครื่องจักร แต่สีหน้าและรอยยิ้มทักทายหยอกล้อนั้น ปะปนอยู่ในการงานแห่งยามสาย บางบ้านตั้งแผงปลาตุ๊กกา-กระเบนขนาดเล็กตากแห้งกันที่ริมถนน การถนอมอาหารอย่างชาญฉลาดด้วยเกลือและแดดกลายเป็นอาชีพหลักของคนบ้านแหลม ทุกวันมีผลิตภัณฑ์อาหารแห้งจากทะเลหลั่งไหลออกจากตำบลริมน้ำแห่งนี้มากมาย ทั้งหมึก ปลาวง ปลาเรียวเชียว ที่ทุกแห่งล้วนเชื่อมโยงเรื่องราวมาจากกลางทะเล
เช้า ๆ ที่ แหลมเหลว จุดที่เป็นปากอ่าวบ้านแหลม ภาพมุมเปิดตรงนั้นกว้างไกลสุดตาเรือเล็กจะออกทะเลกันแต่เช้ามืด ส่วนเรือใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับว่ากี่ค่ำ น้ำในทะเลเป็นเช่นไร ถึงอย่างไรก็ตาม โลกอันเชื่อมต่อระหว่างทะเลและปากแม่น้ำก็ไม่เคยหยุดพัก รอยยิ้มจากบนลำเรือยามออกทะเล และกลับสู่ฝั่งนั้นแตกต่างกันไปตามฤดูกาล จากชุมชนประมงที่เติบโตมานับร้อยปี ผู้คนพื้นถิ่นและคนจีนโพ้นทะเลอยู่ร่วม ไม่เพียงการประมง แต่เส้นทางการค้าขายทางเรือของชายฝั่งตะวันออกแห่งนี้ยังขับเคลื่อนด้วยเกลือแร่ธาตุที่สำคัญกับมนุษย์มาเป็นพันปี

ถนนสายตรงที่จะมุ่งไป หาดเจ้าสำราญ พาเราออกจากตัวบ้านแหลม เมื่อไปถึงแถบ บ้านบางขุนไทร ดินแดนตรงนั้นเปิดกว้าง นาเกลือมองเป็นตารางสีขาวยามสะท้อนแดด ที่ยังไม่ตกผลึกก็ดูเหมือนหนองน้ำสีหมากสุก กลุ่มมอเตอร์ไซค์จอดเรียงกันตานา บ่งบอกว่าความคึกคักของวันเก็บเกลือกำลังมาเยือน ผิวแผ่นน้ำกลายเป็นดอกเกลือสีขาวอันมีค่าที่พวกเขาเฝ้ารอผ่านแดดลม
"คราดเกลือกันมาแต่เมื่อคืน กอง ๆ ไว้ พอเช้าละก็สนุก" คำว่าสนุกนั้นปะปนอยู่ด้วยหยาดเหงื่อและแรงงาน หลังจาก "นายหน้า" จับสลากว่าใครจะขนกองไหน ใกล้หรือไกล ซึ่งก็แตกต่างกันด้วยราคา ทุกคนไม่มีบ่น ยิ้มหัวและหยอกล้อตลอดการทำงาน "ไกลหน่อยก็กองละสิบกว่าบาทครับ ขนมากองเข้ายุ้ง ก่อนฝนมาหนัก คนทำนาเกลือต้องรู้จักการแบ่งเวลา ดูฟ้าฝน และเข้าใจน้ำขึ้นน้ำลง" ใครบางคนตรงนั้นบอกเล่า ลูกบ้านแหลม แต่ละคนผิดเข้ม สวมเสื้อสวมหมวกกันแดด หาบเกลือกันขวักไขว่ แดดร้อนร้ายแต่ใบหน้าไม่เคยตกหล่นความหวัง สลับไปทั้งวันสำหรับวันเก็บเกลือ หมดนาหนึ่ง พวกเขาก็เฮโลกันขี่มอเตอร์ไซค์ไปจอดอีกนาหนึ่ง
หาบเก็บกันจนแดดเย็นฉาบสีส้มสะท้อนลงบนผืนน้ำในนาเกลือ และเหลือเพียงผืนดินอันว่างเปล่าไร้กองรูปกรวยหัวกลับสีขาว ดูเหมือนการก่อเกิดในเกลือแต่ละดอกจะไม่ได้ตกผลึกอยู่แต่เพียงในตัวมัน แต่มันได้หล่อหลอมและปั้นแต่งอีกหลายชีวิตตรงนั้นขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง ชีวิตที่ผ่านแดด ลม และแรงศรัทธาแห่งการมีชีวิตอยู่

วันหนึ่งกลางหมู่บ้านประมงของบ้านแหลม ผมนั่งคุยกับกรกต อารมณ์ดี ศิลปินลูกหลานชาวประมงที่เลือกกลับมาสร้างงานที่บ้าน งานโคมไฟไม้ไผ่รูปทรงอิสระและน่าทึ่งของเขา ก่ายกองอยู่กับคนงานที่ทั้งหมดคือลูกหลานประมงเช่นเดียว บางคน "ทำปลา" ในช่วงเช้า สาย ๆ ก็มาเริ่มงาน "มันมีที่มาจากบ้านของเราครับ บ้านริมทะเล ทั้งไผ่ การขัดแตะที่ยึดมาจากการสร้างยุ้งเกลือ สีไม้ไผ่จากการผ่านแดดลม สีของเรือ รวมถึงรูปทรงที่ลดทอนจากต้นมะพร้าว ไข่กบ การสานทับเป็นตารางเหมือนแห อวน" สำเนียงเหน่อเพชรบุรีของเขาปนอยู่ด้วยรอยยิ้ม ทว่าในดวงตาชัดเจนถึงที่มาที่ส่งผลในงานเดิร์นของเขา ที่มาอันชัดเจน ผ่านฤดูกาล และความเป็นลูกทะเล ราวกับพวกเขาจะบอกว่า ทุกอย่างล้วนมีที่มา และยังคงอยู่ได้ หากคนตรงนั้นเข้าใจและศรัทธา
ไม่ว่าคืนวันจะปรับเปลี่ยนรูปแบบของชีวิตไปสักเท่าไร ณ ตำบลเล็ก ๆ กลางป่าชายเลน ที่การปรับตัวและเรียนรู้เป็นเหมือนทิศทางอันยิ่งใหญ่ มาจนถึงเมืองประมงแห่งหนึ่ง ซึ่งชีวิตล้วนผูกพันอยู่กับธรรมชาติรายล้อม มากไปด้วยการดิ้นรน และทำความเข้าใจกับทะเลและฤดูกาล สองที่นี้อยู่ใกล้กันเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ไม่กี่วันบนถนนสายสั้น ดูเหมือนถนนจะไม่ใช่คำตอบเสมอไปในการรับรู้ ทางเดินเหล่านี้ได้ทอดยาวมาแล้วแสนเนิ่นนาน และหัวใจจริงแท้ก็ดูเหมือนจะเป็นคำตอบแห่งการเดินทางเพื่อพานพบ
คู่มือนักเดินทาง






ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเพชรบุรี โทรศัพท์ 0 3247 1005 – 6 , ททท. สำนักงานสมุทรสงคราม โทรศัพท์ 0 3475 2847 - 8
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ฉบับที่ 12 กรกฎาคม 2554