วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง แหล่งวิทยาคม
ทางไสยศาสตร์แดนใต้
วัดเขาอ้อ ตั้งอยู่ที่ไหน
วัดเขาอ้อ ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบอลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาอ้อ ซึ่งเป็นภูเขาที่มีลักษณะเหมือนช้างนอน มีความสำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์กว่า 1,000 ปี ภายในวัดเขาอ้อเต็มไปด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เกจิอาจารย์ พระพุทธรูปเก่าแก่ ที่อยู่ในถ้ำฉัททันต์บรรพต รวมถึงองค์ฤๅษี เทพเจ้าต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการให้เช่าบูชาพระและประกอบพิธีกรรมหรือกิจกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่าง พิธีเสกว่านให้กิน พิธีหุงข้าวเหนียวดำ พิธีเสกน้ำมันงาดิบ และพิธีแช่ว่านยา

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สีแพรสาวเมืองลุง
วัดเขาอ้อ ประวัติความเป็นมา
วัดเขาอ้อ แต่เดิมเรียกว่า วัดประดู่หอม และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดเขาอ้อ ในสมัยพระครูสังฆวิจารณ์ฉัตรทันต์บรรพต เป็นเจ้าอาวาส นับได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดวัดหนึ่งในจังหวัดพัทลุง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สีแพรสาวเมืองลุง
วัดเขาอ้อ แหล่งวิทยาคมทางไสยศาสตร์

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สีแพรสาวเมืองลุง
วัดเขาอ้อ พิธีแช่ว่าน
พิธีการแช่ยา ที่วัดเขาอ้อ นิยมประกอบพิธีบนไหล่เขาหรือภายในถ้ำฉัททันต์ ราวเดือน 5 และเดือน 10 ของทุก ๆ ปี โดยก่อเป็นรูปอ่างน้ำสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือใช้เรือขุดจากไม้ก็ได้ให้มีขนาดพอที่จะให้คนลงไปนอนได้ประมาณ 3-4 คน ส่วนมากไม่มีการกำหนดขนาดที่แน่นอน อ่างน้ำนี้เรียกว่า รางยา เนื่องจากพิธีกรรมแช่ว่านยาเป็นพิธีใหญ่มาก เป็นพิธีชั้นสูงของสำนักวัดเขาอ้อและทำได้ยากลำบาก เครื่องบูชาครูจึงต้องมีมากเป็นธรรมดา คือ หัวหมู บายศรีใหญ่ ยอดบายศรี สวมแหวนทองคำหนัก 1 บาท หมาก-พลู ธูป-เทียน ดอกไม้ และมีหนังสือหนังหมี เหล็กกล้า เป็นเครื่องประกอบ เชื่อกันว่าศิษย์จากสำนักวัดเขาอ้อที่ได้เล่าเรียนวิชาและผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ ทางไสยศาสตร์ที่กล่าวมาแล้วนั้นย่อมมีพลังร่างกายที่คงกระพัน ศิษย์เอกคนสำคัญแห่งสำนักวัดเขาอ้อที่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วไป คือ ท่านพระอาจารย์นำ ชินวโร (แก้วจันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา และ พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช
ข้อปฏิบัติการอาบว่านแช่ยา
- ห้ามผิดลูกเมียผู้อื่น
- ห้ามการร่วมเพศแบบผิดธรรมชาติ (เช่น การใช้ปาก)
- ห้ามกินอาหารดิบ หรืออาหารต้องห้ามบางชนิด เช่น ปลาไม่มีเกล็ด ฟักแฟง น้ำเต้า
- ห้ามนอนใต้คานหรือใต้บันไดบ้าน
- ห้ามด่าบุพการีหรือครูอาจารย์
- ห้ามเดินทางช่วงใกล้ค่ำ
- ห้ามคบผู้หญิงที่คร่อมดวง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สีแพรสาวเมืองลุง
ถ้ำฉัททันต์บรรพต หรือ ถ้ำพระ ในวัดเขาอ้อ
ถ้ำฉัททันต์บรรพต หรือ ถ้ำพระ เป็นถ้ำโบราณดึกดำบรรพ์หลายล้านปี บรรยากาศภายในถ้ำเต็มไปด้วยความเข้มขลังและศักดิ์สิทธิ์ ด้านในมีรูปเหมือนของอาจารย์ทองเฒ่า อดีตเจ้าอาวาสผู้มีคาถาอาคมแก่กล้าเดินข้ามเขาเป็นลูก ๆ ได้สบาย มีคาถาแบกหินมาวางไว้ในวัดทั้งก้อนโต ๆ และสิ่งที่อยู่บนผนังถ้ำฝั่งตรงข้ามกับอาจารย์ทอง คือหินที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนหน้าช้างที่เรียกว่า พระยาฉัททันต์ เป็นสิ่งเคารพบูชาของชาวบ้าน เมื่อเดินลึกเข้าไปอีกนิดก็จะพบกับพระพุทธรูปองค์เล็กหลาย ๆ องค์ ซึ่งเป็นรูปปั้นแทนพระหรือบุคคลสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับวัดนี้ ซึ่งคำว่า ฉัททันต์ คือชื่อช้างตระกูลหนึ่งในป่าหิมพานต์ ส่วนคำว่า บรรพต หมายถึง ภูเขา นั่นเอง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สีแพรสาวเมืองลุง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สีแพรสาวเมืองลุง
วัดเขาอ้อ สิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ
-
พระอุโบสถ มีความกว้าง 15 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2517 ในพระอุโบสถมีพระประธานประดิษฐานอยู่ 2 องค์ คือ พระพุทธรูปประทับยืนเจ้าฟ้าอิ่ม ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ และพระพุทธรูปเจ้าฟ้าดื่อ ทำด้วยเงิน นอกจากนี้ยังมีรูปเหมือนอาจารย์ทองเฒ่า อดีตเจ้าอาวาส
-
กุฏิทรงไทย เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามและทรงคุณค่า อดีตเคยเป็นกุฏิเจ้าอาวาส ปัจจุบันได้อนุรักษ์โดยการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมมากที่สุด
-
เจดีย์ทองบนยอดเขาอ้อ เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งประดิษฐานบนยอดเขาอ้อ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2284 พร้อมกับการสร้างมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ซึ่งแรกเริ่มมีทั้งหมด 3 องค์ ปัจจุบันเหลือเพียง 1 องค์
- ศาลาที่ประดิษฐานอดีตเจ้าอาวาสและเกจิอาจารย์ภาคใต้ คือ พ่อท่านคล้าย อาจารย์ทอง และอาจารย์กลั่น
- รอยพระพุทธบาทจำลองบนเขาอ้อ ตั้งอยู่บนยอดเขา ต้องเดินขึ้นบันได ประดิษฐานอยู่ใกล้พระพุทธรูปประทับนั่งองค์ใหญ่ ยาว 135 เซนติเมตร กว้าง 55 เซนติเมตร สูง 31 เซนติเมตร เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์
- ศาลาบรรจุกระดูกและรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส ได้แก่ พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต, อาจารย์ปาล ปาลธัมโม, พระครูสิทธิยาภิรัต และอาจารย์ทองหูยาน
บทความ เที่ยวพัทลุง อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง, เฟซบุ๊ก วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง สำนักศึกษาไสยศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งประเทศไทย, เฟซบุ๊ก สีแพรสาวเมืองลุง