Power Bank หรือแบตเตอรี่สำรอง พกขึ้นเครื่องบินได้หรือไม่ มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง อัปเดตปี 2568 ไปดูกัน
ในการเดินทางท่องเที่ยวโดยเครื่องบิน หลายคนมักพกพาวเวอร์แบงก์ (Power Bank) หรือแบตเตอรี่สำรอง ติดตัวไปด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ตโฟน หรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ยังมีแบตเตอรี่ใช้งานได้ตลอดทริป ซึ่งพาวเวอร์แบงก์เป็นอุปกรณ์สำรองไฟที่บรรจุพลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก หากเกิดความร้อนสูงหรือมีการลัดวงจรอาจทำให้เกิดระเบิดหรือไฟไหม้ได้ ทำให้สายการบินและหน่วยงานการบินพลเรือนมีข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับการนำแบตเตอรี่ลิเทียมขึ้นเครื่อง เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และวันนี้เราจะมาอัปเดตเงื่อนไขล่าสุดของปี 2568 เกี่ยวกับการพกพาพาวเวอร์แบงก์ขึ้นเครื่องบิน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงขนาดความจุที่อนุญาต วิธีการจัดเก็บ และข้อห้ามที่ต้องระวัง เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย
เงื่อนไข
ในการพกพาวเวอร์แบงก์ (Power Bank)
หรือแบตเตอรี่สำรอง ขึ้นเครื่องบิน
อัปเดตปี 2568
พกพาวเวอร์แบงก์ (Power Bank) หรือแบตเตอรี่สำรอง ความจุเท่าไร สามารถนำขึ้นเครื่องได้
ผู้โดยสารต้องนำพาวเวอร์แบงก์ (Power Bank) หรือแบตเตอรี่สำรอง ใส่ในสัมภาระติดตัวขึ้นเครื่อง (Carry-On Baggage) เท่านั้น โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ดังนี้
-
ความจุไม่เกิน 20,000 mAh สามารถนำขึ้นเครื่องได้ ไม่เกิน 20 ชิ้นต่อคน
-
ความจุ 20,000-32,000 mAh สามารถนำขึ้นเครื่องได้ ไม่เกิน 2 ชิ้นต่อคน
-
ความจุ 32,000 mAh ขึ้นไป ห้ามนำขึ้นเครื่องบินทุกกรณี

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand
พาวเวอร์แบงก์ (Power Bank) หรือแบตเตอรี่สำรอง โหลดใต้เครื่องได้หรือไม่ ?
ผู้โดยสารไม่สามารถนำพาวเวอร์แบงก์ (Power Bank) หรือแบตเตอรี่สำรอง ใส่ไปในรูปแบบสัมภาระลงทะเบียน (Checked Baggage) เพื่อโหลดใต้ท้องเครื่องบินได้ เนื่องจากในระหว่างการเดินทาง แบตเตอรี่สำรองที่มีส่วนประกอบจากลิเทียม (Lithium) อาจเกิดความร้อนสะสมจนก่อให้เกิดเพลิงไหม้หรือระเบิดได้ ซึ่งหากเกิดเพลิงลุกไหม้ในพื้นที่เก็บสัมภาระใต้ท้องเครื่องบินจะทำให้ยากต่อการควบคุมเหตุการณ์ ทั้งนี้ หากพกพาแบตเตอรี่สำรองขึ้นในห้องโดยสาร เมื่อเกิดเพลิงไหม้แบตเตอรี่สำรอง ลูกเรือที่ได้รับการฝึกฝนตามมาตรฐานที่กำหนดจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
ปัจจุบันมีเหตุการณ์แบตเตอรี่สำรองลุกไหม้บนห้องโดยสารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้สายการบินบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออกกฎระเบียบเพิ่มเติม เช่น การห้ามชาร์จแบตเตอรี่บนเครื่องบิน และไม่ให้เก็บแบตเตอรี่สำรองบนพื้นที่เก็บสัมภาระเหนือศีรษะ
อย่างไรก็ตาม CAAT และสายการบินของไทย ยังใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรฐานและคำแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ทั้งนี้ CAAT แนะนำให้ผู้โดยสารตรวจสอบขนาดความจุของแบตเตอรี่สำรองและสภาพของแบตเตอรี่สำรองให้เป็นไปตามมาตรฐานก่อนการเดินทาง เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยทุกเที่ยวบิน

ข้อกำหนดเพื่อความปลอดภัยในการใช้พาวเวอร์แบงก์ (Power Bank) หรือแบตเตอรี่สำรอง จากสายการบินของไทย
เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร สายการบินของไทยอย่าง การบินไทย และไทยแอร์เอเชีย ได้เพิ่มมาตรการรัดกุมเกี่ยวกับการใช้งานและการชาร์จแบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) บนเที่ยวบินทุกเที่ยวบิน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินระดับสากล เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุจากแบตเตอรี่ระหว่างการเดินทาง ดังนี้
-
แบตเตอรี่สำรองต้องเก็บไว้ในช่องเก็บของด้านหน้าที่นั่ง (Seat Pocket) หรือใต้ที่นั่ง
-
ไม่อนุญาตให้เก็บแบตเตอรี่สำรองในช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะ (Overhead Compartment)
-
ไม่อนุญาตให้ใช้งานแบตเตอรี่สำรองตลอดระยะเวลาของเที่ยวบิน
-
ไม่อนุญาตให้ใช้แบตเตอรี่สำรองในการชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาอื่น ๆ บนเที่ยวบิน
-
ไม่อนุญาตให้นำแบตเตอรี่สำรองใส่ในสัมภาระโหลดใต้ท้องเครื่อง ผู้โดยสารต้องพกติดตัวไว้ในห้องโดยสารเท่านั้น

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Fly AirAsia

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Thai Airways

ในเมื่อพาวเวอร์แบงก์ (Power Bank) หรือแบตเตอรี่สำรอง กลายเป็นสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันไปแล้ว การเรียนรู้ก่อนจะนำไปใช้ในสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะบนเครื่องบิน จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากความปลอดภัยของตนเองแล้ว ยังรวมไปถึงความปลอดภัยของคนรอบข้างอีกด้วย หากใครกำลังจะเดินทางโดยเครื่องบินก็ควรศึกษาเรื่องเหล่านี้ไว้ให้ดีเสียก่อน เมื่อรักษากฎข้อบังคับตามที่ระบุไว้ก็จะไม่ต้องเสี่ยงโดนยึดหรือเกิดปัญหาใด ๆ ในภายหลัง
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
บทความเที่ยวต่างประเทศ Tips ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เฟซบุ๊ก CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand, เฟซบุ๊ก Fly AirAsia, เฟซบุ๊ก Thai Airways