ดูดาวกลางกรุง ณ สวนเบญจกิติ คืนดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี

          กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองแห่งดวงดาวอีกครั้ง สดร. จัดกิจกรรม ดูดาวกลางกรุง ชวนทุกท่านมาส่องดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี พร้อมกิจกรรมดาราศาสตร์มากมาย ณ สวนเบญจกิติ ในคืนวันที่ 7 ธันวาคม 2567 งานนี้ฟรี !

          สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เตรียมเนรมิตกรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งดวงดาวอีกครั้งจัด ดูดาวกลางกรุง” Starry Night over Bangkok 2024 ในคืน “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” สัมผัสความงดงามของดาวบนฟ้าผ่านคาราวานกล้องโทรทรรศน์กว่าร้อยตัว และหลากหลายกิจกรรมดาราศาสตร์ ณ อัฒจันทร์กลาง สวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ คืนวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2567 เวลา 17.00-22.00 น. ร่วมกิจกรรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ดูดาวกลางกรุง ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี

ภาพจาก narit.or.th

ดูดาวกลางกรุง: Starry Night over Bangkok 2024

          นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. มีนโยบายที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยเชื่อว่าการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม คือรากฐานสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งกิจกรรม “ดูดาวกลางกรุง” ในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่น่าจะสร้างความตื่นตา ตื่นใจให้กับชาวกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก เพราะกิจกรรมดูดาวที่ยิ่งใหญ่กลางกรุงเทพฯ เช่นนี้ มีขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น

ดูดาวกลางกรุง ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี

ภาพจาก narit.or.th

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ กล่าวว่า ความพิเศษในปีนี้คือตรงกับคืนที่มีปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างเด่นทางทิศตะวันออก ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะสามารถชมลวดลายของแถบเมฆ และพายุ รวมถึงจุดแดงใหญ่ และดวงจันทร์กาลิเลียนทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดีได้ วันงานจะมีคาราวานกล้องโทรทรรศน์กว่าร้อยตัวจาก สดร. โรงเรียนเครือข่ายดาราศาสตร์ รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร และนักดาราศาสตร์สมัครเล่น พร้อมให้บริการเต็มพื้นที่ลานอัฒจันทร์กลาง ในคืนดังกล่าวยังสามารถชมวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ เช่น ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดาวอังคาร ฯลฯ ได้อีกด้วย
ดูดาวกลางกรุง ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี

ภาพจาก narit.or.th

ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี

          นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า คืนวันที่ 7-8 ธันวาคม 2567 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 611.76 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าว เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างทางทิศตะวันออก สังเกตได้ด้วยตาเปล่า นานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป จะสามารถสังเกตเห็น “ดวงจันทร์กาลิเลียน” ทั้ง 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด คัลลิสโต รวมถึง “แถบเมฆ” ที่สวยงามของดาวพฤหัสบดี และหากใช้กำลังขยาย 100 เท่าขึ้นไป จะสามารถเห็น “จุดแดงใหญ่” พายุหมุนยักษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกถึง 1.3 เท่า ได้อย่างชัดเจน

ดูดาวกลางกรุง ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี

ภาพจาก narit.or.th

สดร. เตรียมจัด 6 จุดชมผ่านกล้องโทรทรรศน์ เข้าร่วมฟรี ! ไม่มีค่าใช้จ่าย

          สดร. เตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์หลากหลายขนาด จัดกิจกรรมชมดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี รวม 6 จุดสังเกตการณ์ทั่วประเทศ ในคืนวันที่ 7 ธันวาคม 2567 ทุกแห่งเข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้สนใจชมความสวยงามของดาวพฤหัสบดี และวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ ในคืนดังกล่าว สามารถเข้าร่วมได้ในแต่ละแห่งดังต่อไปนี้
 

  • กรุงเทพฯ : งาน “ดูดาวกลางกรุง” Starry Night over Bangkok 2024 ณ ลานอัฒจันทร์ สวนเบญจกิติ เวลา 17.00-22.00 น. พบกับคาราวานกล้องโทรทรรศน์กว่าร้อยตัว และกิจกรรมดาราศาสตร์อีกมากมาย ลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ bit.ly/StarryNightoverBKK2024-Reg ดูรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง Line Official
     
  • เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 18.00-22.00 น. โทร. 08 4088 2261 
     
  • นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา เวลา 18.00-22.00 น. โทร. 08 6429 1489
     
  • ขอนแก่น : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น เวลา 18.00-22.00 น. โทร. 06 3892 1854
     
  • ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา เวลา 18.00-22.00 น. โทร. 08 4088 2264
     
  • สงขลา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา เวลา 18.00-22.00 น. โทร. 09 5145 0411


          นอกจากนี้ สามารถชม LIVE ปรากฏการณ์ได้ทาง เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

กล้องสองตาและแอปพลิเคชันดูดาว

ภาพจาก narit.or.th

กิจกรรมในงานดูดาวกลางกรุง: Starry Night over Bangkok 2024

          วันงานจะมีคาราวานกล้องโทรทรรศน์กว่าร้อยตัวจาก สดร. โรงเรียนเครือข่ายดาราศาสตร์ รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร และนักดาราศาสตร์สมัครเล่น พร้อมให้บริการเต็มพื้นที่ลานอัฒจันทร์กลาง ในคืนดังกล่าวยังสามารถชมวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ เช่น ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ และดาวอังคาร ฯลฯ ได้อีกด้วย
คาราวานกล้องโทรทรรศน์

ภาพจาก narit.or.th

          นอกจากนี้ ชวนเปิดประสบการณ์กับกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายภายในงาน อาทิ
  • ถ่ายภาพดวงจันทร์ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดีผ่านโทรศัพท์มือถือ
  • รู้จักท้องฟ้าและกลุ่มดาวที่น่าสนใจผ่านแอปพลิเคชันดูดาว “NAPA”
  • เรียนรู้ดูดาวด้วยตาเปล่า
  • เก็บภาพความประทับใจกับบอลลูนดาวเคราะห์
  • รู้จักกลุ่มดาวผ่าน Stellar Light Box
  • สนุกกับ Glow in the Dark
  • ฟังทอล์ก “มหัศจรรย์ดาวพฤหัสบดี”
  • กิจกรรมพิเศษ Night Nature Walk สำรวจธรรมชาติยามค่ำคืนกลางสวนเบญฯ ท่ามกลางเสียงเพลงขับกล่อมตลอดงาน
ถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าผ่านมือถือ

ภาพจาก narit.or.th

Glow in the Dark

ภาพจาก narit.or.th

          พิเศษ ! ลุ้นรับกล้องโทรทรรศน์ และของที่ระลึกสุดพิเศษภายในงาน ผู้สนใจเข้าร่วมงานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนออนไลน์ทาง bit.ly/StarryNightoverBKK2024 รับของที่ระลึกได้บริเวณจุดลงทะเบียนหน้างาน ติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมทางเว็บไซต์กิจกรรม bit.ly/StarryNightoverBKK และเพจ เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 08 1885 4353 (ในวัน-เวลาราชการ)
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ ดูดาว ดาราศาสตร์ อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดูดาวกลางกรุง ณ สวนเบญจกิติ คืนดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี อัปเดตล่าสุด 6 ธันวาคม 2567 เวลา 15:36:12 12,569 อ่าน
TOP
x close