ชวนชม ซูเปอร์ฟูลมูน ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 17 ต.ค. นี้

          ซูเปอร์ฟูลมูน 2567 ชวนชม Super Full Moon ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในคืนออกพรรษา วันที่ 17 ตุลาคม 2567
          สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยคืนออกพรรษา 17 ตุลาคม 2567 “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ NARIT เตรียมจัดดูดาวชมจันทร์ พร้อมชวนแต่งกายธีม Halloween ร่วมงาน เวลา 18.00-22.00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 5 แห่ง ฟรี ! ไม่มีค่าใช้จ่าย
Super Full Moon

ภาพจาก narit.or.th

ซูเปอร์ฟูลมูน

ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี

          นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่าในวันออกพรรษา วันที่ 17 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 18.28 น. จะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ “ซูเปอร์ฟูลมูน(Super Full Moon) ดวงจันทร์ปรากฏเต็มดวงและอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะประมาณ 357,358 กิโลเมตร ส่งผลให้คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เริ่มสังเกตการณ์ได้ช่วงค่ำ ทางทิศตะวันออก จากนั้นชมความสวยงามได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
ภาพจำลองตำแหน่งปรากฏของดวงจันทร์

ภาพจาก narit.or.th

ภาพเปรียบเทียมขนาดปรากฏของดวงจันทร์

ภาพจาก narit.or.th

          ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลา 27.3 วัน ส่งผลให้ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก แต่ทว่า ณ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด หรือไกลโลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้ นักดาราศาสตร์จึงใช้ “ช่วงที่สามารถเห็นดวงจันทร์เต็มดวง” มากำหนดวันเกิดปรากฏการณ์ ที่เกี่ยวกับตำแหน่งการโคจรของดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลกที่สุด ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร 
ภาพจำลองระยะห่าง

ภาพจาก narit.or.th

          ทั้งนี้ การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติในคืนใกล้โลกนั้น นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

สถานที่สังเกตการณ์ “ซูเปอร์ฟูลมูน”

          NARIT เตรียมจัดสังเกตการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” คืนวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ชวนดูดาวชมจันทร์คืนออกพรรษา 5 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่
  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดนครราชสีมา 
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดขอนแก่น
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดนฉะเชิงเทรา
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดสงขลา 
          พร้อมร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีนในเดือนตุลาคม ชวนแต่งกายธีม Halloween ร่วมงาน เวลา 18.00-22.00 น. ฟรี ! ไม่มีค่าใช้จ่าย พิเศษ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ ดูดาวชมจันทร์เต็มดวงคืนใกล้โลกที่สุดในรอบปี เคล้าเสียงดนตรี ฟัง Special Talk “เรื่องเร้นลับของดวงจันทร์” ชวนเก็บภาพความประทับใจกับดวงจันทร์ยักษ์ แต่งกายธีม Halloween ร่วมงาน ลุ้นรับของที่ระลึกสุดลิมิเต็ด สอบถามรายละเอียยดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 053 121268-9 ต่อ 210-211, 08 1885 4353 และ เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

บทความ ดูดาว ดาราศาสตร์ อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชวนชม ซูเปอร์ฟูลมูน ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 17 ต.ค. นี้ อัปเดตล่าสุด 15 ตุลาคม 2567 เวลา 16:52:03 16,410 อ่าน
TOP
x close