งานดิวาลี 2567 เฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ของชาวฮินดู ที่ลิตเติ้ลอินเดีย พาหุรัด กรุงเทพฯ

           ชวนรู้จัก ดิวาลี เทศกาลปีใหม่ของชาวฮินดู มีที่มาอย่างไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร ก่อนไปร่วมงานเฉลิมฉลองที่จัดในย่านลิตเติ้ลอินเดีย 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 2567
           ดิวาลี หรือ เทศกาลแห่งแสงไฟ เป็นเทศกาลสำคัญของชาวฮินดูทั่วโลก ที่มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ฮินดูและระลึกถึงชัยชนะของแสงสว่างเหนือความมืดมิด ในประเทศไทยก็มีการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลีเช่นกัน โดยเฉพาะในชุมชนชาวอินเดียอย่างย่านพาหุรัด (ลิตเติ้ลอินเดีย) และคลองโอ่งอ่าง ส่วนจะมีรายละเอียดและกำหนดการเกี่ยวกับงาน ดิวาลี 2567 อย่างไร เรามีข้อมูลมาอัปเดตกันดังนี้

เทศกาลดิวาลี
หรือเทศกาลแห่งแสงไฟ

เทศกาลดิวาลี คืออะไร ?

           ดิวาลี (Diwali) หรือ ดีปาวลี (Deepavali) ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวอินเดีย และยังเป็นวันบูชาพระแม่ลักษมีด้วย โดยคำว่า ดี (di) หรือ ดีป (dee) คือ ประทีป (แสงสว่าง) ส่วนอีกคำที่นำมาผสมคือ อวลิะ (avalih) หมายถึง แถวหรือแนว เมื่อผสมรวมกันในภาษาสันสกฤตจึงมีรูปเป็น ทีปาวลี ในภาษาฮินดีออกเสียง ดีปาวลี ซึ่งหมายถึง ประทีปที่ชาวอินเดียจุดไว้แล้ววางเป็นแถวนอกบ้านของตนเองอย่างงดงาม 
เทศกาลดิวาลี

ที่มาของ ดิวาลี วันขึ้นปีใหม่ของอินเดีย

           ต้นกำเนิดของเทศกาลดิวาลี มาจากความเชื่อของทางอินเดียตอนเหนือว่าเป็นการเฉลิมฉลองการเสด็จนิวัติของ พระราม (Rama) พร้อมกับนางสีดา (Sita) พระลักษมณ์ (Lakshman) และ หนุมาน (Hanuman) กลับคืนสู่เมืองอโยธยา (Ayodhya) หลังจากทรงพเนจรอยู่ 14 ปี ซึ่งเวลา 14 ปีนี้รวมถึงช่วงเวลาที่ทรงพิชิตราวณะหรือที่ไทยเรียกว่า ทศกัณฐ์ ด้วย เรียกว่าเป็นชัยชนะแห่งความดีงามที่อยู่เหนือความชั่วร้าย เปรียบเสมือนกับแสงสว่างของประทีปที่สว่างไสวเหนือความมืดมัว อันเป็นที่มาของชื่อเทศกาล
ที่มาของ ดิวาลี

เทศกาลดิวาลี กับพระแม่ลักษมี

           สำหรับหลายคนที่สงสัยว่า แล้วเทศกาลดิวาลีเกี่ยวข้องกับพระแม่ลักษมีได้อย่างไร นั่นก็เพราะชาวฮินดูเชื่อกันว่า พระราม เป็นร่างอวตารของพระวิษณุ และนางสีดา เป็นร่างอวตารของพระแม่ลักษมี พระชายาของพระวิษณุ ที่อวตารลงมาเคียงข้างพระวิษณุในทุก ๆ ภารกิจ ประกอบกับในอินเดียมีคนจำนวนไม่น้อยมองว่าวันดิวาลีเป็นวันเกิดของพระแม่ลักษมีด้วย จึงทำให้ผู้คนนิยมบูชาพระแม่ลักษมีในวันนี้นั่นเอง
พระแม่ลักษมี ตึกเกษร พลาซ่า กรุงเทพฯ

ภาพจาก : doypui / Shutterstock.com

พิธีกรรมและการเฉลิมฉลองในเทศกาลดิวาลี

          ในเทศกาลดิวาลีนี้ ชาวฮินดูมักจะออกไปจับจ่ายซื้อของเหมือนกับช่วงตรุษจีนและคริสต์มาส รวมถึงออกมาจุดพลุหรือดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองตลอด 5 วันของเทศกาล ดังนี้

  • วันแรกคือ วันธันเตรัส (Dhanteras) สมาชิกในครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านและซื้อทองชิ้นเล็ก และจะเน้นบูชาพระแม่ลักษมีในวันนี้ 

  • วันที่สองคือ วันนรกจาตุรทศี (Naraka Chaturdashi) หรือ โฉฏีดีปาวลี (Choti Dipawali) เรียกอีกอย่างคือ วันดีปาวลีเล็ก จะเป็นวันรำลึกถึงการทำลายล้างอสูรที่มีนามว่า นรกาสูร บางครอบครัวจะสวดมนต์รำลึกถึงบรรพบุรุษของตนในวันนี้ด้วย

  • วันที่สามคือ วันบูชาพระแม่ลักษมี (Lakshmi Puja) ถือเป็นวันหลักของเทศกาล ชาวฮินดูจะขอพรจากพระแม่ลักษมีเพื่อความเจริญรุ่งเรือง พร้อมจุดประทีปและประดับประดาวางเป็นแถวเป็นแนวอย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการจุดประทัดและไปวัดเพื่อไหว้พระด้วย

  • วันที่สี่คือ วันโควรรธนะปูชา (Goverdhan Puja) หรือ วันพลิประติปทา (Balipratipada) หรือ วันอันนะกูฏ (Annakut) เป็นวันที่ระลึกถึงชัยชนะของพระกฤษณะที่มีต่อพระอินทร์ (Indra) ราชาแห่งทวยเทพ อีกทั้งเป็นวันแรกของเดือนการติกะ หลายคนจึงนับวันนี้เป็นวันปีใหม่ด้วย 

  • วันที่ห้าคือ วันภาย ดูช (Bhai Dooj) ภาย ฏีกา (Bhai Tika) หรือ ภาย บีช (Bhai Bij) คำว่า ภาย (bhai) จะแปลว่าพี่ชายหรือน้องชายก็ได้ ดังนั้น ในวันนี้พี่ชายน้องสาวหรือน้องชายพี่สาวจะร่วมฉลองเพื่อเสริมสร้างความผูกพันระหว่างพี่น้อง โดยพี่สาวหรือน้องสาวก็จะไหว้พระขอพรให้พี่ชายหรือน้องชายประสบความสำเร็จด้านการงานหรือพบเจอแต่สิ่งดีงามตลอดไป

เทศกาลดิวาลี 2567 ตรงกับวันไหน

           เทศกาลดิวาลี จะกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ ทำให้ในทุก ๆ ปีวันที่จะไม่ตรงกัน และในปี 2567 จะเริ่มเฉลิมฉลองกันในวันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน โดยในประเทศไทยนั้นมีการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลีเช่นกัน โดยเฉพาะในชุมชนชาวอินเดียอย่างย่านพาหุรัด (ลิตเติ้ลอินเดีย) และคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวอินเดียในประเทศไทย จึงเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลดิวาลีที่ใหญ่ที่สุดและมีสีสันที่สุด

กิจกรรมต่าง ๆ ของเทศกาลดิวาลีในประเทศไทย

  • ขบวนแห่ : ถือเป็นไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้สำหรับการชมขบวนแห่ที่สวยงามตระการตา เต็มไปด้วยสีสันและเสียงดนตรี โดยมีการประดับตกแต่งด้วยโคมไฟและรูปปั้นต่าง ๆ ที่มีความหมายทางศาสนา

  • การจุดโคม : ชาวฮินดูจะจุดโคมไฟเพื่อเป็นการต้อนรับเทพเจ้า และเป็นสัญลักษณ์ของการนำพาความสุขและความเจริญมาสู่ชีวิต

  • การจุดพลุ : อีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชม โดยจะมีการจัดแสดงพลุไฟสวยงามตระการตาในหลายพื้นที่

  • การแสดงศิลปวัฒนธรรม : มีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมของอินเดียมากมาย เช่น การเต้นรำแบบบอลลีวูด การแสดงดนตรี และการสาธิตทำอาหารอินเดีย

  • ตลาดนัด : มีการจัดตลาดนัดจำหน่ายสินค้าและอาหารอินเดียมากมายให้ผู้ที่สนใจได้เลือกซื้อหา

งานดิวาลี ปี 2566 ที่คลองโอ่งอ่าง กรุงเทพฯ

ภาพจาก : Aleya / Shutterstock.com

(ปี 2566)

บรรยากาศงานดิวาลี ปี 2566 ที่คลองโอ่งอ่าง กรุงเทพฯ

ภาพจาก : Aleya / Shutterstock.com

(ปี 2566)

          ดิวาลี หรือเทศกาลแห่งแสงสว่าง เป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายฮินดู หรือคนที่นับถือพระแม่ลักษมีจะร่วมเฉลิมฉลองกันในวันนี้ ด้วยถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวฮินดู หลายคนจึงนิยมตกแต่งบ้านให้สวยงาม และใช้ช่วงเวลานี้พบปะสังสรรค์ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง รวมถึงจัดงานรื่นเริงกันด้วย
 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
งานดิวาลี 2567 เฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ของชาวฮินดู ที่ลิตเติ้ลอินเดีย พาหุรัด กรุงเทพฯ อัปเดตล่าสุด 10 ตุลาคม 2567 เวลา 10:02:58 10,481 อ่าน
TOP
x close