อัปเดตข้อกำหนดของเหลวบนเครื่องบิน 2568 ฉบับเข้าใจง่าย

           ของเหลวขึ้นเครื่องบิน 2568 ก่อนจัดกระเป๋าขึ้นเครื่อง อย่าลืมอัปเดตกฎใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2568 ป้องกันการโดนยึดของหน้าด่านตรวจความปลอดภัยสนามบิน
           อย่างที่รู้กันว่าการเดินทางด้วยเครื่องบิน มีข้อระเบียบต่าง ๆ ที่ผู้เดินทางควรปฏิบัติตาม และหนึ่งในกฎที่สำคัญที่ว่านั้นคือ ข้อจำกัดในการนำของเหลวขึ้นเครื่อง เพื่อป้องกันการก่อการร้ายและภัยคุกคามอื่น ๆ ซึ่งเชื่อว่าหลายคนน่าจะยังมีความสับสนอยู่ว่าของเหลวชิ้นนี้เอาขึ้นได้หรือไม่ ในปริมาณเท่าไร วันนี้เราจะพาไปดูกันว่ามีมาตรการกำหนดให้นำของเหลวขึ้นเครื่องบิน 2568 อย่างไรบ้าง

ของเหลวขึ้นเครื่องบิน 2568

ของเหลวนำขึ้นเครื่อง

ของเหลวขึ้นเครื่องบิน อัปเดตกฎใหม่ 2568

         เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การตรวจค้นของเหลว เจล และสเปรย์ที่จะนำขึ้นไปบนอากาศยาน หรือนำเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ พ.ศ. 2568 โดยประกาศฉบับดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นไป (*** สามารถดูรายละเอียดข้อมูลได้ที่นี่)
ของเหลวขึ้นเครื่องบิน อัปเดตกฎใหม่

ภาพจาก : เว็บไซต์ ratchakitcha.soc.go.th

ของเหลวขึ้นเครื่องบิน อัปเดตกฎใหม่

ภาพจาก : เว็บไซต์ ratchakitcha.soc.go.th

ของเหลวขึ้นเครื่องบิน อัปเดตกฎใหม่

ภาพจาก : เว็บไซต์ ratchakitcha.soc.go.th

ของเหลวขึ้นเครื่องบิน 2568 นิยามใหม่

           ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การตรวจค้นของเหลว เจล และสเปรย์ที่จะนำขึ้นไปบนอากาศยาน หรือนำเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ พ.ศ. 2568 ได้ยกเลิกประกาศเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และมีการปรับปรุงนิยามของ “ของเหลว เจล สเปรย์” ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะการระบุถึงวัตถุหรือสารที่มีส่วนผสมของของแข็งและของเหลว เช่น มาสคารา ลิปสติก หรือ ลิปบาล์ม ซึ่งไม่เคยถูกระบุอย่างชัดเจนในประกาศก่อนหน้า

         *** ของเหลว เจล สเปรย์ หมายความรวมถึง ของเหลวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น น้ำ เครื่องดื่ม ซุป น้ำเชื่อม แยม สตูว์ ซอส น้ำพริก หรืออาหารอย่างอื่นที่อยู่ในซอส หรือที่มีส่วนประกอบเป็นของเหลวในปริมาณมาก ตลอดจนครีม โลชั่น เครื่องสำอาง น้ำมัน น้ำหมอ หรือเจลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ยา ยาสีฟัน อาหาร ยาสระผม เจลอาบน้ำ หรือวัตถุหรือสารที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ ที่มีแรงดันและต้องฉีดพ่นเพื่อนำออกมาใช้ เช่น สเปรย์ โฟม รวมถึงวัตถุหรือสารที่มีส่วนผสมของของแข็งและของเหลว เช่น มาสคารา ลิปสติก หรือลิปบาล์ม 

         โดยการปรับปรุงนี้มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความชัดเจนและความปลอดภัยในการตรวจค้นของเหลว เจล และสเปรย์ที่จะนำขึ้นอากาศยาน หรือเข้าเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ

ของเหลวขึ้นเครื่องบิน อัปเดตกฎใหม่ 2568 สรุปสาระสำคัญ

         ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การตรวจค้นของเหลว เจล และสเปรย์ที่จะนำขึ้นไปบนอากาศยาน หรือนำเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ พ.ศ. 2568 ที่บังคับใช้ขึ้นใหม่นั้นต่างจากเดิมยังไง ? เอาจริง ๆ แล้วไม่ต่างจากของเดิมเท่าไหร่ แต่แค่มีความละเอียดขึ้น โดยเป็นกฏเกี่ยวกับของเหลวขึ้นเครื่องบินเท่านั้น เป็นการกำหนดกฎเพื่อที่จะให้มีความชัดเจนมากขึ้น 
ประเภทของวัตถุที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัด
  • ของเหลว (Liquid)

  • เจล (Gel)

  • สเปรย์ (Spray)

  • โฟม, โลชั่น, ครีม, น้ำหอม, ยาสีฟัน, น้ำมัน, ของเหลวที่มีลักษณะคล้ายกัน ฯลฯ

ปริมาณสูงสุดที่อนุญาต
  • ของเหลวแต่ละชิ้นต้องไม่เกิน 100 มิลลิลิตร (ml) หรือ 100 กรัม (g)

  • ต้องบรรจุอยู่ในภาชนะที่มีขนาดไม่เกิน 100 ml/g แม้จะบรรจุไม่เต็มก็ตาม

วิธีบรรจุและพกพา
  • ต้องใส่รวมกันในถุงพลาสติกใสแบบมีซิปล็อก หรือแบบเปิด-ปิดได้ ขนาดไม่เกิน 1 ลิตร (ประมาณ 20×20 ซม.)

  • ผู้โดยสาร 1 คนสามารถพกถุงดังกล่าวได้ เพียง 1 ใบ

    *** เจ้าหน้าที่สามารถยึดได้ถ้าไม่ตรงตามเงื่อนไข

ข้อยกเว้น
  • ยา, นม, อาหารสำหรับทารก หรือของจำเป็นตามเหตุผลทางการแพทย์ สามารถนำติดตัวได้เกินปริมาณที่กำหนด

  • ต้องแสดงหลักฐานประกอบ เช่น ใบรับรองแพทย์ หรือเอกสารที่จำเป็นอื่น ๆ ต่อเจ้าหน้าที่

พื้นที่บังคับใช้
  • ใช้กับของเหลวที่นำติดตัวขึ้นห้องโดยสารอากาศยาน

  • รวมถึงของเหลวที่นำเข้าเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ

         *** ในกรณีที่ผู้โดยสารมีการแวะพักหรือเปลี่ยนท่าอากาศยาน ควรตรวจสอบข้อมูลจากร้านค้าปลอดอากรที่ซื้อสินค้า เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปฏิบัติต่อการนำของเหลวขึ้นเครื่องของสนามบินปลายทางและสนามบินทุกแห่งที่ต้องแวะพักหรือเปลี่ยนลำอากาศยาน

จุดตรวจสัมภาระ

ภาพจาก : Elena Berd / shutterstock.com

ของเหลวที่ซื้อในร้านค้าปลอดภาษี ขึ้นเครื่องได้ไหม

           ของเหลวที่ซื้อในร้านค้าปลอดภาษีภายในสนามบิน สามารถถือติดตัวขึ้นเครื่องได้ เพราะทางร้านจะมีถุงใส่ให้ และมีการปิดผนึกอย่างชัดเจน แต่ห้ามมีรอยแกะ ฉีกขาด หรือรอยใด ๆ ของถุงที่ใส่มาให้ อดใจรอไปแกะปลายทาง ห้ามแกะบนเครื่องหรือก่อนจะขึ้นเครื่องเด็ดขาด

ของเหลวขึ้นเครื่องบิน ทำไมจำกัด 100 มิลลิลิตร

            เหตุผลของการนำของเหลวขึ้นเครื่องจำกัดอยู่ที่ 100 มิลลิลิตร/ชิ้น เพราะของเหลวแค่ปริมาณ 100 มิลลิลิตร ไม่สามารถที่จะใช้เป็นส่วนประกอบในการทำระเบิดได้ แต่หลายคนน่าจะสงสัยต่อไปว่า แล้วทำไมของใน Duty Free ถึงสามารถนำขึ้นได้ นั่นเป็นเพราะภายในสนามบินมีการตรวจสอบเรียบร้อยแล้วว่าเป็นสารที่ไม่สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในการทำระเบิดได้ จึงสามารถขายได้ อีกทั้งยังมีบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิททั้ง 2 ด้าน มีเอกสารที่มาที่ไปของสารนั้น ๆ ทำให้มั่นใจได้ถึงความปลอดภัย ทำให้เราสามารถซื้อของใน Duty Free ขึ้นเครื่องได้ ถึงแม้จะมีปริมาณต่อชิ้นเกิน 100 มิลลิลิตรก็ตาม

วิธีการจัดของเหลวขึ้นเครื่องบิน

วิธีจัดของเหลวขึ้นเครื่อง

เลือกภาชนะที่เหมาะสม
           ใช้ภาชนะที่มีความจุไม่เกิน 100 มิลลิลิตร สำหรับของเหลว เจล และสเปรย์ทุกชนิด
ใส่ภาชนะในถุงพลาสติกใส
           นำภาชนะทั้งหมดใส่ในถุงพลาสติกใสที่สามารถปิดสนิทได้ ขนาดไม่เกิน 1 ลิตร และถุงพลาสติกควรมีซิปล็อกหรือวิธีการปิดที่แน่นหนา
จัดเก็บถุงพลาสติก
           จัดเก็บถุงพลาสติกใสในกระเป๋าถือหรือกระเป๋าเป้ เพื่อให้สามารถนำออกมาได้ง่ายเมื่อต้องตรวจสอบที่จุดตรวจรักษาความปลอดภัย
แยกถุงพลาสติกที่จุดตรวจรักษาความปลอดภัย
           เมื่อถึงจุดตรวจรักษาความปลอดภัย ให้แยกถุงพลาสติกใสที่บรรจุของเหลวออกจากกระเป๋า และวางไว้ในถาดเพื่อตรวจสอบแยกต่างหาก
ของเหลวขึ้นเครื่อง สนามบินสุวรรณืภูมิ

ภาพจาก : mantinov / shutterstock.com

          การปฏิบัติตามข้อกำหนดการนำของเหลวขึ้นเครื่องบินจะช่วยให้เราเดินทางได้อย่างราบรื่น ปลอดภัย และไม่ต้องเผชิญกับปัญหาที่จุดตรวจรักษาความปลอดภัย ^ ^
 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

แนะนำ Tips ท่องเที่ยว เดินทางเครื่องบิน อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เฟซบุ๊ก AOT Official, เว็บไซต์ ratchakitcha.soc.go.th 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อัปเดตข้อกำหนดของเหลวบนเครื่องบิน 2568 ฉบับเข้าใจง่าย อัปเดตล่าสุด 13 พฤษภาคม 2568 เวลา 16:27:22 45,689 อ่าน
TOP
x close