x close

มารู้จัก Boarding Pass สำคัญอย่างไรเมื่อต้องเดินทาง

           Boarding Pass (บอร์ดดิ้งพาส) หรือบัตรที่นั่ง ทำความรู้จักกับเอกสารที่อนุญาตให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องบิน บัตรนั้นมีข้อมูลอะไร และมีเรื่องอะไรที่ควรรู้บ้าง
           เวลาที่เราเดินทางท่องเที่ยวด้วยเครื่องบิน ในวันที่เดินทางเมื่อเราไปดำเนินการเช็กอินที่เคาน์เตอร์ของสายการบินเรียบร้อยแล้วจะได้รับใบใบหนึ่งที่เรียกว่า Boarding Pass (บอร์ดดิ้งพาส) เพื่อเป็นเอกสารยืนยันข้อมูลการเดินทางครั้งนั้น ๆ ให้กับเรา เอกสารใบนี้บอกอะไรเราบ้าง และมีความสำคัญอย่างไร วันนี้เราจะไปทำความรู้จัก Boarding Pass ให้มากขึ้นกัน

Boarding Pass

Boarding Pass

Boarding Pass คืออะไร

          Boarding Pass (บอร์ดดิ้งพาส) คือ เอกสารที่อนุญาตให้ผู้โดยสารใช้ผ่านขึ้นเครื่องบินในสายการบินที่ได้จองเอาไว้ เพื่อให้ผู้โดยสารถือขึ้นเครื่อง

Boarding Pass กับ E-Ticket ต่างกันอย่างไร

          เชื่อว่าหลายคนน่าจะเกิดความสงสัยว่า Boarding Pass กับ E-Ticket คือเอกสารตัวเดียวกันหรือเปล่า ? จริง ๆ แล้วไม่ใช่ตัวเดียวกัน อย่าง Boarding Pass จะเป็นเอกสารที่ยืนยันการขึ้นเครื่อง พูดง่าย ๆ เป็นใบที่ได้หลังทำการเช็กอิน เป็นการยืนยันว่าเราไปแน่ ๆ มีรายละเอียดครบถ้วน แต่ E-Ticket คือตั๋วโดยสารที่ส่งทางออนไลน์ สามารถพรินต์ออกมาได้ แล้วค่อยเอามายื่นที่เคาน์เตอร์เช็กอิน และรอ  Boarding Pass จากเคาน์เตอร์

          *** ในกรณีที่เรามี E-Ticket แต่ว่าไม่ได้เดินทาง ก็จะไม่ได้ Boarding Pass จากเคาน์เตอร์เช็กอิน (ไม่นับ E-Boarding Pass ที่เราได้จากการทำเว็บเช็กอิน)

Boarding Pass

E-Boarding Pass คืออะไร

          สำหรับ E-Boarding Pass คือ บอร์ดดิ้งพาสแบบไร้กระดาษที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารสามารถตรงไปยังจุดตรวจสอบความปลอดภัย/ด่านตรวจคนเข้าเมือง เหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางด้วยกระเป๋าใบเดียว เพราะจะช่วยลดระยะเวลาในการต่อแถวเช็กอินโหลดสัมภาระ

Boarding Pass บอกอะไรบ้าง

          หากสังเกตใบ Boarding Pass ให้ดี ๆ จะเห็นว่าประกอบไปด้วยข้อมูลส่วนตัวของผู้เดินทาง ได้แก่

  • ชื่อ-นามสกุลของผู้โดยสาร (Passenger Name)
  • หมายเลขเที่ยวบิน (Flight number)
  • จุดหมายปลายทาง (Destination)
  • ประตูทางออกขึ้นเครื่อง (Gate)
  • เลขที่นั่งบนเครื่อง (Seat)
  • บาร์โค้ด หรือ QR Code

ได้รับ Boarding Pass ตอนไหน ?

          โดยปกติจะได้รับ Boarding Pass ก็ต่อเมื่อ

  • เช็กอินที่เคาน์เตอร์สายการบินที่ได้ทำการจองเอาไว้ ณ วันที่ออกเดินทาง หรือเมื่อเช็กอินผ่านเครื่อง
  • เช็กอินอัตโนมัติ (Self Service Check-in Kiosk) ที่สนามบินก็สามารถรับ Boarding Pass ได้เช่นกัน
  • เช็กอินออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของสายการบินที่เดินทาง และหลังจากเช็กอินเรียบร้อยก็สามารถพรินต์หรือจะเลือกเป็น E-Boarding Pass เพื่อเก็บไว้ในโทรศัพท์ก็ได้เช่นกัน

รูปแบบ Boarding Pass ที่ยอมรับได้

          สำหรับรูปแบบของ Boarding Pass ที่ยอมรับได้เพื่อใช้ในการเดินทาง ได้แก่

  • Boarding Pass ที่สายการบินออกให้ ณ จุดเคาน์เตอร์เช็กอิน
  • ไฟล์ PDF ในโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่สายการบินจัดส่งให้กับผู้โดยสาร (*** ถ้าพรินต์ไฟล์ PDF จะใช้ได้ในกรณีที่​สนามบินนั้นมีเครื่องอ่าน Boarding Pass Scanner หรือ Barcode Reader ถ้าสนามบินนั้นใช้เจ้าหน้าที่ตรวจ ไม่มีเครื่องอ่าน จะใช้แบบพรินต์​หรือแคปหน้าจอไม่ได้)
Boarding Pass

  • Boarding Pass ที่ผู้โดยสารพิมพ์ด้วยตัวเองจากตู้เช็กอินอัตโนมัติ (Self Service Check-in Kiosk)
  • E-Boarding Pass ที่แสดงผ่านแอปพลิเคชันของสายการบิน หรือ Application Wallet หรือ Email ที่ส่งโดยสายการบินเท่านั้น
Boarding Pass รูปแบบ

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand

วิธีตรวจ Boarding Pass แบบใหม่

          ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand ได้มีการทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติในการตรวจสอบ Boarding Pass และเอกสารยืนยันตัวตน ที่มีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มกราคม 2567 ดังนี้

          *** ทั้งนี้ ผู้โดยสารไม่สามารถใช้ภาพถ่าย Boarding Pass หรือ E-Ticket รวมถึงรูปถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์ หรือจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใด เพื่อป้องกันการตัดต่อ/ดัดแปลง เพื่อใช้แสดงตนก่อนขึ้นเครื่องบินได้
เอกสารระบุตัวตนของผู้โดยสารที่แสดงผ่านแอปพลิเคชัน
แอปพลิเคชันระบุตัวตน

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand

เอกสารยืนยันตัวตนในการโดยสารเที่ยวบินภายในประเทศที่ใช้ร่วมกับ Boarding Pass (สำหรับผู้โดยสารที่มีสัญชาติไทย)
เอกสารยืนยันตัวตน Boarding Pass

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand

เอกสารยืนยันตัวตน Boarding Pass

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand

เอกสารยืนยันตัวตนในการโดยสารเที่ยวบินภายในประเทศที่ใช้ร่วมกับ Boarding Pass (สำหรับผู้โดยสารชาวต่างชาติ)
เอกสารยืนยันตัวตน Boarding Pass

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand

Boarding Pass ลืม/หาย ต้องทำยังไง

          กรณีที่ลืมหรือทำ Boarding Pass ต้องใช้หลักฐานอะไรเพื่อแสดงตัวในการเดินทางภายในประเทศ

สำหรับผู้โดยสารที่มีสัญชาติไทย

Boarding Pass หายทำยังไง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand

สำหรับผู้โดยสารชาวต่างชาติ

Boarding Pass หายทำยังไง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand

ข้อระวังโพสต์รูป Boarding Pass ลงโซเชียล

          เชื่อว่าการเดินทางไปเที่ยวแต่ละครั้งย่อมมาพร้อมกับความตื่นเต้น สังเกตจากคนรอบตัวของเราเองก็ได้ว่า ก่อนเดินทางจะต้องมีการเซลฟี่ หรือหลังจากเช็กอินเรียบร้อยแล้วก็จะต้องถ่ายรูป Boarding Pass ของเที่ยวบินที่กำลังจะพาไปยังจุดหมายในฝัน 

          จริง ๆ แล้วการกระทำดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด แต่อยากขอให้เพิ่มความระวังกันสักนิด ประเภทที่ถ่าย Boarding Pass ทั้งใบ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาด ถ้าอยากถ่าย ควรถ่ายโดยพยายามไม่ให้เห็นชื่อ, เที่ยวบิน, ที่นั่ง, บาร์โค้ด, เลข E-ticket และรหัสการจอง PNR พร้อมกันทุกอย่าง เพราะถ้าไม่มีการเซ็นเซอร์ข้อมูลใด ๆ เลย อาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลส่วนตัวเราไปใช้ก่อเหตุต่าง ๆ ได้อย่างคาดไม่ถึง ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้การเดินทางในฝันที่รอคอยมานานต้องกลายเป็นฝันร้ายเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์แน่ ๆ

เหตุผลที่ไม่ควรทิ้ง Boarding Pass

          เวลาที่เดินทางถึงจุดหมายปลายทางแล้ว บ่อยครั้งที่เรามักจะทิ้ง Boarding Pass ไป เพราะคิดว่าไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่จริง ๆ แล้วยังมีความสำคัญมากกว่านั้น เหตุผลที่ไม่ควรทิ้ง Boarding Pass เลยทันทีมีดังนี้

ใช้ในการเคลมบัตรโดยสาร
           Boarding Pass จะแสดงหมายเลขตั๋วโดยสารที่แสดงพร้อมบาร์โค้ดหรือคิวอาร์โค้ด หากบัตรไม่ถูกใช้งาน สายการบินจะคืนเงินให้กับผู้โดยสาร ตามเงื่อนไขบัตรโดยสารประเภทนั้น ๆ
ใช้ในการเคลมไมล์
           ใครที่ต้องการสะสมไมล์ย้อนหลังจำเป็นต้องมี Boarding Pass หรือ E-Ticket เป็นหลักฐานเพื่อแสดงต่อสายการบิน ตามเงื่อนไขของสายการบินนั้น ๆ
ใช้ติดตามสัมภาระกรณีมาช้าหรือสูญหาย
           เมื่อเช็กอินและทำการโหลดกระเป๋า เจ้าหน้าที่จะทำการชั่งน้ำหนัก พร้อมกับติดแถบบาร์โค้ด ตามจำนวนกระเป๋าที่เราทำการเช็กอิน และแยกมาเป็นแผ่นกระดาษต่างหากอีกใบ กรณีที่เดินทางถึงปลายทางแล้ว แต่สัมภาระที่โหลดมาล่าช้าหรือเกิดสูญหาย ผู้เดินทางสามารถนำบาร์โค้ดนั้นไปติดต่อที่เคาน์เตอร์ Lost & Found ณ สนามบินปลายทาง ได้เลย
ใช้ในการเคลมประกันภัยการเดินทาง

          Boarding Pass จะแสดงรายละเอียดการเดินทางของผู้โดยสารในเที่ยวบินนั้น ๆ และนี่เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่บริษัทประกันใช้เป็นเอกสารประกอบในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในกรณีต่าง ๆ เช่น เคลมเกี่ยวกับสายการบิน (ไฟลต์ดีเลย์ กระเป๋าล่าช้า กระเป๋าสูญหาย ฯลฯ)

Boarding Pass

          เอาเป็นว่าตอนนี้ก็รู้จักกับ Boarding Pass มากขึ้นแล้ว ว่าแล้วก็หาเรื่องไปจองตั๋วเดินทางท่องเที่ยวกันดีกว่า ^ ^
 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

แนะนำ ทิปส์ท่องเที่ยว Boarding Pass ตั๋วเครื่องบิน อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เฟซบุ๊ก CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand, เฟซบุ๊ก AOT Official
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มารู้จัก Boarding Pass สำคัญอย่างไรเมื่อต้องเดินทาง อัปเดตล่าสุด 19 มกราคม 2567 เวลา 14:22:31 32,330 อ่าน
TOP