.jpg)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณ art_sarawut สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
เพราะสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั่วโลกมีอยู่มากมาย และเพื่อเป็นการประหยัดเวลา นักท่องเที่ยวหลายคนจึงมักเลือกเดินทางด้วย "เครื่องบิน" เพราะเป็นการประหยัดเวลา รวมทั้งเป็นการเซฟร่างกายให้สามารถใช้เวลาในการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มทีอีกด้วย แต่สิ่งสำคัญในการสำรองตั๋วเครื่องบินสำหรับเดินทางในแต่ละครั้งนั้น ยังมีเพื่อน ๆ หลายคนยังไม่เข้าใจ และยังไม่ทราบข้อมูลกันอยู่ในบางขั้นตอน ดังนั้น เราหยิบเอาข้อมูลดี ๆ ของ คุณ art_sarawut สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ได้บอกเล่าเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการจองตั๋วเครื่องบินก่อนออกเดินทางแต่ละครั้งมาบอกกัน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ตามเราไปดูกันเลยจ้า





สวัสดีครับ ผมทำงาน Ticketing อยู่สายการบินหนึ่ง และคิดว่ามีบางอย่างที่คนมาใช้บริการไม่ทราบกันเยอะพอสมควร เลยคิดว่าน่าจะนำมาเผยแพร่ แต่ท่านไหนที่เดินทางบ่อย ๆ แล้วก็คงจะทราบดีล่ะครับ เรื่องเบสิกพื้นฐาน

ราคาบัตรโดยสารของเครื่องบิน ไม่ใช่ราคาเดียวทั้งลำครับ นอกจากจะแบ่งเป็น "ชั้นประหยัด" กับ "ชั้นธุรกิจ" อย่างที่คนส่วนใหญ่ทราบกันดีแล้ว ในชั้นนั้นยังแบ่งราคาออกยิบย่อยอีกมากมาย ผมจะจำแนกให้ดูนะครับ เช่น สมมุติเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ในชั้นประหยัด จะยังมีราคายิบย่อยลงมาอีก 11 ราคา ไล่จากถูก-แพง จากซ้ายไปขวาเลยครับ
B G V Q / H T L / N K M Y
ในกลุ่ม 4 ตัวอักษรแรก เป็น "ราคาโปรโมชั่น" ที่เห็นโปรโมทตามเว็บไซต์กับแผ่นพับนั่นล่ะครับ เช่น สมมุติ B อาจจะราคา 1,490 บาท และกลับกัน ราคา Y จะเรียกว่า "ราคาเต็ม" ราคาอาจจะราว 3,590 บาท เป็นต้น
ราคาตั้งแต่ B ไปจนถึง Y ก็จะไล่ขึ้นไปเป็นขั้นบันได ดังนั้น เวลาผู้โดยสารจะสำรองที่นั่ง เจ้าหน้าที่จึงจะถามให้ละเอียดว่าจะเดินทางวันไหน เวลาไหน เพื่อจะได้แจ้งราคาได้ถูก เพราะแต่ละเที่ยวบินก็จะเหลือที่นั่งไม่เท่ากัน เส้นทางเดียวกันแท้ ๆ เวลาห่างกัน 2 ชั่วโมง คุณอาจได้ราคาถูกลงหรือแพงขึ้นเป็นหลักพันได้สบาย ๆ ครับ
และราคาบัตรโดยสารโปรโมชั่น B G V Q เหล่านี้ ก็ไม่ได้มีทุกเส้นทาง หรือไม่ได้มีตลอดเวลานะครับ บางเส้นทางไม่มี บางเส้นทางอาจมีขายที่ราคาตั้งแต่ H ขึ้นมาจนถึง Y เช่นนี้เป็นต้น
สิ่งที่พบบ่อย คือ ผู้โดยสารชอบเข้าใจผิด คิดว่ามันเหมือนราคาแบบรถทัวร์หรือรถตู้อะไรทำนองนั้น คือจะถามลอย ๆ ว่า เส้นทางนี้ราคาเท่าไหร่ ? เจ้าหน้าที่ก็จะตอบไม่ได้ เพราะไม่มีวันและเวลาที่แน่นอน อย่างที่เรียนไปข้างต้นครับ เส้นทางเดียวกันแท้ ๆ แต่ราคาอาจต่างกันถึง 2 เท่า ได้สบาย ๆ ในคนละวันเวลากันครับ
ตรงนี้ก็คงต้องอยู่ที่ผู้โดยสารนั่นล่ะครับ ว่ากำหนดเงื่อนไขของตัวเองไว้ที่ตรงไหน ระหว่าง "วันเวลาเดินทาง" หรือ "ราคา" ถ้าราคาสำคัญ ต้องการของถูก เราก็สามารถไล่หาให้ได้ว่าวันไหนที่มีที่นั่งราคาโปรโมชั่น กลับกัน ถ้าวันเวลาเดินทางสำคัญกว่า เราก็แจ้งให้ทราบได้ว่าราคาของวันนั้น ๆ เท่าไหร่ แต่อาจจะไม่ได้ราคาโปรโมชั่นนั่นเอง

สิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่แตกต่าง ก็คือ "เงื่อนไขบัตรโดยสาร" ครับ เช่น ราคาโปรโมชั่น B คลาส ราคาต่ำสุด คุณอาจจะเปลี่ยนวัน/เวลาเดินทางไม่ได้เลย ถ้าไม่เดินทางก็ขอคืนเงินไม่ได้
ทั้งนี้ ในส่วนของเงื่อนไขบัตรโดยสาร เราจะดูตามสิ่งที่เรียกว่า Fare Basis เช่น BFTH ตัวแรก ก็คือ คลาส B ตัวที่ 2 ตัว F จะบอกว่า Fix Flt/Date ก็คือ เปลี่ยนแปลงวันเวลาไม่ได้ และสุดท้าย TH ก็คือ การบอกว่า Fare นี้ขายในไทยนั่นล่ะครับ (ถ้าเป็นบัตรโดยสารของเด็ก ก็จะมี CH (Children) ต่อท้ายมาด้วย) หรือสมมุติ GXNTH ที่คุณจะเดินทางได้เฉพาะวันจันทร์-พฤหัสบดี เป็นต้น แต่เปลี่ยนแปลงวัน/เวลาเดินทางได้ โดยมีค่าธรรมเนียม+ส่วนต่าง ส่วนต่างนี้ ก็คือ สมมุติคุณเปลี่ยนแปลงวันเดินทาง แล้วไม่ได้ที่นั่งราคาเดิม คุณก็จะต้องชำระส่วนต่างของบัตรที่นั่งราคาใหม่นั่นเอง
คำถามที่ว่า แล้วถ้าเปลี่ยนแล้วได้ที่นั่งถูกลงล่ะ อันนี้สายการบินไม่อนุญาตให้ downgrade นะครับ 555 ยกเว้นลดจาก Business มาเป็น Economy (ตัวเต็ม) ก็จะทำได้ และคืนส่วนต่าง
ส่วนกรณีที่เป็นความผิดของสายการบินเอง เช่น เปลี่ยนเที่ยวบินเองเสียอย่างนั้น ตรงนี้เปลี่ยนฟรีครับ
อีกตัวอย่างของเงื่อนไขโปรโมชั่น คือ เช่น บินไฟลท์เช้าสุด หรือดึกที่สุด ตรงนี้ก็อาจจะมีราคาโปรโมชั่นเหมือนกัน แต่อย่างที่เรียนไป คือ โปรโมชั่นต่าง ๆ ไม่ได้มีทุกเส้นทางและตลอดเวลานะครับ ต้องดูให้ดี ๆ ว่าเส้นทางไหนเวลาอะไร
สรุปกว้าง ๆ จะแบ่งเป็น (เปลี่ยนแปลงไม่ได้/ขอคืนเงินไม่ได้), (เปลี่ยนแปลงได้มีค่าธรรมเนียม+ส่วนต่าง/ขอคืนเงินไม่ได้), (เปลี่ยนฟรี/ขอคืนเงินได้มีค่าธรรมเนียม) ตรงนี้ยังไงระหว่างการสำรองที่นั่ง เจ้าหน้าที่เขาจะแจกแจงให้ฟังเองครับ ถ้าทราบแล้วก็บอกเขาก็ได้นะ จะไม่ถือว่าเขาทำผิด แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ลืมแจ้งเอง อันนี้จะถือว่ามีความผิดทันที
อีกความแตกต่าง ก็คือ "การเลือกที่นั่ง" ทุกราคาจะได้สิทธิ์พื้นฐานเหมือนกัน คือ เลือกที่นั่งเองได้ผ่านเว็บไซต์ หรือ Web Check-In นั่นเอง แต่ เช่น ราคาต่ำ ๆ ก็จะถูกล็อกให้นั่งเฉพาะส่วนหลังของเครื่อง เป็นต้น ส่วนพวกราคาสูง ๆ จะนั่งตรงไหนก็ได้ตามใจชอบ และถ้าหากโทรไปสำรองที่นั่งกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะเลือกที่นั่งให้ได้เฉพาะบัตรโดยสารที่ราคาสูงขึ้นไปหน่อย เช่น อาจจะตั้งแต่ H คลาสขึ้นไป ส่วนถ้าต่ำกว่านั้น เจ้าหน้าที่จะเลือกให้ไม่ได้ และจะบอกให้ผู้โดยสารไปเลือกเองผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น
** ในส่วนของเงื่อนไขบัตรโดยสารของท่านนะครับ ผมแนะนำให้จำให้ดี ๆ เพราะเคยมีกรณีแบบผู้โดยสารจะเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน แล้วไม่พอใจที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งในระบบโชว์ไว้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่แจ้งเงื่อนไขบัตรโดยสารไปแต่แรกแล้ว แต่ผู้โดยสารไม่ค่อยฟังกัน **
(* อนึ่ง ต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะไม่เหมือนกันในแต่ละสายการบินนะครับ)


เจอบ่อย ๆ ผู้โดยสารที่จะบินวันนี้ก็โทรมาจองวันนี้ แล้วก็ไม่พอใจเวลาไม่ได้ราคาโปรโมชั่นถูกสุด ๆ ตามโฆษณา ซึ่งก็อย่างที่เรียนไปแล้วครับว่าพวกราคาโปรโมชั่นมันก็หมดไว จึงควรสำรองที่นั่งแต่เนิ่น ๆ นะครับ ที่เคยเจอโหดสุด ๆ นี่ก็มี แบบจะบินในอีก 2 ชั่วโมง โทรมาสำรองที่นั่ง พระเจ้า ! ตรงนั้นเราก็ทำให้ไม่ได้แล้ว ต้องไปติดต่อหน้าเคาน์เตอร์สนามบินเองเลย ซึ่งจะทันหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะขั้นต่ำมันต้องอย่างน้อย 2 ชั่วโมง คือจริง ๆ แล้ว ขนาดคนที่มีบัตรโดยสารแล้ว แค่การไปเช็กอินที่สนามบิน เขาก็ต้องไปล่วงหน้า 1 ชั่วโมง 30 นาที สำหรับในประเทศ และ 2 ชั่วโมง สำหรับต่างประเทศอยู่แล้วนะ กระชั้นชิดขนาดนั้นก็ไม่ไหวนะฮะ ยิ่งช่วงนี้มีม็อบ เราก็ได้รับการแนะนำให้แจ้งผู้โดยสารให้เผื่อเวลาเพิ่มอีก 1 ชั่วโมง อีกต่างหาก
อีกเรื่องที่ดีสำหรับการสำรองที่นั่งล่วงหน้า ก็คือ ยิ่งทำล่วงหน้านาน ยิ่งมี "Time Limit" ในการชำระเงินมากเท่านั้น คือ ปกติเราสำรองที่นั่งไว้เก๋ ๆ แต่ไม่จ่ายเงินก็ได้นะครับ มันจะมีเส้นตายให้จ่ายเงิน ถ้าไม่จ่าย booking ก็ตัดไปเอง จบ อย่างที่หลายท่านสำรองที่นั่งกระชั้นชิดมาก ระบบก็ตั้ง Time Limit นี้กระชั้นชิดตามไปด้วย เช่น อาจจะภายใน 2 ชั่วโมง (หลังจากสำรองที่นั่งเสร็จ) บางคนก็เลยจะบ่นว่าเร็วจัง กลับกัน เช่น สมมุติว่าสำรองที่นั่งล่วงหน้า 1 อาทิตย์ ก็อาจได้เวลาในการชำระเงินเป็น 3 วัน หรือถ้าสำรองล่วงหน้าชนิด 3 เดือน ก็อาจได้เวลาในการชำระเงินยาว ๆ เป็นภายใน 21 วัน อะไรแบบนั้นเป็นต้น

ถ้าหากคุณบังเอิญเห็นโปรโมชั่นอะไรสักอย่างแล้วสนใจมาก แนะนำให้จำ "ชื่อโปรโมชั่น" แล้วติดต่อเจ้าหน้าที่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม มันจะมีสิ่งที่ต้องสนใจ ก็คือ


ตรงนี้บางทีเป็นปัญหา เพราะหลาย ๆ คนก็จำแต่ราคากับเส้นทาง ติดต่อมาก็บอกเลย โอ้ย ! เส้นทางนี้เห็นโปรฯ ราคาแค่ 1,990 บาท ไหงนี่มันตั้ง 3 พัน โดยไม่ทราบว่าโปรฯ หมดไปแล้วบ้าง หรือไม่ได้บินในกรอบเวลาของโปรฯ บ้าง ยังไงตรงนี้ผมแนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อนเดินทาง และรีบสำรองที่นั่งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันที่เต็ม อย่าลืมนะครับ ถึงจะทำตามเงื่อนไขของโปรฯ ทุกอย่าง ก็อาจยังไม่ได้บัตรโดยสารในราคาโปรฯ เพราะเหตุผลง่าย ๆ ว่า "ที่เต็ม" เศร้ากันไปเลยนะ
คำถามที่ก็เจอค่อนข้างบ่อยและตอบยาก คือ "เส้นทางนี้มีโปรฯ ไหม ?" มันตอบยาก เพราะไม่ระบุวันมาด้วย อย่างเช่น ถ้าเราตอบ โดยนึกเอาเองว่าเป็นวันนี้ ตอบไปว่าไม่มีโปรฯ ครับ ปรากฏว่าผู้โดยสารจะเดินทางในอีก 15 วัน ซึ่งอยู่ในช่วงโปรฯ เราก็จะซวยไปอีก ดังนั้น การสอบถามเรื่องโปรโมชั่นก็เหมือนการสำรองที่นั่งครับ คือ ควรแจ้งทั้งเส้นทางและวันที่ต้องการเดินทางไปด้วยเลย หรือถ้ามีชื่อโปรโมชั่นมา เจ้าหน้าที่ก็จะบอกเงื่อนไขโปรฯ ให้เอง

อะไรคือการ Verify ข้อมูล ? ก็คือ กรณีที่มีคนโทรเข้ามาสอบถามเรื่อง Booking ต้องการทำการอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะสอบถามข้อมูล, เปลี่ยนแปลง, ยกเลิก อะไรก็ตาม มันมีผลต่อผู้โดยสาร ถูกต้องไหมครับ ? ตรงนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า "คนที่โทรเข้ามาจะเป็นผู้โดยสารตัวจริง" กันล่ะ...........?
"แล้วคนบ้าที่ไหนจะโทรไปจัดการเรื่องการสำรองที่นั่งของคนอื่น ?" บางท่านอาจจะกำลังคิดเช่นนี้ใช่ไหมครับ
สมมุติว่าสามีจะนั่งเครื่องบินไปเที่ยวกับภรรยาน้อย...เท่านี้คงพอเห็นภาพนะครับ ภรรยาหลวงโทรมา สอบถามวัน-เวลาเดินทาง แล้วไปดักตบที่สนามบิน...อันนี้เรื่องจริงเสียด้วยนะครับ 55555 ดังนั้น ทุกครั้งที่คนโทรเข้ามา เราก็เลยต้องถามรายละเอียดของการสำรองที่นั่งนั้น ๆ เพราะอย่างบางคนอาจจะไปแอบรู้มาแค่บางอย่าง เช่น จะไปไหน แต่ไม่รู้วัน/เวลา (ไปดักตบ) รู้แค่ชื่อ (สามี) อะไรแบบนี้
มีหลายท่านมากกกกกกกกกกก ที่ไม่เข้าใจ บางทีกระฟัดกระเฟียดใส่เจ้าหน้าที่ แบบทำไมเนี่ยสำรองที่นั่งไปแล้ว ไม่เจออีกเหรอเนี่ย ฯลฯ คือจริง ๆ เราเจอแล้ว แต่ต้องถามน่ะครับเพื่อความปลอดภัย สิ่งที่ต้องถามก็เช่น ชื่อ/สกุลผู้โดยสาร, เส้นทาง, วัน-เวลา แค่นี้ก็ถือว่าผ่านแล้ว
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ถามข้อมูลแล้วทำอะไรลงไป ซึ่งบางทีมันมากกว่าแค่การให้ข้อมูล เช่น อาจจะยกเลิกเที่ยวบิน, เปลี่ยนแปลงเวลาบิน คิดดูนะครับอันนี้เรื่องใหญ่เลย ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้อง "Verify" ข้อมูลก่อนทุกครั้งนั่นเอง เสียเวลาไม่กี่วินาที หวังว่าคงเข้าใจนะครับ








ตอนนี้นึกออกแค่นี้...สวัสดีครับ