ไหว้พระปีใหม่ 2568 ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 20 วัด ในกรุงเทพฯ และใกล้เคียง

          ไหว้พระปีใหม่ ชวนไปสักการะขอพรเสริมดวง เสริมสิริมงคล จากวัดต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อเริ่มต้นปีด้วยสิ่งดี ๆ 
          วันปีใหม่ เป็นอีกหนึ่งช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกัน ทำให้หลายคนเดินทางกลับภูมิลำเนา บ้างก็วางแพลนเที่ยวปีใหม่พักผ่อนชาร์จพลัง หรือบางคนก็เลือกที่จะเข้าวัด ไหว้พระ ทำบุญ เพื่อเริ่มต้นปีใหม่ด้วยใจเบิกบาน วันนี้เราจึงนำเอาสถานที่ไหว้พระปีใหม่ 2568 ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เดินทางไม่ไกล มาฝากกัน 

สถานที่ไหว้พระปีใหม่

1. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

          วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ติดกับสวนสราญรมย์และอนุสาวรีย์หมู (อนุสาวรีย์สหชาติ) เป็นวัดขนาดกะทัดรัด บรรยากาศเงียบสงบ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นวัดธรรมยุต พระราชทานนามว่า วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ดังเช่นปัจจุบัน มีปูชนียวัตถุและปูชนียสถานที่น่าสนใจ เช่น พระพุทธสิหิงคปฏิมากร พระประธานในพระวิหารหลวง (พระอุโบสถ) รัชกาลที่ 4 ทรงให้จำลองจากพระพุทธสิหิงค์องค์จริงภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาฝนังเกี่ยวกับพระราชพิธีสิบสองเดือน ภาพสุริยุปราคา และพระปาสาณเจดีย์ พระเจดีย์ที่ประกบและฉลุด้วยหินอ่อน ด้านหน้าประดิษฐานรูปเหมือนสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เป็นต้น 
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

2. วัดอนงคารามวรวิหาร กรุงเทพฯ

          วัดอนงคารามวรวิหาร วัดเก่าแก่ย่านฝั่งธนบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่บนถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน ไม่ไกลจากอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และวัดพิชยญาติการามวรวิหาร ท่านผู้หญิงน้อย ภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นผู้สร้างขึ้นคู่กันกับวัดพิชัยญาติ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สถานที่ประดิษฐาน พระพุทธจุลนาค พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย พระพุทธมังคโล พระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ และ พระแก้วขาว พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ทำจากแก้วที่เปลี่ยนสีได้ตามเวลาและมุมมอง (เปิดให้สักการะปีละ 2 วัน คือ วันขึ้นปีใหม่และวันเข้าพรรษา)
วัดอนงคารามวรวิหาร

ภาพจาก SirichaiKeng / shutterstock.com

3. วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร กรุงเทพฯ

          วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร วัดสวยที่อยู่ในแขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ ตั้งอยู่ริมคลองด่าน ใกล้กับวัดปากน้ำ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เดิมชื่อ วัดหมู เล่ากันว่าจีนอู๋เป็นผู้สร้างในที่ดินที่เคยใช้เลี้ยงหมู แต่ไม่มีหลักฐานการสร้างแน่ชัดว่าเมื่อใด ต่อมาเจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) ธิดาของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ได้สถาปนาใหม่ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงบูรณะและปฏิสังขรณ์อีกครั้ง พร้อมพระราชทานนามว่า วัดอัปสรสวรรค์ เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย พร้อมกับพระราชทาน พระพุทธรูปปางฉันสมอ มาประดิษฐานไว้ด้วย นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถยังประดิษฐาน พระประธานจำนวน 28 องค์ เพื่อแทนพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดขึ้นมาในชาติภพต่าง ๆ อีกด้วย 
วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร

4. วัดคฤหบดี พระอารามหลวง กรุงเทพฯ

          วัดคฤหบดี พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 เขตบางพลัด ใกล้สะพานพระราม 8 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2367 โดย พระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) ต้นสกุลภมรมนตรี สถานที่ประดิษฐาน หลวงพ่อพระพุทธแซกคำ พระพุทธรูปสำคัญแต่โบราณ ที่ถูกอัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2369 จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งประชาชนนิยมมาขอพรในเรื่องต่าง ๆ เมื่อสำเร็จดังใจหวังมักนำไข่​หรืออาหารอีสานมาถวาย นอกจากนี้ยังมีพระราชานุสาวรีย์พระนางเจ้าจามเทวี และพระบรมธาตุเจดีย์ ให้ได้สักการบูชาด้วย 
วัดคฤหบดี พระอารามหลวง

ภาพจาก amnat30 / shutterstock.com

5. วัดเทพธิดารามวรวิหาร กรุงเทพฯ

          วัดเทพธิดารามวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ที่ตั้งอยู่ริมถนนมหาไชย เขตพระนคร ใกล้กับวัดราชนัดดารามวรวิหาร เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งประจำกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2379 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดา และสร้างสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2382 อีกทั้งเคยเป็นที่พำนักของ สุนทรภู่ กวีเอกสำคัญของโลก 
วัดเทพธิดารามวรวิหาร

          สถานที่ประดิษฐาน พระพุทธเทววิลาส (หลวงพ่อขาว) พระพุทธรูปปางมารวิชัย สลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์ รูปหล่อหมู่พระอริยสาวิกา จำนวน 52 องค์ หล่อด้วยดีบุก ซึ่งแต่ละองค์ยังมีท่าทางที่แตกต่างกัน และอย่าลืมชมความงามของพระอุโบสถที่ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ สะท้อนถึงเอกลักษณ์แห่งยุคสมัยนั้น
พระพุทธเทววิลาส วัดเทพธิดารามวรวิหาร

6. วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

          วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้สะพานมัฆวานรังสรรค์ เขตพระนคร สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2411 โปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อว่า วัดนามบัญญัติ เมื่อสิ้นรัชกาลจึงเรียกนามพระราชทานว่า วัดมกุฏกษัตริยาราม อันเป็นนามตามพระปรมาภิไธย สิ่งที่น่าสนใจคือ พระวิหารและพระอุโบสถ ที่มีลายพระมหามงกุฎอันเป็นตราประจำรัชกาลที่ 4 ทั้งที่หน้าบันและด้านบนของซุ้มประตูหน้าต่าง ภายในพระวิหารหลวงประดิษฐาน พระพุทธวชิรมงกุฏ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง ปางสมาธิราบ ประดิษฐานในบุษบกบนฐานชุกชีหินอ่อน 2 ชั้น บริเวณด้านหลังพระวิหารหลวงมีพระมหาเจดีย์ใหญ่สีขาวตั้งอยู่ท่ามกลางพระวิหารคด (พระระเบียงคด)
พระพุทธวชิรมงกุฏ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร

7. วัดบางจาก จังหวัดนนทบุรี

          วัดบางจาก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในอำเภอปากเกร็ด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2365 โดยชาวมอญที่อพยพเข้ามาในไทยได้ร่วมกันสร้างขึ้น แต่เนื่องจากสถานที่เก่ามีน้ำท่วมขังตลอดปี จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านลำภูลาย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ วัดบางจาก คือจากที่เก่ามาอยู่ที่ใหม่ ภายในประดิษฐาน สมเด็จพระพุทธมงคลชัย (หลวงพ่อโต) พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตัก 19 เมตร สูง 27 เมตร ฐานหลวงพ่อโตเป็นวิหารเทพ มีทางเข้าประตูมังกรสำหรับผู้ชาย ประตูเสือสำหรับผู้หญิง มีเทวรูปของเทพเจ้าและพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ให้ได้สักการะขอพร
วัดบางจาก นนทบุรี

8. วัดสักใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

          วัดสักใหญ่ วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมคลองสักใหญ่ ในอำเภอบางกรวย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2317 โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมกับบรรพบุรุษในถิ่นนี้จัดสร้างวัดสักขึ้น ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อสุโขทัย พระพุทธรูปตอนปลายสมัยพระมหาธรรมราชา ลักษณะสวยงามสมสัดส่วน มีพระพักตร์คล้ายสตรี ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย คนนิยมไปขอพรเรื่องการงานและค้าขาย นอกจากนี้ในอุโบสถยังประดิษฐาน หลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดให้ได้กราบไหว้กันด้วย

9. วัดสิงห์ ปทุมธานี

          วัดสิงห์ วัดโบราณที่ตั้งทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในอำเภอสามโคก สถานที่ประดิษฐาน พระพุทธรัตนมุนี พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย พระพุทธสิริมาแสน พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่สร้างจากศิลาทรายแดง พระพุทธรูปหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอก 3 นิ้ว สูง 5 ศอก สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา หลวงพ่อเพชร พระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นลงรักปิดทอง ชาวบ้านเชื่อกันว่าหากมาบนบานศาลกล่าวด้วยมะพร้าวน้ำหอมก็จะสมหวัง นอกจากนี้ยังมีโกศพญากรายของอดีตเจ้าอาวาสวัด และพระแท่นบรรทมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินมายังวัดนี้ ซึ่งทางวัดยังเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชมกันด้วย 
วัดสิงห์ ปทุมธานี

10. วัดโบสถ์ (หลวงปู่เทียน) จังหวัดปทุมธานี

          วัดโบสถ์ หรือที่เรียกกันว่า วัดโบสถ์ หลวงปู่เทียน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอเมืองปทุมธานี สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2164 ไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ใดสร้าง แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชาวรามัญที่อพยพมาจากหงสาวดี สถานที่ประดิษฐาน พระพุทธมหาจักรพรรดิ (หลวงพ่อสมปรารถนา) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ และรูปหล่อพระครูบวรธรรมกิจ (เทียน ปุปฺผธมฺโม) หรือ หลวงปู่เทียน พระเถราจารย์เชื้อสายรามัญผู้มีชื่อเสียง นอกจากนี้คนยังนิยมไปทำบุญดีดฐานโบสถ์ (ยกโบสถ์) เพื่อล้างอาถรรพ์ ทำให้ชะตาชีวิตดีขึ้น และเสริมสิริมงคล 
หลวงพ่อสมปรารถนา วัดโบสถ์

11. วัดสาขลา จังหวัดสมุทรปราการ

          ไหว้พระใกล้กรุงเทพฯ กันที่ วัดสาขลา (วัดสาขลาประชาอุทิศ) วัดโบราณในชุมชนบ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ สถานที่ประดิษฐาน หลวงพ่อโต พระพุทธรูปเก่าแก่ที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา พระปรางค์เอียง ปูชนียสถานที่เอนลงเนื่องจากแผ่นดินทรุดตัว และ พระสังกัจจายน์ มหาลาภ ปางยืนขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะอีกมากมาย
วัดสาขลา จังหวัดสมุทรปราการ

12. วัดอินทาราม จังหวัดสมุทรสงคราม

          วัดอินทาราม วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมคลองแควอ้อม อำเภออัมพวา สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 3 กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ ที่นี่เป็นสถานที่ประดิษฐาน หลวงพ่อโต (ซำปอกง) พระพุทธรูปปางมารวิชัย อายุกว่า 300 ปี ภายในพระอุโบสถหลังเก่า ผู้คนนิยมไปขอในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะขอบุตร หากสำเร็จมักนำไข่ต้มมาถวาย และ ท้าวเวสสุวรรณ ที่คนชอบไหว้ขอพรเรื่องโชคลาภ นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถหลังใหม่สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง และบริเวณท่าน้ำยังมีการจัดตลาดน้ำเล็ก ๆ ด้วย
หลวงพ่อโต วัดอินทาราม

ภาพจาก amnat30 / shutterstock.com

13. วัดบรมวงศ์อิศรวราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          วัดบรมวงศ์อิศรวราราม วัดโบราณตั้งอยู่กลางทุ่งนา ใกล้กับเพนียดคล้องช้าง สร้างมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ก่อนจะกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเห็นว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่เงียบสงัด สมควรเป็นที่จำพรรษาบำเพ็ญสมณธรรมของพระสงฆ์ สามเณร จึงได้ทรงเริ่มปฏิสังขรณ์ และแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2418 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และได้ถวายเป็นพระอารามหลวง โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร และพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดแห่งนี้ถึง 8 ครั้ง ภายในมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่น่าสนใจ คือ หลวงพ่อเพชร พระประธานในพระอุโบสถ และประวัติศาสตร์ของวัดกับรัชกาลที่ 5 ทั้งรูปหล่อ พระตำหนัก เป็นต้น  

14. วัดใหม่ชุมพล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          วัดใหม่ชุมพล วัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก อำเภอนครหลวง ห่างจากปราสาทนครหลวงเพียง 600 เมตร สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนกลาง-ปลาย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง บางคำบอกเล่ากล่าวว่า สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม คราวเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีทางเรือและทรงแวะพัก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้น ก่อนจะกลายเป็นวัดแห่งนี้ ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ ภายในมีสิ่งสำคัญคือ หลวงพ่อทรงธรรม (หลวงพ่อในตึก) พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะงดงาม ภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพุทธประวัติ ภาพจิตรกรรมดาวเพดานสมัยอยุธยา และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะอยุธยา เป็นต้น 

15. วัดเขาสนามแจง จังหวัดลพบุรี

          วัดเขาสนามแจง วัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ตั้งอยู่บนเขาในอำเภอบ้านหมี่ ห่างจากตัวเมืองลพบุรีประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นวัดสาขาของวัดหนองป่าพง (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) ที่นี่ต้องเดินขึ้นบันได 606 ขั้น เพื่อไปสักการะรอยพระพุทธบาทที่อยู่ภายในพระเจดีย์จักรีศรีวิวิลัย นอกจากนี้ยังมีปราสาทศิลปะเขมรและสรีรสังขารของ หลวงพ่อเกษม สันตจิตโต อดีตเจ้าอาวาส ผู้ริเริ่มบุกเบิกก่อสร้างวัดแห่งนี้ ให้ได้สักการะด้วย
พระเจดีย์จักรีศรีวิวิลัย วัดเขาสนามแจง

16. วัดสังกระต่าย จังหวัดอ่างทอง

          วัดสังกระต่าย วัดเก่าแก่ โบสถ์มีต้นไม้ปกคลุม ตั้งอยู่บริเวณถนนโพธิ์พระยา-ท่าเรือ ในตำบลศาลาแดง ห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 2 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อ 400 ปีมาแล้ว และถูกทิ้งร้างมาประมาณ 200 ปี นับแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ที่นี่ไม่มีพระสงฆ์จำวัด ชุมชนทำหน้าที่ดูแลและบริหารจัดการ โดยมี ทวดติ จันทนเสวี (มารดาพระหัสกาล) เป็นผู้สร้าง 
วัดสังกระต่าย อ่างทอง

          ปัจจุบันมีเพียงโบสถ์เก่าที่เหลือแค่ส่วนผนังของโบสถ์ มีต้นโพธิ์ 4 ต้นขึ้นปกคลุมแล้วยึดผนังโบสถ์เอาไว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ ได้แก่ หลวงพ่อแก่น พระประธาน, หลวงพ่อวันดี, หลวงพ่อศรี และหลวงพ่อสุข เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนของอ่างทองที่ไม่ควรพลาด 
พระพุทธรูป วัดสังกระต่าย

ภาพจาก amnat30 / shutterstock.com

17. วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร จังหวัดสิงห์บุรี

          วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่บนถนนสุพรรณบุรี-สิงห์บุรี ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี ไม่ไกลจากพุทธมณฑลจังหวัดสิงห์บุรี ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สถานที่แห่งนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีขนาดใหญ่ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสิงห์บุรี ความยาว  47 เมตร 42 เซนติเมตร มีพุทธลักษณะที่งดงามตามแบบสมัยสุโขทัย เป็นที่เคารพนับถือของชาวสิงห์บุรีและพื้นที่ใกล้เคียงที่นิยมมาขอพรในเรื่องต่าง ๆ เมื่อสมหวังมักนำบายศรี ไข่ต้ม หรือหัวหมู มาถวาย พระกาฬ พระพุทธรูปศิลาลงรักปิดทอง และ พระแก้ว พระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร ที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 
วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร

ภาพจาก kwanchai / shutterstock.com

18. วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

          วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ หมายถึง วัดที่ลุงของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง เป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2377 ตั้งอยู่ในตัวเมืองฉะเชิงเทรา บริเวณศูนย์ราชการ สิ่งที่น่าสนใจคือ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพรเสริมสิริมงคล ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัย ต้นจันอายุร้อยกว่าปี หอระฆังเก่าที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2478 พระอุโบสถหลังเก่าที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำบางปะกง และศาลกรมหลวงรักษ์รณเรศ ศาลเจ้าขนาดเล็กสร้างขึ้นตามศิลปะแบบจีน เป็นต้น

19. วัดแสนสุขวิสุทธิวราราม จังหวัดชลบุรี

          วัดแสนสุขวิสุทธิวราราม วัดสวยใกล้ชายหาดบางแสน อำเภอเมืองชลบุรี มีอายุกว่า 30 ปี เมื่อเดินทางเข้ามาภายในบริเวณวัด สิ่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจให้เข้าเยี่ยมชมนั่นคือ มหาเจดีย์เกตุแก้วจุฬามณีอาสนสุขมหาวิหาร ล้อมรอบทั้ง 4 ทิศ ด้วยพญานาค 7 เศียร ที่มีสีแตกต่างกันไป ภายในมีองค์พระประธานสีทองเด่นอร่าม ไม่เพียงเท่านี้โดยรอบบริเวณวัดยังมีประติมากรรมปูนปั้นแดนสวรรค์-เมืองนรก รวมถึงมีศาลาจตุรมุขประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นับเป็นอีกหนึ่งวัดชื่อดังที่ควรค่าแก่การมาเยี่ยมชม
วัดแสนสุขวิสุทธิวราราม จังหวัดชลบุรี

20. วัดพระพุทธไสยาสน์ จังหวัดเพชรบุรี

           วัดพระพุทธไสยาสน์ หรือ วัดพระนอน วัดเก่าแก่ของอำเภอเมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนถนนคีรีรัถยา ติดกับอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ ความยาว 21 วา 1 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว (ประมาณ 43 เมตร) องค์พระก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง ประดิษฐานบนแท่นสูงประมาณ 1 เมตร แต่เดิมสร้างไว้กลางแจ้ง ต่อมาได้สร้างหลังคาคลุมไว้ พร้อมทำผนังรอบองค์พระ 
วัดพระนอน เพชรบุรี

          นอกจากนี้ในวัดยังมีสิ่งน่าสนใจ เช่น วิหารพระพุทธฉาย ที่มีภาพเขียนฝาผนังสีฝุ่น เป็นภาพพระพุทธเจ้าพร้อมพระอัครสาวก โบสถ์มหาอุตม์ อายุ 200 กว่าปี และวิหารน้อย ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยา เป็นต้น 
พระพุทธฉาย วัดพระพุทธไสยาสน์

          นี่เป็น สถานที่ไหว้พระปีใหม่ ทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง เพียงไม่กี่แห่งที่เรานำมาฝากกัน หากยังไม่รู้ว่าปีใหม่เที่ยวไหนดี ก็เลือกสักที่แล้วปักหมุดไปสักการะขอพรเสริมสิริมงคลให้เป็นปีที่ดีกัน 
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ ไหว้พระ ที่เที่ยวปีใหม่ อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ขอบคุณข้อมูลจาก : thai.tourismthailand.orggo.ayutthaya.go.thnakhonloung.go.th
lopburi.orgsanamchaeng.go.th และ singburi.go.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไหว้พระปีใหม่ 2568 ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 20 วัด ในกรุงเทพฯ และใกล้เคียง อัปเดตล่าสุด 31 ตุลาคม 2567 เวลา 15:01:10 43,824 อ่าน
TOP
x close