x close

เรื่องน่ารู้พิศวงตานกฮูก พรรณไม้จิ๋วหายาก บนดอยหัวหมด ณ อุ้มผาง จังหวัดตาก

           พิศวงตานกฮูก หรือ พิศวงไทยทอง พรรณไม้หน้าตาน่ารัก ดูแปลกตา พาไปทำความรู้จักพรรณไม้ชนิดนี้กันที่ดอยหัวหมด เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก
          จากข่าวที่ปรากฏในโซเชียลต่าง ๆ เกี่ยวกับพิศวงตานกฮูก หรือ พิศวงไทยทอง จนทำให้ใครหลายคนฮือฮา ทั้งหน้าตาที่ดูน่ารัก มองไปมองมาคล้ายนกฮูก จนอยากทำความรู้จักมากกว่านี้ โดยพบเห็นที่ดอยหัวหมด เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักพรรณไม้ชนิดนี้ให้มากขึ้นกัน เป็นอีกหนึ่งสีสันสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวให้สนุกมากยิ่งขึ้น

พิศวงตานกฮูก พิศวงไทยทอง

พิศวงตานกฮูก

ทำความรู้จักและชื่อวิทยาศาสตร์ของพิศวงตานกฮูก

          พิศวงตานกฮูก หรือ พิศวงไทยทอง ถูกค้นพบโดย ดร.กนกอร​ ศรีม่วง นักวิจัยมหาวิทยาลัยพะเยา​ ซึ่งร่วมกับ​ นายสุชาติ​ จันทร์หอมหวล ช่างภาพอิสระ​ ต่อมา รองศาสตราจารย์​ ดร.สหัช จันทนาอรพินท์​ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา​ คณะวิทยาศาสตร์​ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร.สมราน​ สุดดี นักวิจัยกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ​ สัตว์ป่า​ และพันธุ์พืช ร่วมกันตีพิมพ์เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ลงในวารสาร Phytotaxa เล่มที่ 333(2) หน้า 287

          สำหรับคำระบุชนิด thaithongiana ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ รองศาสตราจารย์​ ดร.อบฉันท์ ไทยทอง อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ ซึ่งถือเป็นปูชนียบุคคลของวงการพรรณไม้ของไทย 

          ทั้งนี้ ดร.กนกอร ศรีม่วง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยา ผู้ค้นพบ ได้ให้ข้อมูลไว้เมื่อตอนค้นพบว่า ตอนแรกยังไม่ทราบว่าเป็นพืชชนิดใด จึงเก็บตัวอย่างและบันทึกภาพส่งให้รองศาสตราจารย์ ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตรวจสอบ จนกระทั่งทราบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของไทย พิศวงตานกฮูก ที่มีชื่อสามัญเรียกว่า พิศวงไทยทอง และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thismia thaithongiana ซึ่งพิศวงไทยทองนี้เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีด ซึ่งจะออกดอกในช่วงปลายฝนเท่านั้น

แหล่งพบพิศวงตานกฮูก

          เห็นพิศวงตานกฮูกน่ารัก ๆ แบบนี้ ใช่ว่าจะเป็นพรรณไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไป เพราะเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่ ดอยหัวหมด ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก ถ้าปีไหนฝนฟ้าอากาศดีจะพบได้เยอะ และจะขึ้นบริเวณต้นเป้งหรือพืชตระกูลปาล์ม เมื่อมองดี ๆ จะเห็นว่ามีลักษณะลำต้นตั้งตรง สูงน้อยกว่า 2 มิลลิเมตร เรียกได้ว่ามีขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีดเท่านั้นเอง

พิศวงตานกฮูก

พิศวงตานกฮูก เจอช่วงไหน

           หลายคนอาจจะเข้าใจว่า พิศวงตานกฮูก เป็นพรรณไม้ที่พบเจอได้ทุกช่วงเวลา แต่บอกไว้เลย ณ ตรงนี้ว่านักท่องเที่ยวจะได้เจอกับพิศวงตานกฮูกแค่ปีละครั้งเท่านั้น โดยจะพบระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน และหลังจากออกมาแล้วจะอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน สำหรับใครที่ตั้งใจอยากจะไปเจอจริง ๆ แนะนำว่าให้สอบถามกับทางเจ้าหน้าที่ดูก่อน เพราะบางปีก็มีขึ้นเป็นจำนวนมากบ้างน้อยบ้างต่างกันออกไป รวมถึงขนาดของพรรณไม้ที่มีขนาดเล็ก ถ้าเดินดุ่ม ๆ ไปดูเองอาจจะไม่ทันสังเกตเห็นเอาได้

การเดินทางไปชมพิศวงตานกฮูก

           สำหรับใครที่อยากเดินทางไปเที่ยวชมพิศวงตานกฮูกที่ดอยหัวหมด เดินทางจากตัวอำเภออุ้มผาง ใช้เส้นทางอำเภออุ้มผาง-บ้านปะหละทะ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 9 ฝั่งซ้ายมือจะเจอดอยหัวหมด เดินเท้าไปยังจุดที่ผาตั้ง ใช้เวลา 20-30 นาที ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ ๆ นอกจากจะได้ชมพิศวงตานกฮูกแล้ว ยังมีจุดชมวิว 360 องศา เพื่อชมทะเลหมอกเพลิน ๆ ที่กิโลเมตรที่ 9 กิโลเมตรที่ 10 และถนนนสายอำเภออุ้มผาง-บ้านปะหละทะ 

เที่ยวดอยหัวหมด

         นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาดอยหัวหมด อุ้มผาง เพื่อดูต้นพิศวงตานกฮูกแล้ว แนะนำว่าให้แวะมาเยี่ยมชมทะเลหมอก 360 องศา โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว บรรยากาศป่าจะสดชื่นมาก นอกจากจะมีต้นไม้เขียวขจีแล้ว ช่วงนี้ยังมีดอกเทียนป่าขึ้นตามซอกหินตลอดเส้นทาง สวยงามมากเป็นพิเศษ
พิศวงตานกฮูก

ภาพจาก : Kitsawet-Saethao / Shutterstock.com

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

           นักท่องเที่ยวที่สนใจอยากจะเดินทางมาเที่ยวชมพิศวงตานกฮูก สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายสุชาติ จันทร์หอมหวล โทรศัพท์ 081-8258238 หรือ (อาร์ม) ภาคภูมิ มินรินทร์ ประธานชมรมส่งเสริมการท่องท่องเที่ยวและอนุรักษ์ โทรศัพท์ 08-1972-7973

          พิศวงตานกฮูก จึงนับเป็นอีกหนึ่งความอันซีนของธรรมชาติพรรณไม้ไทย หากว่าใครมีโอกาสไปเที่ยวดอยหัวหมดช่วงนี้ ลองไปเยี่ยมชมกันได้ ^ ^
 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

แนะนำ ที่เที่ยวภูเขา ตาก ที่เที่ยวตาก อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องน่ารู้พิศวงตานกฮูก พรรณไม้จิ๋วหายาก บนดอยหัวหมด ณ อุ้มผาง จังหวัดตาก อัปเดตล่าสุด 31 สิงหาคม 2566 เวลา 11:57:29 22,787 อ่าน
TOP