x close

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชมสถาปัตยกรรมอันงดงาม

          เที่ยววัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร สักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ พร้อมขอพรท้าวเวสสุวรรณ และชมสถาปัตยกรรมที่งดงาม
          วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า วัดสุทัศน์ พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เพียงไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯ และประเทศไทย ว่ากันว่าในทางสถาปัตยกรรม วัดแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดที่มีการออกแบบได้สัดส่วนงดงามที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ คนนิยมมากราบไหว้นมัสการพระพุทธรูปสำคัญในวัด นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 ตั้งอยู่ด้วย เพราะถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาล วันนี้เราเลยจะพาเพื่อน ๆ ไปสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งนี้กันให้มากขึ้น

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ไหน

          วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า วัดสุทัศน์ ตั้งอยู่เลขที่ 146 ริมถนนตีทอง 1 ถนนบำรุงเมือง แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร หน้าวัดหันออกมาทางถนนอุณากรรณ โดยทางฝั่งด้านถนนบำรุงเมืองจะตรงข้ามกับ เสาชิงช้า เทวสถานสัญลักษณ์สำคัญของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังไม่มีเจดีย์เหมือนวัดอื่น ๆ เพราะมีสัตตมหาสถานเป็นอุเทสิกเจดีย์ (ต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา 7 ชนิด) แทนที่

ประวัติวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

          พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร 1 ใน 6 วัดที่เป็นพระอารามหลวงชั้นสูงสุดของไทย ทั้งยังเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาวัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของพระนคร พระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส มาจากชื่อสวรรค์ในพรหมโลก โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารหลวงขึ้นก่อน ความสูงเท่าวัดพนัญเชิงแห่งกรุงศรีอยุธยา และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ คือ พระพุทธศรีศากยมุนี จากวัดมหาธาตุ กลางกรุงสุโขทัย (ขณะนั้นเป็นวัดร้าง) มาประดิษฐานไว้ในวิหารหลวง ซึ่งการก่อสร้างดำเนินมาจนถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงแล้วเสร็จทั่วทั้งพระอาราม โดยมีการออกแบบวางผังวัดตามคติจักรวาล ในคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัย พระวิหารหลวงเปรียบประดุจเขาพระสุเมรุ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสุทัศนเทพธาราม อันมาจากชื่อ สุทัศนนคร เมืองของพระอินทร์ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บนยอดเขาพระสุเมรุ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงแปลงสร้อยนามเป็น วัดสุทัศนเทพวราราม

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

ภาพจาก : anutr tosirikul / Shutterstock.com

         ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 วัดสุทัศนเทพวรารามมีความสำคัญยิ่งในการปกครองคณะสงฆ์ ด้วยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) และต่อมายังเป็นที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ซึ่งพระสรีรางคารของพระองค์ได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ผ้าทิพย์ที่ฐานพระพุทธศรีศากยมุนี ในพระวิหารหลวง

สิ่งน่าสนใจในวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

           พระอุโบสถ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารขนาดใหญ่ก่ออิฐถือปูน กว้าง 22.60 เมตร ยาว 72.25 เมตร หน้ามุขกระสันกว้าง 14 เมตร ยาว 10.40 เมตร สร้างอยู่บนฐานไพทีชั้นที่ 2 มีเฉลียงรอบทั้ง 4 ด้าน วางตำแหน่งอยู่ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ถือเป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ผนังด้านในของพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธเจ้า รามเกียรติ์ และเรื่องสุทัศนนคร ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดเจดีย์ มีลักษณะแปลกตาและงดงามมาก รอบ ๆ พระอุโบสถมีซุ้มเสมา 8 ซุ้ม ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว เป็นใบเสมาคู่ซึ่งทำจากหินอ่อนสีเทา สลักเป็นภาพช้าง 3 เศียร งวงชูดอกบัวตูมเศียรละ 1 ดอก เบื้องบนมีดอกบัวบาน 3 ดอก บนกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีเกยอยู่ด้านละ 4 เกย ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับประทับโปรยทานแก่ประชาชนในงานพระราชพิธี เรียกว่า "เกยโปรยทาน"
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

           อีกทั้งยังมี จิตรกรรมที่บานประตูรูปครุฑยุดนาค บริเวณซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ (บานประตูด้านนอก) ซึ่งเป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 2 รวมถึงมีตุ๊กตาศิลาจีนและเครื่องศิลาต่าง ๆ ตั้งอยู่รอบ ๆ ภายในวัดด้วย
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

           พระวิหารหลวง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อประดิษฐาน พระศรีศากยมุนี ที่อัญเชิญมาจากพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยอยุธยาตอนต้น ขนาดกว้าง 23.84 เมตร ยาว 26.35 เมตร สร้างบนฐานไพทีชั้นที่ 2 ซึ่งก่ออิฐถือปูนมั่นคง ด้านหน้าและด้านหลังมีประตูเข้าสู่พระวิหารด้านละ 3 ประตู เป็นประตูสลักไม้ สร้างในรัชกาลที่ 2 กล่าวกันว่าบานประตูพระวิหารของวัดสุทัศน์ เป็นฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2 (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) นอกจากนี้ยังปรากฏภาพวาดบนเสาด้านข้างขององค์พระศรีศากยมุนี เป็นรูปเปรตตนหนึ่งนอนพาดกายอยู่ และมีพระสงฆ์กำลังยืนพิจารณาสังขาร หรือที่เรียกกันว่า เปรตวัดสุทัศน์ ซึ่งวาดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 3
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

ภาพจาก : dreamloveyou / Shutterstock.com

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

ภาพจาก : pikmy pom / Shutterstock.com

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

         พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือรัชกาลที่ 8 ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าของพระวิหารหลวง มีเรื่องเล่าว่า ครั้งที่พระองค์ทรงพระเยาว์และได้เสด็จฯ มายังวัดสุทัศน์ ได้ตรัสว่า เป็นวัดที่เงียบสงบ น่าอยู่ หลังเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารมาบรรจุที่ใต้ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี ในพระวิหารหลวง ซึ่งในวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี จะมีพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคต

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

ภาพจาก : Sirichai Rattanaphanakul / Shutterstock.com

สิ่งศักดิ์สิทธิ์วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

1. พระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต)
           ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารหลวง พระประธานของวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ได้ชะลอมาจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ สูง 4 วา มีพุทธลักษณะงดงาม ที่ใต้ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์ของพระศรีศากยมุนี บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 8 ส่วนด้านหลังมีแผ่นศิลาจำหลักสมัยทวารวดี สลักเรื่องพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่หาชมได้ยาก
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

ภาพจาก : Factory X / Shutterstock.com

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

ภาพจาก : Somluck Rungaree / Shutterstock.com

คาถาบูชาพระศรีศากยมุนี

     นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

     มะหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง ปูเรตวา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เม ชะยะมังคะลัง ชะยันโต โพธิยา มูเล สักยานัง นันทิวัฑฒะโน เอวัง อะหัง วิชะโย โหมิ ชะยัสสุ ชะยะมังคะเล อะปะราชิตะปัลลังเก สีเส ปะฐะวิโปกขะเร อะภิเสเก สัพพะพุทธานัง อัคคัปปัตโต ปะโมทะติ สุนักขัตตัง สุมังคะลัง สุปาภาตัง สุหุฏฐิตัง สุขะโณ สุมุหุตโต จะ สุยิฏฐัง พรัหมะจาริสุ ปะทักขิณัง กายะกัมมัง วาจากัมมัง ปะทักขิณัง ปะทักขิณัง มะโนกัมมัง ปะณิธี เต ปะทักขิณา ปะทักขิณานิ กัตวานะ ละภันตัตเถ ปะทักขิเณ ฯ

2. พระสุนทรีวาณี (ลอยองค์)
           ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารหลวง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตัก 18 นิ้ว ประทับนั่งบนดอกบัว ยกพระหัตถ์ขวาแสดงอาการกวัก เทพธิดาเปรียบเหมือนพระธรรม ดอกบัวเปรียบเหมือนพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า อาการกวักเปรียบเหมือนเชิญน้อมเข้ามาสู่ตน พระสุนทรีวาณี (ลอยองค์) ตั้งอยู่บนฐานหินอ่อน ที่ฐานจารึกคาถาพระสุนทรีวาณีเป็นอักษรขอม มีความเชื่อว่าผู้ใดได้สวดพระคาถาบูชาพระสุนทรีวาณี จะทำให้เกิดสติปัญญาอย่างหลักแหลม นำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

ภาพจาก : Keung / Shutterstock.com

คาถาพระสุนทรีวาณี

     นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
     มุนินทะ วะทะนัมพุชะ คัพภะสัมภะวะสุนทะรี
     ปาณีนัง สะระณัง วาณี มัยหัง ปีณะยะตัง มะนัง

3. พระพุทธตรีโลกเชษฐ์
           ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ หน้าตักกว้าง 3 วา 17 นิ้ว สูง 4 วา 18 นิ้ว หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทอง รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงจักร กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ หล่อขึ้น ณ โรงหล่อในพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุหลวงจากพระบรมมหาราชวังมาประดิษฐานภายในองค์พระพุทธรูปด้วย ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงถวายพระนามว่า พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พร้อมโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอสีติมหาสาวกจำนวน 80 องค์ นั่งพนมมือฟังพระบรมพุทโธวาทเบื้องพระพักตร์พระพุทธเจ้า
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

4. พระกริ่งใหญ่
          ประดิษฐานที่มุขด้านหลังพระอุโบสถ หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทอง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2534 โดยคณะศิษยานุศิษย์ในเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร รูปที่ 7 มีวัตถุประสงค์จัดสร้างเพื่อถวายสักการบูชาพระคุณในวาระที่เจ้าประคุณมีอายุวัฒนมงคลครบ 5 รอบ 60 ปี ขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ พระธรรมปิฎก จึงได้ถวายพระนามพระกริ่งใหญ่องค์นี้ว่า พระกริ่งธรรมปิฎก 60
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

คาถาบูชาพระกริ่งใหญ่

     นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
     กิง กัมมัง กุสะลัง ยันตัง สัมพุทธะปฏิมยิทัง
     ปูชะนัง มะมะ อัชเชวัง กุสะลัง เอวะ สาธุกํ
     พุทโธ โย สัพพะปาณีนัง สะระณัง เขมะมุตตะมัง
     ติโลกะนาถะสัมพุทธัง วันทามิ ตัง สิเรนะหัง
     นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง พุทโธ เม สะระณัง วะรัง
     อิมินา ปูชะเนเนวัง โหตุ เม ชะยะมังคะลัง ฯ

5. ท้าวเวสสุวรรณ
          พระเทวรูปท้าวเวสสุวรรณ หนึ่งในเทพศักดิ์สิทธิ์ในศาสตร์พยากรณ์เทวะมันตรา ประดิษฐานที่มุขด้านหลังพระอุโบสถ หล่อด้วยสัมฤทธิ์เคลือบสีเขียว ผู้คนนิยมไปไหว้ขอพรในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ หรือโชคลาภ
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

ภาพจาก : Chuchawan / Shutterstock.com

คาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณ

     จุดธูป 9 ดอก และถวายดอกกุหลาบสีแดง 9 ดอก
     นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
     เวสวะวัณโณ มะเหสักโข ยักขะราชา มะหิธิโก
     ตังปูชะนาวะเสเนวะ โส มัง รักขะตุ สัพพะทา
     อันตะราโย จะ นัสสันตุ ปาปัคคะโห จุปัททะโว
     วัฑฒะตัง โข มะมัง ลาโภ สะทา โสตถี ภะวันตุเม ฯ

คาถาอัญเชิญท้าวเวสสุวรรณ

     โย อุภันเต วิทิตวานะ มัชเฌ มันตา นะ ลิมปะติ
     ตัง พรูมิ มะหาปุริโส โสธะ สิพพะ นิมัจจะคา ฯ

คาถาหัวใจท้าวเวสสุวรรณ

     เวสสะภุสสะ

6. พระพุทธเสรฏฐมุนี (หลวงพ่อกลักฝิ่น)
           ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ ณ ศาลาการเปรียญ ด้านหน้าพระอุโบสถ ในยุคปราบฝิ่นปี พ.ศ. 2382 รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้นำกลักฝิ่นที่ทำจากทองแดง ทองเหลือง (กลัก คือ สิ่งที่ทําเป็นรูปคล้ายกระบอกสําหรับบรรจุสิ่งชิ้นเล็ก มีฝาสวมปาก) หล่อหลอมปิดทองเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 1 วา 1 ศอก 1 คืบ ต่อมารัชกาลที่ 4 พระราชทานนามว่า พระพุทธเสฏฐมุนี แปลว่า พระผู้ประเสริฐสุด หรืออีกความหมายว่า ผู้ติดสิ่งเสพติดทั้งหลาย สามารถกลับใจเป็นคนดีได้เสมอ ย่อมสว่างรุ่งเรืองเหมือนพระพุทธรูปที่ทรงสร้าง อันจะเป็นพลังแข็งแกร่งชนะจิตใจให้เหินห่างสิ่งเสพติดได้ ถือเป็นพระกลักฝิ่นที่มีเพียงองค์เดียวในโลก ปัจจุบันมีผู้ศรัทธามาสักการะเป็นจำนวนมาก ด้วยมีความเชื่อว่าสามารถขอถอนคำอธิษฐาน คำสัญญา คำสาบาน และแก้กรรมได้
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

ของไหว้ หลวงพ่อกลักฝิ่น ดังนี้

     ดอกบัว 5 ดอก
     เทียนขาว (เล่มเล็ม) จำนวน 5 เล่ม
     ธูป 5 ดอก
     เงิน 5 บาท

     หมายเหตุ : หากไม่ได้นำมาทางวัดมีบริการให้

คาถาบูชาพระกลักฝิ่น

     นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
     อิมัง มิฉา อธิฐานัง ปันจะทะธาราปิ
     ทุติยัมปิ อิมัง มิฉา อธิฐานัง ปันจะทะธาราปิ
     ตะติยัมปิ อิมัง มิฉา อธิฐานัง ปันจะทะธาราปิ

          ข้าพเจ้าขอถอนคำอธิษฐาน ถอนคำสาปแช่ง คำบนบานที่ข้าพเจ้าได้ตั้งขึ้นพร้อมด้วยกิเลส ด้วยตัณหา ด้วยอุปาทาน ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ ด้วยมานะ ด้วยมิจฉาทิฐิ เป็นไปเพื่อความพยายาม เพื่อเบียดเบียน สร้างเวรสร้างกรรม ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่ประกอบด้วยวินัย ไม่ประกอบด้วยกุศล ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ประกอบด้วยบารมี ที่ข้าพเจ้าได้อธิษฐานไว้ สาปแช่งไว้ สัญญาไว้ ในอดีตชาติก็ดี ปัจจุบันชาติก็ดี

          ลูกขออำนาจพระบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระรัตนตรัยและเทพพรหมทั้ง 16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน 14 ชั้นบาดาล แม่พระธรณี ได้โปรดเป็นสักขีพยาน ในการที่ลูกขอถอนคำอธิษฐานเหล่านั้น ถอนคำแช่ง ถอนคำสาป ถอนคำสาบาน ถอนคำสัญญา ร้อยหน พันหน ณ กาลบัดนี้เทอญ

          จากนั้นตั้งจิตและกล่าวว่า นะถอน โมถอน พุทธถอน ทาถอน ยะถอน นะคลอน โมคลอน พุทธคลอน ทาคลอน ยะคลอน ถอนด้วย นะโมพุทธายะ นะมามิยัง

          ทั้งนี้ หากจะขอขมา แก้กรรม หรือถอนคำสาบาน ทางวัดจะมีบทสวดแบบละเอียดให้ด้วย

7. พระพุทธรังสีมุทราภัย หรือ หลวงพ่อเหลือ
          ประดิษฐานอยู่ในศาลาสีลวัฑ ใกล้กับศาลาการเปรียญ เป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้นำกลักฝิ่นเหลือจากการหล่อพระพุทธรูปมาซ่อมพระพุทธรูปองค์นี้ที่ชำรุดอยู่ ต่อมารัชกาลที่ 4 ถวายพระนามว่า พระพุทธรังสีมุทราภัย
8. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
           ตำนานการสร้างพระกริ่งในไทย รูปหล่อประดิษฐานอยู่ในศาลาสีลวัฑ เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 6 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 สิริมพระชนมายุ 89 พรรษา
9. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
           ต้นแรกเป็นต้นที่ปลูกจากหน่อพระศรีมหาโพธิ์ อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา ซึ่งคณะสมณทูตสยามอัญเชิญมาถวายสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ต้นที่ 2 ปลูกจากหน่อพระศรีมหาโพธิ์ที่อัญเชิญมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย ใกล้ ๆ กันเป็นที่ตั้งของ สัตตมาสถาน การจำลองเหตุการณ์พระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุตติสุขหลังตรัสรู้ ธรรมวิเศษในสถานที่สำคัญ 7 แห่ง แห่งละ 7 วัน เป็นเวลา 7 สัปดาห์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่ไม่มีเจดีย์เหมือนวัดอื่น ๆ เพราะมีสัตตมหาสถานเป็นอุเทสิกเจดีย์ (เจดีย์ที่สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า) นั่นเอง
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เปิดกี่โมง

          วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เปิดทุกวัน ผู้สนใจสามารถร่วมกิจกรรมทำวัตรได้ ดังนี้

  • พระอุโบสถ เปิดเวลา 08.30-18.00 น. ทำวัตรเช้า 08.30 น. ทำวัตรเย็น 16.00 น.
  • พระวิหารหลวง เปิดเวลา 08.30-20.00 น. ทำวัตรกลางวัน 12.00 น. (เสาร์-อาทิตย์ 13.00 น.) ทำวัตรค่ำ 18.30 น.
  • ศาลาการเปรียญ เปิดเวลา 08.30-18.00 น.
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร จอดรถ

          สามารถจอดรถรอบพระอาราม ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. แต่ด้วยพื้นที่ที่ค่อนข้างมีจำกัดอาจจะหาที่จอดค่อนข้างยาก แนะนำว่าให้โดยสารขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ลงที่สถานีสามยอด ทางออกที่ 3 แล้วเดินต่อประมาณ 500-600 เมตร หรือรถประจำทาง จะสะดวกกว่า หรือใช้บริการสถานที่จอดรถบริเวณใกล้เคียง
          สำหรับ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ถือเป็นอีกหนึ่งพระอารามหลวงที่มีความสำคัญยิ่ง ทั้งยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ได้สักการะขอพรมากมาย หากมีโอกาสก็อยากเชิญชวนไปเยือนสักครั้ง

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ ไหว้พระ เที่ยวกรุงเทพฯ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชมสถาปัตยกรรมอันงดงาม อัปเดตล่าสุด 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14:27:56 67,387 อ่าน
TOP