ห้วยขาแข้ง ความงามสีเขียวมรดกโลก






ห้วยขาแข้ง ความงามสีเขียวมรดกโลก (ไทยโพสต์)


          หากนับจากกรุงเทพฯ ถึงอุทัยธานี ถือว่าไม่ไกล เลี้ยวซ้ายก่อนถึงนครสวรรค์อีกนิดเดียวเท่านั้น และหากจะไปวัดท่าซุง ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ก็ต้องชะลอรถสักหน่อย จากปากทางเข้าจังหวัดไม่มาก เพราะจะมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้ายไปทางนี้ ตลอด  2 ข้างทางมีแต่ความร่มรื่น ทั้งต้นไม้ ใบหญ้า และทุ่งนา ที่ช่วงนี้กำลังเขียวเป็นผืนเดียวกันทั้งหมด ถึงทางจะแคบไปนิด แต่ไปเรื่อย ๆ สักพักก็จะถึงวัดท่าซุง

          ด้วยความที่เนื้อที่ของวัดค่อนข้างกว้างใหญ่ จึงมีรถสามล้อเครื่องไว้บริการนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกลกับวัดท่าซุง ส่วนชื่อนั้น เพราะว่าสมัยที่มีการล่องซุงทางน้ำ แพซุงมักจะแวะที่หน้าวัด ซึ่งกลายเป็นชื่อเล่นของวัดแห่งนี้ ส่วนชื่อเดิมคือ วัดจันทาราม (ตั้งชื่อตามอดีตเจ้าอาวาสวัด) 

          วัดนี้สร้างในสมัยอยุธยา มีโบสถ์ขนาดเล็ก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือพื้นบ้าน เข้าใจว่าเขียนในสมัยหลัง เป็นเรื่องพุทธประวัติ บางภาพต่อเติมจนผิดส่วน มีศาลามณฑปแก้วที่สร้างขึ้นใหม่สวยงามเหมือนอยู่ในโลกจินตนาการ ล่องลอยอยู่ในสวรรค์ รวมทั้งมีท่าเรือคอนกรีตริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาทางน้ำ พร้อมการให้อาหารปลาจำนวนมาก

          วิหารมีพระปูนปั้นฝีมือพองาม มีลายไม้จำหลักขอบหน้าบันเหลืออยู่ 2-3 แห่ง สิ่งที่เป็นโบราณวัตถุของวัดคือ ธรรมาสน์ที่หลวงพ่อใหญ่สร้าง ด้านตรงข้ามกับวัด เป็นปูชนียสถานแห่งใหม่ มีบริเวณกว้างขวางมาก มีการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสร้างโดยพระราชมหาวีระ ถาวโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) พระเถระที่มีชื่อเสียง เป็นบริเวณพุทธาวาสที่น่าชมมาก
         
          พระอุโบสถใหม่สร้างสวยงาม ภายในประดับและตกแต่งอย่างวิจิตร บานหน้าต่างและประตูด้านในเขียนภาพเทวดาโดยจิตรกรฝีมือดี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงตัดลูกนิมิตพระอุโบสถแห่งนี้ บริเวณโดยรอบสร้างกำแพงแก้วและมีรูปหล่อหลวงพ่อปาน และหลวงพ่อใหญ่ ขนาด 3 เท่า อยู่มุมกำแพงด้านหน้า ยังมีศาลาอยู่หลายหลังสำหรับใช้เป็นสถานที่ฝึกสมาธิและมีที่พักให้ด้วย

          หลังจากนั้นก็เดินทางต่อไปที่หมายของเราคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เริ่มต้นที่ตัวจังหวัด ผ่านอำเภอหนองฉางและอำเภอลานสัก ถึงหลักกิโลเมตรที่ 53 มีทางแยกทางซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 15 กิโลเมตร กรมป่าไม้ได้เข้าไปจัดการให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 แต่ในเวลานั้นทางราชการไม่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2515 เมื่อนโยบายทางราชการเปลี่ยนแปลงไป จึงได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังด้วยการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าห้วยขาแข้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมาย โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 201 ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2515 สืบเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และสัตว์ป่า จนเป็นที่ยอมรับของนักวิจัยชาวไทยและชาวต่างประเทศว่าเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ มีความหลากหลายของพันธุ์สัตว์และพรรณพืช ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2534 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งรวมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมรดกโลก ในการประชุมครั้งที่ 15 ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย

          ป่าห้วยขาแข้งเป็นป่าผืนใหญ่ที่มีเนื้อที่กว้างขวาง มีอาณาเขตบริเวณติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่เชื่อมโยงไปถึงประเทศพม่า สัตว์ป่าสามารถหลบหลีกไปถึงกันได้ จึงมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม รวมทั้งบางชนิดที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ ได้แก่ วัวแดง กวาง ควายป่า ช้างป่า กระทิง เก้ง หมูป่า ลิง ชะนี ค่าง สมเสร็จ เสือชนิดต่าง ๆ นกยูง ไก่ฟ้า ไก่ป่า นกหัวขวาน และนกชนิดอื่น ๆ อยู่กระจัดกระจายทั่วไป ซึ่งสามารถเห็นตัวและพบร่องรอยอยู่เสมอ

          - ลำห้วยขาแข้ง ได้ชื่อว่าเป็นลำน้ำที่มีความสวยงามตามธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นลำน้ำสายใหญ่ ให้น้ำตลอดปี นอกจากจะมีน้ำที่ใสแล้ว บางตอนยังเกิดหาดทรายที่ขาวสะอาดทอดไปตามริมลำห้วย มีปลาชุกชุมมาก รวมทั้งสัตว์ป่าและสัตว์ปีกที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ตอนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือบริเวณสบห้วยไอ้เยาะไหลลงห้วยขาแข้ง น้ำตกโจน เป็นน้ำตกที่มีน้ำตลอดปี เป็นส่วนหนึ่งของลำห้วยทับเสลาไหลผ่านช่องเขาแคบ ๆ และเปลี่ยนระดับฉับพลัน ก่อให้เกิดน้ำตกมีความสูงประมาณ 50 เมตร

          - วงตีไก่ เป็นปรากฏการณ์ประหลาดของธรรมชาติที่เกิดขึ้น มีก้อนหินขนาดต่าง ๆ วางเรียงกันเป็นวง ๆ หลายวง มีชื่อทางเข้าคล้ายประตู 4 ด้าน โป่งนายสอ ตั้งชื่อตามชื่อพรานป่าซึ่งเสียชีวิตเพราะถูกแรดทำร้าย อยู่ทางฝั่งขวาของลำห้วยขาแข้ง ตอนกลางของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีน้ำซับตลอดปี จึงมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก

          - โป่งพุน้ำร้อน เป็นโป่งใหญ่อยู่ทางตอนเหนือทางฝั่งซ้ายของลำห้วยขาแข้ง มีบ่อน้ำพุร้อนอยู่ใกล้ ๆ สัตว์ป่า โดยเฉพาะกระทิง วัวแดง และกวาง มีชุกชุมมาก นอกจากนี้ยังมีโป่งต่าง ๆ ซึ่งมีชื่อเสียงมากอีกหลายโป่ง เช่น โป่งแสนโต๊ะ โป่งตะคร้อ โป่งหญิง โป่งเจียว โป่งสมอ เป็นต้น

          นอกจากอิ่มเอมกับธรรมชาติที่สมบูรณ์ อีกที่หนึ่งที่ต้องไปคือ อนุสรณ์สถานสืบ นาคะเสถียร เรามีโอกาสร่วมรำลึกการจากไปของเขา และเป็นสถานที่สานต่อความคิดเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า โดยสร้างขึ้นในบริเวณเดียวกันกับที่สืบ นาคะเสถียร เคยอาศัย ดำรงชีวิตและทำงาน ข้างในอนุสรณ์จะเป็นอาคารอเนกประสงค์ที่ใช้จัดกิจกรรมประชุม สัมมนา บรรยาย ฉายวีดิทัศน์ ภายในจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติ ชีวิต ผลงาน และแนวคิดด้านการอนุรักษ์ของสืบ นาคะเสถียร ด้านหลังอาคารเป็นห้องบรรยายและฉายวีดิทัศน์ อนุสาวรีย์สืบ นาคะเสถียร ที่สะท้อนบุคลิกการเป็นนักวิชาการด้านสัตว์ป่า ที่ชอบแบกเป้เดินป่า เก็บข้อมูลสัตว์ป่า วาดภาพ ถ่ายรูป บ้านสืบ นาคะเสถียร ที่เป็นทั้งที่พักอาศัยและที่ทำงาน เมื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งยังคงรักษาสภาพเดิม จัดแสดงของใช้ส่วนตัวและอุปกรณ์ในการทำงานเหมือนครั้งที่สืบ นาคะเสถียร ยังมีชีวิตอยู่

          ส่วนตำนานของสืบ นาคะเสถียร ในการสร้างคุณความดี ทุกคนทราบดีไม่ต้องเล่า ฉะนั้นสิ่งที่เราจะช่วยได้นับจากวันนั้นและจากนี้ต่อไป คือการสืบทอดเจตนารมณ์การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า ของเขา เอาไว้ให้อยู่ตราบนานเท่านาน ที่สำคัญยังสอดคล้องกับแนวคิดการท่องเที่ยวยุคใหม่ "7 Green Concept" ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อีกด้วย








ขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ห้วยขาแข้ง ความงามสีเขียวมรดกโลก อัปเดตล่าสุด 1 กันยายน 2563 เวลา 17:39:40 2,969 อ่าน
TOP
x close