ตะลอนทัวร์อิ่มบุญ อิ่มอร่อย ช้อปคุ้ม พร้อมเสริมสิริมงคลรับปีใหม่ ไปกับขบวนรถ KIHA 183 ฉบับ One Day Trip เที่ยวฉะเชิงเทรา

          พานั่งรถไฟญี่ปุ่นเที่ยวชิล ๆ กับทริปอิ่มบุญ อิ่มอร่อย ช้อปคุ้ม One Day Trip เส้นทางกรุงเทพ - ฉะเชิงเทรา ไปกับขบวนรถ KIHA 183 พร้อมลิ้มรสเบนโตะอาหารไทยสไตล์ญี่ปุ่นที่รวมความพรีเมียมเอาไว้เพียบ แถมยังได้ทั้งไหว้พระขอพรสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เดินตลาดเก่าแก่ ซื้อของฝากหลากหลายกันแบบจุใจ 
          ปู๊น ๆ ๆ เสียงรถไฟขบวนรถ KIHA 183 ส่งสัญญาณความพร้อมในการเคลื่อนตัวออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อมุ่งหน้าไปเยือนสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทรา กับทริป “อิ่มบุญ อิ่มอร่อย ช้อปคุ้ม เสริมสิริมงคลรับปีใหม่ One Day Trip กรุงเทพฯ - ฉะเชิงเทรา” ที่จัดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รอบพิเศษ 2 เที่ยว ในวันที่ 24 และ 25 ธันวาคม 2565 ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา (Chachoengsao Development Foundation - CDF) พร้อมด้วยสมาชิกและภาคเครื่อข่ายของมูลนิธิฯ ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา วิทยาลัยอาชีวฉะเชิงเทรา และมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ ระหว่างการรถไฟฯ กับจังหวัด รวมถึงหน่วยงานราชการ และผู้ประกอบการในพื้นที่ ทั้งยังอำนวยความสะดวกเรื่องต่าง ๆ เพื่อร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และเสริมสิริมงคลรับปีใหม่ 2566 ที่สำคัญยังเป็นครั้งแรกในการนำขบวนรถ KIHA 183 มาใช้เป็นรถไฟนำเที่ยว ซึ่งเราก็ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับขบวนพิเศษนี้ด้วย มาดูกันว่าจากที่เคยวิ่งให้บริการในเมืองที่ปกคลุมไปด้วยหิมะอย่างฮอกไกโด (Hokkaido) วันนี้มาให้บริการท่องเที่ยวกับผู้โดยสารในประเทศไทย บรรยากาศจะสนุกสนานขนาดไหน ไปชมกันเลย
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ทำความรู้จักกับขบวนรถ KIHA 183 กันก่อน

          KIHA 183 ขบวนรถไฟจากประเทศญี่ปุ่นที่มอบให้กับประเทศไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้นำมาปรับปรุงตกแต่งใหม่ เพื่อใช้รองรับเป็นขบวนรถท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ซึ่งการรถไฟฯ ได้รับมอบรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 จากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 17 คัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีการรับมอบเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศแบบมีห้องขับสูง 40 ที่นั่ง 8 คัน แบบไม่มีห้องขับ 68 ที่นั่ง 8 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับต่ำ 52 ที่นั่ง 1 คัน เพื่อดัดแปลงเป็นตู้รถไฟสำหรับให้บริการประชาชนและส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยยังคงกลิ่นอายแบบญี่ปุ่น

          การรถไฟฯ ได้ปรับปรุงขบวนรถโดยที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของรถไฟ KIHA 183 ดังนั้นในการขัดทำสีใหม่จึงยังคงเลือกใช้สีเดิม คือ สีขาว-ม่วง ตัดด้วยแถบสีเขียว เพิ่มสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ด้วยตัวอักษร STR ย่อมาจาก State Railway of Thailand ที่นั่งจะเป็นลักษณะแถวคู่ 2-2 หมุนได้ 360 องศา ทำให้สามารถปรับแถวเป็นกลุ่มนั่ง 4 คนได้ เบาะเป็นหนังกำมะหยี่ มีถาดวางอาหารด้านหลังเบาะสำหรับผู้โดยสารที่นั่งด้านหลัง ซึ่งการรถไฟฯ มีความเชื่อมั่นว่าการรับมอบขบวนรถดีเซลจาก JR Hokkaido จะมีความคุ้มค่า สามารถนำรถทั้งหมดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ทั้งยังอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน การส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศ สามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และเสริมศักยภาพการขนส่งทางราง ตลอดจนช่วยเพิ่มรายได้แก่การรถไฟฯ อีกทางหนึ่งด้วย
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ทริปอิ่มบุญ อิ่มอร่อย ช้อปคุ้ม เสริมสิริมงคลรับปีใหม่ ไปกับขบวนรถ KIHA 183 แบบไปเช้า-เย็นกลับฉะเชิงเทรา

          สำหรับ ทริปอิ่มบุญ อิ่มอร่อย ช้อปคุ้ม เริ่มต้นวันกันตั้งแต่เช้าตรู่ ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ บรรยากาศคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตา ทั้งยืนต่อคิวลงทะเบียน หรือจับกลุ่มถ่ายรูปคู่กับป้ายต้อนรับเป็นที่ระลึก เวลาประมาณ 07.20 น. ขบวนรถ KIHA 183 เข้าเทียบชานชาลา เจ้าหน้าที่ประกาศให้นักท่องเที่ยวทยอยขึ้น ซึ่งทันทีที่ประตูตู้รถไฟเปิดก็สัมผัสได้ถึงไอความเย็นจากเครื่องปรับอากาศภายในห้องโดยสาร ภาพตรงหน้าคือที่นั่งเบาะกำมะหยี่นุ่ม ๆ ตั้งเรียงรายอยู่จำนวนมาก ตัวเบาะสามารถปรับหมุนได้ 360 องศา และปรับเอนได้ในระดับเหมาะสม ไฟส่องสว่างเป็นโทนอุ่นให้ความรู้สึกนุ่มนวล ชวนผ่อนคลาย ด้านบนที่นั่งมีชั้นวางสัมภาระให้ ป้ายโปสเตอร์ ป้ายข้อมูลต่าง ๆ บางจุดยังเป็นภาษาญี่ปุ่น ทำให้ได้กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นเบา ๆ พอนาฬิกาบอกเวลา 07.40 น. ขบวนรถ KIHA 183 ก็ค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากสถานีต้นทาง ปลายทางอยู่ที่สถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทรา
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          สิ่งที่ทำให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจอีกอย่างคือ ประตูห้องโดยสารเป็นระบบอัตโนมัติ เพียงแค่ใช้เท้าวางในตำแหน่งที่กำหนดก็จะเปิดออกทันที เพราะคอนเซ็ปต์ในการคิดคือคนเดินทางต้องมีสัมภาระ มีของเยอะ จะไม่สะดวกในการจับเพื่อเปิดประตู จึงคิดค้นกลไกการเปิดประตูให้อยู่ใต้แผ่นที่เป็นรูปรองเท้า เมื่อไหร่ที่เดินเข้าไปเหยียบประตูจะถูกเปิดอัตโนมัติ รวมถึงห้องน้ำจะมีไฟแสดงสถานะว่างหรือมีคนใช้ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินไปต่อคิวให้ยุ่งยาก และนี่คือความพิเศษที่อยู่ภายในขบวนรถ KIHA 183
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ชุดเบนโตะอาหารไทยสไตล์ญี่ปุ่น รวมของดีเมืองแปดริ้ว

          นั่งมองวิวสองข้างทางไปสักพักก็มีเจ้าหน้าที่นำอาหารเช้าสไตล์ญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันว่า “เบนโตะ” มาให้ ข้างในมีทั้งอาหารคาวหวานที่สะท้อนเอกลักษณ์ของฉะเชิงเทราได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่คอยหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบชั้นดี ไม่ว่าจะเป็นปลากะพงขาว, ปลาช่อน หรือปูทะเล เป็นต้น รวมถึงพืชผลการเกษตรต่าง ๆ อันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นเมนูอาหารที่ถูกรังสรรค์นำมาอยู่ในเบนโตะกล่องนี้ มีเมนูปลากะพงซอสกะเพรา ห่อหมกปลาช่อนและกุ้ง ไข่คั่วพริกเกลือเนื้อปู หมี่กรอบทรงเครื่อง ข้าวกล้องผสมไรซ์เบอร์รี และของหวานอย่างทาร์ตไส้มะม่วง ผลไม้เศรษฐกิจของจังหวัด
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับเบนโตะอยู่นั้น คุณแฮม วันวิสข์ เนียมปาน เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ กองการต่างประเทศ การรถไฟแห่งประเทศไทย พ่วงตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้รถไฟไทยปี 2016 ก็เดินมาเล่าถึงเส้นทางการเดินทางของเจ้า KIHA 183 จากประเทศญี่ปุ่นสู่ประเทศไทย ให้ฟังด้วยว่า KIHA หมายถึง รถดีเซลรางชั้นมาตรฐาน โดย 183 คือเลขซีรีส์ 219 คือรันนิ่งนัมเบอร์ของซีรีส์นั้น ในขบวนนี้จะมีด้วยกันทั้งหมด 2 รุ่น คือ 183 กับ 182 โดย 183 จะเป็นรถที่มีห้องขับ ส่วน 182 จะเป็นรถที่ไม่มีห้องขับ เอกลักษณ์ของรถไฟญี่ปุ่น คือ รถรุ่นเก่าจะมีห้องขับที่อยู่สูงมาก เนื่องจากทัศนวิสัยของประเทศญี่ปุ่นมีความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้คนขับไม่สามารถมองเส้นทางได้ชัดเจนถ้าห้องขับอยู่ในระดับต่ำ KIHA 183 ก็เช่นกัน มีมุมมองที่สูงมาก และมี 2 สิ่งไฮไลต์ที่บ่งบอกถึงความเป็น KIHA 183 คือ ตราสัญลักษณ์เหมือนปีกนก รูปสามเหลี่ยมสีทอง ติดอยู่ด้านหน้ารถใต้หน้าต่าง ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของรถไฟที่ถูกผลิตในยุคของการรถไฟแห่งชาติญี่ปุ่น (Japanese National Railways) ก่อนที่จะแยกออกมาเป็น JR สายต่าง ๆ ซึ่งหลัง ๆ จะไม่มีตรานี้ติดอยู่แล้ว

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          “ขบวนรถ KIHA 183 ทำไมระหกระเหินมาอยู่ที่ประเทศไทยได้ สืบเนื่องจากขบวนรถไฟที่นำเที่ยวไม่อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยว อาจทำให้ไม่ได้รับความสะดวกสบายจากการพักผ่อนอย่างเต็มที่ การรถไฟฯ จึงเล็งเห็นว่าควรจะต้องมีรถไฟนำเที่ยวที่เป็นชุดเฉพาะ จนกระทั่ง Hokkaido Railway กำลังจะปลดระวาง จึงสอบถามมายังประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีงามว่าอยากดูแลต่อไหม การรถไฟฯ จึงรับ KIHA 183 ตัวนี้มาเพื่อที่จะมีภารกิจในการใช้เป็นขบวนรถไฟนำเที่ยวต่อไป” คุณแฮม กล่าวถึงเรื่องราวของขบวนรถ KIHA 183
          ฟังบรรยายพร้อมกินข้าวกล่องเบนโตะไปเพลิน ๆ เสียงตามสายก็ประกาศว่าใกล้ถึงจุดหมายแรกของเราแล้ว นั่นก็คือ จุดชมวิว กม.ที่ 64/11 สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ระหว่างที่หยุดรถแปดริ้ว - สถานีดอนสีนนท์ มีความยาวของสะพานรวม 1,743.20 เมตร เป็นสะพานรถไฟทางคู่ข้ามแม่น้ำทอดผ่านเป็นแนวโค้งที่สวยงาม โดยเฉพาะ กม.ที่ 64/11 ถือเป็นจุดถ่ายภาพที่สวยงาม สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองฉะเชิงเทราได้สุดสายตา เราใช้เวลาดื่มด่ำกับบรรยากาศรอบ ๆ ประมาณ 20 นาที ก็ย้อนกลับไปสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา เพื่อนั่งรถโค้ชปรับอากาศไปทำบุญไหว้พระกัน ณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟประมาณ 4 กิโลเมตร
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          วัดโสธรวรารามวรวิหาร หรือที่มักเรียกกันว่า วัดหลวงพ่อโสธร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมแม่น้ำบางปะกง เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สถานที่ประดิษฐาน หลวงพ่อโสธร พระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของไทย ที่ผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางไปกราบไหว้ขอพรในเรื่องต่าง ๆ ทั้งหน้าที่การงาน การเงิน สุขภาพ โชคลาภ หรืออยากเสริมดวงให้ปัง โดยมักมาบนบานศาลกล่าว หากสัมฤทธิผลตามใจหวังจะนำไข่ต้มไปแก้บน ซึ่งคณะเราได้รับโอกาสอันดี เนื่องจาก พระราชภาวนาพิธาน เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร และเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ให้ศีลและกล่าวสัมโมทนียกถาให้พรเนื่องในวันปีใหม่ พร้อมมอบปฏิทินปี 2566 และเหรียญหลวงพ่อโสธร เพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          ออกจากวัดโสธรวรารามวรวิหารก็ขึ้นรถต่อเพื่อเดินทางไปยัง ตลาดน้ำบางคล้า จุดขึ้นเรือล่องรอบเกาะลัด เกาะน้ำจืดที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำบางปะกง ชมธรรมชาติ วิถีชีวิต บรรยากาศสองฟากฝั่ง สายลมเย็น ๆ ฟังไกด์ท้องถิ่นมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่เรือแล่นผ่าน ไม่ว่าจะเป็น วัดโพธิ์บางคล้า วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดคือ ชมฝูงค้างคาวแม่ไก่สีดำขนาดใหญ่เกาะอยู่ตามต้นไม้นับแสนตัว
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          อนุสรณ์สถานพระสถูปเจดีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำโจ้โล้ โดยพระเจ้าตากสินรบชนะพม่า จึงทรงสร้างพระสถูปเจดีย์ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ ใกล้ ๆ กันเป็นที่ตั้งของ วัดปากน้ำโจ้โล้ ซึ่งมองเห็นมาแต่ไกล เพราะสะดุดตากับพระอุโบสถทาสีทองทั้งหลัง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ครั้งเมื่อพระเจ้าตากสินนำทัพผ่านเพื่อไปตีเมืองจันทบุรี จากนั้นเรือได้แล่นผ่าน วัดพุทธพรหมยาน เพื่อให้ได้ชมสถาปัตยกรรมรูปทรงเรือสีขาว ประดับด้วยกระจกแก้ววิบวับที่กำลังก่อสร้างอยู่ ก่อนจะค่อย ๆ เลาะเลี้ยวตามสายน้ำเพื่อไปยัง อุทยานพระพิฆเนศ สถานที่ประดิษฐานพระพิฆเนศองค์ยืน เนื้อสำริด ความสูง 39 เซนติเมตร ประติมากรรมที่โดดเด่นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ท่ามกลางธรรมชาติของสวนเกษตรแห่งอำเภอคลองเขื่อน พระหัตถ์ทั้งสี่ถือกล้วย อ้อย มะม่วง ขนุน ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          เรือเทียบท่าบริเวณอุทยานพระพิฆเนศ เพื่อให้เราได้สักการะ พร้อมกับเปลี่ยนยานพาหนะกลับมาใช้บริการรถโค้ชปรับอากาศอีกครั้ง และมุ่งหน้าไปรับประทานอาหารกลางวันที่ ร้านเดอะริเวอร์บาร์น (The River Barn) ร้านอาหารติดแม่น้ำบางปะกงและสะพานรถไฟ บรรยากาศสบาย ๆ ตกแต่งในสไตล์โรงนา มีมุมถ่ายรูปสวย ๆ อยู่พอสมควร อาหารหลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นปลาหมึกผัดไข่เค็ม ต้มยำปลากะพง แกงส้มกุ้งยอดมะพร้าว ปลากะพงทอดน้ำปลา และไข่เจียวฟู ๆ เป็นต้น
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          อิ่มท้องแล้วก็ไปเดินเที่ยว ตลาดบ้านใหม่ ตลาดโบราณอายุกว่า 100 ปี ที่ตั้งอยู่ติด ๆ กันต่อ แถมยังสามารถเดินทะลุตลาดไปยังวัดจีนประชาสโมสรได้อีกด้วย สำหรับตลาดแห่งนี้เป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ริมแม่น้ำมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่ออดีตคับคั่งด้วยผู้คนที่มาประกอบอาชีพค้าขาย รวมทั้งเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนที่กาลเวลาจะแปรเปลี่ยนเหลือไว้แต่วิถีชีวิตของชุมชนและกลิ่นอายของอดีตบ้านเรือนไม้หลังเก่า พร้อมกับเป็นแหล่งรวมของดีเด็ดเมืองแปดริ้ว ทั้งอาหาร ขนม ของขบเคี้ยว เครื่อมดื่ม ผัก-ผลไม้นานาชนิด และของฝากที่ต้องแวะซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          เดินชมบรรยากาศเรื่อย ๆ จนถึงท้ายตลาด ชาวคณะก็ข้ามถนนศุภกิจไปยัง วัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) วัดจีนในพุทธศาสนามหายาน ที่มีอายุกว่า 100 ปี ผู้คนเรียกว่า วัดมังกรวาสนา หรือ วัดมังกรแห่งโชค เพราะเป็น 1 ใน 3 วัดที่ประกอบขึ้นเป็นตัวมังกร ซึ่งหัวมังกรอยู่ที่วัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพมหานคร ท้องมังกรอยู่ที่วัดแห่งนี้ และหางมังกรอยู่ที่วัดเล่งฮัวยี่ จังหวัดจันทบุรี โดยเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี เพื่อทรงเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพ - ฉะเชิงเทรา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า วัดจีนประชาสโมสร ทันทีที่เดินเข้าไปด้านในจะพบสถาปัตยกรรมตามแบบจีนที่งดงาม เช่น ท้าวจตุโลกบาลขนาดใหญ่ 4 องค์ พระประธาน 3 องค์ และองค์ 18 อรหันต์ ที่ทำจากกระดาษ รูปหล่อไฉ่ซิงเอี้ย ระฆังใบใหญ่น้ำหนักกว่า 1 ตัน วิหารบูรพาจารย์ วิหารเจ้าแม่กวนอิม วิหารตี่จั่งอ๊วง สระนทีสวรรค์และพญามังกร และเจ้าแม่กวนอิมแกะสลักจากรากไม้ทั้งต้น อายุประมาณ 100 ปี เป็นต้น บรรยากาศด้านในอบอวลไปด้วยควันธูปที่ลอยฟุ้งไม่จางหาย เสียงตีระฆังก้องกังวาน ผู้คนเดินบ้าง ยืนไหว้ขอพรกันบ้าง บ่งบอกถึงความศักดิ์สิทธิ์ได้ไม่ยาก
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          ไหว้พระขอพรกันเรียบร้อยก็เดินทางต่อไปที่ วัดสมานรัตนาราม เพื่อสักการะองค์พระพิฆเนศปางนอนเสวยสุของค์ใหญ่ เนื้อองค์เป็นสีชมพู ความสูง 16 เมตร ความยาว 22 เมตร ความหมายของปางนี้คือ ความสุขสบาย บริบูรณ์มั่งคั่ง พร้อมทุกด้าน ไร้ทุกข์ ไร้โศก ทั้งยังขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดมาขอพรมักจะสุขสมหวังได้ดังใจปรารถนา นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ให้กราบไหว้ เช่น หลวงพ่อโต พระประธานในพระอุโบสถ พระโพธิสัตว์กวนอิม ปางประทานบุตร ท้าวมหาพรหม พระราหู และองค์ท้าวเวสสุวรรณ เป็นต้น พร้อมกันนี้คณะเรายังได้รับพรปีใหม่จาก พระประชาธรรมนาถ (ไพรัตน์ ปญฺญาธโร) เจ้าอาวาสวัดสมานรัตนาราม เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา (ธรรมยุต) และยังได้มอบผ้ายันต์ท้าวเวสสุวรรณ และปฏิทินปี 2566 ให้นำกลับบ้านกันด้วย
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          ปิดทริปด้วยการไปละลายทรัพย์กันที่ตลาดภายในวัด ซึ่งมีชาวบ้านนำสินค้าพื้นเมืองมาจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ อาหารสด อาหารแห้ง ขนมไทย ต้นไม้ รวมถึงเสื้อผ้าและของจิปาถะอื่น ๆ ในราคาย่อมเยา เลือกซื้อติดไม้ติดมือกันได้ตามใจชอบ
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          จากนั้นถึงเวลาอันสมควร แดดร่มลมตก พวกเราก็นั่งรถไปสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทรา เพื่อขึ้นขบวนรถ KIHA 183 เดินทางกลับ ซึ่งระหว่างทางรถจะจอดตามสถานีใหญ่ ๆ ใครสะดวกลงสถานีไหนให้แจ้งเจ้าหน้าที่ไว้ได้เลย เรียกว่าสะดวกสบายมาก และเมื่อนาฬิกาบอกเวลา 19.30 น. รถไฟก็เข้าเทียบท่าสถานีรถไฟกรุงเทพ ถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

          เรียกว่าเป็นโปรแกรม One Day Trip นั่งรถไฟเที่ยวที่ครบเครื่องสุด ๆ มีทั้งไหว้พระ ล่องเรือชมธรรมชาติ และช้อปปิ้งของกินตลาดเก่าแก่ ใครยังคิดทริปที่เที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ไม่ออก สามารถสอบถามข้อมูลโปรแกรมท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 และอย่าลืมกดติดตามเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย เอาไว้ จะได้ไม่พลาดข่าวสารและทริปท่องเที่ยวดี ๆ ที่จัดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนทริปนั่งรถไฟญี่ปุ่นจะไปเยือนที่ไหนอีกนั้น รอติดตามกันได้เลย ... แต่แว่ว ๆ ว่าจะเพิ่มทริปอิ่มบุญเสริมสิริมงคลปีเถาะกันในวันที่ 14-15 มกราคม 2566 สนใจรอติดตามกันนะจ๊ะ ...
ขบวนรถ KIHA 183 เที่ยวฉะเชิงเทรา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตะลอนทัวร์อิ่มบุญ อิ่มอร่อย ช้อปคุ้ม พร้อมเสริมสิริมงคลรับปีใหม่ ไปกับขบวนรถ KIHA 183 ฉบับ One Day Trip เที่ยวฉะเชิงเทรา อัปเดตล่าสุด 13 พฤศจิกายน 2566 เวลา 16:31:40 29,775 อ่าน
TOP