เกร็ดความรู้ก่อนไปนมัสการหลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง อันเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของประชาชนทั่วทุกสารทิศ
เมื่อพูดถึง "วัดโสธรวรารามวรวิหาร"
แน่นอนว่าทุกคนจะต้องนึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ "หลวงพ่อโสธร" พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทั้งยังเป็นศูนย์รวมความศรัทธาอันล้นหลามจากประชาชนทั่วทุกสารทิศ
หลายคนน่าจะเคยมีโอกาสไปวัดหลวงพ่อโสธรกันมาบ้างแล้ว
วันนี้เราจะมาแนะนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสำหรับคนที่ยังไม่เคยไปไหว้หลวงพ่อโสธรมาฝาก เพื่อที่ว่าไปไหว้คราวหน้าเพื่อน ๆ
ทุกคนจะได้รับผลบุญและสิริมงคลให้กับชีวิตตัวเองกันอย่างเต็มที่
1. วัดโสธรวรารามวรวิหาร อยู่ที่ไหน
วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา วัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภายในประดิษฐาน "หลวงพ่อพุทธโสธร" หรือ "หลวงพ่อโสธร" พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระรูปปางสมาธิ ลงรักปิดทองสมัยแบบล้านช้าง
2. หลวงพ่อโสธรองค์จริงอยู่ที่ไหน
สำหรับการเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อโสธร จะนิยมนมัสการพระอุโบสถทั้ง 2 หลัง คือ พระอุโบสถหลังใหม่ ซึ่งจะประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จริง และพระอุโบสถที่อยู่ข้าง ๆ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโสธรจำลอง โดยสามารถเข้ากราบไหว้หลวงพ่อโสธรได้ทั้งสองพระอุโบสถ หากแต่โบสถ์ที่ประดิษฐานหลวงพ่อโสธองค์จริง ไม่อนุญาตให้จุดธูปเทียนด้านใน แต่อนุญาตให้เข้ากราบไหว้ได้ตามปกติ
ทั้งนี้เหตุที่ต้องสร้างหลวงพ่อโสธรจำลองขึ้นมานั้น มีเรื่องเล่าอยู่ว่า…ด้วยเพราะหลวงพ่อโสธรมีลักษณะอันงดงามมาก เลยมีผู้คิดเองว่าจะมีคนประสงค์ไม่ดีมากระทำการต่าง ๆ กับหลวงพ่อโสธรองค์จริง จึงได้จัดทำพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหม่ขึ้นมานั่นเอง
ทั้งนี้เหตุที่ต้องสร้างหลวงพ่อโสธรจำลองขึ้นมานั้น มีเรื่องเล่าอยู่ว่า…ด้วยเพราะหลวงพ่อโสธรมีลักษณะอันงดงามมาก เลยมีผู้คิดเองว่าจะมีคนประสงค์ไม่ดีมากระทำการต่าง ๆ กับหลวงพ่อโสธรองค์จริง จึงได้จัดทำพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหม่ขึ้นมานั่นเอง
3. ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธร
เรามักได้ยินคำเล่าขานเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อโสธร ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่มีความศรัทธา และทำให้มีประชาชนจำนวนมากต่างหลั่งไหลเข้ามากราบไหว้และขอบารมีจากหลวงพ่อปกป้องคุ้มครอง หรือรักษาโรคให้แคล้วคลาด จนมีการเล่าขานกันต่อ ๆ มาว่า ใช้ขี้ธูป ดอกไม้บูชาที่แห้งเหี่ยวแล้ว และอธิษฐานหยดเทียน ขอน้ำมนต์จากหลวงพ่อมาทำยา ปรากฏว่าโรคหาย จนกลายเป็นกิตติศัพท์โด่งดังไปทั่ว
4. เรื่องอื่นบนได้หมดยกเว้นก็แต่เรื่องนี้
ด้วยเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธร ทำให้มีประชาชนเป็นจำนวนไม่น้อยเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ มาบนบานศาลกล่าว หวังพึ่งพาบารมีความศักดิ์สิทธิ์กันทั่วหน้า ว่ากันว่ามีอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นที่บนแล้วจะไม่สมหวัง คือ "เรื่องขอไม่ให้เป็นทหาร" เล่ากันว่าเพราะหลวงพ่อชอบให้คนเป็นทหาร จะได้ปกป้องรักษาบ้านเมือง ใครมาบนว่าไม่อยากเป็นทหาร เชื่อหรือไม่ว่าเป็นต้องถูกเกณฑ์ทุกราย (เป็นความเชื่อส่วนบุคคล จริงเท็จแค่ไหนต้องใช้วิจารณญาณให้ดี ๆ นะ)
5. ไข่ต้มแห่งความศรัทธา
ว่ากันว่าหลวงพ่อโสธรชอบไข่ต้ม เราจึงเห็นร้านขายไข่ต้มตั้งเรียงรายอยู่รอบบริเวณเต็มไปหมด เพราะคนที่สมหวังจากคำบนบานจะนิยมแก้บนด้วยไข่ต้ม ซึ่งเป็นของหาง่ายในยุคแรก ๆ ของวัดโสธร หลังจากนั้นเลยนิยมใช้ไข่ต้มเป็นเครื่องแก้บนมาตั้งแต่นั้น แต่ก่อนก็มีพวกหมู เห็ด เป็ด ไก่ แต่ด้วยเพราะมีผู้คนจำนวนมาก เมื่อนำมาถวายเยอะ ๆ เข้า อาจทำให้ไม่สะดวก นอกจากนี้ยังมีการแก้บนด้วยพวงมาลัย และนางรำละครชาตรีหรือลิเก เป็นต้น
6. ศรัทธาที่ไม่มีวันสูญสิ้น
กลายเป็นงานประจำปียิ่งใหญ่ไปแล้วกับงานนมัสการหลวงพ่อโสธร
จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละ 3 ครั้ง ครั้งแรกกลางเดือนห้า
ครั้งที่สองกลางเดือนสิบสอง และครั้งที่สามในเทศกาลตรุษจีน
ซึ่งทุกครั้งที่มีการจัดงาน เราจะเห็นประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนให้เราได้เห็นว่า
ความศรัทธาต่อหลวงพ่อโสธรเป็นสิ่งที่ไม่มีวันสูญสิ้นไปจากสังคมไทยอย่างแน่นอน
7. วัดหลวงพ่อโสธร เปิดกี่โมง
เปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้ากราบไหว้สักการะได้ทุกวัน มีรายละเอียดเวลา ดังนี้
- วันธรรมดา ตั้งแต่เวลา 07.00-16.30 น.
- วันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น.
ทั้งนี้ควรแต่งกายสุภาพ กางเกงหรือกระโปรงเลยเข่า, เสื้อไม่บาง, เอวไม่ลอย และงดเสื้อสายเดี่ยว แขนกุดทุกชนิด
8. วัดโสธรวรารามวรวิหาร การเดินทาง
การเดินทางมายังวัดโสธรวรารามวรวิหาร สามารถทำได้โดยสะดวก และมีการเดินทางหลากหลายวิธี เช่น
- รถไฟ
สามารถขึ้นรถไฟที่สายตะวันออก เส้นทางกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)-อรัญประเทศ โดยให้ลงที่สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา เมื่อมาถึงสถานีรถไฟฉะเชิงเทราแล้ว จะมีรถสองแถวสีเหลืองมารอรับในสถานีรถไฟเพื่อเดินทางต่อไปยังวัดโสธรวรารามวรวิหารได้เลย
- รถตู้
ปัจจุบันมีการให้บริการรถตู้สาธาณะระหว่างกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคิวรถตู้สถานนีขนส่งหมอชิต, คิวรถตู้สถานนีขนส่งเอกมัย และคิวรถตู้รถเมเจอร์ รังสิต เป็นต้น
- รถยนต์
สามารถเดินทางได้ 5 เส้นทาง คือ
1. จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กรุงเทพฯ-มีนบุรี–ฉะเชิงเทรา)
1. จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กรุงเทพฯ-มีนบุรี–ฉะเชิงเทรา)
2. จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา-ตราด)
3. จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 3 (ผ่านสมุทรปราการ-บางปะกง)
4. จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ แล้วมาเลี้ยวซ้ายออกฉะเชิงเทรา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 314
5. จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทาง อ่อนนุช-ลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา พอพ้นจากถนนลาดกระบังจะเข้าสู่ ทางหลวงชนบท หมายเลข 3001 (ถนนสายเทพราช-อ่อนนุช) หลังจากนั้นขับตรงมาเรื่อย ๆ จะไปเจอกับทางหลวงหมายเลข 314 ใช้เส้นนี้วิ่งเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทราได้เลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, เฟซบุ๊ก วัดโสธรวราราม วรวิหาร, เฟซบุ๊ก พวกแปดริ้ว, เฟซบุ๊ก TAT Chachoengsao : ททท.สำนักงานฉะเชิงเทรา