อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบฯ ส่องช้างป่า-กระทิง ชมป่าซาฟารีเมืองไทย

          อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ป่าซาฟารีเมืองไทย ชวนไปชมช้างป่าและกระทิง พร้อมดื่มด่ำกับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

          ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดภาคตะวันตกในแผนที่ประเทศไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งทะเล ภูเขา หรือตลาดเก่าแก่ ไม่ว่าจะเป็น หัวหิน ถ้ำพระยานคร วัดห้วยมงคล ชายหาดปราณบุรี อ่าวมะนาว และถนนคนเดินประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น แต่วันนี้เราจะชวนไปเที่ยวอีกหนึ่งแห่งน่าสนใจ ก็คือ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี แหล่งต้นน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในจังหวัด อีกทั้งผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้มีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช้างป่าและเหล่าฝูงวัวกระทิง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ตามเวลาที่อุทยานกำหนด ความน่าสนใจของที่นี่ยังมีอีกมาก เอาเป็นว่าไปทำความรู้จักกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรีกันให้มากขึ้นดีกว่า

ช้างป่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ตั้งอยู่ที่ไหน

          อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่อำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 90 ของประเทศ ทั้งยังอยู่ในกลุ่มป่าแก่งกระจาน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่ของไทย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

           ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ประกาศปิดการท่องเที่ยวและพักแรมประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 1 กันยายน - 31 ตุลาคม เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีเกิดการฟื้นตัว

ความเป็นมาของพื้นที่

         สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่ทวีความรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤต เป็นเหตุให้ช้างป่าล้มตายจำนวน 2 ตัว เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 บริเวณท้องที่บ้านรวมไทย หมู่ 7 ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

         จากการตรวจพิสูจน์ของสถาบันสุขภาพสัตว์บางเขน พบว่า ช้างป่าได้กินสารพิษชนิดร้ายแรงเข้าไปจนตาย จากกรณีดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2540 สรุปได้ว่า ให้ดำเนินการอนุรักษณ์และฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี โดยใช้รูปแบบในการฟื้นฟูเช่นเดียวกับการดำเนินงานของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จ.เพชรบุรี และโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ จ.ราชบุรี

         นับเป็นจุดเริ่มต้นโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรีแต่นั้นมา

อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ภูมิประเทศ
           อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีสภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรี พรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา มีสภาพเป็นป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่นี่เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พรรณไม้ ของป่า สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ที่สวยงาม เพื่อให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม มิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและความรื่นรมย์ของประชาชน ที่สำคัญยังเป็นบ้านของสัตว์ป่า เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า หมี เก้ง สมเสร็จ ชะนี ลิง ค่าง เลียงผา และกระจง เป็นต้น เนื่องจากมีแหล่งน้ำและอาหารสมบูรณ์ จนกลายเป็นเจ้าของสมญานาม "ป่าซาฟารีเมืองไทย"
กระทิง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ทรัพยากรสัตว์ป่าของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

          อุทยานแห่งชาติกุยบุรี สำรวจพบโดยจำแนกจากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ

          - สำรวจพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 20 วงศ์ 36 สกุล จำนวน 39 ชนิด
          - สำรวจพบนก 61 วงศ์ 148 สกุล จำนวน 201 ชนิด
          - สำรวจพบผีเสื้อไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด

          ทางด้านสัตว์ป่าสงวนที่พบในพื้นที่มี 4 ชนิด ดังนี้

          1. สมเสร็จ
          2. เลียงผา
          3. แมวลายหินอ่อน
          4. เก้งหม้อ

  • ช้างป่า : พื้นที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กร. 1 (ป่ายาง) และพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีประชากรช้างป่า ไม่น้อยกว่า 237 ตัว (พ.ศ. 2559) ปัจจุบันเชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยกว่า 300 ตัว พบอาศัยหากินกระจายในพื้นที่อุทยาน ทั้งพื้นที่ตอนเหนือ ตอนกลาง และตอนใต้ ตอนกลางจะเป็นพื้นที่ที่ช้างป่าอาศัยอยู่จำนวนมาก
     
  • กระทิง : กระทิงจะออกมาหากินหญ้าและดินโป่ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คาดว่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ กุยบุรีมีกระทิงไม่น้อยกว่า 300 ตัว
     
  • วัวแดง : พบว่าวัวแดงออกมาหากินหญ้าและดินโป่ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับฝูงกระทิง สำรวจพบวัวแดงเพศเมีย จำนวน 1 ตัว วัวแดงเพศผู้ จำนวน 6 ตัว
ช้างป่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ช่วงเวลาในการเที่ยวอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

     ◆ ฤดูร้อน : เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงรอยต่อของฤดูลมมรสุม หลังจากสิ้นฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้วอากาศจะเริ่มร้อน และมีอากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายน แต่ไม่ร้อนมากนัก อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 29 องศาเซลเซียส

     ◆ ฤดูฝน : เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม-กลางเดือนพฤศจิกายน โดยฝนจะตกหนักในเดือนพฤษภาคม แล้วฝนจะทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม หลังจากนั้นจะตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน

     ◆ ฤดูหนาว : เริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม-ปลายเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 25 องศาเซลเซียส

นกเงือก อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

กิจกรรมการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

การท่องเที่ยวชมสัตว์ป่า

          อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีสภาพป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าที่มีความสำคัญหลายชนิด เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง และสัตว์ป่าอื่น ๆ จำนวนมากและพบเห็นได้ง่าย จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนหลายภาคส่วน โดยเฉพาะชาวบ้านหมู่บ้านรวมไทย ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่าออกมากินพืชผลทางการเกษตร ก่อตั้งชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรีขึ้น และได้จัดกิจกรรมชมสัตว์ป่า เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและชาวบ้านอีกด้วย

          กิจกรรมชมสัตว์ป่านั้น จะเปิดในช่วงระหว่างเวลา 14.00-18.00 น. ซึ่งการเข้าไปยังพื้นที่ชมสัตว์ป่าจะต้องเช่ารถของชมรมท่องเที่ยวฯ เข้าไปยังจุดชมสัตว์ป่าทั้ง 4 จุด ได้แก่
 

  • จุดที่ 1 จุดชมสัตว์ป่าโป่งสลัดได ทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ มีหอชมสัตว์
  • จุดที่ 2 หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.1 (ป่ายาง)
  • จุดที่ 3 พุยายสาย
  • จุดที่ 4 บริเวณหน้าผาจุดชมสัตว์ป่า
จุดชมสัตว์ป่า โป่งสลัดได อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ภาพจาก อุทยานแห่งชาติกุยบุรี - Kui Buri National Park

ผาชมสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ภาพจาก อุทยานแห่งชาติกุยบุรี - Kui Buri National Park

          ระเบียบในการเข้าชมสัตว์ป่า

  • ชมสัตว์ป่าเวลา 14.00-18.00 น.
  • ห้ามยั่วยุหรือกระทำการให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ป่า
  • ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในพื้นที่ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรคสู่สัตว์ป่า
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และเสพสิ่งเสพติด
  • ห้ามส่งเสียงดังอึกทึกครึกโครม
  • ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ชมสัตว์ป่า
  • ห้ามนำอาหารหรือผลไม้เข้าพื้นที่
  • ห้ามทิ้งขยะหรือสิ่งปฎิกูลในพื้นที่
  • รถ 1 คัน ควรนั่งไม่เกิน 10 คน
  • ใส่เสื้อผ้าสีกลมกลืนกับธรรมชาติ
  • ห้ามใช้เฟลชในการถ่ายรูป
  • ห้ามนำรถส่วนตัวเข้าไปในพื้นที่
  • อยู่ห่างจากสัตว์ป่าในระยะไม่ต่ำกว่า 100 เมตร
  • ควรปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
แผนที่ชมสัตว์ป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ภาพจาก เฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติกุยบุรี - Kui Buri National Park

          ทั้งนี้ ช่วงเวลาชมสัตว์ป่าที่ดีที่สุดของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จะอยู่ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. โดยขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละวัน หากวันไหนที่มีอากาศร้อนมาก สัตว์ป่าก็จะออกมาในช่วงเย็น และหากวันไหนที่มีอากาศเย็น มีฝนตกพรํา ๆ ก็มีโอกาสได้เห็นเร็วยิ่งขึ้น

ช้างป่า กระทิง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ภาพจาก อุทยานแห่งชาติกุยบุรี - Kui Buri National Park

การท่องเที่ยวเดินป่าศึกษาธรรมชาติ/ดูนกและผีเสื้อ

          เส้นทางศึกษาธรรมชาติมีหลายเส้นทาง ทั้งระยะสั้น 900 เมตร ไปจนถึงระยะทาง 2.94 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวจะได้พบเห็น และศึกษาคุณค่า ความสำคัญของพันธุ์ไม้นานาพรรณที่มีประโยชน์ทั้งต่อมนุษย์และสัตว์ป่า โดยเฉพาะ "ไม้จันทน์หอม" และ "ศาลาตอไม้จันทน์หอม" ที่นำไปใช้ในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ซึ่งตลอดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ และในบริเวณรอบพื้นที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ยังสามารถพบนกและผีเสื้อนานาชนิดพันธุ์อีกด้วย

เส้นทางศึกษาธรรมชาติโป่งพรหม

ภาพจาก อุทยานแห่งชาติกุยบุรี - Kui Buri National Park

จุดกางเต็นท์อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

          อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีสถานที่กางเต็นท์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาพักค้างแรม พร้อมกับมีเต็นท์และอุปกรณ์การนอนเตรียมไว้บริการนักท่องเที่ยวเช่า อีกทั้งมีเวรยามรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง มีห้องน้ำ ห้องสุขาที่สะอาด เพราะมีแม่บ้านคอยดูแลตลอดวัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวหลายจุด

          เงื่อนไขการจอง

  • จองล่วงหน้าได้ไม่เกิน 60 วัน
  • จองติดต่อกันได้ไม่เกิน 3 คืน
  • กรุณาเลือกวันเข้า ก่อนวันออก
  • ค่าผ่านเข้า ให้เลือกเฉพาะวันเข้าเท่านั้น
     
           สามารถดูรายละเอียดการจองเพิ่มเติมได้ที่ nps.dnp.go.th
จุดกางเต็นท์อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ภาพจาก อุทยานแห่งชาติกุยบุรี - Kui Buri National Park

ค่าเข้าชมอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

          อัตราค่าเข้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

  • ชาวไทย เด็ก 20 บาท/คน ผู้ใหญ่ 40 บาท/คน
  • ชาวต่างประเทศ เด็ก 100 บาท/คน ผู้ใหญ่ 200 บาท/คน


          อัตราค่าบริการในการนำยานพาหนะเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ

  • รถจักรยานยนต์ 20 บาท/คัน
  • รถยนต์ส่วนบุคคล 30 บาท/คัน
  • รถยนต์โดยสาร 12 ที่นั่งขึ้นไป 200 บาท/คัน


          อัตราค่าบริการรถนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ท้องถิ่น

  • ราคา 850 บาท ต่อคณะ 6-8 คน (ถ้าขึ้นรถจากที่ทำการอุทยาน เพิ่มเป็น 950 บาท)
ส่องสัตว์ป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ส่งเสริมการท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

          ในปัจจุบันอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ร่วมกับชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี ให้บริการนักท่องเที่ยวชมสัตว์ป่า โดยชมรมฯ มีรถและมัคคุเทศก์ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์เดินทางเข้าไปชมช้างป่า กระทิง หรือสัตว์ป่าอื่น ๆ โดยอยู่ในการควบคุมและดูแลของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีข้อปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว ดังนี้
 

  • เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร. 5 (ห้วยลึก) ให้จอดรถในบริเวณที่อุทยานแห่งชาติกำหนด
     
  • ไม่อนุญาตให้นำรถส่วนตัวเข้าชมสัตว์ป่า
     
  • นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อชมนิทรรศการของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา สัตว์ป่า พันธุ์ไม้ สถานที่ท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงรายละเอียดในการชมสัตว์ป่า ชำระค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ ชำระค่าบริการในการชมสัตว์ป่า และเก็บบัตรค่าบริการไว้เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่บริเวณด่านตรวจ
     
  • *นักท่องเที่ยวกรอกข้อมูลในสมุดลงทะเบียนและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน*
     
  • นักท่องเที่ยวเดินเท้าไปยังบริเวณด่านตรวจและแสดงบัตรค่าบริการกับเจ้าหน้าที่ กรอกข้อมูลในสมุดขออนุญาตเข้าอุทยานแห่งชาติ ลงลายมือชื่อไว้เมื่อเข้าและออกอุทยานแห่งชาติ เพื่อความสะดวกในการติดตาม ตรวจสอบ และทำการฆ่าเชื้อโรคในบริเวณที่จัดไว้ โดยการเดินจุ่มเท้าในบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อและล้างมือให้สะอาด ทั้งการเข้าและออก
     
  • รถนำชมสัตว์ป่าและผู้เข้าชมต้องผ่านฆ่าเชื้อในบริเวณที่กำหนดรวมทั้งคนขับและมัคคุเทศก์ จอดรถพักไว้ในจุดที่กำหนด ก่อนที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้าไปชมสัตว์ป่าประมาณ 10 นาที
     
  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่อรถ 1 คัน ไม่เกิน 6-8 คน
     
  • ปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเวลา 18.00 น. ของทุกวัน หรือตามสภาพอากาศ
กระทิง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ระเบียบปฏิบัติของนักท่องเที่ยวชมสัตว์ป่ากุยบุรี
  • การชมสัตว์ป่าต้องใช้รถยนต์ของชมรมฯ เท่านั้น
  • ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในพื้นที่ชมสัตว์ป่า
  • ห้ามยั่วยุและล้อเล่นช้างป่าและสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ
  • ห้ามนำอาหารหรือผลไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ที่มีกลิ่นแรง เช่นขนุน ทุเรียนเข้าไปในพื้นที่ชมสัตว์ป่า
  • ห้ามนำภาชนะใส่อาหารที่ทำจากโฟมเข้าไปในพื้นที่ชมสัตว์ป่า
  • ห้ามทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล
  • ห้ามส่งเสียงดัง
  • การถ่ายภาพทุกครั้งห้ามใช้แสงแฟลช
  • ควรแต่งกายรัดกุม และสีกลมกลืนกับธรรมชาติ (ไม่ฉูดฉาด)
  • ห้ามทะเลาะวิวาท ห้ามเล่นการพนัน ไม่เสพสิ่งเสพติด ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนและขณะนำเที่ยว
  • ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ชมสัตว์ป่า
  • กรณีมีเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด
  • ห้ามพกพาอาวุธทุกชนิดเข้าไปในพื้นที่ชมสัตว์ป่า
  • ห้ามเข้าใกล้สัตว์ป่าในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร
  • ห้ามรังแกหรือสร้างความรำคาญให้สัตว์ป่า
  • เวลาในการเข้าชมสัตว์ป่า 15.00-18.00 น.
  • การเข้าชมสัตว์ป่าต้องมีเจ้าหน้าที่หรือมัคคุเทศก์ท้องถิ่นไปด้วยทุกครั้ง
  • ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
            จากตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) จนถึงแยกยางชุม เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3217 ผ่านบ้านไร่บน, บ้านโป่งกระสัง ผ่านบ้านยางชุม เข้าไปประมาณ 20 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายก่อนถึงทางเข้าโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุม ตรงไปผ่าน ตชด. ผ่านหมู่บ้านย่านซื่อ ไปจนสุดหมู่บ้านและเลี้ยวซ้ายอีกครั้ง 1.5 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยาน ระยะทางจากปากทางเพชรเกษมถึงที่ทำการอุทยานประมาณ 40 กิโลเมตร
ช้างป่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ช่องทางการติดต่ออุทยานแห่งชาติกุยบุรี
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบฯ ส่องช้างป่า-กระทิง ชมป่าซาฟารีเมืองไทย อัปเดตล่าสุด 3 พฤศจิกายน 2565 เวลา 15:43:33 12,826 อ่าน
TOP