พาสปอร์ตหาย ทำไงดี
พาสปอร์ตหายที่ต่างประเทศ ทำอย่างไร
ในกรณีที่ทำพาสปอร์ตหายแล้ว ควรปฏิบัติดังนี้
- แจ้งความกับสถานีตำรวจในท้องที่ที่ทำเอกสารหาย
- นำใบแจ้งความดังกล่าวพร้อมเอกสารไทย เช่น สำเนาหนังสือเดินทาง, บัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้าน ไปติดต่อที่สถานฑูต หรือสถานกงสุลไทยที่ใกล้ที่สุด เพื่อขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ (ซึ่งอาจจะต้องเลื่อนตั๋วเดินทางกลับ เพื่อเผื่อเวลาในการทำเอกสารเดินทาง)
- ในกรณีที่ผู้ทำหนังสือเดินทางสูญหายต้องการเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการเร่งด่วน ไม่สามารถรอรับหนังสือเดินทางได้ สถานฑูตจะออกเอกสารเดินทางหนังสือสำคัญประจำตัว (C.I) ให้ใช้เดินทางกลับประเทศไทย และใช้ได้เพียงครั้งเดียว มีอายุ 30 วัน เมื่อกลับถึงประเทศไทยแล้วเอกสารเดินทางจะหมดอายุการใช้งาน หรือถ้าต้องการเดินทางไปประเทศอื่นต่อ ทางสถานฑูตจะออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้ ซึ่งมีอายุใช้งาน 1 ปี นับจากวันที่ออกให้ แต่แนะนำว่าให้รับทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ เพราะหนังสือเดินทางชั่วคราว ออกให้สำหรับใช้ในกรณีที่ฉุกเฉินจริง ๆ และไม่มีข้อมูลชีวมาตร เช่น ลายนิ้วมือ ซึ่งอาจจะพบปัญหากับฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองในต่างประเทศ
การเตรียมเอกสารเพื่อขอทำหนังสือสำคัญประจำตัว (C.I) และทำหนังสือเดินทางชั่วคราว
การติดต่อยื่นเอกสารด้วยตนเองใช้เวลา 1-2 วัน หรือส่งไปรษณีย์ใช้เวลาอย่างน้อย 5 วัน โดยให้เครียมเอกสารดังนี้
1. แบบฟอร์มคำร้อง
2. ใบแจ้งความ
3. สำเนาหนังสือเดินทาง
4. สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน
5. รูปถ่าย 2*2 นิ้ว จำนวน 4 รูป
6. ค่าธรรมเนียม ให้ชำระเป็น Money Order เท่านั้น
7. ตั๋วเครื่องบิน
8. ถ้ายื่นคำร้องทางไปรษณีย์ ควรเตรียมซองติดสแตมป์ สำหรับส่งหนังสือเดินทางกลับ (การยื่นคำร้องทางไปรษณีย์ ผู้ร้องต้องแนบแบบฟอร์มคำร้อง และลงลายมือชื่อ ต้องไปเซ็นต์ชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ เพื่อรับรองลายเซ็นต์ของท่าน)
ข้อแนะนำสำหรับการขอทำหนังสือเดินทางชั่วคราว
- หนังสือเดินทางชั่วคราวมีไว้สำหรับให้คนที่ไม่มีหนังสือเดินทางธรรมดาในกรณีฉุกเฉิน (ย้ำว่า !! กรณีฉุกเฉิน) เช่น หนังสือเดินทางหายหรือหมดอายุ แต่มีความจำเป็นต้องรีบเดินทางด่วน ไม่สามารถรอทำหนังสือเดินทางธรรมดาได้ หรือในกรณีอพยพบางกรณี
- หนังสือเดินทางชั่วคราวของไทยมีปกสีเขียว เป็นหนังสือเดินทางแบบแฮนด์เมด ซึ่งทำได้ที่สถานทูต แต่ด้วยความเป็นแฮนด์เมด ทำให้บางประเทศไม่ยอมรับเพราะง่ายต่อการปลอมแปลง จึงยากที่จะทราบแน่ชัดว่าเป็นของจริงหรือไม่ ดังนั้นควรสอบถามสถานทูตของประเทศที่ท่านจะเดินทางไปก่อนทุกครั้ง
- โดยทั่วไปแล้วสถานทูตจะพิจารณาออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้กับคนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศอื่นก่อนเดินทางกลับประเทศไทย หรือประเทศที่พำนัก ซึ่งไม่ควรนำมาใช้อีก ดังนั้นเมื่อกลับถึงบ้านแล้ว โปรดรีบทหนังสือเดินทางธรรมดาให้เรียบร้อยก่อนการใช้งานครั้งต่อไป หรือทำโดยเร็วที่สุดหากอาศัยอยู่ในต่างประเท
หมายเหตุ ระเบียบการขอพาสปอร์ตชั่วคราวในแต่ละประเทศอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไป แนะนำว่าควรศึกษาข้อมูลดังกล่าวไว้ก่อน หรือจะเตรียมการเผื่อล่วงหน้าก่อนเดินทาง
ทั้งนี้ เวลาเดินทางไปต่างประเทศเราควรมีวิธีป้องกันหรือเตรียมเอกสารบางอย่างไว้ล่วงหน้า (เผื่อในกรณีที่หนังสือเดินทางหาย) โดยถ่ายเอกสารสำเนาพาสปอร์ตเอาไว้ทุกหน้า เก็บเอาไว้หลาย ๆ ที่ และถ่ายรูปหน้าแรกหรือหน้าวีซ่าทั้งหมดที่เราเคยได้รับ, บัตรประชาชน, ทะเบียบบ้าน หรือใบสำคัญต่าง ๆ เก็บเอาไว้สำรองในโทรศัพท์มือถือทุกครั้งก่อนเดินทาง และอย่าลืมจดที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของสถานทูตและสถานกงสุลประเทศไทยในประเทศปลายทางที่ไปด้วยเช่นกัน
พาสปอร์ตหายในประเทศ ทำอย่างไร
กรณีที่ทำพาสปอร์ตหายในไทย ปัจจุบันขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ได้ยุ่งยาก ซึ่งมีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
- เมื่อรู้ตัวว่าทำพาสปอร์ตหาย ควรแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ
- จากนั้นนำใบแจ้งความมายื่นขอทำหนังสือเดินทางฉบับใหม่ และยกเลิกการใช้งานหนังสือเดินทางฉบับที่สูญหาย
- เดินทางไปยังจุดบริการทำพาสปอร์ต หรือสำหรับใครที่ไม่อยากไปยืนต่อแถวให้เสียเวลา สามารถจองคิวทำพาสปอร์ตออนไลน์ล่วงหน้าได้เช่นกัน ที่เว็บไซต์ qpassport.in.th
- บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง
- สูติบัตรฉบับจริง (หากอายุยังไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์)
- บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
อายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ เตรียมเอกสารดังต่อไปนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ในกรณีที่เปลี่ยนชื่อ-นามสกุล หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่ไม่ตรงกับบัตรประชาชน ต้องนำหลักฐานไปแสดงด้วย
- กรณีการทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ เพราะหนังสือเดินทางเล่มเก่าใกล้หมดอายุ จะต้องนำพาสปอร์ตเล่มเดิมมาแสดง แต่หากพาสปอร์ตเล่มเดิมสูญหายจะต้องนำใบแจ้งความมาแสดง
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ “12 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการทำพาสปอร์ต ข้อมูลแน่นปึ้ก”
จริง ๆ แล้วเหตุการณ์แบบนี้คงไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ยังไงการเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้าก็ถือเป็นการป้องกันที่ดี ที่เหลือก็คือการมีสติ ระมัดระวังอย่างรัดกุม เพื่อที่ว่าจะไปเที่ยวอย่างลื่นไหล ไม่ต้องมาสะดุดให้เสียอารมณ์กันเปล่า ๆ
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
แนะนำ ทิปส์ท่องเที่ยวอื่น ๆ เกี่ยวกับพาสปอร์ต ที่น่าสนใจ
+++ 12 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการทำพาสปอร์ต ข้อมูลแน่นปึ้ก
+++ มารู้จักขั้นตอนการทำ Passport
+++ 9 เรื่องน่ารู้ เพื่อการเตรียมตัวไปทำพาสปอร์ตได้อย่างมั่นใจ
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : consular.mfa.go.th, เฟซบุ๊ก กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ, immigration.go.th, กระทรวงการต่างประเทศ Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand