x close

ท่องเที่ยว สุโขทัย เมืองมรดกโลก

สุโขทัย


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท. และ อุทยานแห่งชาติรามคำแหง      

          มรดกโลกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง ดำรงพุทธศาสนา งามตาผ้าตีนจก สังคโลกทองโบราณ สักการแม่ย่าพ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข...

          นี่คือคำขวัญของ "จังหวัดสุโขทัย" เมืองที่มีเรื่องราวในประวัติศาสตาร์มากมาย เพราะเป็นอาณาจักรเก่าแก่ร่วม 700 ปี อีกทั้งยังเป็นราชธานีแห่งแรกของชาติไทย โดยมี พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง สืบสายกษัตริย์ปกครองประชาราชหลายพระองค์ เพราะฉะนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ ไปย้อนรอยเดินตามอดีต ไปท่องเที่ยว "จังหวัดสุโขทัย" กันค่ะ

          จังหวัดสุโขทัย ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางตอนบน มีเนื้อที่ประมาณ 4,122,557 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ทางตอนเหนือและตอนใต้ของจังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบสูง มี เขาหลวง เป็นภูเขาที่มีความสูงที่สุด สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร ส่วนพื้นที่ตอนกลางของจังหวัดจะเป็นที่ราบ มีแม่น้ำไหลผ่านจากทิศเหนือจรดทิศใต้ ทั้งนี้ อาณาจักรสุโขทัย เจริญรุ่งเรืองที่สุดในยุคสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ทรงพระปรีชาสามารถทั้งทางด้านการศึกสงคราม การเมืองการปกครอง ศาสนา จนขยายอาณาเขตออกไปไกลถึงดินแดนโพ้นทะเลอย่างเมืองนครศรีธรรมราช ที่สำคัญทรงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทย เป็นรากฐานที่พัฒนาจนเป็นภาษาประจำชาติในปัจจุบัน

          ไม่ใช่แค่ภาษาไทย แต่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและที่ศรีสัชนาลัย ยังคงมีร่องรอยแห่งอารยธรรมทางสังคม งานศิลปะ และสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าหลงเหลืออยู่อย่างครบถ้วน จนได้รับการยกย่องให้เป็น มรดกโลก โดยองค์การยูเนสโก สร้างความสุข ความภาคภูมิให้กับชาวไทยไม่ใช่น้อย ดังความหมาย "รุ่งอรุณแห่งความสุข" ที่มาจากชื่อเมืองสุโขทัยนั่นเอง

สุโขทัย

ประวัติจังหวัดสุโขทัย
 
          จังหวัดสุโขทัย เป็นที่ตั้งอาณาจักรแรกของชนชาติไทยเมื่อ 700 ปีที่แล้ว คำว่า "สุโขทัย" มาจากสองคำ คือ "สุข+อุทัย" หมายความว่า "รุ่งอรุณแห่งความสุข" รอยอดีตแห่งความรุ่งเรือง เห็นได้จาก อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งประวัติสุโขทัยเริ่ม พ.ศ.1800 เมื่อ พระยาศรีนาวนัมถม พระบิดา พ่อขุนผาเมือง ได้ปกครองเมืองสุโขทัยเรื่อยมาจนสิ้นพระชนม์ ขอมสมาดโขลญลำพง ข้าหลวงจากราชอาณาจักรขอมได้เข้ายึดครองเมือง ขุนบางกลางหาว และ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดได้ยึดเมืองคืน และสร้างเมืองสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี มี ขุนบางกลางหาว พระนามใหม่ว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองสุโขทัย อาณาจักรแห่งแรกของประเทศไทย

          และในสมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โอรสของ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ได้แผ่อาณาจักรออกไปกว้างขวางคลุมเขตประเทศไทยเกือบหมด บ้านเมืองเจริญทุกด้าน ไม่ว่าด้านประวัติศาตร์, ยุทธศาสตร์, กฏหมาย, การปกครอง, เศรษฐกิจ, ศาสนา และวัฒนธรรมประเพณี เฉพาะอย่างยิ่งทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ.1826 อักษรไทยที่ทรงประดิษฐ์นี้ได้จารึกไว้ในแผ่นศิลามากมาย

          พ.ศ.1890 กรุงศรีอยุธยามีอำนาจมากขึ้น และเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจแทนสุโขทัย แต่สุโขทัยก็ยังมีพระมหากษัตริย์ปกครองกันติดต่อมาอีก 2 พระองค์ จึงสิ้นพระราชวงศ์สุโขทัย และได้รวมเข้ากับราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่เมืองพม่าครั้งที่ 2 สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้ตั้งเมืองสุโขทัยขึ้นที่บ้านธานี (ท่าหนี) ริมแม่น้ำยม ซึ่งก็คือจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน และเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2475 ได้ยุบ อำเภอธานี ตั้งใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอสุโขทัยธานี ขึ้นกับจังหวัดสวรรคโลก จนถึง พ.ศ.2482 ได้ยก อำเภอสุโขทัยธานี ขึ้นเป็น จังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่นั้นมา             

สถานที่ท่องเที่ยว

          สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของสุโขทัย ส่วนใหญ่เป็นการเที่ยวชมสถาปัตยกรรม โบราณสถาน และงานศิลปกรรมต่าง ๆ ที่มีลักษณะอ่อนช้อยเฉพาะตัว โดยมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ฯลฯ

ศาลพระแม่ย่า

          ปูชนียสถานที่สำคัญของสุโขทัย เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ทั้งในจังหวัดสุโขทัยและประประชาชนโดยทั่วไป ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนก็จะไปกราบไหว้ พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานขอความช่วยเหลือจาก พระแม่ย่า เล่ากันว่ามักจะได้ดังที่ขอ

พิพิธภัณฑ์สังคโลกสุโขทัย

          ตั้งอยู่ในบริเวณโรงแรมอนันดา เขตตัวเมืองสุโขทัยใกล้สี่แยกกระชงค์ ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทเครื่องสังคโลกที่มีคุณค่ากว่า 2,000 ชิ้น ที่ได้รวบรวมมาจากในประเทศและต่างประเทศ เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท นักเรียนในเครื่องแบบ 20 บาท ชาวต่างชาติ  ผู้ใหญ่ และเด็ก 100 บาท สอบถามข้อมูล โทร. 0 5561 4333 การเดินทาง สามารถนั่งรถประจำทาง หรือรถสามล้อจากตลาดในตัวเมืองไปพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง

          เป็นดินแดนแห่งยุคทองที่ยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ไทยในอดีต ที่ยังคงร่องรอยแห่งอารยธรรมอันรุ่งเรือง ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นแหล่งมรดกโลก ในปี 2550 มีการเปิดให้ชมโบราณสถานยามค่ำคือ (Light up) ในเดือนเมษายน - ธันวาคม 2550 ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 19.00-21.00 น.

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสวรรควรนายก

          ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองสวรรคโลก หลังวัดสวรรคาราม (วัดกลาง) ห่างจากตัวเมืองสุโขทัย 38 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1.6 กิโลเมตร พิพิธภัณฑ์จัดแสดง 2 ส่วน ได้แก่ ชั้นบน จัดแสดงประติมากรรมสมัยต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นสมบัติที่มาจากวัดสวรรควรนายก และ บางส่วนย้ายมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เป็นพระพุทธรูปในสมัยต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนยุคสุโขทัย จนถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ชั้นล่างจัดแสดงเครื่องถ้วยสังคโลก เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้ ขุดพบมากที่แหล่งโบราณคดีเครื่องถ้วยสังคโลกบ้านเกาะน้อย และบ้านป่ายาง อำเภอศรีสัชนาลัย รวมทั้งแสดงเครื่องถ้วยชามสมบัติใต้ทะเล ที่งมได้จากแหล่งเรือจมในอ่าวไทย

          เปิดทุกวัน เว้นวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท  ในกรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการวิทยากรนำชม โทร. 0 5564 1571, 0 5564 3166 www.thailandmuseum.com

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

          ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า บริเวณที่เรียกว่า "แก่งหลวง" ห่างจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัยลงมาทางอำเภอสวรรคโลก 11 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 45.14 ตารางกิโลเมตร เดิมชื่อว่า "เมืองเชลียง" แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "ศรีสัชนาลัย" ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์มีโบราณสถานและโบราณวัตถุทั้งหมด 215 แห่ง สำรวจค้นพบแล้ว 204 แห่ง

          โบราณสถานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง และเรียกอีกชื่อว่า วัดพระปรางค์ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าศรีสัชนาลัย ลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ และเป็นพระอารามหลวงชั้นราชวรวิหาร มีโบราณสถานที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ ปรางค์ประธาน, กำแพงวัด พระธาตุมุเตา มณฑปพระอัฎฐารศ เดิมมณฑปมุง วิหารพระสองพี่น้อง กุฏิพระร่วงพระลือ หรือเรียกอีกชื่อว่า ศาลพระร่วงพระลือ, วัดเขาพนมเพลิง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมเพลิงภายในกำแพงเมือง มีเจดีย์ประธานทรงกลม และมณฑปก่อด้วยศิลาแลง ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าแม่ละอองสำลี, วัดเขาสุวรรณคีรี ตั้งอยู่บนเขาอีกยอดหนึ่งในเทือกเขาเดียวกัน กลุ่มโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงกลมขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง, วัดช้างล้อม อยู่ภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย บนที่ราบเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาพนมเพลิง โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงลังกา

          วัดเจดีย์เจ็ดแถว อยู่ด้านหน้าวัดช้างล้อม นับว่ามีความสวยงามมากกว่าวัดอื่นในเมืองสุโขทัย เพราะมีเจดีย์แบบต่าง ๆ กันมากมายที่เป็นศิลปะสุโขทัยแท้ และศิลปะศรีวิชัยผสมสุโขทัย โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูมอยู่ด้านหลังพระวิหาร และเจดีย์รายรวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่าง ๆ จำนวน 33 องค์, วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงกลม, วัดสวนแก้วอุทยานน้อย หรือ วัดสระแก้ว กลุ่มโบราณสถานมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีประตูทางเข้าด้านหน้า และด้านหลังวัด

          วัดนางพญา ตั้งอยู่แนวเดียวกับวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก, วัดชมชื่น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ห่างจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาทางทิศตะวันออกประมาณ 400 เมตร โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง วิหารอยู่ด้านหน้า จากการขุดค้นบริเวณ ด้านหน้าพระวิหารพบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ จำนวน 15 โครง ในระดับความลึก 7-8 เมตร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 9 ถึงสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 และได้พบกลุ่มโบราณสถานก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ และพบเครื่องถ้วยเชลียงจำนวนมาก ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 จนถึงสมัยสุโขทัย

          อุทยานฯ เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท ในกรณีที่นำยานพาหนะเข้าภายในเขตอุทยานฯ ต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกด้วย และมีบริการรถรางนำชมโบราณสถานทั่วบริเวณ ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท หากนักท่องเที่ยวต้องการขอวิทยากรนำชม ติดต่อได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 64130 โทรศัพท์ 0 5567 9211

สุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หรือเมืองเก่าสุโขทัย

          ตั้งอยู่นอกตัวเมืองสุโขทัย ห่างจากศาลากลางจังหวัดสุโขทัยไปตามทางหลวงหมายเลข 12 สายสุโขทัย-ตาก ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของไทย สมัยเริ่มสร้างอาณาจักรที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก เมื่อเดือนธันวาคม 2534 ให้เป็น "มรดกโลก" ภายในอุทยานฯ มีสถานที่สำคัญที่เป็นพระราชวัง ศาสนสถาน โบราณสถาน โดยมีคูเมือง กำแพงเมือง และประตูเมืองโบราณล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบด้วยสถานที่สำคัญ ๆ ได้แก่

          โบราณสถานภายในกำแพงเมือง

          พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ พระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาด 2 เท่าขององค์จริง สูง 3 เมตร, วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่กลางเมือง มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ จากการสำรวจพบว่าบริเวณ วัดมหาธาตุ มีเจดีย์แบบต่าง ๆ มากถึง 200 องค์ วิหาร 10 แห่ง ซุ้มพระ (มณฑป) 8 ซุ้ม พระอุโบสถ 1 แห่ง ตระพัง 4 แห่ง ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในโบสถ์วัดสุทัศน์เทพวรารามฯ กรุงเทพฯ ด้านเหนือและด้านใต้ของเจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้ม เรียกว่า "พระอัฎฐารศ"

          วัดชนะสงคราม ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของวัดมหาธาตุ เดิมเรียกว่า วัดราชบูรณะ มีลักษณะเด่นคือ เจดีย์ทรงระฆังกลมขนาดใหญ่เป็นเจดีย์ประธาน มีวิหาร โบสถ์ และเจดีย์ราย, เนินปราสาทพระร่วง หรือ เขตพระราชวังในสมัยสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นฐานปราสาทราชวัง ของกษัตริย์เมืองสุโขทัย กรมศิลปากรได้ขุดแต่งบูรณะ เมื่อ พ.ศ. 2526 พบฐานอาคารแบบฐานบัวค่ำและบัวหงาย มีลักษณะเป็นฐานสูงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 27.50 x 51.50 เมตร มีบันไดที่ด้านหน้าและด้านหลัง

          วัดตระพังเงิน (ตระพัง หมายถึง สระน้ำหรือหนองน้ำ) เป็นโบราณสถานสำคัญ ตั้งอยู่บริเวณขอบตระพังเงินด้านทิศตะวันตกของวัดมหาธาตุ โบราณสถานนี้ไม่มีกำแพงแก้ว ประกอบด้วยเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ทางด้านตะวันออกของเจดีย์เป็นเกาะมีโบสถ์ตั้งอยู่กลางน้ำ, วัดสระศรี เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดมหาธาตุ เป็นโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำขนาดใหญ่ ชื่อว่า ตระพังตระกวน และวัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นจุดที่มีทัศนียภาพสวยงาม, วัดศรีสวาย ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ โบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ ศิลปะลพบุรี ลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน และ ศาลตาผาแดง ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเขมรสมัยนครวัด (พ.ศ. 1650-1700) ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะศาลนี้ ได้พบชิ้นส่วนเทวรูปและเทวสตรีประดับด้วยเครื่องตกแต่ง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง

          โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านเหนือ

          ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อยู่หน้าวัดพระพายหลวง ภายในอาคารเป็นศูนย์ให้ข้อมูล และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งจัดแสดงแบบจำลองโบราณสถานต่าง ๆ ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย, แหล่งโบราณคดีเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย (เตาทุเรียง) เป็นเตาเผาถ้วยชามสมัยสุโขทัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 พบเตาโดยรอบ 49 เตา ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาที่พบส่วนใหญ่เป็นถ้วยชาม ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปดอกไม้ ปลา และจักร, วัดพระพายหลวง เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น ในอดีตเป็นศูนย์กลางของชุมชน โบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของวัด คือ พระปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

          วัดศรีชุม เป็นวัดที่ประดิษฐาน พระอัจนะ พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร ลักษณะของวิหารสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้านมีช่องให้คนเข้าไปภายใน และเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบ ๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์พระอัจนะ หรือสามารถขึ้นไปถึงสันผนังด้านบนได้ ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่อายุเกือบ 700 ปี นอกจากนี้ เมื่อเดินตามช่องทางบันไดขึ้นไป จะโผล่บนหลังคาวิหาร มองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเมืองเก่าสุโขทัยได้โดยรอบ

          ทั้งนี้ เหตุที่วิหารวัดศรีชุมมีความเร้นลับซ่อนอย่างนี้ หากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งจะพบว่า พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง ทรงพระปรีชาสามารถในด้านการปลุกปลอบใจทหารหาญ เนื่องจากผนังด้านข้างขององค์พระอัจนะ มีช่องเล็ก ๆ ถ้าใครแอบเข้าไปทางอุโมงค์แล้วไปโผล่ที่ช่องนี้ และพูดออกมาดัง ๆ ผู้ที่อยู่ภายในวิหารจะต้องนึกว่าพระอัจนะพูดได้ และเสียงพูดนั้นจะกังวานน่าเกรงขาม เพราะวิหารนี้ไม่มีหน้าต่าง แต่เดิมคงมีหลังคาเป็นรูปโค้งคล้ายโดม

          โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านตะวันตก

          วัดช้างรอบ มีโบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา, วัดสะพานหิน วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขา สูงประมาณ 200 เมตร สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ปางประทานอภัย สูง 12.50 เมตร เรียกว่า พระอัฏฐารศ, เขื่อนสรีดภงค์ หรือ ทำนบพระร่วง ตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า เป็นคันดินกั้นระหว่างเขาพระบาทใหญ่ และเขากิ่วอ้ายมา สร้างขึ้นเพื่อกักน้ำ และชักน้ำไปตามคลองสู่กำแพงเมืองไหลเข้าสระตระพังเงิน ตระพังทอง เพื่อนำไปใช้ในเมืองและพระราชวังในสมัยสุโขทัย ปัจจุบันกรมชลประทานได้บูรณะ และซ่อมแซมขึ้นใหม่

          โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านใต้

          วัดเชตุพน ศิลปกรรมที่น่าสนใจของวัดคือ มณฑปที่สร้างด้วยหินชนวน ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยมีการใช้วัสดุทั้งอิฐ หินชนวน ศิลาแลง ในการก่อสร้าง สิ่งที่น่าชมภายในวัด คือ กำแพงแก้วที่ล้อมรอบมณฑปจตุรมุข สร้างจากหินชนวนขนาดใหญ่และหนา โดยมีการสกัดและบากหินเพื่อทำเป็นกรอบ และซี่กรงเลียนแบบเครื่องไม้ และยังได้พบศิลาจารึกหลักที่ 58 จารึกไว้ใน พ.ศ. 2057 กล่าวว่าเจ้าธรรมรังสีสร้างพระพุทธรูปในวัดนี้, วัดเจดีย์สี่ห้อง สิ่งที่น่าสนใจ คือ ที่ฐานเจดีย์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับโดยรอบ ปั้นเป็นรูปบุรุษและสตรี สวมอาภรณ์ เครื่องประดับ ในมือถือภาชนะ มีพรรณพฤกษางอกโผล่พ้นออกมาที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

          โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านตะวันออก

          วัดช้างล้อม เป็นโบราณสถานที่สำคัญ มีเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา รอบฐานเจดีย์ประดับด้วยปูนปั้นเป็นรูปช้างโผล่ครึ่งตัว, วัดตระพังทองหลาง มีมณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยอิฐ ผนังด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับกษัตริย์ศากยราช และตอนเสด็จโปรดนางพิมพา นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของสุโขทัย

          บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยครอบคลุมพื้นที่กว่า 70 ตารางกิโลเมตร มีโรงละครกลางแจ้ง และโบราณสถานสำคัญที่น่าชมอีกมากมาย สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ www.su.ac.th/sukhothai อุทยานฯ เปิดใทุกวัน เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) หมายเหตุ มีการส่องไฟโบราณสถาน เวลา 19.00-21.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทรศัพท์ 0 5569 7527, 0 5569 7241 หรือ 0 5569 7310

หลวงพ่อศิลา

          แต่เดิมประดิษฐานอยู่ในถ้ำเจ้าราม กลางป่าลึกในเขตติดต่ออำเภอบ้านด่านลานหอย ต่อมาชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยมได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ วัดทุ่งเสลี่ยม เมื่อราวปี พ. ศ. 2472 - 2475 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2520 ได้มีคนร้ายขโมยหลวงพ่อศิลาไป และได้มีการนำไปประมูลขายที่ประเทศอังกฤษ แต่ภายหลังก็สามารถติดตามกลับคืนมาได้ และนำมาประดิษฐานยังวัดทุ่งเสลี่ยมตามเดิม

น้ำตกสายรุ้ง

          เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สูงชันและสวยงาม เกิดจากต้นน้ำบริเวณเขาเจดีย์มาเป็นลำธารคลองไผ่นา ไหลลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีโตรกผาสูงชันกว่าร้อยเมตร มีทั้งหมด 4 ชั้น น้ำตกชั้นบนสุดเป็นชั้นสูงใหญ่และงดงามมาก แต่ต้องเดินเท้าทวนสายน้ำตกขึ้นไปประมาณ 1.2 กิโลเมตร น้ำตกสายรุ้งมีน้ำตกเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น การเดินทางจากอำเภอคีรีมาศ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ไปประมาณ 16 กิโลเมตร แล้วมีทางแยกเข้าสู่บ้านใหม่เจริญผล เข้าไปประมาณ 9 กิโลเมตร จะพบทางแยกเข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ถึงน้ำตก

เขาหลวง

เขาหลวง

อุทยานแห่งชาติรามคำแหง หรือ เขาหลวง

          ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอคีรีมาศ และอำเภอบ้านด่านลานหอย มีพื้นที่ประมาณ 213,215 ไร่ มีขุนเขาที่สูงเด่นเป็นสง่า คือ ยอดเขาหลวง ลักษณะภูมิประเทศ และภูมิอากาศ เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทอดตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ สภาพอากาศบนยอดเขาหนาวเย็นตลอดปี มีเมฆหมอกปกคลุมมากในฤดูหนาว และฤดูฝน ช่วงที่เหมาะสมในการไปเที่ยวอุทยานฯ ประมาณเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์

          สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ ได้แก่ เขาหลวง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,200 เมตร เป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน และมียอดเขาสูงที่สุดอยู่ทางด้านทิศใต้ของเมืองสุโขทัย บนยอดเขามีทิวทัศน์ที่สวยงาม และปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าธรรมชาติ ประกอบด้วยยอดเขา 4 ยอดด้วยกัน คือ ยอดเขานารายณ์ สูงจากระดับน้ำทะเล 1,160 เมตร เป็นที่ตั้งของสถานีโทรคมนาคมเขานารายณ์ของกองทัพอากาศ, ยอดเขาพระแม่ย่า สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร เดิมเคยเป็นที่ประทับและจำศีลภาวนาของ พระแม่ย่า, ยอดเขาภูกา สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร และ ยอดเขาพระเจดีย์ สูงจากระดับน้ำทะเล 1,185 เมตร เมื่อมองจากยอดเขาเหล่านี้ลงไป เห็น "สรีดภงค์" เป็นทิวทัศน์ที่สวยงาม และตัวจังหวัดสุโขทัยได้อย่างชัดเจน

          ไทรงาม เป็นต้นไทรขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาลักษณะสวยงาม เหมาะที่จะไปนั่งพักผ่อน อยู่ระหว่างทางขึ้นยอดเขาหลวง, ปล่องนางนาค อยู่ห่างจากไทรงาม 320 เมตร เป็นปล่องธรรมชาติอยู่บริเวณยอดเขามีความกว้างประมาณ 0.5 เมตร ยาวประมาณ 1.5 เมตร ความลึกไม่สามารถวัดได้ ตามตำนานพระร่วงในพงศาวดารเหนือ เจ้าเมืองออกมาจำศีลที่เขาหลวง จึงเกิดตำนานเรื่องพระร่วงซึ่งเกี่ยวข้องกับปล่องนางนาคนี้, สวนลุ่ม หรือ สวนลุมพินีวัน เป็นสวนว่านยาสมุนไพรอีกแห่งหนึ่ง อยู่ที่เชิงเขาหลวง ปัจจุบันคือ ที่ตั้งของสำนักงานอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาหลวง

เขาหลวง

เขาหลวง

          ประตูประวัติศาสตร์ มีประตูทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ คือ ประตูป่า อยู่ทางทิศเหนือของสวนลุ่ม ประตูมะค่า อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นประตูตั้งอยู่บริเวณเมืองหน้าด่าน ประตูเปลือย อยู่ทางทิศตะวันออกของสวนลุ่ม ตั้งอยู่บริเวณด่านตรวจของอุทยานฯ ประตูพระร่วง อยู่ทางทิศใต้ของสวนลุ่ม และมีเรื่องเล่ามาว่าเป็นประตูที่พระร่วงเข้ามาเล่นว่าว ณ ที่แห่งนี้, รอยพระพุทธบาท ตั้งอยู่เชิงเขาถ้ำพระบาททำด้วยหินชนวนแกะสลักรอยมงคล 108 สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท อายุประมาณ 600 ปีเศษ, ปรางค์ เขาปู่จา ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนภูเขาลูกเล็ก ๆ ใกล้กับอุทยานฯ เป็นศิลปะเขมรสมัยบาปวน สร้างสำหรับคนเดินทางเพื่อใช้ประกอบพิธีทางศาสนา มีอายุประมาณ 1,500 ปีเศษ

          ถ้ำพระแม่ย่า เป็นเพิงหินขนาดใหญ่เคยเป็นสถานที่ประดิษฐานรูปปั้นพระแม่ย่า ปัจจุบันได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่ ศาลพระแม่ย่า หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย, ถนนพระร่วง เป็นถนนสายประวัติศาสตร์ที่เชื่อมระหว่างเมืองกำแพงเพชร ผ่านสุโขทัยจรดศรีสัชนาลัย ระยะทาง 123 กิโลเมตร เชื่อว่าถนนสายนี้สร้างเมื่อ 700 ปีมาแล้ว เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ อาจถือว่าเป็นทางหลวงแผ่นดินสายแรกของประเทศไทย

          ค่าเข้าอุทยานฯ ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการลูกหาบขึ้น ยอดเขาหลวง ราคากิโลกรัมละประมาณ 15 บาท โดยสามารถติดต่อได้ที่อุทยานฯ และอุทยานฯ มีบ้านพักบริการ จำนวน 3 หลัง มีเต็นท์ให้เช่า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติรามคำแหง โทรศัพท์ 0 5591 000-1 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทรศัพท์ 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th

          หมายเหตุ : อุทยานฯ ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดเขาหลวงหลัง เวลา 15.30 น. และนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปค้างแรมด้านบน ควรเตรียมอาหารให้เพียงพอ อีกทั้งก่อนการเดินทางนักท่องเที่ยวควรสำรวจความพร้อมทางร่างกาย และเตรียมอุปกรณ์สิ่งของจำเป็นไปด้วย เช่น เสื้อกันหนาว หมวก ไฟฉาย ยา และอาหารแห้ง เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย

          อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย เดิมชื่อ ป่าคา หมายถึง ป่าคาหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านป่าคา หมู่ 6 ตำบลบ้านแก่ง จัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เพื่อรักษาสภาพป่าที่เป็นป่าต้นน้ำลำธาร และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ มีพื้นที่ทั้งสิ้น 319 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าคาขนาดใหญ่ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำท่าแพ

          สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกตาดเดือน ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 300 เมตร เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยแม่ท่าแพ เป็นลานหินกว้าง แอ่งน้ำเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ, ถ้ำค้างคาว ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นถ้ำขนาดใหญ่มีหินงอก หินย้อยสวยงาม เป็นที่อยู่ของค้างคาวนับแสนตัว, ถ้ำธาราวสันต์ เป็นถ้ำหินปูนขนาดไม่ใหญ่นัก ลักษณะเป็นลานกว้างเป็นชั้นๆ ภายในถ้ำมีค้างคาวอาศัยอยู่ จากปากถ้ำต้องไต่เขาลงไป มีอุโมงค์ทางเดินที่เป็นผนังหินของภูเขาสองลูกมาชนกัน ผ่านอุโมงค์ที่คล้ายธารน้ำไหล ผนังหินมีลักษณะคล้ายหินอ่อน และมีบริเวณหนึ่งเป็นหินทรายรูปหัวสิงโต

          น้ำตกห้วยทรายขาว ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร เกิดจากลำห้วยทรายขาวไหลผ่านหน้าผาหินลงสู่แอ่งน้ำขนาดเล็ก น้ำตกมี 7 ชั้น ลดหลั่นกันไป น้ำตกห้วยทรายขาวอยู่ใจกลางขุนเขา มีต้นไม้นานาพันธุ์โดยรอบ, น้ำตกตาดดาว ต้นน้ำเกิดจากลำห้วยแม่ท่าแพ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีความสวยงาม ตัวน้ำตกไหลลงมาจากหน้าผาที่กว้างและสูงชันประมาณ 50 เมตร มี 2 สาย ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ด้วยการเดินเท้าประมาณ 4 กิโลเมตร

          ทั้งนี้ อุทยานฯ มีบ้านพักบริการ และมีเต็นท์ให้เช่า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย โทรศัพท์ 0 5561 9214-5 หรือกรมอุทยานแห่งชาติ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2562 0760

          และนี่เป็นเพียง สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัย เพียงบางแห่งที่เรานำมาฝากกัน เพราะจริง ๆ แล้ว "สุโขทัย" ยังมีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามรอให้ไปสัมผัสอีกมากมาย ถ้ามีเวลาก็อย่าลืมไปสัมผัสกับดินแดน ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกันนะจ๊ะ

การเดินทาง

          จังหวัดสุโขทัย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 440 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดสุโขทัย และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ได้อย่างสะดวกในหลายวิธี ดังนี้...

          รถยนต์ส่วนตัว : จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ

          1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร จากนั้นเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านอำเภอพรานกระต่าย อำเภอคีรีมาศ เข้าสู่จังหวัดสุโขทัย รวมระยะทาง 440 กิโลเมตร

          2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ไปจนถึงประมาณกิโลเมตรที่ 50 บริเวณแยกอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านพระนครศรีอยุธยามุ่งสู่นครสวรรค์ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 117 ตรงไปจังหวัดพิษณุโลก ก่อนจะเปลี่ยนไปใช้ทางหลวงหมายเลข 12 เข้าสู่จังหวัดสุโขทัย รวมระยะทาง 427 กิโลเมตร

          รถประจำทาง : มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-สุโขทัย กรุงเทพฯ-ศรีสัชนาลัย กรุงเทพฯ-อุทยานประวัติสุโขทัย ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th วินทัวร์ โทร. 0 2936 3753 พิษณุโลกยานยนต์ โทร. 0 2936 2924-5 เชิดชัยทัวร์ โทร. 0 2936 0199

          รถไฟ : นักท่องเที่ยวอาจไม่ได้รับความสะดวกนัก เพราะไม่มีเส้นทางรถไปแล่นผ่านตัวอำเภอเมืองสุโขทัย หากต้องการไปยังอำเภอเมืองสุโขทัย ต้องลงรถไฟที่จังหวัดพิษณุโลก แล้วต่อรถมายังสุโขทัย ระยะทางประมาณ 59 กิโลเมตร แต่หากต้องการไปท่องเที่ยวที่อำเภอศรีสัชนาลัย ก็ลงรถไฟที่สถานีสวรรคโลก แล้วต่อรถไปยังศรีสัชนาลัยจะใกล้กว่า ควรตรวจสอบเที่ยวเดินรถก่อนวางแผนการเดินทาง จะมีรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปอำเภอสวรรคโลก และจังหวัดพิษณุโลกทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 1690 www.railway.co.th






ขอขอบคุณข้อมูลจาก
    และ จังหวัดสุโขทัย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท่องเที่ยว สุโขทัย เมืองมรดกโลก อัปเดตล่าสุด 3 พฤษภาคม 2554 เวลา 18:14:21 24,422 อ่าน
TOP