ที่เที่ยวบึงกาฬ จังหวัดมากเสน่ห์ที่เงียบสงบ

บึงกาฬ

จังหวัดบึงกาฬ

จังหวัดบึงกาฬ

จังหวัดบึงกาฬ

จังหวัดบึงกาฬ

จังหวัดบึงกาฬ

จังหวัดบึงกาฬ

จังหวัดบึงกาฬ

จังหวัดบึงกาฬ


จังหวัดบึงกาฬ

          บึงกาฬ เป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวบึงกาฬหลายแห่ง ทั้งน้ำตก ภูเขา และวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดมากเสน่ห์ที่เราอยากชวนให้ไปค้นหา

          "ภูทอกแหล่งพระธรรม ค่าล้ำยางพารา งามตาแก่งอาฮง บึงโขงหลงเพลินใจ น้ำตกใสเจ็ดสี ประเพณีแข่งเรือ เหนือสุดแดนอีสาน นมัสการหลวงพ่อใหญ่ ศูนย์รวมใจศาลสองนาง" … นี่คือคำขวัญของ บึงกาฬ จังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย หลังเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดตั้ง "จังหวัดบึงกาฬ" เป็นจังหวัดในประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554 และมีพิธีเปิดประตูเมืองบึงกาฬ หลังจากได้รับการประกาศให้เป็นจังหวัดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554 ดังนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมเลยอาสาเป็นไกด์พาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักและท่องเที่ยวจังหวัดบึงกาฬกันซะหน่อย

          จังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่ทั้งหมด 4,305 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 751 กิโลเมตร ประกอบด้วย อำเภอเมืองบึงกาฬ, อำเภอปากคาด, อำเภอโซ่พิสัย, อำเภอพรเจริญ, อำเภอเซกา, อำเภอบึงโขงหลง, อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า และมีพื้นที่รอยต่อด้านทิศะวันออกติดกับจังหวัดนครพนม ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดหนองคาย ทิศใต้ติดกับจังหวัดสกลนคร และทิศเหนือติดกับแม่น้ำโขง และแขวงบริคำไชย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรกชื่อ นายสมพงษ์ อรุณโรจน์ปัญญา

จังหวัดบึงกาฬ

ความเป็นมา

          แต่เดิมอำเภอบึงกาฬมีชื่อเดิมว่า ไชยบุรี ซึ่งขึ้นกับจังหวัดนครพนม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2460 ได้ถูกโอนย้ายให้ขึ้นต่อจังหวัดหนองคาย และถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บึงกาฬ ในปี พ.ศ. 2482 ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการร้องขอให้จัดตั้งเป็นจังหวัดบึงกาฬ ตามข้อเสนอของ นายสุเมธ พรมพันห่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเสรีธรรม จังหวัดหนองคาย โดยแยกพื้นที่อำเภอบึงกาฬ, อำเภอปากคาด, อำเภอโซ่พิสัย, อำเภอพรเจริญ, อำเภอเซกา, อำเภอบึงโขงหลง, อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า ออกจากจังหวัดหนองคาย แต่กระทรวงมหาดไทยยังไม่มีแผนที่จะยกฐานะอำเภอบึงกาฬขึ้นเป็นจังหวัด เพราะการจัดตั้งจังหวัดใหม่เป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มกำลังคนภาครัฐซึ่งขัดมติคณะรัฐมนตรี

จังหวัดบึงกาฬ

จังหวัดบึงกาฬ

          กระทั่งวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายเทวฤทธิ์ นิกรเทศ ส.ส. สัดส่วนพรรคกิจสังคม ได้ตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรี เรื่องการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ และทางกระทรวงมหาดไทยเห็นด้วย กำลังอยู่ในกระบวนการนำเข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งเรื่องเข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอเป็นกฎหมาย พ.ร.บ. จัดตั้ง "จังหวัดบึงกาฬ" ต่อไป และในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ทำการจัดตั้ง "จังหวัดบึงกาฬ" ขึ้น 

จังหวัดบึงกาฬ

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬ

          บึงโขงหลง 

          เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาตินิเวศ และแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 8,064 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาโครงการเก็บกักน้ำ เพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง ดำเนินแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2523 และได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง เมื่อปี พ.ศ. 2525 บึงโขงหลงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติอันดับที่ 1,098 ของโลก (Wetland of International Importance) ในปี พ.ศ. 2544 มีพื้นที่กว่า 22 ตารางกิโลเมตร ยาว 13 กิโลเมตร กว้าง 2 กิโลเมตร เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ และพืชน้ำนานาชาติ เช่น นกน้ำกว่า 100 ชนิดที่หาดูได้ยาก มีปลาชนิดที่หาดูได้ยากคือปลาบู่แคระ

          หนองกุดทิง 

          ห่างจากตัวเมืองบึงกาฬประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่เกือบ 20,000 ไร่ มีความหลากหลายทางชีวภาพประกอบด้วยสัตว์น้ำกว่า 250 สายพันธุ์ และเป็นที่อาศัยของนกอพยพและนกประจำถิ่นหลายชนิด ด้วยความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าว จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับโลก หรือแรมซาร์ไซท์ เป็นอันดับที่ 11 ของประเทศไทย

จังหวัดบึงกาฬ

          เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว 

          ตั้งอยู่บ้านดอนจิก เลยอำเภอบุ่งคล้า 3 กิโลเมตร และเลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีเนื้อที่ประมาณ 186 ตารางกิโลเมตร หรือ 116,562 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอเซกา และอำเภอบึงโขงหลง เกือบติดพรมแดนประเทศลาว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 150-300 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น บางส่วนเป็นสันเขาหินทราย ลานหินและทุ่งหญ้า

          สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ "น้ำตกถ้ำฝุ่น" อยู่ในบริเวณบ้านภูสวาท ตำบลหนองเดิ่น ตามทางหลวงหมายเลข 212 ก่อนถึงอำเภอบุ่งคล้า 7 กิโลเมตรมีทางแยกขวาไปน้ำตกประมาณ 4 กิโลเมตร รอบ ๆ เป็นป่าโปร่งที่มีทิวทัศน์สวยงามทางตอนเหนือของภูวัว ทางเดินไปน้ำตกผ่านลานหินทรายกว้างขวาง จนมาสุดทางที่น้ำตกที่ไหลมาจากหน้าผาหินทรายที่มีลักษณะ เป็นร่องแคบ มองเห็นสายน้ำตกมาเป็นทางยาว มีน้ำเฉพาะในฤดูฝน

          "น้ำตกเจ็ดสี" ตั้งอยู่บ้านดอนเสียด ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา น้ำตกเจ็ดสีเป็นน้ำตกที่สวยงามมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เกิดจากธารน้ำของห้วยกะอามไหลมาตามหน้าผาหินทรายสูง และแผ่กว้างเป็นทางยาว สายน้ำตกกระทบหินเบื้องล่างเกิดเป็นละอองไอน้ำ ยามเมื่อกระทบกับแสงแดดทำให้ เกิดสีต่าง ๆ ขึ้น จึงเรียกว่าน้ำตกเจ็ดสี

บึงกาฬ

          "น้ำตกถ้ำพระ" ตั้งอยู่ที่บ้านถ้ำพระ ตำบลโสกก่าม อำเภอเซกา ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว โดยรวมของตัวน้ำตกถ้ำพระแบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลัก ๆ ได้แก่ ช่วงแรกจะเป็นธารน้ำตกไหลหลดหลั่นลงสู่แอ่งน้ำกว้าง (นักท่องเที่ยวคนไหนจะเล่นน้ำตรงส่วนนี้ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะน้ำจัดได้ว่าค่อนข้างลึกพอสมควร) ถัดมาช่วงกลางของน้ำตก มีพื้นที่ขนาดใหญ่กินพื้นที่ยาวไปจนถึงฝายทดน้ำ น้ำค่อนข้างตื้น สามารถเล่นน้ำได้ตามใจชอบ และส่วนสุดท้ายเป็นบริเวณเหนือฝายขึ้นไป จุดนี้ถือเป็นไฮไลท์เด็ดของน้ำตก เพราะคุณจะได้เห็นน้ำตกกว้างสีขาวลอยฟูฟ่อง ซึ่งเป็นต้นธารที่ไหลลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง 

บึงกาฬ

          "น้ำตกชะแนน" ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านเทพมีชัย ตำบลหนองเดิ่น อำเภอบุ่งคล้า ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามเป็นอย่างมาก ด้วยเพราะสายน้ำของน้ำตกเกิดจากลำห้วยสะแนนไหลหลั่นกันเป็นชั้น ๆ ถ้าไปในช่วงหน้าฝน ปริมาณน้ำที่ตกจากหน้าผาเรียกได้ว่าอลังการแบบสุด ๆ เมื่อยืนมาดูจะเหมือนกับม่านเมฆสีขาวตั้งตระหง่าน เสียงน้ำตกไหลดังกึกก้อง ละอองน้ำกระเซ็นเป็นวงกว้างตามขนาดหน้ากว้างของน้ำตก รับรองว่าสวยงามคุ้มคาแก่การรอคอย


บึงกาฬ

          ภูทอก 

          ภูทอกในภาษาอีสานแปลว่าภูเขาที่โดดเดี่ยว อยู่ในเขตบ้านคำแคน ตำบลนาสะแบง เป็นภูเขาหินทรายโดดเด่นมองเห็นได้แต่ไกล ประกอบด้วยภูทอกใหญ่และภูทอกน้อย แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้เริ่มเข้ามาจัดตั้งเป็นแหล่งบำเพ็ญเพียร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรมที่ภูทอกน้อย หรือวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบ และเป็นจุดเริ่มต้นการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภูทอก 

          โดยเดินตามสะพานไม้เวียนรอบเขาสูงชันจนถึงยอด ซึ่งสร้างจากแรงศรัทธาของพระเณรชาวบ้าน เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2512 ใช้เวลานานถึง 5 ปี บันไดขึ้นสู่ยอดภูทอก เปรียบเสมือนเส้นทางธรรมที่น้อมนำสัตบุรุษสู่โลกแห่งโลกุตระ โลกแห่งการหลุดพ้นด้วยความเพียรพยายามมุ่งมั่น 

          ภูทอกเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติศาสนกิจของชุมชน บันไดขึ้นภูทอกแบ่งเป็น 7 ชั้น ชั้นที่ 4 เป็นสะพานลอยเวียนรอบเขา มองเบื้องล่างเห็นเนินเขาเตี้ย ๆ สลับกัน เรียกว่า "ดงชมพู" ชั้นที่ 4 เป็นที่พักของแม่ชี ชั้นที่ 5 มีศาลาและกุฏิที่อาศัยของพระ จากชั้นที่ 6 สู่ชั้นที่ 7 เป็นสะพานไม้ยาว 400 เมตร เวียนรอบเขาหน้าผาสูงชัน สุดทางชั้น 7 เป็นป่าไม้ร่มครึ้ม    

จังหวัดบึงกาฬ

จังหวัดบึงกาฬ

          ตลาดลาว

          ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงตรงข้ามกับเมืองปากซัน แขวงบริคำไชย ประเทศลาว เป็นตลาดนัดที่มีพ่อค้าแม่ค้าทั้งชาวไทยและชาวลาว เดินทางมาค้าขาย รวมทั้งจับจ่ายซื้อของ ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก อาหารแห้ง อาหารสด สมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งมีเฉพาะวันอังคารและวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 07.00-12.00 น.

 จังหวัดบึงกาฬ

          วัดอาฮงศิลาวาส 

          ตั้งอยู่ที่บ้านอาฮง ตำบลไคสี อำเภอบึงกาฬ  ริมแม่น้ำโขงติดกับแก่งอาฮง ห่างจากตัวอำเภอบึงกาฬ 21 กิโลเมตร บริเวณวัดกว้างขวางและสวยงาม ประดิษฐาน "พระพุทธคุวานันท์ศาสดา" หล่อด้วยทองเหลือง ลักษณะคล้ายกับพระพุทธชินราช สถานที่แห่งนี้ซึ่งมีเรื่องเล่าขาน เป็นตำนานเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา และบั้งไฟพญานาค 

จังหวัดบึงกาฬ

จังหวัดบึงกาฬ

          แก่งอาฮง 

          ตั้งอยู่ที่บ้านอาฮง ตำบลไคสี อำเภอบึงกาฬ เป็นแก่งในแม่น้ำโขงบริเวณหน้าวัดอาฮงศิลาวาส สามารถมองเห็นแก่งได้ในช่วงหน้าแล้งราวเดือนมีนาคม - พฤษภาคมของทุกปี แต่ในช่วงฤดูน้ำหลากกระแสน้ำจะไหลวนเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่ เชื่อกันว่าบริเวณแก่งอาฮงเป็น "สะดือแม่น้ำโขง" หรือจุดลึกที่สุดของแม่น้ำโขง ทั้งยังเป็นบริเวณที่น้ำเชี่ยวกรากมาก 

จังหวัดบึงกาฬ

          ศาลเจ้าแม่สองนาง 

          ศาลเจ้าแม่สองนาง ตั้งอยู่หน้าโรงพยาบาลบึงกาฬ เป็นศาลศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนกราบไหว้บูชาและขอพรให้เจริญรุ่งเรือง ตำนานเรื่องเจ้าแม่สองนางเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระธิดาหรือลูกหลานของเจ้าเมืองนักรบเวียงจันทน์สมัยโบราณ เป็นบุคคลสำคัญที่ชาวบ้านในอีสานหลายจังหวัดเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของตนและมีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถปกป้องคุ้มครองตนและชุมชนให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวงได้

          วัดสว่างอารมณ์ 

          ตั้งอยู่บริเวณลานหินเนินเขา ร่มรื่นด้วยต้นไม้และลำธารเล็ก ๆ ไหลผ่าน บริเวณใต้โขดหินใหญ่ประดิษฐานของพระพุทธรูปไสยาสน์ปางปรินิพพานให้ผู้คนสักการะบูชา บนโขดหินมีอุโบสถ ทรงระฆังคว่ำ หากขึ้นไปถึงด้านบนสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลจนถึงฝั่งลาว การเดินทางจากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 212   ถึงอำเภอปากคาด มีทางแยกขวาเข้าวัดไปอีก 500 เมตร

          หลวงพ่อพระใหญ่ วัดโพธาราม

          หลวงพ่อพระใหญ่ เป็นหลวงพ่อคู่บ้านคู่เมืองของชาวบึงกาฬมาแต่ช้านาน ตั้งอยู่ที่วัดโพธาราม บ้านท่าใคร้  ตำบลบึงกาฬ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยโบกฉาบด้วยปูน สูงประมาณ 2 เมตรหน้าตักกว้าง 2 เมตรจากพระฌานุ (เข่า) ถึงพระศอ (คอ) สูง 0.90 เมตร พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนหน้าตัก พระหัตถ์ขวาคว่ำวางทับพระฌานุ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 5 เหยียดลงอย่างมีระเบียบเหมือนพระพุทธรูปทั่ว ๆ ไป โดยชาวบึงกาฬจะจัดงานสมโภชช่วงวันเพ็ญเดือน 3 และช่วงเทศกาลสงกรานต์  

บึงกาฬ

          หินสามวาฬ ณ ภูสิงห์ 

          หินสามวาฬ หนึ่งในจุดสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของภูสิงห์ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ และป่าดงสีชมพู มีลักษณะเป็นหินขนาดใหญ่ติดหน้าผาสูง แยกตัวเป็น 3 ก้อน มีอายุประมาณ 75 ล้านปี หนึ่งเดียวของโลก ความพิเศษของหินสามวาฬอยู่ตรงที่ เมื่อมองดูจากระยะไกล หินสามก้อนนี้จะดูคล้ายกับฝูงครอบครัววาฬ ที่ประกอบด้วยพ่อวาฬ แม่วาฬ และลูกวาฬ ซึ่งเรียกตามขนาดของหินแต่ละก้อน ความพิเศษแบบอันซีนของหินสามวาฬยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ที่นี่ยังเป็นหนึ่งในจุดชมวิวที่สวยที่สุดในภูสิงห์ อ๊ะ ๆ ถึงแม้ว่านักท่องเที่ยวจะสามารถเดินเท้าขึ้นไปถ่ายรูปสวย ๆ ได้ก็จริง แต่ต้องไม่ลืมที่จะใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะไม่อย่างนั้นอาจเดินลื่นตกหน้าผา เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

          ทะเลบัวแดงหนองเลิง

          ตั้งอยู่ที่หนองเลิง ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอพรเจริญ โดยทุกช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ของทุกปี จะเป็นช่วงที่ดอกบัวออกดอกชูช่อบานสะพรั่ง รวมพื้นที่แล้วประมาณ 3,000 กว่าไร่ แวดล้อมด้วยธรรมชาติรอบบึง ที่มีทั้งนกและปลาหลากหลายชนิดให้เราได้ชมกันแบบเพลิน ๆ ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการชมบัวอยู่ที่ช่วงเวลา 05.30-09.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกบัวแดงกำลังบาน แถมอากาศตอนเช้ายังเย็น ๆ ไม่ร้อนจนเกินไป

          และนี่เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราหยิบนำมาเสนอ จริง ๆ แล้ว "จังหวัดบึงกาฬ" ยังมีสถานที่เด็ด ๆ ดี ๆ สวย ๆ รอให้นักเดินทางไปสัมผัสอีกเพียบ เพราะฉะนั้น หากมีโอกาสอย่าลืมแวะไปทักทาย "บึงกาฬ" จังหวดที่ 77 ของประเทศไทยกันนะ

          ทั้งนี้สอบถามรายละเอียดเรื่องการท่องเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุดรธานี โทรศัพท์ 042 325 406

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
     และ   
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก @utility และ bungkan.com 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ที่เที่ยวบึงกาฬ จังหวัดมากเสน่ห์ที่เงียบสงบ อัปเดตล่าสุด 20 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16:49:24 35,846 อ่าน
TOP
x close