แจกโปรแกรมเที่ยวนราธิวาส 2 วัน 1 คืน ตะลอนทัวร์ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่วัดชลธาราสิงเห พาสองน่องท่องสะพานคอย 100 ปี ชมวิวสวยที่อ่าวมะนาว และแวะลิ้มลองอาหารพื้นถิ่นอร่อย ๆ
“ทักษิณราชตำหนัก ชนรักศาสนา นราทัศน์เพลินตา ปาโจตรึงใจ แหล่งใหญ่แร่ทอง ลองกองหอมหวาน” นี่คือคำขวัญของ
จังหวัดนราธิวาส 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย เต็มเปี่ยมไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และอาหารถิ่น ที่ล้วนแต่บอกเล่าเรื่องราวของดินแดนแสนงามปลายด้ามขวานได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาจจะด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทำให้หลายคนหลงลืมปักหมุดหมายปลายทางที่นี่ไว้ เพราะฉะนั้นวันนี้เราเลยขอพาไปเยือนแหล่ง
ท่องเที่ยวนราธิวาสในแบบฉบับ 2 วัน 1 คืน เปิดอีกหนึ่งมุมมองการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
ทริปนี้เราออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองมุ่งหน้าตรงไปเยือน “จังหวัดนราธิวาส” ในช่วงสายของวัน เพราะเที่ยวบินไปยังท่าอากาศยานนราธิวาสมีวันละ 1 เที่ยวบินเท่านั้น นั่งเพลิน ๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที นักบินก็ประกาศว่าได้มาถึงจุดหมายกันแล้ว สัมผัสแรกเมื่อเดินออกจากเครื่องคืออากาศที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าว เดินตากแดดสักประเดี๋ยวก็เข้าตัวอาคารสนามบิน ซึ่งก่อนที่จะออกไปรับกระเป๋าทางด้านนอก นักเดินทางทุกคนจะต้องกรอกข้อมูลเอกสาร ต.8 เพื่อเก็บประวัติผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด
ส่งแบบฟอร์มให้เจ้าหน้าที่เรียบร้อย จากนั้นก็เดินไปรับกระเป๋าจากสายพานที่อยู่ไม่ไกลเท่าไรนัก ก่อนจะขึ้นรถตู้เพื่อไปเยือนจุดหมายแรกของเรา นั่นก็คือ “ร้านนัดพบยูงทอง” ร้านอาหารชื่อดังของอำเภอตากใบ ลิ้มลองอาหารถิ่นที่มีรสชาติและเอกลักษณ์เฉพาะตัว ร้านอาหารแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนนราธิวาส-ตากใบ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ เป็นร้านเก่าแก่ บรรยากาศสบาย ๆ ลมพัดเย็น ๆ เปิดต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองมาหลายสิบปี
อาหารมีหลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น ปลากุเลาเค็ม ของดีขึ้นชื่อของตากใบ กินกับข้าวสวยร้อน ๆ อร่อยเด็ด, ยำมะม่วงเบา เปรี้ยวหวานกำลังดี, ก้างปลาทอด ที่เคี้ยวกินได้เพลิน ๆ, ปลากระบอกชิ้นทอดขมิ้น, กุ้งต้มกะทิยอดมะพร้าว, แกงส้มปลากระบอก, น้ำบูดูทรงเครื่อง เสิร์ฟด้วยผักสดและสะตอเผา, ใบเหลียงผัดไข่ และกุ้งผัดสะตอกะปิ พร้อมกับล้างปากด้วยขนมชั้นนุ่ม ๆ หลายรสชาติ
จุดที่ 1 : ตามรอยประวัติศาสตร์ที่วัดชลธาราสิงเห เรียนรู้ภาษา “เจ๊ะเห” ภาษาถิ่นตากใบ
อิ่มเอมกับอาหารอร่อย ๆ กันแล้ว ก็ได้เวลาไปเที่ยวนราธิวาสตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเริ่มกันที่
“วัดชลธาราสิงเห” ตั้งอยู่ห่างจากร้านนัดพบยูงทองเพียง 4 กิโลเมตร รถตู้พาเรามุ่งหน้าไปยังวัดที่ตั้งอยู่ในตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ เพื่อไปเรียนรู้กับภาษาถิ่นใต้ของตากใบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่าง
“ภาษาเจ๊ะเห” เรียกได้ว่าเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของพี่น้องไทยพุทธในตากใบเลยก็ว่าได้ อีกทั้งยังขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อปี 2556 สำหรับภาษาเจ๊ะเหเชื่อกันว่าเกิดจากการผสมผสานภาษาสุโขทัยโบราณ ภาษาใต้ และภาษามลายู เข้าด้วยกัน จึงยังคงมีคำราชาศัพท์ปนอยู่ (ดูเพิ่มเติมได้ที่
เจ๊ะเห)
วัดชลธาราสิงเห ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตากใบ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัดมีลักษณะรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมพื้นบ้านภาคใต้ ที่รับอิทธิพลศิลปะตะวันตกเข้ามาประสมประสานอยู่อย่างสวยงาม แต่ละหลังมีการประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุที่มีรูปแบบเป็นศิลปะพื้นบ้านที่วิจิตรบรรจง อาคารไม้หลังไม่เล็กไม่ใหญ่ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นในเรือนปั้นหยา สถานที่เก็บรวบรวมเรื่องราวในอดีตของคนพื้นถิ่นเอาไว้อย่างครบถ้วน
คุณบุญเรือน ไชยรัตน์ นักสื่อความหมายชุมชน ได้มาบอกเล่าเรื่องราวของวัดให้เราได้ฟังคร่าว ๆ ผ่านภาษาเจ๊ะเหว่า วัดชลธาราสิงเหสร้างขึ้นในปี 2403 ปลายรัชกาลที่ 4 เมื่อก่อนชื่อบ้านท่าพรุหรือบ้านเจ๊ะเห ต่อมาเปลี่ยนเป็นชลธาราสิงเห เพราะวัดข้องเกี่ยวกับน้ำ คือติดกับแม่น้ำตากใบ ส่วนคำว่าสิงเหมาจากชื่อของเจ้าอาวาสวัดรูปแรก พระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) ผู้ที่สร้างวัด ร่ำลือกันว่ามีอิทธิฤทธิ์ดุจดังสิงห์ รวมกันเลยชื่อว่า ชลธาราสิงเห ซึ่งเมื่อก่อนเนื้อที่บริเวณวัดเป็นป่าทั้งหมด ไม่มีผู้คนอาศัย พระครูโอภาสพุทธคุณธุดงค์ผ่านมาเห็นเนื้อที่ติดกับริมน้ำ จึงไปขอจากผู้ครองรัฐกลันตันในสมัยนั้นทำการสร้างวัดขึ้น หลังจากนั้นประมาณ 3 ปี ก็ได้สร้างพระอุโบสถเป็นการถาวรในปี 2416 สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาก็ได้ก่อสร้างวิหาร กุฏิ ศาลา หอระฆัง หอไตร และอื่น ๆ เรื่อยมา
สถานที่แห่งนี้ยังมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องจากในรัชกาลที่ 5 อังกฤษต้องการยึดครองมลายู ไทยตกลงทำสัญญากับอังกฤษ ยอมยกดินแดนไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้กับอังกฤษในการปักปันเขตแดนกันนั้น อังกฤษได้ลากเส้นเขตแดนโดยใช้สันเขาและแม่น้ำเป็นแนวตามหลักสากล ซึ่งทำให้เข้าไปถึงบ้านปลักเล็ก (อยู่ระหว่างอำเภอเมืองนราธิวาสกับอำเภอตากใบ) แต่ไทยแย้งว่าดินแดนแถบนี้เป็นของไทย โดยอ้างอุโบสถวัดชลธาราสิงเหที่ก่อสร้างตามแบบศิลปะไทย อังกฤษจึงยอมเลื่อนการปักปันเขตแดนถอยลงไปทางใต้จนถึงแม่น้ำโก-ลก ทำให้ดินแดนแถบนี้คงเป็นของไทยมาตราบเท่าทุกวันนี้ วัดชลธาราสิงเหจึงได้รับการขนานนามว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
คุณประจักษ์ เทพคุณ ประธานกลุ่มท่องเที่ยววัดชลธาราสิงเห พาเราเข้าไปชมภายในพระอุโบสถที่หันหน้าไปทางแม่น้ำตากใบ พร้อมกับอธิบายความเป็นมาของภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่เขียนโดยพระภิกษุชาวสงขลา บอกเล่าเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น ผ่านลายเส้นที่สะท้อนให้เป็นถึงวิถีชีวิตต่าง ๆ ให้ได้ฟังกันด้วย
การเดินทาง : ใช้ทางหลวงหมายเลข 4084 (นราธิวาส-ตากใบ) ถึงสี่แยกตลาดอำเภอตากใบ เลี้ยวซ้าย 100 เมตร จะถึงปากทางเข้าวัด หรือนั่งรถโดยสารประจำทางเส้นที่จะไปอำเภอตากใบ มีรถสองแถว รถตู้ ขึ้นที่วงเวียนในอำเภอเมือง และรถบัสลงที่แยกอำเภอตากใบ เดินเข้าไปอีก 500 เมตร
จุดที่ 2 : เดินข้ามสะพานคอย 100 ปี ไปเกาะยาว ชมหาดทรายสวย
เพลิดเพลินกับวัดชลธาราสิงเหกันพักใหญ่ จากนั้นเราเดินทางไปยัง “สะพานคอย 100 ปี” ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก เพื่อพาสองเท้าค่อย ๆ เดินเนิบ ๆ ข้ามไปยัง “เกาะยาว” เกาะที่มีความยาวประมาณ 9 กิโลเมตร ขนานไปกับแผ่นดินใหญ่ ส่วนด้านตะวันออกติดกับทะเลอ่าวไทย บนเกาะมีชุมชนชาวประมงอาศัยอยู่ ผู้คนใช้ชีวิตเรียบง่าย ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม ประกอบอาชีพประมงและทำสวนมะพร้าว บริเวณชายหาดมีเสาธงรวมใจจากความร่วมมือของชาวบ้านปักไว้ ทั้งยังสามารถชมแสงแรกที่ตากใบได้อีกด้วย
สะพานคอย 100 ปี เป็นสะพานไม้ที่ใช้ข้ามแม่น้ำตากใบ อายุประมาณ 37 ปี มีความยาว 345 เมตร เชื่อมจากแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะยาว ในสมัยก่อนชาวบ้านต้องโดยสารทางเรือเพื่อเดินทางข้ามเกาะยาว ต่อมาได้มีการสร้างสะพานไม้ พร้อมกับตั้งชื่อว่า "สะพานคอย 100 ปี" เนื่องจากในสมัยก่อนชาวบ้านได้ข่าวว่าจะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ จึงพากันดีใจ แต่เรื่องนี้ก็เงียบหายไปนานกว่า 50-60 ปี จนชาวบ้านพากันกล่าวว่า “อาจต้องรอคอยกันถึง 100 ปี จึงจะมีการสร้างสะพาน” ปัจจุบันได้มีการสร้างสะพานคอนกรีตคู่ขนานกับสะพานคอย 100 ปี โดยมีรูปทรงสวยงามและโครงสร้างที่แข็งแรง สัญจรได้เพียงรถจักรยานยนต์เท่านั้น (เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563)
การเดินทาง : ใช้ทางหลวงหมายเลข 4084 (นราธิวาส-ตากใบ) จากสี่แยกตลาดอำเภอตากใบ เลยไปยังแม่น้ำตากใบมีสะพานไม้ชื่อสะพานคอย 100 ปี เดินหรือขี่รถจักรยานยนต์ข้ามสะพานไปยังเกาะยาวได้เลย
จุดที่ 3 : ยลโฉมทะเลนราธิวาส ณ อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง
รถตู้พาเราเลี้ยวเข้าซอยเพื่อมุ่งหน้าไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง ตั้งอยู่ที่ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส สถานที่พักผ่อนหย่อนใจยอดนิยมของคนเมืองนราฯ ที่นี่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมายให้ได้สัมผัสและเพลิดเพลิน โดยเฉพาะบริเวณชายหาดหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง (เตรียมการ) เพราะอยู่ใกล้กับที่จอดรถ เดินทางสะดวก และยังร่มรื่นด้วยสวนรุกขชาติและทิวสนทะเล มีจุดให้นั่งเล่น นั่งปิกนิกรับลมเย็น ๆ เพียบ
ชื่นชมบรรยากาศสวย ๆ ตรงหน้ากันพักใหญ่ เราก็เดินเลาะชายหาดที่ทอดเลียบแนวภูเขา ไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายหาด เพื่อไปยังจุดชมวิว ในระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ระหว่างทางได้เจอพรรณไม้หายากต่าง ๆ รูปทรงแปลกตาให้ได้ตื่นตาตื่นใจ แว่วเสียงนกร้องจิ๊บ ๆ มองเห็นผีเสื้อหลากสีบินร่อน เดินไปสักระยะพอให้หายใจหอบนิด ๆ หน่อย ๆ ก็จะถึงจุดชมวิวอุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง สถานที่ที่มองเห็นโค้งอ่าวเชื่อมยาวต่อกัน สลับกับโขดหินน้อยใหญ่งดงามจับใจ
การเดินทาง : ใช้ทางหลวงหมายเลข 4084 (นราธิวาส-ตากใบ) 3 กิโลเมตร และมีทางแยกไปสู่หาดอีก 3 กิโลเมตร
จุดที่ 4 : ไหว้พระพิฆเนศปางประทานพร และขอพรที่ศาลเจ้าโก้วเล่งจี่
ชื่นชมวิวสวยกันจนหนำใจ ก่อนจะไปกินของอร่อยในเมืองนราธิวาส เราได้ไปแวะสักการะเทวสถานองค์พระพิฆเนศ ที่ตั้งอยู่บนถนนพิพิธคีรี ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส เมื่อก้าวข้ามประตูเข้าสู่เทวสถาน สายตาก็ปะทะกับ “องค์พระพิฆเนศปูนปั้น” สูงเด่นตระหง่านอยู่กลางแจ้ง (ความสูง 16 เมตร หน้าตักกว้าง 7 เมตร) พระหัตถ์ขวาบนถือดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายบนถือศาสตราวุธ พระหัตถ์ซ้ายล่างถือขนมโมทกะ ห่มพัสตราภรณ์ลักษณะนุ่งแบบอินเดีย
พี่สุเมธ บุศรี ผู้ดูแลสถานที่แห่งนี้ เล่าให้ฟังถึงที่ไปที่มาในการสร้างว่า เกิดจากความตั้งใจของคุณพ่อ (นายอินดาร์แซล บุศรี) ที่อยากจะสร้างองค์พระพิฆเนศด้วยความศรัทธาและเลื่อมใส และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในพื้นที่ โดยได้อาจารย์เจริญชัย ต้นครองจันทร์ เป็นผู้ออกแบบและดูแลทุกขั้นตอนอย่างประณีต โดยเฉพาะการพิถีพิถันตกแต่งด้วยโมเสกแก้วหลากหลายสีสัน ทำให้ใช้เวลาในการรังสรรค์กว่า 9 ปี จนวิจิตรงดงามแบบทุกวันนี้
จากนั้นพี่สุเมธได้พาเราเดินไปยังประตูเหล็กสีแดง ทางเชื่อมเข้าไปใน “ศาลเจ้าโก้วเล่งจี่” ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ศาลเจ้าแห่งนี้มีอายุ 100 กว่าปี แต่เดิมเป็นศาลไม้เก่าแก่ ต่อมาสร้างศาลหลังใหม่ขึ้นแทน สร้างตามสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ภายในมีประติมากรรมภาพปูนปั้นเขียนสีน้ำมันองค์เทพเจ้าต่าง ๆ และมีองค์จำลองสมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้ ประดิษฐานอยู่ด้วย อีกทั้งบริเวณศาลเจ้ายังเป็นชัยภูมิที่เป็นมงคลถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย โดยมีเจ้าที่หรือเจ้าศาลเป็น “หัวมังกรคาบแก้ว” คอยดูแลปกปักรักษาอยู่
การเดินทาง : ถนนพิพิธคีรี (ใกล้กับโรงเรียนอนุบาลนราธิวาส) ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส
และปิดท้ายวันก่อนเข้าพักผ่อนกันที่
“ใจดีจริงจริง” รีสอร์ตสุดน่ารักที่ตั้งในซอยร่วมสันติ อำเภอเมืองนราธิวาส เราได้ไปลองลิ้มชิมรส
“ชาชัก” ที่มีรสชาติและลีลาการชงเป็นเอกลักษณ์กันที่
“ร้านหัวมุมชาชัก” ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนพนาสณฑ์ สี่แยกไฟแดงบายพาส ร้านตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 บรรยากาศสุดชิล มองเห็นวิวเมืองที่มีรถสัญจรไป-มา ที่นี่มีทั้งอาหารคาวหวานบริการ ไม่ว่าจะเป็น ปลาเผา, กุ้งเผา และยำปลาดุกฟู เป็นต้น ในส่วนของเมนูเครื่องดื่ม นอกจากชาชักแล้วยังมีโกโก้เย็น ชาชักอัญชัน, ชากุหลาบมะนาว หรือกาแฟ-นมสด กินกับโรตีหลากหลายหน้า ทั้งโรตีไข่, โรตีกล้วย, โรตีฝอยทอง, โรตีมะพร้าวอ่อน, โรตีทุเรียนที่มีตามฤดูกาล และไฮไลต์เด็ดอยู่ที่ “กรือโป๊ะ” หรือข้าวเกรียบปลา ของกินเล่นอร่อยขึ้นชื่อเมืองนราธิวาส
กินอาหารเช้าแบบคนนราธิวาส
เช้าวันถัดมา...ก่อนโบกมือบ๊ายบายเมืองมากเสน่ห์ เราไปกินอาหารเช้ากันที่ “ร้าน 786 Dada” ตั้งอยู่ที่ถนนโคกเคียน ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส ที่ร้านมีเมนูให้เลือกกินทั้งโรตีปราตา ที่มีทั้งแบบโรตีแกงเนื้อ โรตีแกงถั่ว โรตีแกงสะเต๊ะ โรตีชุดมัสมั่น ข้าวหมก (สูตรปากี) ที่มีทั้งเนื้อและไก่ และเมนูสะเต๊ะเนื้อและไก่ ทั้งหมดทั้งมวลนี้กินคู่กับชาปากีร้อน เข้ากันดีมาก ๆ
และนี่คือโปรแกรมเที่ยวนราธิวาส 2 วัน 1 คืน ที่เรานำมาแนะนำกัน จริง ๆ แล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ โบราณสถาน และอาหารการกินอีกมากมาย รอต้อนรับนักท่องเที่ยวให้ได้ไปสัมผัสกับความงดงามเหล่านั้นอยู่ จบทริป 2 วัน 1 คืน บอกเลยว่า “นราธิวาส...พลาดได้ไง”
ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส โทรศัพท์ 0 7354 2345-6 หรือเฟซบุ๊ก TAT Narathiwat ททท.สำนักงานนราธิวาส
การเดินทางไปจังหวัดนราธิวาส
- รถยนต์ : ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เข้าสู่ทางหลวงหมายลข 41 ผ่านอำเภอทุ่งสง พัทลุง หาดใหญ่ และทางหลวงหมายเลข 42 ผ่านจังหวัดปัตตานีเข้าสู่จังหวัดนราธิวาส ระยะทางรวม 1,149 กิโลเมตร
- รถไฟ : มีบริการรถด่วนพิเศษและรถเร็ว กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก ทุกวัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 1690 เว็บไซต์ www.railway.co.th หรือสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก โทรศัพท์ 0 7361 1162
- รถโดยสารประจำทาง : ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (สถานีขนส่งสายใต้) ถนนบรมราชชนนี สอบถามข้อมูล
- บริษัทขนส่ง จำกัด กรุงเทพฯ-นราธิวาส, กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก โทรศัพท์ 0 2422 4444, 1490 และ www.transport.co.th
- บริษัท ปิยะรุ่งเรืองทัวร์ โทรศัพท์ 0 2894 6330-2
- บริษัท สยามเดินรถ จำกัด โทรศัพท์ 0 2894 6160-2
- สถานีขนส่งสุไหงโก-ลก โทรศัพท์ 0 7361 2045
- สถานีขนส่งนราธิวาส โทรศัพท์ 0 7351 1552, 0 7341 1576
- เครื่องบิน : ออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง สอบถามข้อมูลได้ที่ สายการบินไทยแอร์เอเชีย โทรศัพท์ 0 2515 9999 หรือ www.airasia.com
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย