x close

เมืองปาน-แจ้ซ้อน แผ่นดินผืนอุ่นในสายลมหนาว

เมืองปาน แจ้ซ้อน

เมืองปาน แจ้ซ้อน

เมืองปาน-แจ้ซ้อน แผ่นดินผืนอุ่นในสายลมหนาว (อสท.)

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ...ภาพ

          วันที่ลมต้นฤดูหนาวแรกพัดมา หลายคนรู้ว่า บางสิ่งผ่านไปแล้ว และยังเป็นอยู่เช่นนั้น อย่างน้อยก็ชีวิตและฤดูกาล ณ ที่ราบกว้างไกลที่ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง กลางหุบเขาและป้าแน่นอันโอบล้อม

          หลายวันที่มาเยือนเมืองแสนสงบชายชอบลำปาง-เชียงใหม่แห่งนี้ บางนาทีผมพบว่าจิตใจคนล้วนยิ่งใหญ่ไม่แพ้ฤดูกาล ลมหนาวมาพร้อมกับหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งความเริงร่าแห่งผลิตผลหลังฝนพรำ หรือบางความทุกข์จากอากาศกดหนัก ที่มาพร้อมสายลมกรีดผิว ทุกอย่างล้วนเป็นจริงเป็นจัง ไม่ว่าวันเวลาจะพัดพาพวกเขาให้เปลี่ยนแปลงไปเช่นไรก็ตาม

          จากอดีตที่ภูอันเป็นบ้านหลังอุ่นของพวกเขาได้หล่อหลอม จวบจนวันนี้ที่นับเป็นส่วนหนึ่งที่ดีคนข้างล่างขึ้นมา หรือแม้ต่อผลักพาพวกเขาลงไปรู้จักแผ่นดินใหม่ ๆ เบื้องล่าง อย่างไรก็ตาม หากใครสักคนได้มาเยือนเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ เขาจะรู้ว่า นิยามจริงแก้ของความสงบเป็นเช่นไร

          ท่ามกลางชีวิตสงบนิ่ง อากาศสดในท้องทุ่งและป่าเขา ความรื่นเย็นของสายน้ำ และรอยยิ้มอาทรระหว่างผู้คน สิ่งเหล่านี้ล้วนหล่อหลอมให้พื้นที่ในหัวใจของผู้คนที่นี่ยิ่งใหญ่ แม้จะเป็นเพียงคนตัวเล็ก ๆ ที่ปักหลักหายใจอยู่ในภูเขาอันไพศาลวิ้งว้าง

เมืองปาน แจ้ซ้อน

เมืองปาน แจ้ซ้อน

เมืองปาน แจ้ซ้อน

เมืองปาน แจ้ซ้อน


1. ทุกเช้าที่สายหมอกยังอาบคลุมหุบเขาและแอ่งที่ราบ อากาศเย็นชื่น

          ถนนสายหลักในตำบลแจ้ซ้อน สุขสงบความเคลื่อนไหวในตลาดเช้าคือชีวิตชีวาแรก ๆ ที่ปลุกให้คนที่นี่ออกมาจากบ้าน ตลาดแจ้ซ้อน ดูเป็นตลาดในชนบทอย่างแท้จริง ไร้ความจอแจแบบนักท่องเที่ยวสะพายกล้องดิจิตอล นอกจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน เสียงหัวเราะไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบด้วยภาษาเมือง กลมกลืนไปกับภาพเรียบง่าย

          ด้วยเงินไม่ถึง 20 บาท ผมได้ข้าวเหนียว ไส้อั่ว และตับปิ้งอีกชิ้นโต เพียงพอจะอิ่มไปในมื้อเช้า “เห็ดกำลังบาน ปลาในน้ำแม่มอญยังเยอะ ไม่ค่อยมีใครซื้อกับข้าวสุกหรอก” แม่ค้าขายปลาบอกว่าทำไมในตลาดช้า จึงไม่ค่อยมีกับข้าวสำเร็จให้เห็นนัก แม่ค้าคือคนแจ้ซ้อนเอง ที่เต็มไปด้วยความเป็นตัวของตัวเองในสินค้าของพวกเขา ซึ่งต่างผูกโยงกับผืนแผ่นดิน บางวันเห็ดบนภูเขาบาน บางวันหัวปลีดก ก็เอามาขาย เปลี่ยนเวียนกันไปเรื่อยๆ “วันไหนไม่มีอะไรก็ไม่มา” เธอว่าติดตลก แต่ชัดเจนในรูปแบบชีวิต

          ผักพืชผลและแมลงตามฤดูกาลแทรกตัวอยู่ตรงท้ายตลาด ดอกฮังลาวกำลังบาน แม่ค้าเด็ดมันและจัดมาใส่จานสวยทั้งดอกและหน่อ “ลวกสุกหรือจิ้มน้ำพริกก็ลำแต๊” เธอบอกเมื่อเราสนใจรูปทรงและสีสัน มันคล้ายพืชตระกูลขิงข่า แต่ออกยอดสีชมพูอมเหลือง น่ามอง น้ำพริกนานาและของปิ้งย่างดูจะคู่กับเด็กนักเรียน พวกเขาจอแจเพิ่มสีสันให้ตลาด ก่อนที่จะขึ้นรถรับส่งที่จะพาไปเรียนถึงในตัวอำเภอ หรือบางคนก็ลงไปถึงตัวจังหวัด “กับข้าว” จากบ้านอร่อย และถูกเสมอเมื่อเทียบกับที่อื่น ๆ

          ตลาดแจ้ซ้อน ติดตัวเองอยู่ตามความเป็นไปในชีวิตของผู้คนที่นี่ การงานในไร่นารออยู่เมื่อยามสายกำลังมาเยือน พวกเขามาตลาดเหมือนเป็นชีวิต “ประจำวัน” และเมื่อพระสงฆ์รูปสุดท้ายเดินกลับจากบิณฑบาตอบนอกหมู่บ้าน แวะผ่านตลาดอีกครั้ง แม่อุ๊ยหลายคนทิ้งแผงชั่วคราว บรรจงใส่อาหารประดามีและรับพรจากสาธุเจ้า นาทีนั้นภาพตรงหน้าแช่มช้อย อบอุ่น สงบงาม ชีวิตเรียบง่ายมีอยู่จริง พวกเขาหวงแหนและเก็บมันเอาไว้เงียบ ๆ ไม่ต้องแสดงออกหรือปรุงแต่ง อย่างที่ใครหลายคนกำลังดำเนินอยู่

2. ในความเก่าแก่ที่ฝังรากปักฐาน

          พระพุทธศาสนานั้นแยกไม่ออก และล้วนทำให้เมืองในหุบเขาเปี่ยมด้วยสิ่งที่เรียกว่าศรัทธา วันนี้พระสงฆ์จากวัดศรีหลวงแจ้ซ้อนไม่ได้ออกเดินบิณฑบาต งานกฐินทำให้ชาวบ้านมารวมกันที่วัดอันเก่าแก่กว่า 1,338 ปี เคียงคู่หุบเขาแห่งนี้

          ยามเช้าในวัดล้วนคึกคักและอบอุ่น “มาช่วยตุ๊เจ้าท่านเตรียมงานก่อน” เฒ่าชราและหลานชายมาถึงก่อนตลาดหน้าวัดจะวาย เสื่อสาดถูกช่วยกันปูรอรับพิธีกรรม ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมง กับข้าวและดอกไม้อย่างดี ถูกบรรจุมาในตะกร้าและขันเงิน ของเหล่าแม่อุ๊ยที่มุ่นมวยผมและห่มชุดขาวมิดชิด บางคนปักปิ่นและเสียบดอกไม้หลายชนิดไว้ด้วยกัน มันไม่ใช่แค่ความงาม แต่ด้วยความเชื่ออย่างเหนียวแน่นของคนที่นี่ เกี่ยวกับเรื่อง “ขวัญ” ของคนเรา และขวัญสำคัญคือขวัญหลวงบนศีรษะ ซึ่งต้องบูชาด้วยดอกไม้เพื่อความเป็นมงคล

          แดดสายฉายจับโบสถ์เก่าคร่ำของวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน มันสะท้อนทุกความงามเอาไว้อย่างอ่อนช้อย แม้จะสร้างขึ้นใน พ.ศ. 1215 แต่กาลเวลานับพันปีไม่ได้พรากศิลปะของวัดท้องถิ่นนี้ไปไหน ด้วยผู้คนที่นี่ร่วมกันซ่อมแซมบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง “บ้านเรามีสล่าดั้งเดิมเยอะสั่งสอนสืบทอดกันมา ตรงไหนพังก็ทำตามอย่างเดิม ไม่เปลี่ยน” เช่นนี้ ไม้ก็ยังคงเป็นไม้ ปูนก็ยังปั้นด้วยคติความเชื่อเดิม ๆ ผมใช้เวลาอย่างฟุ่มเฟือยในการจมไปกับทุกส่วนของวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน หลังคาไม้ซ้อนกันถึง 4 ชั้น ประดับด้วยเครื่องไม้แกะสลักอย่างวิจิตร มองซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกเช้าไม่รู้เบื่อ

          งานปูนปั้นรูปสัตว์หิมพานต์ รวมถึงทวยเทพยดานั้นเรียบง่ายตามแบบฉบับท้องถิ่น ที่สำคัญ โบสถ์หลังนี้ ไม่ได้ปิดตาย ทว่ายังคงเกี่ยวเนื่องกับผู้คนในทุกงานบุญอย่างที่เคยเป็นมา ยิ่งเมื่อยามเสียงสวดให้พรแว่วกังวาน ผู้คนหลากอายุล้วนนิ่งงันหลับตา อาหารดอกไม้เรียงราย ภาพตรงหน้าในพื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้ล้วนน่าเคารพและหวงแหน ภาพที่นำคำว่าศรัทธาของมวลมนุษย์มาบอกเล่าในเช้าอันแสนอบอุ่น

3. ย้อนกลับไปเนิ่นนานในหน้าประวัติศาสตร์

          เมืองปานและพื้นที่ภูเขารายรอบ ล้วนคือชุมชนทางทิศเหนือของเขลางค์นคร (ลำปาง) ที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “ทุ่งสามหมวก” หรือ “ทุ่งสามโค้ง” ป่าไม้ สายน้ำ และแผ่นดิน คือความสมบูรณ์ของทรัพยากร ที่เมืองอื่นอย่างพม่าและเงี้ยวต่างก็ต้องการยืดครอง เพื่อเป็นแหล่งเพาะบ่มสะสม หากแต่นายบ้านผู้หนึ่ง ได้รวบรวมไพร่พล และรบพุ่งป้องกันเมืองเล็กกลางหุบเขาแห่งนี้ไว้ยาวนาน ว่ากันว่าเขาทำเครื่องส่งสัญญาณ แจ้งเหตุจากทองคำมาหลอม เรียกว่า “ปาน” มีลักษณะคล้ายฆ้องใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ปานคำ” ผู้คนแถบนี้จึงขนานนามท่านว่า “เจ้าขุนจะปาน” หลังจากนั้นจึงเพี้ยนเรียกชื่อเมืองมาเป็น “เมืองปาน” สืบเนื่องต่อมา

          เมืองปาน และ แจ้ซ้อน เคลื่อนไหวคืนวันไปตามแบบฉบับเมือง ที่ดำรงอยู่ได้ด้วยเกษตรกรรมที่ราบตามหุบเขา คือผืนนาที่เปลี่ยนสีทั้งเขียวชอุ่มและเหลืองทองไปตามฤดูกาล มันถูกใช้ไปในการเพาะปลูกเพื่อดำรงชีพอย่างคุ้มค่าที่สุด ออกจากหย่อมเมืองไม่ถึง 500 เมตร รายรอบล้วนเป็นที่นากว้างไกลลิบตา สายน้ำแม่มอญที่มีต้นธารจากน้ำตกแจ้ซ้อนหลั่งล้น “เราปลูกข้าวกิน เหลือโน่น ถึงขาย” ลุงสีมูน อิ่มเอิบ บอกกับผมระหว่างเกี่ยวข้าวแปลงท้าย ๆ ของฤดู เราพบกันตรงสะพานไม้ไผ่ข้ามลำน้ำ รอบด้าน คือผืนนาของหลายคน ที่ยามนี้การลงแขกเป็นเรื่องจริงจัง ไร้เครื่องจักรเกี่ยวข้าว “มันก็ดี ไม่เหนื่อย แต่ยังไม่จำเป็น” แกว่ากับทิศทางการทำนาของคนที่นี่ ซึ่งไม่ปิดกั้นการพัฒนา หากแต่ชีวิตที่เป็นมาก็มีสุขอยู่ดีอย่างที่ควรจะเป็น

          ทุกวันหากไม่ขึ้นไปบนภูเขา ผมมักแวะเวียนไปตามผืนนาในฤดูเก็บเกี่ยวรายรอบตำบลแจ้ซ้อน ซึ่งก็ไม่เคยไปได้ครบสักที เนื่องจากมันแผ่ไพศาลไปตามกายภาพของที่ราบกลางหุบเขาลิบตา บางคราวยามมองจากที่สูง นาข้าวสีสวยที่ตั้งท้องแก่มีคนตัวเล็ก ๆ เคลื่อนไหวไปมา แปลงโน้นที แปลงนี้ที พวกเขาตีข้าวกันตั้งแต่หมอกยังอ้อยอิ่งห่มคลุมที่นาในรุ่งเช้า ไปจนถึงแดดนุ่มจรรโลงฉายใกล้ค่ำเย็น บางวันผมเข้าตลาดแจ้ซ้อน แวะไปบ้านสุทธิพรมณีวัฒน์ ที่ตกทอดเชื้อสายเจ้าเมืองปานมาถึงรุ่นที่ 4 แต่ละช่วงอายุยาวนานร่วมร้อยปี ฉางข้าวโบราณสีน้ำตาลขรึมนั้น บ่งบอกว่าข้าวสำคัญกับคนที่นี่ เนื้อไม้สักแกร่งทนมาเป็นร้อยปี ภายในคือ “ห้องข้าว” ต่าง ๆ ที่ยังใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้

          “ข้าวรีบกินก็แยกส่วนไว้ ต้องทำพิธีบูชา” แม่ศรีวัย สุทธิพรมณีวัฒน์ เล่าถึงความเชื่อเกี่ยวกับข้าวหลากหลายให้ผมฟัง แม่ว่าข้าวที่เพิ่งเกี่ยวและสีมาใหม่ ๆ ต้องทำพิธี “ตานข้าวใหม่” เพื่อความเป็นมงคล “ต้องให้ตุ๊เจ้าท่านฉันก่อน” เช่นนี้ที่ราบกลางหุบเขา จึงไม่ได้มีเพียงนาข้าวสีสวยที่อาบคลุมด้วย ไอหมอกยามรุ่งเช้า แต่เต็มไปด้วยชีวิต ความเชื่อ และการสืบทอดของผู้คนที่หายใจและอยู่ร่วมบนผืนดิน ที่พวกเขาพร้อมจะเรียกมันว่าบ้านอย่างคงทน

4. ทางไปสู่หุบเขานั้นเย็นชื่น ป่าเรียงรายแน่นขนัดและบีบให้ถนนสายสวยดูแคบลงไปถนัดตา

          อากาศเหน็บหนาวตามกำลังรถที่สวนความเร็วขึ้นลงไปตามเนินดอยกว่า 30 กิโลเมตร เราขึ้นมาถึงบ้านแม่แจ๋ม หนึ่งในหมู่บ้านเล็ก ๆ ของตำบลแจ้ซ้อน บนแดนดอยเมืองปาน หนทางขึ้นนั้นไปถึงด้วยรถกำลังเครื่องชั้นดี ต่างกันนักกับหนทางในสายตาของป่าผัดและ พ่อหลวงสุวรรณ มูลคำดี

          “แต่ก่อนคนบนดอยเดินป่า เอาสินค้าต่างม้า ต่างลา ลงไปขายลำบากนัก” พ่อหลวงสุวรรณ ว่าคนรุ่นปู่รุ่นพ่อนั้นลงไปถึงดอยสะเก็ด เขตจังหวัดเชียงใหม่ ไปกลับก็ 3 วัน “ไปแจ้ซ้อนใกล้หน่อยวันเดียว” พวกเขาเอาใบเมี่ยงสดลงไปขาย มันใช้ทำชาชั้นดี “ไม่สบายเหมือนเดี๋ยวนี้หรอก ถนนดี ไม่กี่ชั่วโมงก็ถึง” ป้าผัดเล่าบ้าง เธอชงกาแฟร้อน ๆ ที่เมล็ดพันธุ์นั้นล้วนมาจากผืนดินที่รายรอบ จากปลูกชา หาของป่า คนแม่แจ๋มรู้จักการมาถึงของถนนเกือบ 20 ปี และพืชพรรณอย่างกาแฟและแม็กคาเดเมียนัต ก็ได้หยั่งรากปักหลักลงบนความสูงกว่า 1,100 เมตร

          “โครงการหลวงตีนตกน่ะ มาส่งเสริมให้คนแม่แจ๋มปลูกาแฟและแม็กคาเดเมีย เปิ้นว่าอากาศบนนี้เหมาะ ขึ้นงามนัก” ผมเดินเล่นไปในสวนกาแฟ ที่แผ่นขยายคลุมภูเขาเป็นทิวสีเขียวเข้ม มันถูกคลุมด้วย “ไม้บังร่ม” อย่างเสาวรส ตามเทคนิคเชิงเกษตรที่โรงการหลวงขึ้นมาส่งเสริม เช่นนั้นเอง อะราบิกาสายพันธุ์ดีจึงมีที่มาจากอากาศ ความสูงและแรงมือ กลางหุบเขามองคนบ้านแม่แจ๋ม

          ว่ากันถึงแม็กคาดเดเมียที่ราคาดีถึงกิโลกรัมละ 200 บาท ของบ้านแม่แจ๋มนั้น มากไปด้วยความหวาน มัน กรอบ “เราเริ่มกันมานาน กว่าจะให้ผล ต้นแม็กคาเดเมียต้องโตถึง 8ปี” พ่อหลวงว่าแทบทุกครัวเรือนในบ้านแม่แจ๋ม ปลูกแม็กคาเดเมียไม่น้อยไปกว่ากาแฟ มันทำให้ “ชีวิตที่ดี” เช่นนั้นเอง บ้านแม่แจ๋มในเวลากลางวันจะเงียบเชียบ ชาวบ้านล้วนไปอยู่ในสวนกาแฟและแม็กคาเดเมีย

          เสียงพูดคุยยิ้มหัวแว่วมายามเดินไปเยี่ยมสวนของพวกเขา จนเย็นนั่นละ ที่ตามบ้านเรือนจะมีชีวิตชีวายามกลับมาสู่กับข้าว และอาหารพื้นเมืองอย่างที่พวกเขาเคยชิน ทั้งกาแฟกรุ่นหอม แม็กคาเดเมียหวานมัน หรือน้ำเสาวรสอมเปรี้ยวชุ่มชื่น ที่คนบ้านแม่แจ๋มหยิบยื่นให้ผมได้ลิ้มลอง มันล้วนเต็มไปด้วยกลิ่นและรสอันรื่นรมย์ หากเพราะมันเปี่ยมไปด้วยกลิ่นของขุนเขา ผู้คน และชีวิตที่หล่อหลอมเมล็ดพันธุ์ 2 -3 ชนิดนี้ขึ้นมา

5. จากเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ที่ผู้คนเนืองแน่นมาเยี่ยมชมบ่อน้ำร้อนและน้ำตก

          เราบ่ายหัวรถคันเก่าสวนทางชันอันเรียงรายด้วย ขี้เหล็กเทศสีเหลืองสดสว่างพราวในฟ้าหน้าหนาว มุ่งขึ้นไปสู่อีกหมู่บ้านบนแดนดอยของเขตตำบลแจ้ซ้อน ทางขึ้นลงหุบเผยให้เห็นบ้านเรือนโบราณ มุงหลังคาไม้แป้นเกล็ดเป็นระยะ และเมื่อผ่านพ้น 16 กิโลเมตร บ้านป่าเหมี้ยงก็วางตัวเองอยู่ อย่างสมถะ ไล่ระดับไปตามเป็นเขา มีธารน้ำพึมพำเสียงคลอไปแทบทุกเวลา ใบเมี่ยงคือสิ่งที่คนบ้านป่าเหมี้ยงรู้จักมักดีมาเป็นร้อย ๆ ปี

          “ลูกหลานที่นี่เป็นตำรวจ พยาบาล หมอ ครู ก็ด้วยเมี่ยงนี่ละ” กลางโรงเมี่ยงทึบทึม บุญทรัพย์ กำลังกล้านึ่งใบเมี่ยงและปั้นมันเป็นก้อนกลมโต มัดด้วยตอกไผ่ มันนุ่มแฉะและหอมกลิ่นจากการนึ่งเกลืออันเป็นเอกลักษณ์ เพื่อนร่วมทางว่าเขาเคยลองเคี้ยวมันตอนเด็ก ๆ กับถั่วลิสง และมะพร้าวคั่ว “อย่างนี้เมี่ยงเคี้ยว กินสด ถ้าเป็นแบบตากแห้งก็ทำเป็นใบชา” บุญทรัพย์ว่าถ้าไม่มีใบเมี่ยงและภูเขา คนบ้านป่าเหมี้ยงก็อยู่ไม่ได้ “เราไม่ได้ปลูกข้าว ต้องซื้อเขา แต่ก่อนก็เอาเมี่ยงเอาชานี่ละ ไปแลกมา”

          เช่นเดียวกับหมู่บ้านเกษตรกรรมอื่น ๆ กลางหุบเขา ที่ชาวบ้านมักปล่อยให้บ้านเรือนไม้แสนสวยของเขา เหลือเพียงพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยนั่งผันผ่านคืนวันอยู่เงียบ ๆ การงานจากอดีตส่งต่อรุ่นมาสู่พวกเขาอย่างคงหน หญิงสาวเด็กหนุ่ม “เป๊อะ” ตะกร้าหวายใบโตขึ้นหลัง หายเข้าไปในสวนเมี่ยง ก่อนจะพูนเพียบกลับมาอีกทีก็ปลายบ่าย

          บ้านป่าเหมี้ยง สุขสงบด้วยเกษตรกรรมและภาพเรียบง่าย กลางแดดใสของฤดูหนาว โรงเรียนเล็ก ๆ มีเสียงเด็กเจื้อยแจ้ว หลังโรงเรียนคือ บ้านพักโฮมสเตย์น่านอน มันอยู่เหนือธารน้ำอันรื่นเย็น เช่นเดียวกับกลุ่มบ้านโฮมสเตย์ของชาวบ้านที่หน้าหมู่บ้าน ที่พวกเขาสร้างไว้หากิน และรองรับผู้คนที่ขึ้นมาเยือนทั้งจากฝั่งเชียงใหม่และลำปาง

          “มาพักที่นี่เราพาเขาไปดูงานของเรา ใบเมี่ยงไม่ได้เป็นแค่กินสดหรือชานะคะ แต่เราพัฒนาไปเป็นไส้หมอน นอนแล้วได้กลิ่นหอม” ครูสาวจากชั้นเด็กเล็กเล่าอมยิ้ม หลักเด็กๆ ของเธอวิ่งวุ่น โรงเรียนบ้านป่าเหมี้ยง มีส่วนดูแลเด็กเล็กที่พ่อแม่เข้าไปทำงานในสวนเมี่ยงทั้งวัน เธอว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ “ข้างหน้า” ของบ้านป่าเหมี้ยงนั้นน่าดีใจ ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและเกษตรกรรม

          กลางขุนเขาเงียบสงบอันยิ่งใหญ่ ผู้คนและหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ร่วมกับมันอย่างกลมกลืนเข้าใจ สิ่งใดจะมีค่าเกินไปกว่าการได้เห็นชีวิตรุ่นต่อรุ่นเติบโตกล้าแกร่ง และผืนแผ่นดินก็ล้วนคงทนอบอุ่น ราวกับคืนวันรอบด้านว่างไร้กาลเวลา

          หลายวันที่เมืองปานและแจ้ซ้อน ผมยิ่งรู้สึกว่าภูเขา แผ่นดิน และสายน้ำของเมืองกลางหุบเขาแห่งนี้ล้วนมีจังหวะเฉพาะตัว เป็นจังหวะอันยิ่งใหญ่ทั้งเสียงฝนฉ่ำขึ้น ลมหนาวพลิ้วพัด หรือม่านภูเขาหนักแน่นคงทน หากเพราะมันคือความหมายและครรลองของแผ่นดิน ที่ทำให้คนตัวเล็ก ๆ ยืนหยัดเป็นตัวของตัวเองอยู่ได้ในสิ่งที่พวกเขาคิด เชื่อและเลือกที่จะไม่หันหน้าหนีหายไปจากสิ่งที่เรียกว่าความอบอุ่น

คู่มือนักเดินทาง

          อำเภอเมืองปานเป็นเมืองเล็กในหุบเขาที่สวยสงบงามแทบทุกฤดูกาล หากแต่ยามฤดูหนาวมาเยือน ที่นี่ล้วนสวยงามและแสนบริสุทธิ์ ทั้งธรรมชาติ และวิถีชีวิตผู้คน

          จากตัวเมืองลำปาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๓๒๙ และแยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1157 ขึ้นเขามุ่งสู่อำเภอเมืองปาน เส้นทางสวย รายล้อมด้วยป่าและที่ราบที่ห่มคลุมด้วยนาข้าวกว้างไกล

          เมื่อถึงอำเภอเมืองปาน เลี้ยวขวาที่สามแยกเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1252 ไปสู่ตำบลแจ้ซ้อน เมืองแสนสงบงามที่น่าไปสัมผัสชีวิตวัฒนธรรมของพวกเขา

          จากนั้นใช้เส้นทางมุ่งสู่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เที่ยวน้ำตกแจ้ซ้อน บ่อน้ำร้อน แล้วใช้ทางภูเขามุ่งสู่บ้านป่าเหมี้ยงอีกราว 16 กิโลเมตร รถยนต์ควรมีกำลังเครื่องดี

          บ้านแม่แจ๋มอยู่บนทางหลวงหมายเลข 1252 ห่างจากอุทยานฯ แจ้ซ้อนราว 30 กิโลเมตร เที่ยวชมสวนกาแฟแม็กคาเดเมีย และเสาวรส ท่ามกลาง อากาศเย็นชื่น บรรยากาศดี

          อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน โทรศัพท์ 0 5438 0000 และ 08 8715 3355 มีบ้านพักและลานกางเต็นท์รวมถึงร้านอาหารให้บริการ

          โฮมสเตย์บ้านป่าเหมี้ยง ห่างจากอุทยานฯ แจ้ซ้อน ราว 16 กิโลเมตร มีบ้านพักแบบโฮมสเตย์ของชาวบ้านให้เลือกนอนหลายหลัง ได้เรียนรู้และเที่ยวชมการปลูกและเก็บใบเมี่ยงอย่างน่าตื่นตา

         ที่แจ้ซ้อนไม่มีร้านอาหารขนาดใหญ่ เช้า ๆ แนะนำให้ไปเดินตลาดเช้าของแจ้ซ้อน มากมายอาหารพื้นเมือง รวมไปถึงพืชผลตามฤดูกาลให้ทั้งชมและชิม น้ำเต้าหู้ร้อน ๆ ข้าวเหนียว ไส้อั่ว หมูปิ้ง กรุ่นหอม เป็นขวัญใจยามเช้าของผู้คน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 51 ฉบับที่ 5 ธันวาคม 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมืองปาน-แจ้ซ้อน แผ่นดินผืนอุ่นในสายลมหนาว อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:59:34 7,101 อ่าน
TOP