x close

ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ชนวนเหตุหนึ่งของการเมืองอันร้อนระอุในยุคสมเด็จพระนารายณ์



          มาทำความรู้จักกับป้อมวิไชยประสิทธิ์ ป้อมสำคัญสมัยอยุธยา ที่คอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นผู้ทูลแก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้สร้าง และยังเป็นผู้ออกแบบป้อมแห่งนี้ จนกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) แม่ทัพคู่พระวรกายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชต้องโทษโดนโบยอย่างหนักจนถึงแก่อสัญกรรม และทำให้การเมืองในยุคนั้นตึงเครียดอย่างที่สุด

          รับความบันเทิงจากละครบุพเพสันนิวาสไปแล้ว ก็ลองมาดูเรื่องราวที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องนี้กันบ้างค่ะ เหตุการณ์สำคัญที่ถูกพูดถึงในเรื่องนี้ก็คือนโยบายการสร้างป้อมตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อป้องกันข้าศึกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเฉพาะป้อมที่คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ขุนนางชาวกรีกคนสำคัญในสมัยนั้นเป็นผู้ทูลเสนอให้สร้าง นั่นก็คือ "ป้อมวิไชยประสิทธิ์" ในปัจจุบันนั่นเอง แล้วป้อมที่ว่านี้มีความสำคัญและทำให้การเมืองในสมัยนั้นร้อนเป็นไฟได้อย่างไร เราไปสืบประวัติศาสตร์พร้อม ๆ กันค่ะ

ป้อมวิไชยประสิทธิ์
ภาพจาก karakotsya / Shutterstock.com

ป้อมวิไชยประสิทธิ์ อยู่ที่ใด


          ป้อมวิไชยประสิทธิ์ (ป้อมบางกอก) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงปากคลองบางกอกใหญ่ ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ พื้นที่เดียวกับพระราชวังเดิม ฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียนราชินีในปัจจุบัน และอยู่ห่างจากวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ประมาณ 500 เมตรเท่านั้น ใช้เวลาเดินถึงกันราว ๆ 5-10 นาที

ป้อมวิไชยประสิทธิ์
ภาพจาก walterericsy / Shutterstock.com

ที่มาของป้อมวิไชยประสิทธิ์

          ป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือป้อมบางกอก เกิดขึ้นจากการที่คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ขุนนางชาวต่างชาติคนสำคัญในสมัยนั้นเป็นผู้กราบบังคมทูลให้สร้างขึ้นคู่กันทั้งสองฟากของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณทางเหนือของปากคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) เพื่อป้องกันเรือรบจากต่างชาติที่มาทางทะเล สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นชอบด้วย จึงโปรดให้เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นแม่กองก่อสร้างป้อมบางกอก ทั้งนี้คอนสแตนติน ฟอลคอน ก็เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ

สถาปัตยกรรมของป้อมวิไชยประสิทธิ์

          สถาปัตยกรรมเดิมของป้อมวิไชยประสิทธิ์ตามแบบที่คอนสแตนติน ฟอลคอน ออกแบบนั้น มีลักษณะเป็นป้อมอิฐฉาบปูนแปดเหลี่ยม 2 ชั้นเล็ก ๆ ตั้งอยู่สองข้างของแม่น้ำเจ้าพระยา และมีสายโซ่ขึงขวางแม่น้ำระหว่างป้อมบางกอกตะวันออก (กล่าวกันว่ามีการรื้อออกไปในสมัยสมเด็จพระเพทราชา) และตะวันตก (ปัจจุบันคือป้อมวิไชยประสิทธิ์) ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้มีการบูรณะป้อมบางกอกตะวันตกแห่งนี้อีกครั้ง ปัจจุบันเราจึงได้เห็นป้อมนี้ในลักษณะเป็นกำแพงรูปแปดเหลี่ยม 2 ชั้น สีขาวสวยงามสง่า กำแพงป้อมด้านในมีหอคอยกลม 2 หลัง ตั้งอยู่บนมุมกำแพงด้านทิศเหนือและทิศใต้ และมีเสาธงอยู่ตรงกลางป้อม หากมีโอกาสได้ขึ้นไปด้านบนจะมองเห็นวิวทิวทัศน์รอบด้านของแม่น้ำเจ้าพระยาได้กว้างไกล

ป้อมวิไชยประสิทธิ์

ชนวนเหตุสู่การตายของโกษาเหล็ก และความตึงเครียดทางการเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

          ป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือป้อมบางกอกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยานั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในยุคนั้น ช่วยป้องกันข้าศึกและดูแลเรือสินค้าที่เข้ามายังอยุธยาก็ประการหนึ่ง แต่เป็นชนวนเหตุแห่งความตึงเครียดทางการเมืองในสมัยนั้นถือว่าสำคัญมากกว่า ด้วยการสร้างป้อมแห่งนี้นั้นเป็นสิ่งแปลกใหม่ของชาวสยาม อีกทั้งยังต้องเกณฑ์ไพร่และใช้เงินมหาศาลในการสร้าง

          มีการกล่าวกันว่าขุนนางบางรายที่ไม่อยากทำงานนี้ก็ได้นำเงินไปให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) แม่ทัพที่แสนเก่งกาจในสมัยนั้น ซึ่งเป็นแม่ทัพคู่พระวรกายและเป็นดั่งพี่น้องของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อให้ทูลคัดค้านการสร้างป้อมดังกล่าวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความถึงพระกรรณสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) รับส่วยจากขุนนางและไพร่ ทำให้พระองค์กริ้วมาก จึงรับสั่งลงทัณฑ์เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ด้วยการลงหวายอย่างหนัก บางบันทึกกล่าวว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ได้ถึงแก่อสัญกรรมหลังจากโดนลงทัณฑ์ไม่นาน บางบันทึกก็กล่าวว่าท่านทำงานให้กับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไปอีก 6 เดือน แล้วล้มป่วยจนถึงแก่อสัญกรรมในที่สุด

          จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ขุนนางชั้นสูง โดยมีแกนนำคือ "พระเพทราชา" โกรธแค้นเคืองต่อคอนสแตนติน ฟอลคอน มาก จากเดิมที่ไม่ชอบคอนสแตนติน ฟอลคอน อยู่แล้ว ด้วยเหตุเป็นขุนนางชาวต่างชาติที่ได้อวยยศเร็วเกินไป และยังนำพาทหารฝรั่งเศสเข้ามาในอยุธยามากเกินความจำเป็น จนเมื่อพระเพทราชาได้เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์อาณาจักรอยุธยารัชกาลที่ 28 ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้สั่งให้จับกุมเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ไปประหารชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 นับได้ว่าป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือป้อมบางกอกแห่งนี้ก็เป็นชนวนเหตุของเหตุการณ์สำคัญในยุคนั้นอย่างแท้จริง

          - เปิดภาพร่าง ป้อมปราการที่ โกษาเหล็ก โดนโบย และเหตุผลที่สร้างไม่ได้

ป้อมวิไชยประสิทธิ์

ป้อมวิไชยประสิทธิ์กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

          ในตอนต้นของการสร้างป้อมแห่งนี้นั้น ได้สร้างคู่กันสองฟากของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณทางเหนือของปากคลองบางหลวง ภายหลังการสร้างเสร็จถูกเรียกกันในหลายชื่อ เช่น ป้อมบางกอก และป้อมวิไชยเยนทร์ แต่เมื่อพอถึงสมัยของสมเด็จพระเพทราชา ก็ได้สั่งให้รื้อป้อมทางด้านฝั่งตะวันออก (ทางฝั่งโรงเรียนราชินีในปัจจุบัน) ทิ้งเสีย ด้วยมีขนาดใหญ่ ชาวสยามไม่คุ้นเคยในการใช้งาน เหลือไว้เพียงป้อมทางฝั่งตะวันตกเท่านั้น พอมาถึงสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ได้สร้างพระตำหนักขึ้นบริเวณนี้และบูรณะป้อมให้มีภูมิทัศน์ที่ดี และพระราชทานนามว่า "ป้อมวิไชยประสิทธิ์" มีการกล่าวกันว่าป้อมแห่งนี้ยังเป็นที่ประหารของสมเด็จพระเจ้าตากสินด้วย



ป้อมวิไชยประสิทธิ์
ภาพจาก Khun Ta / Shutterstock.com

การใช้งานป้อมวิไชยประสิทธิ์ในปัจจุบัน

          ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแล้ว ก็ยังใช้เป็นที่ยิงสลุตในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ด้วย

การเที่ยวชมป้อมวิไชยประสิทธิ์

          ป้อมวิไชยประสิทธิ์ อยู่ในความดูแลของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ เพราะฉะนั้นการเข้าชมจึงจะต้องเข้าเที่ยวชมเป็นหมู่คณะ วันธรรมดา 10 ท่านขึ้นไป วันเสาร์-อาทิตย์ 30 ท่านขึ้นไป และจะต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้าเที่ยวชมล่วงหน้า 1 สัปดาห์ มีค่าธรรมเนียม

          *** ทั้งนี้ในโอกาสพิเศษช่วงสงกรานต์ ทางมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ จะเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าเที่ยวชมตั้งแต่วันที่ 7-11 เมษายน 2561 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.30 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ โทรศัพท์ 0 2475 4117, 0 2466 9355 และ 0 2472 7291

          สำหรับใครที่อยากไปเที่ยวชมป้อมวิไชยประสิทธิ์ เนื่องจากอยู่ในหน่วยงานราชการ ก็อยากฝากให้แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยสักนิดค่ะ ^^ แล้วก็อย่าลืมเดินแวะไปเที่ยวพระราชวังเดิมกันด้วยนะคะ :)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ
silpa-mag.com
, ศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร, library.stou.ac.th, bangkoktourist.com และ wangdermpalace.org


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ชนวนเหตุหนึ่งของการเมืองอันร้อนระอุในยุคสมเด็จพระนารายณ์ อัปเดตล่าสุด 12 เมษายน 2561 เวลา 14:02:07 22,647 อ่าน
TOP