x close

เรื่องน่ารู้บ้านวิชาเยนทร์ ลพบุรี สถานที่พำนักที่สุดท้ายของคอนสแตนติน ฟอลคอน

บ้านวิชาเยนทร์ ลพบุรี

          พาเที่ยวชมและทำความรู้จักกับบ้านวิชาเยนทร์ จังหวัดลพบุรี เปิดเรื่องราวน่ารู้ต่าง ๆ ของอาคารทรงยุโรปอันโก้หรูในสมัยอยุธยา สถานที่พำนักของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ขุนนางระดับสูงคนสำคัญในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา

          เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมากทีเดียวสำหรับละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่นอกจากนักแสดงจะเป็นที่จดจำของแฟนละครแล้ว สถานที่ถ่ายทำก็ได้รับความนิยมไปด้วย นั่นรวมไปถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ที่ได้มีการนำมาปัดฝุ่นพูดคุยกันใหม่อย่างสนุกสนาน "เจ้าพระยาวิชเยนทร์" หรือ "คอนสแตนติน ฟอลคอน" ก็ได้รับความสนใจและมีการค้นหาประวัติไม่น้อย ปัจจุบันสถานที่พำนักหรือบ้านของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ก็ยังมีอยู่จริง เพียงแต่เหลือเพียงฐานโครงสร้างบางส่วนเท่านั้น แต่ก็มีความน่าสนใจอย่างมาก และก่อนที่จะไปเที่ยวชมสถานที่จริง วันนี้เราจึงได้นำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับบ้านวิชาเยนทร์ จังหวัดลพบุรี มานำเสนอกันด้วย



ภาพจาก ช่อง 3


ภาพจาก ช่อง 3


ภาพจาก ช่อง 3


ภาพจาก ช่อง 3


ภาพจาก ช่อง 3

บ้านวิชาเยนทร์ ลพบุรี

บ้านวิชาเยนทร์ อยู่ที่ใด

          บ้านวิชาเยนทร์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ บนถนนวิชาเยนทร์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี รายล้อมไปด้วยกำแพงอิฐเก่าแก่รอบด้าน

ความสำคัญของบ้านวิชาเยนทร์

          บ้านวิชาเยนทร์ อดีตเป็นสถานที่พำนักของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) สมุหนายกคนสำคัญในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา และเมื่อ มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา (Maria Guyomar de Pinha) หรือ "ท้าวทองกีบม้า" ราชินีแห่งขนมไทย ได้แต่งงานกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (ในขณะนั้นมียศเป็นออกพระฤทธิกำแหงภักดีศรีสุเรนทเสนา) ก็ได้ย้ายมาอาศัยอยู่ที่นี่ด้วยเช่นกัน

บ้านวิชาเยนทร์ ลพบุรี

ที่มาของชื่อบ้านหลวงรับราชทูต อีกชื่อหนึ่งของบ้านวิชาเยนทร์

          เจ้าพระยาวิชเยนทร์ เป็นขุนนางต่างชาติคนสำคัญที่อยู่ใกล้ชิดกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และยังมีความสามารถในการสื่อสารภาษาต่างประเทศ เช่น กรีก (ภาษาบ้านเกิด), อิตาเลียน, อังกฤษ, โปรตุเกส, มลายู และภาษาไทยได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ในสมัยนั้นท่านได้รับเกียรติให้ต้อนรับคณะทูตจากต่างแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะทูตจากฝรั่งเศส และได้ใช้บ้านหลังนี้เป็นสถานที่รองรับเอกอัครราชทูตจากฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในปี พ.ศ. 2228 จึงได้เรียกที่นี่ว่าบ้านหลวงรับราชทูต

บ้านวิชาเยนทร์ ลพบุรี

สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่งามสง่าที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยอยุธยา

          หากพิจารณาจากซากปรักหักพังของบ้านวิชาเยนทร์ในปัจจุบัน จะเห็นว่าที่นี่นั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ ดูแล้วต้องมีความใหญ่โตโอ่อ่าในสมัยอยุธยาพอสมควร อาคารทั้งหมดสร้างด้วยอิฐ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรเนซองส์ (Renaissance) มีกำแพงล้อมโดยรอบ ด้านในแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

          1. กลุ่มอาคารทางด้านทิศตะวันตก ประกอบด้วยตึก 2 ชั้นหลังใหญ่ ก่อด้วยอิฐ 1 หลัง อาคารชั้นเดียวแคบยาว 1 หลัง และซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม จากการสำรวจแผนผังของผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าส่วนนี้เป็นส่วนพักอาศัยของครอบครัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์ 

          2. กลุ่มอาคารส่วนกลาง มีฐานสิ่งก่อสร้าง สันนิษฐานว่าเป็นหอระฆังและโบสถ์คริสต์ศาสนา มีซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปจั่ว

          3. กลุ่มอาคารทางด้านทิศตะวันออก เป็นกลุ่มอาคารใหญ่ 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน มีบันไดขึ้นทางด้านหน้าเป็นรูปครึ่งวงกลม ซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม

บ้านวิชาเยนทร์ ลพบุรี

ที่ตั้งของโบสถ์คริสต์ศาสนารูปแบบไทยของเมืองละโว้ในช่วงสมัยอยุธยา

          อย่างที่เห็นในแผนผังของบ้านวิชาเยนทร์จะมีโบสถ์คริสต์ศาสนาตั้งอยู่ในส่วนกลางของบ้าน สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ของบาทหลวงคณะเยซูอิต (Jesuit) จากการสำรวจและวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญสมัยปัจจุบัน กล่าวกันว่าโบสถ์แห่งนี้มีสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างยุโรปและไทย ตัวผังและแบบของโบสถ์จะเป็นแบบยุโรป ส่วนซุ้มประตูหน้าต่างนั้นจะเป็นทรงจั่วแบบเรือนแก้ว มีเสาปลายเป็นรูปกลีบบัวยาวแบบไทย ถือได้ว่าเป็นโบสถ์คริสต์ศาสนาแห่งเดียวในโลกที่ตกแต่งโดยผสมผสานความเป็นพุทธศาสนาเข้าไปด้วย



บ้านวิชาเยนทร์ ลพบุรี

รู้จักเจ้าพระยาวิชเยนทร์

          เจ้าพระยาวิชเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine Phaulkon) เป็นสมุหนายกคนสำคัญในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา มีเชื้อสายกรีกและอิตาเลียน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2190 ได้เริ่มเดินทางออกมาทำงานยังประเทศต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2205 ช่วงแรกนั้นทำงานกับเรือสินค้าของอังกฤษ จนมาตั้งหลักปักฐานทำการค้าในกรุงศรีอยุธยา จากนั้นก็ได้เข้ารับราชการในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยการเป็นล่าม โดยเริ่มรับราชการทำงานกับเจ้าพระยาพระคลัง (โกษาเหล็ก) ต่อมาแต่งงานกับมารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา (Maria Guyomar de Pinha) หรือมารี กีมาร์ หรือท้าวทองกีบม้า

          และด้วยความที่สามารถทำงานด้านการค้าได้ดี มีความรู้ภาษาต่างประเทศหลายภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษากรีก, โปรตุเกส, อิตาเลียน, อังกฤษ, มลายู และไทย (ตามหลักฐานต่าง ๆ กล่าวกันว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์นั้นไม่พูดภาษาฝรั่งเศส แต่พอฟังเข้าใจ) ทำให้คอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนได้รับตำแหน่งทางราชการที่สูงพอสมควร จากออกหลวงสุรสาคร มาเป็นออกพระออกพระฤทธิกำแหงภักดีศรีสุเรนทเสนา จนได้เป็นออกญาวิชเยนทร์ หรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์

          ความเก่งกาจและความใกล้ชิดของเจ้าพระยาวิชเยนทร์กับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นที่ไม่พอใจแก่เหล่าขุนนางทั้งหลายในสมัยนั้น ด้วยเห็นว่าเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาหาผลประโยชน์ในกรุงศรีอยุธยา ในช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวรอย่างหนัก และพระเพทราชาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน จึงได้จับกุมเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไปประหารชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 ส่วนมารี กีมาร์ (ท้าวทองกีบม้า) นั้นชีวิตได้ตกอับถึงขีดสุด ทรัพย์สินทั้งหลายถูกริบคืนและถูกคุมขัง จนเมื่อออกมาจากคุกก็ได้ทำหน้าที่เป็นพนักงานเครื่องต้น ทำของหวานนานาชนิด มีการดัดแปลงวิธีการทำขนมโปรตุเกสให้กลายมาเป็นขนมไทย จนได้ฉายาว่าราชินีของขนมไทยนั่นเอง

บ้านวิชาเยนทร์ ลพบุรี

การเที่ยวชมบ้านวิชาเยนทร์

          นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเที่ยวชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. 

          ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าไปเที่ยวชมมาก ๆ ถ้าใครมีโอกาสไปเที่ยวชมลองใส่ชุดไทยสวย ๆ ไปถ่ายรูปกันด้วยนะคะ :)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 , catholichaab.com, เฟซบุ๊ก วิพากษ์ประวัติศาสตร์, library.tru.ac.th, ช่อง 3


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องน่ารู้บ้านวิชาเยนทร์ ลพบุรี สถานที่พำนักที่สุดท้ายของคอนสแตนติน ฟอลคอน อัปเดตล่าสุด 16 มิถุนายน 2565 เวลา 11:25:47 59,141 อ่าน
TOP