ต้นกาแฟประวัติศาสตร์ของในหลวง ร.9 เรื่องเล่าจากแผ่นดินฝิ่น สู่แผ่นดินกาแฟ

          เรื่องเล่าต้นกาแฟประวัติศาสตร์ ณ หมู่บ้านหนองหล่ม ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ จุดเริ่มต้นกาแฟอาราบิก้าของโครงการหลวง ที่พลิกฟื้นผืนฝิ่น กลายเป็นแผ่นดินกาแฟ หนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

          หลายคนได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวดอยอินทนนท์กันมาแล้ว ธรรมชาติที่สวยงามของดอยอินทนนท์ ต่างทำให้นักท่องเที่ยวพากันตกหลุมรัก ช่วงเวลาที่ร่างกายของเราถูกโอบกอดด้วยขุนเขาและสายหมอก นับเป็นช่วงเวลาที่สวยงามยิ่งนัก อีกทั้งยังเป็นดินแดนที่บันทึกเรื่องเล่าของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับต้นกาแฟประวัติศาสตร์ ที่พลิกฟื้นแผ่นดินแห่งขุนเขา ให้กลายเป็นแหล่งทำกินสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวเขาอย่างยั่งยืน

          "แต่ก่อนนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านลำบากมาก ขนาดรองเท้าไม่มีใส่ บ้านที่อยู่ก็เป็นบ้านแบบมุงหญ้าคา ไฟไม่มีใช้ ถ้าชุดเปียกก็ต้องเอาผิงไฟให้แห้ง"

ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9 
 
           นี่เป็นถ้อยความเริ่มแรกของบทสนทนาระหว่างเราผู้เดินทางกับเจ้าบ้าน "คุณตาพะโย่ ตาโร" เกษตรกรชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ เจ้าของต้นกาแฟประวัติศาสตร์ ที่บ้านหนองหล่ม ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่นี่คือจุดเริ่มต้นกาแฟอาราบิก้าของโครงการหลวง หากแต่ชายชราอายุ 76 ปีในวันนี้ ยังคงเล่าเรื่องราวความทรงจำในอดีตที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้อย่างไม่มีตกหล่น

ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9

"ต้นกาแฟประวัติศาสตร์" ที่ในวันนี้ยังคงอยู่ยืนต้นเฉกเช่นเมื่อครั้งในอดีต

ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9

ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9

          จากถ้อยความที่คุณตาพะโย่บอกให้เราได้รับรู้ชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยก่อน ทำให้เราอดจินตนาการภาพในอดีตบนดอยอินทนนท์ ที่เต็มไปด้วยความยากจนและความแร้นแค้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ก่อให้เกิด "การพัฒนา" ชาวบ้านมีชีวิตอยู่กันไปวัน ๆ ทำไร่เลื่อนลอย ยึดการปลูกฝิ่นเป็นอาชีพหลัก แต่หลังจากนั้น "เทวดาแห่งการพัฒนา" ที่พวกเขาใฝ่ฝันก็เดินทางมาถึง

          เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านหนองหล่ม เมื่อปี พ.ศ. 2517 และได้ทอดพระเนตรต้นกาแฟที่มีอยู่ 2-3 ต้น ของคุณตาพะโย่ ผู้ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันนั้น ซึ่งเป็นต้นกาแฟที่ปลูกอยู่ท่ามกลางไร่ฝิ่น และเกิดความรู้สึกสนพระราชหฤทัย และคิดว่าต้นกาแฟก็ขึ้นบนพื้นที่นี้ได้ด้วยเช่นกัน นี่จึงเปรียบเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางพัฒนากาแฟของพระองค์ท่าน เพื่อหวังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวเขา

          "หลังจากวันที่พระองค์เสด็จฯ มาเมื่อปี พ.ศ. 2517 และแนะนำให้ชาวบ้านได้ปลูกกาแฟ จากแต่ก่อนที่ชีวิตลำบาก กลับดีขึ้นทุกปี ๆ ถ้าวันนั้นในหลวงไม่มาก็คงแย่ยิ่งกว่านี้ ในหลวงมาเปลี่ยนแปลงที่นี่ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี"

ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9

          และนี่เป็นอีกหนึ่งถ้อยคำประจักษ์พยานของเรื่องเล่า ที่ทำให้ผู้เดินทางอย่างเราได้รับรู้ว่า แผ่นดินผืนนี้พลิกฟื้นจากร้ายเป็นดีขึ้นได้เพราะใคร ขณะเดียวกันพระองค์ทรงไม่เคยละทิ้งประชาชน ทรงให้คำแนะนำการปลูกกาแฟ พร้อมยังพระราชทานเมล็ดกาแฟที่คุณตาพะโย่ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย กลับไปให้แจกจ่ายราษฎรคนอื่น ๆ ได้ปลูกต่อไป

ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9
         คุณตาพะโย่กับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
 
ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9
ภาพบรรยากาศวิวหลังบ้านของคุณตาพะโย่ ที่มีแต่ความเขียวขจีของป่าเขาและทุ่งนา ที่เป็นตัวสะท้อนถึงความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรชาวเขา

         จากวันนั้นเป็นต้นมาเกษตรกรชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอได้เลิกปลูกฝิ่น หยุดการทำลายป่าไม้ คุณตาพะโย่ บอกว่า จากแต่ก่อนที่ปลูกกาแฟแค่ 4-5 ครัวเรือน มาวันนี้ชาวบ้านในหมู่บ้านหนองหล่มหันมาปลูกกาแฟควบคู่ไปกับการปลูกพืชเมืองหนาวอื่น ๆ ทดแทนการปลูกฝิ่น โดยมีโครงการหลวงส่งเสริมและคอยรับซื้อผลผลิต และกาแฟต้นแรกของพระองค์ที่คุณตาพะโย่ ตาโร ปลูกไว้ จึงกลายเป็นต้นกาแฟตัวอย่างให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำพระราชหฤทัยที่พระองค์มีต่อเกษตรกรชาวเขาอย่างหาที่สุดมิได้

ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9
วิสาหกิจชุมชนกาแฟของชาวบ้าน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

          ปัจจุบันชาวบ้านร่วมมือกันจัดตั้งรัฐวิสาหกิจชุมชน เหล่านี้เป็นผลพวงที่ก่อเกิดการกระตุ้นให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการผลผลิต ก่อนส่งขายต่อไปยังโครงการหลวงและร้านกาแฟชั้นนำทั่วโลกต่อไป เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้อันมีปฐมบทเริ่มต้นจากกาแฟ 2-3 ต้น ของคุณตาพะโย่นั่นเอง

ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9


ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9

ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9

ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9
      
ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9
ผลิตภัณฑ์กาแฟของชุมชน

ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9

บรรยากาศชิล ๆ ระหว่างการจิบกาแฟของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวในชุมชน

ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9

ต้นกาแฟ ในหลวง ร.9
   
         จากเมล็ดกาแฟต้นแรกที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานกลับไปยังราษฎร ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเท่านั้น หากแต่เป็นการพลิกฟื้นแผ่นดินแห่งขุนเขาให้กลายเป็นแหล่งทำกินคืนชีวิตที่ดีกลับไปยังเกษตรกร ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นสายพระเนตรที่ยาวไกล กลายเป็นพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ที่พสกนิกรชาวไทยอย่างเราไม่เคยลืมเลือน

ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ royalprojectthailand.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ต้นกาแฟประวัติศาสตร์ของในหลวง ร.9 เรื่องเล่าจากแผ่นดินฝิ่น สู่แผ่นดินกาแฟ อัปเดตล่าสุด 3 เมษายน 2566 เวลา 13:36:23 16,169 อ่าน
TOP